Thursday, April 8, 2010

การเมืองใหม่ ต้องมาควบคู่กับเศรษฐกิจใหม่ (New Economy)

การเมืองใหม่ ต้องมาควบคู่กับเศรษฐกิจใหม่ (New Economy)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ผมจำไม่ได้ว่าบทความนี้ผมเขียน หรือนำมาจากเพื่อนๆ แต่มันตรงกับใจผมในวันนี้ แม้เมื่อเขียนนั้น เป็นช่วงของปีที่ผ่านมา หากประเทศไทยจะต้องปฏิรูปการเมืองเสียใหม่ ก็ต้องมีการดูแลระบบเศรษฐกิจในแบบที่สอดค้องกับการพัฒนาประเทศ

เศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economy คือเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ปกป้องธุรกิจเล็ก นายทุนน้อยให้มีโอกาสทำมาค้าขาย ไม่ใช่ระบบผูกขาด หาสัมปทานให้พวกพ้อง หรือธุรกิจในเครือ หรือแบบปลาเล็กกินปลาใหญ่ คนทำมาหากินธุรกิจเล็กๆ ตายหมด

เศรษฐกิจใหม่ที่ทำให้คนทุกคน แม้จะยากจนที่สุด ก็มีช่องทางในการทำมาหากินได้ มีรายได้อย่างน้อยต้องกินอยู่ได้อย่างพอเพียง ทำให้ประชาชนมีศักดิ์ศรีพอที่จะไม่ปล่อยให้มีวัฒนธรรมซื้อสิทธิขายเสียง

ลองดูตัวอย่างของระบบการเงิน การธนาคาร ตั้งแต่สมัยโธมัส เจฟเฟอร์สันในการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1776 เขาได้ให้ข้อท้วงติงว่า ระบบธนาคารนั้นเป็นความฉ้อฉล และซับซ้อนที่ท้ายสุด คนที่มีเงินในเมืองจะกลายเป็นคนได้เปรียบ อยู่ดีกินดี โดยที่คนที่เป็นผู้ผลิตดังชาวนา (Yeoman) อันเป็นส่วนการผลิตที่ชัดเจน แต่ต้องยากจน ไม่มีสิทธิในการกำหนดผลประโยชน์และค่าตอบแทนจากสิ่งที่ตนเองผลิตได้

ในสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ระบบธนาคารด้วยกันเอง ธนาคารเล็ก ธนาคารท้องถิ่นถูกกลืนกินด้วยธนาคารใหญ่ และธนาคารในประเทศจะถูกกลืนโดยธนาคารข้ามชาติ และในท้ายสุดธนาคารที่ยิ่งใหญ่นั้น แต่แล้วเพราะความใหญ่อย่างไม่หยุด และการขาดระบบธรรมาภิบาล ท้ายสุดก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน คล้ายไดโนเสาร์ที่จะต้องสูญพันธุ์ เวลาล้มก็จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมหาศาล

ระบบเศรษฐกิจใหม่ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องดูแลความเป็นอยู่ของคนในองค์การตัวเอง ในชุมชน ในประเทศชาติ และในสิ่งแวดล้อม

ดูตัวอย่าง

ระบบการเงินการธนาคาร บริษัทข้ามชาติ กองทุน (Hedge Funds) บริษัทประกันภัยต่างๆ ที่มีฐานในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ดำเนินกิจการแบบมีเงินมากกว่า มีความแข็งแกร่งกว่า เข้าครอบครองธนาคารและบริษัทในประเทศที่มีความล้าหลังกว่า อ่อนแอกว่า แล้วในท้ายที่สุดตัวเองก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจ และลามปามไปถึงวิกฤติระดับชาติ ดังนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจใหม่ที่พึงประสงค์

บริษัทน้ำมันทั้งหลายที่เร่งผลิต ขุดเจาะ นำน้ำมันออกมาใช้ โดยไม่มีความสำนึกในปัญหาสิ่งแวดล้อม การไม่ได้คิดถึงปัญหาพลังงานที่ไม่ยั่งยืน ดังนี้ก็ไม่จัดเป็นธุรกิจใหม่ที่รับผิดชอบ และกิจการน้ำมันส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น คิดไม่มีความคิดหรือริเริ่มที่จะทำอะไรที่เป็นพลังงานทางเลือก

เศรษฐกิจใหม่ ต้องไม่คิดว่าความสำเร็จของธุรกิจคือการทำให้มีขนาดใหญ่ที่สุด กำไรมากที่สุด หรือผูกขาดได้กว้างขวางที่สุด ได้ครอบครองสิทธิบัตร หรือสัมปทานของรัฐไว้ได้มากที่สุด มีความได้เปรียบทางธุรกิจต่อกลุ่มอื่นๆ ดังนี้ไม่นับว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ที่จะเป็นผลดีต่อบ้านเมือง และแม้แต่สังคมโลกโดยรวม

เศรษฐกิจใหม่ ต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ ความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช้ทรัพยากรของโลกอย่างฟุ่มเฟือย ทุกคนต่างกินอยู่อย่างพอเพียงมีเหตุมีผล มีความแข็งแกร่งมาก ก็ต้องคิดถึงการทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ หากมองย้อนมาที่สังคมไทย เราคงต้องเร่งรีบพัฒนาชนบทของไทย ให้มีความแข็งแกร่ง ลดช่องว่างระหว่างคนมีและคนจนให้ได้มากที่สุด และสิ่งเหล่านี่จะต้องเป็นความพยายามของทุกฝ่าย

No comments:

Post a Comment