ศึกษาและเรียบเรียง
มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard4Asia Foundation (SB4AF)
Tel: +66 2 3548254, +66 2 3548255
Fax: +66 2 3548255
Email: pracob@sb4af.org
Blogger: http://pracob.blogspot.com
Keywords: ไข้หวัดนก (Bird Flu)
ประวัติการระบาด
มันมีการระบาดได้อย่างไร
โรคไข้หวัดนกมีการระบาดจากนกสู่นก หรือสัตว์ปีกทั้งหลาย และจากสัตว์ปีกที่มนุษย์เลี้ยง อาจกลายไปสู่คน และจากคนสู่คนได้ นกโดยธรรมชาติ มีการย้ายถิ่น เวลาหน้าร้อน อากาศทางซีกโลกเหนืออบอุ่น บริเวณเหล่านั้นจะมีความอุดมสมบูรณ์ พวกนก ก็จะหากินอยู่ทางเหนือ แต่เวลาอากาศหนาว ก็จะอพยพย้ายถิ่นลงใต้ มาอยู่ในแถบทีเรียกว่าเขตร้อน (Tropical Zone) ดังในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าอากาศในประเทศดังกล่าวมีความหนาวเย็นมากกว่าทุกปี สัตว์ปีกเหล่านี้ก็จะใช้ชีวิตอยู่นานกว่าจะย้ายกลับไปในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว ในการระบาดแต่เดิมเชื่อกันว่าไม่สามารถระบาดสู่คนได้ง่ายนัก แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้เริ่มพบว่ามีการระบาดจากสัตว์ปีมาสู่คนได้ แม้ไม่ง่ายนัก แต่เมื่อระบาดสู่คนแล้ว ยากที่จะควบคุมได้ เพราะมีความสามารถในการกลายพันธุ์ เมื่อมีการประสมกับสายพันธุ์ไวรัสในคนที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งทำให้การเฝ้าระวังยิ่งเป็นไปได้ยาก ไม่เหมือนกับโรคซาร์ส ที่เป็นการระบาดระหว่างคนสู่คนอย่างค่อนข้างชัดเจน
การระบาดของไข้หวัดนก หรือในรูปของโรคไข้หวัดที่เรียกว่า Influenza ที่มีไปสู่คนในแต่ละครั้งก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตคน และเศรษฐกิจอย่างมากมาย ในรอบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมามีการระบาดของไข้หวัดนกทั่วโลกหลายครั้ง
ในช่วงการระบาดระยะแรกๆ เมื่อนับเป็นร้อยปีมาแล้วนั้น ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับไวรัสยังไม่มาก การจะพิสูจน์ทราบความแน่ชัดของสายพันธุ์ไวรัสในระยะนั้นคงยังไม่มีดังเช่นในปัจจุบัน ในระยะนั้นจึงยังไม่ได้เรียกชัดว่าเป็นไข้หวัดนก หรือไข้หวัดใหญ่
เริ่มเมื่อ ค.ศ. 1918
ปี ค.ศ.1918 มีการระบาดที่เรียกว่า Spanish Flu ได้เกิดการระบาดของไข้หวัดนกซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากมาย ประมาณว่าเกิดการติดเชื้อร้อยละ 20-40 ของประชากรโลก และมีผู้เสียชีวิต 40-50 ล้านคน เฉพาะในประเทศอเมริกามีผู้เสียชีวิตไป 500,000 คน คนที่เป็นโรคจะมีอายุ 20-50 ปี ซึ่งจัดว่าเป็นคนที่มีความแข็งแรงอยู่แล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวจัดว่าเป็นระยะสงครามโลกครั้งที่ 1 การระบาดดูเหมือนจะเป็นไปกับทหารได้รับเชื้อโรค และเมื่อเดินทัพไปในที่ต่างๆ ก็นำเชื้อโรคระบาดตามไปด้วย และเมื่อเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของตน ก็นำเชื้อเหล่านั้นไปแพร่หลายต่อไป
ในช่วงการระบาดเมื่อเกือบร้อยปีมาแล้วนั้นได้ทราบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ (Influenza) อันเกิดจากไวรัส แต่ด้วยเหตุของความรู้และความก้าวหน้าด้านไวรัสวิทยายังไม่มากและลึกซึ้งพอที่จะเข้าใจสายพันธุ์ของไวรัสนั้น แต่ได้มีผู้พยายามใช้ระบบการสืบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าในปัจจุบันเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการระบาดในครั้งนั้น (ค.ศ. 2005)
รอบ 50 ปีที่ผ่านมา
ปี ค.ศ.1957 หรือประมาณ 40 ปีให้หลัง มีการระบาดที่เรียกว่า Asian Flu ใน เดือนกุมภาพันธ์ได้มีการระบาดของไข้หวัดนกที่ทางตะวันออกไกล การระบาดครั้งนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าครั้งแรก เนื่องจากมนุษย์มีความรู้เพิ่มขึ้น และสามารถผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ มีผู้ให้ความเห็นว่าแหล่งระบาดน่าจะมาจากทางประเทศจีน การระบาดครั้งนี้นับว่าเป็นการระบาดที่กว้างไกลไปทั่วโลก จากจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิต 100,000 คน จำนวนถึงร้อยละ 70 หรือประมาณ 70,000 คน ที่เป็นกรณีที่เสียชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกา โรคได้ระบาดจนถึงเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน และหยุดระบาดเดือนธันวาคม แต่มีการระบาดหลงเหลืออยู่เล็กน้อยอีกในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ในปี 1958
ปี ค.ศ. 1968 เกิดการระบาดที่เรียกว่า Hong Kong Flu เริ่มต้นระบาดที่ฮ่องกง และลามไปทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 700,000 คน แต่ความเสียหายไม่รุนแรงเหมือนเมื่อปี ค.ศ. 1918-1919 เนื่องจากเชื้อตัวนี้มีลักษณะคล้าย Asian Flu ประชากรมีภูมิคุ้มกันบางส่วนหลงเหลืออยู่ และมีการดูแลรวมทั้งยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่ดีขึ้น
ปี ค.ศ.1976 มีการระบาดที่เรียกว่า Swine Flu Scare คือจัดว่าเป็น “ความตระหนก” ว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกจะมีการข้ามสายพันธุ์ไปสู่หมู คือได้มีการค้นพบเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่เมือง Fort Dix ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าจะเกิดการระบาดใหญ่และเกิดความเสียหายเหมือนที่ได้เกิดขึ้นในประเทศสเปน (Spanish Flu) แต่เชื้อก็ไม่ได้ระบาดออกนอกเมือง และไม่ได้มีผลการระบาดที่รุนแรง
จะเห็นได้ว่าในบางครั้งเขาใช้คำว่า Scare หรือแปลความได้ว่า “ความตระหนก” หรือความ “ความหวาดกลัว” เพราะบางทีก็วิตกกันอย่างมาก แต่ผลในเชิงเจ็บป่วยล้มตายยังไม่มาก
ปี ค.ศ.1977 มีเหตุการณ์ที่เรียกว่า Russian Flu Scare จัดได้ว่ามีความตระหนกและหวั่นวิตกมาก โดยได้มีการระบาดของเชื้อ Influenza สายพันธุ์ A/H1N1 เกิดการกระจายไปทั่วโลก เป็นมากในคนอายุน้อยกว่า 23 ปีเนื่องจากผู้ที่มีอายุมากกว่า 23 ปีมักจะมีภูมิต่อเชื้อไวรัส Asian Flu แต่ไม่ได้มีรายงานผู้เสียชีวิตปรากฎมากนัก
ปี ค.ศ.1977 เกิดเหตุการณ์น่าวิตกที่เรียกว่า Avian Flu Scare เกิดการระบาดของไข้หวัดนก Avian A/H5N1 flu virus ทำให้มีคนติดเชื้อ 18 คนเสียชีวิต 6 คนติดเชื้อนี้จากไก่ แทนที่จะติดจากหมูเหมือนอดีต ยังไม่มีรายงานว่าคนติดจากคน
ปี ค.ศ. 1983 ได้มีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธ์ H5 ทำให้มีสัตว์ตายหรือถูกฆ่าตาย 17 ล้านตัว
ปี ค.ศ. 1997 ได้มีการระบาดไข้หวัดนกสายพันธ์ H5N1สู่คนที่ประเทศฮ่องกงทำให้มีคนเสียชีวิตไป 6 คนและป่วย 18 คนและสัตว์ตายหรือต้องทำลายไปไป 1.5 ล้านตัว การระบาดดังกล่าวมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าต้นตอน่าจะมาจากทางประเทศจีน ในการระบาดดังกล่าวทำให้ต้องมีการทำลายสัตว์ปีกทั่วทั้งเกาะฮ่องกง รวมถึงทำให้ต้องปิดตลาดสัตว์ปีกเป็น ซึ่งเกรงว่าจะเป็นแหล่งแพร่ระบาดโรคได้
ปี ค.ศ. 1999 ได้มีการระบาดไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N1 ที่ประเทศอิตาลีได้มีการทำลายไก่งวงไป 30,000 ตัว
ปี ค.ศ. 1998 ในช่วงเดือนได้มีการระบาดไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 ในช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ.
1997-มกราคม ค.ศ. 1998 ได้มีการระบาดของไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 เกิดขึ้นใน 8 เขตทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี แต่เชื้อดังกล่าวได้มีการวิเคราะห์กันว่าไม่ใช่เชื้อที่จะระบาดในหมู่มนุษย์
โดยรวมมีข้อสังเกตว่า การระบาดในช่วงหลังนี้ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ก้าวหน้า และมีการติดตามรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความเข้าใจในอาการของโรค เข้าใจสาเหตุพื้นฐานที่ก่อให้เกิดโรค และมีกลไกในการป้องกันการระบาดระหว่างประเทศมากขึ้น ความเสียหายในด้านชีวิตยังไม่มาก เมื่อเทียบกับการระบาดเมื่อปี ค.ศ. 1918-1919 แต่ผลกระทบต่อทางสังคมและเศรษฐกิจกลับมีมากอย่างกว้างไกล
กิจกรรม
การตอบคำถามลงใน Website ที่กำหนด
- ทำไมจึงมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับไวรัสที่ระบาดในสัตว์ประเภทหมู สุนัข หรือแมว
- การระบาดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เป็นการระบาดที่มีผลต่อเศรษฐกิจ และการต้องทำลายสัตว์ปีก ใช่หรือไม่
- การระบาดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีผลกระทบทำให้ผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เราควรลดความสำคัญของโรคไข้หวัดนก (Bird Flu) ลงหรือไม่
การระบาดในช่วงล่าสุดในโลกทั้งทางทวีปยุโรป และเอเชีย คือช่วงตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการระบาดที่กว้างขวางที่สุด คาดว่าจะต้องมีการทำลายสัตว์ปีกไปไม่น้อยกว่า 80 ล้านตัว และการระบาดครั้งนี้กระทบต่อประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่เนื้ออันดับต้นๆ ของโลก และกระทบต่อความรู้สึกของคนภายในประเทศอย่างกว้างขวางมากมาย ซึ่งโดยรายงานมีดังต่อไปนี้
เดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2003 ได้มีการระบาดไข้หวัดนกสายพันธ์H5N1 ที่ฮ่องกง และมีรายงานเป็นครั้งแรกว่าคนติดเชื้อไข้หวัดนกโดยการติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน และมีผู้เสียชีวิต 1 คน
ปี ค.ศ. 2003 ได้มีการระบาดที่ประเทศฮอลแลนด์เป็นเชื้อสายพันธ์ H7N7มีนกตายไป 28 ล้านตัว และมีคนติดเชื้อไขหวัดนก 83 คนเสียชีวิต 1 คน อาการป่วย มีที่ได้รับเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบที่ตา
กิจกรรม
เรื่องที่เด็กๆ และเยาวชนสนใจ และควรรู้
- การระบาดในระดับที่ต่อเนื่องทุกปี และยาวนานดังปรากฏในปัจจุบันนี้ สมควรมีการทบทวนนโยบายการเลี้ยงสัตว์ปีก และการส่งสินค้าประเภทไก่สดไปต่างประเทศอย่างไรบ้าง
- กุ้งสดแช่แข็ง จะมีโอกาสการระบาดของไข้หวัดนกได้เช่นไก่สดแช่แข็งหรือไม่
- เมื่อพบว่ามีการระบาดของไข้หวัดนกในไก่ หรือเป็ด ทำไมจึงใช้นโยบายทำลายด้วยการฝัง
- เมื่อมีไก่หรือเป็ดตายด้วยไข้หวัดนก หรือต้องการทำลายเพื่อตัดตอน ทำไมไม่ใช้นโยบายต้มให้สุกแล้วแจกให้ชาวบ้านกิน คนไทยก็ขาดอาหารโปรตีน เห็นบอกว่าต้มสุกแล้วปลอดภัย
- ทำไมการระบาดของไข้หวัดนกจึงมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวในประเทศไทย คือช่วงเดือนเริ่มต้นที่กันยายน – กุมภาพันธ์ ของปีต่อไป
- โรคไข้หวัดนกระบาดหน้าร้อนได้หรือไม่
เดือนมกราคม ค.ศ. 2004 ได้มีการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธ์ H5N1 ได้มีการทำลายสัตว์ไป 70,000 ตัวเด็กติดเชื้อ 13 คน ผู้ใหญ่ติดเชื้อ 1 คน มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 12 คนเป็นผู้ใหญ่ 1 คนและเด็ก 11 คนผู้เสียชีวิต 3 คนมีเชื้อไข้หวัดนก ผู้ป่วย 5 คนเป็นญาติกับผู้ที่เสียชีวิต ความกังวลของ WHO เชื้อนี้จะมีการกลายพันธ์สูง และได้รับพันธุกรรมจากเชื้อไข้หวัดที่เกิดในคน องค์การอนามัยโลกเกรงว่าหากควบคุมไม่ดีจะเป็นการเริ่มการระบาดครั้งใหญ่ของไข้หวัด
มีนักวิทยาศาสตร์จาก New Scientist สงสัยว่าได้มีการระบาดมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยข้อเท็จจริง คาดว่าน่าจะได้มีการระบาดมาตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2003 และอาจจะเป็นที่ประเทศจีน ประเด็นปัญหาอาจเป็นเรื่องของการปิดบังข้อมูลจากระบบราชการในประเทศจีนเอง และประกอบกับการเลี้ยงไก่และสัตว์ปีกแบบเปิดและเสี่ยงต่อการแพร่ขยายของโรคระบาด ที่ทำให้การระบาดมีความรุนแรง มีการฟักตัวโดยที่ไม่มีระบบเฝ้าระวังที่ดีพอ
การระบาดช่วงต้นปี ค.ศ. 2004 ได้มีรายงานการพบไข้หวัดนกใน 10 ประเทศเป็นอย่างน้อยได้แก่
ประเทศจีน
ในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2004 รายงานจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระบุว่าประเทศจีนได้กลายเป็นประเทศที่ 10 ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีกของประเทศ
ประเทศปากีสถาน
BBC News UK Edition Monday, 26 January, 2004, 09:27 GMT
รายงานข่าวจาก BBC ประเทศสหราชอาณาจักร ได้รายงานในวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 2004 ว่าประเทศปากีสถานได้พบสายพันธุ์ของไข้หวัดนก ซึ่งสร้างความไม่สบายใจต่ออุตสาหกรรมไก่เนื้อในประเทศอย่างมาก บริเวณที่พบคือทางอ่าวด้านใต้ของเมืองการาจี ทางการของปากีสถานได้เสนอให้มีการทำลายสัตว์ปีในบริเวณดังกล่าว
แต่จากรายงานที่ได้เปิดเผยคือเชื้อที่พบนั้นเป็นตระกูล H-7 และ H-8 ซึ่งกล่าวว่าไม่มีความรุนแรงเหมือนในสายพันธุ์ H-5N1 ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนี้ และกระทรวงเกษตรของปากีสถานได้กล่าวว่า ไม่มีปรากฏว่าสายพันธุ์ดังกล่าวสามารถแพร่พันธุ์สู่มนุษย์ได้
ประเทศบังคลาเทศ
วันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2004 ข่าวจาก News.com.au จากผู้สื่อความในเมือง Dhaka ทางการของประเทศบังคลาเทศได้รายงานว่าได้พบไก่ที่เลี้ยงไว้จำนวนนับพันๆ ตัวได้ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ทางการยืนยันว่าไม่ใช่ไข้หวัดนก แต่อย่างไรก็ตามบังคลาเทศก็ได้สั่งห้ามสัตว์นำเข้าไก่และไข่ไก่จากประเทศอินเดีย ปากีสถาน ไทย เวียตนาม กัมภูชา ไต้หวัน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลี เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการระบาดของโรคหวัด ซึ่ง ณ เวลานี้ได้มีคนเสียชีวิตแล้วจากไวรัสดังกล่าว และมีการทำลายไก่ไปแล้วหลายสิบล้านตัวทั่วเอเชีย
ประเทศอินโดนีเซีย
วันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 2004 ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่เจ็ดที่ได้รับการยืนยันว่ามีโรคไข้หวัดนกระบาด และความน่ากลัวคือ ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ยังไม่มีมาตรการทำลายสัตว์ที่ป่วย และยังมีการจำหน่ายและบริโภคสัตว์ที่ตายไป
ประเทศไต้หวัน
ในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2004 ข่าวจาก Reuters ผ่านทาง Planet Ark ได้ระบุว่าไต้หวันพบมีฟาร์มแห่งที่สอง ที่มีไวรัสไข้หวัดนกอย่างอ่อนระบาด และทำให้ต้องมีการฆ่าไก่ไป 35,000 ตัว และมีการตรวจหาเชื้อทั่วทั้งเกาะ แต่จากรายงานระบุว่าเชื้อที่พบนั้นเป็นสายพันธุ์ H5N2 เป็นการระบาดใน 2 ฟาร์มทางตอนกลางและใต้ของไต้หวัน ซึ่งโรคดังกล่าวไม่อาจกลายพันธุ์ไปสู่การระบาดในมนุษย์ดังในกรณีของ H5N1 ซึ่งได้มีการคร่าชีวิตคนไปแล้วในประเทศเวียดนาม 4 ราย
ประเทศญี่ปุ่น
ในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2004 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่าได้มีการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศญี่ปุ่น และยังไม่สามารถระบุแหล่งต้นตอได้ว่ามาจากที่ใด และในเวลารายงานข่าว รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นได้หาทางสกัดการระบาดดังกล่าวอยู่ ในเวลาดังกล่าวนี้ก็ได้มีการค้นพบเชื้อวัวบ้าในวัวที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น นับว่าเป็นความวิตกที่ทำให้มีอาหารโปรตีนที่คนจะบริโภคได้อย่างมั่นใจน้อยลงไปอีก เพราะประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้มีการสั่งห้ามนำเข้าไก่เนื้อทั้งหมดจากประเทศที่มีไวรัสไข้หวัดนกระบาด
ประเทศเกาหลี
ในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 2003 ได้มีรายงานจากเกษตรกรชาวเกาหลีใต้รายงานว่ามีเป็ดที่สงสัยว่าจะได้รับเชื้อไข้หวัดนก ในขณะที่ทางการได้พยายามอย่างยิ่งที่จะตรวจหาลักษณะของเชื้อดังกล่าว ซึ่งได้พบว่าได้มีการระบาดในฟาร์มเป็ดในทางตอนใต้ของจังหวัด Cholla ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเป็ดหลักประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศที่มีอยู่กว่า 8 ล้านตัว
กระทรวงเกษตรของเกาหลีใต้ได้กล่าวว่าได้ทำลายไก่และเป็ดไปแล้วครึ่งหนึ่งของเป้าหมาย 1 ล้านตัว และในจำนวนนี้รวมถึงไก่ที่ตายทันทีด้วยโรคหลายพันตัว สำหรับคนนั้นได้มีผู้อยู่ในกลุ่มสงสัยได้รับเชื้อ 19 ราย และกำลังอยู่ในระหว่างการตรวจหาเชื้อ
เขตการปกครองฮ่องกง
ได้มีรายงานว่า ในวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 2003 ได้มีการรับเด็กชายอายุ 5 ขวบได้รับเชื้อไข้หวัดนก และเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ได้คร่าชีวิตชาวฮ่องกงไป 6 คนในช่วงปี ค.ศ. 1997 เด็กได้ป่วยมาตั้งแต่ปลายเดือนก่อน แต่เมื่อรับเข้ามาและพักรักษาตัวได้ 2 วัน ก็ได้มีการส่งกลับบ้านไป
ประเทศกัมพูชา
ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2004 หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ในประเทศไทยได้รายงานว่ากระทรวงเกษตรประเทศไทยได้สั่งห้ามนำเข้าไก่จากประเทศกัมพูชา ซึ่งสงสัยว่าจะมีไข้หวัดนกระบาดอยู่ในบริเวณกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศ
ประเทศลาว
ในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2004 สำนักข่าว AP ในกรุงเทพมหานคร ได้รายงานว่า ลาวจัดเป็นประเทศที่ 9 ที่ได้พบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก โดย นายสิงคำ พูนวิสัย อธิบดีกรมปศุสัตว์ของลาว ได้รายงานผลพิสูจน์จากห้องทดลองในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และมีผลเป็นบวก 1 ราย ทางการลาวได้ให้มีการตรวจทางห้องแลบเมื่อพบว่ามีไก่จำนวนหลายร้อยตัวในเขตรอบๆ กรุงเวียงจันทร์ได้ตายลงอย่างผิดสังเกต
ประเทศเวียดนาม
ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2547 ข่าวจาก AP จากกรุงฮานอยได้รายงานว่า ประเทศเวียดนามได้รับว่ามีการระบาดของโรคไข้หวัดนก และไก่จำนวน 900,000 ตัว ที่อาจติดเชื้อ แต่ได้มีการนำไปขายในตลาด และโรคดังกล่าวอาจระบาดมาในบริเวณใกล้กับไทย และทางการเวียดนามได้มีการขอความช่วยเหลือด้านผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศแล้ว
สรุปได้ว่าการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก และการแพร่เชื้อโรคสู่มนุษย์ในช่วงกลางปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมาจนถึงต้นปี ค.ศ. 2004 นั้นเป็นการระบาดที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง และแน่นอนว่ามันจะยังมีผลต่อไปอีก จนกว่าจะมีมาตรการป้องกัน และดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังทั่วโลก
ในการระบาดในช่วงปี ค.ศ. 2005 นี้ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่นเดียวกับอีกหลายแห่งและในหลายทวีปทั่วโลก รวมทั้งในรัสเซียและอัฟริกา สำหรับประเทศไทยได้ระบุว่าเป็นการระบาดอย่างยืดเยื้อ และมีเชื้อโรคฝังตัวอยู่ในระดับท้องถิ่นแล้ว
(ตุลาคม พ.ศ. 2548)
No comments:
Post a Comment