Friday, February 10, 2012

มารู้จักรัฐมิโซรัม (Mizoram) ประเทศอินเดีย

มารู้จักรัฐมิโซรัม (Mizoram) ประเทศอินเดีย

ประกอบ คุปรัตน์Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: ภูมิศาสตร์, เศรษฐกิจ, การเมือง, อินเดีย, Mizoram, มิโซรัม, 7 รัฐสาวพี่น้องแห่งอินเดีย, Seven sister states of India

ภาพ แผนที่ รัฐมิโซรัม (Mizoram) เป็นหนึ่งใน 7 รัฐสาวพี่น้องของอินเดีย อยู่ในบริเวณเป็นจงอยทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มิโซรัมเป็นบริเวณสีแดง ใต้สุดของจงอยของ 7 รัฐสาวพี่น้อง ด้านตะวันตกคือบังคลาเทศ ด้านตะวันออกคือพม่า

รัฐมิโซรัม (Mizoram) ในภาษาของเขา Mi = People, ประชาชน Zo = Hill, ภูเขา Ram = Country, แผ่นดิน, ประเทศ Mizoram จึงมีความหมายว่าประเทศ/แผ่นดินของคนแห่งภูเขา รัฐมิโซรัมเป็นรัฐหนึ่งของ 7 รัฐสาวพี่น้องแห่งอินเดีย (Seven Sister States of India) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของอินเดีย มีเขตแดนติดกับรัฐตริปุระ (Tripura), รัฐอัสสัม (Assam), รัฐมณีปุระ ( Manipur) มีพรมแดนติดกับประเทศบังคลาเทศ ( Bangladesh) และพม่า (Burma)

รัฐมิโซรัมเป็นรัฐที่ 23 ของอินเดียในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1987 มีเมืองหลวงของรัฐชื่อไอซาล (Aizawl) รัฐมิโซรัมตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของอินเดีย

นักมานุษยวิทยาจัดภาษาของมิโซรัมเป็นส่วนหนึ่งของตระกูล Tibeto-Burman อันเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อสายมองโกลอยด์ (Mongoloid race) ความสวยงามตามธรรมชาติของรัฐคือความอุดมด้วยพืชและสัตว์ (Flora & Fauna) ที่ล้อมรอบด้วยภูเขาและแม่น้ำ จึงทำให้ได้ชื่อว่าเป็นสก๊อตแลนด์แห่งตะวันออก (Scotland of the East)

รัฐมิโซรัม (Mizoram) จัดเป็นรัฐขนาดเล็ก มีพื้นที่ 21,081 ตารางกม. เป็นอันดับที่ 24 มีประชากร 1,091,014 คน จัดเป็นขนาดใหญ่อันดับที่ 27 ของอินเดีย ซึ่งประชากรน้อยเกือบสุดท้ายของอินเดีย ซึ่งมีทั้งสิ้น 28 รัฐ และมีความหนาแน่นของประชากรที่ 51.753 คน/ตารางกม.

รัฐมิโซรัมมีอัตราผู้รู้หนังสือร้อยละ 89.9 มีภาษามิโซ (Mizo) และภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ
ในทางการเมือง โดยแรกเริ่มชาวมิโซ (Mizo people) เหมือนกับชนเผ่าพื้นเมืองอื่นๆทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่เต็มไปด้วยประวัติลึกลับ ในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นประจำที่หัวหน้าหมู่บ้าน (Village chieftains) นำชนเผ่าเข้าต่อสู้แบบฆ่าตัดหัวกันบ่อยครั้ง ในปี ค.ศ. 1952 หลังอินเดียได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรอังกฤษ ชาวพื้นเมืองจึงได้มีการจัดตั้งสภาชนเผ่าแห่งเขตภูเขาลูไช (Lushai Hills Autonomous District Council) และเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันสู่ความเป็นรัฐอิสระ

มิโซรัมมีความต้องการเป็นอิสระทางการเมือง ที่มีแรงผลักดันจากความยากจนและอดอยากของคนในรัฐ ที่ในอดีตไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากรัฐบาลส่วนกลางของอินเดีย ในช่วงพฤษภาคม ค.ศ. 1971 สภาที่ประกอบด้วยตัวแทนเขตต่างๆของมิโซรัมได้เรียกร้องขอให้มิโซรัมเป็นรัฐอิสระ แต่รัฐบาลอินเดียเสนอให้ชาวมิโซยอมรับในความมีสถานะเป็นเขตสหเขตชายแดน (Union of Territory – UT) ในเดือนกรกฏาคม แต่ชาวมิโซต้องการให้ยกระดับเป็นรัฐโดยเร็วที่สุด

ภาพ Pu Laldenga และภรรยา

Pu Laldenga เกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1927 และเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1990 ในกรุงลอนดอนด้วยโรคมะเร็งทีปอด เขาเป็นมุขมนตรีของรัฐมิโซรัมในช่วงปี ค.ศ. 1986 ถึงปี ค.ศ. 1988 ก่อนหน้านั้น เขาเป็นหัวหน้ากลุ่มต่อต้านแบ่งแยกดินแดน secessionist Mizo National Front ในช่วงปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา จนกระทั่งการวางอาวุธในช่วงราจีฟ คานธีเป็นผู้นำของอินเดียในปี ค.ศ. 1986
เมื่อราจีฟ คาธี (Rajiv Gandhi) ได้ขึ้นสู่อำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดีย หลังการเสียชีวิตของมารดาได้ทำให้เกิดบรรยากาศการเมืองใหม่ Laldenga ได้พบกับราจีฟในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1985 และได้มีการนำประเด็นการเมืองมาพูดอีกครั้ง ในขณะนั้นปากีสถานได้เสียดินแดนฝั่งตะวันออก คือ บังคลาเทศ (Bangladesh) ได้แยกออกมาเป็นประเทศอิสระ กลุ่มการเมือง Mizo National Front ซึ่งพัฒนาตัวเองมาจาก Mizo National Famine Front ในช่วงความอดอยากครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1958 ได้ใช้โอกาสนี้เรียกร้องสิทธิเพื่อเป็นรัฐอิสระอีกครั้ง และเพื่อให้เงื่อนไขสู่ความสงบและวางอาวุธ

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1987 มุขมนตรีลัลขมา (Lalkhama) ได้อ่านประกาศการเป็นรัฐของอินเดียที่เมืองไอซาล โดยมีนายกรัฐมนตรีราจีฟของอินเดียบินมาที่เมืองไอซาลเพื่อร่วมในการสถาปนาสู่ความเป็นรัฐใหม่ และ Hiteshwar Saikia ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐของมิโซรัม

รัฐมิโซรัมมีภูมิอากาศแบบไม่รุนแรง ในช่วงฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัด อยู่ระหว่าง 20 C ถึง 29 C และไม่เคยมีอากาศหนาวระดับมีน้ำแข็ง ด้วยฤดูหนาวมีอุณหภูมิ 7 C ถึง 21 C ภูมิภาคนี้ได้รับอิทธิพลแบบมรสุม (Monsoons) มีฝนตกหนักในช่วงพฤษภาคม ถึง กันยายน ในฤดูหนาวมีฝนตกไม่มากนัก เฉลี่ยฝนตกที่ 254 ซม./ปี ที่บริเวณเมืองหลวงไอซาล (Aizawl) มีระดับฝน 208 ซม./ปี และที่บริเวณลุงเลอี (Lunglei) มีฝนหนักที่ 350 ซม./ปี

รัฐมิโซรัมมีพื้นที่เป็นทิวเขา หุบเขา แม่น้ำ และทะเลสาป มีทิวเขามากถึง 21 ทิวเขาและมียอดเขาที่มีความสูงแตกต่างกันกระจัดกระจายไปทั่วรัฐ โดยเฉลี่ยความสูงทางตะวันตกที่ประมาณ 1,000 เมตร

ภาพ เมืองไอซาล (Aizawl) เมืองหลวงของรัฐมิโซรัม

ภาพ น้ำตก และธรรมขาติที่สวยงามของรัฐมิโซรัม ที่มีความชุมชื้นด้วยฝนตกชุก และเทือกเขามากมาย

ภาพ การแต่งกายของสตรีชาวพื้นเมืองของมิโซรัม

ภาพ การแสดงระบำสตรีกระทบไม้ไผ่ ซึ่งไม้ไผ่จัดเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่ีนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่างของรัฐมิโซรัม

No comments:

Post a Comment