Monday, January 23, 2012

กรณีดร.นลินี ทวีสิน รู้เท่าทันอำนาจอย่างฉลาดของอเมริกา

กรณีดร.นลินี ทวีสิน รู้เท่าทันอำนาจอย่างฉลาดของอเมริกา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การเมือง, อำนาจ, การต่างประเทศ, การทูต, สหรัฐอเมริกา

ภาพ ดร. นลินี ทวีสิน (Dr. Nalinee Taveesin)

ภายหลังการได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี มีการเปิดเผยจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ว่าดร.นลินี ทวีสิน ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีชื่อติดอยู่ในบัญชีดำของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากเป็น 1 ใน 3 นักธุรกิจที่ถูกกล่าวหาว่า ให้ความช่วยเหลือการทุจริตของรัฐบาลนายโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Gabriel Mugabe) อดีตประธานาธิบดีซิมบับเว (Zimbabwe) โดยดร. นลินี ได้ทำธุรกิจร่วมกับภรรยาของนายโรเบิร์ต แต่กรณีดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจากดร.นลินี ว่าเป็นเพียงความเข้าใจผิด และขอพิสูจน์ตนเองในโอกาสต่อไป[4]

เรื่องนี้รัฐบาลไทย และคนไทยก็ต้องมาคิดกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ที่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ก่อนอื่นขอเล่าถึงยุทธศาสตร์การใช้อำนาจอย่างฉลาด (Smart Power) ของอเมริกาก่อน

สหรัฐอเมริกาคือมหาอำนาจของโลกในยุคศตวรรษที่ 20 รุ่งเรืองและทรงอำนาจที่สุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สหรัฐอเมริกาในวันนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน

ในทางเศรษฐกิจ อเมริกาดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินที่ผิดพลาดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา อเมริกันปัจจุบันไม่มีอำนาจทางการเงินเหมือนเมื่อสมัยหลังสงครามโลกใหม่ๆ แต่อเมริกาก็ยังต้องการมีบทบาทในโลกอยู่ แม้ไม่เหมือนเดิม

ในทางการทหาร การตัดสินใจเข้ารบในสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน ทำให้อเมริกาต้องเสียทรัพยากรและเงินงบประมาณไปมากมาย อย่างไม่มีผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในยุคต่อไปนี้ อเมริกาไม่สามารถทำการรบอย่างต่อเนื่องยืดเยื้อแบบไม่เลือกหน้า เหมือนในสมัย George W. Bush เป็นประธานาธิบดีได้อีกต่อไป

ในทางการต่างประเทศ ประชาคมโลกไม่ได้ต้องเกรงกลัวสหรัฐเหมือนเมื่อก่อน อเมริกันจะมีอิทธิพลหรือำนาจใดๆได้ ต่อเมื่ออเมริกายืนอยู่ในจุดที่มีความชอบธรรมในสายตาของประชาคมโลก หรือมีกลุ่มอำนาจอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วม และยืนอยู่ในจุดเดียวกัน ดังเช่น กลุ่มสหภาพยุโรป และรวมถึงจีน และรัสเซีย หากประเทศเหล่านี้ไม่ร่วมด้วยหรือเห็นต่าง อเมริกาก็ไม่สามารถดำเนินการทางการฑูตแบบนำหน้าไปตามลำพังอย่างที่เคย

อิรักเป็นประเด็นที่อเมริกันต้องคิดใหม่ในเรื่องของอำนาจที่ต้องรู้จักใช้อย่างฉลาด เพราะการส่งทหารเข้ารบในอิรักเป็นความผิดพลาดราคาแพงที่ไร้ประโยชน์

อำนาจอย่างฉลาด หรือ Smart Power เป็นคำที่ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (international relations) ซึ่งให้คำจำกัดความโดย Joseph Nye โดยเขาให้คำจำกัดความว่า คือความสามารถที่จะประสมประสานอำนาจทั้งอย่างแข็งและอย่างอ่อน (hard & soft power) ที่จะทำให้มีชัยชนะในเชิงยุทธศาสตร์ ตามความหมายของ Chester A. Crocker, Fen Osler Hampson, และ Pamela R. Aall อำนาจอย่างฉลาด เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ทางการทูต การชักจูงหว่านล้อม ความสามารถในการสร้าง และการทำนายอำนาจและอิทธิพลที่จะเลือกใช้อย่างฉลาด มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย (Cost-effectiveness) โดยที่ยังมีความถูกต้องชอบธรรมทางการเมืองและสังคม ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะไม่ใช้หรือใช้กำลังรบและการใช้การฑูตในแบบต่างๆ

ภาพ นางอิลารี คลินตัน (Hilary Clinton) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประะเทศ ที่ต้องใช้นโยบายการฑูตที่ใช้อำนาจอย่างฉลาด (Smart Power)

ยกตัวอย่าง การร่วมรบในสงครามโค่นล้มกัดดาฟี (Muammar Gaddafi) ผู้นำเผด็จการของลิเบีย ผู้ครองอำนาจตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1977 จนถึงวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 2011 นับเป็นเวลา 34 ปี ความจริงสหรัฐไม่พอใจกัดดาฟีนั้นมานานแล้ว แต่ไม่ถึงจังหวะที่จะเข้าจัดการ จนกระทั่งการเกิดกระบวนการประชาธิปไตยในอาหรับที่เรียกว่า Arab Spring มีคนที่ไม่พอใจอำนาจรัฐภายใต้ผู้นำเผด็จการทั้งหลายในโลกอาหรับ มีการลุกฮือจากภายใน ทั้งในตูนิเซีย อียิปต์ เยเมน ซีเรีย และลิเบีย เกิดสถานการณ์ใกล้สงครามกลางเมืองในหลายประเทศ รวมทั้งลิเบีย ซึ่งต้องมีการตัดสินใจจากภายนอกว่าถึงเวลาที่จะเข้าแทรกแซงหรือไม่ อเมริกาเองอยู่ในฐานะที่ต้องกังวลที่จะแทรกแซง เพราะก็ยังมี 2 สงครามที่ยังรอการแก้ปัญหาให้จบสิ้นอยู่ คือ สงครามในอิรัก และสงครามในอัฟกานิสถาน

แต่ถ้าไม่เข้าแทรกแซงในลิเบียอย่างทันท่วงที กัดดาฟีคงจะบดขยี้และกวาดล้างพวกกบฏได้ภายในเวลาอันสั้น แต่อเมริกาเองก็ยังลังเลอยู่นาน ไม่สามารถเข้าร่วมรบแบบโดดเดี่ยวและยืดเยื้ออย่างที่มีเคยมีบทเรียนมาแล้วในอิรัก ท้ายที่สุด อเมริกาเลือกใช้อำนาจอย่างฉลาด โดยเข้ารบในช่วงแรกขัดจังหวะการรุกทางอากาศของกัดดาฟี ใช้กำลังรบในยุคใหม่ ด้วยความเหนือกว่าอย่างเทียบไม่ได้ สกัดมิให้ฝ่ายกัดดาฟีได้ใช้กำลังรบทางอากาศ เข้าร่วมกำลังภาคพื้นดิน กวาดล้างฝ่ายตรงกันข้าม ในขณะเดียวกัน ก็ส่งลูกต่อให้กับกองทัพของ NATO กลุ่มประเทศยุโรป นำโดยฝรั่งเศส อังกฤษ และชาติสมาชิกนาโต้ เข้าร่วมรบในแบบได้รับความเห็นชอบให้บังคับใช้ No Fly Zone คือไม่ให้มีการใช้เครื่องบินรบในสงคราม จนในที่สุด ฝ่ายต่อต้านกัดดาฟีก็สามารถตีโต้ยึดพื้นที่คืบหน้าไปได้เรื่อยๆ จนได้รับชัยชนะในที่สุด โดยที่อเมริกาไม่ได้มีบทบาทมากนักหลังจากเปิดเกมส์รุกในช่วงแรก นับเป็นการลงทุนรบที่ต้นทุนต่ำ ได้ผลดี ยังสร้างความยำเกรงต่อมหาอำนาจอย่างอเมริกาได้

ย้อนกลับมาในประเทศไทย อเมริกาและไทยยังต้องพึ่งพากันในเวทีโลก เอเชีย และในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ การไม่กระทำการอันใดให้ขัดใจต่อกันได้ ก็นับเป็นดีที่สุด จะเห็นได้ว่าในกรณีความขัดแย้งยืดเยื้อด้วยความเห็นต่างทางการเมือง ระหว่างเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือความขัดแย้งภายในประเทศอื่นๆ อเมริการะมัดระวังบทบาทอย่างมาก ไม่พยายามเอียงเข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพราะเขารู้จักข้อมูลเกี่ยวกับไทยพอที่จะพูดจาอย่างระมัดระวัง

กล่าวโดยง่าย อเมริกาจะใช้ข้อมูลความเข้าใจในสถานการณ์ของโลกให้มากที่สุด ใช้การทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งอย่างนิ่มนวลและแข็งกร้าว แล้วแต่กรณี และในที่สุด ก็พร้อมที่จะใช้อาวุธหากจำเป็น และจะใช้ ก็จะไม่ใช้แบบกระทำไปตามลำพัง

สัมพันธภาพอเมริกากับไทยเป็นแบบอิสระแบบพึ่งพาต่อกัน เรียกว่า Interdependence อเมริกาเป็นมิตรประเทศกับไทยมานาน แต่เขาก็ไม่ได้ต้องปฏิบัติทุกอย่างอย่างเกรงใจไทย เขาพร้อมที่จะกระทำการใดๆที่เขาเห็นว่าไม่สอดคล้องนโยบายของเขา เริ่มต้นด้วยทางการทูต ใช้อำนาจอย่างอ่อน ในอีกด้านหนึ่ง ไทยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามทุกอย่างที่อเมริกาต้องการ แต่ทั้งนี้มิใช่ด้วยความหมางเมินต่อกัน ทุกอย่างแต่ละฝ่ายต้องคิดกันอย่างรอบคอบ

เมื่อเร็วๆนี้ เขาเตือนคนของเขาที่จะมาเมืองไทยให้ระมัดระวังโอกาสเกิดการก่อการร้ายในที่สาธารณะ หรือจุดเสี่ยง แล้วนานาประเทศก็เตือนคนของเขาในแนวทางอเมริกาอีกเป็นสิบราย ผลก็คือเท่ากับเตือนให้ไทยต้องจริงจังกับการไม่ปล่อยให้วงการผู้ก่อการร้ายสากล หรือในประเทศ ได้ใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกการก่อการร้ายไปยังประเทศอื่นๆ

หลังสุดอเมริกาประกาศ ดร.นลินี ทวีสิน ผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีชื่อติดอยู่ในบัญชีดำของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นการใช้อำนาจอย่างฉลาดที่รุนแรงยิ่งขึ้นกว่าคราวก่อน และรัฐบาลไทยต้องกลับมาทบทวนว่า จำเป็นต้องยืนยันตามการตัดสินใจของตนเองหรือไม่ มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ ที่ผ่านมารัฐบาลยิ่งลักษณ์-เพื่อไทย ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่ตัดสินใจอย่างไม่รอบคอบ ใช้คนไม่ถูกกับเรื่อง ปัญหาน้ำท่วมปี 2011 นับเป็นประจักษ์พยานระดับโลก เพราะมันเป็นความบกพร่องด้วยฝีมือมนุษย์ที่รัฐบาลมีส่วนอย่างมาก ที่ก่อความเสียหายทั้งต่อคนไทยและหุ้นส่วนต่างชาติ นับเป็นมูลค่าถึง 1.3-1.8 ล้านล้านบาท

กรณีของดร.นลินี เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อาจเป็นความไม่รอบคอบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ก็เคยมีความผิดพลาด ขาดการตรวจสอบในการตัดสินใจมาแล้วหลายเรื่อง เพราะจริงๆแล้วรัฐบาลอาจใช้เขาในเรื่องอื่นๆที่มีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ในตำแหน่งรัฐมนตรี หรือมองในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลอาจทำอย่างรอบคอบแล้ว ทำทั้งที่รู้ เป็นการกระทำไปอย่างที่ให้รู้ว่า “ฉันไม่แคร์” อเมริกาไม่ใช่พ่อฉัน อย่ามายุ่งกับกิจการภายในของฉันให้มาก คงจะไม่มีอะไรผิดหรือถูกหรอกครับ แล้วเวลาจะเป็นเครื่องบอก แล้วเราก็จะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์เหล่านี้

No comments:

Post a Comment