บทที่ 1 ความจำเป็นของการเป็นผู้นำ
ประกอบ คุปรัตน์ และ
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ณัฐนิภา คุปรัตน์
Nattanipha Cooparat
มูลนิธิก้าวไกลในเอเชีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)
Updated: วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553
Keywords: cw059, ความเป็นผู้นำ, การจัดการ
บทนำ
โลกในทางสังคมนั้นไม่เหมือนกับโลกทางกายภาพ สังคมโลกเต็มไปด้วยความผันผวน ไม่เป็นระบบ ไม่แน่นอน ทำนายได้ยาก เพราะไม่ขึ้นอยู่กับกฏเกณฑ์ใดๆ ไม่เหมือนปรากฏการณ์ของโลกทางกายภาพที่ธรรมชาติของการเป็นของแข็ง ของเหลว หรืออากาศนั้น เราสามารถนำมาศึกษา ทำความเข้าใจ และชี้ให้เห็นเหตุผลเชื่อมโยงได้ง่ายกว่า ขณะที่สังคมของมนุษย์นั้นยากที่จะอธิบาย หรือคาดเดาได้ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้นและเป็นไป ซึ่งบรรดานักสังคมศาสตร์ทั้งหลายต่างยอมรับในความจำกัดของศาสตร์ทางด้านนี้ ดังนั้นการศึกษาถึง "ความเป็นผู้นำ" (leadership) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อนในระบบสังคมด้วยแล้ว จึงยิ่งเป็นเรื่องที่ยากจะสรุปชี้ชัดลงไปได้
ความเป็นผู้นำ (leadership) นั้นเหมือนกับ "ความงาม" เป็นเรื่องยากที่จะให้คำจำกัดความ ไม่ว่าจะเป็นการประกวดความงามของภาพวาด รูปปั้น อาคาร หรือความงามของมนุษย์ จะรู้และจะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อเราได้มีโอกาสพบเห็นเข้าจริงๆ (Bennis, 1991, หน้า 1)
อย่างที่ครั้งหนึ่ง Braque นักวาดภาพชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวว่า "เป็นเรื่องยากที่จะอธิบายว่าศิลปะคืออะไร" เพราะศิลปะนั้นเป็นเรื่องที่ยากจะตัดสินได้อย่างเห็นพ้องต้องกันหมด ความงามทางศิลปะนั้น มันเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่แต่ละคนที่ได้พบเห็นต่างก็มีความคิดเห็นหลากหลายต่างกันไปตามประสบการณ์ ภูมิปัญญาและการตีความ ส่วนคนสร้างงานก็อธิบายได้ว่าเขาต้องการมันให้อธิบายหรือแสดงอะไร คนดูก็สามารถบอกได้ว่าชอบหรือไม่ หรือดูแล้วรู้และเข้าใจหรือไม่อย่างไร
เช่นเดียวกับเรื่อง "ความเป็นผู้นำ" แม้ไม่สามารถอธิบายได้อย่างง่ายๆ หรือจะทำให้แต่ละคนยอมรับใน การนำตั้งแต่แรก แต่ก็สามารถแสดงให้ประจักษ์ได้ บางทีสามารถเกิดผลในทันทีทันใด เพราะมันมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงนานาประการในสังคม แต่ในบางครั้งต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เกิดความเข้าใจในความคิดและการดำเนินการของผู้นำเหล่านั้น
เรามักจะรู้ว่าความเป็นผู้นำนั้นจำเป็นอย่างไรก็ต่อเมื่อระบบสังคมส่วนนั้นต้องประสบวิกฤติการณ์ทางความเป็นผู้นำ เช่นการได้ผู้นำที่ไม่เหมาะสมกับงาน ได้คนที่ไม่มีศีลธรรม ไม่มีความสามารถ หรือไม่กล้าตัดสินใจ เมื่อขาดความเป็นผู้นำในสังคมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับชุมชน องค์การ สังคมในวงกว้าง หรือระดับประเทศ สิ่งที่เป็นปัญหา ก็กลายเป็นวิกฤติ สิ่งที่เป็นวิกฤติก็กลายเป็นความหายนะและความแตกดับ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราจะรู้ความหมาย ของความเป็นผู้นำก็ต่อเมื่อสังคมนั้นได้ผู้นำที่เหมาะสมและสามารถกอบกู้สถานการณ์ได้ ในยามที่บ้านเมือง สังคม ชุมชน องค์การ หรือแม้แต่ในครอบครัวประสบวิกฤติ ผู้นำสามารถมีส่วนในการกอบกู้ให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี ในยามที่คนทั่วไปประสบปัญหาทั้งๆที่มองไม่เห็นปัญหานั้น เพราะผู้คนมองไม่เห็นการณ์ไกลพอที่จะเข้าใจสภาพความเป็นปัญหาเหล่านั้น แต่ผู้นำที่ดีสามารถนำระบบสังคมนั้นให้ได้คิด ให้ได้มองไปข้างหน้า และได้ตัดสินใจดำเนินการ บางครั้งคนที่เป็นผู้ตามก็ไม่พอใจ และมีการต่อต้าน แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ผู้คนจึงได้กลับไปชื่นชมเขาในความมีสายตามองการณ์ไกล และชื่นชมเขาที่ได้ตัดสินใจดำเนินการไปอย่างชาญฉลาดและถูกต้องแล้ว แม้ขณะนั้นคนส่วนใหญ่จะยังมองไม่เห็นหรือเข้าใจความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง
คลื่นวิกฤติการณ์
ในสังคมปัจจุบันนับเป็นอีกช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับความเป็นผู้นำ และการพัฒนาผู้นำให้เกิดขึ้นในสังคมในแต่ละส่วนของสังคมให้ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมปัจจุบันที่อยู่ท่าม กลางความเป็นโลกานุวัตร โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมไทยทั้งโดยทางตรงและ ทางอ้อม สำหรับภายในประเทศไทยนั้น ความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือเทคโนโลยีล้วนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกระทั่งหลายส่วนในสังคมไม่สามารถปรับเปลี่ยนตามได้ทัน บางส่วนมีลักษณะเป็นปฏิกิริยาตอบโต้และต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่บางส่วนก็แทบจะล้มละลาย เพราะปรับเปลี่ยนไม่ทัน ทั้งอ่อนล้า และหมดพลังที่จะไล่ตามทันการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวของมันเอง
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสีได้กล่าวถึงวิกฤติในสังคมไทย ในช่วงความรุนแรงแห่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 เอาไว้ในหนังสือรวมบทความ ประชาธิปไตย 2535 ว่า สังคมไทยในยุคสมัยรัตนโกสินทร์ หรือในช่วงสองศตวรรษได้เผชิญวิกฤติการณ์มาแล้ว 4 ครั้งดุจเป็นคลื่นเป็นระลอก
คลื่นลูกที่ 1 ศึกพม่า พม่าได้โถมกำลังมหาศาลหลายครั้ง เช่นสงครามเก้าทัพ เพื่อบดขยี้ประเทศไทย ถ้ากรุงเทพฯไม่เข้มแข็งก็จะถูกทำลายไปเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา
คลื่นลูกที่ 2 ลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก ในช่วงรัชกาลที่ 4 และ 5 มหาอำนาจตะวันตกเข้ายึดบ้านเล็กเมืองใหญ่เป็นเมืองขึ้นรอบๆประเทศไทยไปหมด ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย พม่า จีน อินโดจีน มลายู และสิงคโปร์ ยกเว้นประเทศไทยประเทศเดียว การที่เราไม่ตกเป็นเมืองขึ้นเขามีความสำคัญมาก
คลื่นลูกที่ 3 การสู้รบกับคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์เป็นวิกฤติการณ์ใหญ่ของโลกและของไทย ประเทศรอบๆ กลายเป็นคอมมิวนิสต์และมีมหาอำนาจใหญ่คอมมิวนิสต์ค้ำคออยู่อีก
ถ้าประเทศไทยกลายเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยก็คงตกอยู่ในสภาพคล้ายๆเขมร หรือเวียตนาม หรือลาว แต่เราก็ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ และยังสามารถยุติการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันไปได้ด้วยดี และ
คลื่นลูกที่ 4 อาจเรียกว่าเป็นวิกฤติการณ์แห่งการทำลายตนเอง (self destruction) ซึ่งศ. นพ. ประเวศ วะสีเห็ฯว่าเป็นเรื่องยากในคราวนี้ ก็เพราะศัตรูคือตัวเราเอง ที่ว่าเรานี้หมายถึงทั้งหมดโดยรวม
สำหรับคลื่นลูกที่สี่นี้ท่านหมายถึงในช่วงทศวรรษนี้เอง ที่แม้เราจะมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจมีการเติบโตในด้านวัตถุนิยมอย่างรวดเร็ว หลายประเทศให้ความยกย่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสังคมไทย ซึ่งมีอัตราการเติบโตในระดับสูงอย่างมาก ในระดับร้อยละ 8-10 ต่อปี แต่กระนั้นสังคมไทยก็ประสบวิกฤติการณ์ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง สภาพความวิกฤติที่ท่านบ่งชี้คือ
- สังคมชนบทถูกทำให้ล่มสลายลง
- สถาบันครอบครัวชุมชนสลายไป ผู้คนขาดที่พึ่ง
- ป่าไมถูกทำลายไปกว่าเท่าตัวในเวลา 30 กว่าปี
- แหล่งต้นน้ำลำธารพลอยเหือดแห้งไป
เมื่อชนบทแตก ผู้คนก็ทะลักมาแออัดยัดเยียดในเมือง เกิดปัญหาในเมือง เช่น คนจนในเมือง เด็กเร่ร่อน เด็กใต้สะพาน อาชญากรรม โสเภณี ยาเสพติด โรคเอดส์ ฯลฯ
- ความรุนแรงประเภทต่างๆ เช่น
- คนไทยฆ่ากันตายด้วยอัตราสูงเป็นที่สองของโลก
เหตุการณ์ที่คนไทยสังหารหมู่คนไทยด้วยกันเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 และล่าสุดในเหตุการณ์ 17-20 พฤษภาคม 2535
สังคมไทยกำลังทำลายผู้หญิงและเด็กของตนเอง ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงของเราเป็นแสนๆคนถูกทำให้ เป็นโสเภณี
ปัญหาโรคเอดส์กำลังระบาดด้วยอัตราสูงที่สุดในโลก ในปีพ.ศ. 2543 จะมีผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ประมาณ 4 ล้านคน โรงพยาบาลจะไม่พอรับผู้ป่วย โรคเอดส์จะกระเสือกกระสนไปตายตามศาลาวัด หรือบริเวณ โบสถ์
นักวิชาการหลายท่านวิเคราะห์สภาพความเสื่อมล้าเหล่านี้ว่า เป็นผลมาจากความที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่าง รวดเร็ว เป็นผลมาจากสถานการณ์ของโลกยุคใหม่ที่มีความเป็นพลวัตรสูง ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวาณิชย์ได้บัญญัติศัพท์เอาไว้ว่า "โลกานุวัตร" (ในระยะต่อมาได้ใช้คำว่า “โลกาภิวัตน์”) ซึ่งในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Globalization หรือ Internationalization ก็ตามที ต่อไปนี้ลองดูสภาพการปรับเปลี่ยนแบบตามไม่ทัน มีการต่อต้านเป็นแบบปฏิกิริยา เดินตามไม่ทัน หรือเดินหลงทาง
บางปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะบางส่วนของสังคมไทยตามไม่ทัน เช่นในภาคธุรกิจขนาดใหญ่ได้เติบใหญ่ขึ้น แต่ธุรกิจขนาดย่อยกำลังหมดกำลังลง ภาคเกษตร ภาคราชการ ศาสนา และการศึกษากำลังเสื่อมลง แต่ภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการกลับเจริญขึ้น กิจการด้านโทรคมนาคมกลับเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นอัตราทวีคูณ แต่ถ้าไปดูอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก ยังคงใช้เทคโนโลยีระดับต่ำก็กำลังจะล้มหายตายจากไป เช่นโรงงานทอผ้า งานตัด เย็บเสื้อผ้าต่างๆ ปัญหาเหล่านี้ต้องการการแก้ไขทั้งในระดับรัฐบาลเอง ในภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องมีความสามารถในการปรับปรุงระบบงาน และรวมไปถึงการยกระดับคนทำงานในส่วนของอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน ด้วย
บางส่วนเป็นปัญหาการรับรู้ข่าวสารที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น การรับรู้ในมูลค่าของที่ดินและทรัพย์สิน ความสามารถในการเลือกทำธุรกิจ ทำเลที่ตั้ง การเล่นหุ้น และการได้รับข้อมูลภายในที่สามารถเก็งกำไรได้ล่วงหน้า ทำให้คนบางส่วนในสังคมสามารถอาศัยความได้เปรียบสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองและพรรคพวกได้มาก แต่ในทางตรงกันข้าม คนเป็นอันมากได้ถูกหลอกไปลงทุนอย่างผิดๆ หรือลงทุนทำกิจการแล้วก็ต้องประสบปัญหา และอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุดได้ ปัญหาด้านนี้เกี่ยวพันทั้งในระบบสื่อสารมวลชน และระบบการศึกษา ซึ่งในอนาคตนั้นต้องมีการพัฒนาระบบการสื่อสารและการศึกษา ที่ทำให้คนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเท่าทันกันและ พัฒนาตนเองไปได้ตลอดชีวิต
ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร และความไม่ยุติธรรมในการแบ่งปัน การขาดกระบวนการที่มนุษย์จะหาวิธีการในการแก้ปัญหาของสังคมได้อย่างสร้างสรรค์ เช่น ขณะนี้ผืนดินที่ทำกินทางการเกษตร น้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แร่ธาตุในดิน ในทะเล ล้วนอยู่ในลักษณะมีการแย่งชิงเข้าครอบครอง ซึ่งเป็นปัญหาที่อันตรายมากสำหรับสังคมทั้งในระดับโลก และภายในประเทศ มีผู้ทำนายว่าสงครามในศตวรรษใหม่นั้นไม่ใช่ผลจากความแตกต่างทางความคิด หรือความขัดแย้งทางเชื้อชาติแต่เพียงเท่านั้น แต่จะรวมถึงการแย่งชิงทรัพยากรด้วย แม้แต่ภายในประเทศไทยเอง คนที่อยู่บริเวณต้นน้ำลำธารถ้าจัดการเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้เองหมด ในฤดแล้งก็ไม่ปล่อย มาให้คนบริเวณพื้นล่างได้ใช้น้ำก็คงเกิด ความขัดแย้ง ในทางกลับกัน คนบริเวณพื้นล่าง ชาวเมืองต่างๆซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ เมื่อต้องการได้พลังงานไฟฟ้าราคาถูกใช้ ก็อาศัยกลไกรัฐเข้าไปจัดการสร้างเขื่อน ตามบริเวณภูเขาและแหล่งต้นน้ำ มีการขับไล่ผู้คนในภาคชนบทที่อยู่ในบริเวณนั้นให้ไปอยู่ที่อื่น ซึ่งอาจไม่อุดมสมบูรณ์เท่าที่ทำกินเดิม การชดใช้ค่าเสียหายก็เป็นแบบกำหนดในระดับต่ำโดยที่ชาวบ้านเองไม่มีสิทธิเลือก ผู้ทำ ธุรกิจสนามกอล์ฟต้องแย่งน้ำจากชาวบ้านที่ทำการเกษตร คนที่มีอำนาจมากกว่าก็ได้เปรียบไป แต่ก็เป็นไปโดยปราศจากความยุติธรรม และความขัดแย้งก็ยังคงอยู่ ในด้านที่ดินซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ คนเป็นอันมากได้สูญเสียที่ดินไป มีการขายให้กับนายทุนไปมาก เพราะการทำอาชีพการเกษตรนั้นไม่สามารถสร้างความมั่นคงผาสุกให้กับตนและครอบครัวได้ มีเป็นอันมากที่ต้องหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในเมือง แต่มีบางส่วนยังยึดอาชีพเดิม เมื่อต้องขายที่ทำกินไป ก็ต้องหาที่ทำกินทางการเกษตรใหม่ โดยต้องรุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่เป็นป่าที่ควรสงวนไว้เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และความสมดุลย์ทางนิเวศวิทยา ได้มีการประมาณการกันว่ามีประชากรกว่า 10 ล้าน คนอยู่อาศัยในเขตป่าสงวน และป่าเสื่อมโทรมอย่างผิดกฏหมาย อันเป็นปัญหาทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ปัญหาผลประโยชน์ค่าตอบแทน ระหว่างกลุ่มคนจนและคนรวยที่แยกห่างมากขึ้นทุกที กลุ่มคนรวยกลับยิ่ง มีฐานะดีขึ้น แต่กลุ่มคนยากจนกลับไม่มีโอกาสต่อรองได้มากนัก เพราะตลาดแรงงานยุคโลกานุวัตรนั้น ยักย้ายการ ลงทุนข้ามประเทศได้โดยง่าย และผู้ลงทุนจะเลือกย้ายสถานที่ผลิตไปสู่ที่ที่ให้ประโยชน์จากการลงทุนของเขาสูงสุดเสมอ ในปัจจุบันประเทศไทยได้เติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วเพียงเพราะยอมรับความเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ มีคนงานจำนวนมากที่สามารถจ้างได้ในค่าจ้างค่าตอบแทนที่ไม่สูง แต่ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนในนโยบายระดับชาติ ประเทศไทยก็จะต้องถึงซึ่งทางตัน เพราะประเทศผู้จ้างวานแรงงานนั้น เขาก็จะเลือกไปลงทุนในประเทศอื่นๆที่ค่าแรงงานต่ำกว่า แต่การปรับเปลี่ยนจะไม่เป็นไปโดยง่ายนัก การที่ประเทศไทยจะหันไปหาอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีในระดับสูงขึ้นนั้นต้องอาศัยพื้นฐานทางการศึกษาระดับสูง การลงทุนทำการวิจัย สร้างทั้งองค์ความรู้และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การให้บริการ และสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ ทั้งในส่วนของรัฐบาลก็ต้องเป็นหัวหอกในการส่งเสริม ในกิจการของมหาวิทยาลัยก็ต้องยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและการวิจัยให้สามารถตอบสนองต่อภาคเอกชน สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นภายในประเทศให้ได้มากขึ้น แต่ตราบเท่าที่ระบบการศึกษาของไทยยังขึ้นอยู่กับระบบราชการที่ล้าหลัง ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตกำลังคนในระดับที่มีคุณภาพและมีความสามารถสูงได้ ตราบนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมก็จะยกระดับได้ลำบาก
ในส่วนของระบบสังคมเองก็ยังไม่มีการแก้ไขโครงสร้างการปกครอง การจัดการในกิจการต่างๆของประเทศ แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีรัฐบาลที่เป็นผลพลอยจากการเลือกตั้ง (2537) ประชาชนส่วนหนึ่งได้คิดว่ามีการปรับเปลี่ยน และทำให้ประเทศมีบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว แต่กระนั้นปัญหาหลักต่างๆที่มีอยู่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขได้อย่างทันใจความคาดหวังของคนเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการกระจายอำนาจ การให้ ประชาชนได้มีส่วนกระบวนการปกครองท้องถิ่นของตน โดยการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การมีสภาตำบล การได้มีส่วนในการวางหลักเกณฑ์ในการจัดสรรทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หรือการพลิกฟื้นพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชนบทควบคู่ไปกับการพัฒนาสภาพแวดล้อม เหล่านี้ยังไม่สามารถดำเนินการปฏิรูประบบการเมืองให้มีโครงสร้างที่ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของบ้านเมือง ได้มากนัก
ที่ได้กล่าวมาในส่วนนี้อาจจะเป็นการมองในเชิงภาพลบ ทั้งนี้เพื่อทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการต้องมีการเปลี่ยนแปลงในสังคมเปรียบเสมือนการมองน้ำในส่วนที่ไม่เต็มแก้ว ซึ่งคิดในอีกแง่หนึ่งซึ่งเป็นแง่ที่ดีนั้น การยังมองเห็นปัญหาในสังคมได้ ก็แสดงว่ายังมีช่องว่างให้เกิดการปรับปรุงได้ เพราะเมื่อใดที่เราคิดว่าสังคมนั้นดีหมดทุกอย่างแล้ว เมื่อนั้นเราจะไม่มีความขวนขวายเพื่อการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ
สภาพสังคมไทยที่เป็นอยู่
ถ้าจะพูดถึงสิ่งที่สังคมไทยกำลังประสบวิกฤติการณ์ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งโดยไม่ทำความเข้าใจถึงความเป็นมาและการชื่นชมกับสิ่งที่อย่างน้อยเราได้เคยมีหรือมีในปัจจุบัน ก็จะทำให้การศึกษาเกี่ยวกับสังคมไทยไม่สมบูรณ์นัก ความจริงสังคมไทยใช่จะสิ้นไร้ซึ่งความเป็นผู้นำในสังคม
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อปี พ.ศ. 2310 นั้น ถ้าปราศจากนักรบคนสำคัญ เช่นพระเจ้าตากสินและคณะ ในการกอบกู้อิสรภาพ ประเทศไทยอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ ในสมัยการล่าเมืองขึ้นในช่วงต้นของราชวงศ์จักรี ถ้าปราศจากพระมหากษัตริย์ที่ทรงให้ความสำคัญในการศึกษา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกภายนอกเช่นในหลวงรัชกาล ที่ 4 เราคงมีปัญหาในด้านความเข้าใจลัทธิล่าเมืองขึ้น จนไม่สามารถดำเนินการด้านการต่างประเทศได้อย่างเหมาะสม และในสมัยรัชกาลที่ 5 ถ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงดำเนินวิเทโศบายทางการต่างประเทศ และหันมาพัฒนาประเทศไทยสู่ความเป็นประเทศทันสมัยแล้ว ประเทศไทยอาจต้องได้รับเคราะห์กรรมจากความเป็นประเทศเมืองขึ้น อาจจะต้องประสบชะตากรรมที่เดือดร้อนยืดยาวอย่างในประเทศพม่า หรือเวียตนาม และถ้าประเทศไทยไม่มีการพัฒนาการศึกษาสมัยใหม่ การสร้างถนนหนทาง การไปรสณีย์โทรเลข การเลิกทาสได้อย่างราบรื่นในช่วงท้ายของรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยอาจจะยังเป็นสังคมล้าหลังอย่างยากที่จะพัฒนาได้ทัน ในช่วงหลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลก
ในปี พ.ศ.2475 เมื่อประชาชนทั่วไปต่างเดือดร้อนจากผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ ผกผันและการได้รับกลิ่นไอทางการเมืองยุคใหม่จนนำมาซึ่งการก่อการปฏิวัติของคณะราษฏร์ ถ้าในหหลวงรัชกาลที่ 7 ไม่ทรงยอมสละพระราชอำนาจในฐานะสมบูรณายาสิทธิราชเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างราบรื่นแล้ว ประเทศไทยก็คงต้องประสบกับปัญหาสงครามกลางเมืองต้องเสียเลือดเนื้อของผู้คนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คือราว ปีพ.ศ. 2485 นั้น ถ้าปราศจากผู้นำที่มองเห็นการณ์ไกล และเข้าใจในสถานการณ์โลกอย่างดร. ปรีดี พนมยงค์ที่เลือกเป็นฝ่ายพันธมิตร มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นที่รุกรานแล้ว ประเทศไทยอาจถูกจัดเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม หลายคนคงต้องถูกขึ้นศาลทหาร และถูกลงโทษไปแล้ว แต่เพราะความชาญฉลาดและการมองเห็นการณ์ในกระแสสงครามนั้น ทำให้ประเทศไทยได้ดำเนินกุศโล- บายอันเหมาะอันควร สามารถลดผลกระทบจากสงครามให้เบาบางลง ซึ่งโดยเปรียบเทียบแล้วประเทศไทยไม่ได้สูญเสียทรัพย์สิน และชีวิตผู้คนมากเหมือนในประเทศจีน ไม่ได้รับผลกระทบมากทั้งจากฝ่ายพันธมิตร และฝ่ายญี่ปุ่นที่ได้เข้ามายึดครอง
ช่วงสงครามอินโดจีน อันเป็นสงครามที่สหรัฐเองก็ต้องต้องส่งคนหนุ่มฉกรรจ์เข้าร่วม สงครามนับเกือบล้านคน และสูญเสียชีวิตทหารนับแสน มีการทิ้งระเบิดปูพรมทั่วประเทศ มีการทิ้งสารเคมีที่เรียกว่าฝนเหลืองก่อให้เกิดความวิบัติในประเทศอินโดจีนมากมาย แต่ไทยก็ไม่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองอย่างในประเทศเวียตนาม กัมพูชา หรือลาว แน่นอนว่าในประเทศไทยเองก็มีความขัดแย้งทางการเมือง มีผู้คนสูญเสียชีวิตนับหมื่นคน ทั้งในส่วนของทหารรัฐบาล ทหารป่าของพรรคคอมิวนิสต์ หรือส่วนที่เป็นชาวบ้าน แต่ก็เทียบไม่ได้กับความสูญเสียอย่างในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีการทำลายล้างชีวิตมนุษย์กันนับเป็นล้านคน แม้ปัจจุบันความแค้นนั้นก็ยากที่จะลบเลือน จึงยังคงไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์แก่คนภายในชาติได้แม้ในปัจจุบัน (2537) แต่สำหรับประเทศไทยนั้นแม้ได้มีการใช้นโยบายเดินตามสหรัฐอย่างใกล้ชิด แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนและหลีกเลี่ยงความสูญเสียไปได้
ในปี พ.ศ. 2523 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เรียกว่า "นโยบาย 66/2523" ซึ่งเรียกว่า นโยบายการเมืองนำการทหาร โดยแทนที่จะมีการใช้อาวุธเข้าปราบปรามตามล่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หรือทหารป่า ซึ่งไม่ได้ผล เพราะยิ่งใช้กำลังเข้าปราบปรามมากเท่าใด แรงต่อต้านก็กลับยิ่งรุนแรงตาม ดังนั้น หลังปีพ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ได้มีความพยายามที่จะลดสภาพการแบ่งขั้วทางการเมืองในประเทศ ได้มีการอภัยโทษให้แก่ผู้มีความขัดแย้งทางการเมือง และประชาชนที่หลบหนีเข้าป่าไปก็สามารถกลับออกมาเริ่มชีวิตใหม่ นักศึกษาที่ต้องหลบหนีเข้าป่าไปในช่วงความขัดแย้งรุนแรง ก็สามารถกลับออกมาเล่าเรียนต่อได้จนจบการศึกษา โดยไม่มีความผิด การที่ฝ่ายทหารเองได้มีสติกลับนโยบายเพื่อสร้างความสมานฉันท์ภายในชาตินี้ ได้ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องผ่านความหายนะทางเศรษฐกิจอย่างประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ การที่สังคมไทยไม่ต้องบอบช้ำทางเศรษฐกิจ จึงทำให้มีกำลังในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆได้มาก มีการวางพื้นฐานทางด้านระบบสาธาณูปโภค การศึกษา การสาธารณสุข เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาได้กลายเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
การที่สังคมไทยได้พัฒนามาจนถึงจุดนี้ เป็นเพราะในท่ามกลางวิกฤติการณ์นั้น สังคมไทยมักได้มีผู้นำเกิดขึ้นเสมอ ทั้งในระดับตั้งแต่การมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีสายตายาวไกล มีความเสียสละ โดยเห็นประโยชน์สุขของประชาราษฎร์ การมีข้าราชการในยุคก่อนอย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง ที่ได้ทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี ในสังคมยุคใหม่ที่ได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจให้ได้รุดหน้าไปนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทบาทของนักธุรกิจเอง ที่มีความเป็น ผู้ประกอบการกล้าได้กล้าทำ มีความมุ่งมั่นขยันหมั่นเพียรที่จะริเริ่มงานใหม่ ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบอุตสาหกรรม และ กิจการบริการต่างๆเทียบได้กับนานาประเทศ และในท้ายที่สุดนั้น ความเป็นผู้นำที่มีมาตั้งแต่รากฐาน แม้ในภาคชนบทที่กำลังทรุดโทรมลงอย่างมากนั้น แท้จริงก็จังพอมีผู้นำและการคิดริเริ่มงานพัฒนาหลายอย่างที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี และแม้เมื่อสังคมไทยต้องการหันกลับไปพัฒนาแก้ไขปัญหาต่างๆนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องไปเริ่มต้นที่ศูนย์ เพราะจะมีมีตัวอย่างของงานบางอย่างที่ชาวบ้านเองได้มีการริเริ่มเอาไว้
วิกฤติความเป็นผู้นำ
วิกฤติใดๆที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพความเป็นผู้นำในสังคมนั้นๆ เมื่อเกิดปัญหาในสังคมในประวัติศาสตร์นั้น เรามักจะมองเชื่อมโยงไปสู่ความล้มเหลวในระบบการปกครอง การบริหาร หรือการจัดการในระบบสังคมนั้นๆ สงครามโลกครั้งที่สองมี อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซี และ มุซโซเลนี แห่งอิตาลีเป็นตัวอย่างของผู้นำที่ได้ก่อให้เกิดความหายนะต่อสังคมโลก เมื่อมีบริษัทขนาดใหญ่ล้มละลาย คนมักมองไปที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์การนั้นๆที่มีส่วนนำองค์การไปสู่ทางตัน แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อสังคมใดประสบความสำเร็จ ประวัติศาสตร์ก็จะบ่งชี้ถึงคุณความดีของผู้นำแห่งยุคสมัยนั้นๆ เช่น มหาตมะ คานธี ถูกเชื่อมโยงกับความสำเร็จในการกู้ชาติของชมพูทวีป เหมา เจอตุง ถูกบันทึกเอาไว้ในฐานะผู้นำสังคมจีนไปสู่ความเป็นสังคมนิยม ลี ไอเอ คอคค่า ถูกจารึกเอาไว้ในฐานะผู้นำที่ได้กอบกู้สถานะของบริษัทรถยนต์ไครสเลอร์ อันเป็นบริษัทรถยนต์ใหญ่อันดับสามของสหรัฐอเมริกาจากสภาพการล้มละลาย
ในประเทศไทยสังคมบางส่วนได้จารึกความสามารถของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้นำและรัฐบุรุษของไทย ในการกอบกู้สถานการณ์ของประเทศในยุคสงครามโลกครั้งที่สองไม่ให้ตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม ในช่วงสงครามแย่งชิงประชาชนระหว่างรัฐบาลภายใต้การนำของฝ่ายทหารของรัฐกับพลพรรคและกำลังรบของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลังพ.ศ. 2519 ได้จารึกพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คือนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษที่ได้ประคับประคองสังคมไทยจากยุคความไม่มั่นคงทางการเมืองให้สามารถดำรงค์อยู่ได้ สามารถมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจนเป็นฐานในการพัฒนาประเทศได้ในปัจจุบัน
ทุกสังคมเห็นความสำคัญของการมีผู้นำในทุกส่วนที่มีความสามารถ แต่สังคมมักไม่เห็นวิธีการในการสรรหาคนที่เหมาะสมมาเป็นผู้นำ ไม่เรียนรู้วิธีการพัฒนาคนที่มีศักยภาพเพื่อให้มาทำหน้าที่อันเหมาะสม บางครั้งสังคมคาดหวังลักษณะผู้นำที่ดูสูงส่งอย่างที่ท้ายสุดก็ไม่ได้คนที่มีความสามารถอย่างที่ต้องการ และก็จะผิดหวังไปเรื่อยๆมีการเสื่อศรัทธากับระบบการเมืองเป็นระยะ สังคมไทยในปัจจุบันประสบปัญหาการขาดแคลนผู้นำในเกือบจะทุกส่วน ไม่ว่าจะในแวดวงการเมือง วงการธุรกิจ ศาสนา การศึกษาและอื่นๆ ทำให้คนดีที่มีอยู่กำลังจะหมดไป บางส่วนก็เสียคนไปเลย ส่วนคนรุ่นใหม่ก็สร้างทดแทนได้อย่างยากลำบากและไม่เพียงพอ
แวดวงการเมือง
การพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้นำแบบทหารกำลังหมดไป ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2530 เมื่อประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งนั้น แม้เศรษฐกิจไทยจะได้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในทางการเมืองนั้นกลับกลายเป็นวิกฤติขึ้นมาอีก ประชาชนเริ่มเสื่อมศรัทธาในระบบ มีเงื่อนงำแสดงการโกงกิน ทั้งในแวดวงการเมืองและราชการในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งได้เกิดความหักเหทางการเมืองซึ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน จนกระทั่งในปี 2534 ได้นำมาซึ่งเหตุผลและข้ออ้างในการปฏิวัติรัฐประหารโดยคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือที่เรียกกันอย่างย่อๆว่า รสช. แต่การปฏิวัติรัฐประหารที่มีการอ้างอิงว่าเพื่อจะกอบกู้สถานการณ์บ้านเมืองนั้น ท้ายที่สุดก็เช่นเดียวกับการปฏิวัติรัฐประหารทั้งหลาย ได้กลายเป็นความพยายามจะสืบทอดอำนาจ มีการร่างรัฐธรรมนูญซ่อนกลไกรักษาอำนาจเดิม และในที่สุดก็เป็นจริงตามคาด โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นผู้นำคนสำคัญของคณะรสช. ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเป็นอันมาก จนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ได้มีการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายประชาชนคนหลายเหล่าชั้นที่เรียกร้องประชาธิปไตยกับฝ่ายของกองทัพภายใต้การนำของคณะรสช. มีการใช้กำลังเข้าปราบปราม จนกลายเป็นต้นเหตุของความวิปโยคในสังคมไทย และในท้ายสุด แม้พลเอกสุจินดา คราประยูรได้ยอมลาออกจากตำแหน่ง มีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่จนได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตามปัญหาด้านการปฏิรูปทางการเมืองก็ยังไม่เป็นผลโดยสมบูรณ์ โดยทั่วไปแล้วในตัวโครงสร้าง รัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2537) นั้นก็ยังมีกลไกที่จะเป็นอุปสรรคในการพัฒนาระบบการเมืองของชาติในระยะต่อไปอีกมาก ซึ่งถ้าไม่มีการแก้ไขแล้ว ก็อาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาระบบอื่นๆต่อไป และอาจนำมาซึ่งวิกฤติการณ์ครั้งต่อๆไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จะเห็นได้ว่าในระบบการเมืองของไทยยังจะประสบปัญหาการได้ผู้นำประเทศที่ไม่เหมาะสมแก่เงื่อนไขของสภาวะแวดล้อม การได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถนำประเทศได้อย่างที่หวังไว้ และดูเหมือนว่าจะไม่มีโอกาสที่จะได้ผู้นำที่เป็นที่พอใจของคนส่วนใหญ่ และขณะเดียวกันสามารถทำการบริหารบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างตรงไปตรงมา และมีเป็นอันมากที่ประชา-ชนเองก็ยังไม่มีความเข้าใจในลักษณะผู้นำ ไม่มีทักษะในการเลือกผู้นำที่เหมาะสม ประชาชนต้องการและได้เลือกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีความเบื่อหน่ายต่อระบบความขัดแย้งทั้งภายในรัฐสภา และการเมืองนอกสภา และในภาพที่เห็นจากการเสนอข่าวโดยสื่อมวลชนนั้น ถ้าเป็นไปได้ประชาชนคงอยากได้ผู้นำทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแบบ นายชวน หลีกภัย มีความคล่องตัวถูกใจนักธุรกิจอย่าง พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสิทธิภาพและสามารถสร้างความ เชื่อถือแก่ประชาคมโลก และนักธุรกิจแบบ นายอานันท์ ปันยารชุน กล้าตัดสินใจและมักน้อยสมถะอย่าง พลตรีจำลอง ศรีเมือง แต่ในที่สุดก็จะหาผู้นำอย่างที่ต้องการนี้ไม่ได้ เพราะในเงื่อนไขอย่างที่เป็นอยู่นั้นไม่เอื้ออำนวยให้ "ระบบการเมืองแบบด้อยพัฒนา" แล้วจะได้ผู้นำตามระบอบประชาธิปไตย และสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในระบบการเมืองยังมีนักการเมืองพื้นฐานดีอีกมาก เขาเป็นคนไม่โกงไม่กิน และมีความตั้งใจในการทำงาน เพื่อประโยชน์สุขของสังคม แต่เป็นอันมากไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะลงทุนเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา มีเป็นอันมากเป็นนักการเมืองที่ไม่โกงกิน แต่ขาดโอกาสในการพัฒนาความสามารถและโลกทัศน์ที่จะเป็นผู้นำทางการเมืองที่ดี แม้ประสบการณ์ชีวิตการเมืองจะทำให้เขามีความสามารถในการหาเสียง เข้าสู่ตำแหน่งใหญ่โตได้ แต่ก็เข้ามาทำงานไม่เป็น ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่มีโลกทัศน์ และไม่มีฝีมือทางการจัดการ และเมื่อได้เป็นผู้นำทางการเมืองที่ท้ายสุดทำให้คนกังขาในกระบวนการประชาธิไตยว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพจริงหรือ
นักการเมืองบางส่วนเป็นประเภททำงานคล่อง ทำงานเป็นเหมือนกับนักธุรกิจ เหมือนผู้ประกอบการอิสระที่คล่องตัวก็มีมาก แต่เขาเหล่านี้หลายคนมีวิธีการทำงานแบบไม่โปร่งใส มีตุกติกทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนและหมู่คณะ ทำให้การหาเสียงเลือกตั้งนั้นกลายเป็นต้นทุนที่เขาต้องเข้าไปถอนทุนเมื่อได้เข้าไปมีอำนาจในระบบการเมืองแล้ว ทำให้ระบบรัฐสภา และสภาในระดับท้องถิ่นกลายเป็นเวทีต่อรองและแสวงหาผลประโยชน์ ตำแหน่งในทางการเมืองกลายเป็นเกราะบังคนทำความผิด ระบบการเมืองจึงเข้าไปเกี่ยวข้องมัวหมองกับเรื่องไม่ดีงามมากมาย เช่น การค้ายาเสพติด การตัดไม้ทำลายป่า การพนัน กิจการเริงรมย์ที่ต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองคุ้มครอง บางส่วน ก็ใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปแสวงหาความได้เปรียบในประมูล จัดซื้อจัดจ้าง และการแสวงหาสัมปทานในกิจการต่างๆ หลายส่วนเข้าไปครอบงำระบบราชการจนทำให้ข้าราชการต้องปฏิบัติหน้าอย่างมิชอบ ก่อให้เกิดความเสื่อมในระบบสำคัญอันเป็นแกนในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งถ้าปล่อยให้นักการเมืองประเภท "น้ำเน่า" เช่นนี้เข้าไปในระบบมากๆ ความไม่ยุติธรรมก็จะยิ่งมีมาก ความขัดแย้งในบ้านเมืองอันนำไปสู่การต่อต้านโดยคนส่วนที่เสียโอกาสและผลประโชน์ก็จะตามมา ระบบราชการอันเป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศก็จะต้องเสื่อมโทรมหาคนดีมาทำงานได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก
ยิ่งในระดับการเมืองท้องถิ่นยิ่งเป็นปัญหา สังคมไทยขาดความเป็นผู้นำในส่วนของชนบท เพราะระบบการปกครองแบบรวมศูนย์ทำให้ความสามารถของชาวบ้านที่จะจัดการกับปัญหาของท้องถิ่นได้ลดลงไป ผู้นำชาวบ้านที่เขาคิดว่าดี แท้จริงเป็นเพียง "นักขอ" คือคนที่ทำอย่างไรก็ได้ที่จะวิ่งขอการสนับสนุนด้านทรัพยากรจากรัฐบาล จากส่วนกลาง หรือกลุ่มผู้มีอำนาจ แต่จะหาผู้นำระดับท้องถิ่นน้อยคนนักที่จะเป็นคนต่อสู้ให้ท้ายสุดท้องถิ่นได้มาซึ่ง อำนาจในการจัดการ ในการแสวงหาทรัพยากรซึ่งเป็นของท้องถิ่นเอง ให้ได้ใช้ทรัพยากรเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ สังคมชนบทไทยยังขาดผู้นำที่ดีและมีประสิทธิภาพ ที่พร้อมจะรับภาระในการนำสังคมชนบทให้ได้พัฒนา ชนบทต้องการผู้นำที่กล้ายืนหยัด กล้าปรับเปลี่ยนระบบการเมือง และมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำให้ระบบการเมืองเปิดกว้างให้กับโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่น สามารถรองรับการกระจายอำนาจในการบริหารไปสู่ท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในท้องถิ่นต่างๆได้
ความซับซ้อนของปัญหาชุมชนเมืองยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในเขตเมืองหลวง หรือในส่วนภูมิภาคล้วนต้องการความเป็นผู้นำและต้องการปรับโครงสร้างระบบให้เอื้อต่อการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีประชากรอยู่กว่า 7 ล้านคน และถ้ารวมเมืองบริวารเข้าไปด้วยแล้วน่าจะมีประชากรรวมกว่า 10 ล้านคน และด้วยสภาพของความเป็นอภิมหานครที่ฝรั่งเรียกว่า megacity นี้ ทำให้ปัญหาต่างๆซับซ้อนและต้องการการแก้ไข ที่ใช้ความสามารถมากขึ้นกว่าเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นประชากรของกรุงเทพฯยังอยู่ในสถานะที่ควบคุมได้ ปัญหาของกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นเมืองหลวงในปัจจุบันมีมากมาย ตั้งแต่ปัญหาการจราจรติดขัด การขาดระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ความไม่เพียงพอของระบบโทรคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา ระบบระบายน้ำเสีย ปัญหาอาชญากรรม การศึกษาระดับพื้นฐานที่ไม่พอเพียง การขาดแคลนที่อยู่อาศัย การมีชุมชนแออัดเกิดขึ้นมากมายที่ได้ขยายไปสู่รอบนอกของมหานคร มีประชาชนยากจนบางส่วนต้องไปอาศัยในบริเวณใต้สะพาน หรือในที่ที่มนุษย์พึงอยู่อาศัยได้อย่างมีศักดิ์ศรี ปัญหาเหล่านี้มีความหนักหนา ปัญหาเก่าแก้ยังไม่ได้ แต่ปัญหาใหม่ก็ทับถมกันเข้ามา
สังคมเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯที่มีอายุกว่า 200 ปีแล้วนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ต้องปรับทั้งโครงสร้าง การบริหาร การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม เพราะบางครั้งการแก้ปัญหาของคนกรุงเทพฯเพื่อคนกรุงเทพฯ แต่เป็น การนำเอาทรัพยากรของคนทั้งประเทศมาใช้ ซึ่งก็ไม่เป็นธรรม และเป็นการไปซ้ำเติมภาคชนบทที่อ่อนด้อยอยู่แล้วในทุกๆด้าน ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกันในระดับโครงสร้างใหม่ สังคมไทยต้องการทั้งผู้นำในระดับนักคิด และในระดับการนำความคิดไปสู่การปฏิบัติ และเมื่อการกระจายอำนาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับปัญหาเมืองหลวง ซึ่งควรต้องปล่อยให้ท้องถิ่นเองหันมาแบกรับงานที่ตกอยู่กับรํฐบาลส่วนกลางไป ชุมชนชาวกรุงเทพฯเองต้องเข้ามาจัดการกับปัญหาของตนเอง ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงการได้นายกเทศมนตรีเพิ่มมากขึ้นเพื่อมาแบ่งกันนำ ไม่ใช่เพียงการแบ่งแยกกรุงเทพฯกับธนบุรีออกจากกัน แต่คงต้องมากกว่านั้น ที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนในแต่ละส่วนของเมืองหลวง (zone) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องของตนเอง
ในต่างจังหวัดนั้น ถ้าสังคมไทยเชื่อในการปกครองเมืองแบบกระจายอำนาจ คนทำงานในส่วนของการจัดการส่วนกลางของแต่ละจังหวัดหรือท้องถิ่นเองนั้นจะต้องมีโลกทัศน์ มีการเตรียมการวางแผนสร้างบ้านแปลงเมืองเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนเมือง แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันในเขตเมืองของส่วนภูมิภาคนั้นแสดงให้เห็นว่าขาดการจัดการและความเป็นผู้นำ ยกตัวอย่างการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมย่านชายทะเลฝั่งตะวันออก ซึ่งรัฐบาลส่วน กลางได้มีการลงทุนวางระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญเอาไว้ แต่ปรากฏว่าไม่มีการขานรับด้านการวางแผนจากท้องถิ่น การบริหารระดับจังหวัดหรือท้องถิ่นนั้นยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนหรือผู้ประกอบการได้ ตรงกันข้าม กลับมีนักเก็งกำไรลงทุนดักซื้อที่ดินสร้างราคาและกำไร จนในที่สุดกลับกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการลงทุน การขาดแคลนน้ำใช้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ระบบการศึกษายังไม่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในระแวกนั้น
ในเขตการท่องเที่ยว เช่นในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต พัทยา เราประสบปัญหาการแสวงหาประโยชน์แบบขาดสายตามองการณ์ไกล ภาครัฐเองไม่มีโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นที่ดีพอจะกำหนดแนวทางการพัฒนาให้เป็นไปอย่างมีแบบแผนมั่นคง และเป็นผลดีในระยะยาว การเร่งลงทุนแบบหวังผลกำไรกันในระยะสั้น ท้ายสุดเป็นการทำลายบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในฐานะเป็นเมืองท่องเที่ยว อย่างชนิดที่ต้องใช้ทรัพยากรในการแก้ไขกันอย่างมากในระยะยาว
เรายังขาดความเป็นผู้นำอยู่มากในทุกวงการเมืองการปกครอง ขาดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ขาดทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น
แวดวงธุรกิจ
ในแวดวงธุรกิจไทยนั้นตั้งอยู่บนฐานของการแข่งขันกันอย่างชนิดใครดีใครอยู่ บางอย่างควรเป็นการร่วมมือกันเพื่อการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ทั้งต่อนักธุรกิจเอง และต่อผู้บริโภค แต่วัฒนธรรมโดยทั่วไปก็ยังไม่เปลี่ยน
ในการสังเกตสิ่งต่อไปนี้
บรรยากาศความไม่ร่วมมือของกันเองของภาคเอกชน อันจะดูได้จากการจัดตั้งองค์กรในรูปสมาคม งานสมาคมผู้ประกอบการ การจัดตั้งสมาคมวิชาชีพ หอการค้า หรือสภาอุตสาหกรรม งานที่เป็นการประสานประโยชน์ต่อหมู่คณะเหล่านี้ยังไม่ได้รับความสนใจจากมวลสมาชิกภาคธุรกิจ ส่วนใหญ่มีกิจกรรมแบบไม่ต่อเนื่องและทำงานกันเป็นระยะเฉพาะกิจในแบบที่ไม่มีแผนงาน ผู้รับผิดชอบบางคนอาศัยสมาคมเป็นเพียงทางผ่านไปสู่สิ่งที่ดีกว่าของตนเองหรือธุรกิจที่ตนเกี่ยวข้อง วงการธุรกิจปัจจุบันไม่ได้หวังอะไรมากจากการรวมตัวกัน ซึ่งก็เป็นสาเหตุให้การพัฒนาธุรกิจจึงเป็นไปอย่างลุ่มๆดอนๆ ไม่มีความต่อเนื่อง และเป็นอุปสรรคในการประสานประโยชน์ในการดำเนินการระยะยาว
ธุรกิจบางอย่างอาศัยการแข่งขันแบบผู้ชนะได้หมด ส่วนผู้แพ้ก็ต้องล้มละลายหรือหายสูญไปจาก วงการ ยกตัวอย่างการแข่งขันในวงการศูนย์การค้าทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ศูนย์การค้าที่มีขนาดกลาง มีทุนดำเนินการไม่มาก โดยนักธรุกิจในระดับท้องถิ่นดำเนินการเองก็จะสูญหายตายจากไป เพื่อเปิดทางให้กับศูนย์การค้าในระบบเครือที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นอันมากวิเคราะห์ได้ว่า ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะระบบศูนย์การค้าแบบแข่งกันทำกิจการขนาดใหญ่มากจนเกินไปนั้นไม่ทำให้การบริการได้การกระจายตัวเองให้ใกล้กับประชาชนผู้บริโภค และเมื่อวิเคราะห์กันแล้ว การสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่มากๆขนาดต้องมีที่จอดรถขนาดหลายพันคัน และเป็นแบบกระจุกตัวอย่างมากนั้น ทำให้เกิดปัญหาด้านการจราจร สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอากาศเสีย และเป็นการสิ้นเปลืองด้านพลังงานเพื่อการปรับอากาศ และเพื่อการใช้ยานพาหนะในการเดินทางมาจับจ่ายใช้สอย
วงการธุรกิจหลายแขนงมีบรรยากาศหวังผลประโยชน์ระยะสั้น ดังจะสังเกตได้จากการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ยังเป็นไปแบบไม่ได้คิดให้สอดคล้องกับการพัฒนาท้องถิ่น บางแห่งมีแหล่งงานอยู่มาก แต่กลับขาดแคลนที่พัก บางแห่งไม่มีงาน ไม่มีโครงสร้างสาธารณูปโภครองรั บ แต่กลับไปลงทุนพัฒนาที่พักอาศัยเอาไว้มากมาย แบบไม่ได้คิดว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะทำอะไรกันต่อไป คนพักอาศัยจะต้องประสบปัญหากันอย่างไร ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือการพัฒนาเมืองพัทยา คนทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมื่อทำธุรกิจค้าที่ดินและอาคารต่างๆ ก็ได้แต่พยายามโฆษณาและพยายามขายโครงการของตน ไม่ได้มีการวางแผนร่วมกัน คนซื้อที่ดินทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นห้องชุด บ้านพัก หรืออาการพาณิชย์ ล้วนแต่มองภาพธุรกิจแบบดีดลูกคิดรางแก้ว ไม่ได้เห็นสภาพปัญหาที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้เตรียมการที่จะแก้ปัญหา ซึ่งในที่สุดทำให้เกิดความสูญเสียทางธุรกิจ และเศรษฐกิจ ของชุมชนเมืองพัทยา และทั้งต่อประเทศ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเกินความจำเป็น มีแต่คนบอกขายกิจการ เมืองขาดน้ำที่จะใช้ ต้องไปแย่งชิงจากแหล่งกักเก็บน้ำซึ่งควรจะมีไว้สำหรับในทุกภาคของาจังหวัด อันที่จริงปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นในอีกหลายๆที่ เช่น เมืองเชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ และที่อื่นๆอีกมากมาย ธุรกิจเป็นอันมากจึงกลายเป็นเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์โดยปราศจากความรับผิดชอบ ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านด้วยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิจการด้านการประมง การทำป่าไม้ หรือการสร้างบ่อนกาสิโน ล้วนเป็นการหวังผลระยะสั้นที่มีความเสี่ยงอย่างสูงในการสร้างสัมพันธภาพกับประเทศเพื่อนบ้านในระยะยาว
ธุรกิจเอกชนไทยยังไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบอื่นทั้งๆที่มีกำลังทรัพย์และความสามารถ เช่นในภาคการเมือง ระบบการปกครอง และการศึกษา ทั้งๆที่ระบบเหล่านี้เป็นปัญหาของชาติที่ในระยะยาวแล้วจะเป็นอุปสรรคในการพัฒนาธุรกิจ การไม่สามารถมองเห็นการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะการกระจายอำนาจ กระจาย ความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาค ทั้งๆที่การขยายตัวของผู้ที่อยู่ดีกินดีในส่วนภูมิภาคนั้น ในระยะยาวจะเป็นโอกาสในการประกอบการของภาคธุรกิจอย่างมาก
ธุรกิจเอกชนไทยเป็นอันมากไม่ใส่ใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการพัฒนาแรงงานไทย ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตของผู้ใช้แรงงานยังเป็นปัญหาใหญ่ เช่น กรณีที่ปรากฏให้เห็นชัดการที่ผู้ใช้แรงานต้องเสียชีวิต ต้องบาดเจ็บจนถึงพิการจาก ตึกถล่ม ไฟไหม้โรงงาน การได้รับสารพิษจากการทำงานโดยไม่มีมาตรการป้องกัน และในกิจการที่ใช้ระบบการจ้างเหมาเป็นรายชิ้นเช่นการตัดเย็บเสื้อผ้า และบางอย่างเป็นอันตรายทั้งต่อผู้ใชแรงงานเอง และต่อสังคม เช่น ระบบการทำงานแบบเร่งผลิตผลสินค้าและบริการจนลืมความหมายของความเป็นคน ดังการปล่อย ให้มีการใช้ยาม้าในคนขับรถรถรับจ้าง รถบันทุก และรถโดยสาร เป็นต้น ความจริงเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ไม่ ยากถ้าผู้ประกอบการ หรือฝ่ายบริหารของบริษัทห้างร้านทั้งหลายได้ร่วมกันคิดและหาทางแก้ไขปัญหา โดยไม่เพียงแต่แข่งขันกันในทางธุรกิจกันจนลืมแง่มุมความรับผิดชอบในสังคม โดยต้องร่วมกันวางกติกาเอาไว้ในวงการและก็จริงจังในการปฏิบัติ แต่เรื่องก็ขาดคนนำและคนประสานการจัดการให้เกิดขึ้น ทุกคนก็ยังใช้วิธีการแข่งขันทางธุรกิจแบบสร้างความวินาศกันต่อไป
ธุรกิจไทยยังขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการดำเนินธุรกิจไทยนั้นเป็นการทำธุรกิจที่แข่งขันเพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำสุด ในวงการอุตสาหกรรมก็ต้องเน้นที่การผลิตได้อย่างรวดเร็ว อะไรก็ตามที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น นักธุรกิจเป็นอันมากจะไม่ใส่ใจ ทั้งๆที่แท้จริงแล้วจะกลายเป็นต้นทุนการผลิตและปัญหาของสังมที่จะต้องแก้ไขในระยะยาว นอกจากนี้แล้วการหวังผลระยะสั้นไม่ใช่สร้างเพียงปัญหาภายในชาติ แต่ในบางกรณีได้สร้างปัญหาในสัมพันธภาพระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในระยะยาว เช่นปัญหาการบุกทำลายป่า เพื่อให้ได้ไม้ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ โดยนายทุนอาศัยการเข้าไปทำสัมปทานป่าไม้ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่คำนึงถึงการดำเนินการระยะยาว การประมงแบบโหมจับและสุ่มเสี่ยงเข้าไปในเขตน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะนำมาซึ่งการขัดแย้งทางการเมือง และความหมางเมินต่อกันในอนาคตได้ ใครในแวดวงธุรกิจจะเป็นฝ่ายริเริ่มในการแก้ปัญหาเหล่านี้
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องการความคิดริเริ่มจากภาคธุรกิจ การที่องค์การภาคธุรกิจต้องสามารถมองเห็น ความเชื่อมโยงกิจการธุรกิจกับระบบอื่นๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการความเป็นผู้นำที่ไม่มองเพียงผลประโยชน์ระยะสั้น ไม่มองเพียงการได้ผลประโยชน์เพียงสำหรบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องการนักธุรกิจที่มีการมองการณ์ไกลและมีความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้น
แวดวงราชการ
แม้ในโลกธุรกิจเสรีปัจจุบัน เอกชนสามารถเข้ามาดำเนินการแทนภาครัฐได้มาก กิจการบางอย่างของบริษัทอาจมีเครือข่ายใหญ่โตกว่ากระทรวงบางกระทรวงของภาคราชการ แต่กระนั้น เอกชนก็ไม่สามารถเข้ามาดำเนินการในกิจกรรมของประเทศแทนภาคราชการได้ทั้งหมด เพราะยังมีงานบางอย่างที่จำเป็นต้องได้คนกลางที่ยุติธรรม มีความซื่อสัตย์ มีคนดีมีฝีมือเอาไว้ใช้งาน สังคมยังต้องการส่วนงานราชการที่ทำหน้าที่กำกับและควบคุมนโยบายที่ยุตธรรมและมีประสิทธิภาพ และรัฐบาลเองก็ยังต้องให้บริการในบางส่วนซึ่งไม่สามารถปล่อยให้ธุรกิจกระทำได้ในรูปการค้ากำไรได้ นอกจากนี้บุคลากรในภาครัฐยังต้องได้คนที่มีโลกทัศน์ที่กว้างขวาง สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ ไม่ใช่กลายเป็นตัวอุปสรรคเสียเอง
การขาดคนดีมีฝีมือในระบบราชการที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ผลกระทบจากการขยายตัวของภาคเอกชนได้ทำให้คนดีมีฝีมือในภาครัฐต้องไหลออกไปสู่ภาคเอกชน ซึ่งก็ยิ่งเป็นอุปสรรคในการทำงานภาครัฐยิ่งขึ้น เพราะไม่มีคนดีมีฝีมือเอาไว้ใช้งาน ปัจจุบันความคิดที่จะทำให้ระบบราชการมีขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพนั้นยังไม่เป็นจริง เรายังมีคนอยู่ในภาคราชการทั้งส่วน ที่เป็นทหารตำรวจ และข้าราชการพลเรือน อยู่ประมาณ 2 ล้านคน นับว่ามีจำนวนไม่น้อย คิดเป็นร้อยละ 3 ของประชากรทั้งประเทศซึ่งมีรวมประมาณ 60 ล้านคน ปัญหาเป็นเรื่องของการขาดในเชิงคุณภาพ ขาดในเชิงความสามารถ ขวัญกำลังใจในการทำงาน การทำงานอย่างอุทิศและทุ่มเทเพื่อส่วนรวม การสูญเสียคนในส่วนของสมองที่ จำเป็นไปสู่ภาคอื่นๆ จนทำให้อยู่ในระดับที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสูญเสียนักเทคนิควิทยาฝีมือดีทำให้การบริหารราชการอย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปได้ยาก แถมซ้ำ ระบบราชการยิ่งอ่อนแอ ก็ยิ่งได้รับผลกระทบจากทางการเมือง และเมื่อการเมืองเองก็ยังไม่พัฒนา มีการพยายามสร้างฐานอำนาจ สร้างกลุ่มพรรคพวกและผลประโยชน์ ภายในหน่วยงาน สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายสร้างความแตกแยกให้กับระบบราชการ กลายเป็นระบบเส้นสายติดยึดกันไปหมด ยกตัวอย่างกิจการในกรมตำรวจที่ผ่าน มาหลายยุคหลายสมัย ยิ่งรัฐบาลใช้นโยบายเข้ามาจัดการการบริหารงานบุคคลของกิจการตำรวจมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้กรมตำรวจยิ่งอ่อนแอ และเมื่อหน่วยงานยิ่งอ่อนแอ ระบบการบังคับบัญชาโดยอาศัยคุณธรรมก็เป็นไปได้ยาก ประสิทธิภาพในการทำงานก็ยิ่งเป็นปัญหา คนทำงานขาดขวัญและกำลังใจ และเมื่อคนทำงานด้านการควบคุมกฏหมายในบ้านเมืองอ่อนแอแล้ว สังคมก็ยิ่งเดือดร้อน
โดยภาพรวมแล้วถ้าเราไม่สามารถลดกำลังคนในระบบราชการได้ ก็ไม่มีกำลังงบประมาณ เพิ่มค่าตอบแทน แก่ผู้ปฏิบัติงาน เมื่อเงินเดือนค่าตอบแทนยังต่ำ การปฏิบัติงานก็ขาดประสิทธิภาพ ปัญหาที่พูดกันมากก็เลยยังแก้ไข ไม่ได้ คนดีมีความสามารถก็หนีหายไปมากขึ้น แต่ระบบความมั่นคงในราชการก็ทำให้ไม่สามารถปลดถ่ายคนด้อย ความสามารถ หย่อนสมรรถภาพ คนไม่ตั้งใจทำงาน ไม่สนใจในการพัฒนาได้ แต่ด้วยความที่ระบบราชการนั้นเป็นคนหมู่มาก เมื่อขวัญการทำงานไม่ดี ก็มีปฏิกิริยาต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ต่อต้านฝ่ายบริหาร ต่อต้านผู้มีอำนาจ การที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประชาชนเจ้าของประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองในด้านต่างๆจึงยังเป็นปัญหา
ถ้าไม่รีบแก้ไข ระบบราชการไทยจะเหมือนกระดูกผุ ผลกระทบจะมีทั่วไปหมด ไม่ว่าจะในวงการศาล ทหารตำรวจ ข้าราชการพลเรือน นักวิชาการ นักบริหาร ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่วนหนึ่งต้องการความริเริ่ม ผลักดันจากภายนอกระบบราชการ แต่ถ้าปราศจากข้าราชการระดับนำที่มองการณ์ไกล สามารถเห็นอุปสรรคของประเทศ และเข้าใจกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงแล้ว การปรับเปลี่ยนปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพขึ้นก็ ทำได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าระบบราชการขาดคนนำจากภายใน ได้คนที่มีสายตาไม่ยาวไกล โดดไปเล่นการเมืองภายใน หน่วยงาน สร้างระบบสมัครพรรคพวกเป็นเกราะกำบังตน ไม่นำพาต่อความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงของสังคม แล้ว ระบบราชการเองก็จะเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง
แวดวงศาสนา
เมื่อท่านพุทธทาสภิกขุ ปราชญ์และผู้นำทางศาสนาได้สิ้นอายุขัยเมื่ออายุได้ 87 พรรษานั้น เป็นที่น่าวิตกว่าประเทศไทยจะขาดสงฆ์ที่เต็มไปด้วยความรอบรู้ และเต็มไปด้วยความเป็นผู้นำในวงการศาสนาเช่นท่าน ตั้งแต่นี้ต่อไป การจะหาพระสงฆ์รุ่นใหม่ๆที่เต็มไปด้วยคุณธรรมและบารมีเช่นท่านนั้น นับเป็นเรื่องยาก แต่ในสัญญาณแห่งความเสื่อมถอยกลับเข้ามาแทนที่ ดังจะเห็นได้จากสภาพความเสื่อมล้าของพระศาสนา มีการหมกมุ่นในเรื่องทีไม่เป็นแก่นของศาสนา เช่น
พระสงฆ์ไทยยังมีเป็นอันมากที่หมกมุ่นกับเรื่องไม่เป็นสาระ เช่น พระเครื่อง ขอหวย สะเดาะห์เคราะห์ ไสยศาสตร์ ฯลฯ มีปัญหาในเรื่องกิเลศ กามคุณ หรือการเข้าไปดำเนินกิจการที่พระสงฆ์เองก็ไม่มีความถนัด เช่นในกิจการพาณิชย์ทั้งหลาย เกิดความล้มเหลว กลายเป็นเรื่องหลอกชาวบ้านไปก็มีให้เห็นมาก
ในการพัฒนาพระสงฆ์รุ่นใหม่เพื่อทดแทนพระอาวุโสที่ร่วงโรยไปนั้นก็ปะสบปัญหา เพราะเยาวชนรุ่นใหม่ก็ ไม่ให้ความสำคัญแก่การสืบทอดพระศาสนา ผู้มาบวชเรียนมักมาจากครอบครัวยากจน มีความด้อยโอกาสในการ ศึกษาเล่าเรียน ส่วนในกิจการของศาสนาเองก็ขาดกระบวนการพัฒนาผู้สืบทอดพระศาสนาให้มีความรู้ความ สามารถ มีการจัดการศึกษาเล่าเรียนที่มีลักษณะคัมภีร์นิยมมากเกินไปบ้าง ขาดความลึกซึ้งและเข้าใจในพระศาสนาอย่างถ่องแท้บ้าง บางส่วนที่ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่สัมพันธ์กับชาวโลก แต่ก็ไม่มีความเข้าใจในปัญหาของชาวบ้าน บางส่วนได้รับการฝึกอบรมอย่างขาดภูมิต้านทานต่อกระแสโลก มีความไม่แกร่งพอที่จะเป็นที่ยึดเหนี่ยวของสังคม กลายเป็นถูกสังคมชักนำไปสู่ความเสื่อม กิจกรรมการพาพระท่องเที่ยว การชักจูงสู่วัตถุนิยม ลาภ ยศ สรรเสริญจึงทำ ให้พระสงฆ์และพระศาสนาต้องอยู่ในสภาวะวิกฤติ
สภาพวัดในปัจจุบันมีความอ่อนล้า ไม่สามารถนำสังคมได้อย่างเต็มที่ ในวัดเองหลายแห่งกลายเป็นแหล่งหากินของฆราวาส เป็นที่แอบซ่องสุมของมิจฉาชีพ ในชุมชนเมือง วัดกลายเป็นที่หลบซ่อนของเยาวชนมีปัญหาเพราะบ้านเมืองไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว มีการแอบใช้ยาเสพติดของวัยรุ่นข้างวัด ตำรวจก็ไม่กล้าตามไปจับ ซึ่งก็เป็นปัญหาคล้าย กับทางกทม. ที่ไม่กล้าตามเข้าไปจับสุนัขหรือแมวไม่มีเจ้าของในวัดนั่นเอง
สังเกตความสกปรกของวัดในเขตกรุงเทพมหานคร หรือในเมืองใหญ่ มีสุนัขขี้เรื้อน แมวผอมโซ เศษอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ และมูลอุจจาระสัตว์เรี่ยราด เป็นที่ขวางสายตาการมองจากทางชนชั้นกลางและชาวบ้านที่มีการศึกษา ทำให้สงสัยในสภาพบรรยากาศซึ่งไม่น่าจะเป็นที่สงบพอให้สงฆ์ได้เรียนรู้ ในการบริหารกิจการของสงฆ์เองก็มีปัญหา แรงบีบกดจากทางระบบอื่นก็มีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวงการธุรกิจและผลประโยชน์ ดังจะเห็นได้จากข่าวเจ้าอาวาส หรือพระผู้ใหญ่ถูกลอบทำร้ายและถูกสังหารอยู่บ่อยๆ เหตุด้วยผลประโยชน์ ทรัพย์สินของวัดถูกยักยอก ถูกโขมย วัดบางวัดต้องติดลูกกรงเหล็กดัดเอาไว้กันการโจรกรรมทรัพย์สินและป้องกันความปลอดภัยแก่คนในวัด ดูแล้วน่าเป็ห่วง
ด้วยความที่ขาดภูมิต้านทานต่อสภาพความเย้ายวนทางโลก พระหลายรูปมีปัญหาอื้อฉาวทางเพศ บางส่วนเมื่อทัดทานแรงชักจูงไม่ได้ก็สึกไป แต่บางรูปที่อาจเลวร้ายก็คือยังคงความเป็นพระอยู่ แต่ก็ไม่เลิกเสพสิ่งที่ผิดพระวินัยเหล่านั้น
ปัญหาของพระที่ไม่ได้รับการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างเพียงพอ ถูกชาวบ้านชักพาไปสู่ไสยศาสตร์ และก็มีส่วนชักนำให้ชาวบ้านหลงเชื่อในไสยศาสตร์ การขาดการประสมประสานระหว่างความรู้ความเข้าใจ ทางธรรมและทางโลกอย่างพอเหมาะ การไม่เข้าใจปัญหาชาวบ้านกำลังประสบ อยู่การขาดวิธีการสื่อสารกับชาวบ้าน จึงไม่สามารถให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ การให้คำแนะนำในการครองชีวิตแก่ชาวบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การเปลี่ยนแปลงพระศาสนานั้นจำเป็นต้องได้การริเริ่มจากภายในพระศาสนา เพราะศาสนาอันเป็นระบบย่อยของสังคมที่หากปล่อยให้เปลี่ยนแปลงแบบลอยละล่องไปตามค่านิยมชั่วขณะของสังคมแล้วยิ่งเป็นอันตราย เพราะศาสนานั้นยังจำเป็นต้องเป็นแกนหลักสำหรับความยึดหมั่นในสังคม เป็นที่ที่สามารถฉุดรั้งสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้นให้ได้สติ ได้มีโอกาสตรวจสอบตนเอง เป็นแหล่งที่พักพิงให้บริการทั้งทางด้านการให้ที่พักอาศัย การพึ่งพิงของผู้มีปัญหาทั้งทางด้านร่างกายและจิตวิญญาณ และแก่คนที่ยังต้องอยู่ในโลกที่บ้าๆบวมๆ มีการแข่งขันกันจนเกินเหตุ และบางครั้งได้เตลิดไปอย่างไร้เหตุผล
การได้ผู้นำทางศาสนาที่มีความสามารถจึงเป็นความจำเป็นอย่างมาก และต้องมีให้มากพอกระจายไปทั่ว ทุกหัวระแหงในสังคม ต้องมีทั้งในระดับพระนักคิด และพระผู้นำความคิดนั้นไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดคุณค่าที่ดีงามในสังคม
แวดวงการศึกษา
ครูในสังคมไทยจัดเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด คือมีครูรวมทั้งสิ้นกว่า 600,000 คน แต่ครูเหล่านี้ขาดแรงจูงใจเข้าสู่ วิชาชีพ เพราะในระบบการศึกษาที่ยึดติดอยู่กับระบบราชการนี้ ทำให้คนดีมีความรู้ความสามารถไม่สามารถที่จะเข้ามารับใช้สังคมได้ ครูในสังคมไทยโดยรวมจึงขาดคุณภาพ ไม่สามารถเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นสิงคโปร์ หรือมาเลเซียได้ แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อครูเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่มากเช่นนี้ ความเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่สามารถเรียกร้อง ต่อรองกับทางรัฐบาลก็มีมาก
ในส่วนของระบบราชการส่วนกลางของการศึกษาเองปัจจุบันก็ยังเป็นปัญหา เช่นจะเห็นได้จากปัญหาการ ขาดการประสานสัมพันธ์กันเองในหน่วยงานภายในกระทรวงศึกษาธิการ หรือที่เรียกแบบ ล้อเลียนว่า "องค์ชาย สิบสี่" อันหมายถึงความต่างเป็นอิสระของหน่วยงานระดับเทียบเท่ากรมของกระทรวง ขาดการประสานสัมพันธ์ของ ผู้บริหารหน่วยงานระดับกรม ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีความเป็นเอกเทศต่อกัน ไม่ค่อยร่วมมือกัน ทั้งๆที่ทั้งหมดเป็นหน่วยงานขึ้นอยู่กับส่วนกลางด้วยกัน
เป็นที่ทราบกันว่าระบบการศึกษาของไทยนั้น จำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นในเมือง หรือในชนบทได้เข้ามามีส่วนในการปกครองและรับผิดชอบต่อกิจการของเขาเองได้แล้ว แต่นโยบายกระจายอำนาจการศึกษาซึ่งเป็นความจำเป็นนั้นจะไม่ได้รับความร่วมมือ ถ้าครูจำนวนมากไม่เข้าใจ และไม่เห็นด้วย นโยบายปฏิรูปการศึกษาจะเป็นไปได้ยาก ถ้าขาดระบบความเป็นผู้นำจากในแต่ละส่วนของระบบการศึกษา ถ้าครูส่วนใหญ่เองยังไม่มีความเข้าใจ หรือไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง หรือเข้าใจความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง การดำเนินการเปลี่ยนแปลงก็ประสบความสำเร็จได้ยาก ยิ่งในระดับท้องถิ่นเองก็มีปัญหาในด้านการขาดบุคลากรที่ จะมีความสามารถในการจัดการในแบบกระจายอำนาจ และการต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับ ชาวบ้าน การต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในส่วนกลางก็ยังมีอยู่ ดังข้าราชการระดับสูงในกระทรวงเองก็มักมีคำถาม ว่า ถ้ามีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้แก่ท้องถิ่นแล้ว ผู้บริหารการศึกษาในระดัยท้องถิ่นเองจะดำเนินการ ได้หรือ ชาวบ้านในท้องถิ่นจะเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการเองได้หรือ ผู้บริหารการศึกษาซึ่งคุ้นเคยกับการต้องฟังเสียงจากส่วนกลางจะอยู่ในสถานะที่จะใช้สติปัญญา ประสานการทำงาน นำท้องถิ่นพัฒนาการศึกษาได้จริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องตอบด้วยการได้ลองกระทำ และจะสำเร็จหรือไม่อย่างไรนั้น เป็นอันมากทีเดียวขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำและการจัดการในระดับท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งจะต้องมีวิธีการในการสร้างผู้นำทางการศึกษาทั้งจากส่วนของนักการศึกษานักวิชาการ และในส่วนของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ
ปัญหาในทางการศึกษายังมีอีกมากทั้งในวิธีการจัดการและในเนื้อหาสาระทางการศึกษา ในการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในปัจจุบันนั้น ยังเป็นลักษณะตีบตันเหมือนคอขวด กล่าวคือไม่สามารถขยายการจัดการศึกษาในระดับดังกล่าวได้อย่างพอเพียง ในทางการอุดมศึกษา เรามีมหาวิทยาลัย 18 แห่งที่เป็นของรัฐ มีมหาวิทยาลัยเอกชน 26 แห่ง แต่เพราะปัญหาจากระบบราชการ และวัฒนธรรมภายในมหาวิทยาลัยที่ไม่ใส่ใจต่อการจัดการ ทำให้การดำเนินการของมหาวิทยาลัยของรัฐทรุดลงเป็นลำดับ มีความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยสูง อาจารย์ไม่พอใจผู้บริหาร มหาวิทยาลัยไทยในช่าง 2 ปีที่ผ่านมา มีการเดินขบวนขับไล่ผู้บริหารระดับอธิการบดี มีการออกใบปลิวโจมตีกัน การเป็นผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันกำลังอยู่ในวัฒนธรรมที่ไม่สามารถบริหาร งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมรรถภาพการบริหารงานตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับภาควิชาอันเป็นฐานทาง วิชาการและการดำเนินการที่สำคัญ ไม่มีผู้สนใจรับภาระกันมากนัก เกิดวัฒนธรรมใหม่ ไม่มีใครอยากเป็นหัวหน้า ภาควิชาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ แม้จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มให้ แต่ก็ดูเหมือนจะไร้ความหมาย
ความพยายามที่จะออกจากระบบราชการในพ.ศ. 2534 มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 14 แห่งได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติเข้าสู่สภา แต่ในวันสุดท้ายของร.ส.ช. ก่อนการเลือกตั้ง พลอยตกไปหมดเพราะไม่ผ่านการพิจารณา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่เข้าใจและความหวาดระแวงของคณะรสช. เกรงจะเป็นอุปสรรคก่อให้เกิดความไม่ราบรื่นในทางการเมือง แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นมาจากความไม่พร้อมภายในของแต่ละสถาบัน ประชาคมมหาวิทยาลัยมีความไม่เชื่อมั่นว่าจะพร้อมสำหรับการเป็นมหาวิทยาลัยอิสระ บางส่วนคิดว่าไม่อยากให้ออกจากระบบราชการ เพราะมองจากตนเองเป็นที่ตั้งนั้น เขาไม่คิดว่าจะได้อะไรมากมายนักจากการเปลี่ยนแปลง เพราะเท่าที่เป็นอยู่เขามีความคล่องตัวสูงอยู่แล้ว ในการดำเนินชีวิตเขาก็มีความเป็นอิสระที่จะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ และด้วยเหตุนี้วงการอุดมศึกษาปัจจุบันจึงไม่มีความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขาดประสิทธิภาพในการจัดการ มีความขัดแย้งกันภายใน ขาดความกระตือรือล้นจนไม่ใยดีต่อแสวงหาแหล่งทรัพยากรจากภายนอกมาบำรุงกิจการของมหาวิทยาลัย และไม่ได้มุ่งมั่นทำงานพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นเลิศอันเป็นธรรมชาติของมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยมของโลก
ส่วนในระดับทบวงมหาวิทยาลัยเอง ก็ยังไม่เกิดความคิดริเริ่มใหม่ ทั้งนี้ยังไม่ต้องไปพูดถึงในระดับนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็จะต้องอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังมีสภาพความด้อยพัฒนาต่อไปอย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง ความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงนั้นส่วนหนึ่งมาจากสังคมภายนอก แต่ถ้าปราศจากการขานรับจากภายใน ขาดการเตรียมการสร้างผู้นำและคนที่มีความสามารถในการจัดการในแต่ละระดับรองรับแล้ว การเปลี่ยนแปลงก็จะประสบความสำเร็จได้ยาก และเมื่อใดก็ตามที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงแล้วต้องประสบปัญหาการต่อต้าน และยังต้องสับสนกับแนวทางและวิธีการดำเนินการแล้ว ความล้มเหลวและอุปสรรคนานาประการก็จะตามมา
ที่กล่าวมาเช่นนี้ทั้งหมด เพื่อชี้ให้เห็นความจำเป็นของสังคมไทยในเกือบจะทุกส่วนที่จะต้องให้ความสนใจความเป็นผู้นำและการจัดการ ต้องสร้างค่านิยมในสังคมที่ทำให้มีคนดีได้อาสาเข้าไปทำงานทางด้านนี้ในทุกงานทุกระดับ
ความจำเป็นของการนำ
ความสามารถในการจัดการนั้นเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่เพียงการมีความสามารถทางการจัดการอย่าง เดียวนั้นยังไม่พอ ถ้าการจัดการนั้นไม่รู้ว่าจะจัดการไปเพื่ออะไร อะไรคือทิศทาง ความสามารถทางการจัดการจึงต้องมีการนำหรือความเป็นผู้นำร่วมด้วย (leadership)
การเป็นผู้จัดการที่ดีไม่มีอะไรเสียหาย สังคมไทยในทุกส่วนยังต้องการคนมีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การจัดการ สามารถทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติด้วยการรู้จักการวางแผน การจัด วางระบบ การติดตาม การควบคุม การรายงานผล และการที่ทำให้ท้ายสุดงานที่ได้รับมอบหมายได้บรรลุสำเร็จได้ตามความมุ่งหมาย แต่ถ้าผู้จัดการปราศจากความเป็นผู้นำ ขาดความคิดริเริ่ม หรือคุณสมบัติอื่นๆในการเป็นผู้นำแล้ว ก็จะเกิดข้อจำกัดมากมายในการทำให้ระบบอุดมศึกษานั้น ไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีความหมายและประสิทธิภาพ
ความหมายของการเป็นผู้นำ
หลายคนเข้าใจผิดว่าเมื่อได้อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงานนั้นๆแล้ว จะแสดงว่าได้เป็นผู้นำของส่วนงานนั้นๆ แต่ที่จริงแล้ว การได้ดำรงตำแหน่งใดๆนั้นแสดงว่าได้มีอำนาจบางประการอันเป็นความยอมรับที่มาพร้อมกับตำแหน่ง แต่มันก็เป็นเพียงส่วนประกอบภายนอกเท่านั้น เพราะบุคคลที่เข้าไปสู่ตำแหน่งนั้นๆแล้ว แท้จริงก็คืออาจกลายเป็นเพียงการเข้าไปยอมรับประทัสถานทางสังคมในแวดวงนั้นๆ (acceptance of the socialization) ถ้าเป็นคราวเคราะห์ร้าย ผู้นำอาจเป็นเหยื่อของระบบไปเลยก็มี กรณีที่เห็นได้ชัดก็คือ ฮ่องเต้ จักรพรรดิของประเทศจีนก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น มีเป็นอันมากที่แท้จริงแล้วอยู่ภายใต้อำนาจของคนอื่นๆ เช่นของพระมารดาอย่าง ซูสีไทเฮา บ้าง ขุนนางหรือแม่ทัพชั้นผู้ใหญ่บ้าง หรือบางทีแม้แต่อยู่ภายใต้การบงการของมเหสี สนม หรือแม้แต่ขันที หรือผู้รับใช้ใกล้ชิดในวังก็มี
แต่ถ้าจะเป็นผู้นำแล้ว เขาจะต้องมีคุณลักษณะส่วนตัว อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเหมาะสม มีปฏิสัมพันธ์ในระบบสังคมที่ให้การยอมรับ และทำให้คุณลักษณะความเป็นผู้นำที่มีอยู่นั้นได้ฉายแววสุกสะกาวขึ้น
John W. Gardner นักคิดที่ได้มีโอกาสร่วมงานในคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีของสหรัฐ ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข การศึกษา และสังคมสงเคราะห์ ได้ให้ทัศนะว่า
ผู้นำนั้นมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสำนึกในบ้านเมือง เขาทำหน้าที่เป็นสัญญลักษณ์ และเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตและขวัญในสังคม เขาแสดงค่านิยมที่ช่วยผนึกสังคมให้รวมเข้าด้วยกัน ที่สำคัญที่สุด เขาทำให้เกิดเป้าหมายของคนในชาติ ทำให้คนที่เคยหมกมุ่นต่อการดำเนินชีวิตของตนในโลกแคบๆไปแต่ละวันได้มาให้ความสนใจในสิ่งทีกว้างกว่านั้น เขาเป็นคนสามารถทำให้สังคมผ่านพ้นความขัดแย้ง และผนึกสังคมเข้าด้วยกันสู่จุดมุ่งหมายที่มีคุณค่าควรแก่ความพยายามของทุกคน
(John W. Gardner, from No Easy Victories)
คุณสมบัติของการเป็นผู้นำ
ผู้นำนั้นไม่มีความเหมือนกันดังเป็นแบบพิมพ์ ผู้นำที่ดีแต่ละคน เมื่ออยู่ในแต่ละหน่วยงาน หรือในสภาวะแวดล้อมที่ต่างกันก็มีความแตกต่างกันในลัษณะบุคลิกภาพและการนำได้ แต่ก็มีคุณลักษณะร่วมบางประการของผู้นำที่ เห็นเด่นชัดกว่าคนทั่วไป ตามแนวความคิดของ Warren G. Bennis ผู้นำที่ดีนั้นมีคุณลักษณะที่มักจะคล้ายกันในด้าน ต่อไปนี้ คือ
การมองการณ์ไกล (A guiding vision)ซึ่งหมายทั้งมองทั้งกว้างและไกล ไม่ใช่คับแคบอยู่กับเพียงหน่วยงานของตนและมีความสนใจเพียงพิเศษเฉพาะด้าน หรือมองแต่เพียงในปัจจุบันโดยไม่เข้าใจความจะเป็นไปในอนาคต การมองการณ์ไกลจึงเหมือนคุณลักษณะของเหยี่ยวที่สามารถบินได้สูง และมีสายตาที่คมชัดสามารถมองเห็นเหยื่อหรืออาหารแต่ไกล ผู้นำที่ดีนั้นสามารถมองเห็นได้กว้างไกลแล้ว ยังสามารถเพ่งไปสู่จุดที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษอันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม
ความเอื้ออาทร (Passion)ซึ่งต้องเข้าใจว่าถ้าเแปลตามศัพท์เป็นไทย passion นั้นพจนานุกรมบางฉบับแปลว่า ความรัก โลภ โกรธ หลง หรือความดูดดื่ม ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก แต่ในที่นี้เขาหมายถึงความมีไฟ การที่ยังมี ความรัก มีความอยากให้มี อยากให้เกิด อยากให้คนเขาได้ดี จะโกรธเมื่อต้องสิ่งที่ไม่เป็นความยุติธรรมต่อสังคม ผู้นำ จึงไม่ใช่ผู้หลุดพ้น หรือปล่อยวางเสียทีเดียว
ความมีศักดิ์ศรี (Integrity)ความมีศักศรีในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเป็นคนถือยศถือศักดิ์ หรือเป็นคนประเภท จมไม่ลง แต่เขาจะเป็นคนที่เมื่อมีความเชื่อใดๆ หรือเห็นว่ามีความถูกต้องชอบธรรมอยู่ที่ไหนแล้ว เขาก็จะยืนหยัดในความเชื่อเหล่านั้น แม้บางครั้งเขาอาจต้องได้รับความเจ็บปวดจากสิ่งที่ทำหรือได้ตัดสินใจไปก็ตาม
การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น (trust)การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นนั้นต้องเป็นสิ่งที่พิศูจน์ออกมาเกิดจากในช่วงเวลาและชีวิตหลายๆครั้งของเขานั้น เขาได้พิศูจน์ตัวเองให้เห็นว่าเป็นคนที่เชื่อถือได้ทั้งในคำพูดและการกระทำ ทั้งไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าและลับหลังคน
ความสนใจไฝ่รู้ (curiosity)คนเป็นผู้นำนั้น ไม่ใช่คนที่จะถือดีว่าตนเองได้เป็นผู้รู้และถูกต้องอยู่เสมอ และไม่คิดว่าตนเองเป็นคนรู้มากแล้ว จึงไม่แสวงหาความรู้ใดๆเพิ่มเติม เพราะในสภาพการทำงานนั้น ความสามารถของ ผู้นำนั้นจะต้องถูกท้าทายตลอดเวลา แต่การที่เขาจะเข้าใจในสภาพความเป็นไปในโลก และการมองเห็นโอกาสในการทำงานนั้นต้องทำให้เขาตื่นตัวที่จะเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง
ความกล้าหาญ (daring)ความกล้าหาญในที่นี้ต้องรวมถึงการกล้าได้กล้าเสีย แต่เป็นความกล้าหาญที่แตกต่างจาก "ความบ้าบิ่น" หรือ "ความหุนหันพลันแล่น" ประเภทที่ไม่ชอบคิดอะไรลึกซึ้ง และไม่ใช่ประเภทชอบที่จะตัดสินใจแบบทันทีทันใด คนกล้าในที่นี้หมายถึงคนมีความกล้าที่จะต้องตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานะที่ไม่มี ข้อมูลทุกอย่างพร้อม และไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาก็กล้าที่จะต้องตัดสินใจ
คนโดยทั่วไปมักจะไม่มีคุณสมบัติครบถ้วน คนบางคนมีคุณลักษณะเพียงบางด้าน และแม้แต่ผู้นำโดยทั่วไปก็ไม่ใช่จะมีลักษณะดังกล่าวสูงสุดและสมบูรณ์ไปเสียทุกเรื่อง
- ผู้นำเปรียบเหมือนนักทศกรีฑา มีความสามารถ และคุณสมบัติในหลายๆอย่าง และสามารถนำคุณสมบัติเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ แต่จะไม่ใช่เหมือนนักกรีฑาเฉพาะด้าน ที่จะเก่งเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่ง แต่ขาดในหลายๆด้าน ซึ่งก็จะเป็นอุปสรรคในการเป็นผู้นำลองดูตัวอย่างของคนที่อาจพบโดยทั่วไปที่จะมีปัญหาเมื่อมาเป็นผู้นำ เช่น
- คนบางคนมีความเอื้ออาทร แต่ขาดความกล้าหาญ เกรงใจจนไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลายเป็นการต้องตัดสินใจแบบลูบหน้าปะจมูก
- คนบางคนมีศักดิ์ศรี แต่มีความยะโส โอหัง ไม่ยอมยืดหยุ่นในการทำงานกับคน ก็จะทำให้งานการเป็นผู้นำนั้นต้องประสบปัญหา เพราะความเป็นผู้นำนั้นขึ้นอยู่อย่างมากกับว่า คนที่เขาจะตามนั้นเขาพร้อมที่จะให้ความร่วมมือหรือไม่
- คนบางคนอาจจะฉลาด แต่ขาดการมองการณ์ไกล ผู้เขียนเคยลองสังเกตุว่าระบบการสอนทางด้านแพทย์ ในสังคมไทยนั้นทำให้คนฉลาด แต่มีเป็นอันมากจะขาดโลกทัศน์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะแพทย์กว่าจะสอบเข้าเป็นนักเรียนแพทย์ได้นั้น เขาต้องแข่งขันกันท่องตำราเรียน ซึ่งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสอบจึงต้องตัดกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้เป็นคนรู้กว้างออกไป ซึ่งสิ่งที่ต้องตัดออกไปนั้นแท้จริงอาจเป็นสิ่งทีสำคัญมาก เพียงแต่ว่าระบบการสอบคัดเลือกนั้นไม่ได้เตรียมวัดเอาไว้ ในลักษณะคล้ายๆกัน คนที่ถูกเตรียมมาเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้น เป็นอันมากจะสูญเสียความสามารถในด้านการมองการณ์ไกล ซึ่งก็เป็นอุปสรรคต่องานด้านการนำคน และการจัดการ
- คนบางคนเป็นคนเรียนเก่ง เรียนมาสูง มีความสามารถ มีสายตามองการณ์ไกล แต่เหมาะสำหรับเป็นที่ปรึกษาขององค์การที่เรียกว่า Think-Tank เสียมากกว่า เพราะเป็นคนเก่งเฉพาะด้าน อาจจะเก่งทางปัญญา แต่เมื่อ ต้องทำงานกับคน ก็มักจะมีปัญหา
- คนบางคนเป็นคนทั้งฉลาด มองการณ์ไกล สนใจไฝ่รู้ที่จะเรียน และก็ไม่ได้ติดยึดกับอะไร แต่ก็กลับเป็นคนที่หมดไฟอย่างชาวโลก หรืออย่างที่ฝรั่งอาจจะเรียกว่าหมด passion เสียแล้ว ยึดสุภาษิตที่ว่า "อะไรจะเกิดก็ให้เกิด" อย่างนี้ก็ไม่เหมาะจะเป็นผู้นำนัก
เมื่อหวนกลับมาพูดถึงความเป็นผู้นำที่เราให้การยอมรับนั้น ก็ไม่ใช่ผู้นำจะสมบูรณ์ไปเสียในทุกเรื่อง Abraham Lincoln ประธานาธิบดีที่มีคนให้ความเคารพมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐ แต่ก็มีจุดอ่อนที่สภาพความเก็บกดทางด้านจิตใจจนมีอาการใกล้ความเป็นโรคประสาท แต่ท่านไม่ได้ปล่อยให้ปัญหาเหล่านั้นเป็นอุปสรรคในการทำงานในฐานะผู้นำของประเทศในช่วงสงครามกลางเมือง อันสภาวะที่ยุ่งยากที่สุดยุคหนึ่งในสังคมอเมริกัน ผู้นำที่ดีนั้นนำสังคมด้วยสิ่งที่ดีและมีอยู่ในตัวของเขา แต่ไม่ได้ปล่อยให้จุดอ่อนของเขาเป็นปัญหาต่อสังคม
แต่ผู้นำที่เลวจะนำด้วยสิ่งที่เป็นจุดอ่อนหรือในสิ่งที่เลวของเขา เช่น Hitler ผู้นำเยอรมันยุคนาซีช่วง สงครามโลกครั้งที่สอง ได้ใช้ความบ้าคลั่ง ความเป็นโรคจิตประสาทของเขานำพาชนชาติเยอรมันสู่ความหายนะในสงคราม (Warren Bennis, 1989,pp.40-41)
การเป็นผู้นำแตกต่างจากการเป็นผู้จัดการ
การเป็นผู้นำนั้นจะแตกต่างจากการเป็นผู้จัดการ คนที่เป็นผู้นำบางคนในชีวิตไม่เคยมีตำแหน่งหน้าที่อะไร ชัดเจน แต่กลับมีอำนาจที่ไม่สามารถอธิบายได้มากมาย เช่น มหาตมะ คานธี ไม่เคยเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นผู้ที่ ต้องทำหน้าที่ทางการจัดการเลย แต่มีพลังอันยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงประเทศอินเดีย แต่คนบางคนได้รับการเลือก หรือแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งที่มีความสำคัญ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ในบางครั้งเขากลับเป็นเหยื่อของสังคม ถูกชักจูงไปสู่จุดที่เป็นความเสื่อมหรือความวิกฤติได้ เช่นคนบางคนกว่าจะได้เป็นใหญ่ถึงระดับอธิบดีในกรมต่างๆ ก็มักจะต้องยอมรับประทัสถานหลายประการในสังคมนั้น ซึ่งในที่สุดทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำได้ดี
Warren G. Bennis ค่อนข้างให้ความสำคัญต่อการเป็นผู้นำมาก และไม่เห็นด้วยที่เรามักจะฝึกอบรมคนเพื่อ ให้เป็นผู้จัดการ ในความแตกต่างระหว่างคำสองคำ ถ้าคนจะสนใจเป็นเพียง "ผู้จัดการ" หรือ "นักบริหาร" นั้นจะ แตกต่างจากการเป็น "ผู้นำ" ในหลายๆกรณี
ผู้จัดการจะบริหารงาน | | แต่ผู้นำจะริเริ่มสิ่งใหม่ |
ผู้จัดการจะเป็น"ของที่ลอกแบบ"มาได้ | | แต่ผู้นำนั้นเป็น"ของแท้" |
ผู้จัดการจะเป็น"ผู้รักษาระบบ" | | แต่ผู้นำจะเป็น"คนพัฒนาระบบ" |
ผู้จัดการจะมองไปที่ระบบและโครงสร้าง | | แต่ผู้นำจะเน้นความสำคัญที่คน |
ผู้จัดการพึ่งพาการควบคุม | | แต่ผู้นำจะจุดไฟให้เกิดความไว้วางใจต่อกัน |
ผู้จัดการจะมี"สายตาสั้น"มองเพียงระยะสั้น | | แต่ผู้นำจะมองการณ์ไกล |
ผู้จัดการจะถามว่า"ทำอย่างไร" และ"เมื่อใด" | | แต่ผู้นำจะถามว่า"อะไร" และ "ทำไม" |
ผู้จัดการจะมองไปที่จุดต่ำสุดแห่งการเสมอตัว กำไร หรือขาดทุน | | แต่ผู้นำจะมองไปที่เส้นขอบฟ้า หรือเรื่อง ของโอกาสและอนาคต |
ผู้จัดการมักจะลอกเลียนแบบ | | แต่ผู้นำจะสร้างความแปลกใหม่ |
ผู้จัดการคือทหารกล้าชั้นดีที่รบตามคำสั่งและการมอบหมาย | | แต่ผู้นำจะมีความเป็นตัวของเขาเอง |
ผู้จัดการจะปฏิบัติให้ถูกต้องไป | | แต่ผู้นำจะทำในสิ่งที่มีความเหมาะสม ถูกต้องตามกฏระเบียบ |
(Warren Bennis, 1989,p.44-45)
Bennis นั้นพยายามที่จะแยกให้เห็นความแตกต่างกันระหว่าง "การเป็นเพียงผู้จัดการ" และ "การเป็นผู้นำ" แต่ทั้งนี้เขาไม่ได้หมายความว่า คนเราต้องเลือกเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะแท้ที่จริงแล้ว การต้องมีแนวคิดและทักษะทางการจัดการนั้น เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการเป็นผู้นำที่จะต้องทำงานปฏิบัติให้เห็นจริงจนกระทั่งงานสำเร็จ
ความเป็นผู้นำและการมีทักษะในการจัดการเป็นสิ่งที่เสริมต่อกัน เช่นคนที่เป็นผู้นำทางศาสนา ถ้าไม่สนใจในการจัดการบ้างเลย อยู่วัดก็ปล่อยให้วัดเขลอะ เพื่อนพระด้วยกันก็ไม่เอาถ่าน ชาวบ้านก็ไม่ศรัทธา ดังนั้นแม้พระที่เป็นผู้นำทางปัญญา ไม่สนใจจะเป็นเจ้าอาวาส หรือไม่อยากได้พัดยศก็ไม่เป็นไร แต่ท่านก็ต้องมีความสามารถจัดการให้มีบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่มีความสามารถให้ได้รับสืบทอดความคิดเพื่อไปดำเนินการต่อ มิฉะนั้น เรื่องที่คิดกับสิ่งที่ปฏิบัติจะเป็นคนละเรื่องกัน แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ตนเองพูดไปอย่างและบุคคลแวดล้อมกลับปฏิบัติตนไปอีกอย่าง ไม่ได้ปฏิบัติดังที่ผู้นำพร่ำสอน คนฟังก็ไม่สามารถให้ความเชื่อถือได้
อย่างไรก็ตาม ความเป็นผู้นำนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และไม่สามารถสร้างขึ้นได้อย่างง่ายๆ จึงควรต้องให้ความสนใจในธรรมชาติและวิธีการที่ทำให้เกิดผู้นำอย่างเข้าใจได้ลึกซึ้งประกอบด้วย ซึ่ง Bennis บ่งชัดและได้พยายามเตือนสติความจำกัดของการเป็นผู้จัดการ ที่ปราศจากความเป็นผู้นำเอาไว้อย่างชัดเจน
Bennis ได้ให้ทัศนะเพิ่มเติมว่า ความแตกต่างระหว่างลักษณะผู้นำและผู้จัดการเอาไว้อย่างแตกต่างกันว่า "ผู้จัดการใส่หมวกสี่เหลี่ยม เพราะมีหัวสี่เหลี่ยม และเรียนรู้โดยผ่านการฝึกอบรม แต่ผู้นำใส่หมวกปีกกว้างและมุ่งหาการศึกษา " (Warren Bennis, 1989,p.45)
หรืออีกนัยหนึ่ง เราสามารถเรียนรู้ความแตกต่างของการเป็นผู้นำ กับการเป็นเพียงผู้จัดการนั้นได้จาก ความแตกต่างระหว่างการศึกษา กับการฝึกอบรม ซึ่งได้นำเสนอดังต่อไปนี้
การศึกษา | | การฝึกอบรม |
การศึกษา การสังเกตไปสู่การสร้างกฏ | | จากการประยุกต์กฏไปสู่การขยายความ |
การให้ทางเลือกทางออก | | การยึดมั่น แน่นอน |
ความมีพลภาพ | | ความแข็งกระด้างไม่เปลี่ยนแปลง |
ความเข้าใจ | | ความจำ |
ความคิดริเริ่ม | | ข้อเท็จจริง |
ความกว้าง | | ความแคบเฉพาะ |
ความลึก | | ความผิวเผิน |
การทดลอง | | การท่องจำ |
การกระทำ | | รอรับการกระทำ |
การซักถาม | | การรับคำตอบ |
การให้ได้วิธีการ | | การเน้นเนื้อหา |
การได้กุศโลบาย | | การได้กลวิธีเฉพาะจุด |
การได้ทางเลือก | | การได้จุดมุ่งหมายที่คับแคบ |
การได้ค้นคว้าหาความจริง | | การทำนายทายทักแบบไม่มีพื้นฐาน |
การค้นพบ | | การได้คัมภีร์ |
การได้กระทำ | | การกลับเป็นปฏิกริยาโต้ตอบ |
ความริเริ่ม | | การได้ทิศทาง |
การใช้สมองทั้งมวล | | การใช้เพียงสมองซีกซ้าย |
การใช้ชีวิตทั้งชีวิต | | เพียงเรื่องของการงาน |
เรื่องระยะยาว | | เรื่องระยะสั้น |
การเปลี่ยนแปลง | | ความมั่นคง |
เนื้อหาสาระ | | ระบบแบบแผนและพิธีกรรม |
ความยึดหยุ่น | | ความแข็งกระด้าง |
ความเสี่ยง | | ความเป็นกฎเกณฑ์ |
การสังเคราะห์ | | การวิเคราะห์ |
การเปิด | | การปิด |
การใช้จินตนาการ | | การใช้สามัญสำนึก |
โดยสรุป สิ่งที่กล่าวในด้านซ้ายก็คือความเป็นผู้นำ (leader) ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการสร้างที่เป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ และสิ่งที่อยู่ในซีกขวาคือเรื่องของเพียงการจัดการ (manager) ซึ่งมักจะอาศัยการเพียงการฝึกอบรมในระยะสั้น มุ่งเน้นการได้อะไรมาอย่างแคบๆ เพียงเพื่อการใช้งานไปตามอาชีพ
โรงเรียนสอนทางด้านบริหารธุรกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ได้สอนหรือส่งเสริมคุณสมบัติในซีกซ้าย คือการให้การศึกษาที่สมบูรณ์ แต่กลับไปให้ความสำคัญในสิ่งที่เป็นเรื่องระยะสั้น ดังปรากฏในซีกขวา เป็นการทำอย่างไรจึงจะได้ผลประโยชน์สูงสุด ทำอย่างไรจึงจะมีต้นทุนการผลิตต่ำสุด เหมือนเพียงการให้เพียงการฝึกอบรมระยะสั้น อย่างไรก็ตามผู้เขียนมิได้หมายความที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้คนต้องเข้าเรียนในสถานศึกษาแบบเป็นระบบ และเป็นการศึกษาที่ต้องใช้เวลาเรียนที่แยกจากชีวิตการทำงานอย่างยาวนาน เพราะในระบบการศึกษาโดยปกตินั้นมีเป็นอันมากเช่นกันที่ไม่ได้ให้ "การศึกษา" อันควรอย่างที่กล่าว เพราะมีเป็นอันมากที่ก็เพียงเตรียมคนเพื่อมุ่งสู่การอาชีพและการเป็นผู้รู้เฉพาะด้านเหมือนกับการฝึกอบรมทั่วไป หรือในอีกลักษณะหนึ่ง คือการให้ความรู้ในสิ่งที่บางทีก็ล้าสมัยไม่สัมพันธ์กับโลกแห่งความเป็นจริง น่าเบื่อหน่าย และบางทีก็ไร้สาระ ซึ่งยิ่งหนักหนากว่าการฝึกอบรมเสียอีก
บทสรุป
ความเป็นผู้นำและการจัดการนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และคนคนทั่วไปไม่สามารถมีได้ทั้งความเป็นผู้นำทีดี และการเป็นผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพอย่างสมบูรณ์แบบไปในทุกด้าน
แต่คนที่อยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องเป็นผู้นำนั้น นอกจากจะต้องได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำของสังคมนั้นแล้ว เขาก็ควรมีความสามารถในการจัดการด้วย (two-in-one) โปรแกรมการศึกษาสำหรับนักบริหารยุคใหม่บางแห่งจึงพยายามสอดแทรกเรื่องของความเป็นผู้นำเข้าไว้ในเกือบจะทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนการบริหารธุรกิจ การบริหารรัฐกิจ การบริหารการศึกษา หรือการสาธารณสุข เป็นต้น แต่กระนั้นก็มิได้หมายความว่าระบบการพัฒนาความเป็นผู้นำด้วยการศึกษาอย่างเป็นระบบนั้นๆจะสมบูรณ์ ซึ่งมักจะพบว่าบุคคลที่คนทั่วไปยกย่องว่าเป็น ผู้นำในด้านต่างๆของสังคมนั้น เป็นอันมากไม่ได้ผ่านโปรแกรมการศึกษาดังกล่าวนี้ เพราะการเป็นผู้นำนั้นสามารถ ผ่านกระบวนการสู่ความเป็นผู้นำได้จากหลากหลายวิธีการ ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดในตอนต่อไป มีเป็นอันมากที่กระบวนการเรียนการสอนตามปกตินั้นไม่สามารถให้หลักประกันการสร้างผู้นำได้มากนัก บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย อาจจบการศึกษามาเป็นนักบริหารหรือนักจัดการที่สามารถทำงานเฉพาะจุดได้ แต่ไม่สามารถเป็นผู้นำที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง หรือไม่สามารถนำระบบสังคมนั้นๆให้รอดพ้นจากช่วงแห่งวิกฤติการณ์ได้
รองลงมาคือ คนเป็นผู้นำนั้น แม้ไม่รู้ในรายละเอียดในการจัดการทั้งหมด แต่มีแนวคิด และมีหลักใหญ่ๆที่ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากการจัดการได้ เช่นการรู้จักใช้คนมาทำงานด้านการจัดการ คิดฝันถึงสิ่งที่อยากทำให้เกิดขึ้น แต่ไม่รู้วิธีการ ก็ให้สามารถหาคนที่เหมาะสมมาทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นความจริง โดยต้องรู้ในขั้นตอน และรายละเอียด ที่จะรู้ว่าจะทำอย่างไร และสามารถที่จะดลบันดาลให้งานนั้นๆสำเร็จลุล่วงไปได้
สำหรับคนที่ต้องรับผิดชอบในการจัดการนั้นต้องตระหนักในความจำเป็นของความเป็นผู้นำ ต้องยอมรับความจริงว่าเมื่อได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งอะไรอย่างเป็นทางการแล้ว เขาก็ยังไม่ใช่ผู้นำ จนกว่าเขาจะสามารถทำหน้าที่อันควรได้ สามารถทำหน้าที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สามารถกระทำการที่ต้องใช้ความสามารถ ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน ทั้งนี้โดยมิใช่การปล่อยให้เป็นการดำเนินการไปตามกิจวัตรที่เคยเป็น
ข้อเตือนสติก็คือ คนบางคนไม่มีทั้งความเป็นผู้นำ ไม่มีทั้งทักษะการจัดการนั้น ก็ไม่ควรที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆกับภารกิจดังกล่าว คนเป็นอันมากสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขในสังคม เป็นประโยชน์ตามควร ตามความสามารถ แต่ก็ไม่ต้องไปเป็นผู้นำ แต่จะเป็นการน่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้าคนที่มีความเป็นผู้นำ และจะโดยความตั้งใจรับหน้าที่หรือจะโดยสถาน-การณ์ก็ตาม แต่ไม่ได้มีการเตรียมตัวให้มีความพร้อม ทำให้ขาดคุณสมบัติหลายประการที่เมื่อต้องอยู่ในสถานะต้องรับผิดชอบต่อระบบสังคมย่อยนั้นจะยังความเสียหาย พลอยทำให้สังคมพลอยเสียโอกาสอันดีไปด้วย
และในระดับสังคมใหญ่และประเทศชาติด้วยแล้ว ยิ่งจะมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมจะต้องมีการวางระบบและวัฒนธรรมที่ทำให้ได้มีผู้นำที่มีความสามารถในแต่ละส่วนย่อยของสังคม ซึ่งจำเป็นต้องทำให้ระบบการศึกษา และสภาพแวดล้อมในสังคมได้ส่งเสริมให้ได้มีการพัฒนาความเป็นผู้นำแก่ประชากรตั้งแต่เยาว์วัย ไปตามลำดับจนกระทั่งในระดับสูง และในทุกวงการของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในแวดวงการเมือง ธุรกิจ ราชการ การศึกษา ศาสนาในองค์กรอื่นๆทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น
ซึ่งในแนวทางการพัฒนาความเป็นผู้นำ ทั้งในระดับบุคคลและสังคมของไทยนั้น ผู้เขียนจะได้นำเสนอในบทต่อๆไป
No comments:
Post a Comment