Monday, January 30, 2012

ขอเราได้อยู่อย่างมีอัธยาศัย สุภาพ และมีเมตตาต่อกัน

ขอเราได้อยู่อย่างมีอัธยาศัย สุภาพ และมีเมตตาต่อกัน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Politics, การเมือง, การปกครอง, เสรีภาพ, Liberty

ภาพ วิลเลียม เพนน์ (William Penn)

เป็นที่น่าแปลกใจไหมที่ในสหรัฐอเมริกา มีประชากรมากถึง 300 ล้านคน มาจากหลากหลายศาสนา เผ่าพันธุ์ และเชื้อชาติ แต่เขาอยู่รวมกันเป็นประเทศได้อย่างไร ส่วนหนึ่งคงต้องย้อนกลับไปยังรากเง้าของประเทศนี้ ที่เกิดจากคนอพยพมาสู่โลกใหม่ เพราะความขัดแย้งด้านความเชื่อในศาสนาหลักในยุโรป คือคาธอลิค (Catholics) โปรเตสแตนท์ (Protestants) หรือฝ่ายต่อต้าน และพวกที่ไม่ได้เป็นทั้งคาธอลิคและโปรเตสแตนท์ ดังพวกนับถือนิกายเควกเกอร์ (Quakers) และความเชื่อในนิกายอื่นๆ และการจะทำความเข้าใจในสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่ การต้องมีความอดทนทางความคิดความเชื่อเรื่องศาสนา และแยกศาสนาออกจากรัฐอันเป็นหลักการอันสำคัญของประชาธิปไตยในประเทศเกิดใหม่อย่างสหรัฐอเมริกา

การที่กลุ่มคนที่เชื่อในนิกายศาสนาหนึ่ง อย่างพวกเควกเกอร์ ที่ไม่ใช่ทั้งคาธอลิค และไม่ใช่กลุ่มใหม่อย่างโปรเตสแตนท์ มาตั้งถิ่นฐานในอเมริกา และดำรงอยู่ได้นั้น คงต้องติดตามผู้นำของเขาคนหนึ่ง คือ วิลเลียม เพนน์ (William Penn)

I know no religion that destroys courtesy, civility, and kindness. ~ William Penn quotes (English Quaker leader and Founder of Pennsylvania, 1644-1718)

ข้าพเจ้าไม่รู้จักศาสนาใดที่ทำลายความมีอัธยาศัย ความสุภาพ และความมีเมตตา ~ วิลเลียม เพนน์, ผู้นำนิกายเควกเกอร์และผู้ก่อตั้งชุมชนในอาณานิคมในอเมริกา ซึ่งต่อมาคือรัฐเพนซิลวาเนีย, ค.ศ. 1644-1718)

วิลเลียม เพนน์ (William Penn) เกิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1644 เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1718 รวมอายุได้ 74 ปี เพนน์เป็นชาวอังกฤษ เจ้าของที่ดิน ผู้ประกอบการธุรกิจ นักปรัชญา และผู้ก่อตั้งจังหวัดเพนซิลวาเนีย อันเป็นชุมชนชาวอังกฤษในอาณานิคมอเมริกาเหนือ ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า Commonwealth of Pennsylvania เขาเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพในการนับถือศาสนา เขาเป็นผู้มีชื่อเสียงในการมีสัมพันธภาพอันดีและทำสัญญาที่จะอยู่ร่วมกันกับชนพื้นเมืองอเมริกาเผ่าเลนาปี (Lenape Indians) และด้วยการนำของเขา จึงเกิดเมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) ที่ได้มีการวางแผนและพัฒนาต่อมาอย่างเป็นระบบ ซึ่งเมืองนี้ต่อมาได้เป็นสถานที่ประกาศอิสรภาพของอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1776 และปัจจุบันเป็นเมืองใหญ่สุดของรัฐเพนซิลเวเนียทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา

ประวัติของวิลเลียม เพนน์ทั้งในอังกฤษและอเมริกาเป็นเรื่องที่น่าติดตามศึกษา และมันอาจทำให้เราเข้าใจการวางทิศทางของสังคมใหม่ในประเทศไทย ที่คนมีความคิดที่แตกต่างกันในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่ โปรดติดตาม แล้วนำความรู้ความเข้าใจนี้มาแลกเปลี่ยนกัน

ภาพ วิลเลียม เพนน์ เมื่อวัย 22 ปี

No comments:

Post a Comment