Friday, April 9, 2010

ผู้นำกับการหลงตนเอง (Narcissism)

ผู้นำกับการหลงตนเอง (Narcissism)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

Narcissism เป็นบุคลิกภาพของการหลงตนเอง ในภาษาอังกฤษ อาจมีคำเรียกว่า พวกอัตตาสูง (egotism) หรือพวกหลงในภาพของตนเอง (self-image ego)

คำว่า Narcissism มาจากเทพนิยายกรีกโบราณ นาซิสซัส (Narcissus) เป็นชายหนุ่มรูปงาม ที่ถูกลงโทษให้หลงรักเงาตนเองเมื่อมองสะท้อนลงไปในน้ำ ครั้งหนึ่ง เมื่อเขาอายุได้ 16 ปี ชายหนุ่มและหญิงสาวในเมืองต่างหลงรักนาซิสซัส แต่เขาก็ไม่ใยดีต่อความรักของคนเหล่านั้น

วันหนึ่งนาซิสซัสได้ไปท่องป่าล่าสัตว์ มีหญิงสาวหนึ่งชื่อว่า นางเสียงก้อง (Echo) ได้แอบตามเขาไป และต้องการที่จะบอกรักกับเขา นาซิสซัสได้รู้สึกถึงมีคนติดตาม จึงตะโกนถามไปว่า นั่นเป็นใคร นางเสียงก้องจึงตอบไปว่า นั่นคือใคร ซึ่งได้แต่เป็นเสียงก้องต่อๆกันไป จนในที่สุดนางได้เข้าใกล้นาซิสซัสเพื่อที่จะกอดเขาด้วยความรัก แต่เขากลับปฏิเสธ แล้วตอบเธอว่าอย่ามายุ่งกับเขา แล้วเขาก็ผละจากเธออย่างไม่มีเยื่อใย เมื่อนาซิสซัสได้จากนางเสียงก้องมา นางได้แต่เสียใจและมีชีวิตในหุบเขาอย่างเศร้าสร้อยไปตลอดชีวิต และนั่นเป็นต้นตำนานของเสียงก้องในหุบเขา (Glen) คือเสียงของนาง

เทพธิดาเนเมซิส (Nemesis) ได้ยินคำสวดและรับรู้ถึงพฤติกรรมของนาซิสซัสจึงได้ลงโทษเขา เมื่อเขาเข้าไปในป่าลึก และก้มลงดื่มน้ำ เขาก็เห็นเงาของตนเองเป็นครั้งแรก และหลงรักในเด็กหนุ่มที่เขาได้เห็นนั้น และเมื่อเขาตระหนักว่าเด็กหนุ่มที่เขาเห็นนั้นแท้จริงคือตัวเขาเอง ที่เขาจะไม่มีทางสมหวังในความรักได้ จากความผิดหว้งในตนเอง เขาเสียใจและทำร้ายตนเอง จนในที่สุดได้เสียชีวิตไป เมื่อเขาตายจากไป นางเสียงก้องได้มาปรากฏตัวด้วยความเศร้าและสงสาร ส่วนวิญญาณของนาซิสซัสได้ถูกส่งไปยังนรกชั้นที่มืดมิดที่สุด

ฟรอยด์ (Freud) บิดาแห่งนักจิตวิเคราะห์ เชื่อว่าคนทุกคนมีลักษณะแบบนาซิสซัสมาตั้งแต่เกิดจะมีมากบ้าง หรือน้อยบ้าง คือมีความหลงตนเอง รักตนเอง อย่างที่เขาบอกว่า ถ้าไม่รักตนเองแล้วจะไปรักใคร Andrew P. Morrison ได้กล่าวว่า เพราะความรักตนเองนี้ ทำให้แต่ละคนได้เข้าใจในความต้องการของตนเองที่จะต้องมีความสมดุลกับของคนอื่นๆ และถ้าหากความรักตนเองที่จะต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นๆนั้นเป็นไปได้ ความรักตนเอง หรือความเห็นแก่ตัวนั้น ก็ยังถือว่าเป็นปกติ

นอกจาก Freud แล้ว ยังมีนักจิตวิทยาอื่นๆที่ศึกษาในเรื่อง NPD นี้ ได้แก่ Klein, Horney, Kohut, Kernberg, Millon, Roningstam, Gunderson, Hare เป็นต้น

จากคำจำกัดความของโรคหลงตนเอง (Narcissistic Personality Disorder - NPD) โดย Sam Vaknin, (November 2, 2008)

Narcissisim เป็นภาพลักษณ์และพฤติกรรมของคนที่หมกมุ่นอยู่กับความต้องการของตนเอง โดยไม่เข้าใจใยดีกับความต้องการของคนอื่นๆ จะทำการต่างๆเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ความสุข การได้อยู่เหนือคนอื่นๆ และด้วยความโลภของตนเอง

คนที่ป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 75 เป็นชาย จัดว่าเป็นลักษณะบุคลิกภาพผิดปกติ (Personality disorders - PD) อย่างหนึ่ง และเมื่อก่อนเรียกว่า Cluster B

แต่ก็มีคนบางคนที่ไม่ได้ป่วยอย่างสุดขั้ว มีอาการในลักษณะหมิ่นเหม่ ซึ่งได้แก่พวกที่เรียกว่า พวกเกือบจัดได้ว่าป่วย (Borderline PD), พวกต่อต้านสังคม (Antisocial PD) และ พวกชอบแสดงออก (Histrionic PD)

ความจริงแล้วมีการศึกษาถึงโรค NPD นี้ไม่มากนักว่าอะไรเป็นลักษณะหลงตนเองจนเกินพอดี คนบางคนมีลักษณะหลงตนเองอยางไม่มาก แต่ยิ่งเมื่อมีอำนาจมากขึ้น ประสบความสำเร็จมากขึ้น ก็จะยิ่งหลงตนเองมากขึ้น จนทำให้ก่อความเสียหายแก่สังคมได้ กลายเป็นผู้นำที่เป็นพิษเป็นภัย (Toxic Leaders) ได้

อย่างไรก็ตาม มีการประมาณการณ์ว่ามีประชากรประมาณร้อยละ 0.7 ที่ป่วยเป็นโรค NPD ซึ่งหมายถึงอาการป่วยในระดับที่ไม่สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ

โรคหลงตนเองนี้มีจุดเริ่มต้นมาแต่กเด็กและจนถึงระดับวัยรุ่น อ้นเป็นผลมาจากการได้รับการทารุณจากพ่อแม่ คนมีอำนาจ และจากเพื่อนๆ คนที่ป่วยเป็นโรคนี้มีอย่างที่เป็นแบบ ป่วยแบบเบาๆ (Mild) จนกระทั่งกลายเป็นระดับผิดปกติ

สำหรับคนที่ป่วยไม่มาก ยังไม่แสดงอาการให้เห็น แต่เขาอาจมีบุคลิกภาพที่ดี มีความฉลาด ดึงดูดใจในการพูด การแสดงออก และสามารถก้าวหน้าไปจนเป็นผู้นำ หรือนักบริหารระดับสูงได้ และยิ่งเขาก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงมากเท่าใด ความหลงตนเองของเขาจะกลายเป็นปัญหากับสังคมมากเท่านั้น

อาการหลงตนเองอย่างแรง
Aggressive narcissism

เราจะสังเกตพฤติกรรมของคนที่มีอาการหลงตนเองอย่างรุนแรงนี้ได้อย่างไร ลองสังเกตพฤติกรรมเหล่านี้

- ปากหวานเล่นลิ้น โปรยเสน่ห์ (Glibness/superficial charm)

- ประเมินค่าตนเองสูง (Grandiose sense of self-worth)

- วิเคราะห์ได้ว่าโกหก (Pathological lying) หากคนที่อยู่ใกล้ จะพบว่า เขาไม่ได้พูดความจริง และไม่สนใจที่ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นจะเป็นเรื่องจริง

- เจ้าเล่ห์ ชอบชักใย (Cunning/manipulative) เขาอาจมีลักษณะเจ้าเล่ห์ อย่างที่เรียกทางภาษารัฐศาสตร์ คือเป็นพวกเลือกใช้ทุกวิถีทางที่จะให้บรรลุผลตามที่ตนต้องการ ไม่ว่าจะถูกหลักจริยธรรมหรือไม่ (ศึกษาจาก Niccolò di Bernardo dei Machiavelli, 3 May 1469 – 21 June 1527)

- ไม่มีความสำนึกรับผิด (Lack of remorse or guilt) หากเขาทำผิดประพฤติมิชอบ เขาก็จะยังมีข้อแก้ตัวไปได้

- มีความรักความชอบอย่างผิวเผิน (Shallow affect) หากจะติดตามเขาไปนานๆ จะพบว่า เขาได้เคยรักใครอย่างจริงจัง

- กระด้าง ปราศจากความกรุณา ขาดความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกคนอื่นๆ (Callous/lack of empathy) เพื่อให้บรรลุความต้องการของเขา เขาสามารถเลือกใช้วิธีการที่เหี้ยมโหด อย่างไม่มีความเมตตาได้

- ล้มเหลวที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำ (Failure to accept responsibility for own actions.) แม้ว่าเขาได้กระทำผิด แต่เขาจะไม่ยอมรับในสิ่งที่เขาทำว่าเป็นความผิด

ผลของผู้นำหลงตนเอง

ผู้นำที่หลงตนเองนั้น บางทีก็เป็นเรื่องยากที่เราจะรู้ว่าเขาจะกลายเป็นผู้นำในแบบใด จนบางครั้งเขาได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง ต่อประเทศของเขาและแม้แต่มนุษยชาติ แต่หากประชาชนผู้ให้การสนับสนุนเขาได้รับรู้ว่าเขาเป็นอย่างไรแล้ว ก็ย่อมสามารถที่จะสกัดไม่ให้เขาเหล่านั้น ผู้นำที่มีการอาการป่วยอย่างชัดเจน หรืออาการป่วยซ่อน ได้เข้าสู่การมีอำนาจ

ลองดูตัวอย่างของผู้นำที่น่าจะจัดได้ว่าเป็นพวกหลงตนเองดังต่อไปนี้

ภาพ Adolf Hitler ผู้นำเยอรมันนาซี ขึ้นสู่อำนาจในระบอบประชาธิปไตยโดยการเลือกต้้งและเสียงจากประชาชน แต่ได้กลายเป็นเผด็จการทหาร และการนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นสงครามที่สร้างความเสียหายที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ภาพ Kim Il Sung ผู้นำคอมมิวนิสต์ในประเทศเกาหลีเหนือ และเป็นผู้นำตลอดกาล แม้โดยลัทธิแล้ว เน้นความเสมอภาค และความเสียสละต่อชนชั้นกรรมาชีพ และเมื่อเสียชีวิต การสืบทอดอำนาจ ก็เป็นสู่บุตรชาย เหมือนกับในระบอบกษัตริย์

ภาพ วาดคู่ระหว่าง Kim Il Sung ผู้บิดา และ Kim Jong Il บุตรชายที่ครองอำนาจสืบต่อมาในประเทศเกาหลีเหนือ

เป็นที่เชื่อว่า ผู้นำในประเทศอัฟริกาหลายๆประเทศที่ทำให้เกิดสงครามแบบไม่รู้จบนั้น น่าจะมีผลมาจากการมีผู้นำที่มีลักษณะหลงตนเอง แยกไม่ออกระหว่างความต้องการของตนเอง และความต้องการของชาติและส้งคม

Idi Amin Dada เกิดในประมาณ ค.ศ. 1925 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 2003 เป็นเผด็จการและประธานาธิบดีของประเทศอูกานดา (Uganda) ในช่วงปี ค.ศ. 1971-1979 Amin ได้เติบโตในกองทัพของอังกฤษในอัฟริกา ในปี ค.ศ. 1946 ได้รับยศเป็น Major General และได้เป็นแม่ทัพบกของอูกานดา และได้เข้าสู่อำนาจโดยการปฏิวัติรัฐประหาร โดยโค่นล้มอำนาจของ Milton Obote
ภาพ Idi Amin ประธานาธิบดีเผด็จการทหาร แห่งประเทศอูกานดา

Amin ปกครองในยุคฝ่าฝืนสิทธิมนุษยชน กดขี่ทางการเมือง สังหารชนกลุ่มน้อย มีการฆ่าฝ่ายตรงกันข้ามอย่างไม่ต้องคำนึงถึงกฏหมาย การเล่นพรรคเล่นพวก คอรัปชั่น และการบริหารเศรษฐกิจของประเทศอย่างผิดพลาด ในช่วงที่เขาครองอำนาจได้มีผู้เสียชีวิตจากการครองอำนาจของเขากว่า 100,000 คน

No comments:

Post a Comment