การพัฒนานักบริหารการศึกษายุคใหม่
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียง
Updated: December 5, 2009
Keywords: 160, การบริหารการศึกษา, บทบาทนักบริหารการศึกษา
ความนำ
ความจำเป็นจำของการบริหารการศึกษา
ผู้รับบริการการศึกษาทั้งประเทศกว่า 16ขค ล้านคน และในทางทฤษฎี คนประมาณ 65 ล้านคน นับตั้งแต่วัย 1 ขวบจนถึงวัยชราที่ยังมีความจำและสติสัมปชัญญะ ล้วนต้องการบริการการศึกษาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เรามีโรงเรียนและสถานศึกษากว่า 35,000 แห่ง ที่เป็นของรัฐบาล และเอกชนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบริการการศึกษา ต้องใช้ครูอาจารย์กว่า 600,000 คนทั่วประเทศ หรือทุก 1.5 คนของประชากร และในจำนวนดังกล่าวจะมีระบบการทำงานที่ต้องมีคนอื่นๆ มาสนับสนุนการศึกษาในด้านตางๆ อีกไม่น้อยกว่า .5 – 1.0 เท่า อาทิ การขนส่ง คนขับรถรับส่งนักเรียน คนทำอาหาร คนผลิตหนังสือ สิ่งพิมพ์ อุปกรณ์การศึกษาระบบโทรคมนาคม ระบบการเงินการธนาคารสนับสนุนการศึกษา และอื่นๆ สรุปแล้ว ระบบการศึกษาจัดเป็นระบบที่มีขนาดใหญ่มาก
การใช้งบประมาณของประเทศกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี หรืประมาณร้อยละ 20 เป็นงบประมาณเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ไม่นับรวมงบประมาณที่ดำเนินการเองโดยสถานศึกษาเอกชน ศูนย์การเรียน การฝึกอาชีพ วัด สำนักศาสนา ที่ดำเนินกิจกรรมการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงในทุกองค์กรที่ต้องมีการพัฒนากำลังคนของตน ไม่ว่าจะเป็นในภาคการเกษตร ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และอื่นๆ
เมื่อสังคมมีส่วนร่วมต่อการศึกษาในขอบข่ายที่กว้างขวาง มีครูอาจารย์มากมายในระบบการศึกษา มีสถานศึกษาและองค์กรต่างๆ มากมายที่จะต้องรองรับการศึกษา ต้องใช้ทรัพยากรเงินและอื่นๆ อีกมากเพื่อการศึกษา ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม นอกจากนี้คือยังต้องมีวิทยาการ เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีโทรคมนาคม และอื่นๆ
ระบบการบริหารการศึกษาเป็นระบบพิเศษ ที่ไม่สามารถเทียบเหมือนบริหารรัฐกิจ หรือบริหารธุรกิจ ด้วยความจำเป็นเฉพาะด้านจึงทำให้ต้องมีศาสตร์บริหารการศึกษาเกิดขึ้น ซึ่งในต่างประเทศเรียกกันว่า Educational Administration บ้าง Educational Management บ้าง และในบางกรณีต้องมีการศึกษาในวงกว้างเพราะเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง สังคม และความผลประโยชน์ร่วมกันของคนหมู่มาก จึงมีการศึกษาไปในรูป Governance of Education ก็มี
พัฒนาการในประเทศไทย
การบริหารเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้ในหน้าที่ (On the Job Training) เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ได้มาด้วยการต้องลงมือปฏิบัติ และเมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่ ก็มีผู้ใหญ่ที่เป็นผู้บังคับบัญชาคอยให้คำปรึกษา แนะนำ หรือสั่งการ ก็เรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ เหล่านั้น จึงจะเห็นได้ว่า นักบริหารการศึกษาในยุคก่อนๆ ไม่ได้เรียนจบการศึกษามาทางบริหารการศึกษากันมากนัก
การรับประสบการณ์จากต่างประเทศ การไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ
และมีรูปแบบที่หลากหลาย ท้ายที่สุด
ในภาพรวมมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนสาขาวิชาบริหารการศึกษาในปีการศึกษา 2542 มีจำนวน 51 แห่ง จำแนกเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 48 แห่ง สถาบันอุดมศึกษาเอกชน 3 แห่ง โดยในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำแนกเป็นสถาบันอุดมศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย 16 แห่ง สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดและในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ 32 แห่ง จำแนกเป็นสถาบันราชภัฏ 30 แห่ง และมหาวิทยาลัยสงฆ์ซึ่งอยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ 2 แห่ง
เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาที่เปิดสอน มีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนสาขาวิชาบริหารการศึกษา ส่วนใหญ่เปิดสอนในระดับปริญญาโท 46 แห่ง รองลงมาคือ ระดับปริญญาตรี 20 แห่ง ส่วนที่เปิดสอนระดับปริญญาเอกมีเพียง 6 แห่ง
ตารางที่ 1 จำนวนสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนสาขาวิชาบริหารการศึกษา จำแนกตามสังกัดและระดับการศึกษาที่เปิดสอน ปีการศึกษา 2542
| สถาบันทั้งหมด | ตรี | โท | เอก |
ภาครัฐ | 48 | 19 | 43 | 6 |
ทบวงมหาวิทยาลัย | 16 | 3 | 16 | 6 |
กระทรวงศึกษาธิการ | 32 | 16 | 27 | - |
สถาบันราชภัฏ | 30 | 14 | 27 | - |
มหาวิทยาลัยสงฆ์ (ในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ) | 2 | 2 | - | - |
ภาคเอกชน (สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย) | 3 | - | 3 | - |
รวม | 51 | 19 | 46 | 6 |
หมายเหตุ
1. * ไม่นับจำนวนซ้ำ
2. วิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ กำลังจะเปิดสอนระดับปริญญาโทในปีการศึกษา 2544 และ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จะเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ในปีการศึกษา 2545 ส่วนมหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย กำลังขออนุมัติเปิดสอน
ส่วนสังกัดเดิมที่เคยมีทบวงมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาทั้งหมดสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห้งชาติ และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 41 แห่งก็อยู่ในสังกัดดังกล่าว (พ.ศ. 2552)
ในปัจจุบัน สถาบันที่มการเปิดสอนในสายบริหารการศึกษามีมากกว่าที่ปรากฏในตารางนี้ หากใครมีข้อมูลใหม่อย่างไร โปรดแจ้งให้ผู้เขียนทราบด้วย
สภาพปัจจุบันและปัญหา
ปัญหาการศึกษามีมากมาย จึงต้องมีการปฏิรูปการศึกษา แต่การศึกษาที่ได้ปฏิรูปมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 นั้น มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง และแต่ละรัฐบาลก็มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีศึกษาธิการอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน จึงทำให้ช่วงเวลา 1-12 ปี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึง 14 คน (พ.ศ. 2332)
การขยายตัวเน้นปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพ ผลิตมาดีหรือไม่ดี มีคุณภาพหรือไม่ ยากหรือว่าง่าย ไม่สำคัญ เพราะระบบรองรับให้เท่ากันปัญหานี้ไม่เปลี่ยนแปลง เรายังมีปัญหาด้านการผลิตนักบริหารการศึกษา แต่อะไรที่เราจะเรียกได้ว่าเน้นที่ปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพ สำหรับผู้เขียน ขอให้ดูดังต่อไปนี้
ความสามารถด้านการวางแผนและเปลี่ยนแปลง
ความสามารถของนักบริหารการศึกษาที่จะคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ เป็นตัว Change Agent ด้วยตนเอง และการจะเป็นผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้นั้น นักบริหารการศึกษายุคใหม่ จะต้องได้เห็น ได้อ่าน และมีการตกผลึกทางความคิดด้วยตนเองให้ดีเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ นักบริหารจำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีการวางแผน หรือ Planned Change
สำหรับเกณฑ์ในการทดสอบว่ามีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่นั้น ผมว่าน่าจะดูได้จากการนำเสนอวิสัยทัศน์ และพร้อมกันนั้น นักบริหารสามารถนำเสนอโครงการที่นอกเหนือไปจากการเรียนการสอนปกติ ดังที่ภาคธุรกิจ คนเรียนทางบริหารธุรกิจเขาก็ต้องนำเสนอโครงการ อย่างที่เขาเรียกว่า "แผนธุรกิจ" หรือ Business Plan ซึ่งแผนเหล่านี้ ผู้นำเสนอจะต้องสามารถชีแจงได้ตั้งแต่วัตถุประสงค์ การดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ การใช้ทรัพยากร คน เงิน สถานที่ เทคโนโลยี ฯลฯ
ทักษะทางการเมือง
ตอบสนองต่อเพียงภาคราชการ คิดและทำอย่างราชการ แต่ก็ไม่แข็งแกร่ง ไม่สามารถทัดทานต่อแรงผลักทางลบของระบบการเมืองและธุรกิจได้ ที่กล่าวนี้ไม่ได้หมายความว่าระบบการเมืองและธุรกิจไม่ดี แต่ถ้าระบบราชการ ระบบบริหารการศึกษาไม่แข็งแกร่งพอ ก็จะถูกครอบงำ นำไปสู่ระบบบริหารที่สูญเสียประสิทธิภาพ รั่วไหล ล้มเหลว และเกิดปัญหาเลวร้ายอื่นๆ ตามมา เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก การปกป้องกลุ่มและผลประโยชน์พรรคพวก การคอรัปชั่นทั้งทางนโยบาย และในทางปฏิบัติจริง
นักบริหารการศึกษายุคใหม่ จะต้องดำรงอยู่ได้อย่างเข้าใจระบบการเมือง ไม่ใช่เพื่อต่อต้าน หรือยอมตาม แต่สามารถทำงาน และพัฒนาระบบการศึกษาให้ดำเนินการควบคู่ไปกับการเมือง (Political System) ที่ก็ต้องมีการพัฒนาไปด้วยเหมือนกัน โดยมีเป้าหมายว่า นักบริหารการศึกษาจะทำอย่างไรจึงจะใช้ประโยชน์จากกลไกการเมืองที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา
ความสามารถด้านการสื่อสาร
ความสามารถในการสื่อสาร การอ่าน การฟัง การเขียน และการพูด ที่ต้องสามารถกระทำได้ในภาษาที่เป็นสากล นอกเหนือจากภาษาสื่อสารกลางของประเทศไทย สำหรับประเทศไทยแล้ว ภาษาที่น่าจะเป็นภาษาที่สองมากที่สุด 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ กับภาษาจีน แต่สำหรับจะศึกษาอย่างไรให้ถือว่ารู้จริง คิดว่าน่าจะลองอิงมาตรฐานยุโรปในการเรียนภาษาที่สอง หรือ CEFR
CEFR มาจากคำว่า The Common European Framework of Reference for Languages Learning, Teaching, Assessment หรือกรอบมาตรฐานกลางในการเรียน การสอน และการทดสอบด้านภาษา ซึ่งกำหนดโดยกลุ่มยุโรป โดย Council of Europe เพื่อให้เป็นมาตรฐานกลางในช่วงปี ค.ศ. 1989-1996 ซึ่งกำหนดให้มี 6 ระดับ มาตรฐานนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในยุโรป ซึ่งเริ่มจากระดับเริ่มต้น ไปจนถึงระดับสูงขึ้นเป็นลำดับ A1, A1+, A2, B1, B2 และ B2 และสูงกว่า
ระดับความสามารถด้านภาษาอย่างที่จะเป็นประโยชน์สำหรับนักบริหารการศึกษายุคใหม่ คือต้องผ่านที่ระดับ B2 ขึ้นไป
ความสามารถด้านการเงินและตัวเลข
นักบริหารการศึกษายุคใหม่ จะต้องรู้จักเรื่องตัวเงิน และตัวเลข (Numerical Skills) เพราะ เงินยังเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา ที่ต้องมีมากกว่าเงินจากงบประมาณแผ่นดินส่วนกลาง เงินอาจมาจากรัฐบาลท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล การบริหารส่วนเมือง นคร หรือมหานคร นอกจากนี้คือการระดมทุนจากชุมชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง
ความจริงในการเรียนระดับบัณฑิตศึกษาของทุกมหาวิทยาลัยจะมีวิชาว่าด้วยการวิจัยและสถิติอยู่แล้ว ซึ่งต้องมีการสอน การจัดสอบที่จริงจัง ในต่างประเทศมีการใช้ระบบทดสอบที่เรียกว่า GRE หรือ Graduate Record Examination เป็นตัวมาตรฐานในการวัด แต่สำหรับทัศนะของผมแล้ว ลองให้ไปทดสอบวิชาว่าด้วยทักษะคอมพิวเตอร์พื้นฐานในโปรแกรมที่เขาเรียกว่า Spreadsheet ซึ่งหากเป็นโปรแกรม MS Office จะเรียกว่า MS Excel หรือระบบอื่นๆที่ใช้ทดแทนได้ ซึ่งเรื่องนี้ลองศึกษาจากประสบการณ์ของยุโรปที่ได้สร้างระบบทดสอบความสามารถด้านคอมพิวเตอร์สากล ECDL/ICDL
ระบบค่าตอบแทนที่เหมาะสม
ในภาษาธุรกิจ เขามีคำคมว่า "ถ้าจะจ้างถูก บางที่เท่ากับจ้างแพง" แต่ในบางครั้ง ที่เขาเรียกว่าจ้างแพงนั้น ความจริงคือจ้างถูก หมายความว่าอย่างนี้ จ้างถูก ที่บางทีเท่ากับจ้างแพง ลองดูอย่างนี้ การจ้างคนมาคุมเครื่องจักรราคา 10 ล้านบาทที่มีความละเอียด ทำพลาดก็จะเกิดความเสียหาย แต่เราไปจ้างคนที่ไม่มีความรู้ที่จะดูแลเครื่อง และไม่มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ ก็เสียเวลาไปกับการฝึกฝนคน ฝึกฝนเสร็จ เขามีความรู้จริง แต่เราจ้างถูก เขาก็ลาออกไปทำงานกับบริษัทอื่นๆที่ให้ค่าจ้างได้สูงกว่า ดังนั้น ค่าจ้างค่าตอบแทนสำหรับบุคลากรทางการศึกษาในทุกระดับ จำเป็นต้องจ้างให้เหมาะสม มีค่าตอบแทนที่ดีพอที่จะดึงดูดคนดีมีความสามารถมาสู่ระบบ
ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เขามีคำบอกเล่าที่ถือเป็นข้อคิด เขาว่า คนที่อ่อนที่สุด หรือเรียนหนังสือระดับปานกลาง จะไปทำธูรกิจ และประสบความสำเร็จในธุรกิจนั้นๆ ส่วนคนที่ดีขึ้นมา ก็จะไปเป็นนักการเมือง และประสบความสำเร็จในสายการเมืองได้ แต่คนที่เก่งที่สุดของรุ่น เขาจะดึงดูดสู่การเป็นอาจารย์ เอาไว้สั่งสอนคนอื่นๆต่อๆไป ความจริงในประเทศไทยก็ควรเป็นอย่างนั้น คนที่จะเป็นตัวสร้างคนให้กับสังคมนั้น ต้องเป็นคนเก่ง คนดี มีความสามารถ ซึ่งต้องมีการปรับระบบค่าตอบแทนให้เหมาะสม
นักบริหารการศึกษาก็เช่นกัน หากคนที่จะเป็นครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ดูแลรับผิดชอบนักเรียนนับเป็นหลายร้อย หรือหลายพันคน แต่ค่าตอบแทนของเขาเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม แล้วเราจะหวังว่าจะได้คนดีมีความสามารถมาคุมคน ควบคุมและบริหารครูอาจารย์ได้อย่างไร
ทิศทางของการเปลี่ยนแปลง
ประเด็นทิศทางของการศึกษาไทยที่สรุปไว้เพื่อให้นักบริหารการศึกษา หรือผู้ที่จะต้องเรียนทางด้านนี้ได้มีประเด็นไว้เพิ่อการอภิปรายต่อไป มีดังนี้
ไม่เพียงความต้องการด้านปริมาณ แต่เป็นคุณภาพการศึกษา
การศึกษาในปัจจุบัน ยังเน้นที่การแข่งขันกันด้านปริมาณ แต่ไม่ได้เน้นที่คุณภาพ ทำให้ระบบการศึกษาของไทยต้องประสบปัญหาที่จะกระทบไปถึงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในระยะต่อไป การจะปรับปรุงแก้ไข จะต้องเริ่มที่การรู้จักจำแนกการศึกษาระหว่างมีหรือไม่มีคุณภาพนั้น จำแนกกันได้อย่างไร มีระบบการวัดและประเมินผลทางการศึกษาอย่างไร จึงจะทำให้ดื้ทราบปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา
ระบบการผลิตคนที่จะไปเป็นนักบริหารการศึกษาเอง ก็ต้องสะท้อนการผลิตคนอย่างที่ได้คนดีมีคุณภาพ ระบบคัดเลือกนักบริหารการศึกษาเอง ก็ต้องสะท้อนกระบวนการที่สอดคล้องกับการได้คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลจริงๆ
- ปัจจุบันเน้นการผลิตเพื่อปริมาณ แต่ยังขาดคุณภาพ
- คุณภาพหมายถึงการนำหลักบริหารไปปฏิบัติได้
- การสร้างคนที่มีวิสัยทัศน์พร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนแบบเตรียมการล่วงหน้า
- คุณภาพของนักบริหารการศึกษา หมายถึงการต้องให้มีความเป็นผู้นำที่จะนำระบบการศึกษาสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม
การตอบสนองต่อประชาชนและท้องถิ่น
ประเทศไทยมีประชากรกว่า 65 ล้านคนแล้ว มีคนที่อยู่ในระบบการศึกษากว่า 18 ล้านคน ทั้งในระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ และการศึกษานอกระบบ (Non-Formal Education) ประชาชนในประเทศมีลักษณะหลากหลาย ระหว่างชุมชนเมือง กับชุมชนชนบท ยิ่งสังคมก้าวสู่ความเป็นนานาชาติมากเท่าใด ชุมชนก็จะต้องมีกลไกในการรักษาอัตตลักษณ์ของตนมากขึ้น และการคุกคามต่อวัฒนธรรมของเขา ก็นำมาซึ่งการต่อต้าน และแม้แต่ความรุนแรง
ระบบการศึกษาของไทย ต้องตอบสนองต่อชุมชน ควบคู่กับการนำสังคมให้ก้าวหน้าทันโลกยุคใหม่
- อดีตจะเน้นการตอบสนองต่อราชการ และส่วนกลาง แต่ในอนาคต ต้องมีการกระจายอำนาจการบริหารการศึกษา (Decentralization, Democratization) ต้องให้ประชาชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษามากยิ่งขึ้น
- ท้องถิ่นหมายถึงการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษา
- การตอบสนองต่อการเกษตร อุตสาหกรรม และธุรกิจบริหาร ประเทศไทยเป็นสังคมลักษณะสมดุล มีหลายภาคส่วนที่ต้องดำรงอยู่ร่วมกัน และมีความสำคัญต่อกัน การศึกษาจะต้องตอบสนองต่อการผดุงรักษาจุดแข็ง (Strengths) ของสังคมไทยเอาไว้
การตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในโลก
ในโลกยุคเก่า เราเรียกว่า "ยุคโลกกว้าง แต่ทางแคบ" เช่นการจะเดินทางข้ามจังหวัด จะต้องใช้เวลาเป็นวันๆ คนจะขนควายมาขายกรุงเทพฯจากอีสาน ก็ต้องร่ำลากัน เพราะไปแล้วอาจไม่ได้กลับเพราะต้องแรมรอนมาไกล อาจเจ็บหรือตายด้วยไข้ป่าได้ แต่ในโลกยุคใหม่ เรียกว่า "ยุคโลกแคบ แต่ทางกว้าง" ความจริงโลกไม่ได้แคบลง แต่ความสามารถในการสื่อสาร ขนส่ง การเดินทางของมนุษย์เป็นไปได้อย่างกว้างขวางมากกว่าเดิม
ในโลกยุคใหม่ สินค้าและบริการมีการแลกเปลี่ยนกันได้ในระหว่าชาติที่อาจอยู่ไกลกัน การศึกษาใหม่ มีโอกาสใหม่ๆที่นักบริหารจะต้องรู้ เพื่อให้เข้าใจในโอกาสใหม่ และกาคุกคามใหม่ๆ ต่อสิ่งที่เคยกระทำกันมา
- การศึกษาสัมพันธ์กับโลก กับประเทศเพื่อนบ้าน
- การศึกษาในโลกที่ต้องแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่อกัน เรียนเพียงภาษาเดียวไม่พอ
- การรับรองทางการศึกษา เพียงภายในประเทศไม่พอ
- ข้อมูลองค์ความรู้เพียงภายในประเทศไม่พอ
- ไม่เปิดรับไม่ได้ รับอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องทั้งรับและทั้งให้ ต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
การบริหารทรัพยากรเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
การบริหารเงินหรือทรัพยากรเงิน (Financial Management, Financial Administration) นักบริหารการศึกษายุคใหม่ ต้องรู้วิธีการที่จะบริหารการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness)
- การเงินที่ถูกต้องตามระเบียบ
- การเงินที่ส่งเสริมประสิทธิภาพ
- การเงินที่โปร่งใส ตามหลัก Good Governance
- การเงินที่ระดมทรัพยากรมาจากหลายแหล่ง
การบริหารกำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ
นักบริหารการศึกษาในยุคใหม่ ต้องเรียนรู้รูปแบบกำลังคนที่มีความเป็นพลภาพสูง คนในยุคใหม่ เราอาจเรียกว่า Human Resource ไม่ใช่เพียงคำว่า Personnel คนไม่ใช่เพียงเป็นคนทำงานประจำ ทำเต็มเวลา แต่โลกยุคใหม่มีวีธีการได้มาซึ่งกำลังคนที่หลากหลายมากขึ้น
- คนทำงานที่หลากหลายมากขึ้น ไม่เพียงจากระบบราชการ หรือแบบราชการ
- การได้คนทำงานที่ดีพอ แข่งขันให้ได้คนที่มีประสิทธิภาพ แข่งกับระบบภายนอกได้
- ต้องมีวิธีบริหารคนที่เปลี่ยนไป วิธีการติดตามการทำงานแตกต่างกันออกไป
- คนในยุคที่ time and space เป็นเรืองที่ทำให้ซับซ้อน
- คนที่เน้นความมุ่งมั่นในความเป็นเลิศทางวิชาชีพ มากกว่าความสวามิภักดิ์ในองค์กร
การตอบสนองต่อนวตกรรมทางการศึกษา
คำว่า "นวตกรรมทางการศึกษา" หรือ Innovation of Education มีได้หลากหลาย ด้วยวิธีการคิดที่จะทดลองหาสิ่งใหม่ โอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นด้วยวิทยาการใหม่ ที่ในยุคก่อนหน้านั้นไม่ได้มีมาก่อน ดังเช่นเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นตัวอย่าง ปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ ระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ทำให้การสื่อสารได้ครอบคลุมกว้างขวาง ไม่ได้จำกัดเพียงระยะทางอย่างที่เคยเป็น ระบบอินเตอร์เน็ตปัจจุบันก็มีความเร็ว สามารถส่งสาระต่างๆได้อย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว แม้โทรท้ศน์ก็ยังสามารถดูได้โดยผ่านอินเตอร์เน็ต
- การลดหรือขจัดอุปสรรคตามระเบียบที่ทำให้นวตกรรมที่เป็นประโยชน์ไม่เกิด
- นวตกรรมต้องการแรงจูงใจ และการสนับสนุนพิเศษ
- นวตกรรมต้องการความกล้าได้กล้าเสีย และการตัดสินใจอย่างมองการไกล และอย่างมีเหตุผล
No comments:
Post a Comment