Saturday, December 8, 2012

เริ่มต้นวันใหม่ ด้วยการมองโลกและคนในแง่ดี


เริ่มต้นวันใหม่ ด้วยการมองโลกและคนในแง่ดี

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Education, การศึกษา, John Dewey, จอห์น ดุย, pragmatism, functional psychology,

สวัสดีเช้าวันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม 2555 ครับ ขอทุกท่านตื่นขึ้นด้วยความรู้สึกที่สดใสปลอดโปร่ง


ภาพ จอห์น ดุย (John Dewey) นักการศึกษาชาวอเมริกัน

The good man is the man who, no matter how morally unworthy he has been, is moving to become better. - John Dewey

คนที่เป็นคนดีนั้น คือคนที่ไม่ว่าเขาเคยเป็นคนที่ไร้ค่าทางศีลธรรมสักเพียงใด แต่เป็นคนที่ทำตัวให้ดีขึ้นเสมอ - จอห์น ดุย

หากใครกำลังมองหาคู่ แล้วหวังว่าจะได้คนที่สมบูรณ์แบบที่สุด นั่นอาจจะต้องมองหาไปตลาดชีวิต แล้วก็ยังไม่ได้คนอย่างที่ต้องการ แต่หากเรารู้จักคน ยอมรับเขาได้อย่างที่เขาเป็น แล้วเมื่อเรารู้ว่า ทั้งเราและเขาล้วนมีความไม่สมบูรณ์ในบางด้านหรือหลายด้าน แต่ท้ายที่สุด เรามีความตั้งใจจริงที่จะทำตน พัฒนาตนให้ดียิ่งๆขึ้นไป นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากที่สุดแล้ว

ย้อนกลับมาพูดถึงการศึกษากันสักเล็กน้อย

จอห์น ดุย (John Dewey) เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1859 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1952 เขาเป็นนักชาวอเมริกัน American เป็นนักปรัชญา (Philosopher), นักจิตวิทยา (Psychologist) และนักปฏิรูปการศึกษา (Educational reformer) ผู้มีอิทธิพลต่อการศึกษาและการปฏิรูปสังคม ดุยเป็นคนแรกๆในกลุ่มนักคิดที่เชื่อในหลักปรัชญา ปฏิบัตินิยม (Pragmatism) และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งจิตวิทยาสายปฏิบัติ (Functional psychology) เขาเป็นตัวแทนหลักคนหนึ่งของความเชื่อแนะแนวคิด “การศึกษาแบบก้าวหน้า” (Progressive education) และเสรีนิยม (Liberalism)

การศึกษาตามแนวคิดของดุย จึงไม่เน้นการท่องจำ แต่เป็นการแสวงหาและพัฒนาประสบการณ์ที่ผู้เรียนจะได้รับ การเป็นครูที่ดีจึงต้องมีการไปสังเกตการเรียนการสอนกันตั้งแต่เริ่มต้น ควบคู่ไปกับการศึกษาจากตำรา แล้วเมื่อจะฝึกสอน ก็ให้ได้สอนเริ่มจากบทเรียนเล็กๆ แล้วจนนำไปสู่การทำหน้าที่ครูฝึกสอน การศึกษาจึงไม่ใช่เรียนจากเพียงตำรา ตอบตามตำรา หรือตามที่ครูเคยสอน

ในสมัยเป็นนิสิตเรียนที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ผู้สอนหลายท่านพูดถึงจอห์น ดุย (John Dewey) แต่ผมจำได้เพียงหลักที่ว่า “Learning is by doing.” หมายความว่า “การเรียนรู้นั้นต้องลงมือปฏิบัติ” ซึ่งเหมาะกับผมมาก เพราะผมเป็นคนไม่ค่อยชอบจำ ยกเว้นว่าชอบสิ่งนั้นจริงๆ

วันนี้ในยุคที่เรามีเครื่องมือในการเรียนอย่างมากล้น มีข้อมูลที่พร้อมที่จะให้เราศึกษาอย่างสะดวกที่สุด ผมจึงขอย้อนกลับไปเรียนใหม่ด้วยตัวเองอีกครั้ง เรียนด้วยการอ่าน อ่านให้ลึกพอแล้วนำความมาเขียนเพื่อสื่อสาร และพูดคุยกับนิสิตนักศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครอง และเพื่อนร่วมเรียนทั้งหลาย และที่แน่นอน ต้องเรียนด้วยความรู้สึกอยาก กระหายที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่

ผมจะทำอย่างที่คิด “I always want to be a better man.” ผมอยากจะเป็นคนที่ดีขึ้น แล้วผมจะเป็นครับ

No comments:

Post a Comment