Friday, February 17, 2012

I ตัวที่ 4 คือ Internationalization การก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ

I ตัวที่ 4 คือ Internationalization การก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Updated: Saturday, February 18, 2012

Keywords: Higher education, การอุดมศึกษา, Internationalization

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 13:00-16:00 น. ผมได้ไปบรรยายให้ผู้บริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฟังในหัวข้อเรื่อง “การสร้างทุนมนุษย์สำหรับมหาวิทยาลัย” ได้พบกับบรรดาอาจารย์รุ่นน้องที่เขาได้ก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งบริหารมหาวิทยาลัย ผมบรรยายตามเอกสารที่ปรากฏใน My Words ดูได้ที่ http://pracob.blogspot.com/2011/07/blog-post_07.html

I3 = AV

ซึ่งแปลความจากสูตรได้ดังนี้

Þ I ตัวแรก คือ Intelligence เป็นเรื่องของ"ปัญญา" ไม่ใช่กำลัง หรือใช้แรงงานเป็นหลัก

Þ I ตัวที่สอง คือ Information หมายถึงการต้องอาศัย"ข้อมูล" ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่ดี ถูกต้อง และทันสมัยที่สุด

Þ I ตัวที่สาม คือ Ideas การต้องมี"ความคิด"ที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งใหม่ขึ้นมา

AV หมายถึง "added value in cash or in kind" การ เพิ่มคุณค่าให้กับสิ่งต่างๆเหล่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นมูลค่าในทางเศรษฐกิจที่ประเมินได้ หรือในรูปที่ไม่สามารถให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินได้ แต่อาจเป็นคุณค่าต่อสังคมหรือมนุษย์ทั่วไป

I ตัวที่ 4 คือ Internationalization การก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ

ผมได้เสนอ I ตัวที่ 4 สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ และเป็นมหาวิทยาลัยหลักของประเทศ

การนำพามหาวิทยาลัยก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับสากล (Internationalization) นั้นคือไม่ใช่การบริหารให้จุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีแห่งหนึ่งของประเทศ แต่ต้องเน้นว่า จุฬาฯต้องก้าวไปข้างนอกให้ไกล ด้วยการคิดและนำมหาวิทยาลัยแข่งขันสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของภูมิภาคและโลก จุฬาฯไม่ควรเป็นมหาวิทยาลัยที่ “เก่งแต่เพียงในบ้าน” เพราะหากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไม่คิดก้าวไปให้ไกล แล้วประเทศไทย ซึ่งต้องอาศัยสติปัญญา และองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย จะมีที่พึ่งจากที่ไหน

จุฬาฯต้องเป็นศูนย์กลางของความเป็นเลิศในการพัฒนาระดับอุดมศึกษาภายในประเทศ การพัฒนาบุคลากรให้กับสถาบันอุดมศึกษาขนาดเล็กและกลาง มีอาจารย์รุ่นน้องเขาถามว่า จุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยหลักเพียงแห่งเดียวที่มีวิทยาเขตเดียว (One single campus) ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆเขามีหลายวิทยาเขต ตัวอย่าง ธรรมศาสตร์ มหิดล เกษตรศาสตร์ จุฬาฯ ควรเป็นอย่างเขาหรือไม่?

ในทัศนะของผม ไม่แปลกที่จุฬาฯจะมีเพียงวิทยาเขตหลักแห่งเดียว แต่จุฬาฯก็ยังต้องมีกิจกรรมและบริการที่กว้างครอบคลุมไปได้ทั่วทั้งประเทศ โดยเน้นที่กิจกรรมและคุณประโยชน์ ซึ่งบางส่วนก็ได้กระทำอยู่แล้ว เช่น การพัฒนาตำราเรียน การมีการบริหารศูนย์หนังสือ (University Book Centers) ระบบจัดสอบภาษาอังกฤษ อย่าง CU-TEP แต่จุฬาฯอาจทำได้มากกว่านั้น เช่น การมีแผนพัฒนาบุคลากรให้กับมหาวิทยาลัยขนาดเล็กและกลาง ดังเช่นมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยเทคนิค มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค ซึ่งสถาบันเหล่านี้มีวิทยาเขตอยู่แล้วในทุกจังหวัดของประเทศ

จุฬาฯ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันกับนานาชาติ ASEAN, Chindia, BRIC (Brazil, Russia, India, China)

จุฬาฯอาจทำได้มากมาย ด้วยการมีโครงการพัฒนาคณาจารย์ร่วมกัน (Human Resources Development) มีอาจารย์แลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยอื่นๆในต่างประเทศ นอกเหนือจากที่มีอยู่แล้วในยุโรปและอเมริกาเหนือ

โลกวิชาการก็ต้องมีการเปิดตลาดใหม่เช่นกัน จุฬาฯต้องมองไปที่ประเทศกลุ่ม ASEAN ประเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่าง จีน และอินเดีย ซึ่งรวมแล้วมีประชากรกว่าครึ่งโลก การจะทำได้ดังนี้ เราต้องทำให้มีมหาวิทยาลัยมีภาษาเพื่อการสื่อสารการเรียนการสอนที่ใช้ร่วมกันได้ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน การเปิดหลักสูตรที่เป็นนานาชาติ (International programs) ให้มากขึ้น งานวิชาการที่จะนำเสนอ ให้ต้องมีการนำเสนอเป็นภาษาต่างประเทศ แม้ในระยะแรกๆ จะต้องมีการช่วยคณาจารย์และนิสิตในการแปลงานวิจัยกันบ้าง แต่ในระยะยาว ต้องให้คณาจารย์และนิสิตต้องมีทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ทั้งทางด้านการอ่าน พูด การฟัง และการเขียน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่ทุกคนต้องมีความเข้มแข็งด้วยตัวเองให้ได้ โดยเริ่มจากสาขาวิชาที่เป็นความจำเป็นที่ต้องทำงานร่วมกับนานาชาติก่อน

อีกด้านหนึ่งที่ฝากไปยังอาจารย์รุ่นน้องๆว่า การขยายบริการและคุณประโยชน์ของมหาวิทยาลัยนั้นกระทำได้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT for Education) ที่ใช้เพื่อการสื่อสารและเพื่อการศึกษา ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคโทรทัศน์ดิจิตอล โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม Subscribed TV, ระบบอินเตอร์เน็ตยุค 3G และ 4G ชุดการเรียนการสอน (Courseware) ต่างๆ สามารถแปลงให้เป็นดิจิตอล (Digitization) และขณะเดียวกัน ผู้เรียนและผู้สอนเอง ก็ต้องสามารถใช้หนังสือและแหล่งความรู้จากโลกภายนอกได้ ต้องเข้าใจว่าภาษาไทยที่มีใช้กันในโลกนั้นเป็นเพียงต่ำกว่าร้อยละ 1 ของโลก หากเราจะเน้นการแปลภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย สำหรับโลกอุดมศึกษาแล้วคงจะไม่เพียงพอ และช้าเกินไป เราต้องทำให้ระบบการสื่อสารทางวิชาการของเรา ก้าวสู่ความเป็นสากลได้ แลกเปลี่ยนกันได้ในแบบ Real time

ท้ายสุด นักวิชาการไทย ไม่ใช่เพียงต้องรอรับความรู้จากโลกด้านเดียว แต่เราต้องมีขีดความสามารถในการแลกเปลี่ยน และให้ความรู้แก่ภูมิภาคและโลกได้ด้วย

No comments:

Post a Comment