Friday, May 1, 2009

หน่วยที่ 17. การแก้ปัญหาด้วยการสื่อสารเกี่ยวกับไข้หวัดนก

ประกอบ คุปรัตน์ (Pracob Cooparat)
E-mail: pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia



ภาพ โรคไข้หวัดนก (Bird Flu) เป็นโรคที่มีโอกาสระบาดระดับกว้างทั่วโลก 


ภาพ การซื้อขายสัตว์ปีกในแบบที่ไม่ได้มีมาตรการป้องกัน ดังในประเทศจีน หรือในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสิ่งที่สร้างความกังวลในด้านโรคระบาด ซึ่งทางที่ดีต้องใช้มาตรการระวังป้องกัน (Preventive measure) มากกว่าปล่อยให้เกิดแล้วค่อยหาทางแก้ไข

Keywords: ไข้หวัดนก, Bird Flu

หน่วยที่ 17. การแก้ปัญหาด้วยการสื่อสารเกี่ยวกับไข้หวัดนก

โรคไข้หวัดนกต้องการการแก้ปัญหาด้วยการป้องกัน มากกว่าการแก้ด้วยการไปรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นอันมากอาจสายเกินเกินแก้แล้ว
  • ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรค ดังเช่น ผู้เลี้ยงสัดว์ปีก มีวิธีการป้องกันตนเอง สามารถช่วยประชาชนโดยการติดตามเฝ้าระวัง เมื่อพบสัตว์ปีกตายจำนวนมากๆ ต้องแจ้งฝ่ายบ้านเมือง
  • ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ต้องสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดนก ซึ่งก็คล้ายกับโรคไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ได้มีโอกาสอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แต่เนิ่นๆ
  • ทำอย่างไรสื่อต่างๆ จึงจะสามารถให้ข้อมูลที่เหมาะสม แก่คนกลุ่มที่เหมาะสมได้อย่างถูกต้อง มีการเตรียมการ มีการป้องกันได้อย่างไม่ตระหนกเกินเหตุ และไม่ปล่อยให้ปัญหาหนักและบานปลายโดยชะล่าใจ การเลือกใช้สื่อเพื่อการสื่อสารจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง
ใครควรรับข้อมูลข่าวสารและอย่างไร

มีบุคคลหลายกลุ่มที่ควรได้รับข้อมูลข่าวสารด้านโรคไข้หวัดนก และรวมถึงโรคอื่นๆ ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป มีมาตรการที่ต้องระวังระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป

ประชาชนทั่วไปทั้งโลก มีความเสี่ยงน้อยต่อการติดโรค รวมถึงประชาชนคนไทยทั่วไป แต่เพราะคิดว่าไม่มีความเสี่ยงหรือเสี่ยงไม่มาก จึงมีปัญหาตามมาคือ ชะล่าใจ ไม่มีมาตรการเฝ้าระวังโรคอันเหมาะสม
อาชีพความเสี่ยงสูง มีประชากรบางส่วนบางอาชีพ ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องเสี่ยงมากกว่าคนอื่นๆ เช่น ผู้ทำงานด้านการคมนาคมขนส่ง พนักงานขับรถ ขับเครื่องบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน มีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าคนอื่นๆ และเมื่อป่วย มีโอกาสแพร่โรคให้กับคนอื่นๆ ต่อไปสูง อาชีพเลี้ยงสัตว์ปีก ฆ่าและขายสัตว์ปีก คนทำงานสวนสัตว์ คนที่มีสัตว์ปีกเป็นสัตว์เลี้ยงในครอบครัว เหล่านี้มีความเสี่ยงสูง ดังในกรณีหลังๆ นี้ อาชีพเลี้ยงเป็ดข้ามทุ่ง คือเลี้ยงเป็ด ซึ่งเป็นสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคที่มีความอดทนสูง รับเชื้อแล้วไม่มีอาการ หรือแสดงอาการช้า และเปิดเลี้ยงแบบปิดสามารถรับเชื้อจากนกป่า หรือเป็ดป่าที่บินข้ามประเทศมาได้ง่าย

เด็กๆ และเยาวชน มีการรับรู้ได้น้อย ไม่มีความระวัง อาจไปสัมผัสสัตว์ปีก หรือสัตว์อื่นๆ ที่อาจป่วย นอกจากนี้คือเรื่องของภูมิต้านทานโรคที่น้อยของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กทารกและเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ต้องเป็นฝ่ายเฝ้าดูและต้องมีการศึกษาและความรู้เหล่านี้

กิจกรรม

มีสัตว์ปีกอะไรบ้างที่เป็นสัตว์เลี้ยงที่เด็กๆ ชอบอยู่ใกล้และสัมผัสอย่างใกล้ชิด

- ไก่ชน
- ไก่แจ้
- นกพิราบ
- นกเขา

ผู้เลี้ยงสัตว์ปีก กลายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง และต้องมีความรับผิดชอบเฝ้าระวังเป็นอันดับแรกๆ คนที่รู้ว่ามีสัตว์ป่วยแล้วไม่แจ้งให้ทางการทราบ หรือ แจ้งช้าเพราะกลัวถูกต้องให้ทำลายสัตว์ปีกทั้งเล้า แต่ผลเสียที่ตามมาจะยิ่งหนักหนา และเป็นความผิดทางอาญา กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการข้อมูลที่ลึก ต้องรู้เรื่องผลกระทบ และต้องมีการรายงานผลได้อย่างฉับไว

กิจกรรม

สัตว์ปีกในกลุ่มที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังคืออะไรบ้าง

  • การเลี้ยงเป็ดแบบไล่ทุ่ง
  • การเลี้ยงนกกระจอกเทศ นกกระจอกเทศเป็นสัตว์ปีกเหมือนกัน มีความเสี่ยงสูงในการติดโรคมากน้อยเพียงใด
  • การแพร่เชื้อโรคโดยยุง หากอยู่ในบ้านเดียวกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดนก ยุงที่อาจไปกัดคนเป็นไข้หวัดนกแล้วไปแพร่เชื้อต่อได้หรือไม่
  • อาสาสมัครสาธารณสุขผู้เฝ้าระวัง กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่ามีผู้ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครด้านสาธารณสุขประมาณ 900,000 คน คนเหล่านี้จะมีความรู้ขั้นพื้นฐานที่สูงกว่าประชาชนทั่วไป การให้การศึกษาที่เหมาะสมแก่คนเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลเฝ้าระวังไข้หวัดนก และโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจมาจากคนสู่คน และคนสู่สัตว์ได้
การใช้สื่อที่เหมาะสม

การสื่อสารเพื่อการสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนต้องมีการสื่อสารที่เหมาะสม

โรคไข้หวัดนกเป็นโรคระบาดที่มีความรุนแรงและรวดเร็ว การสื่อสารก็ต้องให้มีความถูกต้องของข้อมูล ต้องรวดเร็ว ต้องสื่อสารได้ตรงกลุ่มคนเป้าหมาย โดยไม่มีปัญหาด้านข้อมูลล้า (Information Overload) ทำให้คนที่ควรจะได้รับข้อมูลไม่ได้ข้อมูล แต่คนที่ไม่จำเป็นต้องรับข้อมูลกลับได้รับข้อมูลที่เป็นส่วนเกินไป
สื่อมีได้หลายแบบ แต่ละแบบมีข้อดีและข้อจำกัดที่จะใช้

วิทยุและโทรทัศน์

วิทยุและโทรทัศน์เป็นสื่อของราชการเป็นของรัฐเกือบทั้งหมด

มีข้อดีในการสื่อสาร คือ เป็นสื่อที่มีความรวดเร็ว ราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับการรับรู้ข่าวสาร
มีข้อจำกัดในด้านการสื่อสาร คือ การให้ข้อมูลแก่กลุ่มคนที่ไม่สอดคล้องกับความสนใจและความจำเป็น ข้อมูลที่ต้องออกอากาศนั้น อาจเป็นการส่งข้อมูลที่ไม่จำเป็นไปสู่กลุ่มคนนั้นๆ ซึ่งเขาอาจไม่สนใจ กลายเป็นข้อมูลล้น หรือ “ข้อมูลรกหูรกตา”

ในทางเทคนิค ไม่สามารถจำกัดการรับรู้ได้มากนัก (Beaming) ในกรณีของการแพร่ข่าวทางโทรทัศน์ แต่ในกรณีของวิทยุที่มีอยู่หลายสถานีนั้นสามารถเน้นกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น

จะยิ่งดียิ่งขึ้นถ้มีระบบวิทยุชุมชน (Community Radio) ที่สามารถมีได้เป็นนับพันสถานี ข้อมูลที่จะส่งไปถึงประชาชนและกลุ่มเป้าหมายก็จะชัดเจนตรงประเด็น ตรงกลุ่มได้มากยิ่งขึ้น ในการนี้มีเทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสมและราคาถูก ที่สามารถทำให้เกิดวิทยุชุมชนได้ด้วยค่าใช้จ่ายไม่แพง ประชาชน และกลุ่มคนต่างๆ ที่รวมตัวกันสามารถมีวิทยุเพื่อการสื่อสารภายในชุมชนนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด

สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์

หนังสือพิมพ์ จัดเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีงานวิจัยระบุว่ามีผลถึงประชาชนมากที่สุด และในกรณีของความเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ จัดเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่นำเสนอได้เร็วที่สุดในระดับวันต่อวัน

มีข้อดีด้านการสื่อสาร คือ ราคาไม่แพง เพราะมีผู้โฆษณาจ่ายค่าใช้จ่ายไปส่วนหนึ่งแล้ว ประชาชนสามารถเลือกที่จะบริโภคได้ในราคาไม่แพง เลือกรับข่าวสารได้ ช่วงใดที่มีสิ่งน่าสนใจ คนอ่านก็จะซื้อหรือหาอ่าน หากมีข่าวใดไม่น่าสนใจหรือเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ ก็เลือกที่จะไม่อ่าน

มีข้อจำกัดด้านการสื่อสาร คือ ความไม่สามารถสื่อสารได้อย่างเหมาะสม จัดเป็นสื่อสารมวลชน (Mass Communication) เป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับการขายข่าว ต้องมีข่าวหรือทำให้ข่าวน่าสนใจ น่าตื่นเต้น จนบางครั้งรัฐบาลมองว่าขายข่าว ไม่ได้ให้ข้อมูลทุกด้านอย่างตรงไปตรงมา

สื่ออินเตอร์เน็ต

ข้อดีในการสื่อสาร คือ สื่ออินเตอร์เน็ต สามารถติดตามข้อมูลด้านโรคต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง และทันท่วงทีและกว้างไกลทั่วโลก มีผู้ใช้ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี .ค.ศ. 2005 คาดว่ามีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกว่า 900 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณร้อยละ 12-13 ของประชากรโลก ในประเทศไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 6.5-8 ล้านคน และอาจเพิ่มเป็น 20-25 ล้านคนได้ในไม่ช้านี้

ข้อจำกัดในการสื่อสาร คือ สื่ออินเตอร์เน็ตในประเทศไทยยังไม่มีผู้ใช้ที่มากพอ โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มเสี่ยง คนที่เสี่ยงคือคนที่มีการศึกษาน้อยกว่า และไม่มีพื้นฐานความรู้ตลอดจนอยู่ในสถานทีๆ ปัจจุบันยังไม่สามารถหาคอมพิวเตอร์ที่มีระบบติดต่อกับอินเตอร์เน็ตได้อย่างสะดวก บุคคลในกลุ่มเกษตรกร หรือแม้แต่ข้าราชการที่ต้องทำหน้าที่ดูแลด้านการเกษตร ก็ยังไม่มีโอกาสใช้งานระบบอินเตอร์เน็ต จำเป็นต้องใช้ผ่านบุคคลอื่นๆ ที่จะสื่อต่อถึงเขาอีกที่หนึ่ง

สิ่งที่เราจะพบเห็นต่อไปนี้ คือ การที่จะต้องเน้นไปที่นโยบาย Last mile, high speed นั่นคือ การทำให้อินเตอร์เน็ตถึงประชาชนได้กว้างขวางที่สุด และช่วงสุดท้าย คือถึงประชาชนกลุ่มทั่วไปนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และอีกด้านหนึ่งคือ การทำให้อินเตอร์เน็ตต้องมีความเร็วในการสื่อสาร และส่งสารที่มีจำนวนและคุณภาพของความเป็นสื่อสมบูรณ์ คือต้องมีภาพ เสียง และภาพเคลื่อนไหวได้มากและทั่วถึงกว่าปัจจุบัน

การเรียนการสอนในชั้นเรียน

การสื่อสารด้านสุขภาพและการดูแลด้านสุขภาพประชาชนนั้น สามารถกระทำได้โดยอาศัยประโยชน์จากระบบการศึกษา ด้วยเหตุที่

  • ในประเทศไทยมีโรงเรียนกระจายตัวเองอยู่ทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่ง
  • ระบบการศึกษามีครูอาจารย์ในระบบประมาณ 600,000 คนกระจายทั่วประเทศ และเขาจะมีโอกาสพบปะกับนักเรียนในช่วงเปิดการเรียนการสอนอีกประมาณ 9 ล้านคนทั่วประเทศ
  • ครูอาจารย์โดยทั่วไป เป็นผู้มีความรู้พื้นฐานที่ดีพอ ที่จะเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลต่อไป ครูบางส่วนที่ต้องทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพ การอาชีพ วิทยาศาสตร์ เหล่านี้จะมีส่วนในการให้ความรู้แก่นักเรียนที่ตรงจุดยิ่งขึ้น
  • ในระบบการศึกษายุคใหม่ อยู่ในช่วงที่ต้องใช้การสื่อสารใหม่เพื่อการเรียนรู้ โดยใช้อินเตอร์เน็ตและเครือข่ายภายในช่วย (Computer-Based Education, E-learning) ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ระบบโรงเรียนทุกแห่งจะต้องมีระบบอินเตอร์เน็ตใช้งาน
ข้อจำกัด

แต่ระบบการศึกษาเองก็มีข้อจำกัด

  • ครูทั้งหลายมีปัญหาลักษณะบทบาทล้น ทุกฝ่ายอยากทำอะไร ก็จะมาลงให้ครูทำหน้าที่เผยแพร่ และท้ายสุดนักเรียนก็จะได้รับเพียงปริมาณหนึ่ง หากมากกว่านั้น ก็จะไม่สามารถรับได้ หรือสื่อสารได้
  • ครูโดยทั่วไปในปัจจุบันยังไม่มีความรู้ความสามารถด้านการใช้อินเตอร์เน็ตเพียงพอ ระบบอินเตอร์เน็ตปัจจุบันยังเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ยังต้องมีการปรับปรุงการใช้งานด้านการสื่อสารผ่านเครือข่ายให้มากกว่านี้ และดีกว่านี้
  • การใช้ระบบการเรียนการสอนใหม่ที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตช่วยนั้นนับเป็นศักยภาพที่น่าสนใจ และมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง แต่ทั้งหมดยังต้องอาศัยช่วงของการพัฒนาอีกสักระยะหนึ่ง

No comments:

Post a Comment