Saturday, October 24, 2009

สถานศึกษากับการดูแลแทนบิดามารดา (In loco parentis)

สถานศึกษากับการดูแลแทนบิดามารดา (In loco parentis)

ประกอบ คุปรัตน์
ศึกษาและเรียบเรียง

From Wikipedia, the free encyclopedia

Updated: Sunday, October 25, 2009
Keywords: การศึกษา, กฎหมาย, สิทธิ

ในประเทศไทยสมัยก่อน นานมาแล้ว เมื่อยังไม่มีโรงเรียนดังที่เป็นในปัจจุบัน เมื่อพ่อแม่ต้องการให้ลูกได้รับการศึกษา พ่อแม่ก็จะนำลูกไปหาพระ ซึ่งถือว่าเป็นครูอาจารย์ และฝากฝังให้ได้รับการศึกษา และการนี้ก็คือฝากฝังในดูแลบุตรหลานเหมือนกับเป็นลูกหลานของพระท่าน ท่านจะอบรม สั่งสอน กำกับวินัย หรือเฆี่ยนตีอย่างไร ก็สุดแล้วแต่ท่านจะกรุณา

ในโรงเรียนอย่างที่เป็นระบบปัจจุบัน เมื่อไม่นานมานี้ แม้ในต่างประเทศ ก็ยังมีการเฆี่ยนตีนักเรียนได้ มีการลงโทษให้คาบไม้บรรทัด กักให้อยู่ในห้อง การให้คัดงานซ้ำหลายๆจบ เหล่านี้ด้วยหลักที่ถือว่า การส่งบุตรหลานไปโรงเรียนนั้น ให้ครูอาจารย์และทางโรงเรียนดูแลบุตรหลานของตนดุจดังเป็นบิดามารดาอีกทางหนึ่ง

แต่ในปัจจุบันนี้ หลายๆสิ่ง และสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไป

ความหมาย

คำว่า in loco parentis,อันเป็นคำมาจากภาษาลาติน (Latin) มีความหมายว่า ในฐานะพ่อแม่หรือผู้ปกครอง (in the place of a parent) ซึ่งหมายถึงการมีความรับผิดชอบตามกฎหมายของบุคคลหรือองค์การที่จะทำหน้าที่เป็นบิดามารดาให้กับเยาวชน ซึ่งสืบเนื่องมาในกฎหมายทั่วไปของอังกฤษ ซึ่งมีการแยกระหว่างผู้ที่เป็นบิดามารดาจริงส่วนหนึ่ง กับการให้ทำหน้าที่เป็นดุจดังบิดามารคาด้วยหน้าที่ ก็อีกอย่างหนึ่ง

ประการแรก มันทำให้สถาบันการศึกษา ดังวิทยาลัย หรือโรงเรียนได้ทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์ที่สุดแก่ตัวนักเรียนหรือนักศึกษา ตามที่ผู้ทำหน้าที่นั้นๆเห็นสมควร ซึ่งหากไม่มีกฎหมายนี้รองรับ จะเป็นการไปก้าวก่ายสิทธิของนักเรียน และนิสิตนักศึกษา

ประการที่สอง ในฐานความเชื่อแบบนี้จะทำให้คนที่ไม่ใช่พ่อแม่โดยสายเลือด ได้รับสิทธิและความรับผิดชอบดุจดังพ่อแม่โดยสารเลือด เมื่อเขาได้รับมอบสิทธิการเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองแก่เยาวชนนั้นๆ

หลัก In loco parentis จะมีพื้นฐานที่ต่างจากหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิผู้เรียนที่เข้ามารับการศึกษา จะไม่เหมือนกับสิทธิของผู้ใหญ่ที่จะมีสิทธิในความเป็นประชากรที่จะได้รับแตกต่างกันกับเด็กหรือเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพราะเมื่อผู้เรียนที่เป็นเยาวชนที่เข้ามารับการศึกษา ก็ต้องยอมรับในข้อจำกัดบางอย่าง เพื่อประโยชน์ในการศึกษานั้นๆ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เรียนมีอายุมากขึ้น เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป คนที่เข้ามารับการศึกษา มีที่เป็นผู้ใหญ่ บางคนเป็นทหารผ่านศึกมา ได้กลับเข้าศึกษาเล่าเรียน แต่โดยอายุและประสบการณ์แล้ว เขาเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว ก็จะมีการเรียกร้องที่แตกต่างกัน เรื่องเหล่านี้ในประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา บางครั้งก็มีกรณีถึงศาลสูงของประเทศ และมีการตัดสินที่จะเป็นหลักการสำหรับกรณีอื่นๆ ที่จะตามมา

กฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา
(
In United States law)

หลัก In loco parentis จะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ แม้จะเป็นประเทศเจริญแล้ว มีการยึดถือในหลักประชาธิปไตยและการศึกษาที่คล้ายกัน

กฏหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา หลักการ In loco parentis จะมีผลกับสถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่สั่งสอนเยาวชนเป็นหลัก แต่จะไม่ได้ใช้กับบุคคล กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคลที่ให้ทำหน้าที่ดูแลเป็นพ่อแม่บุญธรรม ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การศึกษาขั้นพื้นฐาน
(
Primary and secondary education)

คำว่า การศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ประเทศไทยใช้กันอยู่นั้น หมายถึงการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาเรียกว่า K through 12 หรือ การอนุบาลศึกษา ประถมศึกษา (เกรดที่ 1-6) กับ มัธยมศึกษา (เกรดที่ 7-12) ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการเรียนประถมและมัธยมศึกษา 12 ปี แต่อาจมีระบบในแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน เช่น อาจเป็น 4 4 4, ซึ่งประกอบด้วยประถมศึกษา 4 ปี โรงเรียนระดับกลาง (Middle School) 4 ปี และโรงเรียนมัธยมศึกษา เรียกว่า High School อีก 4 ปี หรืออาจมีความแตกต่างไปในรูปแบบอื่นๆ ก็ได้

สิ่งที่ทำให้เกิดกฎหมายกำกับที่เป็นข้อจำกัดในประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นเมื่อศาลสูงสุดของประเทศที่เรียกว่า U.S. Supreme court ได้มีคำตัดสินกรณีของสำนักศึกษาธิการของรัฐเวอร์จิเนียตะวันตก ที่เป็นความกับ Barnette (West Virginia State Board of Education v. Barnette) ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1942 ซึ่งศาลได้ตัดสินว่า พฤติกรรมของนักเรียนในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน จะด้วยในลักษณะใดก็ตาม สถานศึกษาไม่สามารถบังคับให้เคารพธงชาติอเมริกัน

คำตัดสินชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ดังในกรณี Tinker กับเขตพื้นที่การศึกษาอิสระแห่งชุมชน Des Moines ได้ให้คำตัดสินว่า พฤติกรรมของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นในชั้นเรียน หรือนอกชั้นเรียน หรือจะด้วยในช่วงเวลาใดหรือสถานที่ใด สถานศึกษาไม่สามารถสอดแทรกกิจกรรมในชั้นเรียน หรือทำให้เกิดความรบกวนในสิทธิของผู้อื่นๆ ไม่สามารถไปขัดกับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of speech) ที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ แต่ Tinker ได้มีความเห็นแย้งว่า การตัดสินของศาลสูงเป็นการขัดกับหลักบทบาทของโรงเรียนรัฐ และเป็นการไม่รับรู้ในประวัติในบทบาทการศึกษาภาครัฐ (127 S.Ct. 2634).เขามีความเห็นว่าบทบาทและการแสดงออกของนักเรียนต้องอยู่ภายใต้บทบาทหน้าที่ของโรงเรียนที่ทำการแทนผู้ปกครองของนักเรียน ที่เรียกว่า In loco parentis ที่เขาได้อ้างถึงในกรณี Lander v. Seaver (1986) ซึ่ง In loco parentis ในยุคดั่งเดิม ให้โรงเรียนสามารถทำโทษนักเรียนได้เหมือนที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองกระทำกับบุตรหลาน การไปจำกัดสิทธิของโรงเรียนในการดูแลนักเรียน จะทำให้เสียผลประโยชน์ของโรงเรียนและเป้าหมายทางการศึกษา การตัดสินของศาลสูง คือโรงเรียนสามารถกระทำได้ แต่จำกัดที่ต้องไม่ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดการบาดเจ็บแก่ผู้ถูกลงโทษ แต่ดังกล่าวไม่เกี่ยวกับของ Tinker

กล่าวโดยสรุป ในสถานศึกษายุคใหม่ โรงเรียนยังได้รับสิทธิ In loco parentis แต่จะไม่สามารถใช้ได้อย่างกว้างขวาง หรือจะลงโทษเฆี่ยนตี กักกัน อันมีผลบาดแผลทางร่างกายและจิตใจได้เหมือนในสมัยก่อน และครูอาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา ก็ต้องเข้าใจในกรอบของกฎหมายนี้ด้วย

การศึกษาเอกชน

สิทธิของผู้เรียนมีความแตกต่างระหว่างโรงเรียนที่เป็นของรัฐ (Public schools) ซึ่งต้องยอมรับกฎหมายของรัฐที่ต้องให้หลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพบางประการ เช่นสิทธิทางการนับถือศาสนาและการแสดงออก ซึ่งโรงเรียนตามหลักสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนา จึงทำให้สถาบันการศึกษาของรัฐ ไม่สามารถเลือกสั่งสอนนักเรียนนักศึกษาให้เอนเอียงไปในศาสนา ลัทธิใดลัทธิหนึ่งได้ แต่ในสถาบันการศึกษาของเอกชน (Private schools) จะมีการกำกับใช้ In loco parentis เช่น ในสถานศึกษาของเอกชนนั้นมีการสอนทางด้านศาสนา มีการบังคับด้านการแต่งกาย (Dress codes) ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่มีขึ้นถึงศาลสูง เพราะก็มีหลักในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา เพราะคนที่เขาส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนทางศาสนาในลักษณะพิเศษ เพราะเขายอมรับในกฎเกณฑ์ที่ทางโรงเรียนจะต้องใช้เพื่อการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามหลักศาสนาและความเชื่อเหล่านั้นของเขา

การอุดมศึกษา
(
Higher education)

แม้หลัก In loco parentis ใช้กับนักเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษา แต่ในระดับอุดมศึกษาแล้วข้อบังคับดังที่เคยมีในอดีต ได้สูญสลายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่

ก่อนยุคทศวรรษที่ 1960 นักศึกษาในระดับปริญญาตรีจะมีข้อจำกัดมากมายที่มีผลต่อชีวิตในวัยเรียนของเขา สตรีจะได้รับการจำกัดสิทธิในการอยู่ดึกนอกสถานที่ได้ไม่เกิน 22.00 น. และระบบหอพักจะจำกัดเฉพาะตามเพศ ในบางมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา จะมีการไล่นักศึกษาออก ด้วยเหตุที่มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมทางจริยธรรม บางมหาวิทยาลัยกำหนดให้หญิงและชายนั่งเก้าอี้ จะต้องให้ห่างกันอย่างน้อย 3 ฟุตหรือประมาณ 1 เมตรตลอดเวลา ซึ่งในสมัยหนึ่งในประเทศไทย มหาวิทยาลัยก็มีการห้ามในลักษณะคล้ายกัน นักศึกษาหญิงและชายเป็นแฟนหรือเป็นคู่รักกันได้ แต่ต้องสำรวมในการแสดงความรักกันในที่สาธารณะ ทั้งในและนอกวิทยาเขต ในสมัยหนึ่งหรือประมาณ 30-40 ปีมาแล้ว จะถือเป็นเรื่องปกติที่ครูอาจารย์อาจเรียกนักศึกษามาอบรมในเรื่องของพฤติกรรมทางเพศได้ และนักศึกษาก็จะเป็นที่เข้าใจว่า ท่านเหล่านั้นเรียกไปว่ากล่าวตักเตือนด้วยเหตุของความหวังดีดุจบิดามารดา

มากกว่านี้แม้ในประเทศสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of speech) ในบริเวณวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยได้ มีการห้ามไม่ให้นักศึกษายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนอกรั้วมหาวิทยาลัย การรณรงค์การเดินขบวนทางการเมือง ดังเช่นในเรื่องที่เกี่ยวกับสงครามเวียตนามในช่วงทศวรรษที่ 1960 ที่ต้องมีการส่งทหารที่เป็นเยาวชนชายหนุ่มทั้งหลายไปรบในที่ๆเขาไม่รู้สึกมีความเกี่ยวข้อง การเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิในการแสดงความคิดเห็น (Free Speech Movement) ดังกรณีที่ได้เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียที่เมือง Berkeley (the University of California at Berkeley) เป็นแรงจูงใจที่ทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้ลุกขึ้นต่อสู่และยืนหยัดในสิทธิเสรีภาพของตน

การอ้างอิง (References)

^ An example of family law in loco parentis

^ Anderson, Terry H. (1996). The Movement and the Sixties. New York: Oxford University Press. ISBN 9780195104578.

Retrieved from "http://en.wikipedia.org/wiki/In_loco_parentis"

Categories: Latin legal phrases | Youth rights

Hidden category: Articles with limited geographic scope

No comments:

Post a Comment