Saturday, October 24, 2009

สังคมยุคใหม่ ชีวิตที่ถูกจอดูด

สังคมยุคใหม่ ชีวิตที่ถูกจอดูด

ประกอบ คุปรัตน์
สถาบันเด็ก มูลนิธิเด็ก

๊Updated: ศุกร์, ตุลาคม 17, 2546

เทคโนโลยี เศรษฐกิจพอเพียง ดุลยภาพแห่งชีวิต

ในโลกยุคอิเลคโทรนิกส์ จอภาพของระบบโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ เครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบนำทางที่ติดในรถยนต์ ระบบธนาคาร ได้เข้ามามีส่วนแย่งการใช้สายตาของเราไปอย่างมาก แต่ที่มากที่สุด คือการที่เราต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ที่ต้องรับข้อมูลด้วยการมองผ่านจอภาพ หรือที่เรียกว่า Monitor ซึ่งสำหรับคนทำงานในเมืองยุคใหม่ ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง หรือตลอดวันกับระบบการทำงานหน้าจอ หรือในกลุ่มคนใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มากๆ อาจหมายถึงวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 30-40 ชั่วโมง ยามเมื่อกลับบ้านพักผ่อน ก็หนีไม่พ้นการดูโทรทัศน์ ซึ่งโดยเฉลี่ย คนเราดูโทรทัศน์วันละ 2-3 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 20-30 ชั่วโมง

เวลาที่เหลือที่เราจะไม่ต้องใช้สายตามองผ่านจอภาพนั้นมีเหลือน้อย การจะได้มองและชื่นชมกับธรรมชาติมีน้อยลง เวลาที่จะได้เดิน หรืออกกำลังกายใช้อวัยวะต่างๆ ได้อย่างครบส่วน ก็จะมีน้อยลง มนุษย์ในยุคใหม่ ก็จะมีโรคยุคใหม่ตามมามากมาย เช่น สายตาสั้น หรือสายตายาวก่อนวัยอันควร เพราะใช้สายตาผ่านสื่อที่มีคลื่นความไหวไม่มากก็น้อย และเมื่อการทำงาน การเรียน และการใช้ชีวิตที่ต้องนั่งอยู่หน้าจอ ไม่ได้เคลื่อนไหว โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ภูมิแพ้ เบาหวาน ไตวายก่อนวัยอันควร เหล่านี้ก็จะถามหา

คนไทยในยุคใหม่กำลังอยู่ในระยะปรับตัวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 บางคนก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วตามกระแสโลก บางคนยังอยู่ในศตวรรษที่ 19 ใช้ชีวิตเหมือนเมื่อ 200 ปีที่แล้วก็ยังมี เป็นช่องว่างอย่างมาก บางคนใช้เทคโนโลยีอย่างมาก และมากจนเกินความพอดี บางคนไม่ใช้แล้วยังต่อต้านไปเลยก็มี ความจริงเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้น ถ้าใช้อย่างสมดุลย์และใช้อย่างพอเหมาะ ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน

เหมือนสุราและของมึนเมานั้นเแหละ ถ้่าเฉลี่ยทุกคนที่มีวัยเกิน 18 ปีในประเทศบริโภคสุรากันปีละ 10 ลิตรทุกคน หรือเดือนละ 1 ขวดใหญ่ และบริโภคจนวัยชรา เฉลี่ยเราจะบริโภคสุรามากถึง 400 ล้านลิตรต่อปี หรือคิดเป็นเงินที่ลิตรละ 50 บาท คิดเป็นเงิน 20,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเงินไม่ใช่น้อย แต่ก็จะไม่มีใครเป็นโรคพิษสุรา มีความสำราญผ่อนคลายกันตามอัตตภาพ แต่ในสภาพจริงนั้น คนบางส่วนบริโภคกันอย่างหัวราน้ำ กลายเป็นพวกติดสุรา เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholic) บางส่วนอาจไม่บริโภคเลย

สำหรับคอมพิวเตอร์และสื่ออิเลคโทรนิกส์ทั้งหลายนั้น ก็เช่นกัน สำหรับนักเรียน นักศึกษา คนธรรมดาทั่วไป ควรจะต้องจัดระบบชีวิตที่ใ้ช้เทคโนโลยีอย่างพอเหมาะพอควร ไม่มากไป และไม่น้อยไป การจะศึกษาเล่าเรียนนั้น ก็ใช้ประสมกันไประหว่างสื่อเ่ก่า คือที่เป็นหนังสือ กระดาษทั้งหลาย ร่วมไปกับสื่อแบบใหม่ ในปัจจุบันเขามีวิธีการที่เราสามารถสั่งซื้อหนังสือเป็น pdf file เรียกหา file มีความจุเท่ากับหนังสือทั้งเล่มภายในเวลาไม่กี่วินาที นอกจากนี้เรายังเลือกอ่านเฉพาะส่วนที่จำเป็น อะไรบางอย่างที่พออ่านคร่าวๆ ก็เข้าใจแล้วนั้น ก็ไม่ต้อง download มาสั่งพิมพ์ให้เปลืองกระดาษ อะไรต้องอ่านอย่างจริงจัง ก็เรียกมาพิมพ์ แล้วก็ใช้เป็นเอกสารอ่านได้บ่อยๆ

คอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ควรทำให้เราเข้าใจความรู้และวิทยาการได้อย่างดีและรวดเร็ว มีคนประมาณการว่า โลกยุคปัจจุบันนี้สามารถทำให้วิชาการที่เคยเรียนเมื่อ 20 ปีที่แล้วในเวลา 12 ปีนั้น จะเหลือความจำเป็นที่ต้องเรียนเพียง 9 ปี หรือลดลงประมาณร้อยละ 25 แล้วส่วนที่เหลือเราจะให้เด็กๆ ของเราเรียนอะไร ส่วนหนึ่งก็คือเรียนสูงขึ้นไปอีก เรียนหนักขึ้นไปอีก แต่มองในทางกลับกัน ก็ควรจะมองว่าให้เขาได้มีโอกาสเรียนในแบบตามธรรมชาติมากขึ้น ถ้าเขาอยากจะเรียนรู้เรื่องชีววิทยา เขาอาจใช้ชีวิตเข้าป่าไปส่องดูสัตว์ ดูนกที่อพยพจากถิ่นอื่นๆ มา หรือเขาจะเรียนเรื่องภูมิศาสตร์ประเทศไทยดัวยการได้ไปทัศนศึกษา ได้ไปเห็นและสัมผัสสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ดังนี้เป็นต้น

การบริโภคข้อมูลข่าวสารก็เป็นเหมือนกับการบริโภคอาหาร เด็กๆ ยุคใหม่ชอบกินขนมหวานมาก บางคนชอบกินเนื้อสัตว์ หรือประเภทเนื้อ นม ไข่มาก แต่ไม่ชอบกินผักผลไม้ แต่นั่นแเหละ วงการแพทย์ได้ทราบแน่ชัดแล้วว่า ถ้าเราบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากเกินไป เรามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน เป็นความดันโลหิตสูง ถ้าเราบริโภคอาหารตระกูแป้งและน้ำตาลมากไป เกินความจำเป็นในการใช้ของร่างาย เราจะมีโอกาสเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานมากกว่าธรรมดา ตับอ่อนเสื่อม ซึ่งจะโยงไปสู่ความเสื่อมของอวัยวะส่วนอื่นๆ เช่น ไต ตับ และหัวใจเป็นต้น

มนุษย์ในโลกนี้ เราดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป จะบริโภคอาหาร หรือบริโภคข่าวสาร ท้ายสุดก็ต้องเข้ามาอาศัยหลักความสมดุลย์ในกิจกรรมชีวิตประจำวันของเรา นั่นแหละคือคุณภาพของชีวิต


1 comment:

  1. บทความนี้เขียนเมื่อ 6 ปีทีแล้ว ในช่วงเวลาที่ผ่านมา อาจมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป จึงอยากนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง หากท่านใดมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเด็กๆ กับโทรทัศน์ โปรดนำเสนอได้ในส่วนความคิดเห็นนี้
    - ประกอบ คุปรัตน์

    ReplyDelete