Tuesday, December 11, 2012

การใช้จักรยานไฟฟ้า (Electric bicycle) และผลดีต่อสิ่งแวดล้อม


การใช้จักรยานไฟฟ้า (Electric bicycle) และผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Transportation, การคมนาคม, การขนส่ง, การเดินทาง, EVs, Electric bicycles, e-bikes, จักรยานไฟฟ้า, environmental effects


ภาพ จักรยานไฟฟ้ารุ่นใหม่ ใช้มอเตอร์ที่เป็นแบบอยู่ที่แกนวงล้อ เรียกว่า Hub motor ส่วนตัวถังจะใช้วัสดุเบา เช่น อลูมิเนียม เพื่อลดน้ำหนักตัวรถ ส่วนแบตเตอรี่จะใช้เป็น Lithium มากขึ้น เพราะมีประสิทธิภาพให้พลังไฟฟ้าได้มากกว่าแบบตะกั่ว ส่วนวงล้อนั้นจะมีทั้งขนาด 20 นิ้ว, 24 นิ้ว, 26 นิ้ว, อาจมีระบบโซ่แบบหลายเกียร์ เพื่อให้วิ่งได้ด้วยความเร็วสูง ใช้พลังงานคนร่วมกับพลังงานจากแบตเตอรี่ไฟฟ้า ส่วนราคาที่ขายกันในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 25,000-26,000 บาท ในอนาคต หากมีการใช้กันมากขึ้น มีความต้องการมาก ผลิตได้ในแบบอุตสาหกรรมในประเทศ และแบตเตอรี่มีราคาถูกลง ราคาจักรยานไฟฟ้าโดยรวมก็น่าจะลดลง

จักรยานไฟฟ้า (Electric bicycle) หรือมีชื่อเรียกอื่นว่า e-bike เป็นจักรยานที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า (Electric motor) และไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่นำมาชาร็จไฟใหม่ได้ (Rechargeable batteries) สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วประมาณ 24-32 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศที่จะอนุญาตให้ขาย ในบางประเทศตลาดรถจักรยานไฟฟ้าได้ขยายอย่างรวดเร็วทดแทนตลาดจักรยานธรรมดา และตลาดรถจักรยานยนต์ (Motorcycles)

รถจักรยานไฟฟ้ามีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ในปี ค.ศ. 2010 ประมาณว่ามีจักรยานไฟฟ้าเฉพาะในประเทศจีน 120 ล้านคัน และพบว่ามีการใช้และขายจักรยานฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศอินเดีย ที่มีประชากรกว่า 1000 ล้านคน ในประเทศสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และสวิสเซอร์แลนด์ ล้วนพบว่ามีการขยายตัวของตลาดจักรยานไฟฟ้าอย่างกว้างขวาง ในยุโรปปี ค.ศ. 2010 พบว่ามีการขายจักรยานทั่วทั้งยุโรป 700,000 คัน ก่อนหน้านี้ มีการขายจักรยานเพิ่มขึ้นจาก 200,000 คันในปี ค.ศ. 2007 เป็น 500,000 คันในปี ค.ศ. 2009

จักรยานไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รถจักรยานไฟฟ้า (Electric bicycles) เกือบทั้งหมดจัดเป็นยานพาหนะที่ไม่ปล่อยอากาศเสีย (Zero-emissions vehicles) เพราะไม่ต้องใช้พลังงานจากกระบวนการเผาไหม้ แม้คิดถึงการผลิตไฟฟ้าที่นำมาใช้เป็นพลังงาน (Electricity generation) และกระบวนการส่งไฟฟ้า (Power distribution) และกระบวนการผลิตรถจักรยาน และการทิ้งหรือขจัดแบตเตอรี่เก่าที่เสื่อมสภาพแล้ว แม้เมื่อคิดถึงตัวแปรเหล่านี้แล้ว รถจักรยานไฟฟ้าก็ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ารถยนต์ธรรมดา (Conventional automobiles) และเป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมในเมือง

เพราะขนาดของแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถจักรยานไฟฟ้าที่เล็กกว่าที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (electric car) มาก ทำให้รถจักรยานไฟฟ้าเหมาะที่จะเป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ชาร์จได้จากแหล่งพลังงานทางเลือก ดังบริษัท Sanyo ได้ใช้ประโยชน์จากการสร้างลานจอดรถพลังแสงอาทิตย์ (Solar parking lots) โดยคนใช้จักรยานไฟฟ้า (E-bike riders) สามารชาร์จไฟรถจักรยานได้ด้วยพลังงานจากแผงรับแสงอาทิตย์ (Photovoltaic panels)

ในประเทศจีน เขามองเห็นความจำเป็นในนโยบายยานพาหนะของประชาชน 1400 ล้านคน หากคนจีนต้องใช้รถยนต์ แม้จะเป็นรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน ก็ยังเป็นปัญหาหนัก หรือแม้แต่คนระดับล่างของเขาจะใช้จักรยานยนต์ (Motorcycles) ก็จะเป็นปัญหาทั้งด้านการต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และยังปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้น้ำมัน เขาจึงมีนโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้รถจักรยานไฟฟ้า

·       การส่งเสริมการใช้จักรยานไฟฟ้าของจีน เขาได้ประโยชน์สองด้าน ด้านหนึ่งเพื่อช่วยสร้างระบบการขนส่งในเมือง หรือการเดินทางไปทำงานทั้งไปและกลับทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเดินทางระยะสั้นภายในสัก 10-20 กิโลเมตรเป็น และอีกด้านหนึ่งคือการผลิตเพื่อการส่งออก จักรยานไฟฟ้าไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากนัก เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้า จึงทำให้จีนสามารถพัฒนาและส่งออกจักรยานไฟฟ้าไปได้ทั่วโลก นับเป็นเจ้าตลาดส่งออกสินค้านี้กว่าร้อยละ 80 ของโลก

·       จากการศึกษาผลกระทบของจักรยานไฟฟ้าเมื่อเทียบกับการขนส่งแบบอื่นๆ พบว่าจักรยานฟ้าเป็นดังนี้

·       มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานกว่ารถยนต์สปอร์ตอเนกประสงค์ (Sport Utility Vehicle – SUV) 18 เท่า

·       มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานกว่ารถยนต์นั่ง (Sedan) 13 เท่า

·       มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานกว่าระบบขนส่งโดยราง ดังรถไฟฟ้า (Rail transit) 6 เท่า

ทั้งนี้แม้เมื่อนับรวมการขจัดแบตเตอรี่ที่มีสารมีมลพิษอย่างตะกั่ว (Lead) แคดเมียม (Cadmium) หรือลิเธียม (Lithium) ที่แม้หากไม่นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycling) ก็ยังมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ายานพาหนะอื่นๆ

No comments:

Post a Comment