Saturday, August 13, 2011

ทำไข่เจียวไม่ได้ หากไม่ตอกไข่

ทำไข่เจียวไม่ได้ หากไม่ตอกไข่

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: proverbs, สุภาษิต, การจัดการ, การลงทุน, การตัดสินใจ

มีสุภาษิตฝรั่งเศสบทหนึ่งกล่าวว่า “On ne fait pas d'omelette sans casser des œufs.” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “You can't make an omelette without breaking eggs.” ซึ่งในภาษาไทยแปลให้ได้ความหมายใกล้เคียงว่า “ท่านจะทำไข่เจียวไม่ได้ หากไม่มีการตอกไข่

Omelette = ไข่เจียว, ไข่ทอด เป็นศัพท์ที่มาจากภาษาฝรั่งเศส ไข่เจียวแบบฝรั่งนั้นเขาทำในสไตล์ไม่ใช้น้ำมันมาก ไม่ใช้ความร้อนจัด แต่ทำออกมาเป็นรูปทรงที่สวยงาม จัดเป็นอาหารเช้าที่ทุกคนที่จะกินไข่มีสิทธิเลือกทำ แทนที่จะเป็นไข่ลวก ไข่ต้ม หรือไข่ดาว


Scrambled eggs = ไข่คน เป็นอาหารจานไข่อีกเมนูหนึ่ง แต่จะเป็นลักษณะทำให้สุกด้วยการคนไข่พร้อมกับให้ความร้อนในแบบปานกลาง

ย้อนกลับมาเรื่องสุภาษิต “ท่านจะทำไข่เจียวไม่ได้ หากไม่มีการตอกไข่ซึ่งมีความหมายได้ว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ต้องมีการลงทุน ตัดสินใจ จะได้อย่าง ก็ต้องยอมเสียบางอย่าง ก็เหมือนกับการต้องตอกไข่นั่นแหละ อยากกินไข่เจียวแล้วไม่ตอกไข่ได้อย่างไร

กรณีตัวอย่าง ในการทำธุรกิจ สิ่งที่หนีไม่พ้นคือการต้องลงทุนลงแรง

การลงทุน ก็หมายถึง การที่ต้องมีเงินมาลงทุน หรือการใช้ที่ดิน ทรัพย์สิน เงินทุนที่มีอยู่ในธนาคาร หรือการต้องไปกู้ยืมมา ทั้งนี้เพื่อไปจัดหาให้ได้สิ่งที่ต้องใช้ในการทำกิจการนั้นๆ เช่นทำร้านอาหาร ต้องมีสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้ การประดับประดาห้องอาหาร สถานที่ปัจจุบันต้องรวมไปถึงการคมนาคมสะดวก การมีที่จอดรถ การมีทำเลที่ตั้งที่ดี ต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ทำครัว มีคนงานที่ต้องจ่ายเงินเดือนค่าตอบแทน ต้องมีวัตถุดิบที่ลงทุนไปเพื่อจัดทำเป็นอาหาร ที่ต้องได้ของดีที่สดสะอาด มีคุณภาพ ต้องมีสูตรอาหาร และประสบการณ์ในการทำอาหารระดับมืออาชีพ

การลงแรง หมายถึงแรงงานของเราเอง เคยมีคนจะทำกิจการ แต่ไม่มีเวลาไปดูแล ไม่มีความรู้ทางด้านเทคนิคในเรื่องนั้นด้วยตัวเอง ดังเช่นเรื่องของอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารไทย อาหารจีน อาหารฝรั่งเศส เรื่องเหล่านี้ต้องลงแรงหาความรู้ หากได้แต่มีเงินไปฝากให้เขาอื่นทำกิจการ อย่างนี้เรียกว่าไม่ลงแรง หากแยกกิจการกัน เราก็ไม่เหลืออะไร เพราะไม่สามารถไปทำกิจการนั้นๆต่อเองได้ หากเป็นเช่นนั้น ก็สู้ปล่อยเงินให้เขากู้ไปทำกิจการ เขาทำได้เขาก็ได้ไป เราก้ได้เงินดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ โดยจะได้ไม่มากไม่น้อยไปกว่าที่ตกลงกันไว้

สำหรับผู้ประกอบการ จะต้องคิดให้ตกว่า จะมีการลงทุนและลงแรงกันอย่างไร

การลงทุนโดยใช้เงินกู้ทั้งหมด หรือ จะลงทุนโดยใช้การขายทร้พย์สินบางส่วนเพื่อไปดำเนินกิจการ ซึ่งต่างกันตรงที่เมื่อต้องไปกู้เขามาทั้งหมด หรือในสัดส่วนมาก ต้องคิดว่า เราจะมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interests) พร้อมเงินต้นได้หรือไม่

การจะทำกิจการใดๆ ต้องถามว่าเรามีความรู้ในเรื่องนั้นๆดีพอหรือไม่ หากไม่รู้ดีพอ ก็ต้องถามว่าแล้วเราจะทำอย่างไร บางคนยอมซื้อ Franchise จากบริษัทหรือจากต่างประเทศ นั่นคือซื้อความรู้ หรือ Know How ของเขา พร้อมด้วยวิธีการจัดการ แต่กระนั้นก็มิได้หมายความว่าไม่เสี่ยง อย่างไรเสีย เราก็ต้องแสวงหาความรู้ที่จะดำเนินกิจการนั้นๆให้ได้ด้วยตนเองในเวลาอันควร

การลงทุนลงแรงอีกอย่างหนึ่งคือ โดยเริ่มเป็นลูกจ้างเขาก่อน เช่นอยากทำร้านอาหาร ก็ไปทำงานเป็นพ่อครัว หรือผู้ช่วยพ่อครัวก่อน หรือเป็นเจ้าหน้าที่ต้อนรับ แล้วหาประสบการณ์ไต่เต้าเพื่อให้รู้กิจการนั้นๆอย่างกว้างขวาง ต้องตรวจสอบตนเองว่า เมื่อทำงานนั้นๆไปนานเข้า ยังจะชอบอาชีพนั้นอยู่หรือไม่ หากคำตอบว่าชอบ ก็จงทำไป แต่ไม่ชอบ ก็ต้องมาคิดว่า แล้วเราจะไปบริหาร ต้องไปลงทุนและใช้เวลากับกิจการดังกล่าวอย่างไร

ดังนั้น ไม่ว่าจะไปเริ่มกิจการใดๆ ก็เหมือนกับการต้องตัดสินใจ เหมือนกับการต้องตอกไข่ มีได้มีเสีย ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า “Decision Making” และเมื่อตัดสินใจแล้ว ก็มีความเสี่ยงตามมา มันอาจจะเป็นอย่างที่เราคาดหวัง หรืออาจไม่ใช่ เราก็ต้องพร้อมที่จะรับผลสิ่งที่จะตามมา

No comments:

Post a Comment