Wednesday, May 5, 2010

เก่าให้ถูกที่คัน แก้ให้ถูกปัญหา

เก่าให้ถูกที่คัน แก้ให้ถูกปัญหา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: cw022, สุภาษิต, ยุทธศาสตร์

มีสุภาษิตเยอรมันหนึ่งว่า “Den Nagel auf den Kopf treffen.” แปลและมีใช้กันในภาษาอังกฤษว่า “To hit the nail on the head.” คือ จงตอกตะปูที่หัว มิได้หมายความว่าเอาค้อนมาตอกตะปูลงที่หัวคน หรือ เอาค้อนมาทุบหัวคน แต่เป็นการเปรียบเปรยเหมือนเมื่อเราจะตอกตะปูนั้น เราต้องตอกให้ถูกที่ถูกจังหวะ หากตอกตะปูพลาดไป ตะปูก็จะงอไม่สามารถอัดตะปูให้ลึกไปในเนื้อไม้ได้ ตอกพลาดบ่อยๆ ก็ต้องถอนตะปูทิ้ง เพราะมันจะงอจนตอกไม่ได้

คำว่า จงตอกตะปูที่หัว (ตะปู) หมายถึงการจะทำอะไรต้องทำให้ตรงจุด ทำอย่างมุ่งเน้น และทำไปจนสำเร็จ หรือจะเปรียบได้ว่า เก่าให้ถูกที่คัน แก้ให้ถูกปัญหา คนบางคนทำอะไรก็มีความพยายาม เช่นเป็นตำรวจจะจับคนร้าย ไปดักจับครั้งแล้วครั้งเล่า ก็พลาดอยู่เป็นประจำ พลาดบ่อยๆ เข้า เจ้านายหรือลูกน้องก็จะขาดความเชื่อถือ จะทำงานอื่นๆ ก็จะไม่ได้รับความยอมรับ และคนไม่ใส่ใจที่จะสนับสนุน

คนทำงานใดๆ ที่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ ก็จงทำอย่างตั้งใจ อย่าไปลังเล กังวล หรือทำงานหลายๆอย่างที่ทำให้ตั้งใจ (Focus) ในงานนั้นได้ยาก ซึ่งทั้งหมดนี้แนะนำอย่างง่ายๆ สัก 4 ขั้นตอน คือ

หนึ่ง วิเคราะห์ปัญหาให้ออก (Analysis) เวลาได้รับมอบหมายงานหรือจะทำอะไรสักอย่างต้องหยุดวิเคราะห์สิ่งเหล่านั้นให้ชัดเจน รอบคอบ คนจะเป็นนักสืบ พยายามจะจับผู้ร้าย แต่บุ่มบ่าม เวลาเข้าไปตรวจที่เกิดเหตุ ก็เท่ากับไปทำลายหลักฐานต่างๆ เสียหายจนยากที่จะพิสูจน์ว่าใครเป็นคนร้าย

สอง เลือกวิธีการแก้ปัญหาให้เหมาะ (Alternatives) ในการแก้ปัญหาใดๆ นั้น มักจะมีทางเลือก คือเลือกตั้งแต่จะไม่ต้องไปแก้ปัญหานั้นๆ หรือจะมอบให้คนอื่นๆ ไปดำเนินการ หรือจะต้องกระทำเอง และทำอย่างจริงจัง ดังเช่น เราเป็นผู้บริหารสถานศึกษา เช่นครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ หรือผู้อำนวยการ มีปัญหาด้านวินัยของนักเรียนเกิดขึ้น ปัญหาอาจจะมีในต่างระดับกัน ตามปกติ ควรมีคนที่เขามีหน้าที่รับผิดชอบ เช่นรองผู้อำนวยการด้านวินัยและกิจการนักเรียน ก็ให้เขาไปดำเนินการ หรือในบางกรณีมีเรื่องสำคัญ เช่น ครูไปกระทำผิดต่อเด็กหลายๆ คน เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ จะไปมอบให้ใครมาดำเนินการก็อาจไม่เหมาะ เพราะกลุ่มผู้ปกครองกำลังจะเอาเรื่อง และสื่อมวลชนก็พร้อมที่จะไปทำเป็นข่าว ผู้บริหารคือผู้อำนวยการหรือครูใหญ่ ก็จะต้องหยิบยกมาพิจารณาปัญหา และหาทางแก้ ให้ความสำคัญในระดับสูง

สาม ทุ่มเทเวลาและทรัพยากรให้เพียงพอ (Time and Resources) งานใดที่มีความสำคัญ เราก็ต้องให้เวลาและใส่ใจเป็นพิเศษ งานใดที่พอจะมอบหมายให้คนอื่นๆทำได้ ก็กระจายความรับผิดชอบไปเสียบ้าง อย่าต้องไปทำเองในทุกเรื่อง นอกจากนั้นแล้ว คือต้องทำความเข้าใจว่าการจะทำให้งานใดเดินหน้าได้ ก็ต้องมีการลงทุนลงแรง ทั้งเงิน และกำลังคน หากต้องใช้คนที่เหมาะแก่งาน หากต้องหาจากภายในหรือภายนอกก็ตาม ต้องให้มั่นใจได้ว่าจะทำงานนั้นๆให้สำเร็จได้ เมื่อมีการผลักดันงานให้เวลาและทรัพยากรให้อย่างเพียงพอ

ติดตามการแก้ปัญหาอย่างไม่ลดละ (Follow up, Follow Through) เมื่อเริ่มงานได้ดี ก็ต้องมีการติดตามงาน เพราะงานบางอย่างนั้น ต้องมีการติดตามดูว่างานนั้นๆจะดำเนินการไปจนสำเร็จหรือไม่ ดังนี้เขาเรียกระบบว่า Follow up ต้องมีการติดตามงานไปเป็นระยะๆ หรือบางที่ต้องวางระบบที่เรียกว่าการติดตามงาน (Monitoring System) มีอะไรผิดพลาด หรือผิดปกติ ก็จะได้รู้เรื่องทันกับเวลา ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือการติดตามไปจนลุล่วง เหมือนการตีกอล์ฟ เมื่อไม้กระทบลูกนั้น ส่วนของวงสวิงจะยังทำให้ให้เราต้องมี Follow Through ไปเกรงหยุดกลางทางไม่ได้ ผลกระทบจะเป็นไปทั้งระบบ หากเป็นในองค์การ ก็คงต้องมีเป็นแผนระยะสั้น ระยะยาว และท้ายสุดนำไปสู่การทำให้กิจกรรมนั้นๆ ดำเนินไปได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่ใช่ว่าเราเริ่มงานมาดี แต่พอเราถอนตัว งานก็จะต้องล้มลง เพราะไม่มีใครสามารถดำเนินการต่อได้

จงตอกตะปูที่หัว จึงหมายถึง การทำงานที่ต้องมีการมุ่งเน้น การทำอย่างมั่นใจ แม่นยำ ไม่ปล่อยให้เกิดการผิดพลาดบ่อยๆ และเมื่อตอกตะปูแล้ว ก็ต้องตอกย้ำจนกระทั่งตะปูจมมิดติดกับเนื้อไม้ ชีวิตการทำงานก็เป็นเช่นนั้น เมื่อจะทำอะไรแล้ว ก็ต้องมุ่งมั่น ทำอย่างต่อเนื่อง และทำจนถึงที่สุด

No comments:

Post a Comment