ทางออกประเทศไทย
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob CooparatE-mail: pracob@sb4af.org
ความนำ
ไม่ใช่การยุบสภาเสียงคนส่วนใหญ่
จะเลือกตั้งเมื่อใด
ทางออกเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ
ทางออกของการแก้ปัญหา
การเจรจากัน
สังคมไทยมีคำตอบ
Keywords: การเมือง, การปกครอง, politics,
ประเทศไทย
บทความนี้เขียนในช่วงปีพ.ศ. 2553 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
อันเป็นช่วงที่มีความขัดแย้งรุนแรงที่สุด และในช่วงหลังจากนั้น
คือการที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้เข้ายึดพื้นที่บริเวณถนนราชประสงค์
และศูนย์การค้า Central World เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ลาออก
แต่ในที่สุด รัฐบาลหลังจากเจรจาไม่สำเร็จ ได้ใช้กำลังทหารเข้าปิดล้อม
แล้วแยกประชาชนผู้ประท้วงออกจากที่ชุมนุมให้มากที่สุด
ก่อนจะบุกสลายการชุมนุมในที่สุด ซึ่งในช่วงหลายเดือนของความขัดแย้ง
และมีการใช้อาวุธของฝ่ายต่อต้าน และฝ่ายรัฐบาล มีผู้เสียชีวิตรวม 91 ศพ ซึ่งมีทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาล นปช. ผู้ชุมนุม
ประชาชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และฝ่ายทหาร
ในที่สุดฝ่ายต่อต้านถูกปราบปราม
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องขึ้นศาลทั้งสองฝ่าย
และเรื่องก็ยังอยู่ในระหว่างคดีความจนถึงในปัจจุบัน (พฤษภาคม
พ.ศ. 2555) นับเป็นเวลา 2 ปีมาแล้ว
แม้ปัจจุบัน ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่
คงจะต้องให้กาลเวลาเป็นเครื่องแก้ปัญหาไปในที่สุด
ต่อไปนี้ เป็นบทความที่ได้เขียนเมื่อ วันอังคารที่
๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นการเขียนขึ้นโดยอาศัยการนำเสนอไปใน Twitter แล้วเก็บความนำมาเรียบเรียงเสนอใหม่
--------------------------------------
ผมได้เข้าไปสำรวจใน Twitter พบว่ามีหลายคนได้ให้สัมภาษณ์ไปว่า ประเทศไทยได้ถึงทางตัน ไม่มีทางออก
แต่ผมเห็นตรงกันข้าม เรายังมีทางออกเสมอ เวทีการเมืองไม่ได้อยู่เพียงที่ราชประสงค์
หรือถนนราชดำเนิน
การเมืองเป็นเรื่องของทุกคนและทุกฝ่ายที่ต้องใช้การตัดสินใจที่สังคมยอมรับ
มีหลายฝ่ายได้แสดงทัศนะไม่เห็นด้วยที่
จะให้นายกฯอภิสิทธิ์ลาออกในขณะนี้ ซึ่งรวมถึงนักวิชาการกลุ่มหลัก เพราะที่แน่ๆ
ยังไม่มีทางออกที่จะแสดงว่า จะทำอย่างไรกับบ้านเมืองหลังจากนั้น
จะให้ใครและฝ่ายไหนดูแลรับผิดชอบบ้านเมืองนี้
มีคำให้สัมภาษณ์จากผู้นำการชุมนุมของคน เสื้อแดง
(Red shirts leaders) ที่ขึ้นเวทีว่า เขาปิดทางเจรจา
แต่นั่นก็ต้องทราบว่า ผู้นำคนเสื้อแดงที่ปรากฏนั้นไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริง
คนที่มีอำนาจแท้จริง คือคุณทักษิณ ชินวัตร (Thaksin)
เราลองมาร่วมกันใช้สติปัญญา และความหวังดีต่อบ้านเมืองเพื่อหาทางออก
ตราบใดที่เรามีความหวัง ทางออกของบ้านเมืองต้องมี
5. pracob
BKK: House dissolution still is not the answer, if new election and
constitution amendment not agreed upon.
การยุบสภาผู้แทนราษฎร (House
Dissolution) ตามข้อเรียกร้องของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยังไม่ ใช่คำตอบ
ซึ่งผู้รู้ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า
การยุบสภาแล้วยังมองไม่เห็นข้อเสนอแนะ
ว่าจะทำอะไรต่อไปนั้นย่อมไม่ใช่ทางเลือกของบ้านเมืองที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องสุญญากาศทางการเมือง
(Political Vacuum) เพราะการยุบสภาทันที
แล้วเลือกตั้งโดยเร็ว
ปัญหาที่ตามมาคือจะจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างไรที่จะบริสุทธิ์ยุติธรรม
และยอมรับได้จากทุกฝ่าย
ระหว่างเลือกตั้งนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่มีระเบิดข่มขู่รายวัน
หรือมีการลอบสังหารนักการเมืองอย่างที่ปรากฏมาแล้ว
หลายฝ่ายเห็นด้วยว่าต้องให้มีกฎ
กติกาที่หลายฝ่าย และสังคมยอมรับได้
ส่วนที่ฝ่ายเสื้อแดงหรือผู้ประท้วงจะยอมรับหรือไม่ ยังไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นเงื่อนไข
แต่ไม่ว่าเงื่อนไขใดๆ ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และคนส่วนใหญ่รับได้
คนส่วนน้อยแม้ต่อต้าน แต่จะไม่มีเหตุผลอันควรที่จะต่อต้านต่อไป
4. pracob
BKK: It's about the majorities of people; business, communities, professionals,
labors what they really want.
เมื่อพูดถึงเสียงคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย นั้น
จะรู้ได้อย่างไร จะต้องไปทำประชามติหรือ ซึ่งมันก็นานเกินไป และก็จะยากที่จะได้รับความยอมรับในช่วงเวลานี้
ซึ่งจากการสำรวจจากทั้งใน Web ในระบบออนไลน์อื่นๆ
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็มองว่ากระทำอย่างไม่เป็นกลาง เพราะคนฝ่ายต่อต้านเป็นพวกไม่ใช้ Web
สิ่งสำคัญที่ฝ่ายรัฐบาลต้องกระทำคือ
ต้องทำให้เกิดการเลือกตั้งได้ในเวลาอันควร และไม่เป็นเกม
การซื้อเวลา
แต่ในการเมืองประเทศไทย
คนส่วนใหญ่และเป็นผู้เล่นทางการเมืองหลักๆ คือ
ฝ่ายหนึ่ง คือฝ่ายรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์
พรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง
ฝ่ายหนึ่ง คือคุณทักษิณ ขินวัตร
ที่ได้แสดงผ่านการ Phone-in หรือ Twitter (@thaksinlive)
หรือส่ง SMS เข้ามา
คนที่จะรับรู้ความต้องการของเขาได้นั้น หาได้ยาก
เพราะเขาไม่ได้มีการแต่งตั้งให้สามารถพูดแทนได้ แต่มีคนที่อ่านใจออก
ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านเท่าที่มีในรัฐสภา
คือพรรคเพื่อไทย (Pheu Thai Party – PTP) พลเอกเชาว ลิต
ยงใจยุทธ ดูเหมือนจะเป็นคนที่มีเสียงดังกว่าเพื่อน แต่กระนั้นสังเกตได้ว่า
อยากให้ไปพูดกับ อดีตนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์
ซึ่งมีความเกี่ยวดองกับคุณทักษิณโดยตรงมากกว่า แต่โดยทางกฎหมายอย่างไรเสีย
พรรคเพื่อไทย ก็เป็นพรรคฝ่ายค้านที่ต้องฟังเสียง
แม้เสียงที่ปรากฏในขณะนี้จะออกมาในทางเดียวกับฝ่ายคนเสื้อแดง
นอกจากนี้
ยังมีกลุ่มอดีตนายกรัฐมนตรีที่จะมารวมกันหาทางออก ซึ่งต้องเป็นหลังสงกรานต์
อันได้แก่ คุณบรรหาร ศิลปอาชา คุณชวน หลีกภัย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ คุณอานันท์ ปันยารชุน
ซึ่งอาจมีคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ตามมาด้วย แต่นั่นหากพูดคุยกันได้
และมีความเห็นออกมาย่อมมีน้ำหนัก และขึ้นอยู่กับว่า
ข้อเสนอนั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร คนที่มีอำนาจในปัจจุบันตามกฎหมาย
คือฝ่ายรัฐบาลยอมรับได้หรือไม่
องค์กรที่มีหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน
ดังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สถาบันพระปกเกล้า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
สภาหอการเค้า สภาอุตสาหกรรม องค์กรแรงงาน ผู้นำชุมชน ฯลฯ
เหล่านี่ล้วนสามารถออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง
เพื่อหาทางออกแก่บ้านเมืองได้ทั้งสิ้น และทุกฝ่ายต้องรับฟัง
ประเด็นสำคัญ
คือการต้องได้ทางออกที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้
และรัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลอย่างจริงจัง
แต่ไม่ว่าจะได้รับการยอมรับหรือไม่ยอมรับ
มีเสียงคัดค้านหรือไม่ คำตอบก็คงได้ว่า ก็จะไม่มีความเป็นเอกฉันท์
แต่ในที่นี้ก็มีสื่อทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ Digital means ผ่านอินเตอร์เน็ต
ที่สามารถนำความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่มานำเสนอได้อย่างรวดเร็วว่า
คนส่วนใหญ่คิดอย่างไร และต้องการทางออกอย่างไร
3. pracob BKK : Roadmap toward peace
& conciliation can be proposed by various respectable groups.
ความสำคัญคือการต้องมี Roadmap จากฝ่ายที่มีอำนาจ ซึ่งในปัจจุบัน คือ รัฐบาลของนายกฯอภิสิทธิ์ (PM_Abhisit)
และพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งในที่นี้
ความสำคัญจะอยู่ที่ต้องให้หลายฝ่ายที่เป็นผู้เล่นสำคัญเห็นชอบด้วย
และสิ่งเหล่านี้คือจะมีเงื่อนไขเรื่อง
1. การเลือกตั้งแม้ประกาศ ว่าจะเลือกตั้งภายใน 9
เดือนในสถานการณ์ปัจจุบัน นับว่ายาวนานไป แต่หากสั้นกว่า 6 เดือน ก็ถือว่าสั้นไป
แต่จะอยู่ในช่วงใดในระหว่าง 6-8 เดือนนี้ถือว่าสังคมส่วนใหญ่รับได้
แต่นั่นต้องให้หลักประกันด้านการนำความสงบเรียบร้อยกลับสู่บ้านเมืองให้ได้
2. การให้มีการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญในประเด็นหลัก
คือเรื่องกฎหมายการเลือกตั้งที่ทำให้โทษการทำผิดการเลือกตั้งรุนแรงระดับยุบพรรค
ซึ่งปัจจุบันจัดว่าเป็นยาแรงเกินขนาด เพราะทุกพรรคมีสิทธิถูกยุบได้ทั้งสิ้น
รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์
3. การอภัยโทษนักการเมือง
มีหมดสิทธิไปด้วยการยุบพรรคไปแล้ว เฉพาะข้อความผิดของการยุบพรรค
ให้สามารถกลับเข้าสู่เวทีการเมืองได้ ซึ่งในที่นี้รวมถึงผู้นำพรรคฝ่ายค้าน
กรรมการบริหารในพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และอื่นๆ
แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงคุณทักษิณ ชินวัตร ที่มีคดีอาญาที่ต้องกลับมารับโทษก่อน
ในเรื่องนี้ทัศนะส่วนตัวของผม เห็นว่า
การลงโทษทางการเมืองด้วยการยุบพรรคถือเป็นความรุนแรงที่เกินไป
น่าจะปรับแก้ที่ให้มีการลงโทษที่มีไปตามระดับความผิด อาจจะเป็นด้านการปรับเป็นเงิน
การตัดสิทธิการลงสมัครรับการเลือกตั้งของผู้กระทำผิดเป็นคนๆไป
การยุบพรรคอย่างที่กระทำอยู่เท่ากับทำลายพรรคการเมืองที่คนเลือกตั้งเขาเข้า
มาจากจำนวนหลายล้านคนนั้น ไม่มีความหมาย
และทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องแบกรับความรับผิดชอบที่หนักหนาเกินเหตุ
ซึ่งจะสังเกตได้จากที่ผ่านมา
ในการปรับแก้รัฐธรรมนูญนี้
ได้เปิดช่องให้กระทำได้ โดยมีหรือไม่มีการขอประชามติก็ได้ แต่ที่สำคัญคือ
ประชาชนทั่วไปยอมรับได้ ตัวผู้เล่น คือนักการเมือง พรรคการเมืองยอมรับในกติการ่วมกันได้
ถือเป็นหลักใหญ่
2. pracob
BKK: Breakthrough will be within constitution frame & legal means, so the
house is needed.
มีคนเข้าไปเสนอว่าเมื่อถึงเวลา
ไม่มีทางออกทางการเมือง ทหารก็จะออกมาปฏิวัติ (Coup d’etat) คนสันทัดทางการเมืองคงบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า
กระทำไม่ได้ เพราะขนาดทหารมีอำนาจอยู่ในมือตามกฎหมาย
ก็ยังไม่สามารถจัดการกับกลุ่มประท้วงได้ และที่เคยปฏิวัติรัฐประหารมาแล้วนั้น
ก็แสดงให้เห็นว่าทำให้กองทัพเสียหายเสียมากกว่าได้ นับเป็นบาดแผลทางสังคมที่คนเสื้อแดงใช้โจมตีอย่างไม่รู้จบ
การแก้ปัญหาโดยดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาทำหน้าที่
ยิ่งไม่บังควร ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต
สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องดำรงอยู่อย่างไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่เป็นความขัดแย้ง
มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นเป้าโจมตีได้อย่างที่ผ่านมา
การแก้ไขปัญหาการเมืองตามกรอบรัฐธรรมนูญ
และตามกฎหมายเท่าที่มี นั้นคือ
1. ใช้กลไกทางรัฐสภา ทั้งจากสภาผู้แทนราษฎร
และวุฒิสภา (Parliamentary System) แม้
สภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งนั้นได้หันไปใช้วิธีการนอกสภา แต่สภาฯ
ก็ยังสามารถทำหน้าที่ได้
2. การจัดให้มีการเลือกตั้งในเวลาอันควร นั่นคือ
นานพอที่จะให้ความโกรธแค้นลดลง สามารถดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปได้อย่างเรียบร้อย
และมีกฎกติกาการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
1. pracob
BKK: All Gov coalition & opposition party leaders will need to talk &
find solutions within constitution frame.
การเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาล
นายกอภิสิทธิกับแกนนำนปช. (United People for Democracy against
Dictatorship – UDD) ก็ต้องยังเปิดช่องอยู่
อย่างน้อยก็ต้องกำหนดกรอบการประท้วง และการจะนำหรือไม่นำกำลังทหารเข้าควบคุมฝูงชน
การจะใช้สันติวิธีหรือไม่หรืออย่างไร
เพราะหากไม่มีการเจรจากัน
โดยฝ่ายนปช.ปิดทางการเจรจา ย่อมหมายความว่า ส่วนที่เหลือ คือพรรคเพื่อไทย
และคุณทักษิณ ก็เห็นเป็นเช่นนั้นหรือ
เพราะไม่เพียงฝ่ายรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสีย
แต่ฝ่ายคุณทักษิณ พรรคเพื่อไทย และนปช. ล้วนต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน
การจะปฏิเสธว่านั้นเป็นเรื่องของ “แดงแท้” หรือ “แดงเทียม” หรือพวกผู้ก่อการร้ายที่เขาไม่รับผิดชอบนั้น
เท่ากับปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้แนวทางสันติวิธีอย่างรับผิดชอบ
ไม่มีคำอธิบายของคนเสื้อดำ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างชัดแจ้ง แล้ว
"คนเสื้อดำ" เขาคือใคร ซึ่งฝ่ายแกนนำคนเสื้อแดงต้องให้คำตอบ
หรือร่วมมือในการให้คำตอบ จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
ไมว่าจะอย่างไร สังคมไทยยังมีคำตอบ
คำตอบอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่ไม่ให้เสียเลือดเนื้อก็พึงกระทำ
และทุกฝ่ายได้เห็นปัญหาแล้ว ก็ต้องร่วมกันแก้ไข ฝ่ายที่ไม่ร่วมมือแก้ไข
ก็แสดงว่าปฏิเสธความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำ แล้วนั่นย่อมหมายความว่า
จะไม่มีอำนาจและความชอบธรรมใดๆในสังคม
เพราะเขาไม่มีคำตอบว่าเข้ามามีบทบาทเพื่ออะไร
No comments:
Post a Comment