Thursday, February 23, 2012

สุภาษิตชาวโปแลนด์: แขกมาเยี่ยม 1 ชั่วโมงมองเห็นมากกว่าเจ้าของบ้านมองเห็นมา 1 ปี

สุภาษิตชาวโปแลนด์: แขกมาเยี่ยม 1 ชั่วโมงมองเห็นมากกว่าเจ้าของบ้านมองเห็นมา 1 ปี

ประกอบ คุปรัตน์Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: สุภาษิต, Proverbs, Polish, โปแลนด์, เส้นผมบังภูเขา, visions, วิสัยทัศน์

มีสุภาษิตชาวโปแลนด์ที่นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษบทหนึ่งกล่าวว่า “A guest sees more in an hour than the host in a year.” แปลเป็นไทยได้ว่า “แขกมาเยี่ยม 1 ชั่วโมงมองเห็นมากกว่าเจ้าของบ้านมองเห็นมา 1 ปี” ~ สุภาษิตโปแลนด์

ลองนำสุภาษิตนี้มาใช้ประยุกต์กับชีวิตและสังคมของเรา

การใช้รถ - คนขับรถทุกวัน บางครั้งสังเกตไม่พบว่ารถของตนที่ใช้ขับอยู่นั้นมีปัญหาอย่างไร จนกระทั่งรถนั้นเสียหายจนวิ่งไม่ได้ จึงจะมองเห็น เหตุที่เขาสังเกตไม่เห็น เพราะความเคยชิน แต่ละวันที่เขาขับอยู่นั้น มันจะมีความเปลี่ยนแปลงไปวันละเล็กวันละน้อย จนเขาสังเกตไม่เห็น โดยเฉพาะคนที่ไม่มีประสบการณ์ด้านช่าง และไม่ใส่ใจในการบำรุงรักษา แต่สำหรับคนที่ทำงานเป็นช่าง เมื่อเรานำรถไปให้เขาตรวจสภาพ เขาจะใช้เวลาไม่กี่นาทีก็จะพบว่า รถนั้นต้องการซ่อมแซมบำรุงรักษาในเรื่องอะไรบ้าง แน่นอนว่าช่างซ่อมรถยนต์นั้น เขามีผลประโยชน์จากการมองหาข้อบกพร่องในรถยนต์ เพราะเขามีรายได้จากการบริการซ่อมรถและบำรุงรักษารถ

ช่างซ่อมรถตามศูนย์นั้น ในแต่ละวัน เขาจะต้องทำการตรวจซ่อมและบำรุงรักษารถหลายๆคันต่อวัน หลายสิบคันต่อเดือน ซึ่งยิ่งมีประสบการณ์การทำงานมานานเท่าใด เขายิ่งมีความแม่นยำในการสังเกตปัญหาของรถยนต์แต่ละคันมากขึ้นเท่านั้น

คนแก่ในบ้านเก่า - ท่านเคยสังเกตไหมว่า เมื่อท่านไปเยี่ยมบ้านญาติผู้ใหญ่บางราย ที่ต้องอยู่ตามลำพัง จะพบว่าบ้านมีการสะสมข้าวของต่างๆมากมาย หลายอย่างควรทิ้งไปได้แล้ว แต่ก็ยังคงเก็บของเหล่านั้นอยู่ ด้วยความเสียดาย ด้วยความระลึกในประวัติศาสตร์ของสิ่งของเหล่านั้น แต่บางครั้งมันก็นำไปสู่การเก็บสะสมที่มากจนเกินเหตุ กลายเป็นความรกรุงรัง เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค แมลงสาป หนู ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อายุมากขึ้น ภูมิต้านทานก็จะยิ่งลดลง อีกลักษณะหนึ่งที่คนสูงอายุมากขึ้น ก็ยิ่งช่วยตัวเองได้น้อยลง ก็จะใช้ของแล้ววางของเอาไว้ในที่ๆหยิบฉวยได้ง่ายๆใกล้ตัว ยิ่งอ่อนแรงลงเท่าใด ก็จะยิ่งมีของกองสุมรอบๆโต๊ะทำงาน โซฟา เตียงนอน ฯลฯ

วิธีการช่วยคนสูงอายุประการหนึ่ง คือช่วยนำของที่ไม่ใช้แล้ว ขวดเปล่า หนังสือพิมพ์เก่า นิตยสาร นวนิยายเก่า ฯลฯ นำคนรับซื้อของเก่า ให้เขามารับซื้อ แล้วเก็บกวาดบ้านผู้ใหญ่เป็นระยะๆ บ้านช่องก็จะสะอาด น่าอยู่น่าอาศัยมากขึ้น

ในต่างประเทศจึงมีอาชีพหนึ่ง คือการรับซื้อของเก่า โดยคนที่มีประสบการณ์ในการเห็นคุณค่าของเก่า ก็ไปตามบ้านคนสูงอายุที่ต้องการขายของเก่า (Antique) ที่มีเกินความจำเป็น บางอย่างมีคุณค่า เป็นสิ่งหาไม่ได้อีกแล้ว เช่น เครื่องเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ เตียง กรอบภาพ เหล้า พระเครื่อง บ้านเก่าที่เก็บของไว้เต็มจึงสามารถปรับปรุงสภาพ ของที่ขายได้ ก็ให้เก็บเป็นกองทุนสำหรับท่าน ส่วนบ้านก็จะมีความเป็นระเบียบบางเบา และสะดวกขึ้นในการดูแลความสะอาด

ภาพ ตลาดขายดอกไม้และพวงมาลัยในเมืองใหญ่ของประเทศอินเดีย

ภาพ สลัมในเมือง Kolkata เมืองเก่าและเมืองใหญ่ของประเทศอินเดีย

ภาพ ชุมชนในเมืองใหญ่ในอินเดียรุกล้ำเข้าไปในทางรถไฟ เวลารถไฟมา ทุกคนก็หอบของให้พ้นทางรถไฟ

ในเมืองเก่า - ในเมืองที่มีอายุยาวนาน มักจะมีปัญหาประการหนึ่งคือ มันมักจะถูกออกแบบมาสำหรับขนาดประชากรแบบหนึ่ง แต่เมื่อมีประชากรขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมืองขยายตัวตามไม่ทัน ไม่สามารถรองรับประชากรใหม่ที่เพิ่มขึ้น จึงกลายเป็นปัญหาการจราจร การขาดน้ำ ไฟฟ้า ระบบระบายของเสีย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่จะต้องมาหาวิสัยทัศน์ แล้วพัฒนาแบบของเมืองใหม่ บางส่วนก็เก็บรักษาของเก่าเอาไว้ แต่บางส่วนก็ต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพื่อให้รองรับประชากรได้อย่างที่ทำให้คนอยู่อาศัยได้อย่างมีคุณภาพชีวิต

เมืองเก่า กฎระเบียบก็หย่อนล้า สวนสาธารณะอาจถูกยึดครองโดยคนไร้ที่อยู่อาศัย ข้างทางรถไฟมีชาวบ้านบุกรุกทำเป็นที่พักอาศัย เมืองเก่าต่างๆ จึงต้องมีการจัดระเบียบสังคมกันเป็นระยะๆ คูคลองถูกชาวบ้านรุกล้ำที่ทางสร้างบ้านเรือน ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้สะดวก ก็ต้องมีการรื้อถอน โยกย้าย จัดที่อยู่อาศัยใหม่ ขุดลอกคลองใหม่ เหล่านี้มักจะต้องมีคนใหม่ๆสลับเปลี่ยนกันเข้าไปรับผิดชอบ เพื่อให้มองเห็นปัญหา มีวิสัยทัศน์ และพร้อมเสนอความคิดและรูปแบบการทำงานใหม่ๆเข้าไป

ภาพ น้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปลายปี พ.ศ. 2554

น้ำท่วมเราเอาอยู่ - ประเทศไทยในอดีตก่อนน้ำท่วมใหญ่ปีพ.ศ. 2554 คนไทยไม่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่อย่างที่เกิดขึ้นมาก่อน ความจริงระดับน้ำที่มีในปีดังกล่าวไม่ได้มากไปกว่าทุกๆปีมากนัก แต่เพราะความที่ไม่เคยประสบปัญหาดังกล่าวมาก่อน ทำให้คนไทยเกิดความชะล่าใจ ชุมชนต่างๆมีการรุกล้ำแม่น้ำลำคลอง นักการเมืองต้องการสนองตอบต่อภาคการเกษตร โดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยในภาคอื่น ดังเช่นภาคอุตสาหกรรม ภาคที่อยู่อาศัย เช่นเขื่อนใหญ่ต้นน้ำ ควรมีน้ำสำรองไว้เพียงไม่เกินร้อยละ 45-50 ส่วนที่พร่องอยู่ต้องสำรองไว้สำหรับเก็บยอดน้ำช่วงน้ำหลาก ช่วยลดการมีน้ำท่วมในพื้นที่ปลายน้ำ แต่เหตุการณ์ก็มิได้เป็นเช่นนั้น เพราะมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องทำให้การจัดการน้ำไม่เป็นไปตามหลักวิชา และเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมหนักจริง ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ กลายเป็นน้ำท่วมรุนแรง

ความจริง การมีคนภายนอกกรมและกระทรวงที่เกี่ยวกับน้ำ เข้าไปร่วมสังเกตการณ์จะเป็นประโยชน์ เช่น นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากต่างประเทศ จากเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ที่เขามีประสบการณ์น้ำท่วมและการจัดการน้ำมามากกว่าเรา การมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก มิได้หมายความว่าเราจะต้องเชื่อและทำตามเขาทั้งหมด แต่มันจะช่วยทำให้เรามีคนมองสภาพปัญหาในอีกหลายมิติที่ต่างไปจากที่เราเคยมีมา

ภาพ อาคารเรียนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศไทย

การจัดการศึกษากับความชะล่าใจ – การจัดการศึกษาของไทยในระดับอุดมศึกษามีปัญหา โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง ก็จะยิ่งมีปัญหาสำคัญ คือ “มีปัญหาแต่จะมองไม่เห็นปัญหา” เหตุเพราะว่าเขามักจะเปรียบเทียบสถาบันแต่ละแห่งกับสถานศึกษาภายในประเทศด้วยกันเอง ซึ่งเปรียบแล้วก็มองไม่เห็น เพราะเกือบทั้งหมดก็มีปัญหาและมาตรฐานในแบบคล้ายๆกัน จึงมองว่าไม่เป็นปัญหา
แต่มองอีกด้านหนึ่ง หากลองเปลี่ยนวิธีการเปรียบเทียบใหม่ โดยลองเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยของไทยที่ว่าดีที่สุด กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่เราเห็นว่าอยากนำมาตั้งเป็นมาตรฐาน เช่น ของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฯลฯ ถ้าเปรียบอย่างนี้ เราก็จะเห็นมาตรฐานที่แตกต่างกัน แม้กับมหาวิทยาลัยที่ว่าดีที่สุดของเรา ก็ยังไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับมหาวิทยาลัยของต่างประเทศ การเปรียบในลักษณะนี้ จะทำให้เกิดความตื่นตัว และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น

ด้วยเหตุดังกล่าว ในทุกกิจการจึงต้องมีผู้ชำนาญการจากภายนอก เอาไว้ทำหน้าที่ในการดูแลบำรุงรักษา ไม่ว่าจะเป็นบ้านพัก โรงงาน รถยนต์ รถไฟ ฯลฯ ดังสุภาษิตชาวโปแลนด์ที่ว่า “แขกมาเยี่ยม 1 ชั่วโมงมองเห็นมากกว่าเจ้าของบ้านมองเห็นมา 1 ปี”

No comments:

Post a Comment