Monday, December 7, 2009

บริการจัดหาครูผู้สอนยุคใหม่ (New ICT Teachers)

บริการจัดหาครูผู้สอนยุคใหม่ (New ICT Teachers)

บริการจัดหาครูผู้สอนยุคใหม่ (New ICT Teachers)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Updated: Wednesday, January 06, 2010
ปรับปรุงครั้งที่ 2

ประกาศรับสมัคร นิสิตนักศึกษาผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ในสายต่างๆ ที่สนใจสมัครเป็นครูในโรงเรียน โดยเริ่มจากโรงเรียนเอกชนที่จะเข้าร่วมโครงการฯ โดย สถานศึกษาผู้ผลิตบัณฑิต นิสิตนักศึกษา และเจ้าของกิจการโรงเรียนและสถานศึกษา สามารถติดต่อมาได้ตรงที่มูลนิธิก้าวไกลในเอเชีย

โดยนักศึกษาผู้สนใจสมัคร จะต้องสอบผ่านเงื่อนไขความสามารถด้านคอมพิวเตอร์และภาษาอังกฤษ ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยดูรายละเอียดที่แนบมานี้

สนใจติดต่อ คุณวิไลลักษณ์

มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)
ห้อง 2 -106 (อาคาร 2 ชั้น 1) เลขที่ 2/1
ถ.พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์. 0-2354-8254-5
โทรสาร 0-2354-8316
Website:
www.sb4af.org
E-mail:
info@sb4af.org

เรียน ท่านผู้สนใจโครงการครูผู้สอนยุคใหม่

เรื่อง บริการจัดหาครูผู้สอนยุคใหม่ (New ICT Teachers)

ความเป็นมา

ผมได้มีโอกาสคุยกับเจ้าของกิจการโรงเรียนเอกชนที่มีการเรียนการสอนจนถึงระดับมัธยมศึกษา แล้วพบว่า เขาต้องการครูผู้สอนที่มีความสามารถ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครูผู้สอนที่จะขาดแคลนนั้น จะเป็นใน 4 สายหลักๆ คือ ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ผมเห็นเป็นโอกาสที่ทางมูลนิธิก้าวไกลในเอเชีย จะได้ประสานให้บริการด้านนี้ แก่โรงเรียนทั้งหลาย โดยจะเริ่มจากโรงเรียนมัธยมศึกษา ที่มีความยืดหยุ่น และจะเริ่มก่อนในส่วนที่เป็นการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ (ICT Literacy)

ส่วนครูผู้สอนด้านภาษา โดยเฉพาะสำหรับโรงเรียนที่มีการเปิดสอนแบบ Bilingual Program และ International Program เราจะได้ดำเนินการต่อไป โดยได้คิดรูปแบบการสรรหาครูผู้สอนที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เขาเรียนและสอนเป็นภาษาอังกฤษ อย่างประเทศฟิลิปปินส์ อินเดีย ปากีสถาน ฯลฯ และถือเป็นความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา

สำหรับการสรรหาครูผู้สอนยุคใหม่ที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ (Sciences) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) นั้น จะขอรับฟังความคิดเห็นจากท่านผู้รู้ในกระบวนการสรรหา และคัดเลือกที่เหมาะสมต่อไป หน้าที่ของเรา คือ หาคนที่เหมาะสมให้กับหน่วยงานที่เขามีความต้องการคนมีความรู้ความสามารถ และพร้อมที่จะจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม ตามเงื่อนไขที่ตกลง ในด้านนี้ คิดว่าจะทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Sciences and mathematic Education)

จากการศึกษาการขาดแคลนครูในระบบราชการ ดังในโรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Office of Basic Education – OBEC) กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน จะมีความขาดแคลนครูอันเกิดจากครูเกษียณอายุปีละ 11,000-12,000 คน และมีการเปิดโอกาสให้ครูได้เกษียณอายุก่อนกำหนดอีกปีปละ 5000 คน จึงทำให้เกิดปัญหาครูขาดแคลนในตลาดมากขึ้นไปอีก และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับจังหวัดประกาศรับครูสอบเข้าบรรจุ ครูที่อยู่ในภาคเอกชนและอื่นๆ ก็หันไปสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุเข้าทำงานในราชการ ที่มีความมั่นคงมากกว่า ปัญหาการขาดแคลนครูก็จะยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ประเด็นที่กล่าวนี้ไม่ใช่การขาดแคลนครูอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาด้านคุณภาพของครูด้วย ระบบการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการครู ยังมีระบบการสอบที่เน้นไปที่ระเบียบปฏิบัติราชการ ไม่ได้เน้นไปที่ความสามารถของคนที่จะทำหน้าที่ด้านการสอน ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาสาระ (Content) หรือกระบวนการเรียนการสอน (Process) ปัญหาดังกล่าว จะทำให้แม้มีการคัดเลือกครูกันอย่างมาก แต่จะไม่ได้ครูมีคุณภาพดังที่ต้องการ

เริ่มจากภาคอกชนก่อน

การศึกษาของเอกชนนั้น เป็นการศึกษาที่เปิดให้ประชาชนมีทางเลือก (Alternative Education) ทำให้เกิดทางเลือกใหม่ๆให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยทั่วไปมีความพยายามที่จะให้มีการรักษาสัดส่วนของการศึกษาเอกชนที่ร้อยละ 25 แต่ดูแล้วคงจะรักษาสัดส่วนนี้ไว้ได้ยาก และโรงเรียนเอกชนเองก็จะต้องมีความเข้มแข็งที่พัฒนาตนเองให้เป็นทางเลือกที่มีคุณภาพสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองได้อย่างแท้จริง

การศึกษาภาคเอกชนในปัจจุบันพอจะมีทางเลือกแข่งขันกับภาครัฐได้อย่างเข้มแข็งในระดับ โรงเรียนอนุบาล (kindergarten), โรงเรียนประถมศึกษา (Elementary Education), ด้วยการมีความเอาใจใส่ในการจัดการศึกษาในเด็กๆแต่ละคน มีการติดตามปรับปรุงพฤติกรรมเด็กๆแต่ละคน มีการบริหารเรื่องอาหารการกิน การรับส่งเด็กนักเรียน ฯลฯ แต่เมื่อเป็นในระดับมัธยมศึกษา (Secondary Education) จะเป็นการยากที่จะแข่งขันกับโรงเรียนมัธยมศึกษาในภาครัฐ และโรงเรียนที่จะแข่งขันได้ จะต้องเน้นไปในระดับคุณภาพ (High End) เช่น โรงเรียนที่สอนระบบสองภาษา (Bilingual Education), โรงเรียนนานาชาติ (International Education), โรงเรียนที่จะเตรียมตัวเพื่อการศึกษาต่อต่างประเทศ เป็นต้น

การพัฒนาคณาจารย์

ผมได้ทราบว่าทางรัฐบาล โดยผ่านทางกระทรวงศึกษาธิการ มีแผนงานที่จะพัฒนาคณาจารย์เพื่อทดแทนกับครูอาจารย์ที่ขาดแคลนในทุกส่วนทุกแห่งกว่า 50,000 คน ซึ่งคงจะเป็นแผนงานที่จะต้องกระทำให้ช่วง 5-10-15 ปีต่อไปนี้ ผมเองก็มีส่วนดูแลอาจารย์ในแผนงานนี้บางคน แต่การพัฒนาคณาจารย์นั้น ไม่ใช่จะกระทำกันได้อย่างง่ายๆและรวดเร็ว เพราะค่านิยมการเป็นครูที่มักจะยากจน อัตคัด ไม่มีเกียรติ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กๆและเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ได้รับซึมซาบมาตลอด จนมีคนกล่าวว่า คนเรียนหนังสืออ่อนที่สุด ก็จะเลือกเป็นครู ถ้าอ่อนยิ่งกว่านี้ ก็ไปบวชเป็นพระ ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น ครูควรจะได้จากคนที่มีสติปัญญา มีความสามารถ ที่จะไปสร้างคนรุ่นใหม่ๆต่อไป และคนที่จะเป็นพระนั้น ก็ต้องยิ่งกว่าครู คือต้องมีความเป็นผู้นำ เป็นต้นแบบทางจริยธรรม และคุณธรรมของสังคมได้

มาช่วยกัน่ก่อนสายเกินไป

ผมได้รู้จักกับเจ้าของและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนทั้งที่อยู่ในต่างจังหวัด และในกรุงเทพฯ ที่ครั้งหนึ่งประสบความสำเร็จ มีผู้เรียนอยู่นับเป็นพันคน หรือหลายพันคน แต่เมื่อมีการขยายการศึกษาภาครัฐอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้จำนวนผู้เรียนในโรงเรียนเอกชนลดลงอย่างมาก บางแห่งเหลือเพียงร้อยละ 15-30 ทั้งๆที่โรงเรียนเอกชนเหล่านี้ในอดีตประสบความสำเร็จในคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ และในกรณีที่โรงเรียนได้ประสบปัญหานั้น การจะรับความช่วยเหลือจะเป็นไปได้ยาก เพราะจะไปใช้เงินกู้จากธนาคาร เขาก็จะดูความคุ้มค่าในฐานะการลงทุน ดังนั้น คนที่เป็นเจ้าของกิจการในรุ่นลูกรุ่นหลาน ก็จะตัดสินใจอย่างง่ายๆ ขายกิจการ หรือเปลี่ยนไปสู่การใช้ที่ดินที่มีราคาเพิ่มขึ้น ไปในกิจการที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

ในทัศนะของผม การร่วมมือกับโรงเรียนเอกชนในระยะเริ่มแรกนี้ คือการทำอย่างไรให้เขายังมีความเข้มแข็ง ไม่สูญหายตายจากไปก่อน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นการเสียโอกาสทางการศึกษาไปด้วย แต่เมื่อการศึกษาภาคเอกชนมีคุณภาพแล้ว ก็จะทำให้เกิดทางเลือกกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เกิดทางเลือกใหม่ และการแข่งขันกันในระบบการศึกษา การศึกษาในภาครัฐก็จะต้องสนใจพัฒนาระบบของตน เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้อย่างเข้มแข็ง และเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

ครูยุคใหม่เป็นอย่างไร

ครูยุคใหม่ ในความหมายของผม คือ ครูที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. มีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่จะสอนเป็นอย่างดี (Content) ความรู้นี้หมายถึงความรู้ในสายวิชาหลักที่เขาจะทำหน้าที่สอน ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือสายอื่นๆ ในประเด็นนี้ เราสามารถรับคนที่จบมาในสายเนื้อหา และมีประสบการณ์พิเศษด้านการฝึกสอนเพิ่มเติมได้

2. มีทักษะในการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่สามารถใช้สื่อในการสอน และการเรียน สนับสนุนระบบการเรียนแบบใหม่ได้เป็นอย่างดี (ICT Supported Learning) รูปแบบการสอนดังกล่าว ผู้สอนมิใช่จะต้องสอนในแบบบรรยายหน้าชั้นเป็นหลัก แต่สามารถใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่ผู้เรียนสามารถใช้เพื่อพัฒนาความสามารถของตนเองได้อย่างเหมาะสม

3. เขามีทักษะในการสอนมาบ้างแล้ว (Teaching Experiences) เช่นเคยฝึกสอน หรือเป็นอาสาสมัครสอนมาบ้างแล้ว ซึ่งในการเรียนสายการศึกษา หรือครุศาสตร์ เขาจะมีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพมาแล้ว หากเป็นนักศึกษาในสายวิชาอื่นๆ เช่น สายวิชาเนื้อหา ทางมูลนิธิก้าวไกลในเอเซียจะมีโครงการฝึกประสบการณ์การทำงาน โดยเน้นที่ประสบการณ์การสอน เริ่มแต่การสอนเป็นรายบุคคล (Tutorial) การสอนกลุ่มเล็ก (Small Group), การสอนในระบบออนไลน์ (Online Teaching and Learning, Helpdesk)

4. เขามีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนการสอน (Affective Domain) เขาประสงค์ที่จะทำงานด้านการเรียนการสอน มีความพึงพอใจในการเห็นคนพัฒนา สนใจในกระบวนการเรียนการสอนที่ต้องเข้าใจคน เข้าใจเด็ก และมีความอดทนในการต้องทำงาน ติดตามการเรียน ให้ข้อมูลสะท้อนกลับ ให้การบ้าน และตรวจการบ้านอย่างสม่ำเสมอ

5. เขาเป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว (Youth Generation) ในระบบการศึกษา เรามีครูอาจารย์ที่จะเกษียณตัวเองไปอย่างมากและรวดเร็ว จำเป็นต้องมีครูรุ่นใหม่ไปทดแทน คนรุ่นผม อันเป็นราษฎรอาวุโสแล้ว คงอยากจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ๆที่มีพลัง และยังมีไฟที่จะทำงานได้อีกนาน ให้ได้เข้ามาทำหน้าที่สืบต่อไป

ค่าตอบแทนและสวัสดิการ

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นครูนั้น ผมเข้าใจเขาดีว่า เขากำลังอยู่ในยุค บ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ ผมจะไม่เรียกร้องให้ครูรุ่นใหม่ให้เขาต้องเป็นผู้เสียสละมากนัก แต่ผมเห็นว่า เราควรวางระบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรม (Fairness) มีอนาคตที่จะมีแรงใจที่จะพัฒนาความเป็นครูที่ดีต่อไปได้ยาวๆ

มูลนิธิก้าวไกลในเอเชีย (SpringBoard For Asia Foundation – SB4AF) และเครือข่ายของเรา จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลาง เพื่อส่งเสริมให้คนดีมีความสามารถได้เข้าสู่อาชีพความเป็นครู และหาหนทางทั้งทางราชการ ภาคเอกชน และองค์การประชาชนอย่างบเราที่จะทำให้มีครูดีมีความสามารถได้เข้าสู่ระบบมากขึ้น

ค่าตอบแทน

ค่าตอบแทนสำหรับครู ผมเสนอว่าควรจะสูงกว่าราชการประมาณร้อยละ 20 และช่วงการทดลองงานไม่นานกว่า 3 เดือน โดยมีค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าอัตราราชการ

คุณสมบัติ

ผู้ที่จะสมัครเป็นครู จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป ได้คะแนนการเรียน (Grade Point Average – GPA) ไม่ต่ำกว่า 2.5 จากสถานบันการศึกษาที่ได้รับการรับรอง (Accredited Institutions)

2. หากไม่ได้เรียนในสายวิชาด้านการศึกษา ศึกษาศาสตร์ หรือครุศาสตร์ ก็ควรได้มีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ การฝึกงาน (Internship) ที่มีหนังสือรับรอง (Recommendation) จากหน่วยงาน ที่แสดงได้ว่า จะมีความสามารถในการสอนจริงในสายวิชาที่ตนเกี่ยวข้อง

3. สอบผ่านความสามารถด้านคอมพิวเตอร์สากล ICDL อย่างน้อย 4 จาก 7 โมดูล (International Computer Driving Licence – ICDL/ ECDL) หรือหากสอบผ่านทั้ง 7 โมดูล จะได้รับการพิจารณาพิเศษ

4. สอบผ่านความสามารถด้านภาษาอังกฤษในระดับที่น่าพอใจสำหรับปริญญาตรี (English Proficiency) โดยให้แสดงผลการสอบ

- TOEFL (Paper-Based Test) 420

- CU-TEP 420

- IELTS 3.5

- Password 3.5 ขึ้นไป

ข้อสังเกต

ผมได้คุยกับผู้รู้ในวงการศึกษา และพยายามหาข้อมูลว่า ครูไทยโดยเฉลี่ยนั้นมีทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) และภาษาอังกฤษ (English Competency) อย่างไร ต้องบอกตามตรงครับว่า ไม่มีใครที่ให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงแก่ผมได้ ผมเองได้พยายามเก็บข้อมูลอย่างเป็นการภายใน จากนักศึกษา และจากความเห็นครูอาจารย์ที่ได้คุ้นเคย แล้วผมก็พอสรุปได้ดังนี้ว่า

หากใช้การทดสอบความสามารถด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต โดยใช้ระบบทดสอบ ICDL (International Computer Driving Licence) เป็นบรรทัดฐานแล้ว คงจะไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ เขาคิดว่าสำหรับนักศึกษาระดับชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป ในเกือบทุกสายในระดับอุดมศึกษา คงจะใช้เวลาฝึกอบรมไม่นานนักที่จะทำให้ทั้งหมดสอบผ่านที่อย่างน้อย 4 โมดูล จากทั้งหมด 7

แต่ในด้านความสามารถด้านภาษาอังกฤษนั้น แม้จะมีการเรียนการสอนกันมาทุกชั้นปี บางแห่งมีเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล แต่ประสิทธิผลการเรียนจะยังต่ำอยู่มาก โดยเฉพาะในโรงเรียนต่างจังหวัด ดังนั้น ผมจึงขอฟันธงเอาไว้ว่า หากใครที่สอบผ่านภาษาอังกฤษที่ระดับ Password 3.5 ขึ้นไป ผมถือว่าเพียงพอที่จะพัฒนาต่อไปได้แล้ว แล้วเราก็ไปสร้างระบบพัฒนาระหว่างปฏิบัติงาน (On-the-Job Training) ในบรรยากาศที่เหมาะสม เขาจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือนที่จะสอบผ่านได้ในระดับที่ดีขึ้นอีกสัก .5-1.0

ความร่วมมือเบื้องต้น

ผมได้ติดต่อกับ ดร. อุดม หอมคำ (Udom Homkam) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนออนไลน์ และเป็นที่ปรึกษาศูนย์ทดสอบความสามารถด้านคอมพิวเตอร์สากล ICDL (ICDL Accredited Test Center) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ซึ่งจะมีโครงการพัฒนาบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ดร. อุดม หอมคำ
Udom Homkam, Dr.
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
ICDL ATC, Surindra Rajabhat University (SRRU)
Surin Province, Thailand
Mobile: 0812509823
E-mail: uuddoomm@hotmail.com

ดร. อุดม หอมคำ จบการศึกษาในสายเทคโนโลยีการศึกษา จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้ที่สนใจ และทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ โดยได้มีประสบการณ์ในการใช้ Learning Management System (LMS) ทั้ง Moodle, Thai Cyber University (TCU), และอื่นๆ

ดร.อุดม ได้รับเงินทุนวิจัยเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบ E-Learning โดยทุนสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนเพื่อการวิจัย (สกว.) และเป็นทีปรึกษาศูนย์ทดสอบ ICDL ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ อาจารย์ยังเป็นตัวแทนในการจัดสอบระบบสอบภาษาอังกฤษออนไลน์ Password

ผมได้ขอให้ ดร. อุดมได้พัฒนานักศึกษาไม่จำกัดสายวิชา ที่สนใจ ให้มีฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ มีประสบการณ์การเรียนในแบบออนไลน์ นอกจากนี้

สำหรับโครงการพัฒนาครูผู้สอนยุคใหม่ (Staff Development) ทางผมจะได้ร่วมกับโรงเรียนเอกชนในความร่วมมือ เพื่อได้พัฒนาครูต้นแบบ เป็นการเสริมให้กับครูที่ได้สรรหามาแล้วอีกที่หนึ่ง

อีกครั้งหนึ่งครับ หากท่านมีความคิดเห็นใดๆที่จะร่วมกันพัฒนาครูรุ่นใหม่

สนใจติดต่อ

คุณวิไลลักษณ์ ขจรไพบูลย์
Wilailuk Khajonpaiboon

มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)
ห้อง 2 -106 (อาคาร 2 ชั้น 1) เลขที่ 2/1
ถ.พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์. 0-2354-8254-5
โทรสาร 0-2354-8316
Website: www.sb4af.org
E-mail: info@sb4af.org


No comments:

Post a Comment