Thursday, January 21, 2010

เมืองในสหรัฐเปลี่ยนสู่การเป็นแหล่งผลิตรถไฟฟ้า

เมืองในสหรัฐเปลี่ยนสู่การเป็นแหล่งผลิตรถไฟฟ้า

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
pracob@sb4af.org

Keywords: รถยนต์ไฟฟ้า, electric car, สหรัฐอเมริกา

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “Heartland Becoming Heart of Electric Car Industry” Posted: Jan. 21, 2010 10:01 a.m. ใน U.S. News & World Report - Automotive

การเปลี่ยนแปลงของเมือง Elkhart ในรัฐอินเดียนา (Indiana) จะกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา การจะมีรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ทดแทนรถยนต์ในแบบเดิมนั้น ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้เพียงนึกถึงก็เกิดได้ ระบบรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่สหรัฐและคนอเมริกันไม่กล้าปล่อยให้หลุดมือไปอยู่ในต่างชาติ และผลิตโดยคนต่างประเทศเสียทั้งหมด และขณะเดียวกันอเมริกันเองก็ไม่มีความคุ้นกับรถยนต์ขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่วิ่งได้โดยไม่มีเครื่องยนต์ใช้พลังเผาไหม้

การจะฟื้นฟูย่านที่เขาเรียกว่า Midwest หรือย่านที่เคยเป็นศูนย์กลางด้านการอุตสาหกรรมเดิม แล้วเสื่อมถอยไป แล้วจะต้องทำให้กลับมาเฟื่องฟูในย่านดังกล่าว หลุดพ้นจากคำที่เขาว่า กลายเป็น แดนสนิม (Rust Belt) เพราะเต็มไปด้วยอุตสาหกรรมที่รอวันล่มสลายนั้น จะต้องมีหลายๆฝ่ายที่จะเข้ามามีส่วนร่วม แล้วผลักดันกันหลายๆด้าน เพื่อให้สิ่งใหม่ๆได้เกิด และนำความเจริ

เมือง Elkhart ในรัฐอินเดียน่าเป็นกรณีศึกษาที่เขาจะนำอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีชื่อในระดับนำหน้ามาผลิตได้อย่างไร

ภาพ รถยนต์ไฟฟ้า Think City

รถยนต์ Think City เป็นรถที่มีขนาดใหญ่กว่า Smart For Two แต่มีขนาดเล็กกว่า Mini Cooper ตัวถังทำด้วยพลาสติกทำให้มีลักษณะเหมือนของเล่นเด็ก ที่นั่งภายในผู้ใหญ่นั่งได้ 2 คน และเด็กด้านหลังอีก 2 คน วิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดที่ 108 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งได้ 176 กิโลเมตรก่อนที่จะต้องชาร์ตไฟครั้งต่อไป ราคาที่ขายในสหรัฐเมื่อได้รับส่วนลดภาษีคันละ USD 7,500 แล้วจะมีราคาขายในตลาดที่คันละ USD 30,000 บาท รถ Think City เป็นรถคันที่สองรองจาก Tesla Roadster ที่ได้รับใบรับประกันว่ามีความปลอดภัยตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาที่จะวิ่งในทางหลวงได้

ภาพ Think City ที่มีสมรรถนะสูง ออกตัวได้เร็ว ใช้วัสดุทำต้ัวถังที่ก้าวหน้า น้ำหนักเบา

TH!NK City เป็นรถนั่งได้ 2 คนเป็นหลัก มีความเร็วสูงสุดที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถทำความเร็วได้ 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในเวลา 7 วินาที น้ำหนักรถรวมแบตเตอรี่ 943 กิโลกรัม มีความยาว 3.0 เมตร, กว้าง 1.6 เมตร และสูง 1.6 เมตร

ตามข่าวของนิตยสารรถยนต์ Automobile Magazine โรงงาน Think factory ที่ได้ปรับปรุงจะมีกำลังผลิตได้ปีละ 20,000 คัน โดยการปรับปรุงโรงงานจะใช้เงินประมาณ USD 43,000,000 และจะเริ่มกำลังผลิตได้ในอีก 1 ปี Think City ในปัจจุบันเป็นรถที่ได้เริ่มจาก Finland ใช้โรงงานผลิตเดียวกับ Porsche Boxster และ Cayman แต่โรงงานที่รัฐอินเดียน่านี้จะผลิตเฉพาะรถไฟฟ้า Think City ที่ได้มาตรฐานของสหรัฐเท่านั้น

จากการซักถามว่าทำไมจึงเลือกโรงงานผลิตในรัฐอินเดียน่า ก็ได้คำตอบว่า เพราะโรงงานอยู่ใกล้กับ Indianapolis โดยมีแหล่งป้อนแบตเตอรี่สำคัญ คือ EnerDel, Ener1 Inc., บริษัทแม่ของ Enerdel เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 31 ของ Think หลังจากความไม่แน่นอนว่าจะไปรอดหรือไม่ ในที่สุดก็ได้หุ้นส่วนใหญ่ คือ Enerdel ซึ่งจะเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับรถไฟฟ้า

ส่วน Indiana Economic Development Corporation ได้ให้สิทธิลดหย่อนด้านภาษีอีก USD 3,000,000 ในช่วงเวลา 10 ปี และยังได้สิทธิพิเศษด้านภาษีท้องถิ่นด้วย โดยทางท้องถิ่นเองได้เห็นประโยชน์ของการได้อุตสาหกรรมใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้าที่มาตั้งอยู่ โดย Think จะมีการจ้างคนประมาณ 415 คนในปี ค.ศ. 2013 แต่ตามการประมาณการ ร้อยละ 70 ของชิ้นส่วนรถยนต์จะมีการผลิตและป้อนจากรัฐและใกล้เคียง อันได้แก่ Indiana, Michigan, Illinois และ Ohio ซึ่งก็เท่ากับเป็นการกระตุ้นธุรกิจไม่ใช่เพียงของเมือง แต่ไปสู่ย่านและรัฐใกล้เคียงด้วย

ถึงแม้รถยนต์จะมีส่วนของพลาสติก รถยนต์ไฟฟ้าก็มีความคิดแบบยุโรป แต่เขาบอกว่า Think City จะมีหัวใจแบบอเมริกัน

ประวัติย้อนหลัง

เพื่อให้ทราบประวัติความเป็นมาของ Think City ในสหรัฐอเมริกา Think Global เป็นบริษัทรถยนต์ที่มีสำนักงานอยู่ในประเทศนอร์เวย์ ที่เมือง Aurskog ก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1991

ซึ่งผลิตรถยนต์ทางเลือก ใช้พลังงานไฟฟ้า ใช้แบตเตอรี่เป็นแบบ Cadmium โดยใช้ชื่อสินค้า TH!NK ในอดีตเมื่อมีการนำมาผลิตในสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ชื่อว่า Think City โดยมี Ford Motor เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่กิจการดำเนินการไปได้ไม่ดีนักในด้านการตลาด คล้ายๆกับรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้การดำเนินการของ General Motors (GM) และใช้การผลิตแบบให้เช่าใช้ในจำนวนจำกัด เพื่อเรียนรู้ตลาด

เมื่อให้เช่าใช้ และสัญญาหมดอายุ บริษัท Ford ที่เป็นเจ้าของกิจการในสหรัฐอเมริกาก็จะยุบกิจการนี้เสีย เป็นผลทำให้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้ง Greenpeace ได้รณรงค์ที่ยอดตึกของ Ford ในประเทศนอร์เวย์ จนทำให้ Ford ไม่ทำลายรถยนต์ต้นแบบเหล่านั้น แต่ได้ขนกลับไปยังประเทศนอร์เวย์

ความเห็นเพิ่มเติม

ในทัศนะของผม รถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกานั้น ท้ายสุดยังต้องมาพบกับประเด็นเรื่องของราคาว่ายังจะสูงเกินไปสำหรับตลาดรถ ที่อย่างไรเสียก็จะเน้นไปที่ประโยชน์ใช้สอย ราคาไม่แพงเมื่อซื้อหา และมีค่าใ้ช้จ่ายไม่สุงในการบำรุงรักษา

ในด้านแบตเตอรี่ที่ใช้นั้น แนวโน้มยังจะต้องมีการพัฒนาด้านแบตเตอรี่ต่อไปอีก และแข่งขันกันกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้งของญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ซึ่งบริษัทแม่ในสหรัฐผู้ผลิตแบตเตอรี่อย่าง EnerDel ก็จะต้องสู้กับเทคโนโลยีจากทั่วโลกได้ ทั้งนี้ คงต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางด้วย

ในด้านราคาของแบตเตอรี่และราคารถโดยรวม คงต้องมีคำตอบด้านราคาแข่งขันกันได้ด้วย เพราะสหรัฐนั้นมีลักษณะของตลาดเสรี จะไปกีดกันการค้า หรือสินค้าจากประเทศอื่นๆโดยไม่มีเหตุผลคงไม่ได้ คาดว่าประเด็นนี้ในระยะยาว รถไฟฟ้า จะเหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะมีแต่ราคาลดลง จนสู่ระดับแข่งขันกับรถใช้พลังงานเผาไหม้ในแบบจุดระเบิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน

1 comment:

  1. รถยนต์ไฟฟ้า Think City ออกแบบมาเพื่อเป็นรถคันที่สอง ใช้วิ่งในเมือง วิ่งได้ด้วยการชาร์ตไฟครั้งเดียว ไม่เกิน 160-170 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าเพียงพอสำหรับคนทำงานในเมืองทั่วไป ขนาดของรถนั่งได้ 2 คน นับว่าไม่เป็นปัญหา เพราะส่วนใหญ่คนขับรถไปทำงานมักจะนั่งกัน 1-2 คนเป็นอย่างมากอยู่แล้ว

    สิ่งที่ Think city จะต้องคำนึ่งถึงคือราคาและประสิทธิภาพ เพราะเป็นรถในแนวยุโรป ต้องแข่งขันกับรถญี่ปุ่นอย่าง Nissan Leaf ที่กำหนดราคาไว้ USD23500 และเป็นรถขนาดที่ใหญ่กว่า นั่งสบายกว่าได้ถึง 5 คน อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของแบตเตอรี่ ซึ่ง Think ไม่จำกัด และพร้อมที่จะเลือกใช้แบตเตอรี่ใดๆที่มีประสิทธิภาพและราคาที่ต่ำสุด ขณะปัจจุบันมีความร่วมมือกับ EnerDel ของสหรัฐ เพราะหวังจะบุกตลาดใหญ่ก่อนอื่นคือที่สหรัฐที่เปิดทางสำหรับรถไฟฟ้า (Electric Car, EV)

    ReplyDelete