Wednesday, February 1, 2012

หลักของเสรีภาพทางวิชาการ สิ่งที่สังคมควรเรียนรู้

หลักของเสรีภาพทางวิชาการ สิ่งที่สังคมควรเรียนรู้

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การอุดมศึกษา, Higher education, academic freedom

ความนำ

ในวันนี้ (มกราคม 2555) มีกลุ่มนักวิชาการและปัญญาชนส่วนหนึ่งออกมาเสนอเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมายอันเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเห็นว่ากฎหมายมีบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป และไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน

กฎหมายที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Lese-majesty หรือในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า lèse majesté อันมีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า laesa maiestas แปลเป็นความในภาษาอังกฤษว่า "injured majesty" คือการถือเป็นอาชญากรรมที่ทำร้ายบุคคลในราชวงศ์ บุคคลสำคัญ หรือประมุขของรัฐ ให้ได้เสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติยศ และศักดิ์ศรี เรื่องการแก้ไขกฎหมายนี้มีความอ่อนไหวในทางความรู้สึกของคนไทยทั่วไป ที่ผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเวลายาวนาน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เรื่องนี้มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับหลักเสรีภาพทางวิชาการ (Academic freedom) ด้วยการมี คณาจารย์และนักศึกษามีสิทธิแสดงความคิดเห็นของเขาต่อประเด็นต่างๆในสังคมหรือไม่ และคณาจารย์สามารถใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยในการรณรงค์ในประเด็นทางการเมืองได้หรือไม่

ความหมายและความสำคัญ

เริ่มต้นด้วยทัศนะต่อเสรีภาพทางวิชาการโดยรวม

By academic freedom I understand the right to search for truth and to publish and teach what one holds to be true. This right implies also a duty: one must not conceal any part of what one has recognized to be true. ~ Albert Einstein

โดยความหมายของเสรีภาพ ผมเข้าใจว่าเป็นสิทธิที่จะค้นหาความจริงและตีพิมพ์และสอนในสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นความจริง เป็นสิทธิและหน้าที่ ที่นักวิชาการจะต้องไม่ปกปิดบางส่วนของข้อเท็จจริงนั้น ~ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

เสรีภาพทางวิชาการ (Academic freedom) เป็นความเชื่อว่า เสรีภาพในการแสวงหาความรู้และข้อเท็จจริงโดยนักศึกษาและคณาจารย์เป็นความจำเป็นและเป็นพันธกิจของแวดวงวิชาการ และคณาจารย์ในฐานะปัญญาชนควรมีเสรีภาพในการสอนและสื่อสารความคิดและข้อเท็จจริง ซึ่งรวมถึงสิ่งที่อาจเป็นความอึดอัดใจที่จะได้รับจากกลุ่มการเมืองภายนอก หรือผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ทั้งนี้ชุมชนวิชาการจะต้องมีหลักประกันว่าคนที่ทำหน้าที่ทางวิชาการนั้นจะต้องไม่กลายเป็นเป้าหมาย ถูกขู่อาฆาต สูญเสียงาน หรือถูกจองจำด้วยเหตุที่เขาต้องพูดหรือแสดงออกทางวิชาการหรือวิชาชีพของเขา

การปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ

แต่อย่างไรก็ตาม เสรีภาพทางวิชาการ แม้ในสังคมเปิดอย่างอเมริกาก็ยังมีข้อจำกัด เช่น ในประกาศว่าด้วยเสรีภาพทางวิชาการและวิสามัญฐานะ (Tenure) ของอาจารย์มหาวิทยาลัยในปี ค.ศ. 1940 ก็เสนอว่า อาจารย์ควรต้องระวังที่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในวิทยาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาและความเชี่ยวชาญของตน

Tenure = ความครอบครอง, ความคุ้มครอง

เมื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยจะพูดหรือเขียนแสดงทัศนะต่อสาธารณะ เขามีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นของเขาโดยปราศจากความหวาดกลัวการตรวจสอบและการลงโทษจากฝ่ายบริหาร แต่เขาต้องแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เขาไม่ได้พูดหรือแสดงออกในนามสถาบันของตนเอง เพราะสิทธิที่จะนำเสนอนั้นเป็นสิทธิของแต่ละคน ไม่เกี่ยวกับสถาบันที่ตนเองสังกัด

ส่วนวิสามัญฐานะทางวิชาการ (Academic tenure) เป็นสถานะพิเศษที่เหนือกว่าอาจารย์เข้าใหม่ทั่วไป เป็นหลักประกันที่จะปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ว่าอาจารย์ที่ได้รับสถานะนี้ จะถูกไล่ออก ปลดออกได้เพียงในกรณีแสดงให้เห็นว่าไม่มีสมรรถนะทางวิชาชีพอย่างชัดแจ้ง แต่ไม่สามารถไล่เขาออกได้ เพราะเขาคิด เขียน หรือแสดงออกต่างจากฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัย หรือผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

No comments:

Post a Comment