Sunday, April 18, 2010

เรื่องของตำรวจ - เลี้ยงพังพอนเพื่อสู้กับงูเห่า

เรื่องของตำรวจ - เลี้ยงพังพอนเพื่อสู้กับงูเห่า

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การเมืองการปกครอง, ธรรมชาติ, ตำรวจ, BKK-PD

พังพอน (Mongoose) มีธรรมชาติของการต่อสู้กับสัตว์ร้ายอย่างงูเห่า (Cobras) ได้ดี ดังนั้นจะเห็นได้จากชาวนาเกษตรกรในประเทศเอเชียใต้อย่างอินเดีย และชมพูทวีป จึงได้มีวัฒนธรรมการมีงูไว้ตามธรรมชาติเพื่อกำจัดหนู แต่ขณะเดียวกัน ก็มีพังพอน เอาไว้ควบคุมประชากรงู โดยเฉพาะงูใกล้บ้าน

ภาพ พังพอนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มีหลายพันธุ์ ขนาดใหญ่กว่าแมว เป็นสัตว์กินเนื้อขนาดเล็ก ขนาดความยาวหัวจดหางประมาณ 100-120 เซนติเมตร

ภาพ พังพอนกำลังต่อสู้กับงูเห่า

นายอำเภอยุคตะวันตก

ในทางการเมืองการปกครอง ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการขยายดินแดนไปทางตะวันตกเมื่อกว่า 150 ปีมาแล้ว ในยุคนั้น โอกาสในการทำมาหากินเป็นของทุกคน ตั้งแต่การเกษตร การขุดทอง การทำเหมืองแร่ แต่เพราะความที่มีแต่ชาวบ้านที่จะทำมาหากิน ไม่มีกลไกในการดูแลปกป้องตนเอง เมื่อมีอันธพาลเข้ามาครองเมือง ก็ไม่มีวิธีการที่จะดูแล หากปล่อยให้มีคนมีอาวุธมาข่มขู่เรียกเก็บค่าคุ้มครองกันตามใจชอบ เมื่อนั้นก็เท่ากับให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพไร้กฎหมาย จึงมีการตกลงกันในระดับเมืองทั้งหลายที่จะมีนายอำเภอ (Sheriff) และผู้ช่วยที่จะทำหน้าที่ดูแลเมืองของเขา หากเมืองใหญ่น้อยก็จะมีการจ้างผู้ช่วยนายอำเภอ (Deputy) เพื่อช่วยงาน ในสภาพปกติ การดูแลความเรียบร้อยดังกล่าวก็พอเป็นไปได้ แต่หากกำลังพวกกลุ่มนอกกฎหมาย (Outlaws) มีมากและแข็งแกร่งกว่า นายอำเภอ ก็สามารถแต่งตั้งผู้ช่วยนายอำเภอจากชาวบ้านอาสาสมัครนั้นแหละเข้ามาช่วยงาน

ภาพ ตราที่นายอำเภอกลัดติดที่หน้าอก การแต่งกายในยุคแรกๆ ไม่มีเครื่องแบบที่ชัดเจน แต่ในปัจจุบันมีการแต่งเครื่องแบบที่ได้ออกมาในแต่ละเมือง เพื่อให้รู้ได้ชัดถึงความเป็นเ้จ้าหน้าีที่

นายอำเภอและผู้ช่วยเหล่านี้ก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นพังพอนที่คอยควบคุมประชากรงูเห่า หรือพวกโจร หรือพวกนอกกฎหมาย ชาวเมืองโดยผ่านนายกเทศมนตรีของเมืองทำหน้าที่เป็นนายจ้าง มีเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ชาวบ้านช่วยกันจ่ายในระบบภาษีอากร

แต่ในยามที่เมืองมีอันธพาลหรือกองโจรมากันเป็นสิบเป็นร้อย การที่คนทำหน้าที่ดูแลกฎหมายเพียงหยิบมือ ก็จะไม่เพียงพอ ก็ต้องมีการแต่งตั้งชาวบ้านชาวเมืองนี้แหละที่จะเป็นผู้ช่วยเพิ่มเติม เพราะบางครั้งจะรอให้กองกำลังทหารม้ามาลาดตระเวนนั้น คงไม่พอหรือไม่ทันกาล ดังนั้นการที่ชาวบ้านชาวเมืองเขารักษาสิทธิในการดูแลเมืองของเขาเองเป็นหลักนี้ จึงมีอยู่ในวัฒนธรรมและสายเลือด เมืองใหญ่ขึ้น เขาก็พัฒนาระบบ จากนายอำเภอ กลายเป็นระบบตำรวจประจำเมือง เขาไม่นิ่งดูดายปล่อยให้ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลระดับรัฐ (State Government) หรือรัฐบาลกลาง

ระบบการดูแลรักษากฎหมาย จึงเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เมืองแต่ละเมืองต้องมีระบบดูแลความเรียบร้อยของตนเองเป็นหลักพื้นฐานไว้ก่อน และเมื่อที่ใดมีปัญหา มีการดำเนินการอย่างไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญจึงค่อยเป็นหน้าที่ของรัฐบาลรัฐ หรือรัฐบาลกลางเข้าไปทำหน้าที่ดูแล ปัจจุบันเมืองในสหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่มีประชากรนั้นเป็นล้านๆคน แต่เขาก็ดูและเมืองของเขากันเอง โดยการเลือกนายกเทศมนตรี (Mayors) แล้วนายกเทศมนตรีนั้น ก็รับผิดชอบในหลายบริการของเมือง ตั้งแต่ระบบขนส่งมวลชน การศึกษา การสาธารณสุข การปกครองท้องถิ่น

การดูแลเมืองในปัจจุบัน

การดูแลเมืองในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปมาก ในสหรัฐอเมริกามีประชากรกว่า 300 ล้านคน มีคนที่มีอาชีพเป็นเกษตรกรต่ำกว่าร้อยละ 10 คนส่วนใหญ่อยู่ในเมือง ที่มีขนาดแตกต่างกันไป เป็นเมืองเล็กๆ หรือเรียกว่า Towns หรือถ้าเป็นขนาดใหญ่ ก็จะเรียกว่า Cities

ภาพ สัญญลักษณ์ของกรมตำรวจแ่ห่งเมืองนิวยอร์ค (New York Police Department - NYPD)

เมืองใหญ่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา อย่าง New York City มีประชากรกว่า 8.5 ล้านคน มีหน่วยงานตำรวจของตนเอง เรียกว่า New York Police Department (NYPD) กำลังตำรวจของตนเองกว่า 35,000 คน มีกองกำลังตั้งแต่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ตำรวจสุนัข ตำรวจตรวจอ่าว หน่วยสนับสนุนท่าอากาศยาน หน่วยปลดระเบิด หน่วยต่อต้านการก่อการร้าย หน่วยสืบราชการลับ หน่วยต่อต้านแก๊งอันธพาล ยาเสพติด หน่วยดูแลระบบการขนส่งมวลชน หน่วยตรวจลาดตระเวนย่านที่พักอาศัย และในปัจจุบันมีหน่วยนิติวิทยาศาสตร์ หน่วยตำรวจติดตามมีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเดอร์ หน่วยงานตำรวจนี้เป็นของเมือง กำกับดูแลผ่านนายกเทศมนตรี ซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เสียภาษีเพื่อดูแลตำรวจ

ภาพ ตำรวจในเมืองอย่างนิวยอร์ค ใช้รถยนต์ในการลาดตระเวนไปตามถนน เพื่อดูแลรักษาความสงบ

เมืองในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดมีลักษณะดูแลความเรียบร้อย โดยเป็นกิจกรรมของเมืองเอง บางครั้งบ้านเมืองอ่อนแอ ถูกปกครองโดยอิทธิพลของมาเฟีย แต่ท้ายสุด ชาวบ้านก็ต้องใช้กลไกทางการเมือง เลือกคนอย่างที่เขาต้องการมาบริหารสร้างความเชื่อมั่นให้กับเมืองของเขา


1 comment:

  1. เห็นสภาพตำรวจไทยทำหน้าที่ในการรักษาความสงบในช่วงวิกฤติการประท้วงของคนเสื้อแดงแล้วอ่อนใจ ชาวบ้านเขาเรียก “ตำรวจมะเขือเทศ” คือแดงทั้งข้างนอกและแดงข้างใน และก็นิ่มเหลวพอๆกับมะเขือเทศสุกงอม ไม่เหลือฝีมือและศักดิ์ศรีของตำรวจมืออาชีพเอาเสียเลย

    ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูปกิจการตำรวจ เพื่อให้ตำรวจนครบาล เรียกว่า BKK-PD หรือ Bangkok Police Department เป็นของคนกรุงเทพฯ ควบคุมโดยคนกรุงเทพฯ จ่ายเงินด้วยภาษีของกรุงเทพฯ และต้องกระทำการเพื่อคนกรุงเทพฯอย่างจริงจัง

    เรื่องจะไม่ยุ่งยากเท่านี้ หากตำรวจไทยไม่ตกเป็นเครื่องมือและกลไกระบบ “รัฐตำรวจ” (Police State) จากอิทธิพลของยุคทักษิณ กรุงเทพฯมีคน 6.5-7.0 ล้านคน ทุกประชากร 200 คนมีเจ้าหน้าที่ 1 คน หรือต้องการเจ้าหน้าที่ตำรวจในกทม. ประมาณ 35,000 คน คนกรุงเทพฯ ร่วมกันเสียภาษีเพื่อจัดหาและพัฒนาระบบตำรวจของตนเองได้ ใครไม่อยากทำงานให้กับประชาชนในกทม. ก็ให้ย้ายไปที่อื่นๆ

    ReplyDelete