Thursday, January 21, 2010

เมื่อการผลิตน้ำมันของโลกถึงจุดสูงสุด (Peak Oil)

เมื่อการผลิตน้ำมันของโลกถึงจุดสูงสุด (Peak Oil)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ความหมาย

Peak Oil คือจุดที่เวลาการผลิตน้ำมันที่ผลิตจากปิโตรเลียม (petroleum extraction) ได้มาถึงที่สุด และหลังจากนั้นไม่ว่าจะใช้ความพยายามเท่าใด ปริมาณน้ำมันที่ได้จากการสำรวจขุดเจาะ ก็จะลดลง แนวคิดนี้มาจากการสังเกตปริมาณน้ำมันของแต่ละบ่อที่ขุดเจาะ และเมื่อรวมถึงผลผลิตน้ำมันโดยรวม และเมื่อถึงจุดที่สามารถผลิตน้ำมันที่ได้จากแหล่งปิโตรเลียมสูงสุดแล้ว หลังจากนั้น ปริมาณน้ำมันที่สำรวจขุดเจาะได้จากธรรมชาติจะลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะในขณะเดียวกัน ความต้องการใช้พลังงานก็จะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น เข้าลักษณะอุปสงค์สูงกว่าอุปทาน แต่คำว่า Peak Oil แตกต่างจากคำว่า จุดที่ไม่มีน้ำมันเหลืออยู่

ภาพ กราฟแสดงปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้จะสูงสุดในราวช่วงปี ค.ศ. 2010-2020 และหลังจากนั้น จะลดลงอย่างรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับการต้องพึ่่งพลังงานจาก Fossil จะมากหรือน้อยเพียงใด

M. King Hubbert ได้เป็นผู้เสนอรูปแบบ peak oil เป็นคนแรกเมื่อปี ค.ศ. 1956 ว่าจะมาถึงในช่วงปี ค.ศ. 1965-1970 และจะทำให้น้ำมันมีราคาแพงขึ้นอย่างมากทั่วโลก และจะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ คำทำนายของเขาถูกเพียงส่วนหนึ่ง และมันทำให้เกิดวิกฤติน้ำมันจริง ราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มนุษย์ได้มีการปรับตัวตามไปในหลายๆด้าน เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ฝ่ายสำรวจขุดเจาะก็มีความคุ้มที่จะขุดเจาะในบริเวณที่ไม่เคยทำมาก่อนดังเช่นในด้านทะเลชายฝั่ง ในบางด้านได้เกิดการพัฒนาการใช้พลังงานทางเลือก ดังเช่นประเทศญี่ปุ่นและฝรั่งเศสได้มีการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และรถไฟความเร็วสูงที่ใช้ไฟฟ้าที่พัฒนาจากแหล่งอื่นๆนอกเหนือจากน้ำมันได้ และในอีกด้านหนึ่งในประเทศในยุโรปก็ได้เริ่มการเก็บภาษีน้ำมันสูง เพื่อสะกัดกั้นการใช้พลังงานน้ำมันที่เกินความจำเป็น

ในช่วงต่อมาได้มีทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ได้ทำนาย Peak Oil เอาไว้ว่าน่าจะเป็นช่วงปี ค.ศ. 2020 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าราคาน้ำมันจะสูงจนกระทั่งต้องเลิกคิดถึงน้ำมันที่ผลิตจากแหล่งสำรวจขุดเจาะ (Petroleum)

จากการคาดการณ์อย่างเป็นทางบวก (Optimistic estimations) จุดการผลิตน้ำมันสูงสุดจะมาถึงในปีค.ศ. 2020 หรือประมาณอีกเพียง 10 ปี และช่วงเวลาดังกล่าวนี้ จะต้องมีการลงทุนพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆก่อนที่จะเกิดวิกฤติจริง และในการนี้ รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาการบริโภคน้ำมันอย่างมากๆ ดังเช่นวัฒนธรรมการใช้รถยนต์ส่วนตัวอย่างเกินความจำเป็น การไม่ได้คิดถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางเลือกต่างๆ ที่จะทำให้การใช้ชีวิตและวิธีการทำงานดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. นี้เป็นต้นไป มนุษย์จะต้องเตรียมที่จะรองรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะสูงขึ้น การฉุดให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตากพืช (Bio fuel) อย่างเช่น Gasohol, biodiesel ที่มีทางเลือกในการผลิตได้จากวัสดุของทิ้ง หรือจากพืชที่มีผลิตผลสูงที่จะนำมาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงแบบต่างๆได้

ในยุคน้ำมันขาดแคลน และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต้องสูงขึ้นนี้ กลไกธรรมชาติของประชาชนคนไทย คือการปรับการผลิตพืชเพื่อการส่งออกที่มีผลกำไรต่ำ มาสู่การผลิตพืชที่สามารถใช้เป็นพลังงานที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ในช่วงนับแต่นี้ต่อไป ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะขึ้นถึงลิตรละ 50-60 บาท ก็จะได้เห็นในไม่ช้า ผลกระทบต่อประเทศไทยอาจเป็นครึ่งหนึ่งของประเทศที่ต้องพึ่งพาพลังงานทั้งหมดจากต่างประเทศ

ภาพ ในระยะเริ่มต้น ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 แหล่งน้ำมันจะอยู่บนพื้นดิน และพบได้ในแหล่งที่ไม่ลึกจากผิวโลก ดังที่พบในรัฐอย่างเทกซัส โอคลาโฮมา แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (USA) หรือที่พบในตะวันออกกลาง (Middle East) ดังในยุคแรก จะมีการใช้น้ำมันกันอย่างลืมว่า แหล่งน้ำมันและพลังงานจากซากพืชและสัตว์ (Fossil Fuel) นั้นจะมีต้องมีจุดสิ้นสุดที่พลังงาน Fossil Fuel จะหมดไปจากโลก

ภาพ การสำรวจขุดเจาะเมื่อน้ำมันหายากขึ้น แต่ราคาสูงขึ้น ก็ทำให้มีการสำรวจไกลออกไปจากชายฝั่งทะเล ต้นทุนการสำรวจขุดเจาะก็สูงขึ้นไปตามความลึกของแหล่งน้ำมัน

ภาพ เมื่อแหล่งน้ำมันอยู่ไกลชายฝั่งออกไป พื้นผิวทะเลที่จะรองรับแหล่งขุดเจาะ ระดับความรุนแรงของดินฟ้า อากาศ ก็จะทำให้การสร้างแหล่งหรือฐานสำรวจขุดเจาะและสูบน้ำมันเพื่อนำมาใช้ก็มีความเสี่ยง ขาดทุนเสียหาย และเป็นอันตรายต่อคนทำงาน ที่ต้องไปอยู่ในแหล่งที่เสี่ยงต่อความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ

ปัญหาโลกร้อน

อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกันโดยตรง แต่ควรต้องคิดร่วมกันไป คือปัญหาโลกร้อน (Global Warming)

ภาพ กราฟแสดงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นยุคที่มีการใช้รถยนต์ (Automobile Culture)

ปัญหาโลกร้อน หรือ Global warming เป็นปรากฎการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ย (average temperature) ที่ผิวโลกได้เพิ่มขึ้น 0.74 ± 0.18 °C ในช่วงเริ่มต้นจนถึงเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 20 หน่วยงานคณะกรรมการศึกษาสภาพอากาศของโลก (Intergovernmental Panel on Climate Change - IPCC) ได้สรุปรว่าปัญหาอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ ก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases) ที่ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 อันเป็นผลจากการที่มนุษย์ (human activity) ได้มีการใช้เชื้อเพลิงจากสิ่งที่เป็นคาร์บอนด์ดังเช่นพวกผลิตผลจากถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ (fossil fuel) และมีการแผ้วทางป่า (deforestation) อีกส่วนหนึ่งที่อาจทำให้โลกเย็นลง คือการสะท้อนแสงอาทิตย์ (solar radiation) และผลจากการระเบิดและปล่อยฝุ่น ควัน และก๊าซ (volcanism) ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่อาจทำให้โลกเย็นลงบ้าง แนวสรุปนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมนักวิทยาศาสตร์กว่า 40 คนทั่วโลก ซึ่งรวมถึง national academies of science และประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว (major industrialized countries) ก็ให้การยอมรับสภาพปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้น และได้พยายามหาข้อสรุปในการแก้ไข

การแก้ไข

ทางออกในการแก้ปัญหาน้ำมันหมดโลก และปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องที่สามารถคิดไปพร้อมๆกัน และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบร่วมกัน

คนไทยต้องเตรียมพัฒนาพลังงานทางเลือก (Alternative Energy) ระบบการขนส่งทางเลือก (Alternative Transportation) ที่ไม่ไปสร้างปัญหาโลกร้อนเพิ่มขึ้น และขณะเดียวกัน ต้องมองหนทางในการปรับแก้วิถีชีวิต และการวางระบบที่ทำให้เราพึ่งพาพลังงานปิโตรเลียมลดลง

1. การพัฒนาพลังงานทางเลือก (Alternative Energy) ที่ไม่ต้องพึ่งถ่านหิน ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ที่มาจาก Fossil Fuel ที่ต้องได้มาจากแหล่งที่ไม่สามารถพัฒนาทดแทนได้ (Non-renewable resources) ดังเช่น การต้องพัฒนาพลังงานจากลม (Wind Turbine), พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์, การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ (Nuclear Power Plants)

2. การมีระบบรถไฟความเร็วสูง (High Speed Trains) ซึ่งหมายถึงรถไฟที่วิ่งได้ด้วยความเร็วเฉลี่ยเกิน 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจุบัน เรามีระบบรถไฟที่วิ่งได้ช้ากว่ารถโดยสาร และเพราะหลายเส้นทางยังเป็นเส้นทางวิ่งเดี่ยว ต้องสลับกันวิ่งไปและวิ่งมา จึงทำให้ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจะแก้ไขปัญหานี้ ต้องมีการพัฒนาระบบใหม่เกือบจะทั้งหมด เพราะระบบรางเดิมที่พัฒนาขึ้นในช่วงกว่าร้อยปีแล้วนั้น ไม่สามารถรองรับมาตรฐานความเร็วของรถไฟควาเร็วสูงใหม่ๆได้

3. การขยายรถระบบวิ่งบนรางความเร็วสุงที่ใช้ในเมือง (Rapid Rail Transit System) ดังเช่นรถไฟฟ้าวิ่งบนทางยกระดับ อย่าง BTS และระบบรถใต้ดินในเมือง ที่ต้องขยายตัวให้กว้างขวางพอ แม้จะไม่ต้องเทียบกับเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค (New York City – NYC) ในสหรัฐอเมริกา, ระบบ Underground ของกรุงลอนดอน (London, UK), ระบบรถ Metro ของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (Paris, France)

4. การขนส่งระหว่างเมืองที่พึ่งพารถโดยสาร (Traditional Bus System) ทั้งในเมืองและระหว่างเมือง ที่ต้องประสานสอดรับกับระบบรางที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เพราะระบบรถโดยสาร จะยังเป็นสิ่งที่ใช้ได้ดีมีประสิทธิภาพกว่ารถยนต์ส่วนตัว (Cars)

5. การให้มีระบบรถรับจ้างดัง Taxi หรือ Tuk Tuk ก็จะยังเป็นระบบที่ต้องมีรองรับ แต่อาจต้องถึงจุดที่ต้องควบคุมปริมาณจำนวนรถ แต่รถที่ต้องควบคุมในเขตเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครนั้น คือการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัว พร้อมไปกับมีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกกว่า และมีค่าใช้จ่ายโดยรวมถูกกว่า

การทำให้แต่ละบ้านมีและต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว (Personal Cars, vehicles) นับเป็นหนทางสุดท้ายที่มนุษย์ควรต้องพึ่งพา โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้พลังงานในแบบเดิมที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูง ที่ต้องใช้เพื่อการเผาไหม้ให้เกิดเป็นพลังงาน และขณะเดียวกันสร้างปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน

No comments:

Post a Comment