ความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่าน
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Updated: Sunday, May 02, 2010
Keywords: Cw059, ความเป็นผู้นำ, ความขัดแย้ง
ความขัดแย้งเลี่ยงได้ ก็เลี่ยง
มีคำกล่าวสำคัญจากประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา คือ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ซึ่งกล่าวว่า “ฉันควรจะทำลายศัตรูหรือไม่ ในเมื่อเรายังเป็นมิตรกันได้” อันมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า
“Am I not destroying my enemies when I make friends of them?”
มีความกล่าวในภาษาจีนหนึ่งว่า “มีมิตร 100 คน ก็นับว่าไม่เพียงพอ แต่มีศัตรูเพียงหนึ่งก็นับว่าเกินพอ” กล่าวคือในสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์นั้น ความขัดแย้งใดๆที่พอจะหาทางออกได้ อาจด้วยเหตุผล การเจรจา ได้บ้าง เสียบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าที่ต้องตัดสินแพ้ชนะกันอย่างแตกหักกันไปข้างหนึ่ง หรือต้องตัดสินกันด้วยกำลัง หรือการรบ ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียแก่ทั้งสองฝ่าย
ในสังคมใดๆก็ตาม มักจะมีความขัดแย้งดำรงอยู่ มากบ้าง น้อยบ้าง แต่สังคมต้องมีกลไกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นๆ
ความขัดแย้งนับเป็นร้อยๆปี ก็มี
ดูตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา
ลินคอล์นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ คือช่วงวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1860 จนถึงวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1865 ซึ่งเขาได้เสียชีวิตจากการลอบสังหาร ในช่วงของการรณรงต์ทางการเมืองของเขา เขายืนยันในประเด็นที่ว่า สังคมที่จะต้องก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้นำอารยะประเทศอย่างสหรัฐอเมริกานั้น ยังคงอยู่ในครอบงำของความเห็นแก่ตัว การใช้แรงงานทาส (Slavery) อยู่อีกหรือไม่ เพราะในยุโรปนั้น เขาไม่มีแรงงานทาสกันมานานแล้ว
ในที่สุด การมีหรือไม่มีแรงงานทาสนั้นก็นำมาสู่ความแตกแยกทางความคิด แต่กระนั้น เมื่อฝ่ายใต้ต้องการแยกตัวออกเป็นอีกประเทศหนึ่งในนาม Confederacy ลินคอล์น ในฐานะประธานาธิบดีแห่งสหรัฐก็ไม่ยอมให้แยกออกเป็น 2 ประเทศ และต้องประกาศสงครามระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ แม้ว่าสงครามจะนำมาซึ่งความเจ็บปวด การสูญเสีย แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของประเทศใหม่ที่ต้องมีการปรับแก้สภาพสังคมของเขาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ฝ่ายเหนือเป็นฝ่ายชนะสงคราม ประเทศสหรัฐยังคงเป็นหนึ่งเดียว แม้จะมีความบาดหมาง มีทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตรวม 620,000 คน ปัญหาการแบ่งแยกผิวแม้ผิดกฎหมาย แต่ก็ยังมีการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น และเป็นวิถีชีวิตต่อมาอีกนับร้อยปี
สหรัฐได้ก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งอีกครั้งหนึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1960 หรือร้อยปีให้หลัง ที่สังคมอเมริกันก็ยังมีการแบ่งแยกอยู่ แม้จะได้เลิกทาสไปแล้ว คนดำถูกแบ่งแยกด้านการศึกษาในหลายรัฐทางตอนใต้ แบ่งแยกในการใช้รถสาธารณะ ห้องน้ำ ฯลฯ และคนดำก็ยังถูกคุกคามโดยกลุ่มคนผิวขาวสุดโต่งที่ใช้การข่มขู่คุกคาม ทำร้าย รวมถึงการจับแขวนคอ โดยกลุ่มคนใส่ชุดขาว สวมถุงขาวปิดหน้าตา ที่เรียกว่า Klu Klux Klan ช่วงปี ค.ศ. 1960 นับเป็นช่วงปฏิรูปสังคมที่มีความขัดแย้งสูง แม้จะไม่มีสงคราม แต่ก็เป็นยุคที่วิกฤติ มีการลอบสังหาร การข่มขู่ บางส่วนต่อสู้ในแบบอหิงสา ดังกลุ่มที่นำโดย Dr. Martin Luther King Jr. คนดำบางส่วนก็เลือกใช้การต่อสู้โดยอาวุธ กลียุคได้เกิดขึ้นรวมถึงการเผาบ้านเผาเมือง
กว่า 150 ปีผ่านไป ปัจจุบัน สังคมอเมริกันได้ก้าวสู่สังคมหลากหลายเผ่าพันธุ์ และได้พิสูจน์ว่า คนที่แตกต่างหลากหลายนั้นอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมกันตามกฎหมาย
ปี ค.ศ. 2010 อเมริกันมีประธานาธิบดีที่มีเชื้อสายคนผิวดำเป็นครั้งแรก คือ Barack Obama แม้ในทางเศรษฐกิจนั้น ยังมีความแตกต่างระหว่างคนต่างสีผิว เพศ และภูมิประเทศ แต่กระนั้นก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ประเทศใหม่ที่ยิ่งใหญ่อย่างสหรัฐนี้ ยอมรับความเป็นจริง และหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อปรับแก้ประเทศของตนเองเพื่อก้าวสู่เป็นสังคมใหม่ที่ดีกว่า
หลักการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
การแก้ปัญหาความขัดแย้งมิได้หมายความว่า ต้องใช้กระบวนการสันติวิธีแต่เพียงอย่างเดียว เพียงแต่ว่า ได้เริ่มลองใช้วิธีการสันติวิธี คือต้องมีการเจรจากันก่อนที่จะเลือกวิธีการอื่นๆที่รุนแรงกว่า
การแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้น ไม่มีวิธีการใดที่ดีที่สุด บางครั้งการยอมแพ้ (Surrender) หรือยอมสูญเสีย อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ณ เวลาหนึ่ง ดังในสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศฝรั่งเศสเลือกที่จะไม่ขัดขืนเยอรมันนานนัก ยอมเจรจา และปล่อยให้เยอรมันเข้ายึดครอง เพื่อไม่ให้บ้านเมืองของเขาต้องถูกทำลายไปด้วยสงคราม ประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น เราต่อต้านญี่ปุ่นได้เพียงช่วงสั้นๆเท่านั้น และในที่สุดก็ยอมแพ้ แล้วหันไปสู้แบบใต้ดิน ด้วยการจัดตั้งกลุ่มเสรีไทย
ในบางสถานการณ์อาจต้องใช้วิธีการเจรจา มีได้บ้าง เสียบ้าง ไม่มีใครได้ทั้งหมดอย่างที่ต้องการ เรียกว่า “ประนีประนอม” (Compromise) ประเทศกัมพูชาในระยะหลังสงครามเวียตนาม นายฮุน เซน (Hun Sen) ก็เลือกที่จะครองอำนาจแบบรัฐบาลร่วมของสองฝ่าย จนกระทั่งในระยะต่อมามีอำนาจและฐานเสียงที่เป็นปึกแผ่นพอ ก็จึงปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ
วิกฤติฤดูร้อน ค.ศ. 2010
ในวิกฤติทางการเมืองของประเทศไทย การประท้วงของฝ่ายคนเสื้อแดง (Red shirts) ภายใต้การสนับสนุนของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 2010 เริ่มต้นด้วยการที่ฝ่ายคนเสื้อแดง บุกเข้ากรุงเทพฯ ประท้วงโดยปิดถนนราชดำเนิน และการส่งคนไปก่อการในที่ต่างๆด้วยขบวนรถกระบะ และมอเตอร์ไซค์ ได้มีการเปิดเจรจากับฝ่ายรัฐบาลสองครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล มีความพยายามสลายการชุมนุม และในที่สุดมีการปักหลักชุมนุมในบริเวณราชประสงค์ (Rajprasong, Bangkok)
การปรากฏว่า ฝ่ายคนเสื้อแดงไม่สามารถบรรลุผลทางการเมือง ล้มล้างรัฐบาล หรือเรียกร้องให้ยุบสภา และนายกรัฐมนตรีลาออกได้ (House Dissolution) แต่ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลเอง ก็ไม่สามารถใช้การปราบปราม หรือสลายการชุมนุมได้อย่างเป็นผล จนแม้ในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 2010 ได้มีความพยายามสลายการชุมนุมที่บริเวณถนนราชดำเนิน แต่ก็ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง ด้วยอาวุธูสงคราม มีคนทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตกว่า 20 คน บาดเจ็บกว่า 800 คน ที่ต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวันอีกกว่า 200 คน ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการใช้ทั้งมาตรการเบาไปหาหนัก แต่ก็ยังไม่สามารถสลายการชุมนุมได้
ทางออกของการแก้ปัญหาคืออะไร
ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้น ประการแรกคือต้องยอมรับปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ และต้องเข้าใจความเป็นเหตุของปัญหา ต้องมองปัญหาอย่างองค์รวม และการแก้ปัญหาต้องมีความเป็นเอกภาพ มีการวางและดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์
การแก้ปัญหา ต้องหาทางที่จะมาร่วมกันคิด และเจรจาเพื่อหาทางออก แต่หากมีความขัดแย้งที่ไม่สามารถนำไปสู่ข้อยุติ ต้องใช้หลักกฎหมาย และหลักความยุติธรรม ก็จะต้องมีการใช้อย่างเท่าที่จำเป็น และกระทำอย่างได้ผล ไม่ผิดพลาด เรียกว่า “ช้าได้ เลื่อนเวลาออกไปได้ แต่ต้องทำให้สำเร็จ”
ในกรณีที่ต้องใช้กำลังเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ก็ต้องมองหาทางออกทั้งทางมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ เพื่อทำให้สามารถนำสังคมกลับสู่สภาพความเป็นปกติโดยเร็วที่สุด การแก้ปัญหาก็ต้องเริ่มจากจุดที่เป็นปัญหาหนักสุด แก้ปัญหาอย่างมีการเตรียมการ และเมื่อดำเนินการแล้ว ปัญหาอื่นๆที่ตามมา ก็ต้องค่อยทะยอยแก้ปัญหาตามๆมา
และในการนี้ก็ต้องแสวงหาทางออกที่เกิดความสงบและสมานฉันท์ (Peace and Reconciliation) สำหรับคนในชาติในระยะยาวต่อไป เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม การสร้างความเป็นมิตรแก่กันให้กลับคืนมาแก่คนในชาติในที่สุด
No comments:
Post a Comment