Friday, May 1, 2009

หน่วยที่ 2. ความรู้เรื่องไข้หวัดนก

ความรู้เรื่องไข้หวัดนก

ประกอบ คุปรัตน์ (Pracob Cooparat)
ศึกษาและเรียบเรียง

มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard4Asia Foundation (SB4AF)
Tel: +66 2 3548254, +66 2 3548255
Fax: +66 2 3548255
Email: pracob@sb4af.org
Blogger: http://pracob.blogspot.com

หน่วยที่ 2. ความรู้เรื่องไข้หวัดนก

ไข้หวัดนกคืออะไร

ไข้หวัดนกเป็นไข้หวัดที่มีพบอยู่ 15 สายพันธุ์ แต่พันธ์ที่น่ากลัวและเป็นอันตรายที่สุด มีอยู่ 1 สายพันธุ์
ไข้หวัดนักมีคำอธิบายทางการแพทย์ที่ยากสำหรับคนทั่วไปจะเข้าใจ กล่าวคือ มันเกิดจากเชื้อไวรัส Avian Influenza type A ในตระกูล Orthomyxoviridae ซึ่งเป็น RNA ไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม โดยมีแอนติเจนที่ผิวที่สำคัญ ได้แก่ Hemagglutinin (H) มี 15 ชนิด และ Neuraminidase (N) มี 9 ชนิด แต่สายพันธุ์ย่อยชนิดที่ได้รับความสนใจและเฝ้าระวังมากที่สุดขณะนี้คือ H5N1. และด้วยความสามารถในการกลายพันธุ์ของเชื้อประเภทไวรัส สายพันธุ์ที่ว่านี้ก็ยังไม่แน่ว่าจะไม่กลายพันธุ์ต่อไป หรือเปลี่ยนจากการระบาดในไก่สู่คนและคนสู่คนต่อๆ และประสมกับเชื้อไวรัสไข้หวัด (Influenza) ที่มีในคนเดิมและกลายพันธุ์ต่อไปได้อีก และก่อให้เกิดความเสียหายต่อไปได้รุนแรงมากน้อยเพียงใด

หวัดและไข้หวัดใหญ่ต่างกันอย่างไร

โรคหวัดธรรมดา (Cold) ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) และโรคไข้หวัดนก (Bird Flu) มีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกัน และเป็นการยากสำหรับคนธรรมดาที่จะสามารถบอกอาการได้แต่เนิ่นๆ โดยดูแต่เพียงอาการอย่างเดียว โรคไข้หวัดใหญ่มีอาการทีรุนแรงกว่าโรคหวัดธรรมดา เช่นมีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเหนื่อยมากที่เป็นพิเศษ มีอาการไอแห้งๆและบ่อยครั้ง โรคหวัดจะมีอาการเหล่านี้น้อยกว่า คนเป็นหวัดทั่วไป จะมีอาการเพียงจมูกมีน้ำมูกไหล และโรคหวัดจะไม่มีผลต่อสุขภาพ เหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงที่ตามมา เช่น การติดเชื้อและเป็นปอดบวม ปอดอักเสบ ที่ต้องมีการรักษาที่โรงพยาบาล

โรคไข้หวัดนก (Bird Flu) เป็นโรคที่มีความรุนแรงกว่าทั้งสองโรคดังกล่าวมา

กิจกรรม
ความรู้เรื่องไข้หวัดนก
  1. เชื้อไวรัส Avian Influenza เท่าที่พบมีกี่สายพันธุ์
  2. เชื้อไวรัสไข้หวัดนกตัวที่อันตรายที่สุดคืออะไร
  3. ในปัจจุบันเชื้อโรคไข้หวัดนกมีการระบาดจากคนสู่คนแล้วหรือยัง
  4. ทำไมจึงมีความหวาดกลัวเกี่ยวกับไข้หวัดนกกันนักในหมู่นักการสาธารณสุข และนักระบาดวิทยา
อาการไข้หวัดนก

สำหรับผู้ป่วยเป็นไข้หวัดนกนั้น เมื่อติดเชื้อแล้ว เชื่อไวรัสนั้นจะมีระยะเวลาในการฟักตัวไม่นาน ประมาณ 1 ถึง 3 วัน ในคนอาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมีน้ำมูกไอและเจ็บคอ บางครั้งพบว่ามีอาการตาแดงซึ่งจะหายเองได้ภายใน 2 ถึง 7 วัน หากมีอาการแทรกซ้อนจะมีอาการรุนแรงถึงปอดบวมและเกิดระบบหายใจล้มเหลว (Acute Respiratory Distress Syndrome)ได้ โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีภูมิต้านทานพอ และผู้สูงอายุ หรือภูมิต้านทานลดลง

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคไข้หวัดนก เกิดจากไวรัส H5N1 สามารถติดเชื้อจาก ไก่ไปสู่คนแต่ไม่พบว่ามีการติดเชื้อจากคนไปยังคน โดยเชื้อมีระยะฟักตัวสั้น 1-2 วัน มักจะแสดงอาการของโรคทันที

อาการไข้หวัดนก ก็คล้ายๆกับไข้หวัดใหญ่ธรรมดา แต่จะมีอาการรุนแรงกว่า มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศรีษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อทั้งตัว อ่อนเพลียมาก ไอมาก จนเจ็บหน้าอก เจ็บคอ น้ำมูกไหล คัดจมูก หายใจลำบาก อาจมีอาการของระบบทางเดินอาหารแทรก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม

ความน่ากลัวของไข้หวัดนก ก็เพราะมันเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ธรรมดานี่แหละ ซึ่งคนที่ป่วยเป็นมาก ตอนเริ่มต้นอาจนึกว่าเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ต่อเมื่อเริ่มสงสัยเพราะอาการรุนแรง ก็จะสายไปเสียแล้ว
ไข้หวัดนกเพื่อปล่อยให้เป็นในระยะอันตรายแล้ว อัตราการตายจะสูงมาก ดังในกรณีที่พบในประเทศไทย และประเทศเวียดนามที่เมื่อมาพบแพทย์นั้น ก็ถึงขึ้นมีปัญหาด้านปอดอักเสบและเกิดระบบหายใจล้มเหลวแล้ว

การเฝ้าระวัง

เพื่อประโยชน์ทางด้านการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 21 มกราคม 2547 ได้กำหนดนิยามของผู้ป่วยเป็นไข้หวัดนกเอาไว้ เป็น 3 ระดับดังนี้

ระดับที่ 1 ผู้ป่วยที่สงสัย (Suspect) ได้แก่ ผู้ที่มีอาการหรืออาการแสดงต่อไปนี้

1. ไข้ (อุณหภูมิกายมากกว่า 38 ? C) ร่วมกับ
2. อาการอย่างใดอย่างหนึ่งอันได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ, ไอ, หายใจผิดปกติ (หอบ, ลำบาก), แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นปอดบวม ร่วมกับ
3. ประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วย/ ตาย โดยตรงในระยะ 7 วันที่ผ่านมา หรือมีการตายของสัตว์ปีกอย่างผิดปกติในพื้นที่ซึ่งอาศัยอยู่ เช่น ในหมู่บ้าน ในตำบล หรือ ตำบลใกล้เคียง

กิจกรรม

การเฝ้าระวัง (Surveillance)

  1. หากมีอาการป่วย จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา (Common Cold) ไข้หวัดใหญ่ (Fluenza) หรือ ไข้หวัดนก (Bird Flu)
  2. สำหรับแต่ละบ้าน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการป่วยระดับไหน จึงควรนำส่งแพทย์ เพราะถ้าป่วยเป็นหวัดธรรมดา แล้วนำส่งแพทย์ ก็จะทำให้มีงานล้น ซึ่งในช่วงดังกล่าว ควรจัดบริการให้เหมาะกับผู้ป่วยด้วย
  3. อาการอย่างไรที่คนในระดับนักเรียน เยาวชนทั่วไปพึงฝึกเผ้าระวังได้ ผู้ป่วยใดที่ต้องสงสัย (Suspect)
  4. อาการปอดบวม หรือปอดอักเสบนั้นจะสังเกตหรือเฝ้าระวังได้อย่างไร
ระดับที่ 2 ผู้ป่วยที่น่าจะเป็น (Probable) ได้แก่ ผู้ป่วยที่สงสัยตามนิยามข้างต้นร่วมกับการตรวจดังต่อไปนี้

1. ความผิดปกติของปอดที่ชัดเจนและมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่เลวลง แม้จะให้การรักษาด้วยยาปฎิชีวนะ (Broad Spectrum Antibiotics) ร่วมกับ
2. ได้ทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบการติดเชื้ออื่นที่จะอธิบายอาการป่วยได้

กิจกรรม

  1. ผู้ป่วยที่น่าจะเป็น (Probable) หมายถึงในระดับไหน
  2. หากพบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดนกแน่ชัดแล้ว (Confirm) ครอบครัว ผู้ใกล้ชิดควรมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร
ระดับที่ 3 ผู้ป่วยที่ยืนยัน (Confirm) ได้แก่ ผู้ป่วยที่น่าจะเป็นและมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติต่อไปนี้สนับสนุน

1. เพาะเชื้อพบ Influenza A ที่ไม่ใช่ H1 หรือ H2 หรือ H3
2. ตรวจ PCR ด้วยห้องปฏิบัติการมาตรฐานยืนยันว่าเป็น Influenza A ที่ไม่ใช่ H1 หรือ H2 หรือ H3
ในทางวิทยาศาสตร์ ยังไม่สามารถให้คำยืนยันชัดเจนแน่นอน เพราะต้องมีการทราบชัดถึงสายพันธุ์ที่แน่ชัดที่สุดได้ก่อน จึงจะรายงานการป่วยในฐานะ “ผู้ป่วยที่ยืนยัน” ได้ ซึ่งในทางปฏิบัติ อาจมีผู้ป่วยที่ได้ป่วยและถึงขั้นเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก แต่เมื่อยังไม่ได้เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน จะด้วยเหตุใด รายงานผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกจึงดูไม่สูง และด้วยเหตุนี้ จึงสร้างความสงสัยแก่ผู้คนได้มาก และตั้งคำถามไปถึงความจริงใจของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

กิจกรรม

กิจกรรมการเฝ้าระวัง
  1. กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน การกันหรือป้องกันในที่นี้หมายถึงอะไรบ้าง มีหลักอย่างไร การกิน
  2. การพักอาศัย
  3. การห่างไกลจากสภาพแวดล้อมเสี่ยง
  4. การตรวจพบอาการแต่เนิ่นๆ
  5. มียาอะไรที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดนก H5N1 ได้
  6. นปัจจุบันมีการระบาดที่ทำให้คนป่วยตายด้วยไข้หวัดนกแล้วหรือยัง – ติดตามได้จากข่าวหนังสือพิมพ์ และอินเตอร์เน็ต
  7. หากนับจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตในช่วงเวลา 10 ปีนี้จากไข้หวัดนก ก็ยังไม่มาก แต่ทำไมจึงมีการให้ความสนใจกันอย่างมาก
  8. มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกหรือไม่ เรารู้เรื่องไข้หวัดนกมานานแล้ว ทำไมจึงยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

No comments:

Post a Comment