ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: การเมือง, การปกครอง, การต่างประเทศ, Arab Spring, Syria, ซีเรีย
RT @Chana_Phenjati: การที่ฝรั่งเศส อเมริกา อิตาลี และ 6 ประเทศ GCC ถอนทูตตัวเองออกแล้วไล่ทูตซีเรียออกจากประเทศ มันตกลงดีหรือไม่ดีคะ pls share your ideas
ผมตอบไม่ได้ว่าใครเป็นฝ่ายถูกหรือผิด และแต่ละประเทศควรทำอย่างไร เพราะการเมืองระหว่างประเทศ คือการรักษาผลประโยชน์ของประเทศตน และการไม่ตัดสินใจเสี่ยงในสิ่งที่เขายังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือได้ประโยชน์อย่างเพียงพอ
ซีเรียยังไม่เหมือนกับลิเบีย (Libya) ที่มีเจ้าภาพหลายฝ่ายเตรียมจัดการกับกัดดาฟีอยู่แล้ว ซีเรียยังได้รับการยอมรับจากทั้งจีนและรัสเซีย เมื่อใดที่สองประเทศนี้ปล่อยเกาะซีเรีย ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับสหรัฐอเมริกา ที่จะเข้าไปใช้กำลังในซีเรีย เหมือนที่ได้เข้าไปในอิรัค อัฟกานิสถาน และการเป็นหัวหอกจัดการกับกัดดาฟีในลิเบียนั้น คงจะเกิดขึ้นยาก และเขาคงไม่กระทำอย่างเดียวกันนั้นอีก โดยไม่มีมติจากสหประชาชาติ และจากประเทศกลุ่มยุโรป โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐในปี ค.ศ. 2012 ที่กำลังรณรงค์หาเสียงกันแล้วขณะนี้
การที่ต่างชาติทั้งจากตะวันตกและชาติอาหรับหลายประเทศต้องถอนฑูตตัวเองออกจากซีเรีย แล้วให้ทูตซีเรียออกจากประเทศของตนเองนั้น เป็นเรื่องปกติ มันเป็นสิ่งที่พวกเขาพึงกระทำได้ แต่ชาติตะวันตกเอง เมื่อไม่มีใครอยากเอากำลังทหารของตนเองเข้าไปแทรกแซงในประเทศอาหรับเพิ่มขึ้นอีก เหมือนอย่างที่ได้กระทำในลิเบีย ชาวซีเรียที่ต้องอยู่ในประเทศที่กลายเป็นสงครามกลางเมืองที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ก็จะต้องผจญกรรมไปเป็นรายวันต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง
ภาพ บาชา อัล อัสซาด (Bashar al-Assad) ประธานาธิบดีแห่งซีเรีย
ภาพ ครอบครัวของ Al-Assad ถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 1994 บาชา อัล อัสซาด (Bashar Al-Assad) คนสูงอยู่ผู้อยู่ด้านหลัง
แต่สิ่งที่ผมอยากจะวิจารณ์ก็คือ บทบาทของ บาชา อัล อัสซาด (Bashar al-Assad) ประธานาธิบดีหนุ่มวัย 49 ปีของซีเรีย เพราะอนาคตของเขาดูจะไม่สดใสเอาเสียเลย เมื่อเขาเลือกเดินผิดทาง ในช่วงของประชาธิปไตยเบ่งบานในอาหรับ หรือที่เรียกว่า “Arab Spring” นั้น อนาคตผู้นำในประเทศที่มีการเคลื่อนไหวของกระบวนการประชาธิปไตย ล้วนดูไม่สดใส
เริ่มต้นตั้งแต่ประเทศตูนิเซีย (Tunisia) จุดกำเนิดของประชาธิปไตยเบ่งบานในอาหรับ และนับเป็นจุดแรกที่เผด็จการผู้ครองอำนาจยาวนานต้องถูกโค่นล้ม ประธานาธิบดีเบน อาลี (Zine El Abidine Ben Ali) ผู้ครองอำนาจช่วงปี ค.ศ. 1987 ถึงปี ค.ศ. 2011 ยาวนาน 24 ปี ในที่สุดก็ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และเปิดทางให้กับการเริ่มต้นของประชาธิปไตยใหม่ในประเทศ และนับเป็นการจุดประกายไฟให้ให้ความหวังกับประเทศอื่นๆในการเปลี่ยนแปลงต่อไป
ในประเทศอียิปต์ (Egypt) ประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค (Hosni Mubarak) ผู้ดูแข็งแกร่งดุจดังสฟิงค์ สิงโตหินเฝ้าปิรามิด ผู้ครองอำนาจในอียิปต์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 ถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 รวมเวลา 30 ปี แต่ในที่สุด สถานการณ์การต่อต้านที่สุกงอม เขาก็ต้องถูกบังคับให้ลงจากตำแหน่ง และเมื่อเลือกที่จะไม่ออกนอกประเทศ มูบารัคจึงต้องถูกฝ่ายทหารด้วยกันเองนำตัวขึ้นศาล และเป็นการลดแรงกดดันจากฝ่ายผู้ประท้วง มูบารัคต้องรับการพิจารณาโทษฐานเจตนาสั่งฆ่าผู้ประท้วงด้วยความสงบ และอีกกรณีคือการกลับมาถูกสอบสวนว่ามีส่วนในการวางแผนสังหารอดีตประธานาธิบดีอันวา ซาดัท (Anwar Sadat) หรือไม่ หากถูกพิจารณาว่ามีความผิด โทษคือประหารชีวิต
ในประเทศลิเบีย (Libya) ผู้นำตลอดกาลอย่างมูอัมมา กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) ครองอำนาจ 41 ปี นับเป็นผู้นำที่ไม่ใช่บุคคลในราชวงศ์ ที่ครองอำนาจนานที่สุด นับแต่ยุค ค.ศ. 1900 เป็นต้นมา เมื่อเขาเลือกที่จะสู้อย่างไม่ยอมหนีจากประเทศของตนเอง ทำให้มีการต่อสู้จนสู่ระดับสงครามกลางเมืองที่ยาวนาน ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย บ้านเมืองพังพินาศ ในท้ายที่สุด เมื่อฝ่ายกบฏจับตัวกัดดาฟีได้ เขาก็ถูกสังหารโดยไม่ได้นำตัวขึ้นศาล
ในประเทศเยเมน (Yemen) อีกหนึ่งประเทศที่กระแสประชาธิปไตยโหมกระหน่ำ เกิดการประท้วงทั่วประเทศ จอมพล อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ (Ali Abdullah Saleh) ครองอำนาจตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 จนถึง 2012 เป็นเวลา 34 ปี ในช่วงการประท้วงที่รุนแรง มีการตอบโต้กันระหว่างฝ่ายทหาร กับฝ่ายผู้ประท้วง เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากผู้เจตนาจะสังหารเขา และในที่สุดซาเลห์ได้เลือกยอมรับการต่อรอง และออกนอกประเทศ ไปรักษาตัวในสหรัฐอเมริกา แล้วรับเงื่อนไขการคุ้มครองนิรโทษกรรมจากรัฐสภาเยเมน ไม่ต้องรับโทษใดๆที่ได้กระทำมา
ประเทศซีเรีย (Syria) ซึ่งมีประชากร 22 ล้านคน มีประธานาธิบดี “บาชา อัล อัสซาด” (Bashar al-Assad) ประธานาธิบดีหนุ่มด้วยวัยเพียง 49 ปี เขาครองอำนาจมาต่อมาจากบิดาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 นับเป็นเวลา 12 ปี แต่เมื่อรวมเวลาที่บิดาของเขาฮาเฟส อัล อัสซาด (Hafez al-Assad) ผู้ครองอำนาจด้วยกำปั้นเหล็กมาก่อนหน้านี้ 29 ปี รวมแล้วเป็นเวลา 41 ปีแล้ว ตลอดเวลาที่เขาครองอำนาจ ได้แสดงให้เห็นด้วยคำพูดบ่อยครั้งว่าเขาต้องการเห็นการปฏิรูป เพื่อนำประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ในทางปฏิบัติ เขาถูกห้อมล้อมด้วยฐานเสียงทหารและข้าราชการที่กุมอำนาจของประเทศ ที่ไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ในที่สุด ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่อต้านกับรัฐบาล ก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนสู่ระดับสงครามกลางเมือง ไม่ต่างอะไรกับประเทศลิเบีย
สาเหตุของความไม่พอใจอันนำไปสู่การประท้วงยาวนานกว่า 10 เดือน คือ ระบบอำนาจนิยม เผด็จการ การขาดรัฐธรรมนูญที่มีประสิทธิผล การทุจริตในวงราชการ อัตราการคนว่างงานที่สูง และกระแสการประท้วงล้มล้างระบบและผู้นำผูกขาดอำนาจที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาค
เป้าหมายของการประท้วง กว้างขวาง และยากที่จะตกลงกันได้ ซึ่งได้แก่ การให้ประธานาธิบดีอัสซาดลาออก การปฏิรูปประชาธิปไตยในซีเรีย การลงจากอำนาจของกลุ่มครองอำนาจในประเทศที่ยาวนาน อันได้แก่นายทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนชั้นผู้ใหญ่ กำลังคนในหน่วยสืบราชการลับ ฯลฯ ฝ่ายประท้วงต้องการการเคารพในสิทธิมนุษยชน การยอมรับในสิทธิของชนกลุ่มน้อยอย่างชาวเคิร์ด (Kurdish right) และการยกเลิกกฏอัยการศึก
สหประชาชาติรายงานว่า ในช่วงการประท้วงที่ยังไม่ยุตินี้ ได้มีประชาชนเสียชีวิตแล้ว 6,200 คนฝ่ายทหารของรัฐบาลเสียชีวิต 1,000 คน รวม 7,200 คน ฝ่ายผู้ประท้วงรวมทั้งประชาชนได้รับบาดเจ็บ 15,000 คน มีผู้ถูกจับกุม 60,000-80,000 คน ความรุนแรงของการต่อสู้ ถึงระดับฝ่ายรัฐบาลยิ่งจรวดเข้าไปยังเมือง ในเขตประชาชนหนาแน่นอย่างไม่จำแนกระหว่างฝ่ายผู้จับอาวุธ กับชาวบ้าน เด็กและสตรีที่ไม่ได้เกี่ยวกับการสู้รับด้วย
ดูแล้วยังจะไม่มีจุดจบที่เป็นทางออกอย่างสันติ และอย่างง่ายๆสำหรับซีเรีย อนาคตของผู้นำอย่างอัล อัสซาดเอง ก็ดูจะไม่สดใส ดูจากตัวอย่างผู้นำในชาติอาหรับเองที่ต้องลงจากอำนาจในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่โอกาสที่อัสซาดจะประสบความสำเร็จ และนำประเทศกลับสู่สันติภาพ เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศอย่างปฏิรูปนั้น ดูจะมืดมนมาก
ต้องคอยดูกันต่อไปว่า เหตุการณ์รุนแรงยืดเยื้อที่ดำเนินไปนั้น ท้ายสุดจะไปจบลงที่ใด และอย่างไร
No comments:
Post a Comment