Saturday, October 24, 2009

วิทยาลัยครูกำลังผลิตคนเพียงระดับปานกลางเท่านั้นหรือ

วิทยาลัยครูกำลังผลิตคน
เพียงระดับปานกลางเท่านั้นหรือ

ประกอบ คุปรัตน์
แปลและเรียบเรียงจาก

Are Teacher Colleges Turning out Mediocrity?
โดย Gilbert Cruz Friday, Time, Oct. 23, 2009

คำนำ

ผมจบการศึกษาแล้วก็ทำงานในคณะด้านการศึกษา หรือในวงการในการศึกษาเขาเรียกว่า ศึกษาศาสตร์ การศึกษา หรือครุศาสตร์บ้าง ในภาษาอังกฤษ ดังในประเทศสหรัฐอเมริกา จะเรียกว่า School of Education ซึ่งมีอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทั่วไป เมื่อผมจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านครุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แล้วไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา ในระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งเป็นระดับปริญญาโท และเอก สิ่งหนึ่งที่มีอยู่ในใจ คือ เขาควบคุมคุณภาพมาตรฐานของการผลิตบัณฑิตด้านการศึกษาที่จะออกมาเป็นครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนเป็นนักบริหารการศึกษา ผู้นำ และนักคิดด้านการศึกษา กันอย่างไร

ผมได้คำตอบที่ไม่ชัดเจนนัก เพราะมันมีความแตกต่างกันระหว่างสถานศึกษา และในทางด้านวิชาชีพแล้ว วิชาชีพครูไม่เหมือนทางด้านวิชาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์ กฎหมาย วิศวกรรมศาสตร์ เหล่านี้เขามีสมาคมวิชาชีพที่จะเข้ามาควบคุมระบบการผลิตบัณฑิต นอกเหนือไปจากการควบคุมโดยฝ่ายการศึกษาของรัฐแต่ละรัฐ

ในยามปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐมีปัญหา ขาดความสามารถในการแข่งขัน คุณภาพคนของเขาในเชิงเปรียบเทียบลดลง งานวิจัยและพัฒนาอ่อนด้อยลง ยิ่งทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงไปอีก อเมริกาดำรงอยู่ได้ด้วยการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ ที่มีคุณภาพและราคาค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า ท้ายสุดจึงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างที่เป็นในปัจจุบัน ช่วงเวลาอย่างนี้ เขาจึงต้องหันกลับไปดูที่ระบบการศึกษาของเขาอีกครั้งว่า เขาเรียนกันอย่างไรในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา ตลอดจนพิจารณาว่า เขาได้ใครมาสอน ซึ่งหมายถึงครูและบุคลากรทางการศึกษา แล้วบุคคลเหล่านี้ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนกันอย่างไร ดีหรือไม่ ทันหรือไม่ทัน สอดคล้องหรือไม่กับโลกเศรษฐกิจที่ต้องแข่งขันกันอย่างรุนแรงดังเช่นในปัจจุบัน

และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ต้องมีการติดตามเข้าไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการ พัฒนาครู คณะศึกษาศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆว่าได้ทำหน้าที่กันอย่างไรในปัจจุบัน

ประกอบ คุปรัตน์
วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2552

ความจริงการมีครูที่ดีนั้นเป็นที่รู้กันว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนต้องการรู้ว่า ใครเป็นคนสอนลูกของตน และสอนอย่างไร ครูที่ดี นักเรียนจะจำได้ และจดจำไปนาน แล้วทำอย่างไรจึงจะได้ครูดีๆมาสอนเด็กๆในโรงเรียน

Are Teacher Colleges Turning out Mediocrity?
โดย Gilbert Cruz Friday, Time, Oct. 23, 2009

Arne Duncan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในสหรัฐเรียกว่า Secretary of Education ซึ่งเป็นทีมงานในคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดี Barack Obama เขาเคยทำหน้าที่เป็นศึกษาธิการของระบบการศึกษาของรัฐในเมืองชิคาโก ก่อนที่จะมารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีของโอบาม่า

เมื่อไม่นานมานี้ Arne Duncan ได้ไปบรรยายที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University's Teachers College) ในเมืองนิวยอร์ค ซึ่งจัดเป็นคณะศึกษาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ในการนี้เขาได้กล่าวิพากษ์ระบบการผลิตบัณฑิตด้านการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตครูกว่า 3.2 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในโรงเรียนของรัฐทั่วประเทศในปัจจุบัน เขากล่าวว่า "โดยมาตรฐานไม่ว่าจะด้วยอะไรก็ตาม โรงเรียนหรือคณะด้านศึกษาศาสตร์ในประเทศเกือบทั้งหมด หรือเป็นส่วนใหญ่ของ 1,450 แห่ง กำลังทำหน้าที่อย่างที่เรียกว่า "ปานกลาง" (Mediocre) ในการเตรียมครูที่จะออกไปทำหน้าที่ในโลกแห่งความเป็นจริงของศตวรรษที่ 21 นี้" ในการใช้คำว่า "ปานกลาง" ในวงการอุดมศึกษานี้ ถือว่าเป็นการดูถูกเอามากๆทีเดียว เพราะวงการอุดมศึกษา มักจะต้องพูดถึงแต่คำว่า "ดีเป็นเลิศ" หรือ Excellence และที่เขากล่าวท้าทายนี้ เพราะมันเป็นจริงทีว่า คณะศึกษาศาสตร์ หรือหน่วยงานผลิตครูที่ตั้งอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆนั้น เปรียบเหมือนเป็น "ลูกเลี้ยง" ของระบบอุดมศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเด็นนี้ได้มีการพูดกันในหมู่นักการศึกษาและบุคคลที่ต้องการปฏิรูปการศึกษากันมานับเป็น 20-30 ปีแล้ว

แล้วเมื่อคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ทำหน้าที่ได้ไม่ดีพออย่างนี้ แล้วผลจะเป็นอย่างไร การศึกษาของชาติจะเป็นอย่างไร

David Steiner ผู้บริหารการศึกษาของรัฐนิวยอร์ค (New York's education commissioner) กล่าวว่า อันที่จริงแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่า และไม่สามารถรู้ได้ว่าผลของการเรียนของนักศึกษาด้านฝึกหัดครูที่จบออกไปนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะในวงการศึกษามักจะพยายามมองการศึกษา หรือวิธีการเรียนการสอนเป็นเหมือนอย่างศิลปะ (Undefinable Art)” กล่าวอย่างง่ายๆ ความสามารถของครูมักจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้มีการประเมิน และแม้มีการประเมินก็มักจะไม่เป็นที่ยอมรับในวงการศึกษา หรือวงการครู Steiner เคยวิจารณ์ว่า ในการเรียนการสอนในคณะศึกษาศาสตร์ทั่วๆไปนั้น มักจะไปเน้นทฤษฎีและปรัชญาด้านการศึกษา ทำให้ไม่ได้ให้ความสำคัญไปที่การมีประสบการณ์จริงในชั้นเรียน หรือต้องไปสอนจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ Steiner เห็นว่า การศึกษาของระบบฝึกหัดครูนั้นต้องเน้นไปที่ประสบการณ์จริง มากกว่าที่จะไปเน้นสิ่งที่เป็นสมมุติฐาน

Steiner ท้าทายว่า แล้วประกาศนียบัตรวิชาชีพครูจะมีความหมายอะไร หากเราบอกไม่ได้ว่า แล้วผลของการเรียนของนักเรียนที่ครูรับผิดชอบเป็นอย่างไร

รัฐมนตรีศึกษา Duncan ได้กล่าวว่า "ผมอยากกระตุ้นให้โปรแกรมการฝึกหัดครูในปัจจุบัน ต้องเน้นไปที่ผลด้านการเรียนของผู้เรียน" เขาเน้นให้ระบบผลิตครูนี้ได้หันไปศึกษารูปแบบที่จัดให้มีขึ้นที่รัฐลุยเซียน่า (Louisiana) ที่มีการจัดวางระบบที่ทำให้รู้ว่าผลการเรียนของเด็กนักเรียนในชั้น 4-9 คนหนึ่งนั้นเป็นเช่นไร สามารถติดตามไปได้จนถึงตัวผู้สอนเด็กคนนั้นว่าสอนกันมาอย่างไร และตามไปได้อีกว่า ครูเหล่านี้ได้รับการฝึกอบรมกันมาจากที่ไหน ว่าเป็นประเภทคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ หรือเป็นโปรแกรมประกาศนียบัตรแบบทางเลือก ดังเช่นในโครงการ Teach for America

ความจริงวิธีการติดตามผลการผลิตแบบนี้มีในภาคอุตสาหกรรมมานานพอสมควรแล้ว ดังเช่นในวงการผลิตรถยนต์ หากพบว่ามีความบกพร่องในระบบผลิต เขาจะติดตามไปวิเคราะห์ได้ว่ามันเป็นส่วนไหนของระบบผลิต และ มีรถยนต์กี่คันที่อยู่ในช่วงระบบผลิตที่มีปัญหานั้น และนั่นทำให้เขาสามารถเรียกสินค้านั้นมาปรับปรุงแก้ไขได้ใหม่ ในวงการยาก็เช่นเดียวกัน เขาจำเป็นต้องรุ้ว่า คนไข้ที่ได้รับยาไปนั้น เกิดผลดี หรือผลข้างเคียงอย่างไร แม้มีข้อบกพร่องเพียงสักเล็กน้อย ก็เป็นผลที่ก่อให้เกิดความเสียหาย การสูญเสียความเชื่อมันต่อผลิตภัณฑ์นั้นๆได้อย่างรุนแรง (ข้อสังเกต ประกอบ คุปรัตน์, ตุลาคม ค.ศ. 2552)

"หากเราต้องการระบบฝึกหัดครูที่มีประสิทธิผลมากกว่านี้ เราต้องหันไปมองด้านอุปทาน (Supply side) ว่าเขาได้มีการจัดการเรียนการสอนครูเหล่านั้นกันมาอย่างไร" George Noell, นักวิจัยด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐลุยเซียน่า (Louisiana State University) กล่าว

"ท่านต้องรู้ว่าใครจะมาเป็นคนสอน เขาได้รับการเตรียมตัวกันมาอย่างไร และที่ไหน เพื่อให้ท่านสามารถเชื่อมโยงไปได้ว่าใครสอนเด็กคนนั้น ใครเป็นคนสอนครูที่สอนเด็กคนนั้น และคนที่สอนอย่างได้ผลนั้นคือใคร อย่างไรก็ตาม การศึกษาติดตามลึกอย่างนี้ เหมือนเป็นการไปลงโทษคณะศึกษาศาสตร์ทั้งหลาย แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่ด้วยเจตนาที่จะปิดคณะศึกษาศาสตร์เหล่านี้ลง แต่เป็นความมุ่งหมายที่จะให้ได้ข้อมูลสะท้อนกลับไปยังคณะศึกษาศาสตร์เหล่านั้น เพื่อจะได้นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิตบัณฑิตออกมา

ในอีกแนวทางหนึ่ง คณะศึกษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งรัฐลุยเซียน่าที่เมืองลาฟาแยต (The University of Louisiana at Lafayette) ได้หันไปเพิ่มมาตรฐานการรับเข้าของนักศึกษาในโปรแกรมฝึกหัดครู และมีโปรแกรมสอนเสริมหลังจากที่รับเข้ามาแล้ว เพื่อปรับแก้จุดบกพร่องที่นักศึกษาเคยมีมา

Richard Riley รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาคนก่อนหน้านี้ ก็ได้เคยให้ข้อสังเกตด้านปัญหาคุณภาพครูผู้สอนในสหรัฐก่อนหน้านี้มาเป็นสิบปีแล้ว

รัฐมนตรีศึกษา Duncan หลังจากวิพากษ์ระบบการศึกษาแล้ว ก็ได้เสนอว่า รัฐบาลกลางของสหรัฐจะมีเงินประมาณ 4,350,000,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการนวตกรรมด้านการฝึกหัดครู ที่ทำให้ครูได้อยู่ในชั้นเรียนนานขึ้น โดยมีครูที่มีประสบการณ์คอยช่วยในด้านการนิเทศการศึกษา เหมือนกับที่นักศึกษาแพทย์เมื่อต้องฝึกประสบการณ์วิชาชีพ (Medical residents) จะมีแพทย์ที่มีประสบการณ์คอยให้คำแนะนำอีกหลายปี ก่อนที่จะจบจากคณะแพทยศาสตร์ และออกไปประกอบอาชีพได้ตามลำพัง

คำท้าทายจากรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการคนใหม่ต่อวงการฝึกหัดครูสหรัฐอเมริกานี้ นับว่าสร้างความหวั่นไหว และแน่นอนว่าจะมีแรงต่อต้านตามมา เพราะไม่มีใครที่จะตื่นขึ้นมา แล้วออกมาบอกว่า ผม/ดิฉันจะรับผิดชอบต่อการเรียนการสอนของผม/ดิฉันคนจะกลัว และอายที่จะต้องถูกประเมิน และนั่นก็เป็นสัจจธรรมของชีวิต

คำส่งท้าย

ในฐานะคนไทย และอยู่ในวงการศึกษาไทย ผมยินดีที่รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสนใจต่อการศึกษา ดังเช่นมีนโยบายเรียนฟรี ชุดเรียนฟรี ตำราเรียนฟรี ทั้งนี้จัดเป็นการไปลดค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ผู้ปกครอง การกระตุ้นเศรษฐกิจได้ที่การจัดฝึกอบรมด้านต่างๆ มีการประเมินนับกันเป็นรายหัวของการฝึกอบรม แต่เท่าที่ทราบ ไม่มีวิธีการประเมินหรือบอกได้ว่า มีการฝึกอบรมกันแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ใครเป็นคนสอน และสอนได้อย่างมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด

ผมอยากสรุปอีกครั้งว่าที่ได้ลงแรงแปลบทความที่ได้นี้ลงเผยแพร่ ก็เพื่อสะท้อนกลับมายังระบบการศึกษาไทย ระบบการฝึกหัดครูไทย ว่าได้ดำเนินการกันมาอย่างไร เรามีความจำเป็นต้องหันกลับมาดูที่วงการผลิตครูกันอย่างจริงจังหรือไม่ และอย่างไร

ก็ลองดูประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างก็แล้วกันครับ

No comments:

Post a Comment