Friday, May 7, 2010

หน่วยที่ 14 ช่วงรัฐบาลนิกสัน (The Nixon Years)

หน่วยที่ 14 ช่วงรัฐบาลนิกสัน (The Nixon Years)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
Pracob@sb4af.org

Keywords: CW105, ประวัติศาสตร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจ การเมือง

แปลและเรียบเรียง

สงครามเวียตนามทำให้พรรคเดโมแครตอ่อนกำลังลง นำไปสู่การกลับมาอีกครั้งของพรรครีพับลิกัน มีประธานาธิบดี 3 คนในช่วงทำหน้าที่บริหาร 12 ปี เป็นช่วงที่สหรัฐลดบทบาทของตนในเวทีโลก และขณะเดียวกันสหรัฐได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจภายหลังสงคราม ปัญหาด้านราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ด้วยการมีกลุ่มโอเปคอันเป็นการรวมตัวกันของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน

Richard Milhous Nixon,

1969 - 1974

Gerald Rudolph Ford,

1974 - 1977

James Earl Carter, Jr.,

1977 - 1981

ช่วงของรัฐบาลนิกสันคือช่วงของการถอนทหารออกจากสงคราม การเริ่มต้นของการเจรจาทางการทูตต่อกันกับประเทศจีนที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ในสมัยเหมา เจอ ตุง

ความแตกแยกเกิดในพรรค Democrat วุฒิสมาชิก Eugene McCarthy ผู้เสนอตัวสมัครเป็นตัวแทนพรรคใช้นโยบายนำสันติภาพสู่อเมริกัน แรงขับเคลื่อนต่อต้านสงครามได้เพิ่มแรงสนับสนุนขึ้นในพรรค Democrat และหนุนวุฒิสมาชิก Robert Kennedy ซึ่งเมื่อถูกลอบสังหาร รองประธานาธิบดี Hubert H. Humphrey ก็ได้รับการสนับสนุนให้ลงสมัครในนามพรรค Humphrey สนับสนุนนโยบายของ Johnson

ภายในพรรคเองแรงสนับสนุนก็แตกแยก ในที่สุดในการออกเสียง ผู้สมัครจากพรรค Republican ได้คะแนนเสียงร้อยละ 43.4 Humphrey ได้รับคะแนนสนับสนุนร้อยละ 42.7 และเสียงส่วนหนึ่งแยกไปเลือกผู้สมัครอิสระที่มีนโยบายแบ่งแยกผิว คือ ผู้ว่าการรัฐอลาบาม่า (Alabama) ที่ชื่อ George C. Wallace ซึ่งดึงคะแนนเสียงจาก 5 รัฐทางใต้ แต่ในช่วงดังกล่าวฝ่าย Democrat ก็ยังมีคะแนนเสียงมากในรัฐสภา

นโยบายนิกสัน

นิกสัน (Nixon) จัดเป็นนักการเมืองฝ่ายขวาสายกลาง เขาได้ประกาศนโยบาย Nixon Doctrine ที่ทำให้ต้องใช้กำลังและทรัพยากรเพื่อการสงครามเพิ่มขึ้นอีกเพื่อต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งมีงบประมาณเพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจควบคู่ แต่ขณะเดียวกันนิกสันได้ค่อยๆ ถอนทหารออกจากเวียดนาม คำวิจารณ์คือเขายังไม่ได้ถอนทหารออกมาเร็วพอ แต่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1970 เขาได้ส่งกองทหารเข้ารบเพิ่มในกัมพูชา เพื่อทำลายแหล่งกำลังคอมมิวนิสต์และตัดเส้นทางลำเลียงอาวุธและสัมภาระ เหตุการณ์นี้ได้นำไปสู่การเดินขบวนต่อต้านในสหรัฐ และที่สำคัญคือ การส่งทหาร National Guardsmen เข้าไปควบคุมสถานการณ์ในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย Kent State University ในรัฐ Ohio ทำให้มีคนตาย 4 คน และความรุนแรงได้ส่งผลให้ต้องปิดมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยทั้งหลาย 448 แห่งเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ตามการเดินขบวนได้ลดลงเมื่อได้ถอนทหารออกจากกัมพูชา 60 วันหลังจากนั้น

การถอนทหารจากเวียตนาม

นิกสันได้ใช้นโยบายที่เรียกว่า Peace with Honor ซึ่งก็คือการถอนทหารออกจากสงครามเวียดนาม การลดกำลังรบลงอย่างมาก อัตราการตายของทหารก็ลดลงตาม เป็นผลให้ปัญหาสงครามไม่เป็นประเด็นความขัดแย้งอีกต่อไป แต่ขณะเดียวกันปัญหาด้านสีผิวก็ยังผลุดขึ้น การใช้นโยบายสร้างความเท่าเทียมด้านการศึกษา โดยใช้รถนักเรียนขนนักเรียนจากเขตคนดำที่ยากจนไปเรียนในโรงเรียนที่เป็นถิ่นคนขาว เพื่อสร้างการประสมประสานแห่งชาติได้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น ในยุคนั้นมีการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ การเมือง ในทางวิทยาการด้านอวกาศได้เข้าสู่ยุคก้าวหน้า ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1969 ได้ส่งมนุษย์อวกาศ 2 คน ไปเดินบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ และหลังจากนั้นได้มีการส่งคนไปในโครงการเดินทางนอกโลกหลายครั้ง มีการส่งยานไปสำรวจดาวดวงอื่นๆ และในปี ค.ศ. 1973 ได้มีการก่อสร้างสถานีอวกาศทีโคจรรอบโลกสำเร็จ

การเลิกนโยบายปฏิรูป

นิกสันมีนโยบายภายในประเทศที่เห็นว่าควรลดการปฏิรูปด้านสังคมหลายอย่าง และเขาได้รับการวิจารณ์ว่าทำให้การปรับเปลี่ยนด้านสิทธิมนุษยชนในทางภาคใต้เป็นไปอย่างล่าช้า รวมทั้งแผนการสร้างความประสมประสานด้านเชื้อชาติและสีผิวในระบบการศึกษาก็ไม่คืบหน้า นโยบายของเขาหลายประการได้ถูกตัดสินโดยศาลสูงว่าขัดหลักรัฐธรรมนูญ นิกสันได้ใช้สิทธิ Veto กฏหมายหลายฉบับที่เสนอโดยรัฐสภา โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมและบริการภาครัฐ โดยปฏิเสธและให้ต้องกลับไปทำใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน เขายังคงเน้นงบประมาณเพื่อกลาโหม มีการพัฒนาด้านระบบต่อต้านขีปนาวุธระยะไกล (Antiballistic Missiles – ABM) และขณะเดียวกันยังคงมีเงินช่วยเหลือต่างประเทศ โดยเน้นการสร้างความเจริญในบางเขตเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

เศรษฐกิจไม่ดีหลังสงคราม

ในระยะหลังสงครามใหญ่ที่ทร้พยากรถูกนำไปใช้เพื่อการทหาร การสร้างอาวุธไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และหลังสงครามเวียดนามก็เช่นกัน เศรษฐกิจอเมริกันอยู่ในสภาพถดถอยต่อมาอีกยาวนาน มีสภาพเงินเฟ้อที่ควบคุมได้ยาก ราคาสินค้าสูงขึ้น และอัตราคนว่างงานสูงขึ้น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง และเพราะต้องมีงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือต่างประเทศ เงินคงคลังร่อยหรอ และมีการใช้เงินเกินดุล ค่าเงิน US Dollar ในตลาดการเงินโลกเริ่มอ่อนตัวลง ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1971 นิกสันได้ประกาศใช้นโยบายควบคุมราคาสินค้า อ้ตราค่าจ้าง และค่าเช่าบ้าน และเพื่อเปิดทางสำหรับแผนการปรับปรุงเศรษฐกิจที่เรียกว่า Phase II สิ่งที่ตามมาอีกคือการลดค่าเงินเหรียญสหรัฐในเดือนธ้นวาคม ค.ศ. 1971 และลดอีกในปี ค.ศ. 1973 และในปี ค.ศ. 1974

การเยี่ยมประเทศจีน

ในอีกด้านหนึ่งคือการลดความตึงเครียดในโลกที่มีความโน้มเอียงสู่สังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์มากขึ้นในช่วงนั้น

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 นิกสันได้เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นการเริ่มต้นสัมพันธภาพใหม่หลังจากความรุนแรงต่อกันเป็นเวลา 20 ปี และเป็นการเปิดทางเพื่อการมีสัมพันธ์ตามปกติในระยะต่อมา ในช่วงฤดูใบไม้ผลิต่อมาได้มีการเดินทางไปเยือนกรุงมอสโคว์ของสหภาพโซเวียต (USSR) และทีสำคัญคือข้อตกลงเรื่องการลดกำลังรบ ซึ่งได้เริ่มต้นมาแต่ปี ค.ศ. 1969

แต่ในขณะที่มีการเจรจากับประเทศมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ 2 ประเทศ การรบในเวียดนามยังไม่ยุติ แต่เปลี่ยนเป็นการส่งกองบินเข้าไปทิ้งระเบิดทดแทนการถอนกำลังภาคพื้นดิน การหยุดรบในเวียดนามกว่าจะได้บรรลุก็ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1973

ประเด็นสังคมเปลี่ยนไป

ในกาเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ค.ศ. 1972 พรรค Democrat ได้เสนอแนวนโยบายสิทธิสตรีและชนกลุ่มน้อยในที่ประชุมใหญ่ของพรรค และได้เลือกวุฒิสมาชิกชื่อ George S. McGovern เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี McGovern ต้องการจบสงครามเวียดนามทันที และการต้องตัดงบประมาณด้านการทหาร และการกำหนดอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำสำหรับประชาชนทุกคน แต่เพราะแนวทางของเขาได้รับการวิพากษ์ว่าเป็นพวกซ้ายจัดสำหรับสังคมอเมริกัน ในที่สุดนิกสันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งด้วยคะแนนท่วมท้น

ประเด็น Watergate

แต่การดำรงตำแหน่งของนิกสันไม่ได้ยืนยาวนัก เพราะกรณีอื้อฉาวเรื่อง Watergate Affairs อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคน 5 คนที่เข้าไปกระทำการดักฟังในที่สำนักงานใหญ่ของพรรค Democrat ในอาคารที่พักที่ชื่อว่า Watergate ในกรุงวอชิงตัน ดีซี คน 2 ใน 5 คนที่ถูกสอบสวนเป็นคนระดับสูงในทีมงานการเลือกตั้งของนิกสัน และในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1973 นิกสันต้องลาออกจากตำแหน่ง

No comments:

Post a Comment