Friday, April 30, 2010

บทบาทของสื่อสารมวลชนในประเทศไทย

บทบาทของสื่อสารมวลชนในประเทศไทย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การเมืองการปกครอง, conflict, ความ ขัดแย้ง, สื่อสารมวลชน

ความคิดเห็นที่ผิดๆ ยังพอรับได้ หากที่นั้นการใช้เหตุผลยังเป็นไปได้อย่างเสรีเพื่อหักล้างสิ่งผิดพลาดเหล่านั้น Thomas Jefferson

Errors of opinion may be tolerated where reason is left free to combat it. - Thomas Jefferson

ในสมัยก่อนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศฝรั่งเศส ในราวปี ค.ศ. 1789 จะมีคนประเภทเป็นนักพูด เวลามีศัตรูการเมืองที่ไหน ก็ชักจูงคนด้วยวาจาให้ไปถล่มคู่ต่อสู้ อำนาจจึงขึ้นอยู่กับปากและปลายปากกา ส่วนฝูงชนนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมืออย่างหนึ่งของนักการเมืองที่จะลากจะจูงไปจุดมุ่งหมายดังประสงค์ และเพราะการเมืองที่ไม่รับผิดชอบ และคนขาดการศึกษา จึงนำพาประเทศไปสู่ความสับสน จนท้ายสุด ระบบสาธารณรัฐ (Republic) ของฝรั่งเศสก็ไม่เข้มแข็งและกลายเป็นมีระบบกษัตริย์กลับมาปกครองในระยะต่อมา

ในสหรัฐอมริกา แม้เป็นประเทศใหม่ที่ยังป่าเถื่อน แต่เขารักษาหลักการของประชาธิปไตยในแบบสาธารณรัฐอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่เริ่มประกาศอิสรภาพ ในค.ศ. 1776 ขณะเดียวกันก็คือการเริ่มประชาธิปไตยอย่างที่คนรุ่นแรกเริ่มงานอย่างเสียสละ George Washington เป็นผู้ได้รับความเคารพที่ไม่ยอมรับตำแหน่งเกินกว่า 2 สมัยหรือรวม 8 ปี อ้นเป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้นำในยุคหลังๆ นักต่อสู้ผู้รักชาติที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในยุคแรกต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศใหม่นี้จึงได้รับฉายาว่า บิดาผู้ก่อตั้ง หรือ The Founding Fathers

ส่วน Thomas Jefferson ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีคนที่สามของประเทศ ก็มีความเป็นนักหลักประชาธิปไตย ทั้งพูดและเขียนที่เป็นหลักการของประชาธิปไตยที่ทำให้คนได้รับรู้ เรียนรู้ และเดินตาม ในหลักการประการหนึ่ง คือเสรีภาพของคนที่จะแสดงออกได้อย่างเสรี แม้จะไม่ถูกต้อง แต่ใช้หลักว่า ตราบเท่าที่คนทุกฝ่ายมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี คนฟังได้มีสิทธิฟังอย่างกว้างขวางหลากหลายและมีทางเลือกที่จะพิจารณา ประกอบกับฝ่ายมีอำนาจ ก็จะไม่สามารถมีอำนาจอย่างล้นฟ้า อำนาจสามฝ่าย อันได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ล้วนดำรงอยู่อย่างมีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน และฝ่ายบริหารซึ่งมีอำนาจอยู่ในมือ ดังประธานาธิบดี ก็ไม่อยู่ในตำแหน่งเป็นเวลานานเกินจำเป็น ดังนั้นประชาธิปไตยของสหรัฐจึงอยู่ยั้งยืนยงอย่างมีดุลยภาพมาจนถึงปัจจุบัน

ระบบเสรีภาพของสื่อ ก็เป็นเสรีภาพที่คนยึดถือเป็นหลักการ และทำให้สิทธิในการแสดงออก และการรับรู้เป็นหลักการประชาธิปไตยที่สำคัญตราบจนปัจจุบัน นั่นคือการยืนอยู่บนหลักการที่ว่า สื่อต้องเป็นสื่อที่เสรี และรับผิดชอบ และขณะเดียวกัน ต้องสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี โดยปราศจากการคุกคามข่มขู่

No comments:

Post a Comment