Saturday, August 20, 2011

สุภาษิตตุรกี - จงทำงานเหมือนดังท่านจะมีชีวิตตลอดไป


สุภาษิตตุรกี - จงทำงานเหมือนดังท่านจะมีชีวิตตลอดไป

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com


Keywords: proverbs, สุภาษิต, Turkish, ชาวตุรกี, ชาวเตอร์ก, elderly, ผู้สูงวัย, คนแก่ การทำงาน, การใช้ชีวิต

Updated: Friday, August 26, 2011

มีสุภาษิตชาวตุรกีบทหนึ่งปรากฏในภาษาอังกฤษว่า

Work as if you were to live forever; live as if you were to die tomorrow.” ~ Turkish proverb
แปลเป็นไทยได้ว่า

จงทำงานเหมือนดังท่านจะมีชีวิตตลอดไป แต่จงใช้ชีวิตดังท่านจะตายในวันพรุ่งนี้ ~ สุภาษิตชาวเตอร์ก

ชีวิตกับงานเป็นของคู่กัน ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “งานคือธรรมะ” และตัวท่านเองก็ประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น ท่านเป็นผู้ทำงานตลอดชีวิต เมื่อท่านมีอายุมากแล้ว แต่ท่านก็ยังทำหน้าที่สั่งสอน เทศนาให้กับผู้คน นับเป็นแรงจูงใจให้คนได้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดี

จงทำงานเหมือนดังท่านจะมีชีวิตตลอดไป

คนเราแม้มีอายุมากขึ้น ก็ทำงานไปได้ทุกวันเท่าที่จะทำได้ ในโลกความเป็นจริงไม่มีวันเกษียณ เราพึงหางานอะไรก็ตามที่พอเหมาะแก่สภาพร่างกาย ความสามารถ จิตใจ อารมณ์ และมีคุณประโยชน์ทำ งานมิได้หมายถึงการหาเงิน การมีเงินเดือนหรือรายได้ที่ดีเสมอไป

เมื่อยังอยู่ในวัยทำงาน เป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อไม่ได้ทำงานบริหารแล้ว ก็อาจทำงานด้านที่ปรึกษา ใช้ประสบการณ์และสติปัญญาให้คำแนะนำแก่องค์การ กลุ่มคน หรือบุคคลในการทำงานของเขา แต่ไม่จำเป็นต้องไปหางานที่ต้องมีการตัดสินใจ มีรายได้สูง หรือมีความเสี่ยงมากๆในชีวิต นอกจากจะเป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลังที่จะเข้ามารับผิด ส่วนผู้ใหญ่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา และเป็นพี่เลี้ยงเขาไปสักระยะหนึ่ง

หากเราเคยทำงานที่ต้องใช้แรงงานมาก แต่อายุมากขึ้น สภาพร่างกายไม่เหมาะแก่การทำงานแบบเหนื่อยหนัก ก็ลดลงมาทำงานที่ใช้กำลังลดลง หากเป็นงานใช้กำลัง ก็ไม่ใช่ใช้กำลังทั้งวัน เช่น เมื่อหนุ่มเคยทำงานเป็นกรรมกร พออายุมากหน่อยก็ทำงานเป็นคนคุมงาน เป็นช่างระดับฝีมือ สอนแรงงาน เป็นต้น

แต่เมื่อเข้าวัยเกษียณ ก็สามารถสร้างงานแบบที่เราพอจะทำได้ ใช้แรงงานเท่าที่จะพอเหมาะ เช่นทำงานช่าง ซ่อมสรรพสิ่งแบบเล็กๆน้อยๆ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Handyman ทำงานในระแวกบ้าน คือทำงานสารพัดช่าง ดูแลอพาร์ทเมนต์ ซ่อมห้องน้ำ ห้องส้วม ทำความสะอาดสถานที่ หากคนพอมีฐานะสักหน่อย ก็เปลี่ยนบ้านที่มีขนาดใหญ่เกิน ให้กลายเป็นหอพัก หรืออพาร์ทเมนท์ ให้คนเช่า แล้วเปลี่ยนตัวเองเป็นเจ้าของสถานที่ (Landlord) ในต่างประเทศเมื่อเราไปพักตามโรงแรมขนาดเล็ก หรือ Guesthouse มีเป็นอันมากที่คนดูแลสถานที่คือผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง ที่ยังแข็งแรง ทำงานควบคู่ไปกับแรงงานหนุ่มสาวที่จ้างมาช่วยงาน หากไม่ทำงานสิ ชีวิตเขาจะสั้น เพราะเขาจะมานั่งๆกินๆนอนๆไม่ได้

ใช้ชีวิตดังท่านจะตายในวันพรุ่งนี้

ชีวิตไม่ใช่การทำงานเสียทั้งหมด

ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน คิดอยากทำอะไร ทำได้ดี ทำแล้วมีความพอใจ มีความสุข และทำได้ในวันนี้ ก็พึงกระทำเสีย อย่าไปผลัดวันประกันพรุ่ง หรือมานั่งคิดเสียใจหรือเสียดายภายหลังกับสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ และไม่มีโอกาสจะทำอีกแล้ว คนเรามีเวลาที่เปลี่ยนไปเป็นตัวกำกับ เวลาเป็นดังสายน้ำ เวลาไม่เคยรอใคร ในวันหนึ่งเราเหมาะที่จะทำกิจกรรมบางอย่าง แต่เมื่อเลยเวลานั้นไปแล้ว เราไม่สามารถกลับไปทำในสิ่งนั้นๆด้อีกแล้ว ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสที่จะทำอะไรได้ในเวลาอันเหมาะ ก็พึงกระทำเสีย

เช่น เรามีความฝันอยากเที่ยวไปที่นั่นที่นี่ แต่รอจนกระทั่งเมื่อมีเงินทองพอพร้อมที่จะไป แต่เมื่อนั้นร่างกายไม่อำนวยที่จะไปได้อย่างสมควร ก็นับว่าน่าเสียดาย หรือมิฉะนั้น เราก็ต้องทำใจเสียแต่แรกว่า เราได้ไปเห็นมันแล้วด้วยทางภาพยนตร์หรือทีวี หรือฟังเขาเล่าแล้วก็พอใจแล้ว

คำว่า “การใช้ชีวิต” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า To live นั้น หมายถึงนอกจากงานแล้ว เรายังมีส่วนอื่นๆที่ทำให้เรามีมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ มีความสุข การใช้ชีวิตต้องมีความหลากหลาย แปลกใหม่ การใช้ชีวิตที่มีกิจวัตรเหมือนกันทุกวันอาจเป็นความเบื่อหน่าย กินอาหารแต่ละมื้อเหมือนกันอาจทำให้เบื่ออาหาร และชีวิตคนเราอาจไม่มีอะไรบั่นทอนเท่ากับความเบื่อหน่าย

ชีวิตมีหลายมิติ เหมือนอาหารต้องกินหลายหมวดหมู่ ทั้งเนื้อ นม ไข่ ผัก ผลไม้ ถั่ว ข้าว ฯลฯ อาหารเองก็ต้องมีหลายรส ชีวิตคนเรานอกจากความต้องการทางร่างกายแล้ว ยังมีเรื่องของสังคม อารมณ์ และจิตวิญญาณ เป็นต้น

ชีวิตกับสันทนาการ

การใช้ชีวิตต้องมีสุนทรียภาพ คนเรารักความสวยความงาม การเป็นคนสูงวัยไม่ใช่ต้องแต่งตัวแบบปล่อยแก่ ปล่อยเนื้อปล่อยตัวให้โทรม ต้องรู้จักดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย อย่าให้อ้วนมาก หรือผอมมาก ควบคุมอาหาร กินแต่พอเหมาะ และกินอาหารให้ครบหมวดหมู่

เรื่องของอารมณ์ การดูภาพยนตร์ ดูละคร ดูกีฬา ชีวิตก็ต้องมีความตื่นเต้น การดูกีฬาด้วยการดูโทรทัศน์ก็ส่วนหนึ่ง แต่การได้ไปดูกีฬาที่แข่งขันจริง ได้เห็นผู้คนที่เขาต้องใช้พลังขับเคี่ยวแข่งขันอย่างจริงจัง ก็เป็นความสุขเร้าใจอีกแบบหนึ่ง และนับเป็นการเปลี่ยนความจำเจจากการดูกีฬาผ่านโทรทัศน์ในแต่ละวัน การดูมหรสพจากที่บ้าน ดูผ่านจอทีวีหรือวิดิโอก็ส่วนหนึ่ง แต่การได้ออกไปนอกบ้านบางครั้งบางคราว ได้ไปชมภาพยนตร์โรง ได้ไปจับจ่ายใช้สอย ได้เดินชมข้าวของ ชีวิตผู้คน นั่นก็เป็นการเติมเต็มชีวิตในแต่ละช่วง

การท่องเที่ยว เปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนที่พัก มีคำกล่าวว่า “There is no place like home.” ไม่มีที่ไหนที่จะมีความสุขเท่าบ้าน แต่มีเป็นครั้งคราวที่เราอยากออกไปท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละคนมีรสนิยมแตกต่างกัน บางคนชอบท่องเที่ยวแบบสบายๆ ใช้ชีวิตหรูสักนิด ก็ไม่แปลก เพราะคนเราไม่ได้ไปเที่ยวกันทุกวัน แต่บางคนรวมถึงผมตัวผู้เขียน ชอบเที่ยวอย่างแตกต่าง นั่งรถไฟ ก็นั่งได้หลายๆชั้น ทั้งมีระบบปรับอากาศและไม่มี พักโรงแรม ก็พักได้ทั้งแบบหรูหรา หรือจะพักโรงแรมสำหรับคนเดินทางทั่วไป บรรยากาศที่เปลี่ยนไป ก็ย่อมเกิดการรับรู้ที่แปลกใหม่ และโดยรวมๆแล้วเป็นการประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินไป
การใช้ชีวิตไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใช้เงินทองมากมาย

แต่หากเรามีหลายสิ่งหลายอย่างที่อยากทำ มี Wish list ยาวมากๆ ก็เลือกทำจากที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดมาก่อน

สอนหนังสือตลอดชีวิต

ผมขออนุญาตเอาตัวเองเป็นตัวอย่างในการอธิบาย

ผมไม่อยากร่ำรวยมากไปกว่าที่เป็นและมีอยู่แล้ว รู้ดีว่าตายแล้วเอาอะไรติดตัวไปไม่ได้

เมื่อผมทำงานมีชีวิตสอนหนังสือ ซึ่งเป็นส่วนที่ชอบ และชอบเขียนหนังสือ แต่มีนิสัยเขียนตามใจชอบ คือเห็นอะไรน่าสนใจ เรียนรู้แล้วก็เขียนเล่าให้คนอื่นๆฟัง ไม่ได้มีจุดสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษโดยเฉพาะ แต่ในโลกยุคอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคม เรามีระบบค้นหา หรือที่เรียกว่า Search engine ที่ทำให้เราค้นหาสิ่งที่คนเขียนหลากหลายในเรื่องเดียวกันได้ภายในไม่กี่วินาที งานที่ผมเขียนที่ไม่สมบูรณ์ แต่ด้วยการมี Keywords ที่เหมาะสม ก็ทำให้งานของเราเป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆได้อย่างกว้างขวาง

เมื่อผมตรวจดูงานที่ผมนำขึ้นเสนอใน Website ขณะนี้ที่มีอยู่เกือบ 1,000 รายการแล้ว ข้อเขียนบางรายการมีความยาวเพียง 1 หน้า บางรายการมีถึง 25-30 หน้า และเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือออนไลน์ บทความเหล่านี้ผมคาดว่า จะไม่จัดทำเป็นรูปเล่มกระดาษแล้ว ใครอยากใช้อะไรก็ให้เข้ามา Download ไปใช้ได้ เพียงแต่แจ้งให้ผมทราบออนไลน์ก็พอ แต่ในอีกด้านหนึ่ง บทความที่ผมเขียนอาจไม่ได้มีการไตร่ตรองถี่ถ้วนพอ อาจไม่สมบูรณ์หรือผิดพลาดได้ หากใครพบอะไรที่จะแนะนำ ช่วยบอกมาด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง

ผมเลือกรูปแบบการสอนของผมแล้ว คือใช้การเขียน การใช้สมอง และจะทำไปเรื่อยๆจนกว่าจะทำไม่ได้ และไม่กังวลว่าจะเป็นเมื่อใด

การออกกำลังกายและสมอง

การออกกำลังกายควบคู่ออกกำลังสมอง (Brain exercise) อยากพูดลึกๆในเรื่องส่วนตัว แต่คิดว่ามีประโยชน์

ผมเป็นเบาหวานประเภทสอง (Diabetes mellitus, Type II – Wikipedia) ไม่ต้องฉีดอินซูลิน แต่กินยาควบคุมเล็กน้อย และต้องควบคุมอาหารควบคู่ออกกำลังกาย

ทุกเช้าผมจะไปออกกำล้งกายกับสมาชิกครอบครัว 3 คน โดยไปออกกำลังกายที่ Atrium Fitness Center อยู่ใกล้ๆบ้าน ขับรถไม่ไกล หรือจะเดินไปก็ยังไหว ผมและสมาชิก 3 คนไปสมัครเป็นสมาชิกประจำ 1 ปี ต่างคนต่างจ่าย จะได้รู้สึกเสียดาย ผมเองจ่ายแล้วก็ต้องมีหน้าที่ไปออกกำล้งายแล้วใช้ประโยชน์ให้คุ้ม ตามระเบียบสมาชิก ผมไปได้ทุกวัน เริ่มตั้งแต่ 6.00 น. จนถึง 22.00 น. มีเครื่องมือที่จะใช้ออกกำลังกายหลายอย่าง รวมทั้งอาบน้ำ อบตัว ว่ายน้ำ แต่ที่ผมใช้มากๆคือ การเดินบนสายพาน และการขี่จักรยาน แล้วก็ดูโทรทัศน์ไปพร้อมๆกัน

ผมออกกำลังกายอย่างนี้สัปดาห์ละ 3-5 วันๆละ 70-75 นาที ในช่วงเช้า แล้วกลับมารับประทานอาหารเช้า การออกกำลังกายเทียบเท่ากับเดินอย่างเร็ว 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้หัวใจเต้นราวๆไม่เกิน 100-110 ครั้ง/นาที ความจริงสามารถออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัยโดยให้หัวใจเต้นไม่เกิน 130 ครั้ง/นาที แต่ขอเลือกเดินทางสายกลาง โดยรวมใช้พลังงานออกกำลังกายนี้ประมาณ 400-450 แคลอรี่ เพิ่มขึ้นในหนึ่งวัน รวมการกินอาหารอย่างจำกัด 3 มื้อ วันหนึ่งผมควรใช้พลังงานอย่างสมดุลที่ประมาณ 2500 แคลอรี่ ที่น้ำหนักไม่เพิ่มและไม่ลดลง

การออกกำลังกายและการหลับนอน

สมองต้องการออกกำลังเช่นกัน ผมออกกำลังกายแล้วก็ออกกำลังสมอง และทั้งร่างกายและสมองก็ต้องการพักผ่อนเช่นกัน

ผมเป็นคนสอนหนังสือไปเรื่อยๆ แต่ไม่ชอบการเดินทางที่เต็มไปด้วยการจราจรคับคั่งในกรุงเทพฯ ผมเลือกที่จะสอนหนังสือโดยไม่ต้องเดินทางไปทำงาน เรียกว่า Tele-commuting ผมสอนหนังสือออนไลน์ (e-Learning) ทำทุกเช้าโดยการเขียนหนังสือหลังไปออกกำลังกายมาแล้ว เป็น “การออกกำลังสมอง” (Brain Exercise) ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายจริงๆ

ในทุกคืน ผมจะใช้เวลาอยู่จนดึกจนถึงราวๆ 23-24 น. จึงจะเข้านอน ผมอาจดูทีวี ดูข่าว ภาพยนตร์ บางทีก็อยู่หน้าจอ Laptop สือสารผ่าน Twitter สังเกตคนส่วนใหญ่จะใช้งานมากในช่วงเวลา 19:00-24:00 น. ผมก็เลือกที่จะสื่อสารมากน้อยในช่วงเวลานี้

การใช้ iPhone และ iPad

ผมไม่ใช้ยานอนหลับ

ผมจะนั่งทำงานอยู่จนดึกแม้บางที่จะรู้สึกง่วงนอน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะหากผมเข้านอนเร็ว จะทำให้ผมต้องตื่นกลางดึก หากตื่นราวๆตี 2-3 มันก็ยากที่จะนอนหลับต่อไปได้ แต่บางครั้งมีที่นอนไม่หลับ ตื่นขึ้นมาแล้วไม่สามารถนอนได้ทันที ก็หยิบ SmartPhone ขึ้นมาอ่านข่าวและเรื่องราวต่างๆ บางทีก็ใช้ Tablet PC อ่านหนังสือบนเตียงนอน มีอะไรน่าสนใจก็เก็บบันทึกไว้ใน Notepad และเมื่อเช้าแล้วจึงนำเรื่องที่อ่านไว้มาเติมเต็มเขียนเป็นบทความ

ผมใช้ iPhone เป็นคอมพิวเตอร์แบบพกติดตัว และใช้ iPad เป็น Tablet PC เพื่อทดสอบการใช้งานและความเป็นไปได้เพื่อใช้ในระบบการศึกษา ผมไม่ได้เป็นแฟนประจำหรือแฟนพันธุ์แท้ของ Apple หรือ Steve Jobs หรอก ผมใช้เพื่อให้มีประสบการณ์และเรียนรู้ และเพื่อเอาไว้คุยกับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน
ในหลายๆข้อดีที่ผมพบคือ iPhone และ iPad ใช้งานในยามกลางคืนได้ดี ใช้บนเตียงก็ได้ เพราะมันไม่หนักและถือกับมือได้ ใช้ในยามวิกาล ใช้บนเตียงนอนโดยไม่รบกวนเพื่อนร่วมห้องก็ทำได้ เพราะไม่ต้องเปิดไฟทำงาน เครื่องมันมีแสงออกจากในตัว แต่มีตำหนิอยู่ก็ตรงราคามันแพงไป โดยเฉพาะหากใช้กับเด็กนักเรียนอย่างที่เขาบอกว่า One tablet PC per one child.

หากใช้แล้วหลับไป iPad หรือ iPhone ก็จะตกอยู่ในที่นอนนั้นแหละ ส่วนแว่นตา ผมใช้แบบกรอบเป็นแบบยึดหยุ่น ใช้มานับเป็นสิบปีแล้ว ข้อดีคือมันไม่หักง่ายๆ

การเขียนและการพิมพ์

การเขียนและการพิมพ์ (Typing, keyboarding) เป็นการฝึกสมองที่ดี

โดยทั่วไปในปัจจุบัน ผมจะเขียนบทความด้วยเครื่อง Laptop หรือคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว ผมพิมพ์งานได้คล่องทั้งสองภาษา ไทย-อังกฤษ ในแต่ละวัน ผมจะใช้เวลาประมาณ 70-120 นาทีนั่งพิมพ์หนังสือ โดยส่วนใหญ่ใช้เขียนบทความเล็กๆ เช่นเรื่องสุภาษิต (Proverbs) หรือคำกล่าวของคนสำคัญใดอดีต (Quotes) หรือบางทีสนใจเรื่องอะไรลึกๆ ก็จะใช้เวลาเขียนนานหน่อย

เมื่อเขียนบทความแล้ว ผมอาจจะรอสักเล็กน้อย ตรวจอ่านอีกสักครั้งก่อนที่จะ Post บทความลงไปใน Website ชื่อ My Words ที่ฝากไว้ที่ http://pracob.blogspot.com บางครั้งเขียนแล้วไม่พอใจ ได้รับข้อมูลเพิ่มเติม ก็นำบทความนั้นๆกลับมาปรับปรุงใหม่ได้

หากท่านผู้อ่านได้อ่านแล้วมีข้อแนะนำ ให้เขียนฝากความเห็นไว้ได้เลยนะครับ เห็นต่างก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องเกรงใจ

การคบเพื่อนออนไลน์

เรากำลังก้าวสู่ยุคของ Social Media

ผมเป็นคนสนใจในเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเรียกว่า Information and Communication Technology หรือ ICT และเมื่อทำงานทางการศึกษาและเป็นที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาระบบการศึกษา ผมมักจะใส่ใจกับเทคโนโลยีนี้และแสวงหาทางในการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา ผมไม่ได้เป็นวิศวกร โปรแกรมเมอร์ หรือนักเทคโนโลยี แต่เป็นคนทำงานบริหารการศึกษาที่ต้องใส่ใจและใช้ประโยชน์จากสิ่งใหม่ๆ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมไม่ได้ทำงานในสภาพที่มีทีมงานรองรับ จึงต้องเลือกใช้เทคโนโลยีสื่อสารอย่างง่ายๆ นอกเหนือจาก E-mail, การเขียนงานแล้วเสนอผ่าน Website อย่างง่ายๆ ผมเรียนรู้ที่จะใช้ Web blog นำเสนอข้อความอย่างสั้น

ต่อมาได้มีคนแนะนำผมให้ใช้ Social Media อย่าง Facebook และ Twitter ผมสมัครทั้งสองอย่าง แต่เลือกใช้ Twitter เป็นหลัก เพราะผมมี Web blog ที่ใช้ประจำอยู่แล้ว

ในกิจกรรม Twitter (August 21, 2011) มีผู้ติดตาม (Followers) ผมอยู่ 858 ราย ผมตามคน (Following) อยู่ 157 ส่งข้อความ (Tweeting) ไปแล้ว 22,978 ครั้ง แต่ผมพยายามใช้ร่วมกับ Web blog ที่มีอยู่ เวลาเขียนงานที่คิดว่าดีมีประโยชน์ก็จะส่งข่าวเป็น Weblink ผ่านไปใน Twitter

ฝันอยากเห็น Eco Resort

เมื่อผมเป็นคนสูงอายุเองแล้วในปัจจุบัน ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ผมเคยฝันแล้วฝอยเกี่ยวกับการสร้างหมู่บ้านสำหรับคนสูงอายุได้อยู่พักอาศัย ผมอยากเห็นความฝันนี้ได้เป็นจริงอย่างที่ผมฝัน

การพัฒนาสถานที่พักผ่อนให้กับผู้สูงอายุด้วยกัน ผมมีความฝันอยากที่จะทำสถานที่พักที่คนสูงอายุอยู่ได้อย่างมีความสุข แต่ไม่ใช่บ้านหรือหมู่บ้านคนชรา และไม่ใช่ Nursing Home อย่างที่เห็นในต่างประเทศเด็ดขาด เพราะการนำคนสูงอายุมาอยู่รวมกันมากๆ มีแต่จะหดหู่เกินไป แต่อยากสร้างชุมชนที่เป็น “มิตรกับคนสูงอายุ” (Elderly friendly) ทำให้คนสูงอายุอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้อย่างกลมกลืน ผมได้เขียนเรื่อง Eco Resort แล้วนำเผยแพร่แล้ว และจะปรับปรุงอยู่เป็นระยะๆ เคยไปดูสถานที่ต่างๆกับเพื่อนๆศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ (Dhebsirin School) เดียวกันมาบ้าง และจะไปเที่ยวตระเวนดูไปทั่วๆสักระยะ หากใครสนใจที่จะทำยินดีให้ความคิด

ติดตามอ่านความคิดได้ที่ “อยากสร้างหมู่บ้านแบบ Eco Resorthttp://pracob.blogspot.com/2011/08/eco-resort.html

สรุปความ

สำหรับบทความนี้ อยากให้ลูกๆหลานๆ ได้นำไปเผยแพร่ให้กับพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ซึ่งมันอาจเป็นประโยชน์สำหรับการใช้ชีวิตในยามเกษียณอายุแล้ว และหากมีใครมีข้อแนะนำสำหรับผม และผู้สูงอายุทั้งหลาย ผมยินดีรับความคิดเห็น และจะขอบคุณยิ่งหากท่านช่วยแนะนำ

อีกครั้งหนึ่งครับ คำแนะนำอันมีค่าจากสุภาษิตชาวเตอร์ก “จงทำงานเหมือนดังท่านจะมีชีวิตตลอดไป แต่จงใช้ชีวิตดังท่านจะตายในวันพรุ่งนี้”

No comments:

Post a Comment