ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: การเมือง การปกครอง, ผู้นำ, คำขวัญ
“The best way to destroy an enemy is to make him a friend.” Abraham Lincoln
“ทางที่จะทำลายศัตรู คือการทำให้เขาเป็นมิตร” คำกล่าวของประธานาธิบดี Abraham Lincoln ผู้นำสหรัฐในช่วงสงครามกลางเมือง (American Civil War) หรือสงครามเลิกทาส
การทำลายศัตรูในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการต้องใช้อาวุธไปประหัสประหารผู้คน แต่การที่เราสามารถเปลี่ยนคนที่เขาไม่เห็นด้วยกับเรา ไม่เข้าใจเรา แต่เขาอาจเป็นคนดีที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองหรือสิ่งที่ใหญ่กว่า แล้วเรานำเขามาใช้งาน ให้เขาได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สังคมส่วนใหญ่ก็ได้ประโยชน์ เราเองก็เหนื่อยน้อยลง
ในช่วงแห่งความวิกฤติก่อนและระหว่างสงครามกลางเมือง ลินคอล์นได้แต่งตั้งคนที่เคยเป็นคู่แข่งทางการเมืองของเขาเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ หากคิดแบบไทยๆก็คือการมี “หอกข้างแคร่” แต่เพราะความที่เขาเป็นคนยิ่งใหญ่ และไม่ได้คิดเฉพาะเรื่องที่เป็นตัวของเขาเอง การแต่งตั้งคู่แข่งที่เป็นคนมีความสามารถ มีพลังทางการเมือง แม้จะแพ้เขาในการแข่งขันไปแล้ว แต่ความสามารถเฉพาะของคนๆนั้น ย่อมสำคัญกว่าความสวามิภักดิ์เป็นส่วนตัว
ในเรื่องการใช้คนให้เหมาะกับงานนี้ เขาจึงมีคำแนะนำว่า ให้เลือกคนหรือเพื่อนร่วมอุดมการณ์มากกว่าเพื่อนซี้ (Crony, buddy) อันว่า เพื่อนซี้หรือเพื่อนกินเพื่อนเที่ยวนั้น ก็ให้ถือว่าเป็นเพื่อนส่วนตัว แต่หากเขาไม่มีความสามารถ เราแต่งตั้งคนที่ไม่มีความสามารถเข้าไปทำหน้าที่ เพราะความใกล้ชิดเป็นส่วนตัวนั้น ท้ายที่สุดเท่ากับไปสร้างศัตรู แต่ในทางตรงกันข้าม การแต่งตั้งคนที่เป็นฝ่ายที่เคยเป็นปรปักษ์ต่อกัน แต่อาจมีอุดมการณ์บางอย่างร่วมกัน เกิดการแบ่งปันอำนาจ ลดแรงต้านจากศัตรู ดังนี้ก็จะเป็นผลดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ในยุคของประธานาธิบดี Barrack Obama แห่งสหรัฐอเมริกา ก็ได้แต่งตั้ง Hilary Clinton คู่แข่งในการเป็นตัวแทนพรรค Democrat เป็นประธานาธิบดี ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีความสำคัญและเป็นหน้าตา และกระบอกเสียงของประเทศ และในการแต่งตั้งนี้ เท่ากับไปลดความบาดหมางจากฝ่ายต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและชนกลุ่มน้อยดังพวกเชื้อสายเมกซิกันและลาติน (Mexican American, Latino) ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ในทางการเมืองนั้น จึงมีคำขวัญว่า “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูที่ถาวร” แม้คนที่เคยเป็นศัตรูกัน รบกัน แต่เพื่อประโยชน์ของสิ่งที่ใหญ่กว่า การที่ต้องกลับมาคืนดีกัน ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ ต้องไม่นำเรื่องส่วนตัวให้กลายเป็นความบาดหมางที่ขยายวงกว้างออกไป และในด้านกลับกัน ต้องไม่นำเรื่องการเมืองที่เป็นเรื่องใหญ่กว่าตนเอง ให้กลายเป็นความบาดหมางต่อกันในบ้าน ในชุมชน
No comments:
Post a Comment