Sunday, May 9, 2010

กฎของผู้ใช้ความรุนแรง (Rules for Radicals)

กฎของผู้ใช้ความรุนแรง (Rules for Radicals)


ภาพ หน้าปกหนังสือชื่อ Rules For Radicals, 1971

ประกอบ คุปรัตน์ Pracob Cooparat E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, The free encyclopedia
Keywords: Politics, การเมือง การปกครอง ความขัดแย้ง, กฎของผู้ใช้ความรุนแรง (Rules for  Radicals), Saul D. Alinsky,  Niccolò Machiavelli, Machiavellian, Machiavellian-ism, The Prince

ความนำ


ในทุกปี ผู้เขียนจะเดินทางมาพักย้งต่างประเทศอันเป็นช่วงฤดูร้อนในประเทศไทย และในสามปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ของบ้านเมืองมักจะมาเกิดวิกฤติเอาในช่วงฤดูร้อนนี้ ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อจะเดินทางมาและเป็นช่วงที่ยังมีวิกฤติฝ่ายคนเสื้อแดงที่คุณทักษิณ (Thaksin’s Red shirts) ให้การสนับสนุน ทำให้ได้คิดถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เมื่อขณะมาศึกษาต่อต่างประเทศในสหรัฐอเมริกาเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว มีอาจารย์ผู้สอนทางสังคมวิทยาท่านหนึ่ง ได้แนะนำหนังสือในขณะนั้นที่ชื่อว่า “Rules for Radicals” หรือ กฎของผู้ใช้ความรุนแรง

คำว่า Radicals หรือผู้ใช้ความรุนแรงนี้ เขาไม่ได้ให้ความหมายในทางเลวร้ายเสมอไป แต่เขาหมายถึง คนที่เมื่อถึงช่วงหนึ่ง หากจำเป็นการต่อสู้แทนที่จะใช้วิธีการสันติวิธี หรืออารยะขัดขืนนั้น ก็อาจมีการใช้วิธีการที่ต้องใช้ความรุนแรงหรือกร้าวขึ้นกว่าเดิม

จากหนังสือ “Rules for Radicals” เรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

กฎของผู้ใช้ความรุนแรง คู่มือเบื้องต้นสำหรับผู้ก่อการที่ใช้ความรุนแรงอย่างได้ผล จากหนังสือในภาษาอังกฤษว่า “Rules for Radicals: A Pragmatic Primer for Realistic Radicals” เขียนโดย Saul D. Alinsky ได้เผยแพร่ในสหรัฐอเมริกาเป็นภาษาอังกฤษ โดย Random House ในปี ค.ศ. 1971

ISBN
0394443411
OCLC Number
140535
Dewey Decimal
301.5
LC Classification
HN65 .A675

หนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ “Rules for Radicals: A Pragmatic Primer for Realistic Radicals” มีชือเรียกว่า “Rules for Radicals” จัดเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายที่ ซาอุล ดี อลินสกี้ (Saul D. Alinsky) ได้เขียนขึ้น ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1972 หนังสือได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1971 นับเป็นความพยายามของ อลินสกี้ได้เขียนหนังสือเล่มนี้จากประสบการณ์ของเขาที่ต้องนั่งเสวนาร่วมกับคนหนุ่มสาว นักศึกา นักรณรงต์ต่อสู้ แล้วเขาได้ตอบคนเหล่านั้น และได้รวบรวมความคิดที่ได้นี้ เขียนออกมาเป็นกฏเกณฑ์ของคนทำงานจัดตั้ง และต่อสู้ในสังคมอเมริกัน ในยุคที่มีการเรียกร้องสิทธิของคนยากคนจน คนสีผิวในเมือง คนหนุ่มคนสาวที่ต้องต่อสู้กับบ้านเมือง ที่เขาต้องถูกเกณฑ์ไปสู้รบในที่ห่างไกลอย่างเวียตนามหรืออินโดจีนที่ คนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นคนก่อ และไม่เห็นด้วยกับสงครามนั้น แต่ต้องไปเสี่ยงเสียชีวิตและบาดเจ็บล้มตายไปเป็นอันมาก

อเมริกันแม้เป็นพวกหัวรุนแรง (Radicals) แต่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และเป็นไม่ได้

แต่คนรุ่นใหม่ เยาวชนคนหนุ่มสาวที่ต้องถูกให้ไปรบในสงครามเวียตนาม ไปตายในสงครามที่เขาไม่เห็นด้วย การได้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมคนรุ่นพ่อที่ไม่เท่าเทียมกัน แล้วยังอยู่กันได้ ท่ามกลางความขัดแย้งในสังคมนั้นๆ

หากพวกคอมมิวนิสต์มีหนังสือหรือคัมภีร์อย่าง “The Communists Manifesto” พวกคนหนุ่มสาวอเมริกัน คนดำในเมืองที่ต่อสู่กับฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่า ก็มีหนังสือเล่มเล็กๆนี้ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในบรรดานักจัดตั้งรณรงค์ทางสังคมทั้งหลายในอเมริกา

ประวัติของ Saul David Alinsky


ภาพ Saul David alinsky

Saul David Alinsky เกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1909 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1972 เป็นนักจัดตั้งชุมชนและนักเขียน เขาได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ก่อตั้งชุมชนยุคใหม่ (modern community organizing) ที่นิตยสาร Playboy เปรียบเขาเหมือนกับ Thomas Paine เป็นนักต่อสู้ ผู้นำอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่ใช่เป็นพวกฝ่ายซ้าย คอมมิวนิสต์ หรือสังคมนิยม

ในช่วงสี่ทศวรรษที่เขาได้มีส่วนร่วมในการกระตุ้นคนยากจนในสหรัฐได้รวมตัวกันต่อสู้ เขามีศัตรูจำนวนมาก และในอีกด้านหนึ่ง ก็มีคนเป็นอันมากเช่นกันที่ชื่นชมเขา ทักษะในการจัดตั้งชุมชนโดยเน้นไปที่การยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนยากจนในอเมริกาเหนือในช่วงทศวรรษที่ 1950s ได้ทำให้คนเป็นอันมากหันมาให้ความสนใจสภาพความเป็นอยู่ของคนยากจนในอเมริกาที่เป็นคนผิวดำที่อยู่ในสลัม ชุมชนแออัด (African-American ghettos) โดยเริ่มจากชุมชนเมืองชิคาโก (Chicago) ในรัฐอิลลินอยส์ (Illinois) และได้ท่องเที่ยวไปยังชุมชนเสื่อมโทรม (Ghettos) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย (California), มิชิแกน (Michigan), เมืองนิวยอร์ค (New York City), และทือื่นๆในสหรัฐอเมริกาอีกนับเป็นสิบๆ แห่งที่จัดว่าเป็นจุดอันตราย (trouble spots)

ความคิดของเขาในระยะต่อมา ได้มีพวกนิสิตนักศึกษาในสหรัฐและคนหนุ่มสาวอื่นๆที่ได้รวมตัวกันในช่วงทศวรรษที่ 1960s และได้เป็นยุทธศาสตร์ที่นักศึกษาได้ลุกขึ้นต่อสู่ต่อต้านสงครามเวียตนามกันทั่วไปในวิทยาเขตต่างๆของสหรัฐอเมริกาและไปไกลยิ่งกว่านั้น Time magazine ได้เคยเขียนว่า ประชาธิปไตยแบบอเมริกันส่วนหนึ่งเกิดจากแนวคิดของ Alinsky” นักเขียนในแนวความคิดอนุรักษ์อย่าง William F. Buckley ได้กล่าวถึง Alinsky ว่าเป็น นักจัดตั้งที่ใกล้เป็นอัจฉริยะที่สุด
อลินสกี้ได้เขียนในบทนำของเขาว่า

สิ่งที่ผมเขียนในหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่เขียนอย่างอหังการ แต่มันเกิดจากประสบการณ์ที่ได้พูดคุย ให้คำปรึกษาแก่คนหนุ่มสาวเป็นอันมากที่ตั้งคำถามผมในการเสวนาหลายๆครั้งที่บางทีเวลาตลอดคืน ทั้งตามวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศสหรัฐอเมริกา บทเขียนนี้จึงเป็นของนักต่อสู้อย่างรุนแรง (Radicals) ที่จะต่อสู้และยึดถือสิ่งนี้เป็นสรณะของชีวิต

ในบทแรกของหนังสือเขา อลินสกี้เขียนว่า

สำหรับหนังสือเล่มนี้ สำหรับคนที่ต้องการจะเปลี่ยนโลก จากสภาพที่เป็นอยู่ ไปสู่สภาพที่โลกควรจะเป็น สำหรับหนังสือชื่อ The Prince ที่เขียนโดย Machiavelli เป็นการเขียนเพื่อให้คนที่เป็นพวกมีอยู่แล้ว (The haves) ที่จะคงรักษาอำนาจของตนเองว้า แต่สำหรับ Rules for Radicals เป็นการเขียนสำหรับคนไม่มี (the Have-Nots) เพื่อการช่วงชิงในสิ่งที่เขาควรจะได้

ในการวางแนวยุทธศาสตร์ อลินสกี้ได้เขียนดังนี้

เหตุผลที่มีการต่อสู้จากในระบบ Dostoevski ได้กล่าวว่า คนมักจะกลัวมากที่สุด คือการจะก้าวใหม่ไปข้างหน้า แต่การเปลี่ยนแปลงปฏิวัติใดๆ มักต้องมีสภาพความเฉื่ยยชา ทัศนคติแบบยอมตามแบบไม่มีการท้าทายของมหาชนส่วนใหญ่ทั้งสิ้น

และแล้ว คนจะเริ่มรู้สึกขัดแย้ง รู้สึกพ่ายแพ้ สูญเสีย ไร้อนาคตในระบบที่เป็นอยู่ แล้วก็จะคิดว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด และสภาพเช่นนี้เท่ากับเป็นการยอมรับความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิวัติ ในการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างปฏิรูป (Reformation) ทำให้ต้องมีการจัดตั้งจากภายในระบบ ไม่ใช่เพียงภายในชนชั้นกลาง แต่สำหรับคนอเมริกันกว่าร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ USD5,000 – 10,000 (ในปี ค.ศ. 1971)

ในการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนทำงานเป็นกรรมกร (blue collar or hard hat) ถ้าเขาได้ตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น เขาจะไม่สามารถอยู่อย่างนิ่งเฉยได้ หากเราล้มเหลวที่จะสื่อกับเขาเหล่านั้น และเราไม่กระตุ้นให้เขาได้มีการรวมตัวกัน เขาก็จะเปลี่ยนไปเป็นพวกฝ่ายขวา (Move to the right) ดังนั้น ต้องไม่ปล่อยให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปแบบปกติ

สำหรับอลินสกี้ การจัดตั้งกลุ่มคนเป็นกระบวนการที่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องทำให้คนมั่นใจได้ว่า เขาสามารถและต้องทำบางสิ่งบางอย่าง การจัดตั้งองค์การหรือกลุ่มคน กับเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นในคน ทั้งสองอย่างสัมพันธ์กัน หากคนไม่มีความเชื่อมั่นในอำนาจของตนเองว่าจะเปลี่ยนสถานการณ์ได้ เขาก็จะหยุดคิดทุกสิ่งทุกอย่าง

ในทัศนะของอลินสกี้ ผู้จัดตั้งมวลชน (Organizer) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภายนอก ก่อนอื่น ต้องสามารถสร้างความน่าเชื่อถือ ต่อไป คือการหาจุดที่ทำให้คนไม่พอใจ (Agitating) ต้องสร้างความรู้สึกร่วม การทำให้เกิดความรู้สึกกร้าวขึ้น และหาจุดที่เป็นความขัดแย้ง นี่เป็นความจำเป็นที่ทำให้คนเข้าร่วม ผู้จัดตั้งมวลชนต้องหาทางโจมตีความรู้สึกนิ่งเฉย ต้องหาจุดที่ทำให้คนไม่กลับไปหยุดนิ่ง และทำให้คนยอมรับสภาพการณ์ ก่อนอื่น ประการแรกของการทำให้ชุมชนรวมตัวกัน คือการต้องกวนน้ำให้ขุ่น (Community Disorganization) สร้างความสับสนให้เกิดขึ้น

ด้วยกระบวนการที่ทำให้คนทั้งมีความหวังและมีความต่อต้าน นักจัดตั้งมวลชนจะพยายามสร้าง กองทัพของมวลชน (Mass Army) มีการนำคนจำนวนมากมาร่วมด้วยให้มากที่สุด ทั้งจากองค์การ วัด กลุ่มให้บริการ กลุ่มแรงงาน แม้แต่แก๊งข้างถนน (Corner Gangs) และรวมถึงคนแต่ละคน

คำว่า กองทัพของมวลชน (Mass Army) มิได้หมายความว่าต้องมีอาวุธเสมอไป การที่คนมารวมตัวกัน และกระทำการอย่างเป็นหมู่คณะก็จะเป็นการเสริมพล้งให้แก่กันอยู่แล้ว

ในการนี้อลินสกี้ได้รวมรวมข้อปฏิบัติที่เป็นกฎแนะนำกระบวนการทำงาน แต่เขาเน้นย้ำว่ากฎต้องมีการตีความตามสภาพกลยุทธที่สอดคล้องกับชีวิตจริง ต้องเลื่อนไหลและตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ในการนำเสนอกฎแต่ละข้อนี้ ผู้แปลและนำเสนอใคร่จะเก็บส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษไว้ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถตีความและศึกษาต่อไปได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

กฎข้อที่หนึ่ง


อำนาจไม่ใช่เพียงสิ่งที่มี แต่หมายถึงสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามคิดว่าท่านมี ถ้าองค์การของท่านมีขนาดเล็ก ต้องซ่อนจำนวนไว้ในที่มืด การที่มองไม่เห็นจำนวน จะทำให้หลายคนคิดว่าท่านมีคนมากกว่าที่ท่านมีจริงๆ

Rule 1: Power is not only what you have, but what an opponent thinks you have. If your organization is small, hide your numbers in the dark and raise a din that will make everyone think you have many more people than you do.

ตัวอย่าง จะสังเกตได้ว่าในการรณรงค์ปัจจุบันนั้น เรื่องการรายงานจำนวนผู้เข้าร่วมในการชุมนุมมักจะเป็นเรื่องที่กระทำแตกต่างกันอย่างมาก ดังเช่นฝ่ายตำรวจรายงานเจ้านายไปว่ามีคนมาร่วมประมาณ 50,000 คน แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมจะบอกว่า มากันเป็นล้านคน หรือบางครั้งยังไม่มีคนมาร่วมมากมายนัก ก็อาศัยชื่อองค์การใส่ลงไปในรายนามองค์การผู้เข้าร่วม ดังนี้ก็จะทำให้ได้น้ำหนักของการต่อสู้เพิ่มขึ้น

กฏข้อที่สอง


อย่าทำอะไรที่คนของท่านเองยังไม่คุ้น ผลอาจเป็นความสับสน เกิดความหวาดกลัว และต้องล่าถอย

Rule 2: Never go outside the experience of your people. The result is confusion, fear, and retreat.

ตัวอย่าง หากท่านไปชวนคนให้มาร่วมฟังการปราศรัย แล้วท่านกลับพาเขาไปเดินขบวน นั่นเป็นความเสี่ยง เพราะเมื่อไปร่วมเดินขบวนนั้น เขาอาจไม่ไป และเดินกลับบ้าน หรือหากมีความรุนแรงที่เขายังไม่เห็นด้วยเกิดขึ้น เขาอาจจะไม่มาร่วมในครั้งต่อๆไปเลย ทำให้เสียมวลชนไป

กฎข้อที่สาม


เมื่อใดที่เป็นไปได้ ให้กระทำการอย่างที่ฝ่ายตรงข้ามไม่มีประสบการณ์มาก่อน ที่ซึ่งท่านสามารถสร้างความสับสน ความหวาดกลัว และทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามต้องล่าถอย

Rule 3: Whenever possible, go outside the experience of an opponent. Here you want to cause confusion, fear, and retreat.

ตัวอย่าง หากการทำการใดๆที่ทำอยู่บ่อยๆ มีแต่การไปฟังคำปราศรัยแล้วก็กลับบ้าน แต่เปลี่ยนไปสู่การต้องออกไปเดินขบวนไปประท้วงในที่ๆมีความสำคัญ ดังนี้ฝ่ายบริหารก็จะตอ้งกังวล เพราะว่าเมื่อมีการเดินขบวนเกิดขึ้น จะไม่รู้และไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น

กฏข้อที่สี่


ทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามต้องติดยึดกับกฏเกณฑ์ที่เขาได้ตั้งขึ้นเอง ท่านสามารถฆ่าเขาได้ด้วยการติดยึดดังกล่าว เพราะมันจะทำให้เขาไม่สามารถเชื่อในกฎที่เขาตั้งขึ้นเองได้ เหมือนดังที่ชาวคริสเตียนไม่สามารถเดินตามกฏเกณฑ์ของศาสนาของเขาเองได้

Rule 4: Make opponents live up to their own book of rules. “You can kill them with this, for they can no more obey their own rules than the Christian church can live up to Christianity.”

ตัวอย่าง การต่อสู้ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์การปราบปรามผู้ชุมนม ที่ให้เริ่มจากเบาไปหาหนัก ฝ่ายผู้ชุมนุมก็บอกว่าตนเองมีแต่คนมือเปล่า แต่ในข้อเท็จจริง คนร่วมชุมนุมที่ว่านี้รวมไปถึงพวกที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัยที่แข็งแรง หรือแม้แต่เป็นพวกทหาร ตำรวจ หรืออดีตคนที่เคยทำงานด้านความปลอดภัยมาก่อน และหากมีการประทะกัน ด้วยจำนวนที่มากกว่า ก็สามารถแหกด่านไปได้ แต่หากมีการประทะกัน ก็จะอ้างว่าตำรวจทหารทำร้ายประชาชน แต่หากแหกด่านไปได้ ก็จะกลายเป็นชัยชนะของฝ่ายผู้ชุมนุม สร้างความมั่นใจและชัยชนะสำหรับผู้เข้าร่วมที่จะกล้าเข้าร่วมในครั้งต่อๆไป

กฎข้อที่ห้า


การเย้ยหยันเป็นอาวุธที่มีพลังที่สุด การเยาะเย้ยถากถางทำให้ฝ่ายตรงข้ามโกรธ และจะทำให้เขากระทำการอย่างที่ท่านจะได้เปรียบ

Rule 5: Ridicule is man’s most potent weapon. It’s hard to counterattack ridicule, and it infuriates the opposition, which then reacts to your advantage.

ตัวอย่าง การเย้ยหยันเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักรณรงค์ต่อสู้ สำหรับการต่อสู้กับฝ่ายบ้านเมือง เพราะมันเป็นการยากที่ฝ่ายบ้านเมืองต้องทำตนเป็นผู้ใหญ่กว่า จะไปตอบโต้กับฝ่ายผู้ชุมนุม ชาวนาชาวไร่ หรือนิสิตนักศึกษา ก็ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของสื่อมวลชน

กฏข้อที่หก


กลยุทธที่ดีคือสิ่งที่คนของท่านเองชอบ หากคนของท่านไม่ชอบมัน ก็แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นกลยุทธที่ไม่ถูกต้อง ต้องหาทางเลี่ยงเสีย

Rule 6: A good tactic is one your people enjoy. “If your people aren’t having a ball doing it, there is something very wrong with the tactic.”

ตัวอย่าง ในประเทศไทย เมื่อมีการชุมนุมโดยกลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (People’s Alliance For Democracy – PAD) ขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมเป็นอันมาก เป็นชนชั้นกลาง มักไม่ชอบการด่าทอหยาบคาย ฝ่ายผู้จัดการชุมนุมก็ต้องปรับตัวที่จะไม่ใช้ภาษาที่หยาบคายด่าทอ และต้องใช้วิธีการพูดคุยปราศรัยที่ร้อนแรง แต่ก็ต้องด้วยภาษาที่ยอมรับได้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อมีการชุมนุมโดย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (ตัวย่อ: นปช.; อังกฤษ: National United Front of Democracy Against Dictatorship; UDD) แนวทางการรณรงค์ไม่ได้ใช้ภาษาอย่างเดียวกัน เหตุเพราะคนมาร่วมมีฐานมาจากชาวบ้าน คนทำงานระดับล่างในเมืองเป็นจำนวนมาก ภาษาที่ใช้จึงไม่จำเป็นต้องสุภาพ หรือพูดจาฟังเข้าใจยาก ไม่ต้องใช้เหตุผลที่ถูกต้องมาก เพราะไม่มีใครที่จะไปตรวจสอบความถูกต้อง คนที่มาฟังไม่ใช่นักวิชาการที่จะคอยตรวจสอบสิ่งที่พูด จึงพูดอย่างเข้าใจได้ง่ายๆ และเป็นการพูดปราศรัยเพื่อปลุกเร้าอารมณ์เป็นหลัก

กฏข้อที่เจ็ด


กลยุทธใดๆที่ใช้ซ้ำๆกันบ่อยครั้ง กลายเป็นความน่าเบื่อ และไม่ได้ผล กลายเป็นการปฏิบัติดังพิธีกรรม และคนก็จะหันไปสนใจในเรื่องอื่นๆ

Rule 7: A tactic that drags on for too long becomes a drag. Commitment may become ritualistic as people turn to other issues.

ตัวอย่าง นักจัดตั้งทั้งหลายเมื่อมีการจัดตั้ง จึงต้องคิดถึงรูปแบบการมีส่วนร่วม การพูดคุยกันในกลุ่มเล็กๆ เพื่อเป็นการจุดไฟทางความคิด การจัดปราศรัยในที่ประชุม ในห้องประชุมขนาดกลาง หรือใหญ่ขึ้น แต่สามารถควบคุมฝูงชนได้ง่าย รักษาความปลอดภัยได้ง่าย การล่ารายชื่อลงนามประกาศโดยต้องระดมคนจำนวนมากๆเข้าร่วม การจัดชุมนุมในวันเสาร์อาทิตย์ หรือไปในระดับการชุมนุมต่อเนื่อง การจัดเดินขบวนไปตามที่ต่างๆ

ในเวทีการชุมนุม ก็ต้องมีความหลากหลายในกิจกรรม มีการแสดงดนตรี คอนเสอร์ต มีนักร้องศิลปินมาร่วมสร้างความบันเทิง การมีพระมาเทศ การเก็บกวาดที่ชุมนุม

กฏข้อที่แปด


ใช้ความกดด้น (Pressure on) ใช้กลยุทธและการกระทำที่หลากหลายในแต่ละช่วงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของท่าน กลยุทธต่างๆที่นำมาใช้ต้องไปสร้างแรงกดด้นแก่ฝ่ายตรงกันข้าม และสิ่งนี้จะทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามต้องปฏิบัติอย่างทำให้ฝ่ายท่านได้เปรียบ

Rule 8: Keep the pressure on. Use different tactics and actions and use all events of the period for your purpose. “The major premise for tactics is the development of operations that will maintain a constant pressure upon the opposition. It is this that will cause the opposition to react to your advantage.”

ตัวอย่าง การกดดันมักจะต้องมีการยกระดับ เพื่อไปสร้างความกดดันให้กับฝ่ายตรงกันข้าม แต่ถ้าการชุมนุมมีลักษณะนานๆครั้ง ก็จะทำให้แรงกดดันลดลง ดังเช่น ชาวนาเกษตรกรมาชุมนุมปีละครั้ง แต่ละครั้งมาอยู่ร่วมกันในระยะสั้นๆ อยู่ได้ไม่นานแล้วก็กลับไป ดังนี้ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้ามก็อ่านแนวทางออก และหาทางที่จะให้เรื่องจบลง แล้วคนก็กลับบ้านกลับช่องไป แล้วปีใหม่ค่อยมาว่ากันใหม่

กฏข้อที่เก้า


การข่มขู่สามารถสร้างความหวาดกลัวได้มากเสียยิ่งกว่าที่เป็นจริง ดังเช่น อลินสกี้ขู่ว่า คนยากจนจะทำการล๊อกห้องน้ำที่สนามบิน O’Hare Airport ที่เมืองชิคาโก ฝ่ายบ้านเมืองรีบมาหาข้อตกลงว่าจะหาทางช่วยเหลือคนยากจนในสลัม เพราะเมื่อฝ่ายบ้านเมืองมองภาพว่า หากมีการปิดล๊อกประตูห้องน้ำในสนามบินจริงๆ มีคนต้องรอเข้าห้องน้ำนับเป็นพันๆคน อะไรจะเกิดขึ้น มันจะกลายเป็นความอับอายของเมือง และสร้างความเสื่อมเสียแก่เมืองชิคาโก

Rule 9: The threat is more terrifying than the thing itself. When Alinsky leaked word that large numbers of poor people were going to tie up the washrooms of O’Hare Airport, Chicago city authorities quickly agreed to act on a longstanding commitment to a ghetto organization. They imagined the mayhem as thousands of passengers poured off airplanes to discover every washroom occupied. Then they imagined the international embarrassment and the damage to the city’s reputation.

ตัวอย่าง การข่มขู่ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่จะบุกไปมหาวิทยาลัย เพียงพูดขู่ มหาวิทยาลัยก็ต้องประกาศปิดสถานที่ เพราะไม่กล้าเสี่ยงว่าจะเกิดอะไรขึ้น

กฎข้อที่สิบ


ราคาของการโจมตีที่ทำสำเร็จจะเป็นทางเลือกที่สร้างสรรค์ ระวังจะกลายเป็นตกหลุมพรางของฝ่ายตรงกันข้าม หรือการให้สัมภาษณ์ที่แล้วฝ่ายตรงข้ามถามกลับมาว่า แล้วไง แล้วคุณจะทำอะไรต่อไป กลายเป็นความไม่น่ากลัว

Rule 10: The price of a successful attack is a constructive alternative. Avoid being trapped by an opponent or an interviewer who says, “Okay, what would you do?”

ตัวอย่าง ในการชุมนุมของกลุ่มนปช. หรือคนเสื้อแดงในช่วงฤดูร้อนปีพ.ศ. 2553 มีการใช้อาวุธของคนไม่ทราบฝ่าย อันได้แก่การใช้ระเบิด M76 ยิงเข้าไปในที่ต่างๆ ที่ไม่มีคน เป็นการสร้างข่าว สร้างภาพว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการควบคุมความเรียบร้อยของประเทศได้ แต่ก็ทำให้คนเป็นอันมากเข้าใจว่า ฝ่ายทีทำนั้น ต้องเกี่ยวข้องกับฝ่ายคนเสื้อแดงและทักษิณ ชินวัตร แน่นอน และการทำบ่อยๆ หลายสิบครั้ง คนก็เริ่มเคยชิน ยิ่งทำก็ยิ่งเป็นการทำให้ประชาชนชินชา ผลเสียกลับตกกับฝ่ายคนเสื้อแดง ที่คนจะสงสัยว่า แล้วที่ว่าจะรณรงค์อย่างสงบสันตินั้นจริงหรือ อีกด้านหนึ่ง คนจะเริ่มคิดว่า แล้วอย่างไรต่อไป

กฏข้อที่สิบเอ็ด


เลือกเป้าหมายที่จะโจมตี ทำให้เป้าหยุดนิ่ง กลายเป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้เกิดความแตกแยก อย่าพยายามโจมตีสิ่งที่เป็นองค์การเอกชน หรือระบบราชการที่มีความซับซ้อน ต้องมองหาความรับผิดชอบของคน พยายามอย่าทำให้การโจมตีนั้นมีทางเลี่ยงได้ว่าไม่ใช่ความผิดของเขา หรือเรียกได้ว่าโจมตีผิดที่

Rule 11: Pick the target, freeze it, personalize it, polarize it. Don’t try to attack abstract corporations or bureaucracies. Identify a responsible individual. Ignore attempts to shift or spread the blame.

ตัวอย่าง การโจมตีนั้น หากเป็นระบบราชการขนาดใหญ่ ตำรวจ ทหาร หาตัวตนได้ยาก จึงเลือกโจมตีที่ตัวนายกรัฐมนตรี โฆษกรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ หรือคนที่เกี่ยวข้อง โจมตีคนก็เหมือนกับโจมตีระบบ การโจมตีประธานองคมนตรี ก็เหมือนกับโจมตีสถาบันเบื้องสูง แต่ผลที่มีต่อบุคคลนั้นรุนแรง และสร้างความสั่นคลอนให้กับคนในระดับรองๆลงมา หรือสูงขึ้นไป

ยุทธศาสตร์การต่อสู้


ตามแนวทางของอลินสกี้ มีงานหลักของผู้จัดตั้ง คือพยายามที่จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามหลงกินเหยื่อ การที่ศัตรูหลงทางและตอบโต้ท่านอย่างผิดๆถูกๆ นั่นคือความแข็งแกร่งของท่าน

การต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสหรัฐ สถาบันทหาร ธุรกิจ ฝ่ายต่อต้านอันได้แก่นักศึกษา คนหนุ่มสาวที่จะต้องถูกเกณฑ์ไปร่วมในสงครามนั้น ประวัติไม่ได้ใช้ความรุนแรงในระดับจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลของตนเอง แต่ก็ไม่ใช่วิธีการสันติวิธีแบบอหิงสา ดังที่ Dr. Martin Luther King นำในการต่อสู้ของคนดำเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกัน ซึ่งไม่มีการใช้อาวุธเลย และเป็นฝ่ายถูกกระทำ แต่มีสื่อที่ทำข่าวที่สามารถทำให้เห็นว่า ฝ่ายปกครองนั้นใช้วิธีการที่ป่าเถื่อนอย่างไร

แนวทางของอลินสกี้นั้น ไม่ได้จำกัดเพียงการต่อสู้อย่างสันติวิธี แต่สามารถเลือกใช้ได้หลายวิธีการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ

อลินสกี้ได้เขียนกฎของเขาอย่างชัดเจนสำหรับการจัดตั้งมวลชน (Community Organizers) เขามีกฎสำหรับผู้ใช้ความรุนแรง และในปัจจุบันได้กลายเป็นกลยุทธที่ใช้ในการฝึกผู้จัดตั้งมวลชนใหม่ๆ

กรอบแห่งศีลธรรม


ในบทถัดไปเมื่อมีการถามว่า สิ่งที่เขาทำนั้นเป็นเรื่องที่เน้นจุดหมายปลายทาง (End) เป็นต้วกำหนดวิธีการใช่หรือไม่ (Means) ซึ่งอาจหมายความถึงว่า วิธีการให้ได้มาซึ่งความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องให้อยู่ในกรอบของศีลธรรมหรือไม่

อลินสกี้ได้ให้ท้ศนะว่า คำถามนี้ไม่มีความหมาย เพราะสถานการณ์เป็นตัวกำหนด ในบางขณะวิธีการ (Means) อาจมีความสำคัญ แต่ในบางขณะอาจไม่ใช่เป็นเช่นนั้น กล่าวโดยรวม เขาไม่ได้ให้คำตอบทีชัดเจน และไม่ปฏิเสธ

อลินสกี้ยังได้เสนอกฎอื่นๆอีกหลายประการที่เกี่ยวกับศีลธรรมทั้งต่อด้านวิธีการ (Means) และจุดหมายปลายทาง (Ends) ซึ่งประมวลได้ดังนี้

- การตัดสินว่าความถูกต้องทางศีลธรรมของวิธีดำเนินการ (Means) นั้นขึ้นอยู่กับสถานะทางการเมืองของคนที่มีบทบาทในการตัดสิน

- ดังกรณีในสงคราม จุดหมายปลายทาง (Ends) เกือบจะเป็นตัวตัดสินวิธีการ (Means) เพราะในที่สุด คนชนะคือคนที่ถูกต้องอยู่ดี

- การตัดสินนั้นกระทำในสภาพแวดล้อม เวลาใด ไม่ใช่ว่าในทุกที่จะมีกฏเกณฑ์ตายตัวในการตัดสินใจ

- เมื่อในการดำเนินการ ศีลธรรมจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีทางเลือกในการดำเนินการมากขึ้น แต่หากไม่มีทางเลือกในการดำเนินการ อะไรๆ ก็ต้องทำ

- หากจุดหมายปลายทางไม่มีความสำคัญมากนัก ก็สามารถที่จะคิดอย่างใช้ศีลธรรมเป็นฐานได้มากกว่า

- โดยทั่วไป ความสำเร็จหรือความล้มเหลวจะเป็นตัวกำหนดในเรื่องการใช้มาตรฐานศีลธรรม หากกระทำการตามวิถีทางอย่างถูกต้อง แล้วนำไปสู่ความล้มเหลว ก็จะไม่เกิดประโยชน์

- ศีลธรรมในวิธีปฏิบัตินั้นขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นเขากำล้งจะสำเร็จหรือล้มเหลว

- ในวิธีการที่มีประสิทธิผล (Effective means) จะถูกตัดสินโดยฝ่ายตรงกันข้ามว่าไม่มีหรือไม่ถูกหลักศีลธรรม

- ท่านจะสามารถทำอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าแล้วท่านสามารถปกปิดมันได้อย่างสวยงามได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งในที่นี้ เป้าหมายนั้น จะต้องมีวิธีการกำหนดที่คนทั่วๆไปเข้าใจได้ เช่น “Liberty, Equality, Fraternity” หรือ เสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน และภราดรภาพ หรือ การแสวงหาความสุขและสันติ ("Pursuit of Happiness,") หรือ ขนมปังและสันติภาพ ("Bread and Peace.")

กฎเกณฑ์ด้านศีลธรรมที่จะใช้เป็นเครื่องมือและเป็นจุดหมายปลายทางจะแตกต่างกันระหว่างสิ่งที่เขาเขียน และสิ่งที่เขาใช้จริงในการทำงานกับชุมชน

บทสรุป


สำหรับผู้เรียบเรียง การต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดง (Red shirts) ในประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่ซับซ้อนว่าได้ใช้วิธีการอะไร มันเป็นการทำเพื่อปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่แนวทางของมาร์กเลนิน (Marxist-Leninist) หรือ ซึ่งก็ไม่ใช่ หรือหากใช่ก็คงจะสำเร็จได้ยาก

การต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นแบบอหิงสา สันติวิธีหรือ ซึ่งก็อยากทำให้ดูเหมือนเช่นนั้น เพื่อดึงให้ได้ฐานมวลชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่ามาร่วม ซึ่งอาจเป็นคนทำงานในเมือง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้สงสัยกันว่า แล้ววิธีการที่มาพร้อมกับการข่มขู่ การรอบวางระเบิด การยิงระเบิดที่รุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ การต่อสู้กับทางตำรวจทหารในยามคับขัน ทำไมจึงมีอาวุธสงครามมาเกี่ยวข้อง ดังนี้ฝ่ายคนเสื้อแดงก็ยากที่จะปฏิเสธ และส่วนนี้ทำให้ฐานคนทั่วไปยากที่จะเห็นด้วยและให้การสนับสนุน

สิ่งที่คนที่ศึกษาและใช้เหตุผลจึงทำให้ยากที่จะปฏิเสธว่า แท้จริงแล้ว สามส่วนนี้มีส่วนสัมพันธ์กัน นั้นคือ ส่วนแรก คือการรณรงค์ในแบบใช้ความรุนแรงได้ แต่สามารถดึงดูดมวลชนจำนวนมากเข้าร่วมได้ ส่วนที่สอง คือพรรคการเมือง อันได้แก่พรรคเพื่อไทย (Pheu Thai Party – PTT) ที่มีการเคลื่อนไหวทั้งในสภา และนอกสภาฯ มีการใช้เสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ และส่วนทีสาม คือส่วนที่ใช้ความรุนแรงได้อย่างลับๆ ซึ่งในที่สุดเมื่อมีการกระทำกันอย่างกว้างขวาง ก็จะปิดลับได้ยากว่า ใครอยู่เบื้อหลัง

และทั้งสามส่วนนี้ ยากที่จะบอกได้ว่า คุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้อง เพราะหากใช้หลักตรรกะมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะบอกได้ว่า แล้วคนอื่นๆเขาจะทำอย่างเช่นที่ได้กระทำไปนี้เพื่ออะไร

สำหรับคนไทยทั่วไป คงต้องทำความเข้าใจในฝ่ายต่างๆในบ้านเมืองว่า เขาคือใคร เขาใช้วิธีการอย่างไร และต้องการกระทำไปเพื่อให้ได้อะไรขึ้นมา จะเรียกว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง การเดินทางตามเส้นทางประชาธิปไตยไปสู่เป้าหมายที่สร้างความสงบสุขสันติ และพัฒนาประเทศไปบนเส้นทางของ เสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน และความเป็นภราดรภาพ นั้นคนไทยจะเลือกเดินอย่างไร เป้าหมายปลายทางคืออะไร

บทความนี้ที่ได้แปลเอกสารบางส่วน และสำหรับท่านที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติม อาจะต้องทำความเข้าใจในตัวละคร องค์การต่างๆที่กำลังมีบทบาทเหล่านี้ว่า เขาคือใคร มีฐานความเชื่อและยุทธศาสตร์การต่อสู้อย่างไร

แต่ที่แน่ๆ คนไทยทุกคนต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจในสรรพสิ่งอย่างใช้หลักเหตุและผล การศึกษาถึงวิธีการ และเป้าหมายปลายทาง ผู้เขียนมีความเชื่อว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่สูตรสำเร็จ ประชาธิปไตยต้องมีส่วนร่วมจากประชาชน และเป็นสิ่งที่จะไม่ได้มาด้วยการเพียงนั่งดูนั่งชมกันเฉยๆ

Publication data


Rules for Radicals: A Pragmatic Primer for Realistic Radicals (1971) Random House, ISBN 0-394-44341-1; Vintage books paperback: ISBN 0-679-72113-4
- [edit] Related books
- Reveille for Radicals
- The Prince

No comments:

Post a Comment