Saturday, August 13, 2011

14 สิงหาคม ค.ศ. 2003 ไฟฟ้าดับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ

14 สิงหาคม ค.ศ. 2003 ไฟฟ้าดับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: สหรัฐอเมริกา, วิกฤติการณ์, พลังงาน,

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “Aug 14, 2003: Blackout hits Northeast United States.”, History.com

ผมได้ศึกษาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 2003 ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริการ และบางส่วนของแคนาดา ที่เขาได้ใช้ระบบ Power Grid ที่ทำให้เมื่อมีไฟฟ้าไม่พอใช้ในเขตหนึ่ง ก็จะมีการดึงกระแสไฟจากบริเวณข้างเคียงเข้ามาทดแทน ซึ่งทำให้ไม่ต้องมีการผลิตไฟฟ้าสำรองเป็นอัตราส่วนสูง แต่ข้อเสียก็มีตรงที่หากเกิดปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนอย่างไม่คาดคิด และไม่มีแผนตัดไฟไปเลยในส่วนที่เกิดปัญหา ในส่วนพื้นที่ขนาดเล็ก ก็จะมีผลกระทบไปทั่วบริเวณ ที่อาจจะใหญ่โตเทียบเท่ากับทั้งประเทศไทยเลยทีเดียว

ปัญหาอย่างเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยก็ได้ หากเราไม่มีการเตรียมการรองรับวิกฤติที่จะเกิดขึ้น

วันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 2003 เกิดไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ไฟดับสหรัฐอเมริกาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางส่วนของแคนาดา เริ่มที่เวลา 4:10 p.m. ตามเวลาฝั่งตะวันออก โรงไฟฟ้าใหญ่ 21 โรงดับไปพร้อมกันภายในเวลา 3 นาที คนจำนวน 50 ล้านคนได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมเมืองใหญ่อย่าง New York, Cleveland และ Detroit, เช่นเดียวกับเมือง Toronto และ Ottawa ในประเทศแคนาดา (Canada)

แม้บริษัทพลังงานไฟฟ้าจะสามารถกลับมาทำงานได้บางส่วนในเวลา 2 ชั่วโมง แต่ไฟฟ้าในที่อื่นๆยังไม่สามารถใช้งานได้มากกว่า 1 วัน

ไฟฟ้าดับทำให้รถไฟต้องหยุดวิ่ง บันไดเลื่อนต้องหยุดทำงาน โทรศัพท์มือถือทั่วทั้งบริเวณใช้การไม่ได้ การผ่าตัดในโรงพยาบาลในบริเวณเหลานั้นได้รับผลกระทบ การจราจรที่สนามบินต้องหยุดทำงาน ที่เมืองนิวยอร์คที่มีระบบรถไฟฟ้าใต้ดินขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงที่จะช่วยผู้โดยสารที่ติดค้างให้ออกจากรถไฟฟ้าและออกจากสถานีได้

ธุรกิจขนาดเล็กได้รับผลกระทบ ของที่ต้องแช่ตู้เย็นแช่แข็งต้องเสียหาย ระบบน้ำประปาเกือบทั้งหมดใช้การไม่ได้ เพราะต้องอาศัยไฟฟ้าปั้มน้ำขึ้นไปใช้งานในตึกสูง มีรายงานคนที่ติดอยู่กลางอากาศตามรถไฟเหาะ รถไฟตีลังกา (Roller coasters) ตลาดหุ้นใหญ่สุดของโลก New York Stock Exchange และตลาดบอนด์ หยุดชะงักชั่วคราว แต่สามารถดำเนินการต่อได้ด้วยการมีระบบปั่นไฟสำรอง

ฝ่ายผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องได้ออกมาปลอบขวัญ เพราะในยามนั้นอเมริกันกำลังตื่นกลัวภัยผู้ก่อการร้ายจากเหตุการณ์ 9/11 (ผู้ก่อการร้ายถล่มอาคารแฝด World Trade Centers ในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2001) ในการสอบสวน ทั้งฝ่ายสหรัฐและแคนาดาต่างออกมาโทษอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นเหตุที่ทำให้เกิดไฟดับวงกว้างครั้งใหญ่นี้ ฝ่ายการเมืองก็ใช้โอกาสนี้ออกมาจี้จุดปัญหาของระบบเครือข่ายไฟฟ้า (Power grid) ที่เก่าและล้าสมัย

ในที่สุด ได้มีการตั้งคณะศึกษาร่วมสหรัฐ-แคนาดา เพื่อสืบหาปัญหา ที่ท้ายสุดย้อนไปยังบริษัทไฟฟ้าในรัฐโอไฮโอ ชื่อ FirstEnergy Corporation เมื่อโรงงานของบริษัทที่ East Lake ต้องปิดตัวลงอย่างไม่คาดคิด อันเป็นเพราะมีต้นไม้ขนาดใหญ่เกิน ไปกระทบสายส่งไฟฟ้าจนทำให้ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องแบบลูกโซ่ในวงกว้างภายในเวลาอันสั้น

บริษัท FirstEnergy ถูกวิจารณ์ในการไม่ดูแลบำรุงรักษา และที่สำคัญคือผิดพลาดที่ไม่ได้บอกให้ทราบถึงปัญหาอย่างทันกาล ก่อนที่มันจะกระทบถึงบริเวณอื่นๆ เพราะเวลาไฟดับ และไฟฟ้าไม่พอใช้ในบริเวณอื่นๆนั้น ระบบเครือข่ายไฟฟ้า (Power grid) จะดึงไฟฟ้าจากบริเวณอื่นๆมาใช้งานต่ออย่างอัตโนมัติ และเมื่อไฟฟ้ามีปริมาณไม่พอ ระบบจะตัดไฟด้วยตัวเอง

แต่ถึงแม้ว่าไฟฟ้าจะดับเป็นวงกว้าง แต่มีรายงานการปล้นและลักขโมยเพียงเล็กน้อยที่เป็นผลมาจากไฟฟ้าดับ ในเมืองนิวยอร์ค กรมตำรวจของเมืองได้ประจำการเต็มอัตรา แต่ก็มีการจับกุมกรณีพวกฉวยโอกาสเพียงต่ำกว่า 100 คน ในบางที่ประชาชนในชุมชนได้ช่วยกันลดความเดือดร้อน ผู้สูงอายุได้รับการดูแลจากเพื่อนบ้าน มีการไปกำกับการจราจรแทนที่สัญญาณไฟที่ไม่ทำงาน

เฉพาะในเมืองนิวยอร์ค คาดดว่ามีค่าเสียหายจากไฟฟ้าดับประมาณ USD500 ล้าน

No comments:

Post a Comment