Sunday, July 7, 2013

สุภาษิตไนจีเรีย - ในยามวิกฤติ คนฉลาดสร้างสะพาน แต่คนโง่สร้างเขื่อน


สุภาษิตไนจีเรีย - ในยามวิกฤติ คนฉลาดสร้างสะพาน แต่คนโง่สร้างเขื่อน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: สุภาษิต, proverbs, แอฟริกัน, อัฟริกัน, African, แอฟริกา, อัฟริกา, Africa, สะพาน, bridge, เขื่อน, dam, ความเปิดใจ, open-mindedness, ความปิดใจ, closed-mindedness,

In the moment of crisis, the wise build bridges and the foolish build dams. ~ Nigerian proverb

ในยามวิกฤติ คนฉลาดสร้างสะพาน แต่คนโง่สร้างเขื่อน ~ สุภาษิตไนจีเรีย

การสร้างสะพาน (Build bridges) หมายถึง การเปิดรับ การเชื่อมโยงสติปัญญาจากคนทั้งมวล เพื่อหาทางแก้วิกฤตินั้น และในอีกด้านหนึ่ง การสร้างเขื่อน (Build dams)หมายถึงการปิดกั้น ตัดตัวเองขาดจากโลกภายนอก

สองแนวคิดความเชื่อนี้เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน โดยจะยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ทางการเมืองโลกที่สำคัญสัก 3 กรณี

เติ้ง เสี่ยวผิง กับนโยบายเปิดประเทศ


ภาพ เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xioping)

เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xioping) ปฏิรูปประเทศจีนยามวิกฤติ หลังจีนถูกครอบงำด้วย “การปฏิวัติวัฒนธรรม” (Cultural revolution) ทำให้ประเทศจีนประสบปัญหาความชะงักงานทางการเกษตรและอุตสาหกรรม เติ้ง เสี่ยวผิงใช้นโยบายเปิดประเทศจีนสู่โลกภายนอก ยอมรับความเป็นประเทศตลาดเสรี ส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศ เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ลดบทบาทของการเดินตามลัทธิแดงหรือคอมมิวนิสต์แบบสุดขั้ว ด้วยการใช้นโยบาย “แมวดำแมวขาวไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้”

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อมีวิกฤติ ผู้นำบางคนกลับใช้วิธีการปิดกั้น เหมือนแนวทางที่จะสร้างเขื่อน (Dam) เพื่อปิดกั้นการรับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก การดำรงอยู่ด้วยการปิดประเทศ ปิดการติดต่อกับโลกภายนอก ดังตัวอย่าง

พม่าในยุคเนวินและเผด็จการทหาร


ภาพ นายพลเนวิน (Ne Win) อดีตผู้นำเผด็จการทหารพม่า

เมื่อพม่าปิดประเทศภายหลังการยืดอำนาจโดยนายพลเนวิน (Ne Win) ผู้เป็นเผด็จการทหารที่ยึดอำนาจการปกครอง และครองอำนาจในประเทศพม่าจากช่วงปีค.ศ. 1958 จนถึงปีค.ศ. 1981 เขาปกครองประเทศพม่าเป็นเวลานานถึง 26 ปี ด้วยการปิดประเทศพม่าจากโลกภายนอก และขณะเดียวกัน โลกภายนอก ก็ตอบโต้ต่อเขา พรรคพวกเผด็จการทหาร และประเทศพม่า ด้วยการไม่คบค้าด้วย อันทำให้ประเทศพม่าที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่ง กลายเป็นประเทศล้าหลังและยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

เขมรแดงกับการปิดประเทศ

เมื่อเขมรในยุคพอลพตปิดประเทศ แล้วใช้นโยบายกระทำต่อฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จนรุนแรงระดับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์


ภาพ นายพอล พต (Pol Pot) หนึ่งในผู้นำเขมรแดง

พลพรรค “เขมรแดง” หรือ Khmer Rouge (Khmer: ខ្មែរក្រហម Khmer Krahom; English: Red Khmers) ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกคนที่เชื่อและเดินตามนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1968 เขมรแดงแตกหน่อออกเป็นกองทัพประชาชนจากเวียดนามเหนือ เขมรแดงปกครองประเทศกัมพูชาในช่วงปี ค.ศ. 1975 ถึงปี ค.ศ. 1979 โดยมีกลุ่มพอลพต (Pol Pot), นวงเจีย (Nuon Chea), เฮงสัมริน (Ieng Sary), ซอนเซน (Son Sen), และเขียวสัมพันธ์ (Khieu Samphan) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

องค์กรจัดตั้ง “เขมรแดง” นี้ได้ผลักดันให้เกิด “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (Cambodian Genocide) กับคนที่เห็นต่างจากตน มีการบังคับใช้นโยบาย “วิศวกรรมสังคม” (social engineering policies) ปฏิรูปการเกษตร ผลักดันคนเมืองให้ออกไปทำไร่ไถนา และดำรงประเทศอยู่แบบพึ่งตนเองแบบปิดประเทศ ทำให้เกิดความผิดพลาดทางผลิตผลการเกษตร เกิดความอดอยากไปทั่วประเทศ ประเทศขาดแคลนยารักษาโรค แม้โรคที่รักษาได้ง่ายๆอย่างมาเลเรีย (Malaria) ก็ทำให้คนเสียชีวิตนับหลายพันหลายหมื่นคน เขมรแดงหมดอำนาจไปในปีค.ศ. 1979

ผลการศึกษาในระยะต่อมาพบมีบางหลุมศพ (Mass graves) พบซากผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 คนในแห่งเดียว และพบหลุมศพเหล่านี้ทั่วไปในประเทศกัมพูชา จากการศึกษาของหลายๆฝ่ายประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 740,000 คน ถึง 3,000,000 คน แต่ที่มากที่สุดจะอยู่ระหว่าง 1.4 ล้านคน ถึง 2.2 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งเป็นการสังหาร และที่เหลือเป็นผลจากการอดอาหารและโรคภัยไข้เจ็บ

ความเปิดใจ (Open-mindedness)

ในวงวิชาการได้มีการศึกษาความเชื่อและทัศนคติของคน ในเรื่องของความเปิดใจ และความปิดใจ
ความเปิดใจ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Open-mindedness เป็นการเปิดรับความคิดใหม่ๆ ตามความหมายของ Tjosvold & Poon ค่านิยมความเปิดใจเกี่ยวกับวิธีที่คนมีทัศนะและความรู้เกี่ยวกับคนอื่นๆ และการมีความเชื่อที่ว่าทัศนะและค่านิยมของคนอื่นๆควรได้รับฟังและเรียนรู้เช่นกัน

ในการศึกษา มีเครื่องมือในการวิจัยทางจิตวิทยาสังคมที่ใช้วัดความเปิดใจอยู่หลายตัว โดยมีการเน้นว่าในสังคมและโรงเรียนควรมีการสอนที่เน้นให้คนเปิดใจ มากกว่าสอนให้คนมีความเชื่อตามค่านิยมเชิงเปรียบเทียบหรือความเชื่อในแบบเปรียบเทียบของคนในสังคมนั้นๆ (Relativism) เพราะในชุมชนวิทยาศาสตร์และวิชาการมิได้ต้องการให้คนเชื่อแบบตามคนอื่น แต่เป็นค่านิยมให้แต่ละคนมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดความเห็นของตน แต่ขณะเดียวกัน ก็ให้ความเคารพในความรู้และการยอมรับคนอื่นๆด้วย
ค่านิยมความเปิดใจนับเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของคนที่ทำให้เข้าร่วมกับทีมการจัดการ (Management teams) และเข้ากับกลุ่มอื่นๆ (Other groups) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในอีกด้านหนึ่ง คือ “ความปิดใจ” (Closed-mindedness) คือความไม่พยายามรับฟังความคิดใหม่ๆ อันเป็นผลจากธรรมชาติของสมองที่ไม่ชอบความกำกวมหรือคลุมเครือ (Ambiguity) ในทัศนะแบบปิดใจนี้ สมองจะมีลักษณะ “การค้นหาและการทำลาย” (Search and destroy) หากพบอะไรที่แตกต่างจากความคิดของตนหรือพวกตน ก็จะขจัดออกไป เขาจะรู้สึกสบายใจที่จะได้อยู่ร่วมกับคนที่คิดเหมือนกัน มีค่านิยมเหมือนๆกัน อะไรที่เป็นความกำกวมหรือการพบหลักฐานที่แตกต่างไปจากความเชื่อพื้นฐานของตน ก็จะรู้สึกไม่สบายใจ การวิจัยบ่งบอกว่า คนที่มีความเชื่อแบบปิดใจ จะมีความอดทนต่อความขัดแย้งทางความคิด (Cognitive inconsistency) น้อยกว่าคนทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องของสติปัญญาหรือความฉลาด

บทส่งท้าย

การศึกษาทำความเข้าใจในเรื่อง “ความเปิดใจ และความปิดใจ” นี้ น่าจะเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาวิกฤติการเมืองในประเทศไทย สิ่งที่เขียนมานี้ ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และเราควรร่วมกันสานต่อด้วยการศึกษา และนำความรู้ความเข้าใจมาแลกเปลี่ยนกัน

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่แนะนำให้อ่าน “เปิดหน้าต่าง สร้างสะพาน สมานใจโดย พระไพศาล วิสาโล ใน www.visalo.org  › หนังสือ › งานเขียน‎ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เปิดให้ Download ได้ฟรี
เปิดหน้าต่าง สร้างสะพาน สมานใจ. ทางออกจากกับดักแห่งความรุนแรงในยุคทักษิณ. โดย พระไพศาล วิสาโล จัดพิมพ์โดย มูลนิธิ ๑๔ ตุลา พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๗.

การอ้างอิง และศึกษาเพิ่มเติม (References)

^ Rebecca Mitchell and Stephen Nicholas (2006). "Knowledge Creation in Groups: The Value of Cognitive Diversity, Transactive Memory and Open-mindedness Norms"Electronic Journal of Knowledge Management (University of Sydney, Australia).
^ Haiman, Franklyn S. (2 June 2009). A revised scale for the measurement of openmindedness 31 (2). pp. 97–102.doi:10.1080/03637756409375396.

^ Patricia Harding, William Hare (March 2000). "Portraying Science Accurately in Classrooms: Emphasizing Open-Mindedness Rather Than Relativism". Journal of Research in Science Teaching 37 

^ Hambrick, Donald C. (1987). California Management Review (Strategy Research Center, Graduate School of Business, Columbia University) 30 (1): 88–108 http://www.mendeley.com/research/the-top-management-team-key-to-strategic-success-2/|url= missing title (help).

^ David DiSalvo (22 November 2011). What Makes Your Brain Happy and Why You Should Do the Opposite. Prometheus Books.ISBN 1616144831.

^ Hunt Jr., Martin F.; Miller, Gerald R. (Jan 1968). "Open- and closed-mindedness, belief-discrepant communication behvior, and tolerance for cognitive inconsistency."Journal of Personality and Social Psychology 8 (1): 35–37. doi:10.1037/h0021238.Unknown parameter |part= ignored (help)
Mather Jr., F. J. (1919). “The Inside of the Open Mind,” The Unpopular Review, Vol. XII, No. 23.







No comments:

Post a Comment