ประกอบ คุปรัตน์
แปลและเรียบเรียง
Keywords: Cw117 ประเทศมาเลเซีย ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ
- ความนำ
- ข้อมูลสำคัญ
- แผ่นดินและประชาชน
- เศรษฐกิจ
- รัฐบาล
- ประวัติศาสตร์
- การศึกษา
- รายชื่อสถาบันอุดมศึกษา
- บรรณานุกรม
ความนำ
ประเทศมาเลเซียได้ก่อตั้งเป็นประเทศในลักษณะระบบสหรัฐ มีพื้นที่ 332,633 ตารางกิโลเมตร อยู่ในทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเมืองหลวงอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการบริหารและเศรษฐกิจไปด้วย
ความน่าสนใจ คือมาเลเซียเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งในรุ่นแรกของ ASEAN เช่นเดียวกับประเทศไทยและอื่นๆ ซึ่งในระยะต่อมาได้ขยายรวมอีก 4 ประเทศอันได้แก่ เวียตนาม กัมพูชา ลาว และพม่า รวม 10 ประเทศ มาเลเซียมีสถานะทางเศรษฐกิจและประวัติพัฒนาการด้านความกินดีอยู่ดีของประชากรที่น่าศึกษา มีรายได้ประเทศจัดอยู่ในระดับกลางของโลก มีฐานเศรษฐกิจที่หลากหลาย มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการส่งสินค้าออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ในปี ค.ศ. 2004 ที่ร้อยละ 7.0 ซึ่งนับว่าสูงหลังจากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ของประชากรต่อหัว (GDP per capita) ที่ 9,700 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 388,000 บาทต่อปี หรือเดือนละ 32,300 บาทต่อเดือน
มาเลเซียมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีมาเลย์ จีน อินเดีย และอื่นๆ ที่ต้องอยู่ร่วมกัน เคยมีความขัดแย้งรุนแรง และแม้ปัจจุบันก็ยังมีปัญหาด้านความแตกต่างอยู่ แต่ไม่เป็นระดับความรุนแรงอีกต่อไป
มาเลเซียมีพัฒนาการทางการเมืองที่ต่อเนื่องในแบบประชาธิปไตยยาวนาน มีพรรคและกลุ่มการเมืองครองอำนาจอย่างต่อเนื่อง และมีวิธีการแก้ปัญหาของตนเองในแบบเฉพาะ ที่เรียกว่า The Malaysian Way คือไม่เหมือนใคร โดยการใช้แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ปัญหาเศรษฐกิจในยามวิกฤติที่เป็นต้นแบบที่ต้องศึกษาในช่วง ค.ศ. 1998-1999 ที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย
มาเลเซียมีสถิติบ่งชี้หลายๆ ตัวที่แสดงถึงการก้าวไปสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งไทยควรได้เรียนรู้
ข้อมูลสำคัญ
เวลาท้องถิ่น (Local Time) GMT + 8 hours
ประชากร (Population) 25 ล้านคน
เมืองหลวง (Capital City) เมืองหลวงของมาเลเซียคือกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแหลมมะลายู มีประชากรประมาณ 1.5 ล้านคน มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง มีความก้าวหน้าทางด้านการค้า การธนาคาร การเงิน การผลิตในระบบอุตสาหกรรม การขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ และการท่องเที่ยง
ภาษา (Language) ภาษาประจำชาติเรียกว่า Bahasa Malaysia มีลักษณะเขียนแบบภาษาอังกฤษ มีลักษณะใกล้เคียงกับ Bahasa Indonesia มาก สำหรับภาษาอังกฤษมีการใช้พูดและเขียนกันอย่างกว้างขวาง
ศาสนาหลัก (Principal Religions) ศาสนาประจำชาติคืออิสลาม แต่ได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้เสรีภาพทางศาสนา ศาสนาอื่นๆ มี พุทธ ฮินดู และคริสเตียน
การเงิน (Local Currency) ริงกิต (Ringgit) คิดเทียบเป็นเงินไทย = 10 บาท หรือ 1 เหรียญสหรัฐเท่ากับ 3.8 ริงกิต (2005)
รายได้ของประเทศ (GDP) GDP growth Rate ในปี ค.ศ. 2002 เท่ากับร้อยละ 4.2 ในช่วงก่อนเศรษฐกิจตกต่ำในปี ค.ศ. 1997-1999 ประเทศมาเลเซียมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดและอย่างต่อเนื่องแห่งหนึ่งของโลก
มาตราชั่ง ตวง วัด (Weights and measurements) The metric system is used although the imperial system is understood and may still be occasionally found.
ใช้ระบบ Metric แต่ด้วยที่มีฐานวัฒนธรรมและวิทยาการจากประเทศอังกฤษจึงมีความคุ้นกับระบบ Imperial ของอังกฤษเช่นกัน
The Columbia Encyclopedia, Sixth Edition. 2001-05.
แผ่นดินและประชาชน
มาเลเซียแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า มาเลเซียตะวันตก หรือเรียกว่าเป็นมาเลเซียส่วนแหลมมลายู ส่วนนี้มีพื้นที่ 131,313 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 14.4 ล้านคน ส่วนนี้มีรัฐต่างๆ อันได้แก่ Perlis, Kedah, Pinang, Perak, Kelantan, Terengganu, Pahang, Selangor, Negeri Sembilan, Melaka (Malacca), and Johor และมีอาณาเขตพิเศษที่เรียกว่า Federal Territory ซึ่งส่วนนี้มีเมืองหลวง Kuala Lumpur และ Putrajaya ส่วนอีกด้านหนึ่งเรียกว่า มาเลเซียตะวันออก (East Malaysia) มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ถึง 201,320 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยรัฐ Sabah, Sarawak ตั้งอยู่บนเกาะ Borneo และเกาะ Lbuan
มาเลเซียสองส่วนนี้อยู่ห่างกันประมาณ 640 กิโลเมตร
มาเลเซียตะวันออก
มาเลเซียตะวันออกมีอาณาเขตตอนเหนือติดกับประเทศไทย ตะวันออกติดทะเลจีน และในตอนใต้ติดกับประเทศสิงคโปร์ โดยมีส่วนแบ่งแยกเป็นช่องแคบเรียกว่า Johore Strait และในตะวันตกมีช่องแคบที่เรียกว่า Malacca และทะเลอันดามัน (Andaman Sea) ส่วนมาเลเซียตะวันออกตอนเหนือติดกับทะเลจีนตอนใต้และทะเลซูลู ทางตะวันออกติดกับทะเล Clelebes และทางตอนใต้ติดกับ Kalimantan หรือเป็นส่วนบอร์เนียวของอินโดนีเซีย และในทางชายฝั่งของ Sarawak มีรัฐอิสระชื่อว่า Brunei ซึ่งเป็นสมาชิก 1 ใน 10 ของอาเซียน ทั้งมาเลเซียตะวันตกและตะวันออก ล้วนมีเทือกเขาอยู่ทั่วไป ส่วนเขาที่สูงที่สุดเรียกว่า Kinabalu สูง 4,101 เมตร ซึ่งอยู่ในรัฐ Sabah มาเลเซียมีแม่น้ำที่ยาวที่สุดของประเทศชื่อว่า Rajang มีความยาว 560 กิโลเมตร อยู่ในมาเลเซียตะวันตก ทอดตัวเองไปตามเขตศูนย์สูตร มาเลเซียมีภูมิอากาศแบบเขตร้อนชื้น (Rainy Climate) มีพื้นที่ประมาณ 2 ใน 3 ที่เป็นป่า
มาเลเซียตะวันตก
แม้เขตมาเลเซียตะวันตกจะมีพื้นที่เพียงร้อยละ 31 ของประเทศ แต่ประชากรร้อยละกว่า 80 อาศัยอยู่ในเขตตะวันตก และในจำนวนนี้จะอยู่กันหนาแน่นทางฝั่งตะวันตก ประชาชนร้อยละเกือบ 60 เป็นชนพื้นเมือง ร้อยละ 25 เป็นเชื้อสายจีน และอีกร้อยละ 10 เป็นอินเดียและปากีสถาน ในมาเลเซียตะวันตก มีชนเผ่ามาเลย์มีประมาณร้อยละ 50 ของประชากร จีน 1 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 33 และอินดียและปากีสถานร้อยละไม่เกิน 10 ส่วนมาเลเซียตะวันออก มีคนจีนและชนเผ่า Ibans หรือที่เรียกว่า ดยักทะเล (Sea Dyaks) ชนพื้นเมืองอันเป็นคนส่วนใหญ่ประกอบเป็น 3 ใน 5 ของประชากร และด้วยเหตุที่ประกอบด้วยชนเผ่าหลากหลาย จึงมีประวัติของความขัดแย้งระหว่างพวกมาเลย์และจีนปรากฏในประวัติศาสตร์ของประเทศ
ศาสนาและวัฒนธรรม
ชนพื้นเมืองเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม และอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ คนจีนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และอินเดียส่วนใหญ่นับถือฮินดู ภาษาประจำชาติของมาเลเซียคือภาษามาเลเซีย (Bahasa Malaysia) ซึ่งโครงสร้างภาษาเขียนเป็นตัวอักษรโรมัน หรืออ่านออกเสียงตามอักขระของอังกฤษ นับเป็นภาษากลางที่ใช้พูดและเขียนกันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาษาอังกฤษก็มีคนมีความสามารถพูดและเขียนได้อย่างกว้างขวางเช่นกัน สถาบันอุดมศึกษาของมาเลเซียใช้แนวทางและมาตรฐานแบบอังกฤษ เป็นลักษณะสถาบันที่ไม่ได้เปิดกว้างให้สำหรับทุกคน จัดว่าเป็นสถาบันประเภทสำหรับคนคัดสรร (Elitism) แต่จะเน้นเปิดบริการได้อย่างมีคุณภาพ มหาวิทยาลัยของประเทศเหล่านี้ได้แก่ the Univ. of Malaya ในเมือง Kuala Lumpur, the Univ. of Malaysia และ the International Islamic Univ., ทั้งสองแห่งอยู่ใน Selangor, the Technological Univ. of Malaysia ใน Johor Bahru, และมหาวิทยาลัยในรุ่นใหม่ๆ อย่างเช่น the Multimedia University ใน Cyberjaya, มหาวิทยาลัยเสมือนเปิดการสอนแบบออนไลน์ร่วมกับศูนย์การเรียนอย่างเช่น UNITAR
เศรษฐกิจ
มาเลเซียจัดว่ามีเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาจากสิงคโปร์ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระดับร้อยละ 8 – 9 ติดต่อกันหลายปีในช่วงก่อนเศรษฐกิจตกต่ำแห่งเอเชีย ปี ค.ศ. 1997 -1998 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ต้องมีการปรับตัว ลดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เมื่ออัตราการว่างงานสูงก็ส่งแรงงานต่างชาติกลับ ซึ่งเป็นอันมากมาจากประเทศอินโดนีเซีย แต่หลังจากปี ค.ศ. 1999 เศรษฐกิจของประเทศก็กลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
มาเลเซียจัดเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ด้านยางพารา น้ำมันปาล์ม ปิโตรเลียมดิบและผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ ไม้ สิ่งทอ ในช่วงหลังของทศวรรษ 1980 รัฐบาลได้หันมาปรับมาสู่การส่งเสริมวิสาหกิจเอกชน ลดและปลดถ่ายกิจการภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน และทำให้มีการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้มาก ปินัง (Pinang) จัดเป็นเมืองท่าใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตามการเกษตรก็ยังมีบทบาทสำคัญประมาณร้อยละ 20 ประชาชนทำงานในภาคเกษตร และมีรายได้เป็นร้อยละ 15 ของรายได้ประชาชาติ ข้าวจัดเป็นอาหารหลัก และปลาเป็นแหล่งโปรตีนหลัก อุตสาหกรรมของประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ทางมาเลเซียตะวันตก เมืองสำคัญทั้งหลายในแหลมมลายูจะเชื่อมโยงไปจนถึงสิงคโปร์ ในมาเลเซียตะวันตกจะมีถนนหลวงมาตรฐานสูงเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายไปทั่ว ประเทศคู่ค้าสำคัญของมาเลเซียคือญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์
รัฐบาล
มาเลเซียเคยเป็นประเทศภายใต้อาณานิคมอังกฤษ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้ประกาศอิสรภาพ ระบบการปกครองของมาเลเซียมีพื้นฐานราชการที่ได้มาจากประเทศอังกฤษ แต่ด้วยความที่พื้นที่ของประเทศมีฐานเดิมจากการปกครองเป็นรัฐต่างๆ จึงทำให้มาเลเซียมีการปกครองในระบบสหรัฐ มีพระมหากษัตริย์ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย และด้วยความที่มีหลายรัฐ มีประวัติเจ้าครองรัฐหลายๆ รัฐ จึงต้องมีวิธีการสลับกันเป็นกษัตริย์ ตำแหน่งประมุขหรือกษัตริย์ เรียกว่า Yangdi-Pertuan Agong มีการเลือกเข้าสู่ตำแหน่งแบบผลัดเวียนกันทุก 5 ปี และได้มีเจ้าผู้ครองรัฐดำรงตำแหน่งแล้ว 9 พระองค์ จากรัฐ Perlis, Kedah, Perak, Kelantan, Terengganu, Pahang, Selangor, Negeri Sembilan, และ Johor
ส่วนทางการบริหารนั้นผู้มีอำนาจสูงสุดคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าสู่ตำแหน่งด้วยการลงเสียงความเชื่อมันจากสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีได้รับการเลือกเข้าสู่ตำแหน่งโดยนายกรัฐมนตรี สภามี 2 สภา คือ สภาล่าง (The House) มีสมาชิก 192 คน ได้รับเลือกเข้าสู่สภาพแบบเสียงจากประชาชนในเขตเลือกตั้งแบบ 1 คน 1 เขต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอายุการดำรงตำแหน่งสูงสุด 5 ปี แต่สามารถหมดวาระได้เมื่อมีการยุบสภา ส่วนสภาสูง (The Senate) เรียกในภาษามาเลย์ว่า Dewan Negara ประกอบด้วยสมาชิก 69 คน มีการเลือกทุก 6 ปี แต่ละรัฐมีการเลือกสมาชิกมารัฐละ 2 คน ส่วน ส่วนที่เหลือ 43 คนแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหาร ในแต่ละด้าน ตะวันตก และตะวันออก มีศาลสูงแยกจากกัน
ประวัติศาสตร์
อิทธิพลจากภายนอก
ประวัติช่วงแรกของมาเลเซียตะวันตกเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหลมมลายู (Malay Peninsula) ส่วนประวัติของมาเลเซียตะวันออกเป็นส่วนที่เกี่ยวกับ Sabah และ Sarawak เมื่อปอร์ตูเกสยึดครองช่องแคบมะละกาได้ในช่วงปี ค.ศ. 1511 สูลต่านผู้ปกครองพื้นบ้านก็หนีไป Pahang และ Johor และทางหมู่เกาะ Riau และบุตรของเขาคนหนึ่งก็ได้ไปสถาปนาเป็นสุลตานองค์แรกของรัฐ Perak และในช่วงนั้นได้มีความพยายามจากทาง Johor และ Aceh ในสุมาตราที่จะโจมตีมะละกา แต่ไม่สำเร็จ และขณะเดียวกันก็มีการต่อสู้กันเองระหว่าง Aceh และ Johor การต่อสู้ทั้งหมดนี้เพื่อพยายามครอบครองช่องแคบมะละกาซึ่งใช้เป็นเส้นทางการค้า ส่วนรัฐทางเหนือ อันได้แก่ Kedah, Kelantan และ Terengganu ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือได้ตกเป็นเมืองขึ้นของไทย ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่า “สยาม” (Siam)
ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 17 ได้มีชาวดัช หรือเนเธอร์แลนด์เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำการค้าในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในราวค.ศ. 1619 ชาวดัช ได้ฐานการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีถิ่นฐานในแถบ Batavia หรือ Jakarta อันเป็นเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน ในค.ศ. 1641 ได้มีความเป็นพันธมิตรกับ Jahor และสามารถยึดครองมะละกาได้ ในราวปลายศตวรรษที่ 17 ภาพอิทธิพลตะวันตกยิ่งเพิ่มความซับซ้อน เมื่อ Bugis จาก Sulawesi ชาวมาเลย์ได้รับแรงกดดันมากยิ่งขึ้นจากชาวดัช ซึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณ Selangor ในทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู กิจการขณะนั้นมีการซื้อขายดีบุก พวก Bugis ได้ยึด Jahor และ Riau ในปี ค.ศ. 1721 ในระหว่างนั้นมีการขัดจังหวะรบพุ่งอยู่เป็นระยะ อย่างไรก็ตามช่วง 100 ปีนั้น สุลต่านแห่งรัฐ Johor ก็ได้รับอนุญาตให้ดำรงตำแหน่งต่อไป พวก Bugis ยังได้มีอิทธิพลในรัฐ Perak และ Kedah ในช่วงศตวรรษที่ 15 และ 16 ชนเผ่ามาเลย์อีกกลุ่มหนึ่ง คือ Minangkabaus จากสุมาตรา ได้มาตั้งถิ่นฐานอย่างสงบในเขตมะละกา และถิ่นที่เขาได้มาตั้งถิ่นฐานนี้กลายเป็นรัฐ Negeri Sembilan
ชนเผ่าบูกิสในอินโดนีเซียและมาเลเซีย (The Bugis of Indonesia and
ชนเผ่าบูกิส เป็นพวกอาศัยอยู่ในเกาะ Sulawesi หรือ Celebes ในประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงที่พวกดัชเข้ามามีอิทธิภลในศตวรรษที่ 17 ได้เกิดการต่อสู้และแย่งชิงทางการเมืองในบริเวณแหลมมลายู (Malaysia Pennisular) และสุมาตรา (Sumatra)
พวกบูกิส เป็นพวกมียึดมั่นในความเชื่อและวัฒนธรรมของตน เป็นชนเผ่าเร่ร่อน อยู่อาศัยในอินโดนีเซียถามสุลาเวสี พวกนี้มีแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือพวก (1) Makassar (2) Bajau และ (3) Bugis หรือบางทีเรียกในภาษาอังกฤษว่า Buginese
พวกบูกิสใช้ชีวิตเป็นโจรสลัด พวกเดินเรือ และพวกผจญภัย ใช้ชีวิตในท้องทะเลแถบย่านสุลาเวสีตอนใต้ มองหาการผจญภัยในทะล ตามเกาะแก่งต่างๆในอินโดนีเซียและไกลออกไป ความที่เป็นชนผ่าที่น่ากลัวและเป็นที่รู้ไปไกล ฝรั่งจึงมีเอาคำว่า Bugis มาแผลงกลายเป็น “บูกีแมน” (Bogeyman) ซึ่งหมายถึงพวกที่ได้ฉายาว่าเป็นคนน่ากลัว และคนกลัวกันอย่างไม่มีเหตุผล
พวก Bugis ได้มีส่วนสร้างอาณาจักร Buginese ในช่วงก่อนมีอาณานิคม เป็นพวกที่มีวิถีชีวิตแบบพึ่งตนเอง และไม่คุ้นเคยหรือเป็นมิตรกับคนภายนอก
พวกอังกฤษได้เข้ามาในเขตแหลมลายูในปี ค.ศ. 1786 โดยในขณะนั้น Francis Light แห่งบริษัท British East India ได้แสวงหาฐานที่ตั้งทางการค้าและเป็นฐานทัพเรือ จึงได้เข้ามายึดบริเวณเกาะปินัง (Pinang) จากสุลต่านแห่ง Kedah ในปี ค.ศ. 1791 อังกฤษได้ตกลงที่จะจ่ายค่าเช่ารายปีให้กับสุลต่าน และในราว ค.ศ. 1800 ได้เข้ายึดมณฑล Wellesley ในส่วนแผ่นดินใหญ่ ในปี ค.ศ. 1819 ได้จัดตั้งสิงคโปร์ (Singapore) และในปี ค.ศ. 1824 ได้เข้ายึดครองอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ได้เข้ามามีอิทธิพลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1795 แล้ว และอังกฤษก็ได้เข้ายึดครองมะละกาจากพวกดัช และได้จัดตั้งเขตปกครองที่รวม Pinang, Malacca และสิงคโปร์ รวมเรียกว่า เขตจัดตั้งช่องแคบ (Straits Settlements)
อิทธิพลจากไทย
ในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศไทย หรือสยามในขณะนั้น (Siam) ได้เข้ามามีอิทธิพลลงมาทางใต้ ในปี ค.ศ. 1816 ได้กดดันให้ Kedah บุก Perak และทำให้ Perak กลายเป็นเมืองขึ้นของสยาม ในช่วงที่สยามได้บุก Kedah สุลต่านแห่งรัฐได้ลี้ภัยไปที่อื่น ในปี ค.ศ. 1821 อังกฤษได้ทำข้อตกลงกับสยามยอมรับ Kedah อยู่ภายใต้การปกครองของสยาม แต่ปล่อยให้ Kelantan และ Terengganu มีสถานะคลุมเครือ ในปี ค.ศ. 1841 สุลต่านของ Kedah ได้รับการสถาปนากลับสู่ตำแหน่ง และ Perlis ได้ถูกแยกออกจากเขตของ Kedah และให้อยู่ในความดูแลของสยาม
อิทธิพลของอังกฤษ
ในช่วงศตวรรษที่ 19 อังกฤษยิ่งเพิ่มอิทธิพลโดยตรงในเขตแหลมมลายูมากยิ่งขึ้น ในช่วงดังกล่าวมีความขัดแย้งระหว่างชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐาน พวกที่มาทำงานในเหมืองแร่ดีบุกขัดแย้งกับชาวพื้นเมือง มีการปล้นสะดมในบริเวณช่องแคบ พวกพ่อค้าจึงขอรัฐบาลอังกฤษให้จัดการดูแลความสงบและกฎหมาย อังกฤษเองก็มีความกังวลต่ออิทธิพลของตะวันตกชาติอื่นๆ ที่ได้เข้ามามีบทบาทในบริเวณนี้มากชึ้น อันได้แก่พวกดัช ฝรั่งเศส และเยอรมัน และด้วยเหตุดังกล่าวจึงได้มีการลงนามข้อตกลงที่ทำให้ Perak, Selangor และ Pahang, กลายเป็นส่วนหนึ่งที่เรียกว่า Negeri Sembilan ในข้อตกลงนี้ทำให้รัฐแต่ละรัฐมีชาวอังกฤษได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของ Sultan แห่งรัฐซึ่งได้รับเงินเดือน และทำให้มีการปกครอง ในช่วงต่อมาก็มีข้อตกลงที่เรียกว่า Pangkor Treaty ในปี ค.ศ. 1874 ทำให้รัฐ Perak มีรูปแบบการปกครองในลักษณะดังกล่าว
ในปี ค.ศ. 1896 รัฐทั้ง 4 ได้กลายเป็นกลุ่ม และเรียกว่า สหพันธรัฐมาเลย์ (Federated Malay States) โดยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มีที่ปรึกษาในการปกครองเป็นชาวอังกฤษ อังกฤษได้เข้ายึดครอง 4 รัฐดังกล่าว ในขณะเดียวกันได้ปล่อยให้รัฐ Kedah, Kelantan, Perlis และ Terrengganu และรวมถึงรัฐ Johor กลายเป็นส่วนนอกของสหพันธรัฐ หรือเรียกว่า The Unfederated Malay States
การเกิดอุตสาหกรรม
ในช่วงเวลาดังกล่าว อันเป็นครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เศรษฐกิจของมลายู ได้เพิ่มความสำคัญมากยึ่งขึ้น เพราะมีผลผลิตในแบบอุตสาหกรรม เช่น เหมืองแร่ที่ได้เคยทำมาในแบบเดิมนับเป็นศตวรรษ ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นการทำเหมืองแร่แบบใหม่ ยางพาราซึ่งใช้น้ำยางมาทำผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่างก็ได้มีการนำมาปลูก มีการใช้แรงงานชาวอินเดีย มลายูกลายเป็นแหล่งผลิตยางที่สำคัญของโลก ซึ่งในสมัยดังกล่าวรู้จักการใช้และผลิตภัณฑ์ยางจากธรรมชาติ แต่ยังไม่มีวิทยาการทำยางเทียมจากปิโตรเลียมและอื่นๆ และความที่มลายูอยู่ในเขตที่มีการติดต่อค้าขายทางเรือสะดวก จึงสร้างความเจริญให้กับบริเวณดังกล่าวอย่างมาก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นบุกบริเวณดังกล่าว อังกฤษคาดว่าจะเป็นการบุกจากทางเรือ จึงได้สร้างป้อมปราการ แต่กลายเป็นว่าญี่ปุ่นได้บุกทางบกและมาอย่างรวดเร็ว ในช่วงดังกล่าวชาวจีนในมลายูได้รับการทารุณมากเป็นพิเศษ
เมื่อประเทศอังกฤษได้กลับคืนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1946) ได้มีการจัดตั้งสหพันธ์มลายัน (Malayan Union) ซึ่งประกอบด้วยเขตปกครองภายใต้อังกฤษเดิมทั้งหมด แต่ชาวมาเลย์ที่มีบทบาทได้ต่อต้านแนวทางขององค์กรดังกล่าว ด้วยเกรงว่าจะมีการทำให้ชาวจีนและอินเดียใน Pinang และ Malacca กลายเป็นราษฎรเต็มขั้นของสหพันธ์ และอีกส่วนหนึ่งคือบทบาทของสุลต่านแห่งรัฐ อังกฤษได้ยอมถอยและทำให้กลายเป็นสหพันธรัฐมะลายา (The Federation of Malay) ในปี ค.ศ. 1948 โดยมีอังกฤษเป็นผู้สำเร็จราชการ (High Commissioner) มีรัฐทั้งหมด 9 รัฐ โดยมี Pinang และ Malacca ซึ่งมีชาวจีนอยู่มาก เข้าร่วมสมทบ แต่ไม่ได้รับความเป็นราษฎรเช่นเดียวกับส่วนแรก
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการขยายตัวของอิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์ โจรก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ได้ใช้กระบวนการโจมตีแบบก่อการร้าย จึงทำให้อังกฤษใช้นโยบาย “อพยพย้ายถิ่น” ชาวจีนจำนวนกว่า 500,000 คน เป็นการเฉพาะ และประกาศยุติกระบวนการก่อการร้ายนั้นในปี ค.ศ. 1960 แต่ในทางปฏิบัติ ปัญหาก่อการร้ายก็ได้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ หลังจากนั้น
การประกาศอิสรภาพและมาเลเซียใหม่
การเกิดผู้ก่อการร้าย หรือโจรจีนคอมมิวนิสต์ทำให้ไปกระตุ้นกระบวนการประกาศอิสรภาพของมาเลเซีย โดยในปี ค.ศ. 1957 ได้ประกาศให้สหพันธรัฐได้กลายเป็นประเทศอิสระภายใต้ความร่วมมือของเครือจักรภาพอังกฤษ (The Commonwealth of Nations) และได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีคนแรกชื่อ Tunku (เจ้าชาย) Abdul Rahman ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค The Alliance Party อันเป็นการรวมตัวกันหลวมๆ ของพรรคชาวมาเลย์ จีน และอินเดีย รัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิพิเศษแก่ชาวมาเลย์ ในปี ค.ศ. 1963 Singapore, Sabah และ Sarawak ได้เข้าร่วมในสหพันธรัฐ กลายเป็น The Federation of Malaysia แต่ด้วยเหตุที่สิงคโปร์มีประชากรชาวจีนอยู่มาก อาจทำให้เสียดุลย์ความเป็นมาเลย์ จึงให้มี Sabah และ Sarawak เข้าร่วมด้วย บรูไน (Brunei) ซึ่งมีทรัพยากรน้ำมันอยู่มาก ได้มีแผนจะเข้าร่วม แต่ได้ปฏิเสธในท้ายสุด มาเลเซียได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และเครือจักรภพอังกฤษ และในปี ค.ศ. 1967 ได้เป็น 1 ในประเทศก่อตั้ง ASEAN (The Association of Southeast Asian Nations)
การเกิดประเทศใหม่ได้กลายไปสร้างความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย และถือเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของอินโดนีเซีย และในการนี้มาเลเซียได้รับการสนับสนุนทางการทหารจากอังกฤษและเครือจักรภพ ความขัดแย้งนี้ได้ลดไปเมื่อประธานาธิบดีซูการ์โน (Sukarno) แห่งอินโดนีเซียได้หมดอำนาจไปในปี ค.ศ. 1965 การต่อต้านแบบไม่รุนแรงจากประเทศฟิลิปปินส์ก็มีเช่นกัน เพราะฟิลิปปินส์เห็นว่า Sabah เป็นส่วนหนึ่งของฟิลิปปินส์จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1978 ปัญหาดังกล่าวจึงยุติลง
ความขัดแย้งระหว่างชาติ
เนื่องด้วยระหว่างการเป็นเมืองในอาณานิคมของอังกฤษ จึงมีการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในภูมิภาคค่อนข้างมาก แรงงานหลายส่วนมาจากจีน และรวมไปถึงกลุ่มทำการค้าขายและบริการต่างๆ พวกที่มารับใช้ในระบบราชการ เป็นพวกต้องใช้ภาษาอังกฤษและรู้หนังสือหนังหาได้ดีมาจากอินเดีย
สิงคโปร์และปินังเป็นเขตการค้าขาย เป็นเมืองท่าจึงมีชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยค่อนข้างมาก ไม่ได้มีเพียงชนพื้นเมืองชาวมาเลย์เท่านั้น เมื่อรวมประเทศ ก็มีการรวมเผ่าพันธุ์ต่างๆ เข้าดัวยกัน
การรวมสิงคโปร์เป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียไม่ได้เป็นไปอย่างน่าพอใจ มีความขัดแย้งระหว่างผู้นำที่เป็นชาวมาเลย์และผู้นำของสิงคโปร์ที่เป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อ Lee Kuan Yew ซึ่งทำงานเพื่อยกสถานะของชาวจีนซึ่งเป็นคนส่วนน้อยให้สหพันธรัฐ จนในปี ค.ศ. 1965 สิงคโปร์จึงได้แยกออกไปเป็นประเทศอิสระ
ความขัดแย้งภายในประเทศ
ปัญหาความขัดแย้งในด้านเชื้อชาติยังคงมีอยู่ต่อมา โดยเฉพาะระหว่างชาวจีนและชาวมาเลย์ ทำให้ในปี ค.ศ. 1969 เกิดความขัดแย้งจนต้องหยุดการทำงานของรัฐสภาเป็นเวลา 22 เดือน หลังจากนั้น ได้มีความพยายามที่จะทำให้เกิดวัฒนธรรมแบบสังคมแบบหลากหลายเผ่าพันธุ์และอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ. 1981 ได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองแบบสหพรรค ชื่อว่า The United Malays National Organization (UMNO) เรียกเป็นไทยว่า อันโน โดยมีนายกรัฐมนตรีชื่อว่า Mahathir bin Mohamad นายกรัฐมนตรี Mahathir ได้นำพรรคสู่ชัยชนะติดต่อกันในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1982, 1986, 1990 นับเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุด พรรคที่เป็นฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด คือพรรค Democratic Action Party (DAP) และพรรค The Islamic Party of Malaysia (PAS) รัฐบาลมหาเธร์ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากดขี่ชาวจีนและอินเดียที่เป็นชนกลุ่มน้อย แต่อย่างไรก็ตามได้มีการทำความตกลงกันระหว่างพรรค The Malay Communist Party (MCP) กับรัฐบาลกลางในปี ค.ศ. 1989
ในปี ค.ศ. 1995 พรรคร่วมรัฐบาลนำโดยมหาเธร์ ได้รับชัยชนะอีกครั้งอย่างท่วมท้น และในช่วงปี ค.ศ. 1997-98 ประเทศมาเลเซียเช่นเดียวกับประเทศทั้งหลายในเอเชียตะว้นออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ต่างจากประเทศอื่นๆ คือ มาเลเซียไม่รับความช่วยเหลือจาก The International Monetary Fund (IMF) โดยในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ. 1998 มาเลเซียได้ประกาศหยุดการค้าเงินระหว่างประเทศและได้เข้าควบคุมตลาดการเงินและการลงทุนจากต่างประเทศ ในราวๆกลางปี ค.ศ. 1999 เศรษฐกิจของมาเลเซียก็ได้กลับฟื้นคืนที่อย่างสมบูรณ์
กรณีอันวาร์ อิบราฮิม
ในช่วงความขัดแย้งด้านนโยบายเศรษฐกิจ กันยายน ค.ศ. 1998 มหาเธร์ ได้สั่งปลดบุคคลที่เข้าใจกันว่าจะเป็นทายาททางการเมืองคนสำคัญ คือ อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) ซึ่งดำรงตำแหน่งในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อันวาร์ ได้รับการตัดสินว่ามีความผิดฐานคอรัปชั่นและได้รับโทษจำคุก 6 ปี และในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2000 เขาได้รับโทษฐานรักร่วมเพศ ซึ่งถือเป็นความผิดร้ายแรงในมาเลเซียอีก 9 ปี การตัดสินในทั้งสองกรณีได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1999 ได้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง และพรรคร่วมรัฐบาลนำโดยมหาเธร์ ก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอย่างท่วมท้นเช่นกัน แต่พรรคที่ได้รับเสียงเพิ่มขึ้นคือพรรค PAS ซึ่งได้รับที่เพิ่มขึ้นจาก 8 เป็น 27 ส่วนพรรคที่สนับสนุนอันวาร์และนำโดยภรรยาของอันวาร์ไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก
การควบคุมแรงงานต่างชาติ
เมื่อมีปัญหาด้านเศรษฐกิจก็ได้มีความพยายามรักษางานไว้ให้กับชาวท้องถิ่น ในปี ค.ศ. 2002 ได้มีการออกกฎหมายใหม่เข้มงวดต่อแรงงานผิดกฎหมายข้ามชาติ ซึ่งเป็นชาวอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ออกจากมาเลเซีย ก่อให้เกิดความขัดเคืองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีแรงงานต่างชาติต้องกลับประเทศของตนไม่น้อยกว่า 400,000 คน
ในช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ได้ก้าวลงจากตำแหน่ง และอับดุลลา บาดาวี (Abdullah Badawi) รองนายกรัฐมนตรีได้เข้ารับตำแหน่งต่อ มหาเธร์จัดเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในเอเซีย หลังจากรับตำแหน่งได้ 5 เดือน นายกรัฐมนตรีอับดุลลา บาดาวี ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ เขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาพให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง โดยยังมีฐานการสนับสนุนที่หนาแน่น โดยพรรคร่วมรัฐบาลชนะได้ที่นั่งร้อยละ 90 และได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนร้อยละ 64 และในคราวนี้พรรค PAS ได้สูญเสียอย่างชัดเจนทั้งในระดับรัฐบาลกลางและระดับแต่ละรัฐ ในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ. 2004 อันวาร์ได้ชนะข้อกล่าวหา มีการกลับการตัดสิน และเขาได้รับการปล่อยตัว โทษคอรัปชั่นได้รับการลดโทษ ในช่วงดังกล่าวแรงงานต่างชาติอีกประมาณ 500,000 คนได้ถูกส่งออกนอกประเทศก่อนที่จะหมดระยะอภัยโทษ
การศึกษา
ธรรมชาติของการศึกษา (Characteristics)
การศึกษาในประเทศมาเลเซียมีธรรมชาติโดยทั่วไปดังต่อไปนี้ (1) ไม่เน้นการศึกษาภาคบังคับ กล่าวคือตามกฎหมายมีบังคับให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องส่งบุตรหลานไปเรียนหนังสือเป็นเวลา 6 ปี แต่ไม่ได้บังคับหลังจากนั้น และ (2) การประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นการดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ (Ministry of Education) แต่นโยบายอุดมศึกษาเป็นเรื่องของกระทรวงการอุดมศึกษา (Ministry of Higher Education) ซึ่งได้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งเป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงที่สวนทางกับประเทศไทย ที่ประเทศไทยเคยมีทบวงมหาวิทยาลัยแยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการมาก่อน แล้วเมื่อปฏิรูปการศึกษาจึงได้มีการนำมารวมเพื่อให้เกิดเอกภาพด้านนโยบาย โดยกลายเป็นสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
การศึกษาก่อนวัยเรียน (Pre-School)
การศึกษาก่อนวัยเรียนมีการจัดกันในประเทศมาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของครอบครัวมีฐานะและไม่ได้มีการจัดให้กว้างขวางนัก โดยทั่วไป พ่อแม่ที่มีฐานะจะส่งบุตรหลานเข้าสถานศึกษาก่อนวัยเรียนหรือโรงเรียนอนุบาลที่ดำเนินการแบบเป็นเอกชน และองค์กรไม่แสวงกำไร
รัฐบาลไม่มีโปรแกรมดำเนินการ ยกเว้นมีเงินช่วยเหลือพิเศษ (Aid) เพื่อช่วยชุมชนชนบทและในเมืองเพียงบางส่วน ในการจัดการศึกษาก่อนวัยเรียน เช่นสถานอนุบาลเด็ก (Nursery) และโรงเรียนอนุบาล (Kindergarten) นั้น บางโรงเรียนดำเนินการโดยกลุ่มศาสนา ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติผู้จะทำหน้าที่สอนหรือให้การศึกษาในระดับนี้ นอกจากนี้โรงเรียนเหล่านี้ไม่มีการกำหนดกรอบการดำเนินการชัดเจน บางแห่งมีการจัดบริการกันตามอาคารบ้านพักที่มีการปรับเพื่อใช้ประโยชน์ดังกล่าว โรงเรียนเอกชนบางแห่งมีการจัดบริการเสริมชั้นเรียนก่อนวัยเรียน
การประถมศึกษา (Primary)
การประถมศึกษาในประเทศมาเลเซียมีเวลาเรียน 6 ปี โดยมีการแบ่งเป็นประถมศึกษาตอนต้น 1 – 3 ปีแรก (Tahap Satu – First Level) และ 4 – 6 ปีหลังเป็นประถมศึกษาตอนปลาย (Tahap Dua – Second Level) นักเรียนโดยทั่วไป จะเข้าเรียนประถมศึกษาในช่วงอายุ 7 – 12 ปี การศึกษาในขั้นนี้มีการสอบเพื่อเลื่อนชั้น
ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 2000 ได้มีระบบทดสอบระดับแรกที่เรียกว่า Penilaian Tahap Satu (PTS) สำหรับเด็กที่จบประถมศึกษาปีที่ 3 และถ้าสอบผ่านได้คะแนนเยี่ยม (Excellence) จะได้ข้ามชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 2001 เป็นต้นมาได้มีความกังวลถึงแรงกดดันต่อนักเรียนจากพ่อแม่ที่จะเร่งเรียนจนเกินไป และจากความที่ผลการสอบออกมาเอนเอียงไปตามสภาพกลุ่มเชื้อชาติ จึงได้มีการยกเลิกการสอบในระดับนี้เสีย
ในช่วงจบชั้นประถมศึกษาบริบูรณ์ นักเรียนจะต้องผ่านการสอบระดับชาติซึ่งมีลักษณะเป็นคะแนนมาตรฐาน (Standardized Test) มีขื่อเรียกเป็นภาษามาเลย์ว่า Ujian Penilaian Sekolah Rendah (UPSR) หรือการทดสอบระดับประถมศึกษาบริบูรณ์ การทดสอบจะรวมวิชาด้านภาษาเช่น การอ่านและการเขียนมาเลย์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในกลุ่มจีนและทมิฬ มีการทดสอบการอ่านและเขียนภาษาทมิฬในกลุ่มโรงเรียนชนกลุ่มน้อยด้วย
ในระดับโรงเรียนประถมศึกษามีการแบ่งโรงเรียนออกเป็นโรงเรียนแห่งชาติ (Sekolah Kebangsaan) และโรงเรียนชนกลุ่มน้อยที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Vernacular Schools และในมาเลเซียเรียกว่า Sekolah Rendah Jenis Kebangsaan สำหรับภาษากลางของโรงเรียนแห่งชาติใช้ภาษามาเลย์ ส่วนโรงเรียนท้องถิ่นส่วนมากใช้ภาษาจีนที่เรียกว่า Mandarin และถ้าเป็นโรงเรียนสำหรับทมิฬ ก็จะใช้ภาษาทมิฬ
แม้จะขาดการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาลกลาง นักเรียนเชื้อสายจีนมักจะทำคะแนนได้ดีในระบบสอบมาตรฐาน นักเรียนชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ได้อาศัยศึกษาในโรงเรียนจีนเพื่อหวังจะได้รับการศึกษาที่ดีกว่า นักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน ชื่อ Lim Guan Eng ได้ให้ข้อสังเกตว่ารัฐบาลได้ปฏิเสธการสนับสนุนแก่โรงเรียนจีน แม้ข้อเท็จจริงแล้วจะมีเด็กที่ไม่ใช่ชาวจีนราว 60,000 คนได้ศึกษาในโรงเรียนประเภทนี้ ซึ่งจำนวนดังกล่าวเท่ากับร้อยละ 10 ของจำนวนนักเรียนในโรงเรียนจีน
ไม่นานมานี้ ได้มีความพยายามที่จะจัดตั้ง “โรงเรียนวิสัยทัศน์” (Vision Schools) ซึ่งในภาษามาเลย์เรียกว่า Sekolah Wawasan โรงเรียนวิสัยทัศน์นี้ใช้วัสดุอุปกรณ์ร่วมกันกับโรงเรียนแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
ในปี ค.ศ. 2004 นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวว่าโรงเรียนแห่งชาติอันเป็นแหล่งประสานสัมพันธ์ความเป็นชาติของคนรุ่นใหม่ได้สูญเสียความนิยมลงไป โดยเฉพาะกับนักเรียนชาวจีน เพราะมีเพียงร้อยละ 2 ของนักเรียนเชื้อสายจีนที่เลือกเรียนในโรงเรียนแห่งชาติ
และด้วยเหตุดังกล่าว Datuk Dr Maximus Ongkili ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกจึงได้จัดให้มีการกำหนดที่เรียนในโรงเรียนประถมศึกษาเพื่อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชนในชาติ และขณะเดียวกันก็จะได้ดูหลักสูตรให้มีลักษณะปฏิสัมพันธ์ระหว่างชนในชาติ และรวมไปถึงสัดส่วนครูที่ต้องมาจากชนชาติต่างๆ มากขึ้น
โรงเรียนประถมศึกษาของจีนดำเนินการโดยคณะกรรมการโรงเรียน (Board of Governors) มีการตัดสินใจในหลายๆ เรื่อง แต่ไม่ทั้งหมด แต่การดูแลร้านอาหารในโรงเรียนจะต้องได้รับการแต่งตั้งโดยฝ่ายการศึกษา ในเรื่องนี้รัฐมนตรีศึกษาได้ให้ทัศนะว่าอำนาจดังกล่าวจะให้กลับคืนสู่คณะกรรมการโรงเรียน
ในระหว่างปี ค.ศ. 1995-2000 ในแผนแห่งชาติฉบับที่ 7 เงินงบประมาณจำนวนร้อยละ 96.5 ได้มุ่งไปสู่โรงเรียนประถมศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีผู้เรียนร้อยละ 75 ส่วนโรงเรียนจีนซึ่งมีผู้เรียนร้อยละ 21 ได้รับเงินช่วยเหลือเพียงร้อยละ 2.4 และโรงเรียนชาวทมิฬซึ่งมีผู้เรียนร้อยละ 3.6 แต่ได้รับเงินช่วยเหลือเพียงร้อยละ 1
การมัธยมศึกษา (Secondary)
โรงเรียนมัธยมศึกษาในมาเลเซียมี 5 ชั้นปี ในขณะที่ประเทศไทยมี 6 ชั้นปี
โรงเรียนมัธยมศึกษาจัดเป็นส่วนเรียนต่อจากโรงเรียนประถมศึกษาแห่งชาติ โดยมีการจัดสอบวัดความสามารถที่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมีการแบ่งผู้เรียนออกเป็นสายวิทยาศาสตร์ และสายศิลปะ โดยทั่วไปการเรียนมัธยมศึกษาสายวิทยาศาสตร์ได้รับความนิยมมากกว่า เพราะนักเรียนสามารถเลือกจะเรียนต่อในสายได้ก็ได้ แต่นักเรียนที่ต้องเรียนในสายศิลปะ ไม่สามารถกลับมาเลือกเรียนในสายวิทยาศาสตร์ได้
เมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 นักเรียนจะต้องเข้ารับการทดสอบเพื่อจบรับประกาศนียบัตร ซึ่งเรียกว่า Sijil Pelajaran Malaysia (SPM) การสอบ SPM นี้เทียบได้กับระบบการสอบประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาของประเทศอังกฤษที่เรียกกันว่า O Levels Examination
หลังจากการประกาศอิสรภาพ รัฐบาลได้ประกาศให้ทุกโรงเรียนคืนสมบัติให้เป็นของกลาง ซึ่งประกาศดังกล่าวก่อให้เกิดการต่อต้านในกลุ่มโรงเรียนจีน แต่หลังจากนั้นได้มีการประนีประนอมจนในท้ายสุดให้ถือว่ารัฐบาลเข้ามากำกับเฉพาะส่วนครูอาจารย์ ส่วนที่ดินเป็นสมบัติส่วนเอกชนที่แยกต่างหาก ส่วนโรงเรียนแห่งชาตินั้นที่ดินเป็นของรัฐบาล หลังจากการประกาศก็ได้รับการต่อต้านจากชาวจีนในขณะนั้น แต่หลังจากนั้นไม่นาน โรงเรียนมัธยมจีนระดับนำ คือ Chung Ling High School นำโดยครูใหญ่ชื่อ Wang Yoong Nien ได้ยอมรับข้อเสนอซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโน เป็นลูกโซ่ที่ทำให้โรงเรียนอื่นๆ ตัดสินใจตามยอมเปลี่ยนเป็นโรงเรียนแห่งชาติ โรงเรียนเหล่านี้รวมถึงโรงเรียน Chung Ling High School ในเกาะปินังและโรงเรียน Jit Sin High School ในเขตแผ่นดินใหญ่ของมาเลเซีย การเรียนการสอนภาษาจีนในโรงเรียนดังกล่าวจะเป็นภาคบังคับ มีการเรียนภาษาจีนแมนดารินอย่างน้อย 1/7 ถึง 1/5
โรงเรียนจีนส่วนน้อยปฏิเสธการเข้าร่วม และได้กลายเป็นโรงเรียนจีนเอกชน ในระหว่างปีทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ได้มีการรื้อฟื้นโรงเรียนจีนขึ้น โรงเรียนแห่งชาติหลายแห่งได้เปิดสอนในลักษณะโรงเรียนจีนเป็นการคู่ขนานกับโรงเรียนจีนอิสระ ในปัจจุบันมีโรงเรียนจีนอิสระอยู่ 61 แห่งในประเทศมาเลเซียรวมถึงโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ คือ Foon Yew High School ซึ่งมีนักเรียนกว่า 6,000 คน ในปัจจุบันไม่มีโรงเรียนจีนที่ดำเนินการโดยรัฐบาลเหลืออยู่ในมาเลเซีย โรงเรียนมัธยมศึกษาจีนที่เป็นเอกชน มีรายได้จากค่าเล่าเรียนและเงินบริจาค นักเรียนในโรงเรียนเอกชนเหล่านี้ต้องเข้ารับการทดสอบที่เรียกว่า the Unified Examination Certificate (UEC) ซึ่งเป็นการจัดให้เฉพาะโรงเรียน 61 แห่งนี้เท่านั้น นักเรียนบางส่วนไปรับการสอบมัธยมศึกษาแห่งชาติ (SPM) ระบบการสอบ UEC นั้นเป็นการจัดการโดยสมาคมครูและคณะกรรมการโรงเรียนจีน
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 ระบบการสอบ UEC อันเป็นระบบสอบเอกชนอิสระของมาเลเซียได้รับการยอมรับจากระบบอุดมศึกษาในประเทศอังกฤษ สหรัฐ ไต้หวัน ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และที่อื่นๆ และระบบการสอบด้งกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชน ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2004 คณะกรรมการรับรองวิทยฐานะแห่งชาติ (National Accreditation Board) ซึ่งเรียกย่อๆ ในมาเลเซียว่า LAN ได้ออกกฎให้ใครก็ตามที่ต้องการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเอกชน ต้องสอบผ่านระบบสอบ SPM ที่เป็นภาษามาเลย์ แนวคิดนี้ซึ่งได้รับการต่อต้าน และในที่สุด รัฐมนตรีอุดมศึกษาที่ชื่อ Dr Shafie Salleh ได้ประกาศยกเว้นนักเรียนที่สอบ UEC แบบเอกชนนี้ไม่ต้องถูกให้ทำข้อสอบ SPM ภาษามาเลย์อีก
ระบบสอบ UEC มีจัดสอบเป็น 3 ระดับ คือ (1) การสอบสายอาชีวะ (2) การสอบสายมัธยมระดับกลาง และ (3) การสอบมัธยมระดับปลาย ประมวลการสอนและการสอบใน 2 ระดับแรกนั้นจะเป็นในภาษาจีนแมนดาริน ส่วนการสอบระดับมัธยมปลายจะมีส่วนของคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ การบัญชี การพาณิชย์จะมีทั้งในภาษาจีนและอังกฤษ
นักการศึกษาชาวจีนชื่อ Dr Kua Kia Soong ได้กล่าวถึงการมีระบบสอบ UEC ในหนังสือของเขามีชื่อว่า Protean Saga: The Chinese Schools of Malaysia ซึ่งกล่าวถึงความทุกข์ยากของระบบการศึกษาจีนในมาเลเซีย แต่มหาเธร์ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการไม่ได้ใส่ใจ และได้กล่าวตัดบทในเรื่องนี้เสีย
เตรียมอุดมศึกษา (Matriculation)
หลังจากสอบผ่าน SPM นักเรียนจะสามารถเลือกสอบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเป็นระดับเตรียมอุดมศึกษา (Matriculation) โดยเลือกสอบผ่านการสอบที่เรียกว่า สอบมัธยมศึกษาบริบูรณ์ หรือ Malaysian Higher School Certificate examination (ในภาษามาเลย์เรียกว่า Sijil Tinggi Persekolahan Malaysia) ซึ่งเทียบได้กับระบบการสอบ A Level ในแบบของอังกฤษ การสอบนี้มีเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ และเป็นที่ยอมรับโดยสากล และเป็นที่ยอมรับในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของเอกชนด้วย
นักเรียนทุกคนที่ประสงค์จะเข้าสู่สายเตรียมอุดมศึกษา (Matriculation) ซึ่งเป็นเวลาอีก 1 ปีดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ ระบบเตรียมอุดมศึกษานี้ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับเข้าโปรแกรม โปรแกรมเตรียมอุดมศึกษานี้ได้รับการวิพากษ์ว่าเป็นระบบสอบนี้ง่ายกว่า STPM แต่มีลักษณะที่เอื้อต่อกลุ่มคนเชื้อสายมาเลย์ที่เรียกว่า “บุตรของแผ่นดิน” (Bumiputeras)
นักเรียนบางส่วนเลือกไปรับการศึกษาขั้นเตรียมอุดมในวิทยาลัยเอกชน และเลือกเรียนในสาย A Level สำหรับการศึกษาในของสถาบันอุมศึกษาจากประเทศอังกฤษ แคนาดา และออสเตรเลีย ซึ่งมีการเปิดทั่วไปในประเทศมาเลเซีย
การอุดมศึกษา (Tertiary)
การอุดมศึกษาที่จัดโดยมหาวิทยาลัยของรัฐนั้นได้รับการอุดหนุนอย่างมากจากรัฐบาล คนที่จะเข้าเรียนได้จะต้องผ่านการสอบ STPM หรือการสอบเตรียมอุดมศึกษา การสอบผ่านได้ดีไม่ได้มีที่นั่งเรียนในมหาวิทยาลัยเสมอไป แต่โดยทั่วไปแล้วมหาวิทยาลัยในมาเลเซียเน้นการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและเป็นแบบคัดสรร (Elitism) มากกว่าที่เป็นไปในประเทศไทย มหาวิทยาลัยของรัฐเหล่านี้ได้แก่
1. University of Malaya (UM)
2. Universiti Sains Malaysia (USM)
3. Universiti Kebangsaan Malaysia (UKM)
4. Universiti Putra Malaysia (UPM)
5. Universiti Teknologi Malaysia (UTM)
6. Universiti Utara Malaysia (UUM)
7. International Islamic University of Malaysia (IIUM)
8. Universiti Malaysia Sarawak (UNIMAS)
9. Universiti Malaysia Sabah (UMS)
10. Universiti Pendidikan Sultan Idris (UPSI)
มหาวิทยาลัยรับเฉพาะพิเศษ:
1. Universiti Teknologi MARA (UiTM) – สำหรับชนเชื้อสายมาเลย์เท่านั้น
การกำหนดที่เรียนในมหาวิทยาลัยตามโควตาของเชื้อชาติในประเทศมาเลเซียได้รับการวิพากษ์มาก จนในปี ค.ศ. 2002 รัฐบาลได้ประกาศลดการจัดที่เรียนตามโควตาเชื้อชาติลง โดยให้เน้นการสอบตามความสามารถมากขึ้น
กระนั้นในปี ค.ศ. 2004 นักเรียนระดับ 5A จำนวน 128 คนที่ผ่านสอบระดับ STPM ซึ่งถือว่าดีที่สุดในการเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้รับการปฏิเสธที่เรียนในคณะแพทยศาสตร์ ด้วยเหตุผลเดียวคือเขาไม่ใช่เชื้อสายมาเลย์ นักเรียนเหล่านี้จะสามารถเข้าเรียนสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนได้ แต่บางคนไม่สามารถศึกษาในสายแพทยศาสตร์ได้ เพราะไม่มีเงินสนับสนุน
ในปี ค.ศ. 2004 รัฐบาลได้จัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาเพื่อทำหน้าที่ดูแลการศึกษาหลังมัธยมศึกษา รัฐมนตรีศึกษาคนใหม่ ชื่อ Dr. Shafie Salleh ได้กล่าวในที่ประชุมพรรคว่า เขาจะยังคง “นโยบายภูมิบุตร” หรือการให้สิทธิพิเศษแก่บุตรของแผ่นดิน ในที่นี้หมายถึงคนเกิดในมาเลย์เชื้อสายมาเลย์
การอุดมศึกษาเป็นเรื่องของการเมือง ผลประโยชน์ของคนต่างกลุ่ม โดยเฉพาะเรื่องของเชื้อชาติ ผู้ต่อต้านที่เด่นชัดคนหนึ่งคือ Lim Guan Eng ได้กล่าวว่าคำกล่าวของรัฐมนตรีอุดมศึกษานั้นไม่สอดคล้องกับยุคสมัย เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มความได้เปรียบของนักศึกษาภูมิบุตรให้ได้เข้าเรียนเพิ่มขึ้น และการศึกษาในลักษณะนี้เท่ากับเป็นการไปแบ่งชนชาติแทนที่จะไปเน้นความต้องการด้านการศึกษาของประชาชน
ก่อนปี ค.ศ. 2004 อาจารย์สถาบันอุดมศึกษาทุกคนจะต้องมีปริญญาระดับบัณฑิตศึกษาหรือปริญญาโทขึ้นไป แต่ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 เงื่อนไขนี้ได้ถูกยกเลิก โดยให้เหตุผลว่าความต้องการนักวิชาชีพในอุตสาหกรรมนั้นสามารถเป็นคุณค่าเพิ่มที่จำเป็น ความสามารถที่เป็นที่ต้องการจริงๆ นั้นสามารถใช้ทดแทนปริญญาบัตร ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นการลดปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับสถานศึกษา โดยให้เหตุผลว่า เพราะคนบางคน อย่าง Bill Gates, Steven Spielberg คนเหล่านี้ไม่ได้มีวุฒิการศึกษาในแบบปกติ แต่มีคุณค่าสำหรับการอุดมศึกษา
นักเรียนเองก็มีทางเลือกในการเรียนสถาบันอุดมศึกษาเอกชน สถาบันเหล่านี้มีความร่วมมือกับสถาบันในต่างประเทศ วิทยาลัยเอกชนเหล่านี้มีโปรแกรมการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถเรียนบางส่วนในประเทศมาเลเซียและอีกส่วนหนึ่งไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้ โปรแกรมเหล่านี้เขาเรียกว่า “โปรแกรมคู่แฝด” (Twinning) ซึ่งหมายความว่าหน่วยกิตที่เรียนและใบรับรองผลการเรียนสามารถใช้เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยความร่วมมือในต่างประเทศได้ นักศึกษาที่จบจากสถาบันความร่วมมือในประเทศมาเลเซียจะได้รับวุฒิอนุปริญญา (Associate Degree)
มีมหาวิทยาลัยในต่างประเทศบางแห่งได้มาตั้งสาขาเองในประเทศมาเลเซีย เช่น
1. Monash University, Australia.
2. The University of Nottingham, United Kingdom
3. SAE Institute, Australia
การเปิดรับการศึกษานานาชาติ โดยให้สถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศมาจัดตั้งหน่วยงานสถานศึกษา และจัดการเรียนการสอนเป็นแบบนานาชาตินี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และเป็นการลดแรงกดดันต่อการขาดสถานที่เรียนในขั้นอุดมศึกษาในประเทศมาเลเซีย
บัณฑิตศึกษา (Postgraduate Programs)
การบัณฑิตศึกษาหรือการศึกษาหลังปริญญาตรีได้รับความนิยมมากในประเทศมาเลเซีย ดังเช่นในสายบริหารธุรกิจที่เรียกว่า มหาบัณฑิตทางบริหารธุรกิจ (Master of Business Administration - MBA) และดุษฎีบัณฑิตสายบริหารธุรกิจ (Doctor of Business Administration - DBA) และมีการเปิดสอนทั้งในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน
การอาชีวศึกษา (Vocational Programs)
ความหมายของอาชีวศึกษาในมาเลเซียคือ การเรียนหลัง PMR เป็นเวลา 2 ปีในระดับที่เรียกว่า Technical Secondary Schools และต้องสอบผ่าน SPM เมื่อเรียนจบแล้ว วิชาที่เปิดสอนมีดังนี้
1. สายงานช่างและวิศวกรรม (Field of Engineering Craftsmanship)
- ไฟฟ้า (Electricity)
- อิเลคโทรนิกส์ (Electronics)
- งานเครื่องกล (Machine Workshop Practices)
- งานช่างเชื่อมและผ้า (Metal Welding and Fabrication)
- งานรถยนต์ (Automation)
- งานก่อสร้าง (Construction of Buildings)
- งานเครื่องปรับอากาศ (Air-Conditioning)
2. สายคหกรรมศาสตร์ (Field of Home Economics)
- งานบริการอาหาร (Catering and Preparation of Food)
- งานออกแบบเสื้อผ้า (Fashion Designing and Clothes-making)
- งานเครื่องสำอางค์ (Cosmetics)
- งานดูแลเด็ก (Child-care)
- งานทำขนมอบแห้งและของหวาน (Bakery and Confectionery)
3. สายการพาณิชย์ (Field of Commerce)
- การบริหารธุรกิจ (Business Management)
- การเกษตร (Field of Agriculture)
- การปลูกไม้ประดับ (Decorative Horticulture)
- เครื่องกลการเกษตร (Farm Machinery)
- การบริหารฟาร์ม (Farm Management)
การเข้าศึกษาต่อ
คนที่จะสมัครเข้าเรียนได้ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- เป็นประชาชนมาเลเซีย
- เป็นการสมัครจากโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
- จะต้องเข้าสอบ PMR
- ต้องมีอายะไม่ต่ำกว่าเกณฑ์
สำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนผ่านมาจากโรงเรียนของรัฐบาล
- จะต้องผ่านการสอบ PMR ซึ่งจัดโดยรัฐบาล
- ต้องมีอายุไม่น้อยไปกว่ากำหนด
- ต้องมีที่เรียนเหลือเพียงพอ (อันดับแรกจะไปที่ผู้จบจากโรงเรียนของรัฐบาล)
- สุขภาพร่างกายสมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วย
โรงเรียนศาสนา (Religious schools)
ในประเทศมาเลเซียมีโรงเรียนศาสนาที่เรียกว่า Sekolah Pondok หรือ เรียกว่า “โรงเรียนกระต๊อบ” (Hut School) เป็นโรงเรียนสอนอิสลามที่มีนานานในประเทศและมีมาก่อนโรงเรียนของรัฐในแบบสมัยใหม่ ก่อนหน้านี้ได้มีอิทธิพลของฮินดูในภูมิภาค แต่ก็ไม่ปรากฏให้มีโครงสร้างการศึกษาอย่างเป็นทางการอะไร
โรงเรียนศาสนาไม่ได้รับความนิยมในเขตเมืองต่อไปอีกมากนัก แต่ในส่วนของชนบทยังมีพ่อแม่ที่เคร่งศาสนาส่งบุตรหลานของตนไปเรียนในโรงเรียนดังกล่าว แต่ด้วยเหตุที่มาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัยของรัฐ นักเรียนที่เรียนในสายศาสนา จึงต้องไปศึกษาต่อในประเทศอื่น เช่น ปากีสถาน อียิปต์
พ่อแม่บางส่วนที่ต้องการให้บุตรหลานได้มีการยึดถือศาสนา ก็ได้ให้บุตรหลานได้ไปเรียนศาสนาเป็นกิจกรรมเสริม ซึ่งอาจเป็นตามวัด สุเหร่า หรือที่อื่นๆ
ประวัติศาสตร์ (History)
ประเทศมาเลเซียมีความอ่อนไหวต่ออิทธิพลของต่างชาติมากเมื่อเทียบกับประเทศไทย
โรงเรียนในแบบฆราวาส (Secular School) หรือโรงเรียนที่ไม่ใช่ศาสนาเป็นผลมาจากการปกครองของอังกฤษในสมัยอาณานิคม โรงเรียนเหล่านี้มีจัดตั้งในช่วงที่เป็น Straits Settlements ซึ่งมีใน Penang, Melaka, and Singapore โรงเรียนหล่านี้ยังมีอยู่ในปัจจุบัน จัดเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง มีประวัติดีเด่น แม้ในปัจจุบันจะไม่แตกต่างจากโรงเรียนรัฐบาลทั่วไปนัก
โรงเรียนคาธอลิก (Roman Catholic missionaries) หรือโรงเรียนมิชชันนารี เป็นโรงเรียนที่มีชื่อตามนักบวชในคริสตศาสนานิกายโรมันคาธอลิก แต่ด้วยความที่รัฐบาลไม่มีความอดทนต่อความเป็นนอกสายอิสลาม จึงไม่มีนักบวชเป็นครูอาจารย์ในโรงเรียนต่อไป ส่วนสำนักชี หรือโรงเรียนในลักษณะ Convents นั้นยังมีการจัดการศึกษาให้กับกุลธิดา เป็นการเสริมให้กับสำนักชี แต่ในปัจจุบันไม่มี Sister อยู่ในสำนักชีอีกต่อไป คงมีแต่เพียงในนาม
โรงเรียนในนิกายเมธอดิสต์ (The Methodist Church) ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนมิชชันนารี ซึ่งมักจะเป็นพวกจีน-อังกฤษ (Anglo-Chinese School - ACS) และโรงเรียนสำหรับหญิง (Methodist Girls School – MGS) ซึ่งยังมีเหลืออยู่ และเป็นโรงเรียนแยกเพศ ส่วนโรงเรียนรัฐบาลเกือบทั้งหมดเป็นโรงเรียนสหศึกษา มีทั้งนักเรียนชายและหญิง
ประเด็นภาษา (Language issues)
ภาษาที่ใช้ในการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองสำหรับประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติอย่างมาเลเซีย พรรครัฐบาลร่วม UMNO รณรงค์ให้ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษากลางของโรงเรียน แต่อนุญาตให้ใช้ภาษาจีนและทมิฬเป็นภาษาในการเรียนสำหรับโรงเรียนชนกลุ่มน้อย (Vernacular Schools) แต่โรงเรียนของรัฐบาลทั้งหมดใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษากลาง
การมีโรงเรียนชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษากลาง ทำให้สามารถรักษาวัฒนธรรมเฉพาะของตนได้ ซึ่งเรื่องนี้ชุมชนชาวจีนได้ให้ความสำคัญในเรื่องภาษามาก
ในอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของความเป็นนานาชาติ ในปี ค.ศ. 2002 รัฐบาลประกาศว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นไป การสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพื่อเป็นหลักประกันได้ว่าชาวมาเลเซียจะไม่ถูกละทิ้งในโลกที่มีต้องแข่งขันกันอย่างมากนี้ ความจริงในช่วงสมัยเป็นเมืองในอาณานิคมของอังกฤษ ชาวมาเลย์มีการศึกษาทุกคนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เพราะได้รับการศึกษาในแบบของอังกฤษมาตลอด จนในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และการประกาศอิสรภาพแล้วที่หันมาใช้ความชาตินิยม ลดความสำคัญของภาษาอังกฤษลง
ในปี ค.ศ. 2004 นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ประกาศว่ามีเพียงร้อยละ 2 ของนักศึกษาจีนที่ได้เรียนในโรงเรียนรัฐบาล แต่ในอีกด้านหนึ่ง Lim Guan Eng ได้ออกมาเปิดเผยว่ามีนักเรียนที่ไม่ใช่เชื้อสายจีน 60,000 คนที่เรียนในโรงเรียนจีน
ในวันรุ่งขึ้นนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในรัฐสภาที่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรตอบคำถาม Dr Tan Kee Kwong ซึ่งเป็นสมาชิกพรรค UMNO ด้วยกันว่านโยบายโรงเรียนชนกลุ่มน้อยอาจต้องได้รับการตรวจสอบใหม่ เขาระบุว่ามีหลายหลักฐานแสดงให้เห็นว่าระบบการศึกษาที่แบ่งออกเป็นสายได้ทำให้ปัญหาทางเชื้อชาติ มีการแยกขั้วกันมากยิ่งขึ้น
Dr Wee Ka Siong MCA ซึ่งเป็นส่วนตัวแทนชาวจีนในพรรครัฐบาลเอง ได้กล่าวว่าเขารู้สึกตระหนกที่รัฐบาลมีแผนจะล้มเลิกโรงเรียนชนกลุ่มน้อย ด้วยคำที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าจะมีการตรวจสอบนโยบายโรงเรียนชนกลุ่มน้อยอีกครั้ง ส่วนนาย Chong Eng รองเลขาธิการพรรค DAP อันเป็นพรรคฝ่ายค้านได้กล่าวว่า “ประชาชนรวมกัน เราไม่ได้ทรยศต่อประเทศ เราปกป้องอธิปไตยของประเทศ และนี่ไม่เกี่ยวกับโรงเรียนที่เราจบการศึกษามา”
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2005 ได้มีความพยายามที่จะทำให้โรงเรียนรัฐบาลมีความสามารถในการแข่งขันยิ่งขึ้น และให้กลายเป็นทางเลือกของนักเรียนที่ไม่ใช่เชื้อสายชาวมาเลย์ โดยโรงเรียนของรัฐเองจะเปิดสอนภาษาจีนและทมิฬไม่ใช่ในฐานะภาษาหลัก แต่ให้เป็นวิชาเลือก
การศึกษาและการเมือง (Education and politics)
การศึกษาเป็นเรื่องของการเมืองในมาเลเซียโดยที่นายกรัฐมนตรีทุกคน ยกเว้นนายกรัฐมนตรีคนแรก คือ Tunku Abdul Rahman Putra al-Ha เท่านั้นที่ไม่เคยเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการมาก่อน
พรรคฝ่ายรัฐบาลที่ครองอำนาจต่อเนื่องมาโดยตลอดนับแต่ประกาศอิสรภาพ ก็ต้องประกอบด้วยพรรคที่แม้จะมีชาวมาเลย์เป็นหลัก แต่ก็ต้องอนุญาตให้มีตัวแทนชาวจีนและอินเดียนั่งอยู่ในฟากรัฐบาลมาตลอด
นอกจากนี้ก็คือการยกระดับมหาวิทยาลัยจีนที่ชื่อ Chinese TAR College ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น Universiti Tunku Abdul Rahman หรือ UTAR แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติที่ตั้งชื่อมหาวิทยาลัยโดยใช้ชื่ออดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นรางวัลต่อพรรคจีนที่ได้ช่วยให้รัฐบาลชนะเลือกตั้งที่ค่อนข้างเฉียดฉิวในปี ค.ศ. 1999
เพศและการศึกษา (Gender issues and education)
มาเลเซียจัดว่าเป็นประเทศอิสลามสายกลาง เดินแนวทางทันสมัย ให้โอกาสการศึกษาแก่สตรีสูง
ในปี ค.ศ. 2004 The United Nations Development Programme องค์กรในสังกัดสหประชาชาติ โดยตัวแทนชื่อ Dr. Richard Leete ซึ่งได้ให้ความเห็นว่าดรรชนีบ่งชี้การพัฒนาด้านสิทธิสตรีในมาเลเซียไม่ได้สูงอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้เพราะพบว่าเด็กชายได้มีการออกกลางครันในอัตราสูงในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทำให้มีสตรีมากกว่าบุรุษในอัตราที่สูง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของมาเลเซียที่ต่างจากประเทศอิสลามโดยทั่วไป
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีอุดมศึกษาของมาเลเซีย Datuk Dr Shafie Salleh ได้กล่าวตอบว่า เรื่องนี้ได้เกิดกับประเทศอื่นๆ ด้วย และมันเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก โดยเขาระบุว่าในสถาบัน Polytechnics มีคนเรียนชาย 34,324 คน แต่มีหญิง 24,601 คน ในสถานศึกษาประเภทวิทยาลัยชุมชน 34 แห่ง มีนักศึกษาชาย 5,041 คน มีหญิง 3010 คน ในระดับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีที่นั่ง 45,856 ที่ 15,796 คนเป็นชาย และมีหญิง 30,060 คน สิ่งที่กล่าวมานี้พอสรุปได้ว่าสตรีได้รับสิทธิและมีส่วนในการอุดมศึกษาอย่างมาก
แต่เมื่อก้าวสู่โลกของการทำงานอัตราส่วนของชายและหญิงจะเปลี่ยนไป กล่าวคือ ชายจะมีโอกาสได้ทำงานที่ดีมากกว่าหญิง ดังในหนังสือชื่อ “Phantom Women Graduates: Where are They?" หรือ “บัณฑิตสตรีหายไปไหน” Nik Kamariah Nik Mat และ Puan Filzah Md Isa รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Universiti Utara Malaysia ได้กล่าวว่าประมาณร้อยละ 5 ของสตรีเท่านั้นที่จะได้ทำงานสายบริหารและในตำแหน่งสายวิชาชีพในประเทศนี้ นั่นคือในวงการศึกษาสตรีอาจได้รับโอกาสในการเข้าเรียนและเรียนได้ดี แต่เมื่ออยู่ในสังคมแบบอิสลาม โอกาสของสตรีในโลกของการทำงานก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด แม้ในประเทศที่จัดว่าเป็นอิสลามสายกลางและก้าวหน้าแล้วอย่างมาเลเซีย
รายชื่อสถาบันอุดมศึกษา
สำหรับหน่วยงานในประเทศไทยที่ต้องการมีความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัยกับประเทศมาเลเซีย เขามีมหาวิทยาลัยที่เมื่อเทียบจำนวนกับประเทศไทยแล้วมีไม่มากเท่า มีทั้งที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน แต่มีหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดใหม่ มีการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และเปิดรับคนต่างชาติ
มหาวิทยาลัยของรัฐ (Public universities)
มหาวิทยาลัยของรัฐที่มีการแข่งขันสูง และมีคุณภาพนั้นไม่ได้มีมากนัก ส่วนหนึ่งได้แก่
1. Universiti Utara Malaysia (UUM)
2. Universiti Malaya (UM)
3. Universiti Malaysia Sabah (UMS)
4. Universiti Malaysia Sarawak (UNIMAS)
5. Universiti Sains Malaysia (USM)
6. Universiti Teknologi Malaysia (UTM) Skudai, Johor
7. Universiti Kebangsaan Malaysia (UKM)
8. Universiti Putra Malaysia (UPM) Serdang, Selangor
9. Universiti Teknologi MARA (UiTM)
10. Universiti Pendidikan Sultan Idris (UPSI)
11. International Islamic University Malaysia (IIU)
มหาวิทยาลัยใหม่ (Public university colleges)
ในประเทศมาเลเซียมีการให้โอกาสเปิดสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น แม้ไม่ใช่ในแบบมหาวิทยาลัยแบบดั่งเดิม สถาบันเหล่านี้เขาเรียกว่า University Colleges คล้ายๆ กับในประเทศอังกฤษ ซึ่งจัดเป็นสถาบันอุดมศึกษาในอีกระดับหนึ่ง อ้นได้แก่
1. Kolej Universiti Teknikal Kebangsaan Malaysia (KUTKM)
2. Kolej Universiti Teknologi & Pengurusan Malaysia (KUTPM)
3. Kolej Universiti Kejuruteraan Utara Malaysia (KUKUM)
4. Kolej Universiti Teknologi Tun Hussein Onn (KUiTTHO)
5. Kolej Universiti Sains & Teknologi Malaysia (KUSTEM)
6. Kolej Universiti Islam Malaysia (KUIM)
7. [http://www.kuktem.edu.my/ Kolej Universiti Kejuruteraan & Teknologi Malaysia (KUKTEM @ UTEC)
มหาวิทยาลัยเอกชน (Private universities)
เอกชนได้มีโอกาสเปิดสถาบันอุดมศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งในแบบดั่งเดิมและในแบบใหม่ที่เน้นสายเทคโนโลยี และรวมถึงระบบมหาวิทยาลัยเสมือน ดังเช่น UNITAR เป็นต้น
1. Curtin University of Technology Sarawak Campus
2. International Medical University (IMU)
3. Lim Kok Wing University College of Creative Technology (LICT)
4. Monash University Malaysia Campus
5. Malaysia University of Science and Technology (MUST)
6. Multimedia University (MMU)
7. Open University Malaysia (OUM)
8. University of Nottingham Malaysia Campus (UNiM)
9. Universiti Tunku Abdul Rahman (Utar)
10. Universiti Tun Abdul Razak (UNITAR)
11. Universiti Teknologi Petronas (UTP)
12. Universiti Tenaga Nasional (UNITEN)
วิทยาลัยเอกชน (Private colleges)
สถาบันอุดมศึกษาในระดับเป็นวิทยาลัยของเอกชนก็มีเปิดบริการเช่นกัน มีทั้งที่เป็นของมาเลเซีย และมีทั้งที่ต่างประเทศได้เข้ามาดำเนินการเปิดให้บริการการศึกษา เช่น
1. Asia Pacific Institute of Information Technology (APIIT)
2. Binary Business School
3. Brickfields College
4. Disted College
5. Federal Institute of Technology (FIT)
6. Flamingo Institute
7. German-Malaysian Institute (GMI)
8. Go Academy
9. HELP University College
10. Institute Advertising Communication Training (IACT)
11. Informatics College
12. International College Penang
13. INTI College
14. INTI International College Penang
15. Institute of Training & Development (ITD)
16. KBU International College
17. Kolej Damansara Utama (KDU)
18. KDU College Penang Campus
19. Kemayan ATC
20. Kolej Aman
21. Kolej Antarabangsa Genting
22. Kolej Tuanku Ja'afar
23. LaSalle International Design School
24. Malaysia France Institute
25. Malaysian Institute of Art (MIA)
26. Malaysian Institute of Management (MIM)
27. Mantissa Institute
28. College
29. MSC International College (MSC)
30. MTDC Multimedia Academy
31. Nilai College
32. Nirwana Institute
33. Olympia College
34. The One Academy
35. Tunku Abdul Rahman College
36. Penang Medical College
37. Prime Group of Colleges
38. PTPL College
39. Reliance College
40. RIMA College
41. SAE Institute Malaysia
42. Sentral Education Group
43. Sedaya International College
44. Sepang Institute
45. Southern College(Kolej Selatan)
46. Stamford College
47. Sunway College
48. Systematic Institute
49. Taylors College
50. Telekom Training College
51. TPM Academy
สนใจศึกษาต่อต่างประเทศ
ในอดีต คนไทยเชื้อสายจีนและไทยที่มีฐานะ เมื่อต้องการให้บุตรหลานมีการศึกษาที่ดีสามารถติดต่อทำการค้ากับโลกได้ ก็จะส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศ ส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะส่งไปประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะสหรัฐ แต่อีกส่วนหนึ่งก็จะส่งไปศึกษาต่อในเมืองที่มีทั้งคนจีนและมีสภาพแวดล้อมที่พูดได้ทั้งจีนและอังกฤษ นอกจากนั้นก็จะเลือกเมืองในเอเชียไม่ไกลจากบ้าน เมืองที่นิยมส่งบุตรหลานไปได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ และปินังในมาเลเซีย แต่ในระยต่อมาช่วง 40 ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีขยายการศึกษาขั้นสูงในประเทศไทยอย่างมาก มีที่เรียนที่เพิ่มขึ้นทั้งในมหาวิทยาลัยของรัฐแบบสอบแข่งขัน มหาวิทยาลัยเปิด มหาวิทยาลัยเอกชน และวิทยาลัยด้านการอาชีพทั่วไป แต่ในระยะหลังเมื่อมีความต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพ ก็มีการมองหาโอกาสการส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศ
ในปัจจุบันสถานะการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของมาเลเซียดีขึ้นมากและอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและค่าครองชีพไม่สูงมาก กลายเป็นสังคมที่น่าอยู่และน่าไปศึกษาเล่าเรียน สถาบันอุดมศึกษาในมาเลเซียหลายแห่งโดยเฉพาะในภาคเอกชนได้หันมาเปิดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และโดยสภาพแวดล้อมแล้วมีค่าครองชีพที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปหรือในออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ ประเทศมาเลเซียเองก็มองเห็นโอกาสของการให้บริการการศึกษาในแบบเพื่อดึงดูดเยาวชนในเอเชียและที่ต่างๆ เพื่อเข้ามาศึกษา ซึ่งจัดเป็นกิจกรรมการศึกษาแบบ International Education ซึ่งในอดีต เยาวชนลูกหลานคนชั้นกลางส่วนเหนึ่งเคยได้ไปเรียนในประเทศฟิลิปปินส์ แต่แนวโน้มในระยะหลังนี้คือการหันมาสนใจเรียนในประเทศมาเลเซียมากขึ้น
บรรณานุกรม
- See N. J. Ryan, The Making of Modern Malaysia and Singapore (4th ed. 1969); R. O. Winstedt, Malaya and Its History (7th ed. 1966, repr. 1969); J. Gullick, Malaysia: Economic Expansion and National Unity (1981); B. and L. Andaya, A History of Malaysia (1984); J. A. Lent and K. Mulliner, ed., Malaysian Studies (1986).
- Wikipedia 2005
- CIA Factbook 2005
- The Columbia Encyclopedia, Sixth Edition. Copyright © 2001-05 Columbia University Press.
อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับค่าเทอมของ. Lim Kok Wing University College of Creative Technology (LICT)
ReplyDeleteข้อมูลเยอมากครับ ขอบคุณมาก
ReplyDelete