Wednesday, December 23, 2009

สหราชอาณาจักรตัดงบประมาณมหาวิทยาลัย 21890 ล้านบาท

สหราชอาณาจักรตัดงบประมาณมหาวิทยาลัย 21890 ล้านบาท

ประกอบ คุปรัตน์
แปลและเรียบเรียงจาก
“University funding cut by £398m” โดย Gary Eason ผู้สื่อข่าวด้านการศึกษาของ BBC (Education correspondent, BBC News)

ในประเทศสหราชอาณาจักร เศรษฐกิจโดยรวมตกต่ำ และซบเซาในระยะที่ยาวนานกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป และในโลกประสบ คนตกงานจำนวนมากที่ยังหางานใหม่ไม่ได้ ต้องได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นเงินทดแทนด้านสวัสดิการแรงงาน แต่นั่นไม่ช่วยเศรษฐกิจของประเทศ

แต่สำหรับคนต่างชาติ ข้อดีของการไปศึกษาต่อในประเทศสหราชอาณาจักประการหนึ่ง คือ ค่าของเงินที่ลดลง ค่าใช้จ่ายในการศึกษาโดยรวมลดลง รวมถึงค่าเล่าเรียน แต่ผลที่ติดตามมาคือ ระหว่างที่เรียนอยู่นั้น โอกาสในการหางานทำที่ดี เพื่อช่วยลดค่าใข้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนก็จะมีลดลงตามไปด้วย ยกเว้นในงานระดับล่าง งานที่คนอังกฤษเองไม่สนใจที่จะทำ ซึ่งก็คงพอจะมีอยู่บ้าง

พรรคฝ่ายค้าน คือ พวก Tories ซึ่งมีโอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลในสมัยต่อๆไป ได้เสนอให้มหาวิทยาลัยต้องมีที่เรียนที่เพิ่มขึ้นอีก 10,00 ที่นั่งโดยไม่ทำให้ต้องลดคุณภาพการศึกษา และในขณะเดียวกัน ไม่ได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มขึ้น และตามการแจ้งของรัฐบาลพรรคแรงงานในปัจจุบัน จะต้องลดค่าใช้จ่ายโดยรวมลงไปอีก โดยงบประมาณอุดมศึกษาจะถูกตัดไปอีก ตัดงบประมาณไปอีก 398 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 21890 ล้านบาท

จากการเรียนในมหาวิทยาลัยที่ใช้เวลาเรียนในระดับปริญญาตรีรวม 3 ปี มีความพยายามที่จะลดค่าใช้จ่าย โดยร่นเวลาให้เหลือ 2 ปี หรือ 2 ปีครึ่ง ทั้งนี้โดยมีการขยายเวลาเรียนโดยเพิ่มการให้เรียนเพิ่มเติมในภาคฤดูร้อน และเรียนหน่วยกิตเพิ่มขึ้นในระหว่างเรียนภาคการศึกษาปกติ

ที่มหาวิทยาลัย Staffordshire เป็นตัวอย่าง มีนักศึกษาจำนวน 200 คนจากจำนวนผู้เรียนที่มีทั้งสิ้น 17000 คนที่ได้เลือกเรียนในหลักสูตรแบบ 2 ปี สายการเรียนที่เป็นการทดลองเรียนนี้ มีในสาย การบัญชีและการเงิน (accounting and finance), ธุรกิจ (business management), ภาษาอังกฤษ (English), ภูมิศาสตร์ (geography) และกฎหมาย (law)

คนที่เรียนในระบบสองปีนั้นไม่ได้เรียนแบบลดคุณภาพ เพราะเขาต้องเรียนจำนวนหน่วยกิตเหมือนพวกที่เรียน 3 ปี แต่เรียนในภาคฤดูร้อนเพิ่มขึ้น

การเรียนในเวลาที่ลดลง รัฐบาลก็จ่ายเงินสนับสนุนในรูปเงินช่วยเปล่า (Grants) และ จ่ายเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาลดลง สำหรับเงินกู้ (Loans) นั้นผู้เรียนต้องกลับมาจ่ายคืนในช่วงเวลาหลายๆปี

แต่การที่ผลักด้นให้ต้องลดเวลาเรียนลงนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับหลักสูตรใหม่ เพื่อให้สอดรับกับเวลาเรียนที่ลดลงเหลือ 2 ปี หรือ 2 ปีครึ่ง

อีกด้านหนึ่งที่ต้องมีการปรับโครงสร้างองค์การ ระบบสาธารณูปโภค ต้องมีการขยายเวลาทำงานขึ้น การให้การสนับสนุนด้านที่พัก หอพัก ห้องสมุด และระบบคอมพิวเตอร์และบริการข้อมูลต่างๆที่ต้องเพิ่มขึ้น แม้จะไม่ใช่เป็นการเพิ่มในทั้งหมด

สำหรับการเปลี่ยนแปลงในทิศทางนี้ทำให้เกิดความเครียดและความไม่เห็นด้วยในหมู่ผู้สอน สำหรับครูอาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมีทางเลือกที่จะเกษียณตัวเอง แต่ถ้าจะอยู่ทำงานต่อ ก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนี้

หลักสูตรที่เรียนในแบบลดเวลาเรียนนี้ จะมีผลต่อหลักสูตรพื้นฐาน และหลักสูตรเร่งรัด (Fast-track degrees) ซึ่งจะมีลักษณะดึงดูดสำหรับเยาวชนที่ต้องการการศึกษาทางด้านที่จะไปช่วยในการประกอบอาชีพได้เร็วๆ

ปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นการสวนทางกันกับการบริโภคทั่วไป คือ เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ กลับมีคนกลับสนใจมาเรียนในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น ในขณะที่เมื่อก่อนเยาวชนส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนเลย เมื่อมีตำแหน่งงานที่ดีพอรองรับ และค่อยมาเรียนในระหว่างทำงาน แต่เมื่อตลาดงานไม่มีตำแหน่ง เพราะคนว่างงานในตลาดก็มีอยู่มากแล้ว เยาวชนจึงหันไปคั่นเวลาดัวยการศึกษาต่อ แต่มหาวิทยาลัยก็จะไม่มีงบประมาณที่จะจ่ายสำหรับสนับสนุนการศึกษาได้ มหาวิทยาลัยที่อยากขยายการรับนักศึกษามากขึ้น ก็จะไม่มีงบประมาณเพิ่มที่จะรับผู้เรียนเพิ่ม ยกเว้นกับผู้เรียนที่สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายได้เองโดยตรง ซึ่งก็จะเป็นนักศึกษาต่างชาติ (International Students) หรือนักศึกษาจากนอกประเทศสหราชอาณาจักร หรือไม่ มหาวิทยาลัยก็ต้องคิดวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานภายในของมหาวิทยาลัย และหลายฝ่ายภายในมองว่าเป็นการลงโทษมหาวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ดึงดูดโดยทางอ้อมนี้ เหมือนภาษาไทยที่มีสุภาษิตว่า วัวดีบ่าแตก คือยิ่งทำดี ยิ่งเหนื่อยมาก

No comments:

Post a Comment