ค่าใช้จ่ายประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สหรัฐขึ้นสูงถึง USD 1,000,000 ล้าน
โดย DAVID ESPO, ผู้สื่อข่าวพิเศษของ AP Special วันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2009
กรุงวอชิงตัน ดีซี - กฎหมายเกี่ยวกับสุขภาพถ้วนหน้าได้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว และกำลังอยู่ในการพิจารณาของสภาล่าง (The House of Representatives) ซึ่งประมาณว่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (USD 1 trillion) ซึ่งสูงกว่าที่ประธานาธิบดีโอบาม่าประมาณการ ข่าวจากเจ้าหน้าที่รัฐสภากล่าวว่า แต่ละฝ่ายกำลังต่อรองกันเพื่อให้ท้ายสุดได้ผ่านการลงคะแนนเสียงได้ในเดือนหน้า
เมื่อไม่นานมานี้ ฝ่ายพรรคเดโมแครต อันเป็นพรรคเสียงข้างมากในวุฒิสภาคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 871,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประมาณการต่ำกว่าที่จะเป็นจริงไป 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ประธานาธิบดีโอบาม่าเคยปราศรัยที่รัฐสภาว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ (Universal Healthcare) โดยรวมจะไม่เกิน 900,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รายงานข่าวกล่าวว่า โดยรวมในช่วงเวลา 10 ปีจะมีการลดลงของการงบประมาณติดลบ 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ฝ่ายพรรคเดโมเครตกล่าวว่าจากการปฏิรูปของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ จะทำให้บริษัทประกันสุขภาพเอกชนมีอัตราการเติบโตลดลงจากปีละ 6.6 ไปสู่ระดับ 5.3 ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพื่อให้ฝ่ายบริษัทประก้นสุขภาพยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่มีอิทธิพลอย่างมากในสหรัฐ ได้คลายความกังวลลง
Linda Douglass โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า ประธานรัฐสภา คือ Nancy Pelosi กำลังผลักดันแผนที่จะให้บรรลุตามเงื่อนไขที่ประธานาธิบดีกำหนดเป้าไว้ว่า งบประมาณที่จะใช้เพื่อปฏิรูประบบประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้านี้ จะต้องอยู่ในกรอบไม่เกิน 900,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และต้องไม่ทำให้ประเทศต้องขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ Pelosi ยังกล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 1 เดือนมกราคม ค.ศ. 2010 เป็นต้นไป รัฐสภาจะออกกฎหมายที่ทำให้ค่ายาของบริษัทมีชื่อต้องลดลงร้อยละ 50 และแน่นอนว่าจะเป็นเงินเหลือสำหรับประชาชนที่จะใช้เพื่อการดำรงชีวิตด้านอื่นๆ
ในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลของคนสหรัฐโดยรวมจัดว่าสูงที่สุดในโลก แต่คนอเมริกันก็ยังมีปัญหาด้านสุขภาพมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปทั่วไป และมีคนอเมริกันประมาณร้อยละ 15 ของประชากร 300 ล้านคน หรือประมาณ 45 ล้านคน ไม่มีเงินซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งคนเหล่านี้คือคนที่มีรายได้น้อย และค่าประกันสุขภาพ อาจสูงถึงร้อยละ 15 ของรายได้ครอบครัวเขา และอีกส่วนหนึ่งคือ ประกันสุขภาพที่ผูกกับรายได้นั้น หากคนตกงาน ก็จะพลอยไม่ได้รับประโยชน์จากประกันสุขภาพตามไปด้วย นับว่าเป็นเรื่อง โรคซ้ำ กรรมซัด วิบัติเป็น
อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้มีหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้านี้เป็นงานใหญ่ สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้พยายามผลักดันการประกันสุขภาพมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ในสมัยนั้น พรรคเดโมเครตจัดเป็นพรรคเสียงข้างน้อยในรัฐสภา แม้ฝ่ายบริหาร คือประธานาธิบดีจะมาจากพรรคเดโมแครต ในคราวนี้ฝ่ายบริหารและเสียงข้างมากของรัฐสภา ล้วนพยายามผลักดันกฏหมายและแผนปฏิรูปสุขภาพอย่างจริงจัง เพราะหากไม่ดำเนินการปรับปรุงแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นไปอีก ภาระค่าใช้จ่ายของคนอเมริกัน ก็จะต้องหนักหนา ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมก็จะต้องเกิดขึ้น
ในคราวนี้ อีกประมาณ 1-2 เดือน ก็จะรู้ว่า แล้วสหรัฐจะปฏิรูปการบริการสุขภาพของเขาได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่ทำให้ได้ในคราวนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้เมื่อใด
No comments:
Post a Comment