ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Updated: Friday, September 19, 2008
Cw190 การเมือง การปกครอง
ประกอบ คุปรัตน์ เป็นอดีตอาจารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองผู้อำนวยการด้านบริหารและการสื่อสาร สำนักงานรัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Ministry of Education Organization – SEAMEO) เป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Education Quality Improvement Project) ด้วยเงินทุนของ World Bank ดูแลโรงเรียนต้นแบบ 33 แห่งในสามจังหวัด คือ อุบลราชธานี อุดรธานี และขอนแก่น ปัจจุบันเป็นประธานโครงการดุษฎีบัณฑิตทางความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ และเป็นกรรมการมูลนิธิเด็ก และมูลนิธิด้านการพัฒนาอีกหลายแห่ง |
เพื่อพูดถึงการเมืองไทย บางฝ่ายเขามองว่าเป็นเรื่องวุ่นวายไม่รู้จักจบ
ในทัศนะของผม ผมมองในแง่ดีว่า การเมืองไทยเป็นเรื่องที่มีการพัฒนาและเรียนรู้ มีความขัดแย้งสับสน แต่ไม่รุนแรง ตราบที่เรายังยึดหลักประชาธิปไตย และเราลองย้อนดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน เราได้เดินทางมาไกลมากแล้ว เราได้พัฒนามาตลอด และจะยิ่งพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
มีสุภาษิตจีนหนึ่งกล่าวว่า “นอนเตียงเดียวกัน แต่ก็ยังฝันคนละฝัน” คนเรามีความคิดไม่เหมือนกัน ผมเองก็มีความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่เป็นของผมเอง มันอาจไม่ถูกต้อง แต่ในระบอบประชาธิปไตย บุคคลย่อมมีเสรีภาพที่จะคิดที่จะแสดงออก ที่จะรับรู้ และผมจะใช้สิทธิในการนำเสนอความคิดเห็นของผมอย่างเสรีเกี่ยวกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยใหม่ ดังต่อไปนี้
ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองที่ดีที่สุด ดีที่สุดสำหรับโลกปัจจุบัน แต่ประชาธิปไตยในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกันไป ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในทุกกรณี แต่ละประเทศสามารถจัดรูปแบบการเมือง การมีกรอบของรัฐธรรมนูญ (Constitution) ที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนในประเทศก็ต้องเคารพกรอบรัฐธรรมนูญนั้น ประชาธิปไตยย่อมดีกว่าระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร เผด็จการโดยการเงิน หรือธนาธิปไตย หรือเผด็จการโดยเสียงข้างมาก
บางประเทศอาจมีประชาธิปไตยในระบอบสาธารณรัฐ ดังเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา และในอีกหลายประเทศในโลก หรือบางประเทศมีการเมืองประชาธิปไตยในระบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังเข่นประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ และในประเทศไทย ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันดังเป็นแบบพิมพ์
ที่สำคัญคือเราต้องยึดหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รักษาระบบให้ต่อเนื่อง รักษารัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกฉีกทิ้ง แก้ไขได้ แต่ต้องด้วยหลักเหตุและผล แต่ไม่ใช่พวกมากลากไป หรือแก้ไขเพียงเพื่อรักษาผลประโยชน็ของบุคคลบางคน พวกบางพวก
การเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องอาศัยระบบตัวแทน (Representative Democracy) คือการมีการเลือกตั้งตัวแทนที่เข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชน การเมืองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับประเทศที่มีคนกว่า 65 ล้านคนอย่างประเทศไทย เราต้องอาศัยการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปนั่งในสภาทำหน้าที่แทนประชาชน และนี่คือที่มาของปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น
การเลือกตั้งต้องอาศัยระบบ “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” ของประชากรของประเทศนั้น โดยไม่จำกัดคนด้วยเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และอายุ หรือไม่ว่ายากดีมีจน ประชากรทุกคนในวัยบรรลุนิติภาวะ มีสิทธิในการเลือกตัวแทนเข้าสู่สภาและระบบปกครองอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เหมือนกับความเป็นหุ้นส่วนของบริษัทห้างร้าน ที่นับเสียงตามจำนวนหุ้นหรือสัดส่วนเงินลงทุน
การเมืองยุคใหม่ต้องเปิดโอกาสให้มีประชาธิปไตยทางตรง (Direct and Participative Democracy) และต้องตระหนักว่าอำนาจประชาธิปไตยเป็นของประชาชน เมื่อใดที่ตัวแทนของประชาชนได้รับหน้าที่ไปทำการแทนประชาชนนั้น ต้องไม่เข้าใจผิดว่า เมื่อซื้อหรือได้เสียงไปแล้วจะกระทำการใดๆก็ได้ โดยไม่คำนีงถึงประโยชน์ของมหาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ผู้แทนประชาชน คนทำงานบริหารประเทศจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ได้สามารถร่วมตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของเชา
ประชาชนเองก็ย่อมต้องสามารถใช้อำนาจประชาธิปไตยทางตรง ดังเช่น การมีสิทธิตัดสินใจผ่านการทำประชามติในประเด็นสำคัญๆ การเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองที่มีปัญหา การมีประชาพิจารณ์ เพื่อให้ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนร่วมได้เสียอย่างกว้างขวาง
ในบางกรณีที่เป็นหลักการสำคัญ เป็นผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ก็สามารถแสดงออกด้วยวิธีการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience) ดังเช่นการรณรงค์ทางการเมือง การประท้วง การรณรงค์ด้วยสื่อทั้งมวล การหยุดงาน การหยุดจ่ายภาษี การยอมรับและให้มีอารยะขัดขืนอย่างเปิดเผยนั้น นับเป็นวิธีการที่ดีกว่าปล่อยให้ความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรง การปฏิวัติรัฐประหาร สงครามกลางเมือง หรือสงครามใต้ดิน ดังที่ได้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนษยชาติ
การเมืองใหม่ต้องเป็นประชาธิปไตยเสรี (Liberal Democracy) นั่นคือ ต้องมีสื่อที่เสรี ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ต และสื่อที่ก้าวหน้าอื่นๆ ทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวางและเป็นอิสระ ประชาธิปไตยเสรี คือการให้ประชาชนเองมีเสรีภาพในการแสดงออก และระบบจะต้องให้หลักประกันในเสรีภาพแสดงออก โดยปราศจากการคุกคาม ข่มขู่ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และการกลั่นแล้งทางเศรษฐกิจ และการลบหลู่ทางวัฒนธรรมและสังคม
เมื่อคนส่วนใหญ่ได้เลือกผู้เข้าทำหน้าที่บริหารประเทศหรือระบบสังคม แต่สิทธิของคนส่วนน้อยต้องได้รับการปกป้องดูแล ในระบบประชาธิปไตยเสรีนั้น คนบริหารประเทศจะต้องฟังเสียงประชาชน เมื่อบริหารประเทศไปไม่ได้ ก็ต้องรับผิดชอบ เมื่อทำผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง ก็ต้องรับผิดชอบ
การเมืองใหม่ต้องมีธรรมาภิบาล (Good Governance) เราอาจจะเรียกร้องคุณธรรมจากนักการเมืองได้ไม่ชัดเจนนัก แต่หากใช้หลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใสทางการเมือง การต้องให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรี การป้องกันไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ปล่อยให้มีการผูกขาดในกิจการที่ควรต้องมีการแข่งขัน และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้ดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับภาครัฐ ได้อย่างเสมอภาคกัน
การเมืองใหม่จะต้องยึดหลักคุณธรรม (Merit System) คือหลักที่จะต้องใช้วิธีการสรรหา และคัดเลือกคนดี คนเก่ง คนมีความสามารถเข้าสู่ตำแหน่งทางการบริหารประเทศ ระบบราชการการปกครองในทุกระดับ ทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ต้องไม่ปล่อยให้ระบบพวกพ้อง เพื่อนฝูง การเล่นสี และญาติพี่น้องได้เข้ามาแทนที่ระบบคุณธรรม
การเมืองยุคใหม่ เปิดให้มีประชาธิปไตยฐานราก (Decentralization/ Grassroot Democracy) การมีการเลือกตั้งในระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น การเลือกผู้บริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของมหานคร ดังเช่นกรุงเทพฯ เทศบาลนคร และเมือง การเลือกผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนส่วนจังหวัด (อบจ.) การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือรวมไปถึงระดับหมู่บ้าน คำว่า 70 : 30 ของผมนั้น ประชาธิปไตยร้อยละ 70 คือ ประชาธิปไตยที่ประชาชนจะได้มีบทบาทในการปกครองท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ด้วยหลักการมีธรรมาภิบาล
หากการเมืองระดับชาติมีความโปร่งใส แต่การเมืองระดับท้องถิ่นกลายเป็นระบบเจ้าพ่อ พวกพ้อง (Cronyism) การมีอิทธิพลครอบงำได้ โดยไม่มีใครหรือองค์กรใดทำหน้าที่ตรวจสอบความฉ้อฉล ไม่ปกป้องการใช้สิทธิทางการเมืองของประชาชนในแต่ละท้องที่ที่จะตรวจสอบการใช้ทรัพยกรของเขา ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองตนเองได้แล้ว ระบบนั้นก็จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชน
บทบาทรัฐบาลกลาง คือการทำสิ่งที่สำคัญที่ท้องถิ่นทำไม่ได้ ทำในสิ่งที่จำเป็น และทำให้ดีที่สุด ส่วนสิ่งที่ระบบการปกครองอื่นๆ เช่นการปกครองท้องถิ่น และภาคส่วนอื่นๆ เช่น ประชาชนในภาคการเกษตร นักธุรกิจและแรงงานอุตสาหกรรมทำได้อย่างดี ภาคบริการเอกชนเขาทำได้ ให้เขาทำไป ส่วนรัฐบาลกลางทำหน้าที่ดูและได้ดี ทำในส่วนที่จำเป็น โดยหลักว่า “จงถือหางเสือ แต่อย่าพายเรือเอง”
การเมืองใหม่ ต้องมาควบคู่กับเศรษฐกิจใหม่ เศรษฐกิจใหม่ คือเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ปกป้องธุรกิจเล็ก นายทุนน้อยให้มีโอกาสทำมาค้าขาย ไม่ใช่ระบบผูกขาด หาสัมปทานให้พวกพ้อง หรือธุรกิจในเครือ หรือแบบปลาเล็กกินปลาใหญ่ คนทำมาหากินธุรกิจเล็กๆ ตายหมด
เศรษฐกิจใหม่ที่ทำให้คนทุกคน แม้จะยากจนที่สุด ก็มีช่องทางในการทำมาหากินได้ มีรายได้อย่างน้อยต้องกินอยู่ได้อย่างพอเพียง ทำให้ประชาชนมีศักดิ์ศรีพอที่จะไม่ปล่อยให้มีวัฒนธรรมซื้อสิทธิขายเสียง
ลองดูตัวอย่างของระบบการเงิน การธนาคาร ตั้งแต่สมัยโธมัส เจฟเฟอร์สันในการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1776 เขาได้ให้ข้อท้วงติงว่า ระบบธนาคารนั้นเป็นความฉ้อฉล และซับซ้อนที่ท้ายสุด คนที่มีเงินในเมืองจะกลายเป็นคนได้เปรียบ อยู่ดีกินดี โดยที่คนที่เป็นผู้ผลิตดังชาวนา (Yeoman) อันเป็นส่วนการผลิตที่ชัดเจน แต่ต้องยากจน ไม่มีสิทธิในการกำหนดผลประโยชน์และค่าตอบแทนจากสิ่งที่ตนเองผลิตได้
ในสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ระบบธนาคารด้วยกันเอง ธนาคารเล็ก ธนาคารท้องถิ่นถูกกลืนกินด้วยธนาคารใหญ่ และธนาคารในประเทศจะถูกกลืนโดยธนาคารข้ามชาติ และในท้ายสุดธนาคารที่ยิ่งใหญ่นั้น แต่แล้วเพราะความใหญ่อย่างไม่หยุด และการขาดระบบธรรมาภิบาล ท้ายสุดก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน คล้ายไดโนเสาร์ที่จะต้องสูญพันธุ์ เวลาล้มก็จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมหาศาล
ระบบเศรษฐกิจใหม่ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องดูแลความเป็นอยู่ของคนในองค์การตัวเอง ในชุมชน ในประเทศชาติ และในสิ่งแวดล้อม
การเมืองใหม่จะต้องมีที่ยืนสำหรับคนระดับรากหญ้า การเมืองใหม่ ต้องไม่เพียงดูความถูกต้องของกระบวนการ (Means) แต่ต้องดูที่ผลงาน (Ends) และต้องดูว่าผลของการเมืองใหม่นั้น ได้ทำให้คนที่ควรได้รับการดูแล อย่างชาวนาเกษตรกรที่ยากจนจะสามารถเงยหน้าอ้าปากได้หรือไม่ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีหลักประกันในชีวิต สามารถอยู่ในเมืองได้อย่างมีความสุขหรือไม่ ในการผลิต การให้บริการ ผู้ประกอบการของเรามีความเข้มแข็งพอที่จะแข่งขันกับเขาได้หรือไม่ โดยรวมคนทุกคน และระบบสังคมทั้งมวลสามารถดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง คนมีความสุขในแบบเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ประกอบการ คนระดับกลางที่มีคนที่ทำงานด้วยองค์การขนาดเล็กและกลาง จะต้องได้รับการดูแล และไม่ถูกกลืนกินด้วยระบบทุนและองค์การขนาดใหญ่
การมีประชาธิปไตยในรูปแบบ แต่ท้ายสุดได้ผลงานที่ไม่ได้ ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้รับผลพลอย ก็ต้องต้องไปตรวจสอบระบบของเราว่ามันเกิดอะไรขึ้น การเมืองใหม่ ต้องให้ความสำคัญต่อระบบการนำ การบริหาร การจัดการ การตัดสินใจ การจัดวางโครงสร้างองค์การของส่วนต่างๆในสังคม ต้องใส่ใจการดำเนินการในแต่ละส่วน แต่ละระดับอย่างไร การเมืองใหม่จะต้องไม่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนระดับล่างผิดหวัง
การเมืองใหม่ ต้องมีฐานการศึกษาใหม่รองรับ (New Education) การศึกษาคือการที่ทำให้ประชาชนและลูกหลานของเขาโดยไม่จำกัดด้วยฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม มีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้รู้เท่าทันกัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมใหม่ที่มีความซับซ้อน ป้องกันไม่ให้คนมีเงิน คนมีความรู้ได้เอาเปรียบคนส่วนอื่นๆ ที่อ่อนแอและยากจนกว่า
การศึกษาใหม่ที่ต้องมีการกระจายอำนาจและทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้สิทธิในการกำหนดทิศทางการศึกษา และการควบคุมการดำเนินการทางการศึกษาภายในชุมชนของตนเอง การศึกษาใหม่ คือการศึกษาที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
การเมืองใหม่คือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ จิตวิญญาณใหม่ วัฒนธรรมใหม่ คือการยอมรับในความหลากหลาย รับฟังซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก และร่วมกันปกป้องสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออก วัฒนธรรมใหม่ คือการยืนหยัดให้สังคมช่วยกันทำความจริงให้ปรากฏ (Truth and Reconciliation) เราประณีประนอมกันได้ แต่ก็ด้วยต้องทำให้ความจริงปรากฎเสียก่อน เราจะไม่ยอมให้มีการลืมประวัติศาสตร์ที่เราต้องเสียชีวิตเลือดเนื้อ เมื่อมีความบกพร่องผิดพลาด เรายอมรับ และต้องเรียนรู้
วัฒนธรรมใหม่ คือ การต้องไม่เงียบเฉย เราจะไม่ยอมให้มีความอยุติธรรมเกิดขึ้น เพียงเพราะมีการคุกคาม แล้วเราเกรงกลัว เราพร้อมที่จะเผชิญหน้า (Confrontation) เผชิญหน้าด้วยว่า “เรารักท่าน เราเคารพในความเป็นมนุษย์ของท่าน แต่หากท่านทำไม่ถูก ท่านฉ้อราษฎร์บังหลวง ท่านเล่นพรรคเล่นพวก ทำให้ระบบบริหาราชการแผ่นดินเสียหาย เราก็จะพูดและแสดงออก เราจะนำความจริงมาตีแผ่ เราจะทำกันทุกคน ทำอย่างถ้วนหน้า เราไม่ยอมปล่อยแผ่นดินอันเป็นที่รักของเรานี้ต้องเสื่อมถอย เราทำมันเพราะมันเป็นของเรา เป็นของทุกๆคน
No comments:
Post a Comment