Friday, May 1, 2009

หน่วยที่ 16. สัจธรรมของการสื่อสารเกี่ยวกับไข้หวัดนก

ประกอบ คุปรัตน์ (Pracob Cooparat)
ศึกษาและเรียบเรียง

มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard4Asia Foundation (SB4AF)
Tel: +66 2 3548254, +66 2 3548255
Fax: +66 2 3548255
Email: pracob@sb4af.org
Blogger: http://pracob.blogspot.com

Keywords: ไข้หวัดนก, Bird Flu

หน่วยที่ 16. สัจธรรมของการสื่อสารเกี่ยวกับไข้หวัดนก

อะไรคือตัวปัญหาและสาเหตุ

ความจริงเชื้อไวรัสได้มีมานับเป็นล้านๆ ปีแล้ว มันอาจมีสายพันธุ์สลับปรับเปลี่ยนไป แต่มันมีมานานแล้ว เชื้อไวรัสในโลกที่ได้ระบาดในหมู่มนุษย์นั้น ก็มีอยู่เป็นระยะ จริงๆ แล้วในระยะหลังมนุษย์มีขีดความสามารถที่จะลดผลกระทบจากโรคดังกล่าวค่อนข้างสูง แม้จะไม่สามารถให้หลักประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะสังเกตได้ว่าอัตราการป่วยและการตายด้วยโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกในระยะหลังไม่ได้สูงมาก ส่วนใหญ่เป็นลักษณะตระหนก และการเฝ้าระวังที่ต้องเตือนกัน และก็สร้างความหวาดหวั่นกันมาก

แต่เพราะความไม่แน่นอนของมันนั่นเอง กล่าวคือ มันเป็นโรคไวรัสที่อาจมีอันตรายร้ายแรงถึงตายได้อย่างเฉียบพลัน และไม่มียารักษาโรคโดยตรง นอกจากการป้องกันอาการแทรกซ้อน และยังไม่มีวัคซีนที่จะฉีดป้องกันได้อย่างเป็นผลที่สมบูรณ์ ทุกคนว่าจะยากดีมีจนจึงดูเหมือนจะมีโอกาสติดโรคได้ แม้ความจริงจะไม่มีโอกาสมากนัก และด้วยความตระหนกเช่นนี้ เช่นที่ไม่มีใครยอมบริโภคทั้งไก่และไข่ ไม่ว่าจะประชาสัมพันธ์กันมากมายแค่ไหน ดังนี้เป็นเรื่องที่เรียกได้ว่า Bird Flu Scare ที่อันตรายร้ายแรง เพราะความกลัวจะกลายเป็นปัญหาต่อไปในอีกหลายๆ เรื่อง

ปัญหาการสื่อสารกับคนหมู่มาก

ในหลักการสื่อสารประชาสัมพันธ์ หลักความจริงใจและตรงไปตรงมานับว่าได้ผลเป็นส่วนใหญ่ และทำให้มีการถือเป็นหลักของความโปร่งใส การต้องมีกฎหมายการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร แต่ในทางปฏิบัติ

ปัญหาความตื่นตระหนก (Panic) คือให้ข้อมูลตรงๆ แก่ประชาชน ก็อาจทำให้เกิดความตระหนก และอาจเกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของผู้เลี้ยงไก่ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็ได้แสดงอาการและออกมาปฏิเสธ และปรามสื่อ และผู้ให้ข่าวอย่างรุนแรงในช่วงก่อนยอมรับการระบาดของไข้หวัดนก
ปัญหาความชะล่าใจ (Complacency) ปฏิเสธข่าวซึ่งประชาชนควรได้รับรู้ ก็เกิดความเสียหาย การให้ข้อมูลด้านการระบาดที่ล่าช้า และให้ข้อมูลที่ผิด คือเป็นการรายงานว่าเป็นโรคอหิวาห์ไก่ ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่ามาก และไม่ได้มีประวัติการติดต่อระหว่างสัตว์ปีกสู่คนได้ ทำให้คนที่อยู่ใกล้ชิดไก่ ก็ไม่ได้เตรียมตัว หรือระวังป้องกันตนเองและบุคคลในครอบครัวอย่างเพียงพอ

การปิดบังข้อเท็จจริง หรือทำให้รู้ข้อเท็จจริงล่าช้าเกินไป

จากมติชนรายวัน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9460 ในบทความเรื่อง "ราคาของการปกปิดข้อมูล” เขียนโดย นงนุช สิงหเดชะ กล่าวว่า

เจอวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ได้ยินท่านนายกรัฐมนตรีออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่า "หนักที่สุด" ในชีวิตการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่รู้ว่าครั้งนี้จะเป็นบทเรียนให้กับท่านนายกฯซึ่งมีความเชื่อมั่นสูงสุดมาโดยตลอดหรือไม่ว่า ในบางครั้ง มีหลายเรื่อง หลายปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และในบางครั้งนายกฯจะต้องยอมรับว่าตนเองเป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่ "ซูเปอร์แมน" หรือซูเปอร์นายกฯซีอีโอที่จะสามารถบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ต้องการทุกอย่าง

ผลจากโรคไข้หวัดนกระบาดในประเทศไทยนี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความฉับไวด้านการข่าวมากกว่านี้ เพราะโดยทั่วไป โรคไข้หวัดนกมักจะมีการระบาดก่อนหน้าในลักษณะไม่รุนแรงเป็นเวลาสัก 5-6 เดือน ระยะแรกๆ สายพันธุ์ที่จะพบก็จะไม่รุนแรง อาการป่วยก็ยังไม่รุนแรง แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง มันจึงจะระบาดแบบตายยกเล้าภายในเวลาอันสั้น ซึ่งนั่นแสดงว่าได้มีการระบาดโดยไม่ได้มีการเฝ้าระวังกันอย่างเพียงพอมาสักระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้นองค์การอนามัยโรคจึงแนะนำว่าให้ตรวจพบแต่เนิ่นๆ และต้องตัดใจทำลายไก่ที่ต้องสงสัยว่าได้รับเชื้อเสียโดยเร็ว แม้จะยังไม่ได้มีอาการ

ความซับซ้อนของปัญหา

กลไกปกปิดข้อมูล

โรคไข้หวัดนกระบาดใน 10 ประเทศนี้ แสดงให้เห็นว่า เกือบทุกประเทศมีกลไกปกปิดข้อมูลกันเป็นส่วนใหญ่ และจะไม่มีประเทศใดกล้าออกมาประกาศว่าประเทศของตนเป็นประเทศแรกที่เกิดไขหวัดนกระบาด อย่างน้อยในรัฐบาลของประเทศจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทยมีลักษณะคล้ายกัน คือไม่ได้มีกระบวนการติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ตรงกันข้าม ระบบราชการดังเช่นกระทรวงที่รับผิดชอบด้านการปศุสัตว์กลับต้องทำหน้าที่สงบความกังวลของคนลง แต่ไม่ได้เตรียมมาตรการรายงานสถานการณ์อย่างเป็นระดับ

ขั้นตอนของระบบราชการ

มาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนก เช่นเดียวกับมาตรการอื่นๆ ขึ้นอยู่กับระบบราชการ และระบบราชการมีขั้นตอนต่างๆ มากมายที่ต้องใช้เวลา แต่เมื่อใช้เวลาต่างๆ ตามขั้นตอนมากมาย แต่โรคนั้นมีการระบาดอย่างทวีคูณในทุกวัน ทุกชั่วโมง ลองดูขั้นตอนการสื่อสารต่อไปนี้

1. จากเจ้าหน้าที่ภาคสนาม สัตว์แพทย์สู่ห้องปฏิบัติการ
2. จากผลห้องปฏิบัติการสู่เจ้าหน้าที่ระดับสูง
3. จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงสู่ฝ่ายการเมือง ควบคุมด้านนโยบาย และ
4. จากระดับนโยบายสู่การนำไปแจ้งหรือเผยแพร่ต่อประชาชนกลุ่มเสี่ยงติดโรค และกลุ่มเลี้ยงสัตว์

การได้รับข้อมูลและนำไปสู่ปฏิบัติการต่างๆ จะต้องใช้มาตรการนักวิชาชีพ และความเฉียบขาดของคนทำงาน โดยไม่ต้องเกรงอำนาจใดๆ ทั้งนี้ต้องถือการต้องปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ เมื่อใดที่ปล่อยให้อำนาจแบบราชการอยู่เหนือข้อมูลข้อเท็จจริงแล้ว ปัญหาอาจรุนแรงและไม่มีเวลาจะแก้ไขได้ทัน

การผ่านการกลั่นกรอง

ในการดูแลเกี่ยวกับเรื่องระบาดวิทยานั้น เกือบทุกประเทศทั้งที่พัฒนาแล้ว และที่กำลังพัฒนา เมื่องานส่วนสำคัญไปขึ้นกับระบบราชการที่คนทำงานก็ต้องมีวิธีการคิดและทำงานแบบราชการ สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาคือ การที่ “ความเป็นราชการเหนือความเป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพ” (Bureaucratic Subculture over the Professional Subculture) ประเด็นความเป็นนักวิชาชีพของคนทำงานในระบบกรมกองของกระทรวงต่างๆ นั้นมีอยู่ และมากกว่าพวกนักวิชาการในมหาวิทยาลัย นักวิชาการในระบบราชการมีเครื่องไม้เครื่องมือ แต่คนไม่สามารถคิด ศึกษา และนำเสนอได้อย่างเสรี แต่ในอีกด้านหนึ่ง นักวิชาการในมหาวิทยาลัยสามารถนำเสนอได้อย่างเสรีมากกว่า แต่ไม่มีเครื่องมือและกลไกราชการที่จะติดตามศึกษาได้อย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่ให้ข้อสันนิฐาน และความเห็นทางวิชาการ แต่ไม่สามารถนำไปศึกษาและให้ผลพิสูจน์ได้

ขาดการทำงานแบบบูรณาการ

ความจำกัดในระบบกระทรวง กรม และหน่วยงานแยกย่อย คือต้องทำงานแบบแยกส่วน งานของใครหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่นั้นก็ทำไป แต่ถ้าไปทำงานข้ามส่วนกัน ก็จะไปมีข้อพิพาทเพราะการไปแย่งกันทำงาน แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นงานของใคร บางทีก็เลยไม่มีใครไปรับผิดชอบทำงานนั้นๆ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Nobody’s Land แต่ปัญหาดังกรณีไข้หวัดนกนั้นเกี่ยวข้องแบบกว้างขวาง ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานระดับกอง กรม หรือแม้แต่กระทรวงเดียวได้ เป็นปัญหาที่มาเร็วมาก แต่ปัญหาเป็นแบบบูรณาการ ต้องการการดำเนินการแบบบูรณาการ

o กระทรวงเกษตร มีแนวทางและวัตถุประสงค์แบบหนึ่ง คือการส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงสัตว์ได้ประสบความสำเร็จทางการเลี้ยงและค้าสัตว์ ส่วนปัญหาด้านการติดโรคสู่คนนั้นกลายเป็นเรื่องรอง

o กระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางอีกอย่างหนึ่ง ดูแลเรื่องที่เกี่ยวกับคนเป็นหลัก ถ้าอะไรยังไม่ถึงคน ก็ยังไม่ใช่เรื่องของกระทรวงสาธารณสุข

o กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบด้านการส่งออก ดังในกรณีต้องการส่งออกไก่แช่แข็งไปต่างยังประเทศในยุโรปนั้น เขาต้องการให้ไก่ต้องปลอดจากเชื้อวัคซีน คือเมื่อตรวจหาเชื้อในห้องทดลองแล้วต้องได้เป็น Negative การเลี้ยงไก่จึงต้องเป็นระบบการเลี้ยงแบบปิด และตามมาตรฐานยุโรป

การไม่ได้ทำงานที่ประสานกัน

ปัญหาในการทำงานและประสานงานจึงเกิดขึ้นได้หลายแบบ เกิดการแย่งกันทำงาน เพราะไม่ชัดเจนว่าเป็นงานของใคร การเกี่ยงกันทำงาน หรือเกรงใจกัน ไม่รู้ชัดเจนว่าเป็นงานของใคร และยิ่งในระบบที่คนกลัวเกรงความผิด จึงไม่ยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาแก่กัน เพราะผู้น้อยเองอาจเกรงกลัวความผิดและผลที่จะตามมา แต่ในการดูแลและจัดการโรคระบาดเฉียบพลันดังไข้หวัดนก โรคระบาดต้องการข้อมูลที่ถูกต้องฉับไว และต้องถือหลัก “กันไว้ดีกว่าแก้” แต่ระบบราชการสามารถให้ข้อมูลทีถูกต้องได้ล่าช้า ปัญหาที่เกิดในประเทศจีน อินโดนีเซีย เวียตนาม และไทย ไม่แตกต่างกัน คือมักจะรู้ข้อมูลช้า และไม่ทันกาล

ผู้ป่วยและครอบครัวเอง ก็มักจะมาหาแพทย์เมื่ออาการมีความรุนแรงมากแล้ว จึงสงสัยและมีการตรวจหาเชื้อไวรัสในห้องปฏิบัติการ ดังนั้นการป่วยในประเทศกำลังพัฒนาจึงมีอัตราผู้ป่วยแล้วตายสูงมาก มีการระบาดสู่บุคคลในครอบครัวที่ขยายวงออกไปได้กว้างขวาง และที่ทางการแพทย์เป็นห่วงกันคือ เมื่อใดที่มีการระบาดจากคนสู่คน ก็จะกลายเป็นการระบาดที่สามารถทำให้คนตายนับเป็นล้านๆ คนได้

กลไกวิชาการที่อ่อนล้า

ไข้หวัดนกคือโรคระบาด และในมหาวิทยาลัยที่มีคณะทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และสัตวแพทย์ล้วนมีวิทยการอย่างหนึ่งที่เขาเรียกว่า “ระบาดวิทยา” (Epidemiology) การศึกษาในลักษณะเช่นนี้ในต่างประเทศเขาจะศึกษาแบบเป็นสหวิทยาการ ต้องมีการศึกษาอย่างข้ามเขตวิชาการต่อกัน (Inter-disciplinary) โดยเอาตัวปัญหาเป็นตัวตั้ง (Problem Based) มหาวิทยาลัยไทยยังมีโครงสร้างในแบบเดิมอยู่มาก ยังเป็นแบบที่เขาเรียกว่า “แยกตามศาสตร์เดี่ยว (Disciplinary) และมีความอ่อนล้า ไม่กล้านำเสนออย่างใช้หลักวิชาการ กลัวการนำเสนอจะทำให้คนแตกตื่น เกรงใจภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะกิจการด้านการศึกษาต้องไปพึ่งพากับธุรกิจ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่มั่นใจในระบบราชการ ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว เกรงจะเดือดร้อนถึงตน ลูกศิษย์ที่จะต้องออกไปทำงานกับราชการและภาคเอกชน

การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังเช่นการระบาดของไข้หวัดนกนั้น ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้องต้องยึดหลัก “เสรีภาพทางวิชาการ” (Academic Freedom) คือต้องทำให้มหาวิทยาลัยและแหล่งนักคิดด้านวิทยาศาสตร์สามารถนำเสนอความคิดเห็นของตนได้อย่างเสรี เพียงแต่ต้องนำเสนออย่างรับผิดชอบและเข้าใจถึงผลที่จะตามมา

อิทธิพลจากกลุ่มผลประโยชน์

ในสังคมไทยดังที่เป็นอยู่ เรามีกลุ่มคนหลากหลายที่ต่างมีผลประโยชน์ที่อาจไม่ตรงกัน หรือบางทีก็ขัดแย้งกันได้อย่างมากำ

ธุรกิจการเกษตร

กิจการด้านการเกษตรในประเทศ ดังเช่นกรณีการเลี้ยงสัตว์ ก็มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มผู้เลี้ยงไว้บริโภคในครัวเรือน อย่างเช่นการเลี้ยงไก่บ้าน ไก่ปล่อย หรือ กลุ่มทีเลี้ยงแบบไว้เพื่อการขายแต่เน้นตลาดในประเทศ ดังการเลี้ยงไก่ไข่ กลุ่มนี้ไม่ต้องการเลี้ยงในสภาพกรงปิด เพราะมีต้นทุนที่สูงทั้งด้านโครงสร้างโรงเรือน และค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่จะต้องไปปรับอุณหภูมิในโรงเรือนแบบปิดให้เย็นคงที่อยู่เสมอ

อีกส่วนหนึ่ง ต้องการเลี้ยงเพื่อการส่งออก ต้องมีมาตรฐานด้านการไม่ใช้วัคซีน และต้องผ่านการตรวจเชื้อโรคแบบปลอดโรคร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การให้สัตว์ปลอดโรคแบบร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นไม่สอดคล้องกับกลุ่มที่ต้องเลี้ยงแบบเป็นธรรมชาติมากกว่า และไม่มีโอกาสควบคุมโรคได้ นอกจากต้องใช้มาตรการป้องกัน
ราชการเองก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ ดังเช่นผลประโยชน์ด้านการเกษตร ทั้งในระดับชาติ ท้องถิ่น และเกษตรกรในระดับล่าง ที่ล้วนยังไม่ได้มองที่ขนาดของปัญหาและความเสี่ยงทางด้านอื่นๆ นอกเหนือจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ธุรกิจท่องเที่ยว

อุตสาหกรรม การส่งออก การผลิตอาหาร แรงงานในโรงงานแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอื่นๆ ที่ตามมา ความตระหนกในไข้หวัดนกมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่ตามมา แม้ไม่มากและรุนแรงเหมือนโรคซาร์สที่ได้ระบาดไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม หากมีการระบาดสู่มนุษย์ที่กว้างขวางเมื่อใด ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวก็จะยิ่งมากขึ้น และในประเทศไทยที่อาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก ผลกระทบจะยิ่งรุนแรงตามมา และอาจมีผลกระทบเชิงลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ผลกระทบด้านจิตวิทยา

ธุรกิจหลักมีสัดส่วนต่อผลผลิตมวลรวมของประเทศไม่เกิน 60,000 ล้านบาท จากทั้งสิ้น 3-5 ล้านล้านบาท แต่ในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 หุ้นได้ตกลงมาจาก 800 สู่ระดับต่ำกว่า 700 จุด ช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ประชาชนผู้บริโภคได้หยุดบริโภคไก่และไข่ไก่ ตลอดจนสัตว์ปีกทั้งหลาย และกว่าจะกลับมาบริโภคได้เหมือนเดิมก็ใช้เวลานับเป็นปี

ในทางกลับกัน เมื่อกลับสภาพมาเป็นเคยชินกับโรคไข้หวัดนก สิ่งที่จะตามมาคือ ความชะล่าใจในทางตรงกันข้าม คือกลับไปใช้ชีวิตเหมือนกับไม่สนใจในสภาพการระบาดอีก ทั้งๆ ที่มีการระบาดเกิดขึ้น เชื้อโรคได้พบในสัตว์ปีกแล้วทั่วประเทศ เกือบจะทุกจังหวัด เพียงแต่สัตว์ไม่ได้ล้มตายไปเป็นจำนวนมากๆ แต่ก็ต้องมีการกักบริเวณการเคลื่อนย้ายสัตว์ปี ดังที่ทราบกันอยู่

กลไกด้านภาษา

การระบาดของไข้หวัดนกเป็นการระบาดชนิดไม่มีพรมแดน นกป่า นกเป็ดน้ำสามารถบินข้ามเขตโดยไม่ต้องมีใบข้ามแดน ผู้ป่วยก็สามารถเป็นพาหะของโรคได้แบบข้ามพรมแดนด้วยการเดินทางที่รวดเร็ว ดังเช่นการเดินทางโดยเครื่องบิน การรับรู้ข่าวสารจำเป็นต้องมีการรับรู้แบบรวดเร็ว ข้อมูลสำคัญเป็นอันมากมีเป็นภาษาอังกฤษ แต่คนไทยมีขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษที่จำกัด รวมถึงนักวิชาการและนักวิจัยไทยที่ทำงานตามห้องทดลองต่างๆ จำนวนมากไม่มีความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ เพียงพอ จึงไม่ได้มีการติดตามข้อมูลโดยสากลอย่างใกล้ชิดเพียงพอ ดังจะเห็นได้จากการระบาดของไข้หวัดนกนั้น เขาหวั่นเกรงกันมาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ทั้งในยุโรป ฮ่องกง จีน และที่อื่นๆ มีการฆ่าสัตว์ปีกันนับเป็นหลายๆ สิบล้านตัวแล้วแต่ประเทศไทยประสบปัญหาแบบไม่สามารถเตรียมตัวทัน ไม่มีมาตรการป้องกัน

- ความจำเป็นและความสนใจที่จะต้องรู้ภาษาอังกฤษ เรียนรู้และเข้าใจข่าวสารล่าสุดอย่างทันกาล นักเรียนควรได้ถือโอกาสฝึกการอ่านข่าวสารจากต่างประเทศที่เกี่ยวกับโรคไข้หวัดนก โดยอาศัยกลไกข่าวผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีการ Update กันเป็นรายวัน และรายชั่วโมง

- ความจำเป็นในการต้องเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของไวรัส (Virus) และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับไวรัส

- ความจำเป็นในการมีมาตรการเฝ้าระวัง (Surveillances) ในคนที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับ นักเรียนในระดับมัธยมศึกษามีอยู่ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 4 ล้านคนจาก 6 ขั้นปี ควรมีระดับการรับรู้ที่ซับซ้อนและต้องใช้พื้นฐานความรู้ด้านชีววิทยาพอสมควรได้

No comments:

Post a Comment