Thursday, December 6, 2012

เราอยู่ในโลกของการถูกตรวจตราทุกหนทุกแห่ง (Ubiquitous Surveillance)


เราอยู่ในโลกของการถูกตรวจตราทุกหนทุกแห่ง (Ubiquitous Surveillance)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Digital age, Surveillance, identity, social media


ภาพ กล้อง CCTV ที่ติดอยู่ตามที่ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกอาคาร

เรากำลังอยู่ในโลกยุคใหม่ที่ความเป็นส่วนตัวเหลือน้อยลง ทุกที่ๆบอกว่าทันสมัย เขาติดกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (Closed Circuit TV – CCTV) ตามศูนย์การค้า ธนาคาร สำนักงาน อพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม หรือหมู่บ้าน

ในส่วนตัวเรา เมื่อเราเข้าไปใช้สื่อสังคมอย่าง Twitter หรือ Facebook เท่ากับเราได้ยอมรับความเป็นสาธารณะเพิ่มขึ้นไปอีก ไม่ว่าเราจะพูดจะเขียนอะไรไป ท้ายสุดจะไม่มีความลับ ไม่ว่าเราจะใช้นามปากกา หรือใช้ชื่อจริงในการเข้าไปเป็นสมาชิก ในสื่อพวกนี้ จะมีบริการที่ติดตัวมา เรียกว่า Timeline ทำให้สะดวกที่จะบันทึกว่าขณะที่เขียนนั้นเป็นเวลาอะไร และมีระบบ GPS หรือ Global Positioning System ทำให้รู้ว่าขณะนั้น เราอยู่ ณ ที่ใด หรือเหมือนกับที่เมื่อเราใช้บัตรเครดิต ไม่ว่าจะใช้ในที่ใด ก็ทำให้มีข้อมูลติดตามมาได้ว่า เราได้ไปอยู่ ณ ที่ใด ใช้เงินไปเท่าใด เพื่อการใด สิ่งเหล่านี้ ทำให้นำมาปะติดต่อแล้วทำให้รู้ว่า เรากำลังทำอะไร

ความเป็นส่วนตัวของเรา จะชอบหรือไม่ชอบ มันกำลังลดลงไปเรื่อยๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ให้เข้าใจว่า ไม่มีความลับในโลก จะทำอะไรอย่าคิดว่ามันจะเป็นความลับได้ตลอดไป เช่นไปแอบเขียนด่าใครเอาไว้ โดยหวังว่าจะไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนเขียน แต่ในท้ายที่สุด ไม่เป็นเรื่องยากเลยในยุคใหม่ที่จะสืบไปจนรู้ว่า ใครเป็นคนเขียน แต่แม้โลกจะเป็นเช่นนี้ ก็อย่าไปกลัวและระแวงจนไม่กล้าแสดงความเป็นตัวตนออกมา ตรงข้าม เราควรใช้เสรีภาพของสื่อใหม่ และโลกของข้อมูลข่าวสารใหม่อย่างเต็มที่ แต่ต้องกระทำอย่างรับผิดชอบ และใช้อย่างเข้าใจ

จะพูดอะไรออกมา (Saying) ก็ให้ยึดหลักพูดความจริง เพราะหากเราพูดสิ่งที่เป็นเท็จ ท้ายสุดเราจะพบว่า เราจะลืมในสิ่งที่พูด พูดกันคนๆหนึ่งไว้อย่างหนึ่ง แต่ไปพูดกับคนอื่นๆไว้อีกอย่างหนึ่ง ท้ายสุดก็กลายเป็นพูดผิดๆถูกๆ จนคนเขาจับได้ ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ การพูดแบบคุยโม้ คุยโต พูดแบบเอาเรื่องชาวบ้านที่จริงบ้างเท็จบ้างมาพูด ดังนี้ก็ไม่ควรฝึกเป็นนิสัย เพราะมันไม่ยังประโยชน์ให้แก่ใคร ไปนินทาใครเขา ท้ายสุดความนั้นก็จะไปเข้าหูคนที่เรานินทานั้นได้อยู่ดี และมักจะออกมาในลักษณะไม่เป็นผลดีต่อเรา

จะเขียน (Writing) อะไรออกมา ก็ต้องกระทำด้วยความรอบคอบไตร่ตรอง จะเขียนอะไร ก็ต้องศึกษาหาข้อมูล อ่านให้มาก ตรวจสอบข้อมูลให้ได้ ฝึกตนเองให้เป็นคนขี้สงสัย ไม่ใช่จะเชื่ออะไรง่ายๆ และเมื่อสงสัย ก็ต้องสร้างความสามารถในการหาข้อมูลในเชิงลึกให้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของเรา

การจะทำอะไร (Doing) ก็เช่นกัน ต้องกระทำด้วยความรอบคอบไตร่ตรอง และเมื่อไตร่ตรอง ตรวจสอบรอบคอบแล้ว ถึงเวลาต้องตัดสินใจอะไร ก็ต้องให้มีทางเลือกทางออก แล้วตรวจสอบทางเลือกเหล่านั้นให้ดี และเมื่อชั่งน้ำหนักดีแล้ว ถึงเวลาทำ ก็ต้องทำ และทำอย่างไม่ลังเล


โลกยุคใหม่ให้โอกาสในการสื่อสาร ให้โอกาสในการแสดงความเป็นตัวตน (Digital Identity) แก่เรา ก็พึงใช้มันให้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต และให้ยึดหลักเดิมๆที่ผู้ใหญ่เคยสอนไว้ การเป็นคนดีนั้น “ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” จะคิด พูด เขียน หรือจะทำอะไร ก็ให้ยึดหลักทำในสิ่งที่ดี ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ทำดังนี้ แล้วก็ไม่ต้องไปกังวลอะไรมาก

No comments:

Post a Comment