Sunday, January 1, 2012

สุภาษิตเยอรมัน: ของดีมาเป็นสาม

สุภาษิตเยอรมัน: ของดีมาเป็นสาม

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Cw022 สุภาษิต, proverb, simplicity

มีสุภาษิตเยอรมันกล่าวว่า “Aller guter Dinge sind drei.” ซึ่งตรงกับในภาษาอังกฤษว่า “All good things come in threes.” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ของดีมาเป็นสาม

มีสามี ภรรยา ยังไม่พอ ต้องมีบุตรหรือธิดาอีกสักหนึ่งคน

ในความเป็นครอบครัว มีบ้านไม่ว่าจะใหญ่โตอย่างไร เป็นของเราหรือไม่ แต่อยู่แบบคนเดียว (Single) จะรู้สึกเหงา ไม่ว่าชายหรือหญิง หากต้องอยู่คนเดียวไปในชีวิต ตอนแรกๆ คิดว่าจะมีอิสระ หรือคิดว่าไม่ต้องไปเลี้ยงดูใคร แต่พออายุมากขึ้น ก็จะรู้สึกเหงา แต่หากแต่งงาน มีครอบครัว มีสามี หรือภรรยา ก็นับว่าแก้เหงาไปได้ แต่อยู่เป็นคู่ (Couple) อยู่สองคนสามีภรรยา ยังไม่มีหลักประกัน ดังจะเห็นได้ว่าชีวิตคู่เป็นอันมากที่ต้องหย่าร้างกัน ดังนั้น เขาจึงคิดว่าเมื่อแต่งงานอยู่เป็นครอบครัวแล้ว หากมีลูกอีกหนึ่งคน นับเป็นโซ่ทองคล้องใจ เป็นการสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นในครอบครัว นับเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์
คำว่าครัว (Kitchen) เป็นสถานที่ไว้ประกอบอาหาร ในครัว มีหม้อ (Pot) เอาไว้ต้มหรือตุ๋นได้ มีกระทะ (Pan) เอาไว้ทอดและเอาไว้ผัดอาหาร แต่สำหรับฝรั่งแล้วมันยังไม่พอ เขาจะอยากมีเตาอบ (Oven) นับว่าจะสมบูรณ์ขึ้น เพราะเตาอบนั้น เขาเอาไว้อบเนื้อ อบขนมปัง อบขนมหลายๆ ชนิด สำหรับคนเอเชีย ความจำเป็นของในครัว หลายคนจะเลือกให้มีหม้อหุงข้าว (Rice Cooking) อีกใบ สำหรับคนไทย คนเอเชียจะมีความสำคัญมาก เพราะคนทางซีกตะวันออกเป็นพวกต้องกินข้าวเป็นอาหารจานหลัก

ในการทำงาน มีทำงานร่วมกัน 2 คน เวลามีความเห็นตรงกัน บางทีก็อาจยังไม่พอ อาจพากันเข้ารกเข้าพง ซึ่งในครอบครัวที่ไม่มีประสบการณ์ สามีภรรยาเห็นตรงกัน แต่มองอย่างแคบในมุมเดียวกัน ตัดสินใจร่วมกัน ก็ยังมีผิดพลาด

ในอีกด้านหนึ่ง มี 2 คนเวลามีความเห็นไม่ตรงกัน ก็ไม่สามารถตัดสินใจเดินงานต่อไปได้ ก็จะต้องมีคนที่ 3 ออกความเห็นเพิ่มเติม หากเหมือนกัน 2 คน ก็ถือเป็นเสียงส่วนมาก ก็ยังพอให้ตัดสินใจเดินหน้าทำงานนั้นๆ ไปได้ ดังนั้นในการจัดตั้งคณะกรรมการ เขาจึงไม่ใช้เลขคู่ เช่น 2, 4, 6 เพราะเวลามีปัญหาเสี่ยงก้ำกึ่งกัน ไม่มีคนตัดสินใจได้ ดังนั้นเวลามีคณะกรรมการ เขาจะเริ่มที่ 3, 5, หรือ 7 หากเสียงก้ำกึ่งกัน ประธานก็เป็นคนออกเสียงตัดสิน

ในการปกครองบ้านเมือง เขาแบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย คือ มีฝ่ายบริหาร (Executive) ฝ่ายนิติบัญญัติ (Legislative) และมีฝ่ายตุลาการ (Juditiary) และในการบริหารประเทศ เขาจะให้แต่ละสายอำนาจนั้นมีความเป็นอิสระต่อกัน สามารถเป็นระบบตรวจสอบแก่กัน ดังเช่น ประธานาธิบดีอันเป็นฝ่ายบริหารสูงสุดมีปัญหา ป่วยจนกระทั่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือประพฤติผิดกฎหมายเสียเอง หรือไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมด้วยพฤติกรรมบางประการ ก็จะต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบ ในบางกรณี ฝ่ายบริหาร หรือแม้แต่ฝ่ายนิติบัญญัติเอง ทำผิดกฎหมายเสียเอง ฝ่ายตุลาการซึ่งเป็นอำนาจอิสระ อังในตำแหน่งประธานศาลฎีกา ในประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะได้รับการเสนอชื่อจากฝ่ายบริหาร คือประธานาธิบดี และตรวจสอบและให้การรับรองโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งได้เข้าสู่ตำแหน่งโดยชนะการเลือกตั้งจากประชาชน แต่กระนั้น ประธานฝ่ายศาล ก็ต้องใช้อำนาจของศาลยุติธรรม ทำหน้าที่รักษากฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบให้ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ เช่นผู้แทนราษฎรที่ทำผิดกฎหมาย มีคนร้องเรียนและเข้าชื่อถอดถอนได้ ก็ต้องให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางศาล และมีการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายบริหาร หรือนิติบัญญัติ

No comments:

Post a Comment