Friday, May 1, 2009

การขนส่งทางเลือก เรามีทางออกทางเลือกอย่างไร

การขนส่งทางเลือก เรามีทางออกทางเลือกอย่างไร
(Alternative Transportation Movement)
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat

มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard4Asia Foundation (SB4AF)
Tel: +66 2 3548254, +66 2 3548255
Fax: +66 2 3548255
Email: pracob@sb4af.org
Blogger: http://pracob.blogspot.com

Keywords: cw071, พลังงาน, energy, energy, conservation, การขนส่งทางเลือก
Updated: Updated: Sunday, August 10, 2008
From Wikipedia, the free encyclopedia.

ความนำ

การขนส่งทางเลือก หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Alternative Transportation Movement เป็นการดำเนินอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านหนึ่งที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาหาทางเลือกในการการเดินทางและการขนส่ง ซึ่งในปัจจุบันมีทางเลือกกระแสหลักคือการใช้ยานพาหนะรถยนต์ส่วนตัว (Private Automobiles) และยานพาหนะที่เป็นส่วนตัว มักจะเดินทางไปเพียงคนๆเดียว (single occupant vehicles - SOVs) ดังปรากฏในประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งในทุกวันคนทำงานแต่ละคนจะใช้รถยนต์ขับไปทำงานในเมืองต่างๆ แบบต่างคนต่างขับทำให้สิ้นเปลืองพลังงานและค่าใช้จ่าย โดยไม่มีประสิทธิภาพในด้านการเดินทางและการขนส่ง

บทความนี้เป็นส่วนนำสู่บทเรียนด้านพลังงานศึกษา (Energy Education) และการขนส่งและเดินทางทางเลือก สำหรับให้เยาวชนและประชาชนคนไทยได้ศึกษา ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการเชื้อเชิญนักวิชาการในด้านต่างๆ เพื่อมาร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานสำหรับเด็กและเยาวชนไทย เพื่อให้เข้าใจในปัญหาที่ประเทศไทยและสังคมโลกกำลังเผชิญอยู่ และให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับนโยบายภาครัฐ ตลอดจนใช้ชีวิตอย่างมีทางเลือกในการเดินทาง และการทำงานที่ต้องใช้ยานพาหนะต่างๆ ในการดำเนินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เหตุผล

ทำไมจึงต้องให้ความสำคัญสำหรับการศึกษาด้านการขนส่งและการเดินทางแบบทางเลือก เหตุผลมีดังต่อไปนี้

1. ปัญหาการเร่งใช้พลังงานเชื้อเพลิง ที่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้พลังงานในแนวทางเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศจีน และประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เมื่อเศรษฐกิจเติบโตมาก ก็มีการใช้พลังงานในการหุงต้มและประกอบอาหารมากขึ้น มีการขนส่งมากขึ้น การใช้เครื่องปรับอากาศกันมากขึ้นดังในกรณีประเทศในเขตร้อนอย่างไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหลาย และมีแนวโน้มการใช้พลังงานอย่างไม่มีแผนงานที่ดีทั้งในระดับประเทศและในแต่ละชุมชน

2. การก้าวสู่วัฒนธรรมการใช้รถยนต์ การใช้รถยนต์ในแบบที่เป็นอยู่ในประเทศเจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า Automotive Culture ทำให้คนต้องใช้ชีวิตด้วยการต้องเดินทางด้วยรถส่วนตัวเกือบจะตลอดเวลา ตั้งแต่ไปทำงาน ไปจ่ายของ ไปเที่ยว และการเดินทางเป็นอันมากนั้นใช้รถคันใหญ่กับคนเพียงน้อยนิด อย่างที่เรียกว่า SOVs หรือ Single Occupant Vehicles ยิ่งทำให้การใช้พลังเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพที่สุด อย่างที่เขาเรียกว่าขนรถ ไม่ใช่ขนคน ในการนี้การจัดการด้านที่อยู่อาศัย ดังกรณีบ้านจัดสรรเป็นอันมาก มีลักษณะรูปแบบที่ต้องไปควบคู่กับการต้องมีรถส่วนตัวไว้ใช้งาน

3. ปัญหาด้านโลกร้อน (Global Warming) ถึงแม้เราจะสามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงที่สร้างทดแทนได้ เช่นการใช้ Biodiesel หรือการใช้ Gasohol อันนำผลิตผลการเกษตรมาแปลงเป็นพลังงานเชื้อเพลิงได้บ้าง แต่นั่นก็ยังไม่ได้แก้ปัญหาใหญ่ของโลก คือปัญหาโลกร้อนด้วยการใช้พลังงานที่มีฐานจาก Carbon ดังเช่น Petroleum, แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน ฯลฯ โลกร้อนขึ้นทุกวัน และเป็นแนวโน้มที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในช่วงสั้นๆนี้

4. ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ยิ่งพึ่งพามากก็ทำให้เศรษฐกิจของชาติอ่อนแอลง เพราะราคาเชื้อเพลิงมีแต่จะสูงยิ่งขึ้น ปัญหาด้านพลังงานที่มีส่วนในทุกธุรกิจอย่างน้อยในระดับ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การแข่งขันด้านการอุตสาหกรรมและอื่น ได้รับผลกระทบไปด้วย รวมถึงด้านการเกษตร ซึ่งในปัจจุบัน ต้องใช้พลังงานทั้งในด้านการพรวนดิน ไถที่ดิน การสูบน้ำเพื่อชลประทาน เป็นต้น

ทางเลือก

การขนส่งจัดเป็นส่วนที่ใช้พลังงานมากที่สุดส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะการใช้รถยนต์ส่วนตัว
รถยนต์หนึ่งคัน เฉลี่ยเดินทางประมาณ 35,000 กิโลเมตรต่อปี และใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ 12-14 กิโลเมตรต่อลิตร และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลิตรละ 25-30 บาท คิดเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงปีละ 70000 บาทต่อคัน การใช้รถ Pickup ขนาด 1 ตันที่ใช้เครื่องน้ำมันดีเซลที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในชนบท แต่ก็ยังเป็นการใช้ระบบขนส่งที่ยังไม่ประหยัดหากไม่ได้มีการวางแผนการเดินทางที่เหมาะสม

การใช้การขนส่งทางเลือกที่มีอยู่มากมายนั้น จะช่วยทำให้การเดินทางแบบที่เป็นอยู่ในประเทศไทยลดลง หากมีการวางแผน และออกแบบระบบที่ดี ทำให้การใช้พลังงานเพื่อการเดินทางที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทางเลือกในการเดินทางในประเทศไทย เมื่อมองภาพรวมของทั้งประเทศ มีมากมายดังต่อไปนี้

1. การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีอยู่แล้ว เช่นรถประจำทางให้ดียิ่งขึ้น (Mass Transportation) ซึ่งในที่นี้จะพบว่าในต่างจังหวัดมีเป็นอันมากที่ไม่มีระบบรถประจำทาง ยังคงใช้รถสองแถวดัดแปลงจากรถบรรทุกเล็ก (Pickup Trucks) หรือดังในประเทศฟิลิปปินส์ยังใช้รถโดยสารขนาดเล็กดัดแปลงจากรถจี๊ปดัดแปลงที่เรียกว่า Jeepney การจะนำระบบขนส่งมวลชนไปใช้ในชุมชนระดับเมืองของต่างจังหวัดเป็นอันมากเกี่ยวกับผลประโยชน์และการเมืองท้องถิ่นที่ต้องมีความลงตัวในแนวทาง และเอื้อประโยชน์ที่ยุติธรรมให้กับหลายๆฝ่าย

2. ระบบการเดินทางด้วยเครื่องบิน (Airplanes) ซึ่งในปัจจุบันได้มีค่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงใกล้กับรถโดยสาร หากเป็นการเดินทางระยะไกล แต่มีการใช้เวลาที่สั้นกว่า และปัจจุบันเครื่องบินต่างๆ ได้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการใช้น้ำมันที่ประหยัดกว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้วอย่างมาก สำหรับประเทศไทย การเดินทางด้วยเครื่องบินจะมีค่าใช้จ่ายไม่แตกต่างจากการใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่ไม่ต้องเครียดในการเดินทาง และใช้เวลาที่น้อยกว่า เหมาะแก่การเดินทางไปทำธุรกิจในเส้นทางที่มีความยาวกว่า 500 กิโลเมตรขึ้นไป แต่การเดินทางด้วยเครื่องบินยังมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถโดยสารอยู่มาก แม้จะประหยัดเวลาในการเดินทางไปได้มาก

3. การพัฒนาและใช้ระบบรถไฟ (Trains, Hi Speed Trains) รถไฟในประเทศไทยได้เริ่มมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อการต้องพัฒนาประเทศให้ทันสมัย แต่ในระยะหลัง กิจการรถไฟได้หยุดการพัฒนาและมีลักษณะถดถอย เป็นกิจการรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนมาตลอด ในประเทศที่พัฒนาแล้วดังในยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย กิจการรถไฟยังเป็นความจำเป็นและเขาต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเดินทางเป็นไปได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว แต่สำหรับในประเทศไทยความเร็วในการเดินทางโดยรถไฟยังไม่พัฒนาขึ้นเลยในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา จึงถูกทดแทนด้วยรถโดยสารที่สะดวกกว่า แต่ต้องมีค่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่อคนสูงกว่า มีปัญหาความสึกหรอ เช่นยางรถ และอื่นๆ มากกว่า

4. รถไฟความเร็วสูง (Hi Speed Trains) ได้กลายเป็นทางเลือกเพื่อการเดินทางที่แข่งขันกับเครื่องบิน มีความเร็วสำหรับการเดินทางภายใน 500 กิโลเมตรที่ไม่ช้ากว่าเครื่องบิน สามารถวิ่งเข้ารับผู้โดยสารได้จนถึงเขตเมืองชั้นใน เหมาะสำหรับการเชื่อมเมืองขนาดใหญ่ 2 เมืองหรือมากกว่า และเป็นการเสริมกับการเดินทางด้วยรถบนทางถนน และเครื่องบินที่มีขอบจำกัด แต่การจัดทำให้มีรถไฟความเร็วสูงนั้น ส่วนใหญ่ต้องใช้รางรถไฟที่มีลักษณะเฉพาะ ในประเทศไทยเป็นทางในแบบเดิมมีความกว้างเพียง 1.00 เมตร มีลักษณะคด มีทางโค้งมาก นอกจากนี้คือความเป็นชุมชนเมืองที่มีการกระจายตัวเองสูง เมืองขนาดใหญ่กำลังเริ่มจะมีการขยายตัว เช่น ในฝั่งตะวันออก มี ชลบุรี พัทยา ทางสู่สายเหนือมีนครสวรรค์ พิษณุโลก สายตะวันออกเฉียงเหนือมี นครราชสีมา

5. การพัฒนาระบบรถไฟฟ้า บนฟ้า บนดิน และใต้ดิน (Mass Transits) จัดเป็นระบบการขนส่งที่มีประโยชน์ต่อเมืองขนาดใหญ่ดังกรุงเทพมหานคร มีการประมาณการกันว่าจะต้องมีเครือข่ายทางประมาณอย่างน้อย 300 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการไปได้เพียงร้อยละ 10-15 ซึ่งนโยบายของรัฐบาลชัดเจนแล้ว และเห็นความสำคัญ แต่ทำอย่างไรจึงจะหาวิธีการสนับสนุนค่าใช้จ่าย ใครจะเป็นผู้จ่าย เพราะเป็นกิจการที่ไม่กำไร แต่หากการนำเงินงบประมาณของแผ่นดินที่จัดเก็บมาจากทั้งประเทศมาสนับสนุน ก็จะไม่เป็นการยุติธรรม

6. ระบบรถประจำทาง (Buses) ในบางประเทศมีการพัฒนาไปใช้พลังงานทางเลือกดังเช่น ไฟฟ้า เป็นการลดมลพิษในเมืองใหญ่ หรือการใช้ระบบยานลูกประสมไฟฟ้ากับพลังเชื้อเพลิง (Hybrids) สำหรับในประเทศไทยนั้น การวางแผนที่จะมีรถโดยสารแบบใช้ไฟฟ้านั้นมีความเป็นไปได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายบริหารเมือง (City Management) ต้องมีการติดตั้งระบบสายส่งไฟฟ้าเพื่อการเดินรถ

7. การใช้ระบบรถโดยสารขนาดเล็ก (Minibuses) เพื่อการขนส่งผู้โดยสารในหมู่บ้านเพื่อทดแทนการต้องใช้รถส่วนตัว มีบางที่ๆ รถโดยสารขนาดใหญ่เข้าไปเดินไม่ได้ จะปรับขยายทางก็ทำไม่ได้ง่ายนัก หากไม่มีการปรับปรุง ประชาชนคนอาศัยก็จะต้องหาทางมีรถส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น หากมีระบบรถโดยสารขนาดเล็กทดแทน ก็จะช่วยลดความจำเป็นในการใช้รถส่วนตัว หรือใช้รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

8. รถตุ๊กๆ ยังมีประโยชน์ (Tuk Tuk) ในประเทศไทยมีการขนส่งขนาดเล็กที่รถสามล้อสามารถมีประสิทธิภาพในการขนส่งในที่แคบได้ดีกว่า เช่นตามตรอกซอย ซึ่งยังไม่สามารถปรับปรุงขยายถนนได้มากนัก แต่ทางเลือกเพื่อใช้พลังงานไฟฟ้ากับรถสามล้อประเภทตุ๊กๆ เป็นไปได้ หากมีการวางแผนและระบบเครือข่ายเติมกระแสไฟฟ้า (Electric Grids)

9. ปรับปรุงระบบรถแท๊กซี่ (Taxicab) รถแท๊กซี่เป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางในเมือง ในปัจจุบันใช้แก๊สหุงต้ม ซึ่งเป็นสินค้าราคาสนับสนุน คือเป็นราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด มีรถยนต์บ้านมากขึ้นที่หันมาใช้แก๊สดังกล่าว และแก๊สทุกชนิดนั้นเป็นสิ่งที่เมื่อหมดแล้วไม่สามารถหาทดแทนได้ นอกจากนี้คือในต่างจังหวัดยังไม่มีบริการรถแท็กซี่อย่างในกรุงเทพฯหรือปริมณฑล แม้แต่เมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา หรือเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ นครราชสีมา เหล่านี้กิจการรถแท๊กซี่ยังไม่ได้รับการพัฒนา

สำหรับเขตจังหวัดในชนบทที่เขาไม่ได้รับประโยชน์จากการขนส่งในเมืองหลวง หรือเมืองใหญ่ หากมีการพัฒนาระบบแท็กซี่เพื่อใช้ในการเดินทางภายในตัวเมือง ก็จะทำให้คนทำธุรกิจไม่ต้องขับรถส่วนตัวไปเป็นระยะทางไกล เช่น เมื่อเดินทางไปสู่จังหวัดหนึ่ง ก็ไปใช้บริการรถแท็กซี่รับจ้างของ ณ จังหวัดนั้นๆ หากเป็นการเดินทางไปในบริเวณในเมือง หรือการเดินทางช่วงสั้น

10. การใช้รถจักรยาน (Bicycling) และการพัฒนาเส้นทางรถจักรยาน ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้การเดินทางโดยรถจักรยานประเภทใช้แรงมนุษย์เพื่อการเดินทางระยะสั้นเพื่อไปทำงานหรือไปจับจ่ายใกล้บ้าน เป็นการส่งเสริมการออกกำลังกาย ในประเทศจีนสมัยหนึ่งจะมีคนใช้รถจักรยานกันมาก แต่เมื่อเจริญขึ้นก็หันมาใช้รถยนต์ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีความพยายามที่จะจัดให้มี Bike Route เพื่อการกันไว้สำหรับรถจักรยาน และต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของการวางผังเมืองขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ซึ่งจะมีผลดีทั้งต่อสิ่งแวดล้อม การลดการใช้พลังงาน และต่อสุขภาพของประชาชน

11. การใช้ระบบรถยนต์แบบร่วมกัน (Carpooling) ในประเทศไทย การใช้รถตู้ขนาดนั่งได้ 11-12 คน จัดเป็นรถไมโครบัส นับเป็น Carpool ในแบบหนึ่งที่ได้ผลดี ดีกว่านำรถบ้านออกมาขับ หากขับกันคนละคัน ก็จะประหยัดไปได้สัก 10-11 คัน และรถดังกล่าวสามารถเวียนวิ่งได้หลายครั้งต่อวัน ตัวอย่างที่เห็นใช้กันมากที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และบางชุมชนศูนย์การค้าในกรุงเทพมหานคร เป็นการเพิ่มทางเลือกสำหรับการเดินทางระยะกลางระหว่างกรุงเทพฯและจังหวัดชานเมือง

12. การใช้ระบบคอมพิวเตอร์และการสื่อสารแบบเครือข่ายช่วยในการทำงานแบบอิเลคโทรนิกส์ (Telecommuting)จัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่กำลังเข้ามามีบทบาทต่อประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการลดความจำเป็นในการเดินทางต่อวัน ในต่างประเทศ มีคนทำงานสำนักงานจำนวนมากที่เลือกทำงานในแบบยืดหยุ่นที่ทำให้สามารถทำงานทีบ้านได้ เช่นงานด้านการตลาด การบริการลูกค้าที่อาศัยการสื่อสารผ่านโทรศัพท์ โทรสาร การใช้อินเตอร์เน็ตในการติดต่อทั้งด้วยข้อความและการใช้เสียง และในปัจจุบันคือสื่อย่างเห็นภาพเคลื่อนไหวได้ด้วย

13. การเดิน และการพัฒนาทางเท้าเพื่อการเดิน (Walking) ในบางเขตของเมืองใหญ่ ในต่างประเทศได้เปลี่ยนจากทางรถวิ่ง แต่มีการจราจรติดขัดให้กลายเป็นทางเดิน ในภาษาอังกฤษมีคำเรียกว่า esplanade หรือ promenade เป็นทางที่ยกระดับเป็นทางเดิน ทางเดินเหล่านี้สามารถทำได้ทั้งในบริเวณชายทะเล ทางริมแม่น้ำ หรือบนสันเขื่อน

ในเมืองขนาดใหญ่ที่ต้องการกันรถไม่ให้เข้ามาพลุกพล่าน เป็นเขตท่องเที่ยว เขตลดมลพิษ เขาจะกันรถออกไปแล้วปรับเป็นทางเดินแทน แล้วขณะเดียวกันจัดหาระบบขนส่งมวลชน เช่นรถโดยสารขนาดใหญ่หรือเล็กมารับและส่งคนบริเวณรอบนอกอีกทีหนึ่ง ในบรรดาเขตชั้นในของกรุงเทพฯที่เป็นศูนย์การธุรกิจอาจต้องจัดระบบการเดินทางใหม่ในลักษณะดังกล่าว

รถยนต์ทางเลือก

เมื่อจำเป็นต้องใช้รถยนต์ เช่นรถส่วนตัว หรืออื่นๆ โดยไม่มีทางเลือก ก็ต้องมีวิธีการเลือกใช้รถยนต์อย่างเหมาะสม และใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมด้วย รถยนต์ในโลก เฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีประชากรประมาณ 300 ล้านคน มีรถยนต์ส่วนบุคคล 132.4 ล้านคัน เป็นรถกระบะ (Light trucks และรวม Minivans, SUVs, Pickup Trucks) 75.4 ล้านคัน รวมแล้วมียานพาหนะดังกล่าว 207.8 ล้านคัน ยังไม่รวมรถมอเตอร์ไซค์อีก 4.2 ล้านคัน

ประเทศไทยก็กำลังดำเนินไปในทิศทางนี้ ดังในกรุงจะมีการใช้รถยนต์นั่งที่เพิ่มขึ้น และในต่างจังหวัดจะใช้หนักไปทางรถกระบะและรถบรรทุกดัดแปลง รถอเนกประสงค์ เหล่านี้มากขึ้น แต่กระนั้นหากวิเคราะห์ให้ดี ก็จะมีทางเลือกในการใช้ยานพาหนะอย่างฉลาดได้อีก

การใช้รถยนต์ทีใช้พลังงานทางเลือก (Alternative Cars/vehicles) กล่าวคือ เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ยานพาหนะส่วนตัว ก็ยังมีทางเลือกในการใช้ประเภทยานพาหนะที่ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อีกมาก เช่น

1. รถยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco Cars) คำว่า Eco Car มีความหมายได้ทั้งรถยนต์ประหยัด คือราคาไม่สูง มีขนาดเล็ก มีที่นั่งสำหรับ 2 คนเป็นหลัก เพราะโดยทั่วไป การใช้ประโยชน์ก็จะเพื่อการเดินทางของคน 2-3 คนเป็นหลัก และในอีกด้านหนึ่งคือมีค่าการใช้พลังงานที่ต่ำ เช่นวิ่งได้ 75 ไมล์ ต่อ 1 แกลลอน (1 Imperial Gallon = 4.546 ลิตร) หรือเทียบได้เท่ากับ 26 กิโลเมตรต่อลิตร เป็นต้น

2. การใช้รถที่เป็นพลังงานไฟฟ้า (Electric cars) รถยนต์บางส่วนสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลักได้ หากพลังงานไฟฟ้านั้นมีค่าใช้จ่ายต่ำ และมีเครือข่าย (Electricity Grid) เป็นเครือข่ายเติมกระแสไฟได้อย่างสะดวก ทั้งนี้หมายความว่าในสังคมนั้นมีวิธีการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วยพลังที่ไม่ใช้น้ำมันเป็นหลัก เช่น พลังลม พลังจากโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ พลังจากเขื่อน เป็นต้น

3. รถลูกประสมระหว่างไฟฟ้าและพลังเชื้อเพลิง (Hybrid cars) ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยยังจัดเป็นรถยนต์ประเภทฟุ่มเฟือย มีราคาแพง และไม่ได้ผลิตในประเทศ ระในลักษณะดังกล่าวสามารถประหยัดพลังงานน้ำมันได้กว่าร้อยละ 50 หรือเท่ากับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมันได้เป็น 2 เท่า

4. การใช้น้ำมันไบโอดีเซล (Biodiesel ซึ่งสามารถใช้ผลิตผลทางการเกษตรมาพัฒนาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในปัจจุบัน เครื่องยนต์ใช้น้ำมันดีเซลได้พัฒนาไปอย่างมาก ในยุโรปมีการใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กมีประสิทธิภาพการใช้น้ำมันดีขึ้นกว่าเดิม และลดปัญหาการเผาไหม้ไม่หมดได้มาก เครื่องยนต์ไม่สั่นมาก และมีพลังเร่งที่เพิ่มขึ้นกว่าเทคโนโลยีเครื่องดีเซลเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา

5. รถยนต์ใช้ Fuel Cells ซึ่งมีกาวิจัยกันอย่างมากในสหรัฐ ซึ่งเป็นพลังไฟฟ้าไปทำปฏิกิริยาทางเคมีทำให้แยกน้ำออกเป็นออกซิเจนและไฮโดรเจน การใช้พลังงานจากก๊าสไฮโดรเจน ซึ่งเมื่อเกิดการเผาผลาญแล้วจะคืนสภาพเป็นน้ำ ไม่ก่อให้มีมลภาวะ และไม่ไปเพิ่มปัญหาสภาวะโลกร้อน

ความส่งท้าย

การขนส่งทางเลือกนี้ หากเราได้ศึกษาและมีความรู้พื้นฐาน และเข้าใจทางเลือกต่างๆ จะเป็นประโยชน์ เพราะในประเทศประชาธิปไตยนั้น การตัดสินใจในนโยบายภาครัฐต่างๆ นั้นต้องอาศัยความเข้าใจของประชาชน มีหลายสิ่งหลายอย่างในประเทศไทยที่เรายังไม่ได้คิดและเตรียมการอนาคตของชาติด้านพลังงาน การคมนาคม การขนส่งและการสื่อสาร

No comments:

Post a Comment