Saturday, January 30, 2010

อาการโรคหอยแมลงภู่ของผู้นำ

อาการโรคหอยแมลงภู่ของผู้นำ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@itie.org

Updated: Saturday, January 30, 2010
Keywords: cw059, ความเป็นผู้นำ

ความนำ

ผู้นำและนักบริหารหลายคนที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เป็นที่ยอมรับของคน รับผิดชอบในงานที่ใหญ่และมีผลกระทบต่อคนมากขึ้น แต่แล้วเขาเหล่านั้นกลับติดยึดกับสิ่งที่เขามีความเชื่อหรือเคยคุ้นเคย และประสบความสำเร็จมาก่อนอย่างไม่ยอมถอนตัว และท้ายสุดนำมาซึ่งความล้มเหลว และความหายนะของส่วนรวม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้มีนักจิตวิทยาคลินิกได้ไปศึกษาและนำมาเขียน นำเสนอ และให้ชื่ออาการดังนี้ว่า อาการโรคหอยแมลงภู่ หรือเรียกว่า The Mussel Syndrome เพราะหอยแมลงภู่นั้น โดยธรรมชาตินั้นมันมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการต้องหาหลักเกาะ และเกาะไปจนตาย ซึ่งคนบางส่วนก็มีลักษณะเช่นนั้น คือมักจะไปยึดติดกับบางสิ่งบางอย่าง จนกระทั่งไม่สามารถแก้ปัญหาชิวิตทั้งของตนเองและของหมู่คณะ

สำหรับคนที่ต้องการศึกษาลึกขึ้นไปสามารถหาอ่านได้จากบทที่ 3 ของหนังสือเรื่อง The Leadership Mystique: Leading behavior in the human enterprise เขียนโดย Manfred Kets De Vries ตีพิมพ์ลงในวารสาร Financial Times ในปี ค.ศ. 2001 และต่อมาได้รวบรวมเป็นหนังสือ และตีพิมพ์โดย Prentice Hall ในปี ค.ศ. 2006 Manfred Kets De Vries เป็นนักวิชาการชาวเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ทางคลินิก การพัฒนาความเป็นผู้นำ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันที่มีชื่อว่า INSEAD Global Leadership Centre (IGLC)

ทำไมไม่เปลี่ยนแปลง

เราคงได้เห็นปรากฏการณ์หอยแมลงภู่นี้ในหลายแวดวงในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นวงการเมือง การบริหาร ธุรกิจ นักบริหารและผู้นำด้านต่างๆ ของเราหลายส่วนได้ติดยึดกับความคิด การปฏิบัติ และความสำเร็จที่ผ่านมา แล้วยังคงทำต่อไปในกรอบความคิดเดิม จนท้ายสุดนำมาซึ่งความล้มเหลว

ในเรื่องของการบริหาราชการแบบรวมศูนย์อำนาจ เคยทำกันมานับเป็นร้อยปี แล้วประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ประชาชนมีการศึกษามากขึ้น ท้องถิ่นต้องพัฒนาขึ้น แต่คนทำหน้าที่บริหารไม่ว่าจะเป็นราชการ ส่วนของนักการเมือง นักเลือกตั้ง ก็จะยังคงบอกแก่ผู้คนว่า ประชาชนไทยยังไม่พร้อม คนไทยังด้อยการศึกษา ยังไม่มีวัฒนธรรมของการปกครองตนเอง ทั้งนี้จนต้องปล่อยให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน

ในแวดวงอุตสาหกรรม จะมีธุรกิจทีเราจะไม่สามารถไปรอดได้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ดังเช่น ธุรกิจสิ่งทอที่ค่าแรงงานสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็สูงตามจนกระทั่งไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่เขาเสนอระบบผลิตที่ทำให้สินค้ามีราคาถูกกว่าในคุณภาพที่เปรียบกันได้ อุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นได้มีปรากฏการณ์ขึ้นในหลายประเทศ ทั้งในตะวันตก ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน ฯลฯ ซึ่งท้ายสุดก็เป็นการผ่องถ่ายไปสู่ประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าและมีค่าแรงงานที่ถูกกว่า การปรับตัวของอุตสาหกรรมนั้น อาจต้องมากกว่าเพียงลดค่าใช้จ่าย ควบคุมค่าแรง ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

ในแวดวงอุตสาหกรรม ประเทศไทยจัดเป็นประเทศผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ของโลก และกำลังจะแซงหน้าประเทศอิตาลีในเร็วๆ นี้ แต่การผลิตรถยนต์ของไทยขาดการวิจัยและพัฒนาและพัฒนาสนับสนุน เจ้าของกิจการเองก็ไม่ใข่คนไทย เทคโนโลยีที่ใช้เป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป และสหรัฐอเมริกา และระบบการผลิตรถยนต์นี้ ยังไม่ได้มีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานน้ำมันปิโตรเลียม (Petroleum) ซึ่งจะต้องมีการหมดไปอย่างรวดเร็วภายใน 30-40 ปีนี้ ในขณะที่โลกกำลังต้องก้าวสู่ยุครถยนต์ประหยัดน้ำมัน รถยนต์ลูกประสมที่ใช้ไฟฟ้ามาประสมและประสานกับระบบเครื่องยนต์ใช้น้ำมัน หรือไปสู่ยุครถยนต์ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด หรือรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจน (Fuel Cells) ที่แปรน้ำธรรมดานี้แหละให้เป็นพลังงานขับเคลื่อนได้ แต่ระบบการผลิตและใช้รถยนต์ของคนไทยยังไม่ได้สะท้อนทิศทางของการเปลี่ยนแปลง ตรงกันข้ามส่วนใหญ่มองการใช้ชีวิตเหมือนอย่างที่คนชั้นกลางก่อนหน้าเขาได้ปฏิบัติมาก่อน มีเงินมากหน่อยก็ซื้อรถแพง รถหรู หากไม่มีเงินมากนัก อยู่ต่างจังหวัดก็ถอยรถกระบะออกมา แม้โดยความเป็นจริงในทางการเกษตร สามารถแบ่งใช้ยานพาหนะกันได้ ขนาดคนที่ไม่มีเงิน เช่นเด็กนักเรียน นักศึกษา ควรจะขี่จักรยานไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนใกล้บ้าน แต่เราจะเห็นเยาวชนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่หารถจักรยานยนต์ไว้ขับขี่ ต้องเป็นภาระของพ่อแม่เพิ่มขึ้นไปอีก

ในแวดวงการศึกษา เราเกือบจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เข้มแข็งจริงจังเพียงพอ บางส่วนเสนอให้ต้องเป็นการ ปฏิวัติการศึกษา ไม่ใช่ปฏิรูปการศึกษาเท่านั้น การศึกษาของชาติในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราได้ตระหนักว่า ครูอาจารย์และนักวิชาการต่างๆนั้น ไม่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมเพียงพอ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เคยเป็นอาชีพที่สามารถดึงดูดคนเก่งมีความสามารถระดับสูงมาทำงาน และมีทุนการศึกษาส่งไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ในระยะหลังก็ขาดแคลนในสิ่งเหล่านี้ อาจารย์ในรุ่นที่มีการลงทุนพัฒนากันอย่างดี ก็เกษียณตัวเองไป แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะใช้อาจารย์เหล่านี้ไปเรื่อยๆ ยังไม่เห็นแนวทางการสร้างอาจารย์ใหม่อย่างชัดเจน ในขณะที่ประเทศอย่างสิงคโปร์ใกล้บ้านเรานี้เขามองไปที่การแสวงหาอาจารย์เก่งๆ มีความสามารถในระดับโลก เพื่อมาเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยของเขา แต่สำหรับประเทศไทยนั้น คนเก่งคนมีความสามารถนั้น น้อยคนนักที่จะมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สิ่งเหล่านี้ปรากฏให้เห็นในทุกมหาวิทยาลัย บางสายวิชามีปัญหามาก บางแห่งมีปัญหาน้อยหน่อย หรือปัญหายังมาไม่ถึง

แล้วอะไรที่ทำให้ผู้นำและนักบริหารที่รับผิดชอบด้านต่างๆ ไม่คิดที่จะปรับเปลี่ยน ทั้งๆ ที่ไม่ยากที่จะรู้ว่าวิกฤติกำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ คำตอบก็คือมันเป็นปัญหาในด้านจิตวิทยาและวัฒนธรรมการพัฒนาผู้นำของเรา ที่มักจะติดยึดกับหลายสิ่งหลายอย่างที่ ท้ายสุดมักคิดว่า เลือกเอาวิธีการเดิม คนเดิมๆ ที่แม้จะอายุมากแล้ว แต่ก็จะยังปลอดภัยกว่า ดีกว่าไปลองของใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น และขณะเดียวกันนั้น คนมีอำนาจเอง ก็มักจะเกาะติดยึดกับสิ่งที่เคยทำมา และเห็นว่า ถ้าไม่ใช่ฉัน สังคมนี้จะไปไม่รอด

จากแนวคิด 3C’s

ในสังคมโลกปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในโลกของความเปลี่ยนแปลง ความแน่นอนที่สุด คือความไม่แน่นอน Manfred Kets De Vries ได้เสนอว่าในการที่เราต้องเข้าสู่โลกยุคใหม่ จากเดิมที่เราเคยติดยึดกับแนวคิด 3C’s นั้น โลกยุคข้อมูลข่าวสารทำให้เราต้องเปลี่ยนไปคิดเป็น 3I’s

โลกยุค 3C ในแบบที่เราติดยึดนั้น ประกอบด้วย เรื่องของ Control, Compliance, และ Compartmentalization

C ที่หนึ่ง คือ Control หรือการควบคุม เราเชื่อว่าอะไรที่เราคุมได้มาก ย่อมดีกว่าอะไรที่เราคุมไม่ได้ หรือคุมได้น้อย เราเชื่อมั่นในระบบสายพานที่เราสร้างขึ้นว่าจะกำกับการทำงานของคนงาน และทำให้คนงานทำตามอัตราการเร่งของสายพาน และทำให้ได้ดังที่ฝ่ายบริหารโรงงานกำหนด แต่เราไมได้ตระหนักว่าโลกของหุ่นยนต์ได้มาถึงแล้ว อะไรที่เคยทำกันอย่างเป็นกิจวัตรนั้น หุ่นยนต์และกลไกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ก็จะสามารถเข้ามาทดแทนได้ ซึ่งพิสูจน์ได้ง่ายๆ โดยดูจากงานธนาคาร ปัจจุบัน เราสื่อสารกับตู้ ATM มากกว่าพนักงานธนาคารเสียอีก

C ทีสอง คือ Compliance หรือการเชื่อฟัง ทำตามกฎระเบียบ หรือกรอบที่มีคนกำหนด และกรอบที่คนกำหนดนั้น มักจะมาจากคนรุ่นก่อนๆ ที่อาจจะอายุมากกว่าคนโดยเฉลี่ยสัก 20-30 ปี การทำตาม หรือยอมตาม คือสิ่งที่ดำเนินการควบคู่ไปกับอีกฝ่ายหนึ่งที่ต้องการควบคุม และ

C ที่สาม คือ Compartmentalization หรือการคิดแบบแบ่งเป็นส่วน ต่างคนต่างทำ ต้วใครตัวมัน ไม่กระทบกันได้จะดีที่สุด สิ่งที่นี้จะเห็นได้จากกิจกรรมหลายอย่าง ดังเช่น ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ระยะหนึ่งไม่ลงตัวว่าใครรับผิดชอบ ทหารหรือตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง จะแบ่งอำนาจกันอย่างไร ท้ายสุดก็เกิดปัญหาต่างคนต่างทำ ไม่ประสานงานกัน และบางกรณีก็จะมีปัญหาขบกันเองระหว่างฝ่ายราชการ

กรณีการบริหารกิจการข้าว ที่เป็นพืชผลการเกษตรหลักของประเทศ โดยหวังว่าการที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงเพื่อทำให้ราคาข้าวสูงนั้น ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะให้กระทรวงใดรับผิดชอบ จะดูแลด้านส่งเสริมพันธุ์พืชอย่างไร น้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูกจะมาจากไหนใครจะดูแล เมื่อผลิตผลออกสู่ตลาด ทำอย่างไรจะรักษาราคาให้อยู่ในระดับที่ดีพอสำหรับชาวนา และเมื่อจะต้องระบายส่งออกไปขายต่างประเทศ จะทำอย่างไร องค์การคลังสินค้าเพื่อการเกษตรแบบรวมศูนย์ หรือธนาคารเพื่อการเกษตร ใครจะดูแล ใครจะรักษากฎ ซึ่งท้ายสุด แนวคิดแบบ Compartmentalization หรือคิดแบบแยกส่วน ไม่บูรณาการ ไม่ประสานกัน และไม่ได้ใช้วิธีการให้ชาวนา หรือชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง แต่กลับไปพึ่งระบบราชการแบบแยกส่วน ไม่ประสานงานกัน สิ่งที่ทำออกมาจึงไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ

สู่แนวคิด 3I’s ขจัดการเกาะติด

ในโลกยุคใหม่ โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โลกกำลังเผชิญกับปัญหาโลกร้อน (Global Warming) เพราะทรัพยากรพลังงาน เช่นน้ำมัน แก๊ส ถ่านหิน ที่ใช้เวลาสั่งสมเป็นล้านๆ ปี ได้ถูกนำมาใช้อย่างมากในช่วงเพียง 100 ปีที่ผ่านมา เฉพาะยานพาหนะ ในแต่ละปีมีการผลิตรถยนต์ขึ้นเกือบ 60 ล้านคัน เฉพาะประเทศไทยเองผลิตปีละ 1.2 ล้านคัน เฉพาะประเทศจีนประเทศเดียวมีคน 1300 ล้านคน มีความสามารถในการผลิตและใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างมหาศาล ได้ใช้เวลาพัฒนาระบบผลิตรถยนต์ จนในปัจจุบันได้กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับสามของโลก ผลิตรถยนต์สู่ตลาดโลกปีละกว่า 7 ล้านคน

ปัญหาโลกร้อน และปัญหาการหมดสิ้นของพลังงานน้ำมัน เร่งขุดหาและใช้กันภายในเวลา 100 ปีนี้ จะมีเวลาอีกเพียง 10-20 ปีที่จะต้องแก้ไขปัญหาโลกร้อน และจะมีเวลาเพียงอีก 30-50 ปีที่น้ำมันปิโตรเลียมจะหมดโลก และหมดจริงๆ หากไม่มีทางเลือกด้านพลังงานอื่นๆที่ดีพอ

ในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร เราต้องหันมาให้ความสนใจกับแนวคิดใหม่ คือ 3I’s หรือ สามไอ ซึ่งจำเป็นต้องมีวิธีการคิดใหม่ แก้ปัญหาให้ได้รวดเร็ว ด้วยการรู้เร็ว รู้ถูกต้อง และอย่างร่วมมือกัน

โลกใหม่กับ สามไอ ซึ่งประกอบด้วย Information, Ideas, และ Interaction

I ตัวแรก คือ Information หรือข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมีการรับข้อมูลข่าวสาร แต่การมีข้อมูลข่าวสารยิ่งมาก ไม่ใช่จะยิ่งดีเสมอไป เพราจะมีปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ข้อมูลล้น (Information Overload) คือคนแต่ละคนได้รับข้อมูลข่าวสารมาก แข่งกันให้ ดังเช่นปัจจุบันนี้ ตื่นนอน เปิดโทรทัศน์ดูข่าวสาร ก็จะมีโทรทัศน์หลายช่องที่จะนำเสนอข่าว มีหนังสือพิมพ์ที่เราบอกรับ รับประทานอาหาร บางคนก็อ่านหนังสือพิมพ์ไป หรือเปิดโทรทัศน์ดูไป เมื่อนั่งรถ หรือขับรถ ก็จะมีวิทยุเปิดฟัง หากบางบ้านมีคอมพิวเตอร์ เปิดติดตามอินเตอร์เน็ต ก็จะมีเสนอข่าวสาร ข้อมูลนานับประการ ข้อมูลต่างๆ จะประดังมาหาเราตั้งแต่เช้าจรดเย็น เวลาทำงานก็จะมีการนำเสนองานที่มีเอกสารแนบมาเป็นอันมาก อ่านกันไม่หวัดไม่ไหว อีกปัญหาที่ตามมาคือ ปัญหา ข้อมูลเลอะ (Un-organized Information) บางส่วนเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ บางส่วนเป็นข้อมูลที่ยัดเยียดให้กับเรา เช่นในอินเตอร์เน็ต มีโรคอีเมล์ขยะ หรือ Spammed Mail ระบาด คือบรรดาคนและบริษัทเสียสติที่พยายามจะหาวิธียัดเยียดข้อมูลมาให้เรา สำหรับผมแต่ละวัน มีจดหมายที่ต้องการอ่านสัก 10 ฉบับ แต่ต้องไปเสียเวลาล้าง E-mail ยัดเยียดอีกนับได้สัก 200 ฉบับ และไม่รู้จะไปคัดออกด้วยคำสั่งหรือโปรแกรมได้อย่างไร เพราะมีการทำชื่อผู้ส่งหลอกมาอีก และ ข้อมูลหลอก (Deceptive Information) ข้อมูลประเภทหลอก เช่นหลอกให้ไปเช่าพระและสิ่งศักดิสิทธิ ยัดเยียดผ่านสื่อต่างๆ บางคนเป็นคนสูงอายุทั้งชายและหญิง มีเงินมีทอง ก็ถูกหลอกให้กินยาบำรุง นวดหน้า อบตัว ผ่าตัดเสริมนั่น ตัดนี่ ฉีดสารแปลปลอมเข้าไปในส่วนนั้นส่วนนี้ของร่างกาย ซึ่งในระยะยาว มักจะพิสูจน์ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่จิรัง ยิ่งทำในสิ่งไม่เป็นธรรมชาติมากๆ ร่างกายก็จะเสื่อมโทรมเร็ว

ในโลกยุคใหม่ เราต้องการข้อมูลที่ใช้ได้จริง เลือกใช้ได้อย่างรวดเร็ว ตรวจสอบได้ถึงแหล่งที่มา ความถูกต้อง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคนยุคใหม่ ต้องมีความสามารถที่จะใช้เหตุและผลที่จะตรวจสอบข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นว่าเป็นจริงหรือไม่ น่าเชื่อถือหรือไม่ และด้วยเหตุใด เป็นประโยชน์ได้จริงหรือ เป็นแบบชั่วคราว หรือว่ามีผลที่ดีแบบถาวร

I ตัวที่สอง คือ Ideas หรือความคิดความอ่าน ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น อ้นเรื่องของความคิดนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องไปรับมาอย่างเดียว แต่จะต้องมีความคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ความรู้มากมาย แต่หากไม่มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำสิ่งใหม่ ความรู้เหล่านั้นก็จะหมดค่า หรือลดค่าลงไปในเวลาอันรวดเร็ว

ในการมีความคิดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คิดใหม่ทุกประการจะเป็นสิ่งที่ดี ความคิดบางอย่างที่เป็นการคิดใหม่จริง แต่เป็นความคิดฟุ้งซ่าน คิดแล้วยังไม่มีการตรวจสอบ ก็มีการนำไปใช้กับคนหมู่มาก ใช้กับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน และไม่สามารถจะพิสูจน็ได้ว่าจะทำให้เกิดความสำเร็จ ตัวอย่างบางรัฐบาล มีความคิดบรรเจิดที่จะทำอะไรมากมาย บางส่วนใช้ได้ แต่บางส่วนคิดขึ้นมาแล้ว เมื่อนำไปดำเนินการอย่างไม่รอบคอบ ก็กลายเป็นความล้มเหลว โดยเฉพาะคิดแบบไปตัดสินใจแทนชาวบ้านเขา คิดว่าจะทำบ้านราคาถูกแจก แต่แล้วก็ไม่ถูกจริง คิดจะหารถแท๊กซี่ราคาถูกให้กับคนขับให้ได้เป็นเจ้าของกิจการเอง แต่ก็ไปบวกกับค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์สื่อสารที่ท้ายสุดไม่ได้นำไปใช้จริง และอุปกรณ์นับเป็นหมื่นๆบาทต่อชุดนั้น ท้ายสุดก็กลายเป็นความสิ้นเปลืองที่ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นหากจะให้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เกิดประโยชน์นั้น บางทีต้องมีการคิดไตร่ตรอง มีการตรวจสอบ และทดลองใช้และให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ก่อนที่ประชาชนหรือคนทั่วไปจะได้เห็นในหลายๆด้าน ได้ศึกษา และได้ตัดสินใจดำเนินการด้วยตนเอง

I ตัวที่สาม คือ Interaction หรือการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน คือต้องคิดและทำร่วมกัน ทำงานกันอย่างเป็นเครือข่าย ในการศึกษาความคิดใหม่ของนักคิดด้านการบริหาร มีเหมือนกันที่เขาบอกว่า คิดแล้วทำเลยหรือเรียกว่า Action-Oriented อย่ามัวแต่ชักช้าเนิ่นนาน คิดแล้วก็ไม่ได้ทำ แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากจะทำให้ความสำเร็จนั้นดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะต้องใช้วิธีการร่วมคิดร่วมทำ อย่าไปคิดตัดสินใจในงานใหญ่คนเดียว โดยไม่มีการปรึกษาหรือหาข้อมูลจากรอบด้านเพียงพอ และคิดอะไรได้ ก็ต้องมองวิธีการร่วมกันคิดและร่วมกันทำ ซึ่งฝรั่งเขาเรียกว่า Interactive ตัวอย่างที่จะเห็นได้ชัด เช่น การดำเนินกิจการร้านค้าขนาดเล็ก หากคิดและทำอย่างคนรุ่นพ่อ เคยทำอย่างไร ก็จะทำไปอย่างนั้น อย่างนี้ก็จะไม่สามารถสู้ได้กับบริษัทข้ามชาติที่มาจัดตั้งพวกศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อย่างที่เรียกว่า Super Stores, Mega Malls หรือพวกร้านค้าแบบเครือข่าย (Convenient Stores) ที่เปิดบริการแบบตลอด 24 ชั่วโมง ที่มีเปิดกันนับเป็นหมื่นๆ แห่ง

การจะไปห้ามไม่ให้บริษัทต่างชาติเหล่านี้เข้ามาดำเนินการในประเทศ ต่างชาติเขาก็อาจปฏิเสธผลิตผลการเกษตร เช่น ข้าว กุ้ง ไก่ ผัก ผลไม้ และผลผลิตอื่นๆ ของเรา ทางเลือกคือ การต้องเปิดประเทศรับการค้าที่แข่งขันกันอย่างเสรี และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และขณะเดียวกัน สร้างความพร้อมให้คนไทยมีพลังพอที่จะดำเนินกิจการของเขาได้อย่างเข้มแข็ง การต้องร่วมสร้างเครือข่ายความร่วมมือของคนไทย ร้านค้าของคนไทยจะต้องร่วมกัน ต้องมีวิธีการจัดหาและจัดส่งสินค้าไปยังร้านต่างๆ อย่างที่เขาเรียกว่า ระบบ Logistics ต้องมีการปรับสถานที่รองรับผู้ซื้อ จะมีที่จอดรถจักรยาน รถเครื่องสองล้อ หรือรถยนต์นั่งของลูกค้าอย่างไร จะร่วมกับร้านค้าเพื่อนบ้านพัฒนาระบบรองรับร่วมกันได้อย่างไร จะนำรัฐบาลท้องถิ่นเข้ามาร่วมมือด้วยได้อย่างไร จะมีการออกกฎเกณฑ์ หรือกฎหมายบ้านเมืองเพื่อปกป้องธุรกิจให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้จะทำอะไรไปตามลำพังไมได้

ทุกคนต้องเป็นผู้นำ

ในโลกที่ไม่มีความแน่นอนนั้น ส่วนหนึ่งจะทำให้คนหันกลับไปสู่ความอนุรักษ์ คิดอย่างไรแบบเอาตัวรอดไว้ก่อน และต่างฝ่ายก็จะคิดเช่นนี้ ดังเช่นเมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ดังเหตุการณ์เศรษฐกิจฟองสบู่ ทุกฝ่ายตระหนกและคิดอย่างเอาตัวรอด เมื่อเศรษฐกิจหดตัว อุตสาหกรรมก็คิดแบบอนุรักษ์ ไม่ขยายงาน หาทางตัดค่าใช้จ่าย เลิกจ้างคนบางส่วนลง แผนขยายงานก็พับไว้ก่อน รอให้ทุกอย่างชัดเจนแน่นอนแล้วจึงค่อยกลับมาลงทุน ธนาคารเองก็คิดอย่างเอาตัวรอด คือไม่ปล่อยเงินให้กู้อย่างง่ายๆ ส่วนที่มีลูกหนี้ ก็จะเร่งรัดหนี้สินอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้ปรากฏเป็นหนี้เสีย ฝ่ายธุรกิจรายย่อย คนเบี้ยน้อยหอยน้อย ก็จะได้รับผลกระทบ คนทำงาน เกษตรกร เมื่อเศรษฐกิจไม่คล่องตัว การจับจ่ายใช้สอยก็ลดลง ก็จะกลับไปกระทบกับกิจการของระบบผลิตและบริการ ซึ่งทำให้การจ้างงานลดลง ปล่อยให้มีคนตกงานเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นวงจรที่จะสร้างวิกฤติให้หนักหนารุนแรง

ในปี พ.ศ. 2549-2550 แม้เราจะได้เรียนรู้จากยุคเศรษฐกิจฟองสบู่เมื่อกว่า 10 ปีก่อน เราคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นหลักที่ใช้ได้ แต่มีเป็นอันมากเราคิดแบบหลักเอาตัวรอด (Survival) ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่เชื่อถือในความสามารถของตนเองและคนในสังคม ยึดถือโชคลาภ สิ่งศักดิ์สิทธิ ตกอยู่ในวงจรการควบคุมจากฝ่ายมีอำนาจ ต้องยอมตามในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีความชอบธรรม ต้องยอมตามในสิ่งที่ไม่ควรจะต้องยอมตาม และแล้วเราต่างก็จะอยู่กันอย่างต่างคนต่างอยู่ ไม่ดิ้นรนขวนขวาย

ในโลกยุคใหม่ เราต้องเชื่อมั่นได้ว่า ผู้นำที่แท้จริงเริ่มจากตัวเรา เชื่อว่าการเมืองการปกครองประเทศนั้น เราเป็นคนกำหนด ไม่ใช่คนมีอำนาจปืน อำนาจเงิน หรืออำนาจปัญญาที่จะมาใช้อำนาจเหนือคนส่วนใหญ่อย่างไม่เป็นธรรม ต้องเชื่อว่า การนำที่แท้จริงในสังคมประชาธิปไตยนั้นต้องเป็นสังคมที่ต้องมีความเป็นผู้นำก้นตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชนเล็กๆ ของเรา ตลอดไปจนระดับภูมิภาคและระดับชาติ และหากเป็นไปได้ เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาคนและทรัพยากรมนุษย์ของเรา ระบบการศึกษา การฝึกอบรม และการเรียนรู้ตลอดขีวิตของเรา เช่นเดียวกัน การศึกษาไม่ใช้ระบบที่คนมีอำนาจจะมากำหนดให้เรา การศึกษาต้องเป็นของทุกๆคน และทุกๆคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ หากเราพลาดไปในคนรุ่นก่อนและคนรุ่นปัจจุบัน เราก็ต้องใช้บทเรียนเหล่านั้น เป็นเครื่องสอน และพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้ไม่ต้องพบกับปัญหาอย่างที่เราได้ผ่านมา

No comments:

Post a Comment