Friday, May 1, 2009

เรียนรู้เกี่ยวกับยานพาหนะ และศัพท์ที่เกี่ยวข้อง

เรียนรู้เกี่ยวกับยานพาหนะ และศัพท์ที่เกี่ยวข้อง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

จาก "หน่วยที่ 6. การขนส่งส่วนบุคคล"

Keywords: cw310, การเดินทาง, transportation, การขนส่ง, พลังงาน, energy, energy, conservation, รถจักรยาน, bicycle, ทางรถจักรยาน (Bike Lanes), รถจักรยานไฟฟ้า (Electric Bicycle), รถจักรยานยนต์ (Motorcycles), การใช้รถจักรยานยนต์ (Motorcycles), รถสปอร์ต (Sports Cars), รถ Hummer, รถยนต์นั่ง (Sedans), รถนั่งขนาดใหญ่ (Full-Sized Cars), รถนั่งขนาดกลาง (Mid-Sized Cars), รถนั่งขนาดเล็ก (City Car), รถขนาดจิ๋ว (Micro Cars), รถยนต์นั่ง 5 ประตู (Hatchback), รถสปอร์ตอเนกประสงค์, (Sport Utilities Vehicles – SUV), รถอเนกประสงค์ (Multipurpose Vehicles – MPV), รถยนต์ลูกประสม (Hybrid Cars), รถยนต์พลังไฟฟ้า (Electric Cars, EVs)

ความนำ


ในบทเรียนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้กำลังศึกษา ได้เข้าใจศัพท์ทั้งไทยและภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับยานพาหนะและการเดินทาง

การขนส่งส่วนบุคคล


คนแต่ละคน และแต่ละครอบครัวจะมียานพาหนะที่มีใช้เป็นการส่วนตัว แต่การที่คนทุกคนจะใช้ยานประเภทนี้ในแต่ละวัน สำหรับประชาชนไทย 65 ล้านคนนั้น หากต้องพึ่งพลังงานที่ไม่สามารถสร้างทดแทนได้ หรือเป็นพลังงานที่สิ้นเปลือง เช่นแต่ละคนก็ใช้รถยนต์ส่วนตัวกันในทุกวัน ก็จะเกิดปัญหาด้านการใช้พลังงานมาก จึงต้องมีการคิดหาทางเลือกด้านการใช้ยานพาหนะเพื่อขนส่งและเดินทางส่วนบุคคลกัน

รถจักรยาน


รถจักรยาน (Bicycles)

รถจักรยานที่ใช้คนถีบ จัดเป็นยานพาหนะส่วนตัวที่ไม่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง เป็นการออกกำลังกาย แต่รถจักรยานดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้สะดวกและปลอดภัยเพียงพอในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ไม่มีทางรถจักรยาน แต่ในต่างประเทศเขาจะมีทางรถจักรยานโดยเฉพาะในบางเมือง เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายและการลดปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม


ภาพ รถจักรยานแบบทั่วไป (Bicycle) มีทดได้หลายเกียร์


ภาพ รถจักรยานสำหรับขี่ทางวิบากได้ (Mountain bike/bicycle)

ทางรถจักรยาน (Bike Lanes)

ย่านชานเมือง (Urban Area) ในประเทศแคนาดา เขาส่งเสริมให้เกิดทางวิ่งสำหรับรถจักรยานที่เรียกว่า Bike Lane มีการตีเส้นเฉพาะไม่ให้มีรถยนต์จอดขวาง และไม่ให้รถยนต์เข้ามาวิ่งในช่องวิ่งดังกล่าว

รถจักรยานไฟฟ้า (Electric Bicycle)


รถจักรยานที่ใช้พลังไฟฟ้าที่ชาร์ตได้ด้วยไฟฟ้าบ้าน และสามารถใช้พลังถีบด้วยเท้าเสริม หรือเมื่อไฟฟ้าอ่อน สามารถผลิตเองในประเทศ หรือซื้อชิ้นส่วนบางอย่างจากต่างประเทศมาเสริมระบบอุตสาหกรรมผลิตจักรยานที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย



ภาพ รถจักรยานไฟฟ้า (Electric bicycle, e-bike) ใช้พลังคนถีบ ร่วมกับพลังจากแบตเตอรี่ไฟฟ้า ทำให้วิ่งได้ระยะทางไกลขนาด 20-30 กม./วัน โดยไม่เหน็ดเหนื่อยนัก เป็นการประหยัดพลังงาน ทดแทนจากใช้รถจักรยานยนต์ (Motorcycle)

รถจักรยานยนต์ (Motorcycles)

รถจักรยานยนต์ขนาดประมาณ 90-125 CC จัดเป็นรถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องเพียงพอในการขับเคลื่อน และขณะเดียวกันไม่มีความแรงในระดับที่จะใช้ขับแข่งขัน อย่างไรก็ตามแม้ขนาดเครื่องยนต์ดังกล่าว ก็ยังมีผู้ขับขี่ โดยเฉพาะวัยรุ่นในประเทศไทย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ใช้ขับแข่งด้วยความเร็ว หรือขับขี่เมื่อดื่มสุรา อันเป็นปัญหาใหญ่ด้านอุบัติเหตุ

ยานพาหนะประเภทสองล้อ ที่ใช้พลังคนถีบ จัดเป็นการใช้ที่ประหยัด แม้จะมีการใช้ไฟฟ้าบ้านบ้าง เป็น Electric Bicycles ก็ยังประหยัด เพราะไฟฟ้าบ้านนั้นสามารถผลิตได้จากแหล่งพลังงานที่สร้างทดแทนได้ เช่น จากเขื่อนพลังน้ำ พลังกังหันลม (Wind Turbine) หรือพลังงานที่แม้ทดแทนไม่ได้ แต่ยังมีเหลือใช้ได้ยาวนานดังพลังงานจากนิวเคลียร์ (Neuclear Power Plants)

ยานพาหนะต่อไปนี้ เป็นยานพาหนะที่มีการใช้พลังงานจากน้ำมัน (Petroleum) มีความสิ้นเปลืองไปตามประเภทของมัน หากขนาดยิ่งใหญ่ เครื่องยนต์มีพลังแรงสูง วิ่งได้เร็วและหรูหรา ก็จะมีการใช้พลังงานมากตามไป

รถเพื่อความสำราญ


ยานพาหนะ นอกจากจะใช้เพื่อการขับขี้เดินทาง ไปธุระและเป็นเรื่องเป็นงานเป็นการแล้ว ยังเป็นไปเพื่อความสำราญด้วย จึงมียานพาหนะที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป

การใช้รถจักรยานยนต์ (Motorcycles)

Racing Motorcycle เป็นรถจักรยานยนต์ที่ไม่อยู่ในข่ายประหยัดพลังงาน เพราะใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ขนาด 800-1400 CC ก็มี ออกแบบมาให้มีขนาดน้ำหนักมาก เป็นประเภทจักรยานยนต์หรูหรา ขับขี่เพื่อความสำราญ เป็นรสนิยมเฉพาะกลุ่ม ราคาแพง (Harley Devidson, Chopper)


ภาพ จักรยานยนต์ (Motorcycle) ขนาด 125 ซีซี ประหยัดพลังงาน  ใช้ได้ทั้งผู้หญืงและผู้ชาย



ภาพ จักรยานยนต์แบบสปอร์ต (Sport motorcycle) วิ่งได้ด้วยความเร็วสูง แต่ก็ใช้น้ำมันมากขึ้นด้วย

รถสปอร์ต (Sports Cars)


จัดเป็นรถยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อการขับขี่ด้วยความรวดเร็ว อาจวางเครื่องไว้ส่วนหน้าหรือหลัง เพื่อให้การวางน้ำหนักรถเหมาะสมที่จะขับขี่ได้ด้วยความคล่องตัว เกาะถนน แม้ใช้ความเร็วสูง รถดังกล่าวเป็นอันมากนั่งได้เพียง 2 ที่นั่ง วัตถุประสงค์ไม่ได้มีไว้เพื่อประหยัดน้ำมัน แต่เป็นการขับขี่เพื่อความสำราญและการแข่งขัน


ภาพ รถยนต์สปอร์ต BMW นั่งได้ 2 คนหน้า ส่วน 2 คนนั่งหลังแบบ Dog seats คือนั่งไม่สบายนักสำหรับการเดินทางไกล

รถ Humvee


Humvee มาจากคำว่า The High Mobility Multipurpose Wheeled Vehicle (HMMWV or Humvee) เป็นยานยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อใช้ในกิจการทหาร หนักประมาณ 2500 กิโลกรัม หรือนักกว่ารถยนต์ธรรมดาเกือบ 2 เท่า รถขนาดเล็กทั่วไปจะหนักประมาณ 1000 กิโลกรัม

รถ Hummer


Humvee เมื่อประสบความสำเร็จทางการทหาร มีคนรู้จักในสมรรถนะ จึงได้มีการดัดแปลงเพื่อผลิตเป็นรถสปอร์ตอเนกประสงค์ (SUV) ชื่อ Hummer ที่มีลักษณะบึกบึน มีขนาดใหญ่ลดลง แต่ยังหนัก และกินน้ำมัน เมื่อน้ำมันมีราคาแพง ประเทศสหรัฐประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ รถยนต์ในลักษณะนี้ก็ประสบปัญหา ต้องทบทวนการผลิต เพราะไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด คือการต้องประหยัดน้ำมัน
การมีความสำราญกับเครื่องเล่นที่ใช้น้ำมันมาก อย่างรถ SUV หรือเรือเร็ว เรือ Yacht ประเภทใช้เครื่องยนต์ ย่อมเป็นความสิ้นเปลืองพลังงาน แม้คนมีเงิน ก็ควรจะต้องลองหาของเล่นที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และพลังงานมากกว่านี้


ภาพ รถ Hummer เป็นรถที่ออกแบบเพื่อใช้ในราชการทหาร แต่เพราะบางคนชอบในความบึกบึน แข็งแรง แสดงความเป็นคนมีอำนาจ แต่รถประเภทนนี้จะกินน้ำมันมาก ประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำ

ประเภทของยานพาหนะ


รถยนต์มีหลายประเภท แต่ละประเภทมีการผลิตโดยหลายบริษัท มีรูปลักษณะและประสิทธิภาพการใช้พลังงานแตกต่างกันออกไป โดยรวมๆ ขนาดของรถ ขนาดของเครื่องยนต์ และการต้องการขับขี่ด้วยความเร็วสูงมากน้อยเพียงใด จะเป็นตัวกำหนดว่าจะมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสิ้นเปลืองมากน้อยเพียงใด

รถยนต์นั่ง (Sedans)


คำว่า Sedan หมายถึงรถยนต์นั่งทั่วไป ที่มีที่นั่งได้ประมาณ 4 ที่นั่ง มีเบาะนั่งเป็น 2 ตอนคือตอนหน้าและหลัง ส่วนด้านท้ายมีที่เก็บสัมภาระมักแยกไปต่างหาก

รถนั่งขนาดใหญ่ (Full-Sized Cars)


รถนั่งขนาดใหญ่ ในอเมริกาเหนือ จัดเป็นรถยนต์ขนาดใหญ่กว่ารถขนาดกลาง (Mid-size car) มีฐานล้อกว่า 2.79 เมตร มีพื้นที่ภายในมากกว่า 120 ลบ.ฟุต ในสมัยก่อน รถยนต์ขนาดนี้ถือเป็นรถขนาดมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งราคาน้ำมันได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญในช่วง40 ปีหลังนี้
(ภาพรถ Cadillac ของค่าย GM ในสหรัฐอเมริกา)


ภาพ รถ Mercedes S Class เป็นรถหรูขนาดใหญ่เต็มขนาด

รถนั่งขนาดกลาง (Mid-Sized Cars)


เป็นรถที่อยู่ระหว่างรถขนาดใหญ่ กับรถขนาดเล็ก คือเป็นรถขนาดกลาง ดังในยุโรป รถ BMW รุ่น 5 หรือ Mercidez E-Class จัดเป็นรถขนาดกลาง แต่ในประเทศไทยรถดังกล่าวจัดเป็นรถหรูขนาดใหญ่แล้ว
Mercidez E-Class รุ่น Mercedes Benz E-Class 220 CDI Classic Estate ขนาดเครื่องยนต์ 2148 CC วิ่งได้ 13.3 กิโลเมตร/ลิตร


ภาพ รถ Mercedes E Class เป็นรถยนต์นั่งขนาดกลาง E มาจากคำว่า Economy


ภาพ รถยนต์ Toyota Camry เป็นรถยนต์นั่่งขนาดกลางในมาตรฐานสหรัฐอเมริกา แต่ในประเทศไทย ใช้รถยนต์ขนาดนี้ ถือว่าใหญ่มากแล้ว

รถนั่งขนาดเล็ก (City Car)


รถยนต์ขนาดเล็ก ที่เรียกว่า City Car เครื่องยนต์ขนาดเล็ก ขนาดไม่เกิน 1500 CC น้ำหนักเบา ความจริงสามารถวิ่งไปได้ทุกที่ รถประเภทนี้มีใช้ในประเทศไทย ได้แก่ Toyota Yaris, Toyota Vios, Chevrolet Aveo, Honda City, Honda Jazz

Yaris วิ่งได้ 26.4 กิโลเมตร/ลิตร


ภาพ Toyota Yaris รถออกแบบสำหรับวิ่งในเมือง แต่ก็สามารถใช้วิ่งทางไกลได้ ที่นั่งด้านหน้านั่งได้ปกติ แต่ที่นั่งหลังจะจำกัดพื้นที่ สำหรับเด็กหรือคนตัวเล็กได้


ภาพ รถยนต์ Fiat 500 เป็นรถที่เหมาะแก่การวิ่งในเมือง ขนาดเล็กคล่องตัว ประหยัดพลังงาน

Honda Jazz 1.4 ลิตร

แบบ 5 ประตู ออกแบบมาให้มีลักษณะเป็นรถกึ่งสปอร์ต ความเร็วสูง และยังบรรทุกผู้โดยสารได้ 4 คน
วิ่งได้ 20.16 กิโลเมตร/ลิตร

รถขนาดจิ๋ว (Micro Cars)


รถ Smart จัดเป็นรถในแบบ Micro Cars คือเล็กมากๆ มีความยาวทั้งคันรถน้อยกว่า 3.0 เมตร มีพื้นที่ภายในน้อยกว่า 85 ลบ.ฟุต หรือประมาณ 2400 ลิตร รถดังกล่าวอาจมี 3 หรือ 4 ล้อ ประหยัดน้ำมัน อาจนั่งได้เพียง 1 หรือ 2 คนเป็นหลัก เหมาะแก่การขับขี่ในเมือง โดยเจตนาต้องการให้เป็นรถใช้ในเมือง ประหยัดน้ำมัน


ภาพรถ Smart นั่งได้ 2 คน วิ่งได้ 22.5 กิโลเมตร/ลิตร

รถแวน (Van, Stationwagons)


จัดเป็นยานพาหนะสำหรับกลุ่มคน ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นกล่องตรงๆ มี 4 ล้อ มีขนาดกว้างและยาวกว่ารถยนต์นั่งทั่วไป สามารถจุผู้โดยสารได้ 7 คน, 9 คนหรือ 11 คนก็มี
(ภาพรถ Toyota Commuter แบบหลังคาสูง นิยมใช้เป็นรถตู้โดยสาร จุคนได้ 11-12 คน)

รถยนต์นั่ง 5 ประตู (Hatchback)


รถยนต์ 5 ประตู ตามที่เรียกกันในประเทศไทย (Hatchback) เป็นคำที่ใช้เรียกรถยนต์รุ่นใหม่ๆที่ออกแบบมาพิเศษ ทำให้ห้องผู้โดยสารสามารถใช้ร่วมกับการเป็นห้องเก็บสัมภาระ (Cargo Space) หากมีคนนั่งน้อย แค่ 2 คน แต่ต้องการบรรทุกสัมภาระมาก เช่นย้ายบ้าน หรือย้ายของ ก็ล้มเบาะหลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับสัมภาระได้ นอกจากนี้คือการมีพื้นที่นั่งภายในกว้างขวาง ดังเช่นรถ Nissan Tiida ซึ่งได้โฆษณาถึงความสามารถในการปรับเบาะที่นั่งยืดหยุ่นสำหรับคนร่างกายใหญ่ เหมาะแก่การเดินทางไกลที่ผู้นั่งสะดวกสบาย แต่ขณะเดียวกัน ทำให้ไม่ต้องใช้รถขนาดใหญ่กว่านี้ และต้องเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่านี้


ภาพ รถ Mazda 3 แบบ 5 ประตู หรือ Hatchback มีความยืดหยุ่นในการปรับเบาะที่นั่ง เพื่อบันทุกของด้านหลังได้มากขึ้น โดยล้มเบาะหลังลง

รถสปอร์ตอเนกประสงค์
(Sport Utilities Vehicles – SUV)


จัดเป็นรถนั่งประเภทหนึ่งที่ประสมความสามารถด้านการลากจูงเหมือนรถ Pickup Truck และมีพื้นที่ภายในเหมือนกับรถที่เรียกว่า Stationwagon โดยทั่วไปมีขนาดเท่ากับรถขนาดกลาง บางยี่ห้อจุคนได้ 7 อย่างเบียดเล็กน้อย แต่บางรุ่นทำมาเป็นรถค่อนข้างเล็ก ประหยัดน้ำมันกว่า แต่ไม่มีความสามารถด้านการลากจูง


ภาพ Honda CRV รถยนต์สปอร์ตอเนกประสงค์ มี 5 ประตู ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย วิงทางวิบากได้ บันทุกของได้ ด้วยการล้มเบาะหลัง ขยายพื้นที่บันทุกของ

รถอเนกประสงค์
(Multipurpose Vehicles – MPV)


บางทีก็เรียกว่า Minivan หรือ Minibus เป็นยานพาหนะอเนกประสงค์ คือใช้ได้เหมือนรถนั่ง เข้าไปใช้งานในเมืองได้ แต่ขณะเดียวกันสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่ารถนั่งทั่วไป คือจุได้ 7 คน คล้ายกับพวก Stationwagon แบบเดิม แต่ได้รับความนิยมในการใช้ขนส่งคนในชุมชนหมู่บ้านชานเมือง แบบใช้เป็น Carpool หลายๆ บ้านร่วมเดินทางกัน ประหยัดน้ำมัน หรือบางทีคุณแม่พาลูกๆ และเพื่อนๆ ไปร่วมในทีมกีฬา ในประเทศไทยที่มีครอบครัวขนาดใหญ่ ก็ใช้ในครอบครัวนั่งได้ทั้งพ่อแม่ ลูก 2 คน ปู่ย่า อีก 2-3 คนเป็นต้น โดยใช้รถเพียงคันเดียว


ภาพ รถยนต์ Prius V เป็นรถไฟฟ้าลูกประสม ในแบบ MPV จุผู้โดยสารได้ 7 คน แต่ด้วยความที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าลูกประสม จึงมีความสามารถในการประหยัดพลังงานได้สูง

หลักการเลือกใช้รถยนต์


ใช้รถขนาดเล็ก วิ่งในเมือง หรือใช้ในระยะทางสั้นๆ เลือกใช้รถอย่างที่เรียกว่า City Car

ใช้รถขนาดกลาง หรือรถขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อต้องเดินทางหลายคน เดินทางระยะไกลขึ้น และมีผู้โดยสารร่วมมากกว่า 2 คน ก็อาจจำเป็นเลือกรถขนาดกลาง ที่เรียกว่า Sedan สำหรับคนไทย การเดินทางด้วยคนพร้อมกัน 3-4 คนที่เป็นผู้ใหญ่ (Adults) รถนั่งประเภท Sedan ขนาดเครื่องยนต์ 1600 CC ก้นับว่าพอเหมาะแล้ว

ใช้รถยนต์ขนาดกลาง
สำหรับคนอเมริกันหรือคนยุโรปที่มีร่างกายสูง 1.80 เมตร น้ำหนักตัว 80-110 กิโลกรัม ซึ่งพบกันได้โดยทั่วไปในชาวยุโรปหรืออเมริกัน รถขนาดกลางของเขาที่เรียกว่า Midsized cars คือขนาดเครื่องยนต์ 2300-3000 CC เช่น Mercedes E-Class, BMW Series 5, Toyota Camry, Honda Accord เป็นต้น

ใช้รถประเภท Off-road หรือที่เรียกว่า SUV (Sport Utility Vehicles) เมื่อจะต้องทำงานในป่า หรือบริเวณที่ไม่มีถนนลาดยาง หากการเดินทางส่วนใหญ่อยู่บนถนนปกติ ไม่ใช่ต้องเดินทางเข้าไปในป่าหรือทางเป็นหลุมบ่อ ก็ใช้รถนั่งปกติ (Sedan) ก็เหมาะสมและประหยัดพลังงาน

ใช้จักรยานหรือจักรยานยนต์ หากต้องการเที่ยวป่า ก็ขี่จักรยาน หรือจักรยานยนต์ ก็นับว่าจะประหยัดพลังงานได้ดีกว่า และออกกำลังกายด้วย

ใช้รถ MPV เมื่อผู้โดยสารหลายคนไปได้พร้อมๆกัน เช่นร่วมกันไปทำงาน หรือไปพักผ่อนแบบร่วมกันสัก 2 ครอบครัว 7-8 คน มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อย่างเช่นเดินทางไปต่างจังหวัด มีทั้งครอบครัวตนเอง และเพื่อน หรือรับครอบครัวพ่อแม่ ลูกๆ ปู่ย่า หรือตายายไปเที่ยวหรือไปธุระด้วยกันบ่อยๆ รถประเภท MPV (Multi-Purpose Vehicles) ก็นับว่ามีความเหมาะสมกว่าใช้รถ Sedan สองคัน เปลืองคนขับ และเปลืองน้ำมัน

ใช้รถ Microbus ถ้ามีผู้โดยสารขนาด 8-12 คน ก็เลือกใช้บริการรถ Micro Bus เช่า ซึ่งมีที่นั่งแบบ 4-5 ตอน รวมตอนหน้าที่คนขับ ก็จะมีความสะดวก และประหยัด ดีกว่าขับรถไปด้วยกัน 3 คัน

รถประหยัดพลังงาน


รถยนต์ลูกประสม (Hybrid Cars) หมายถึงรถที่ใช้พลังงานจากสองแหล่งขึ้นไปมาร่วมกันให้พลังงานในการขับเคลื่อน และมีระบบจัดการใช้และเก็บพลังงาน เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รถลูกประสมระหว่างน้ำมันเชื้อเพลิงกับพลังไฟฟ้า รถลูกประสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงร่วมกับพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากการใช้พลังส่วนเกินที่เกิดจากเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง (Gasoline) ไปปั่นเป็นไฟฟ้า และจัดเก็บไว้ เมื่อต้องการเร่งเครื่องก็ใช้พลังงานทั้งสองแหล่ง เมื่อวิ่งไปด้วยความเร็วไม่สูงในเมือง และมีพลังไฟฟ้าเหลือเฟือ ก็ใช้พลังไฟฟ้าชับเคลื่อน เมื่อต้องเดินทางไกล รถวิ่งโดยไม่ได้ใช้พลังเร่ง ระบบจะตัดไปใช้พลังงานเชื้อเพลิงอย่างเดียว

รถลูกประสมระหว่างน้ำมันเชื้องเพลิงกับพลังลมอัด มีหน่วยค้นคว้าและทดลองบางแห่งคิดใช้ระบบถังเก็บลม อย่างที่เขาใช้ในปั้มน้ำมัน บริการเติมลมยางรถยนต์ เมื่อใช้ขับเคลื่อนรถยนต์ด้วยพลังเชื้อเพลิงและมีพลังเหลือ ก็จะจัดเก็บเป็นพลังอัดลมไว้ในถัง แต่เมื่อต้องการจะเร่งก็จะใช้พลังทั้งสองอย่างพร้อมกัน

รถใช้ Fuel Cell หรือพลังไฮโดรเจน (Fuel Cell) คือใช้เครื่องยนต์ที่วิ่งได้ด้วยพลังเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่เกิดจากการแยกน้ำ ออกเป็นไฮโดยเจน และออกซิเจน เมื่อใช้พลังงานนี้จะทำให้ปลอดจากมลพิษ เพราะเมื่อเกิดการเผาผลาญ ก็จะได้ออกมาเป็นน้ำ

รถยนต์พลังไฟฟ้า (Electric Cars, EVs) คือรถที่วิ่งได้ด้วยไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ซึ่งได้มีการพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีขนาดเล็ก มีน้ำหนักเบา และมีความทนทาน สามารถจัดเก็บไฟฟ้าได้เร็ว หรือใช้ไฟฟ้าบ้านที่จะอดไฟในช่วงตอนกลางคืน รถยนต์ที่ใช้วิ่งในเมือง ระยะสั้นๆ เช่นไปจ่ายของ ไปส่งลูกไปโรงเรียน หรือสถานีรถไฟ เป็นต้น แต่หากจะต้องมีการใช้วิ่งระยะไกล ก็จะต้องมีการวางระบบเครือข่ายอัดหรือเติมพลังไฟฟี่ครอบคลุมกว้างขวางในทุกๆที่


ภาพ รถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ (Electric car) Tesla Model S ราคาอยู่ที่คันละ USD 70,000 หรือ 2,100,000 บาท นับเป็นรถยนต์ไฟฟ้าระดับแนวหน้าที่สุดในปัจจุบัน


ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าจะหาพลังไฟฟ้าจากที่ไหน หากเป็นไฟฟ้าที่เกิดจากการต้องเผาน้ำมันเชื้องเพลิงอย่างดีเซล ถ่านหิน ก็ไม่ช่วยด้านสิงแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องหาพลังงานที่มีให้ใช้ได้อย่างยืนยาว เช่น พลังงานจากน้ำ หรือเขื่อนกั้นน้ำ พลังลม พลังแสงอาทิตย์ พลังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นต้น

No comments:

Post a Comment