บทที่ 6 เป็นตัวของตัวเอง การได้ลองสัมผัส และลงมือทำอย่างจริงจัง
ประกอบ คุปรัตน์ และ
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ณัฐนิภา คุปรัตน์
Nattanipha Cooparat
มูลนิธิก้าวไกลในเอเชีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)
Updated: วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553
Keywords: cw059, ความเป็นผู้นำ, การจัดการ
บทนำ
ท่านเคยเห็นตัวอย่างเช่นนี้ในสังคมไทยบ้างหรือไม่
คนที่ถูกครอบครัว พ่อแม่ หรือเพื่อนกระตุ้นให้เรียนแพทย์ หรือวิศวกร อันเป็นอาชีพที่ทุกคนเห็นว่าดี แต่ท้ายสุด แม้เข้าเรียนได้แล้วมาพบในภายหลังว่าตนไม่เหมาะกับอาชีพนั้นๆ แม้จะมีความสามารถที่จะเรียนจนจบก็ตาม ก็เลยต้องเรียนอย่างทนทุกข์ เรียนได้จนจบจริง แต่เมื่อเขาคิดถึงอนาคตทีไร ก็รู้สึกเต็มไปด้วยความหนักใจ เพราะสิ่งที่เรียนไม่ใช่สิ่งที่ตนเองไฝ่ฝัน
คนที่ไม่ยอมแยกออกจากพ่อแม่และวงศ์ตระกูล หรือครอบครัว เพราะต้องการรอรับมรดกและการอาชีพ ที่วงศ์ตระกูลมุ่งหวังให้ทำ และเขาก็รับทำงานที่ได้รับมอบหมายต่อมาอย่างไม่มีความสุข และก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
สตรีที่ต้องแต่งงานกับคนที่เธออาจไม่ได้รัก แต่เป็นการแต่งเพราะหน้าตา วงศ์ตระกูล ความคาดหวัง และบางทีทั้งๆที่ยังไม่รู้จักกันเลย เพียงเพื่อให้ได้แต่งงาน หรือหลีกหนีจากการที่คนเขาจะนินทาว่าเป็นสาวแก่ (old maid) แต่งานไปแล้วก็คอยแต่ย้อนกลับมาเสียดายทุกครั้งเมื่อรู้สึกว่าไม่ได้เลือกคู่ครองที่ถูกต้อง
หรือ คนที่เริ่มไปทำงานอย่างไม่ตั้งใจเลือก เพียงเพราะว่ามันก็เป็นงานเหมือนๆกัน เงินเดือนก็เท่าๆกัน แต่เมื่อ ทำไปแล้วก็มีแต่ความจำเจและไม่มีหนทางแห่งความก้าวหน้า จึงไม่ได้ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ถึงกับไม่ พอใจในงานนั้นนัก แต่ก็ไม่รู้จะเปลี่ยนงานไปทำไม เพราะอยู่ที่นั้นก็สามารถทำไปได้เรื่อยๆ เรียกว่าพอทนได้พออยู่ได้ คนที่ถูกเขาเลือกเข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นไป ซึ่งก็แน่นอนว่าก็อยากรีบรับงานนั้นไว้ เพราะใครๆก็เห็นเป็นตำแหน่งอันมีเกียรติทั้งต่อตนเองและวงศ์ตระกูล เป็นประวัติความดีงาม ดังนั้นจึงต้องรีบรับงานนั้นไว้ แต่เมื่อไปทำงานนั้นจริงปรากฏว่ามันไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาด มีหลายอย่างขัดกับความรู้สึกและจิตสำนึกที่มีอยู่ จึงต้องทำงานนั้นไปอย่างอมทุกข์ กลายเป็นเหยื่อของงานมากว่าจะเป็นายของงาน เมื่อได้รับการสรรเสริญ ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นการสรรเสริญด้วยใจจริง หรือเป็นเพราะในระบบนั้นๆเขาทำกันอย่างนั้น
ผู้เขียนได้มีประสบการณ์ในโครงการทุนศึกษาต่อต่างประเทศของระบบราชการไทย ซึ่งได้เห็นความไม่ประสบความสำเร็จประการหนึ่งของโครงการทุนศึกษาเล่าเรียนปริญญาขั้นสูงต่อในต่างประเทศของระบบราชการไทย ซึ่งในระยะหลังจะพบว่าคนไปเรียนต่อต่างประเทศแล้วใช้เวลาในการศึกษาเล่าเรียนยาวนานขึ้น เรียนแล้วไม่อยากกลับ เบางคนยอมสละทุนกลางครันเลยก็มี พราะกลับมาแล้วก็ต้องมาทำงานใช้เป็นเวลา 3 เท่าของที่ใช้เวลาไปศึกษาต่อ หรือถ้าไม่กลับมารับราชการตามสัญญา ก็ต้องยอมจ่ายคืนในระดับ 3 เท่าเช่นกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือระยะหลังหาคนลงนามเป็นผู้ค้ำประกันให้กับผู้รับทุนลำบาก บางรายก็ต้องบอกเลิกรับทุนไปก็มี ส่วนคนที่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนจนจบและกลับมาทำงานแล้วก็ไม่ได้มีความจงรักษ์ต่อหน่วยงานเป็นพิเศษ โดยในใจลึกๆแล้ว เขารู้สึกถูกเอาเปรียบ เพราะต้องกลับมารับราชการด้วยอัตราเงินเดือนเทียบกันไม่ได้กับค่าตอบแทนในตลาดแรงงานที่ภาคเอกชนก็ต้องการตัวเขาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีใครได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการไทยซึ่งคิดว่าจะผูกคนด้วยสัญญา และก็ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในระดับทนุละ 3-5 ล้านบาทแล้วก็ไม่ได้รับผลตอบแทนอะไร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดบุคคลนั้น เพราะเขาได้จบกลับมาแต่ก็ทำงานอย่างไม่ตั้งใจ มีความขัดข้องใจทั้งลึกๆและเปิดเผย และสำหรับตัวบุคคลผู้นั้นเอง การที่เขามารู้สึกในภายหลังว่าได้ตัดสินใจผิดไปแล้ว และไม่มีทางกลับตัวก็ยิ่งกลายเป็นปมร้ายในชีวิต เพราะคิดๆไป ถ้าจะต้องอยู่รับราชการต่อไปก็ต้องถูกผูกพันถึง 10-15 ปีตามสัญญา กว่าจะหลุดพ้นก็แก่เกินไปเริ่มอาชีพใดๆในภาคเอกชนแล้ว แต่ถ้ารับราชการต่อไปก็ขาดโอกาสหลายประการ รวมทั้งทางการเงินและการอาชีพด้วย
คนด้วยทั่วไปนั้นมักมีนิสัยเสียอยู่ประการหนึ่งคือ การหลงไปกับของใกล้ตัว ของที่หยิบฉวยได้ง่าย ของราคาถูกหรือได้มาด้วยการแจกการแถม หรือของฟรี ของที่เป็นความต้องการชั่วแล่น นึกอยากได้ก็จะให้ได้ ซึ่งทำให้เราไม่ได้มีโอกาสตรวจสอบตนเอง ต้องหลงถลำตนเข้าไป แล้วบางครั้งกลับลำเปลี่ยนใจได้ยาก กว่าจะรู้ว่าเดินผิดทางก็สายเสียแล้ว
Abraham Maslow ผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องความต้องการของมนุษย์ได้เขียนเอาไว้ว่า
ในความเป็นมนุษย์นั้น มีสิ่งที่มีความเป็น ตัวของตัวเอง (self) ซึ่งเป็นเสียงเรียก หรือความต้องการจากภายในลึกๆ ของมนุษย์เรา และสำหรับความสำเร็จแห่งชีวิต เราต้องปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ได้ฉายออกมา มากกว่าที่จะปล่อยให้เป็นเสียงเพรียกจากภายนอก จากพ่อหรือแม่ จากรํฐบาล หรืออำนาจ ในสังคม จากผู้มีอาวุโส จากผู้มีอำนาจ หรือการกำกับโดยขนบประเพณี
เราคงจะพบว่าคนที่มีศักยภาพที่จะเป็นอัจฉริยะมากมายที่ไม่สามารถบรรลุศักยภาพของตนเองได้ คนที่ไฝ่หาอยากสร้างตนเอง อยากร่ำอยากรวยเหมือนคนอื่นเขา แต่ท้ายสุดกลับต้องสิ้นเนื้อสิ้นตัว คนบางคน สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ท้ายสุดไม่ประสบความสำเร็จในอะไรอย่างชัดเจน และจนล่วงเลยวัยไปแล้ว ก็ไม่สามารถบรรลุความสำเร็จในชีวิตได้
การเป็นตัวของตัวเอง รู้ในความสามารถและข้อจำกัดของตน และได้ทำอย่างที่ใจปรารถนาหลังจากที่ได้ลองหรือตรวจสอบมาแล้ว และเป็นฝ่ายรุกเข้าไปเลือกงานมากกว่าการปล่อยให้งานเป็นฝ่ายมากำหนดตนให้ เข้าไปอยู่ในกรอบ ซึ่งมีเป็นอันมากที่กรอบนั้นไม่สามารถสอดคล้อง กับความเป็นตัวตนของเราได้ ดังนั้นการเป็น ตัวของตัวเอง ได้รู้จักความสามารถ ความถนัด ความชอบ และการมุ่งหมายในชีวิต เพื่อที่เมื่อได้เลือกทางใดแล้ว ก็จะได้ทำงาน นั้นๆไปอย่างมีจริงจัง ทุ่มเท และนั่นเป็นพื้นฐานอันสำคัญที่คนจะประสบความสำเร็จ และอย่างมี ความสุขควบคู่ไปด้วย
การทำงานสู่ความสำเร็จ
คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆสำหรับทุกๆคน ไม่ใช่เพราะมีความทะเยอ ทะยานที่จะยากเป็นหรืออยากมีอย่าง่คนอื่นเขา การที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ยังเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ แต่ที่ รับรู้เป็นอันมากคือจากความไม่สำเร็จ ความไม่สำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นอันมากในชีวิตเรานั้นเกิดจากสิ่งเหล่านี้ กล่าว คือ
- ความคิดที่ท้ายสุดไม่นำไปสู่การได้ตัดสินใจ
- การตัดสินใจที่ไม่สามารถส่งผลไปสู่การปฏิบัติ และ
- การปฏิบัติอย่างไร้พลัง ทำอย่างแกนๆ
ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนทำงานไปสู่จุดมุ่งหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
การปฏิบัติตนที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ความสำเร็จที่ต้องเริ่มจากตนเอง มีคนกล่าวว่าถ้าต้องการความสำเร็จไม่ใช่เรื่องที่จะต้องพยายามพิสูจน์ ตนเอง ว่าเราเป็นหรือไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความสำเร็จนั้นคือการสามารถดึงเอาสิ่งดีๆที่เรามีให้ได้ออกมาเป็นประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
การจะประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องมีขั้นตอนและต้องอาศัยการได้ลองทำ ได้ฝึกปฏิบัติ
นักกีฬากว่าจะได้เป็นนักกีฬาชั้นเยี่ยมยอดก็ต้องผ่านขั้นตอนของการฝึกฝน ผึกซ้อมบ่อยๆ และผ่านการ แข่งขันในสนามต่างๆ เป็นการสะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับคนจะเป็นผู้นำทั้งหลาย กว่าจะก้าวสู่ ความรับผิดชอบในงานใดๆนั้น ก็มักจะไม่ได้ก้าวมาอย่างง่ายๆ มันเป็นสิ่งที่ต้องได้ "สำแดง" ออกมา มีหลายคน กล่าวว่า ความสำเร็จเป็นเรื่องของ expression หรือการได้แสดงออก
ในมหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องมีหลักสูตรวิชาการศึกษาทั่วไป (general education) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เรียน ได้มีโอกาสเลือกเรียนวิชาการนอกสายวิชาเอกของตนอย่างกว้างขวาง บางแห่งปล่อยให้มีระบบวิชาเอกคู่ (double majors) หรือให้มีได้ทั้งวิชาเอกและวิชาโท (major and minor concentration) เพื่อให้ผู้เรียนอย่างน้อย ได้มีโอกาสเรียนวิชาเฉพาะอย่างน้อยก็สองสาขา บางทีก็เพื่อให้เสริมแก่กัน แต่บางทีเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีช่องทางเลือกนอกเหนือจากที่ได้เรียนเป็นวิชาเอกแล้ว มีเหมือนกันที่บางคนเรียนไปแล้วพบว่า ความสนใจแท้จริงนั้น ไม่ได้อยู่ในวิชาที่เลือกเป็นวิชาเอก ดังนั้นหลายมหาวิทยาลัยจึงมีระบบที่ปล่อยให้ผู้เรียนสามารถย้ายข้ามคณะ วิชา ข้ามมหาวิทยาลัยกันได้ ทั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสที่จะให้ผู้เรียนได้ลองเรียนรู้ในหลากหลายสาขาวิชา เพื่อให้ได้ตรวจสอบความสนใจ และความถนัดของตนเอง ในต่างประเทศจึงเห็นว่า เวลาสองปีแรกของ มหาวิทยาลัยนั้นเป็นช่วงของการได้ลองแสวงหาความเป็นตัวของตัวเอง และเขาจะไม่เร่งสอนวิชาการอาชีพเร็วจนเกินไป
ในบางประเทศทางยุโรปเหนือที่เราชอบเรียกเขาว่า "ฟรีเซกส์" ในวัฒนธรรมของเขาที่สามารถมีเพศ สัมพันธ์กันได้อย่างเสรี และไม่มีเงื่อนไขสังคม หรือประเพณีกีดกั้น ถ้าศึกษาลึกๆ เขาไม่ใช่กระทำด้วยความมักมากในกามเสมอไป แต่เป็นทัศนะของเขาที่ให้ความสำคัญต่อการได้มีโอกาสศึกษาคู่ครอง ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน การใช้ชีวิตคู่ และที่สำคัญให้ได้รู้จักตนเองให้ดีเสียก่อน จนกว่าจะแน่ใจว่าอยู่ร่วมกันได้จริงจึงจะแต่งงานจดทะเบียน และมีบุตรธิดาร่วมกัน และอยู่ร่วมกันอย่างซื่อสัตย์และจริงใจต่อกัน
หนทางสู่ความเป็นผู้นำ
หนทางไปสู่ความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องมีเส้นทางเดินของมัน เส้นทางในการแสดงออกที่เริ่มจาก reflection คือการได้มองย้อนสำรวจในหลายๆสิ่ง ได้มีโอกาสหยุดคิด ซึ่งในท้ายที่สุดนำไปสู่การต้องมีความเป็นผู้นำ
ความเป็นผู้นำนั้นเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์ที่ผ่านการตรวจสอบและขัดเกลาเพื่อความเป็นตัวตนที่สมบูรณ์มีอยู่ 9 ประการ ที่ซึ่งต้องสร้างสมจากเบื้องต้นอย่างแน่นหนา จนสู่ในระดับสูงต่อกันมา เป็นคุณสมบัติในด้านการแสดงออก หรือที่เรียกว่า means of expression ซึ่งจะเป็นขั้นตอน 9 ลำดับอันนำไปสู่ความเป็นผู้นำที่สมบูรณ์ดังต่อไปนี้
- การหวลระลึก (Reflection)
- การหาข้อสรุป หรือข้อยุติในชีวิต (Resolution)
- การมีสายตากว้างไกล (Perspective)
- การมีทัศนะและความคิดเห็นที่เป็นของตนเอง (Point of view)
- การทดสอบ และการวัด (Tests and measures )
- การรู้ความปรารถนาของตน (Desire )
- การมีความสามารถที่จะทำหน้าที่ได้จริงจัง (Mastery)
- ความสามารถที่จะคิดในเชิงกุศโลบาย (Strategic thinking )
- การสัเคราะห์สิ่งที่แสดงออกในแปดข้อแรกรวมกัน (The synthesis of full self-expression)
ซึ่งทั้งหมดนี้รวมกันก็จะกลายเป็นความเป็นผู้นำ (leadership) นั้นเอง ต่อไปนี้จะได้อธิบายถึงความหมายและแนวคิดในแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียดต่อไป
การตรวจสอบย้อนระลึก
การที่ได้มีเวลาในแต่ละขณะที่จะได้ตรวจสอบย้อนไปในสิ่งที่ได้คิด (Reflection) หรือทำในอดีต บางส่วน อาจถูก บางส่วนอาจผิด แต่การได้ตรวจย้อนไปในอดีตเป็นระยะในชีวิตนี้ จะช่วยทำให้เราได้มีโอกาสใน "การหาข้อสรุปบางประการ" จากชีวิต การตรวจสอบย้อนระลึกนั้น ถ้ามองอย่างเป็นรูปธรรม เป็นความจำเป็นเหมือนเครื่องบินที่ต้องมี "กล่องดำ" แต่การตรวจสอบย้อนระลึกมีได้มองไปที่ความผิดในอดีตเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการที่เราจะได้รู้จุดเด่น และได้รู้ในส่วนที่เป็นไปนอกตัวเราด้วย
เหมือนการได้ไปดูกระจกเงาที่จะสะท้อนความเป็นตัวตนออกมา แต่ในทางสังคม เราไม่มีกระจกเงาที่เป็นวัตถุใดๆ อันจะสะท้อนความเป็นตัวตนทางด้านจิตใจออกมาได้เหมือนกระจกเงา
การเขียนบันทึก ประจำวัน หรือการมีแผนงานประจำวัน ที่ได้มีหลักฐานเอาไว้
การหวนระลึกในส่วนที่อาจสำคัญมากๆ แต่เราไม่ได้เขียน แต่บางทีก็ติดอยู่ในใจลึกๆ ยามเมื่อเรามีจิตสงบ บางทีคำเตือน คำสอนที่เราไม่ยอมฟังในขณะนั้น ก็อาจผลุดขึ้นในบรรยากาศที่เราคิดย้อนไปเอง ไม่เป็นการเสียหน้า หรือความรู้สึกต่อหน้าคนจำนวนมาก แต่ที่สำคัญจะต้องเริ่มด้วยความจริงใจต่อตนเองให้ได้เสียก่อน
การได้มีโอกาสมีเวลาที่ไม่ต้องวุ่นพะวงกับกิจกรรมงานประจำวัน หาเวลาว่างๆ ได้มีโอกาสเข้าไปนั่งสงบๆ ในที่ๆเอื้อให้เราได้มีโอกาสคิด
การเกิด : การเคยได้เกิดความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ไปนั่งทำงานกับเลี้ยงเด็กอ่อนในสลัม
การเจ็บ : การได้ไปเยี่ยมญาติ เยี่ยมเพื่อน ลองได้มีโอกาสลองเดินไปทั่วๆโรงพยาบาล หรือแม้เมื่อตัวเราเองได้เกิดการเจ็บป่วยขึ้น
การแก่ : การไปเยี่ยมสถานคนชรา การได้มีโอกาสอยู่ใกล้ญาติผู้ใหญ่ ได้มีโอกาสได้ฟัง ได้รับใช้ให้บริการ หรือการได้มีโอกาสพูดคุยด้วยนานๆ
การตาย : การได้ไปงานศพ แทนที่จะใช้เวลาพูดคุยกับคนหรือเพื่อน ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติโดยทั่วไปได้มีโอกาสใช้ช่วงเวลานั้นให้เกิดการระลึกถึงมรณานุสติ การทำความเข้าใจในสภาพสัจจธรรมของการเกิด การแก่ การต้องเจ็บป่วย และการหนีไม่พ้นความตาย
ประสบการณ์ในชีวิตมากมายที่ทำให้เราเกิด "การหวนระลึก" เช่น
การได้ไปทำงานกับเด็กมีปัญหาในสังคม ได้มีโอกาสมองสะท้อนมาถึงความหมายของชีวิต การได้มีโอกาสหันมาตรวจสอบตนเองเพิ่มขึ้น
การเป็นแพทย์ที่ได้ทำงานและเห็นการเกิด แก่ การเจ็บ และการตายของคนจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา
การได้ไปอยู่ในสภาพธรรมชาติที่ปราศจากการปรุงแต่ง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ระลึกถึงวิถีชีวิตที่เป็นธรรมชาติ
การได้กลับไปเยี่ยมโรงเรียนเก่า หมู่บ้านเก่า บ้านที่เคยเกิด การได้ดูภาพเก่าๆในอดีต ภาพของครอบครัว ญาติ เพื่อนๆ มนุษย์นั้นสำคัญที่ได้มีโอกาสคิดไปไกลๆในอนาคต แต่ก็มีบางช่วงที่สำคัญเช่นกัน ที่เราควรได้มีโอกาสได้หันกลับไปสำรวจตัวเอง โดยมองย้อนกลับไปในอดีต ทำความเข้าใจในความเป็นตัวตนขึ้นมา
การย้อนระลึกในความหมายของนักจิตวิทยาบางท่านหมายถึงการทำให้สิ่งที่เป็นจิตใต้สำนึก (the unconscious) กลายเป็นสิ่งที่ปรากฏออกมาได้ (conscious)
การหาข้อสรุป หรือข้อยุติ
การหาข้อสรุป หรือข้อยุติ (Resolution) เป็นผลมาจากการได้มีการตรวจสอบย้อนอดีต บางคนอาจได้ข้อสรุปบางประการในชีวิต บางคนผ่านเหตุการณ์บางอย่างที่ได้ทำให้ตนเองพอสรุปความเป็นตัวตนได้ว่าชอบ หรือไม่ชอบอะไรถนัด หรือไม่ถนัดอย่างไร
นักฟิสิกส์ Neils Bohr กล่าวว่า ในโลกนี้มีความจริงอยู่สองแบบ แบบหนึ่งเป็นความจริงเล็กๆย่อยๆ แต่อีกแบบหนึ่งคือความจริงที่เป็นเรื่องใหญ่ (Bennis, 1989 หน้า 120)
การเรียนรู้แบบจับผิดคนนั้นก็เป็นเรื่องของการหาข้อเท็จจริงเล็กๆน้อยๆ แล้วบางครั้ง เราก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ เช่นสามีภรรยาทะเลาะจนต้องเลิกล้างกัน ก็เพราะไปมุ่งเน้นการจับความบกพร่องในส่วนเล็กๆ ให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ เช่น
- ไม่ชอบเขาในเรื่องบีบยาสีฟัน ทำไมบีบตรงกลาง ทำไมไม่บีบมาจากทางท้าย
- ทำไมชอบนอนกรน หรือนอนขี้เซา อย่างนี้ขโมยเข้า หรือไฟไหม้ ก็ต้องเดือดร้อนกันไปหมด
- ทำไมจึงแต่งตัวนานเหลือเกิน เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
- ทำไมเขาจึงพูดจาหยาบคาย สบถบ่อยๆ ทำไมเขาเป็นคนไม่ช่างพูดคุยเสียบ้างเลย
Conflicts | Resolutions |
Blind trust vs. Suspicion | Hope |
| Autonomy |
Initiative vs. Imitation | Purpose |
Industry vs. Inferiority | Competence |
Identity vs. Confusion | Integrity |
Intimacy vs. Isolation | Empathy |
Generosity vs. Selfishness | Maturity |
Illusion vs. Delusion | Wisdom |
เรื่องที่พบว่านำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัวเป็นอันมาก และบางทีก็นำไปสู่การหย่าร้าง ก็เป็นเพราะเรื่องเล็กๆเหล่านี้ คนร่วมพรรคการเมืองก็แตกกันอยู่กันไม่ได้ ก็เพราะความแตกต่างในประเด็นย่อยทางการเมืองในระหว่างพวกที่ก็คิดเหมือนกันแล้วนั้นเอง
อะไรที่เป็นเรื่องความจริงอันเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิตเรา คนบางคนมีปัญหาในครอบครัว เพราะการนำเรื่องเล็กไปทำเป็นเรื่องใหญ่ พยายามไปควบคุมสิ่งที่ควรจะปล่อยให้เป็นความแตกต่างระหว่างมนุษย์ พยายามทำให้เขาอื่นต้องคิด ต้องประพฤติปฏิบัติให้เหมือนตน ซึ่งสัมพันธภาพเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นกับสามี ภรรยา ลูกๆ หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ล้วนแต่จะไปสร้างปัญหา แต่มีอะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องที่สำคัญ และเขาควรได้รับรู้รับทราบควรได้ทำความเข้าใจกัน แต่กลับไม่ได้สนใจ หรือไม่กระทำ ซึ่งเรียกว่าไม่รู้จักว่าอะไรเป็นเรื่องเล็ก อะไรเป็นเรื่องใหญ่
อะไรคือเรื่องใหญ่ในชีวิตที่เราควรสรุปให้ได้บทเรียน
- เราเกิดมาทำไม เราดิ้นรนเล่าเรียน เหนื่อยยากสะสมทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศ ทั้งหมดนี้เพื่ออะไร
- เราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร เรามีศักยภาพที่จะทำอะไร
- อะไรคือจุดอ่อนของเราที่ได้กลายเป็นธรรมชาติไปแล้ว มันแก้ไขอะไรไม่ได้มากนัก เราจะเรียนรู้ที่จะอยู่ไปกับมันอย่างไร
- เราจะมีสัมพันธภาพกับครอบครัว เพื่อน คนในสังคมอย่างไร อะไรทำให้เราคิดเช่นนั้น
- อะไรคือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต
และเมื่อเราตระหนักถึงสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติของตัวเรา ของสรรพสิ่ง แล้วเราจะวางแนวทางของชีวิตอย่างไร
การมองเห็นการณ์กว้าง
การมองเห็นการณ์กว้าง (Perspective) การหาข้อยุติ หรือการสรุปจากเหตุการณ์ ในหลายๆแง่มุมเข้าก็จะทำให้คนเริ่มเห็นกว้างไกล กลายเป็นการรับรู้ในขอบเขตที่กว้าง ซึ่งก็จะเป็นคุณสมบัติแห่งตนที่ได้พัฒนาขึ้น ยิ่งสามารถมีข้อสรุปมากเท่าใด การมองสรรพสิ่งก็จะเป็นไปอย่างกว้างขวาง ไม่คับแคบ และเมื่อเห็นมามาก มองได้กว้างก็จะเริ่มเกิดสิ่งที่เป็นทัศนะเฉพาะของตนเอง ซึ่งจะแตกต่างไปจากคนอื่นๆ
ท่านเป็นคนมีโลกทัศน์อย่างไร ท่านลองตรวจสอบตนเองจากคำถามดังต่อไปนี้
1. เมื่อท่านมีโครงการใหม่ ท่านคิดถึงค่าใช้จ่ายหรือว่าผลประโยชน์ของโครงการนั้นก่อน
2. ท่านให้ความสำคํญที่กำไร หรือว่าความก้าวหน้า อะไรมากกว่ากัน
3. ท่านอยากเป็นคนรวยหรือเป็นคนมีชื่อเสียง
4. ถ้าท่านได้รับได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่ทำให้ต้องย้ายไปอยู่เมืองอื่น ท่านจะปรึกษากับครอบครัวก่อนที่จะรับงานนั้นหรือไม่
5. ท่านต้องการเป็น "ปลาเล็กในบ่อใหญ่ หรือว่าปลาใหญ่ในบ่อเล็ก
(Bennis, 1989, หน้า 121-122)
ไม่มีความถูกหรือผิดสำหรับคำถามเหล่านี้
การสอนทางธุรกิจนั้นไม่สามารถสอนหลักจริยธรรมทางการค้าได้ แต่การสอนให้คนได้มองเห็นการณ์ไกล และไม่คิดอะไรอย่างหวังผลประโยชน์เพียงคับแคบ หรือเพียงระยะสั้น ให้สามารถมองความเป็นเหตุ ปัจจัย และความเป็นผลของการกระทำนั้นๆ อย่างน้อยท้ายสุดก็นำมาซึ่งจริยธรรมทางการค้าได้ในระดับหนึ่ง คำถาม
การทำกิจการป่าไม้โดยไม่มีการปลูกไม้ใหม่ทดแทน
การปลูกไม้ในป่าแบบพืชเดี่ยว เช่นยูคาลิปตัสนับเป็นแสนๆไร่นั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบอะไรบ้าง
การเกิดทัศนะที่เป็นของตนเอง
การเกิดทัศนะที่เป็นของตนเอง (Point of view) ถ้าคำว่า point of view แปลตรงตัวในภาษาอังกฤษก็คือ การมองอย่างมีจุด หรือมี focus นั่นคือเมื่อเราเริ่มมองในประเด็นอะไร เราก็จะสามารถมีทัศนะที่เป็นของตนเองต่อสิ่งนั้น เกิดความเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ชอบ หรือไม่ชอบในการกระทำ หรือสิ่งที่เป็นไปแบบนั้น ผู้เขียนเคยลองสังเกตนิสิตนักศึกษาเป็นอันมาก เขาสนใจอ่านค้นคว้างานต่างๆได้ การทำรายงานก็ทำได้ในลักษณะนำสิ่งที่ได้อ่านหรือ ค้นคว้ามาบอกได้ว่า นักวิชาการ หรือนักคิดต่างๆนั้นเขามีความเห็นกันอย่างไร แต่แล้วส่วนใหญ่ของนักศึกษานั้น จะมีจุดอ่อนก็คือ เขาไม่สามารถบอกความคิด หรือทัศนะที่เป็นตัวของเขาเองได้
การเกิดทัศนะที่เป็นตัวของตัวเองนั้นไม่ใช่จะต้องมีหรือแสดงทัศนะต่อสรรพสิ่งในโลก ไม่ใช่การที่จะต้องไปตัดสินในสิ่งต่างๆในความถูกความผิดของคนอื่นๆมากมาย ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับตน แต่ตนเองนั้นจะต้องรู้ประการหนึ่งก็คือการได้มีทัศนะต่อความเชื่อขั้นพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของเรา สิ่งที่จะเป็นปรัชญาในการทำงาน การใช้ชีวิตในครอบครัว ต่อเพื่อน ต่อสังคม หรือต่อประเทศชาติ ซึ่งเราต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง
ต่อความผิดชอบชั่วดี ในสรรพสิ่งที่มีอยู่ และสักวันอาจเป็นส่วนชี้นำในพฤติกรรมของตนเอง
ต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง ซึ่งเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะประชากรของประเทศ
การวัดและการตรวจสอบทัศนะเหล่านั้น
ในทางวิชาการศึกษานั้นแยกระหว่างการทดสอบ (tests) การวัด (measures) และการประเมินผล (evaluation) เอาไว้เป็นปฐมบทของการเรียนในวิชาการวัดและประเมินผล
การทดสอบโดยทั่วไปจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เช่น ถ้าจะวัดอุณหภูมิของสิ่งของเราก็ต้องมีเทอร์โมมิเตอร์ ซึ่งขึ้นอยู่กับการทดสอบ หรือวัดนั้นว่าในระดับอุณหภูมิที่เท่าไร วัสดุที่จะวัดอุณหภูมินั้นเป็นเช่นไร ถ้าใช้ผิดเครื่องมือก็ไม่ได้ผล เช่น ถ้าท่านจะลองเอาปรอทวัดไข้ไปวัดว่าน้ำชงกาแฟเดือดพอร้อนพอแล้วหรือยัง ปรอทวัดไข้นั้นก็จะทนความร้อนในระดับนำเดือดไม่ได้ จะแตกเสียหายก่อน
การทดสอบนั้นจำเป็นต้องมีการวัดเกิดขึ้น (measures) และการวัดนั้นจะมีมาตร หรือมาตรฐานขึ้นมารองรับ เช่นในการวัดอุณหภูมิ เราจะมีระบบ celcius หรือ farenheit เป็นมาตรฐานในการวัด ถ้าเป็นน้ำหนักก็จะมี ระบบเมตริก หรือระบบอังกฤษ pound เป็นมาตรฐาน
แต่การวัดนั้นจะยังไม่ใช่การประเมิน เพราะการประเมินนั้น จะต้องถามว่าโดยใช้หลักอะไร เช่น การจะบอกได้ว่าคนๆหนึ่งนั้นอ้วนหรือผอม คงจะใช้น้ำหนักอย่างเดียวเป็นตัวกำหนดไม่ได้ คงต้องใช้มาตรฐาน หรือวิธีการประเมินมาประกอบ เช่นความหนาของผิวหนังบริเวณหน้าท้อง หรือใต้ท้องแขน
การทดสอบตนเองนั้นส่วนหนึ่งก็ใช้มาตรฐานที่มีอยู่แล้วหรือที่สังคมกำหนดเป็นมาตรวัดได้ เช่นการวัดความสามารถทางวิชาการ เช่นเรียนมาแต่เด็กจะพบว่าเก่ง หรือชอบในบางวิชาที่เรียน แต่ในบางวิชาทำได้ด้วยความยากลำบาก คนบางคนด้วยรูปร่างและโครงสร้างร่างกาย สามารถเล่นกีฬายิมนาสติกได้ดี แต่เป็นนักกระโดดสูงไม่ได้ บางคนมีกล้ามเนื้อมากวิ่งระยะสั้นได้ดี แต่จะเป็นนักวิ่งระยะไกลไม่ได้ดี เหนื่อยง่าย
การทดสอบและประเมินคุณสมบัติบางอย่างเป็นเรื่องทียากกว่า และเราจะไม่รู้จนกว่าจะเผชิญกับสถานการณ์นั้นจริง เช่น
เยาวชนเป็นอันมากไม่รู้ว่าตนถนัดเป็นแพทย์หรือไม่ จนกระทั่งได้เริ่มการต้องผ่าสิ่งมีชีวิต การเห็นและต้องสัมผัสเลือด หรือสิ่งที่มีเชื้อโรค บางคนอยากเป็นวิศวกร แต่จะไม่ตระหนักจนกระทั่งได้สัมผัสกับงานวิศวกรที่มือยังต้องเปื้อนน้ำมัน จะต้องเข้าไปจัดการกับคนในระดับรองลงมา ที่ก็ต้องใช้ความสามารถและทักษะมนุษย์ด้วย
เราจะไม่รู้คุณสมบัติลึกๆของมนุษย์จนกว่าเราจะต้องผ่านสถานการณ์บางอย่าง ในการเรียนการสอนสมัยใหม่ ได้มีความพยายามสร้างสถานการณ์จำลองที่ทำให้มนุษย์ได้เข้าไปสู่สถานการณ์บางอย่างที่ไม่สามารถเสี่ยงเข้าไปทดสอบได้ เช่น การหัดขับเครื่องบินด้วยหัวเครื่องบินจำลอง ในโลกที่เทคโนดลยียุคใหม่ก้าวหน้าไปมาก การสร้างความจริงสมมุติจะเป็นไปได้มากขึ้น อย่างเช่นการใช้คอมพิวเตอร์สร้าง visual reality สร้างภาพที่ทำให้เราได้มีโอกาสเห็นในสิ่งที่เราไม่สามารถเห็นได้
แต่การวัดในสิ่งที่ทำให้เรารู้จักการพัฒนาตนเองได้มากทีสุด คือการต้องได้ลองอย่างที่เรียกว่า ถ้าไม่ลองเองก็ไม่รู้
การวัดและการตรวจสอบทัศนะเหล่านั้น (Tests and measures) ทัศนะหลายๆประการจะเป็นทางเลือกในชีวิต และประสบการณ์ในชีวิตที่มีหลากหลายก็จะทำให้ทางเลือกนั้นยิ่งกว้าง จนบางครั้งไม่รู้อะไรคือสิ่งที่ดีหรือไม่ดีที่สุดสำหรับตน ดังนั้นจึงต้องมีคุณสมบัติประการหนึ่งขึ้นมารองรับ คือการสามารถวัด และประเมินได้ สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ดี ดีกว่า และอะไรที่ดีที่สุด และในสถานการณ์อย่างไร การจะวัดหรือประเมินได้อย่างมีคุณภาพ ก็เพราะว่าเราได้มีข้อมูลความรู้ความเข้าใจในสิ่งนั้นๆอย่างเพียงพอ กว้างพอ ไม่ใช่เป็นการไปประเมินทันที
ข้อทดสอบแรก
คือการต้องรู้ว่าตนเองต้องการอะไร รู้ความสามารถ และสถานะที่จะทำ และต้องตระหนักในความแตกต่างระหว่าง 2 คำนี้ คนบางคนมีความสามารถที่จะทำอะไรได้หลายอย่าง แต่เขาไม่อยู่ในสถานะที่จะเรียนรู้ที่จะทำในทุกๆอย่าง คนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่รู้ว่าตนเหมาะที่จะทำอะไรที่สุด
Gloria Steinem ศิลปินชื่อดังให้ความเห็นว่า การเป็นนักออกแบบอย่างที่เธอเป็นอยู่นั้น เธอไม่มีโอกาสได้คิดย้อนหลังมากนัก เธอใช้วิธีการลงมือแสดง หรือทำไปเลย หรือพูดไปเลย และด้วยสไตล์ของเธอ และวิชาชีพศิลปินอย่างเธอคือการต้องมองไปในอนาคต เธอมองเห็นการเรียนก็คือการได้มีโอกาสทำไปเลยในขณะที่ความคิดยังโลดแล่น เสร็จแล้วเมื่อได้เรียนแล้วก็เหมือนกับการได้มาอยู่บนที่ราบสูงนั้น มันก็ยังราบเรียบ และเธอก็จะต้องหาทางกระโดดต่อไป และการกระโดดต่อไปของเธอนั้นเองคือการเรียนรู้
เทพ โพธิ์งาม ศิลปินตลกชื่อดังได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า การแสดงของเขานั้นเขาไม่เคยเตรียมอย่างเป็นระบบ และใครที่จะเข้าร่วมวงกับเขานั้น ก็จะต้องขึ้นไปบนเวทีพร้อมกับบทที่มีก็เพียงคร่าวๆ แล้วก็ต้องไปใช้ไหวพริบตอบโต้กันบนเวทีนั้นเอง และทุกครั้งทีเขาขึ้นเวที เขาก็ยอมรับว่ามีความหวาดกลัว กลัวว่าแสดงแล้วคนดูจะไม่ชอบ กลัวจะไม่เป็นที่ประทับใจ ตลกคาเฟ่หลายคนที่ประชาชนชื่นชอบตามไปดูในที่ต่างๆนั้น เขาก็อาศัยการต้องเตรียมความพร้อมเอาในขณะแสดง ไม่สามารถแสดงตามบทได้ บางครั้งเตรียมเรื่องมาอย่างดีแต่แสดงแล้วฝืดก็มี บางทีไม่ได้เตรียมอะไรมา แต่มุขตลกดีๆใหม่ๆก็ออกมาเองตามธรรมชาติ และมุขตลกนั้นก็สามารถนำไปใช้ได้ต่อๆไป
การศึกษาจากศิลปินหลายคน เขาก็จะเรียนรู้กันด้วยวิธีการเช่นนี้ คือต้องได้แสดงออกไปเลย แต่ได้มีโอกาสแสดงบ่อยๆ
เฉินหลง ดาราภาพยนตร์ชื่อดังชาวฮ่องกง นักแสดงหนังตลกประเภทบู้และเจ็บตัว โดยที่ไม่ใช้ตัวแสดงแทน และเป็นผู้กำกับหนังเองด้วย ได้ให้ทัศนะว่า เขาจะไม่ใช้เวลานานเกินไปในการเตรียมตัว ยิ่งนานก็จะยิ่งเครียด คิดพร้อมแล้วต้องลงมือทำเลย การแก้ความเครียดของเขาคือต้องพร้อมแล้วต้องรีบแสดงเลย แน่นอนเฉินหลงเป็นดาราที่เจ็บตัวมากที่สุดคนหนึ่งจากอุบัติเหตุ แต่เพราะสไตล์ของเขาเองที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ และอาศัยจังหวะในความพร้อมนั้นได้ลงมือทำไปเลย
ข้อทดสอบที่สอง
คือการต้องรู้ว่าอะไรคือ "แรงผลักดัน" (drive) และอะไรที่ทำให้เกิด "ความพอใจ" (satisfaction) เมื่อได้ทำสิ่งนั้น คำสองคำนี้ไม่เหมือนกัน
Roger Gould ซึ่งในภายหลังได้กลายเป็นนักจิตวิเคราะห์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงได้เคยกล่าวว่า
"ผมเคยจำได้ว่าเคยฝันอยู่บ่อยๆว่าผมกำลังจะได้มีโอกาสช่วยชีวิตคนทุกคน ไม่ใช่เพียงตัวผมเอง แต่หมายถึงทุกคน ซึ่งตอนนั้นผมอายุเพียง 12 หรือ 13 ปีเท่านั้น" และนั่นก็เป็นความฝันที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการจะเป็นจิตแพทย์ที่ทำงานรักษาผู้มีปัญหาทางด้านจิตใจ
John Sculley นักบริหารที่ปราดเปรื่องในกิจการคอมพิวเตอร์ และเป็นประธานของบริษัทแอปเปิล ได้ให้ทัศนะที่สะท้อนบุคลิกของเขาตั้งแต่เยาว์วัยว่า
ผมมักจะมีความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ทุกๆสิ่งทีเดียว สนใจอีเลคโทรนิคระยะหนึ่ง แล้วก็สนใจศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลปะ สถาปัตยกรรม และอีกหลายๆอย่าง และเมื่อผมสนใจอะไรก็จะพยายามศึกษาดื่มด่ำไปกับสิ่งนั้นอย่างลึกซึ้ง และทำจนกระทั้งหมดแรงก่อนที่จะสนองความอยากได้ ผมไม่เคยคิดที่จะเป็นนักธุรกิจ มันเป็นสิ่งที่อยู่ไกลผมมาก ผมคิดว่าอยากจะเป็นนักประดิษฐ เป็นสถาปนิก หรือไม่ก็นักออกแบบ ผมสนใจในสิ่งที่เป็นภาพออกมา ผมมักเป็นคนสนใจในเรื่องความคิด และรู้สึกสบายๆที่จะทำงานที่ต้องใช้พื้นฐานทางแคลคูลัส หรือไปจนกระทั่งการสถาปัตยกรรม คนบางคนพบความถนัดและพรสวรรค์ตั้งแต่ยังเยาว์ เขาก็ได้มีโอกาสเริ่มทำในสิ่งที่ตนรักอย่างมีความสุข และนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต แต่ก็มีหลายคนเป็นอันมากที่ได้ถูกผลักดันตั้งแต่ยังเยาว์ให้แสวงความเป็นเลิศ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การเป็นศิลปิน การเป็นนักกีฬา แต่แล้วเขาจะมาพบว่าแท้จริงแล้วเขายังไม่ชอบ ยังอยากจะได้ลองสิ่งอื่นๆอีก แต่ก็ไม่มีโอกาส บางคนประสบความสำเร็จในอาชีพ แต่ก็ไม่มีความสุข บางคนทั้งไม่ประสบความสุข และก็ไม่มีความสำเร็จในชีวิต ซึ่งไม่ใช่เพราะความสามารถ แต่เป็นเพราะใจของเขา
ข้อทดสอบที่สาม
คือการรู้ว่าตัวท่านเองมีค่านิยมและลำดับความสำคัญของ "ตนเอง" อย่างไร และรู้ว่าคุณค่าและลำดับความสำคัญของ "องค์การ" ท่านนั้นเป็นเช่นไร และสามารถวัดความแตกต่างระหว่างส่วนที่เกี่ยวกับตัวท่าน และส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรของท่าน เพราะสองสิ่งนี้ไม่เหมือนกัน
รู้จักตนเอง รู้จักจังหวะ และความสามารถของตน... แต่บางทีก็อาจไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ยังไม่รู้จักจังหวะ (sync) ของสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ที่สำคัญคือเพื่อนร่วมงาน หน่วยงานหรือองค์การที่ทำอยู่
คนเป็นอันมากที่เมื่อจบการศึกษามาแล้ว เมื่อเข้าสู่งานก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานนั้นๆ โดยบางที่ยังไม่สามารถเข้าใจในความเป็นไปขององค์การนั้นๆ ไม่เข้าใจถึงความต้องการของตนเอง ยังไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร และขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าองค์การนั้นต้องการอะไร มีปรัชญาหรือวัฒนธรรมในการทำงานอย่างไร แต่พอทำๆไปก็จะเริ่มรู้ว่าตนชอบหรือไม่ชอบ ความต้องการของตนนั้นตรงหรือไม่ตรงกับขององค์การ บางครั้งเขาจะรู้ว่า เขามีความไม่พอใจ แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร
คนบางคนไม่ประสบความสำเร็จในการทำงานในองค์การ มีการเปลี่ยนงานหลายครั้งกว่าที่ท้ายสุด เขาจะได้พบศักยภาพแท้จริงของตนเองว่าเขาต้องการอะไร และเมื่อใดที่ความต้องการของเขา และศักยภาพของเขาตรงกับความต้องการขององค์การ เมื่อนั้นก็เหมือนกับการได้ผสมสูตรเคมีที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำมาซึ่งความสำเร็จทั้งของเขา และทั้งขององค์การ
ข้อทดสอบที่สี่
คือการต้องรู้ในความแตกต่างของสองสิ่งสองด้านของที่กล่าวมาแล้วใน 3 ข้อแรก นั่นคือต้องรู้ในสิ่งทีต้องการ และสิ่งที่สามารถทำได้ รู้ระหว่างความอยากและความพอใจ ระหว่างค่านิยมของตัวท่านและขององค์กรที่ท่านเกี่ยวข้อง และในท้ายสุดคือต้องสามารถที่จะรู้และขจัดความแตกต่างของสองสิ่งที่อาจไม่เหมือนกันนี้ได้
(Bennis, 1989, pp.122-128)
ความปรารถนา
ความปรารถนา (Desire) และเมื่อเรารู้ว่าสิ่งใดดี หรือไม่ดี เราชอบหรือไม่ชอบแล้ว นั่นแหละ เราควรจะต้องมีแรงปรารถนา ความอยากที่จะทำ ดังได้เคยนำเสนอแล้วว่า "ความปรารถนา" นั้นแตกต่างจาก "ความอยาก" ความปรารถนานั้นเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น อยากให้เกิด โดยแม้บางครั้งมันไม่ได้นำมาซึ่งความร่ำรวย ความมีชื่อเสียงเกียรติยศเฉพาะของเราเอง แต่เพราะเราจะมีความสุขใจที่สามารถทำ ได้แสดงออกในสิ่งที่มีความหมายในระดับที่สูง ความปรารถนาในที่นี้ไม่ใช่เป็นเจตนาที่จะครอบครอง แต่เป็นสิ่งที่หวังว่าจะได้เห็นหรือได้กระทำบางอย่าง หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ความปรารถนานั้นเป็น "ความอยากในขั้นสูง" ก็อาจไม่ผิดนัก
ลักษณะของความปรารถนา ซึ่งจัดเป็นความอยากระดับสูงนั้น หมายความดังต่อไปนี้ คือ
1.การเป็นสิ่งที่เกิดจากภายในตนเองมากกว่าเกิดจากการกดดันจากภายนอก และเป็นไปตามธรรมชาติ ลองดูตัวอย่างและหาข้อสรุปจากสิ่งต่างๆต่อไปนี้
ลองสังเกตนักวิ่งระยะไกลของเคนย่า ที่ลงแข่งที่ไหนก็ชนะที่นั่น และเวลาชนะแต่ละครั้งนั้นก็ชนะแบบยกทีมก็มี พวกเขาทั้งซ้อมวิ่งและแข่งขันได้อย่างมีความสุข เหมือนเป็นวิถีชีวิตของเขา ได้มีความสนุกกับการออกกำลังกาย และประเทศนี้ไม่เคยขาดแคลนนักวิ่งระยะกลางและระยะไกลที่มีความสามารถเลย แม้คนรุ่นหนึ่งร่วงโรยไป ก็จะมีคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งไม่เหมือนกับกีฬาวิ่งมาราธอนในหลายประเทศ เช่นในประเทศไทย แม้พูดถึงการวิ่งระยะกลางและระยะไกลอย่างมาราธอนนั้น นักกีฬาก็ขนหัวลุกแล้ว เพราะระยะทางไกลมากๆนั้น ถ้าคนไม่ชอบจริงๆแล้วมันจะเป็นความทรมานมาก และยิ่งในการซ้อมแต่ละวันก็จะต้องเป็นโปรแกรมที่หนักมาก ซึ่งถ้าคนไม่รักจริงก็จะกลายเป็นการทรมานสังขารเลยทีเดียว ในประเทศญี่ปุ่นในสมัยต้องการประกาศความเป็นเลิศในการกีฬา และการก้าวเข้ายุคใหม่ของสังคมญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในราวปีค.ศ. 1960 นั้น มีนักวิ่งมาราธอนชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่นคนหนึ่ง ซึ่งเขาเป็นความหวังของคนทั้งประเทศ เพราะว่าวิ่งได้ดีที่สุดในประเทศขณะนั้น แต่ก็ยังไม่เคยบรรลุความเป็นสุดยอดในการแข่งขันระดับโลก และด้วยแรงกดดันอย่างมาก วันหนึ่งเขาได้ฆ่าตัวตายเพื่อหนีแรงกดดัน และระบายความรู้สึกเก็บกดและความเหนื่อยยากที่สุดจะทนของกิจกรรมการวิ่งนั้น และขอโทษต่อประชาชนชาวญี่ปุ่นที่ได้คาดหวังในตัวเขามากมาย
2. ความอยากที่เกิดขึ้นอย่างสืบเนื่องยาวนาน ไม่ใช่หวือหวาเป็นแฟชัน หรือความเพ้อฝัน เช่นเด็กเล็กๆถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร วันหนึ่งได้เล่นรถดับเพลิงกำลังสนุก ก็บอกว่าอยากเป็นตำรวจดับเพลิง แต่วันรุ่งขึ้นได้เล่นรถแข่งก็เลยบอกว่าอยากเป็นนักขับรถแข่ง เป็นต้น แต่แท้จริงแล้ว เขาก็ยังไม่รู้ว่าความปรารถนาแท้จริงของเขาคืออะไร
มีข้าราชการสายการแพทย์และสาธารณสุขท่านหนึ่งซึ่งได้เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า "อาจารย์ถ้ามีลูก ก็ขอให้เขาได้เรียนอย่างที่เขาอยากเถิด เพราะว่าเมื่อเราในฐานะพ่อแม่อยากให้เขาเรียนอย่างที่เราอยาก ท้ายสุดเขาก็ไม่มีความสุข" ท่านได้เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เป็นเด็กแล้วท่านอยากเป็นนักดนตรี เพราะเพียงได้เล่นไวโอลินเมื่อใดท่านก็มีความสุขแล้ว และตั้งแต่ตอนเด็กๆเป็นต้นมาก็มีพรสวรรค์ทางด้านนี้แล้ว แม้เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้อาศัยการดนตรีเป็นเครื่องมือหารายได้ในระหว่างเรียนไปด้วย เมื่อเวลาท่านพูดถึงดนตรีนั้นท่านพูดด้วยความสุข ได้พูดถึงเพื่อนร่วมรุ่นที่ได้ดำเนินอาชีพทางดนตรีอย่างจดจำได้ในทุกรายละเอียด วิจารณ์ได้ในทุกสไตล์การเล่น แต่เหตุที่ท่านได้เลือกเรียนทางแพทย์นั้นแท้จริงเป็นการสนองตอบความปรารถนาของมารดาท่าน ที่อยากจะเห็นลูกชายได้เป็นแพทย์ ได้มีคนนับหน้าถือตาในสังคม ท่านเรียนจนจบแพทย์จริง ได้ทำงานเป็นข้าราชการ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในฐานะข้าราชการ แต่ในชีวิตก็แทบไม่เคยจับเข็มฉีดยา และก็ไม่คิดว่าจะทำงานรักษาคนแบบซ้ำซากรายวัน แต่ในทางการดนตรีนั้น แม้ปัจจุบันก็ยังได้เล่นดนตรีอย่างที่อยาก ยังเล่นเป็นการคลายเครียด เล่นเพื่อแสดงสนุกๆ และก็ยังเล่นได้ด้วยความสุข
3. ความอยากที่เป็นความต้องการในระดับสูง ไม่ใช่เพียงระดับความต้องการทางด้านปัจจัยสี่ แก้วแหวนเงินทอง หรือชื่อเสียงเกียรติยศ ความชื่นชอบของคนในสังคม ความอยากในระดับนี้หมายถึงการได้รับการตอบสนองในความมีศักดิ์ศรี การทำงานให้ประสบความสำเร็จ การได้บรรลุสัจจการแห่งตน ทำในสิ่งที่พระเจ้าได้ประทานพรสวรรค์มาให้ทำ เป็นต้น ความอยากดังกล่าวนั้นอาจเป็นความต้องการที่ให้มีให้เกิดขึ้นอาจมิใช่เพื่อตนเอง แต่อาจเป็นความต้องการที่จะให้มีให้เกิดขึ้นในโลกและสังคมรอบตัว
มีเพื่อนของผู้เขียนท่านหนึ่งได้ให้คำจำกัดความของความอยากอย่างเป็นรูปธรรมว่า ถ้าสมมติว่าปรารถนาจะได้ดำรงตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้เพื่ออะไร ถ้าได้เป็นแล้ว ไม่ได้เงินเพิ่มขึ้น ไม่ได้เหนื่อยน้อยลง ไม่มีเกียรติยศหรือชื่อเสียงในทันทีทันใด อย่างนี้ยังอยากจะทำหน้าที่นั้นอยู่อีกหรือไม่ ถ้ายังอยากอยู่ ก็แสดงว่ามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าพอที่จะทำงานนั้น และเพราะความอยากในขั้นสูงนี้อยู่ในขั้นสูงกว่าเพียงแก้วแหวนเงินทอง ชื่อเสียงเกียรติยศ จึงทำให้มนุษย์สามารถทนกระทำในสิ่งที่ไม่ต้องแสวงหารางวัลชั่วแล่นในสังคม และจากภายนอก แต่เป็นพลังและรางวัลชีวิตที่ได้กระทำอันเกิดจากภายใน แม้ในช่วงที่ยากลำบากที่สุด ดูเหมือนถูกฟ้าดินหรือสังคมลงทัณฑ์ ก็สามารถมุ่งมั่นทำงานไปสู่เป้าหมายได้ และเพราะความอยากในระดับสูงเช่นนี้เองจะเป็นฐานไปสู่การเรียนรู้เพื่อให้สามารถทำในสิ่งที่ปรารถนาได้ ยิ่งเรามีความปรารถนาแรงกล้าเท่าไร ก็เหมือนเป็นไฟที่จะทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายปลายทาง ความที่อยากจะเป็นอยากจะทำ และได้ตรวจสอบดูแล้วว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่เลื่อนลอย แม้จะทำไม่ได้ ยังไม่รู้ ยังไม่มีความสามารถ แต่ก็พร้อมที่จะเรียนรู้ และพัฒนาไปสู่การมีความสามารถทำได้อย่างจริงจัง
ความสามารถ
ความหมายของ mastery ในทางการเป็นผู้นำ คือ "การที่เมื่อจะต้องทำงานบริหารนั้น เราจะมีความสามารถในการไปจัดการได้จริงหรือไม่" (A true sense of mastery of the task at hand) การมีความสามารถทำได้อย่างจริงจังนั้นในทางตะวันตกหมายถึง "การเป็นนาย" ในสิ่งนั้นให้ได้ เช่น การขี่ม้า ถ้าคนขี่ยังไม่เป็น ขึ้นไปนั่งบนหลังม้าพอได้ ไม่ถูกม้าดีดตก แต่ถ้ามีความสามารถมากขึ้นก็สามารถถือบังเหียนบังคับให้เดินไปสู่จุดหมายปลายทางได้ และการจะขี่ม้าได้อย่างดีนั้นจำเป็นที่จะต้องรู้จักม้า เข้าใจข้อจำกัดของม้า และแม้รวมไปถึงจังหวะของมันด้วย รู้พอที่จะผ่อนสั้นผ่อนยาว จนถึงในระดับรู้ใจม้า ซึงก็คือเป็นนายของม้านั้น คำว่า master หรือคำว่าความเป็นนายนั้น เขาใช้ในความหมายของ การศึกษาระดับหนึ่ง ซึ่งเทียบได้เท่ากับมหาบัณฑิต เช่น Master of Science แปลเป็นไทยอย่างตรงตัวเท่ากับคำว่า เป็นนายแห่งวิทยาศาสตร์ ในสมัยโบราณถ้าใครได้เป็นผู้คงแก่เรียนในระดับ Master ในสถานศึกษา หรือมหาวิทยาลัย นั่นแสดงว่าไม่ใช่เป็นนักศึกษาในระดับเด็กหัดใหม่แล้ว เป็นระดับที่ต้องมีความรู้ความสามารถจริง ซึ่งสามารถทำการสอนหรืออบรมให้ความรู้แก่คนอื่นๆได้
การเรียนรู้ของมนุษย์นั้นในทางการศึกษามีการจำแนกเอาไว้เป็น 3 ลักษณะ กล่าวคือ หนึ่ง การเรียนรู้เพื่อให้เกิดพัมนาการด้านวุฒิพิสัย (cognitive domain) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการด้านสติปัญญา ความรู้ความเข้าใจ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการตัดสินใจ ลักษณะที่สอง คือการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตพิสัย (affective domain) ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ ทำให้เกิดค่านิยม ทัศนคติ หรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นต้น และประการที่สาม คือ การเรียนรู้เพื่อให้สามารถทำได้หรือพฤติกรรม (psycho-motor domain) ซึ่งหมายถึงการที่เรียนรู้แล้ว สามารถทำในสิ่งต่างๆได้ ลองยกตัวอย่างให้เข้าใจ เช่น การเรียนรู้การขับรถยนต์นั้นมีได้ทั้งสามลักษณะ กล่าวคือ ถ้าเป็นการเรียนรู้ให้เข้าใจพื้นฐานการทำงานของเครื่องยนต์ กฏจราจร หรือจิตวิทยาของคนขับรถยนต์ เหล่านี้เป็นในระดับวุฒิพิสัย หรือเป็นในระดับการใช้ปัญญา แต่ถ้าสอนเพื่อให้เกิดความตระหนักในความรับผิดชอบของคนเมื่อต้องอยู่หลังพวงมาลัย การต้องมีความเอื้ออาทรยามต้องใช้รถใช้ถนนร่วมกันก็จัดเป็นการเรียนรู้ในระดับจิตพิสัย แต่ถ้าเรียนแล้วท้ายสุดต้องการให้ขับรถได้ สามารถใช้ขับเคลื่อนรถไปตามถนนได้ในระยะทางที่ต้องการ อย่างนี้ก็เป็นในระดับพฤติกรรมหลายระดับ แม้แต่การเรียนเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ หรือที่เขาเรียกว่าให้ได้ cognitive domain ก็ยังแบ่งออกได้เป็นหลายระดับเช่น
1. การเรียนเพื่อให้รับรู้ว่ายังมีสิ่งนั้นอยู่ในโลก เมื่อได้ฟังใครเขาพูด ก็สามารถบอกได้ว่าเคยได้ยินมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรลึกซึ้ง
2. การได้รับรู้แล้วเกิดความจำในสิ่งที่เขาพูดได้ เรียกว่ารู้แบบจำได้ แต่ก็อาจไม่มีอะไรลึกซึ้งไปกว่านั้นเหมือนกับการจำขี้ปากเขามาพูดต่อ บางทีก็เป็นประโยชน์ทำให้คนเชื่อถือได้ว่าเราเป็นคนรู้ แต่แท้จริงแล้วยังเป็นการรู้อย่างผิวเผิน
3. การเรียนรู้อย่างเข้าใจ ซึ่งอาจจะจำในรายละเอียดไม่ได้ แต่เข้าใจแนวคิด จำได้ในหลักใหญ่ๆ เช่น การได้เรียนเกี่ยวกับสรีระของมนุษย์ แต่จะให้จำแต่ละชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์นั้นคงเป็นไปได้ยาก แต่ก็เข้าใจในกลไกการทำงานของร่างกาย เข้าใจในจุดอ่อนจุดแข็งของโครงสร้างกระดูก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานอันจำเป็นในการใช้งานต่อไป
4. การเรียนรู้อย่างนำไปปฏิบัติได้ เช่นการเรียนไวยกรณ์ในภาษาอังกฤษมาแล้ว ก็สามารถประยุกต์ใช้ไวยกรณ์ส่วนนั้นในการแต่งประโยคเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง
5. การเรียนรู้อย่างชนิดต้องคิดวิเคราะห์ได้ เช่นการเรียนทางการบริหารในหลายมหาวิทยาลัยนั้น จะใช้กรณีศึกษาสำหรับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และหาทางวิเคราะห์ว่าทำไม่มันจึงเป็นเช่นนั้นเพราะอะไร
แต่การเรียนในประเภทเพื่อให้เกิดพุฒิพิสัย หรือ cognitive domain นั้น แท้จริงยังไม่ทำให้เกิดความสามารถในระดับที่เราเรียกว่า mastery เพราะการเรียนในลักษณะที่กล่าวมาแล้วนั้นยังไม่สามารถที่จะทำงานนั้นๆได้จริง ในทัศนะของผู้เขียนนั้น การเรียนรุ้ในระดับของ mastery นั้นจำเป็นจะต้องให้ได้ทั้งในสามระดับ ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมให้แก่กัน แต่ในทางการศึกษาในบ้านเรานั้นไม่ได้ทำให้บรรลุความเป็น "นายแห่งวิชา" ได้อย่างแท้จริง
การเรียนรู้บางอย่าง เรียนแล้วนำไปปฏิบัติไม่ได้ ไม่เกิดความมั่นใจ ผู้เขียนลองสังเกตดูการเรียนการ สอนหลายอย่างในมหาวิทยาลัยอาจจะขาดในข้อนี้ค่อนข้างมาก กล่าวคือ แม้เมื่อสอนกันจนจบหลักสูตร แต่ผู้เรียนก็ไม่รู้สึกมีความมั่นใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ในงานนั้นๆได้อย่างจริงจัง ปัจจุบัน การศึกษาเท่าที่พบเห็นก็เป็นเช่นนี้มาก เช่น
- การเรียนรู้บางอย่างผิวเผิน ไม่สุกงอม เช่นการพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีการกวดวิชา การเก็งข้อสอบ
- การเรียนรู้บางอย่างเป็นเพียงเรื่องของสไตล์ (Styles) แต่ไม่มีสาระ (Substance) เช่นเรียนรู้ทีจะแต่งกาย มีวิธีการพูดการจา การสังสรรค์เข้าสมาคม ทำตนเหมือนเป็นคนมีการศึกษา แต่ก็ไม่ใช่การศึกษาที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง
- การเรียนรู้บางอย่างเป็นของปลอม เช่นปริญญาบัตร ซึ่งบางทียังไม่รู้จริง เป็นเพียงการผ่านกรรมวิธี
- การเรียนรู้บางอย่าง เป็นเพียงการทำตาม โดยปราศจากการรู้จริงที่จะมีการเข้าใจ การวิเคราะห์ การวางแผนงาน และการลงมือทำ เช่นการเรียนทำกับข้าวตามตำรากับข้าว อย่างคนทั่วไป แต่คนที่เขาเรียนรู้จนเป็นพ่อครัวที่ยิ่งใหญ่นั้น เขาสามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนมาประดิษฐเป็นอาหารจานโปรด ที่ไม่จำเป็นต้องซ้ำหรือเหมือนเดิม
ลักษณะการเรียนอย่างทีกล่าวมานี้ยังไม่ถือเป็นขั้นที่ได้บรรลุความเป็นนายแห่งวิชาการได้ แต่ลองดูลักษณะของบุคคลที่มีชื่อเสียงที่เขาได้บรรลุความเป็นมืออาชีพในโลกของการทำงานของเขา เช่น
รูดอลฟ นูเรเยฟ หรือ บอริชนิคอฟ นักบัลเลท์ที่ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซียนั้น เขาไม่เพียงแต่เต้นไปตามเพลง แต่เขาสามารถสร้างรูปแบบที่เป็นตัวของเขาเองไปด้วย และนั่นคือความแตกต่างระหว่าง master กับคนหัดใหม่
ผู้กำกับการแสดงอย่างคุณาวุฒิ หรือนักแสดงอย่าง ส. อาสนจินดา ล้อต๊อก หรือสวง ทรัพย์สำรวย พิสมัย วิไลศักดิ์ ท่านเหล่านี้ได้บรรลุความเป็น master ของศาสตร์การกำกับและการแสดงของท่าน อย่างแท้จริงแล้ว
ในระดับนี้ ผู้เขียนใคร่สรุปว่า การถึงระดับมีความสามารถทำได้จริงนั้นจะต่างจากระดับการรู้ ซึ่งอาจเป็นการเรียนรู้ตามตำรา แต่ไม่สามารถทำได้จริง แต่ถ้าถึงระดับมีความสามารถแท้จริงแล้วต้องทำได้จริงด้วย และทำได้อย่างดี และการที่ท่านเหล่านี้ทำได้ดีเช่นนั้น มักจะเป็นผลมาจากการได้เรียนรู้ทั้งในด้านพุฒิพิสัย จิตพิสัย และทั้งทางด้านพฤติกรรม คือการปฏิบัติได้จริง
ย้อนกลับมาสู่บทบาทของความเป็นผู้นำ "อะไรคืองานของผู้นำอย่างเป็นระบบ" และเราต้องทำมันได้จริง
งานการเป็นผู้นำอาจมีความแตกต่างกัน เช่น การต้องคิดวางแผน การจัดการเกี่ยวกับคน การต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับการเงิน ในกรณีที่ต้องเข้าไปทำหน้าที่การจัดการด้วย หรืออย่างน้อยก็รู้ว่าจะเลือกคนมาทำงานด้วยได้อย่างไร งานการเป็นผู้นำคือต้องฝันเป็น และสามารถจัดการให้ฝันนั้นสานไปสู่ความเป็นจริงได้ สามารถตัดสินใจในสภาวะคับขันได้
การจะฝึกการเป็นผู้บริหาร หรือผู้นำและต้องทำให้ได้จริงนั้นจึงต้องอาศัยการได้ฝึกฝนจริง งานการนำนั้นอาจเรียนกันอย่างเป็นระบบได้ แต่ก็ไม่สามารถประกันความสำเร็จในการเรียนได้ ไม่เหมือนอาชีพช่างไม้ ช่างก่อสร้าง แพทย์ พยาบาล ซึ่งเป็นงานเน้นการปฏิบัติเฉพาะด้าน ซึ่งสามารถวางระบบการฝึกอบรมที่สร้างความสำเร็จในระบบการศึกษา สามารถทำงานนั้นๆได้จริงมากกว่า สำหรับการสร้างผู้นำให้สามารถทำได้จริงนั้น ไม่มีใครสามารถทำได้จริง ดังจะเห็นได้จาก
การต้องได้ผู้บริหารประเทศมีความสำคัญมาก แต่ก็ไม่มีโรงเรียนนายกรัฐมนตรี แต่การจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีได้นั้นมักจะต้องผ่านการเป็นผู้บริหารหน่วยงานมาในหลายระดับ ถ้าเป็นในระบบเผด็จการ การได้เป็นแม่ทัพอาจเป็นเส้นทางผ่านสู่การเป็นผู้นำประเทศ แต่ในสังคมประชาธิไตย เส้นทางนั้นก็คือ การเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร การได้ริเริ่มเป็นผู้นำเสนอกฏหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงในรัฐสภา การได้เคยผ่านงานผู้ว่าราชการจังหวัดในระบบเลือกตั้งมาก่อน
การได้ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นในระดับอธิการบดี คณบดี หรือหัวหน้าภาควิชา แต่กระนั้นก็ยังไม่มีโรงเรียนผู้บริหารมหาวิทยาลัย ไม่มีโรงเรียนคณบดี แต่อย่างไรก็ตาม การได้ผ่านงานการเป็นหัวหน้าภาควิชามาอย่างรอบด้านนั้นจะช่วย เตรียมพื้นฐานที่ดี การได้มีโอกาสเข้าไปนั่งฟังสภาพปัญหาการทำงานของคณะวิชาในระดับการเป็นกรรมการประจำคณะวิชาก็เท่ากับการปฐมนิเทศงานการบริหารคณะวิชาในมหาวิทยาลัยไปในตัว และการได้เข้าไปทำงานในตำแหน่งคณบดีก็จะเป็นการเตรียมพื้นฐานการเป็นอธิการบดีที่ดี และสำหรับคนที่เคยเป็นรองอธิการบดีที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานหลักของมหา-วิทยาลัย ก็จะเป็นส่วนที่ทำให้เข้าไปรับรู้ เข้าไปคิดริเริ่มงานในระดับที่ประชุมคณบดีของมหาวิทยาลัย และการเข้าไปร่วมรับฟังในระดับกรรมการสภามหาวิทยาลัย และการเป็นอธิการบดีในมหาวิทยาลัยขนาดเล็กก็จะได้โอกาสสำหรับการเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นอธิการบดีสำหรับมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่
นักบริหารที่เคยผ่านงานมาทั้งมหาวิทยาลัยแบบราชการ งานช่วยรัฐบาลส่วนกลาง และการได้กลายเป็นนักบริหารอาชีพและได้ประสบความสำเร็จอย่างดีในงานที่ผ่านมานั้น ท่านได้สรุปหลักสำคัญของการได้ประสบการณ์ที่สำคัญสำหรับการเป็นนักบริหารระดับสูงเอาไว้ว่า คือการต้องมี entrepreneurial spirit หรือกล่าวคือ การมีวิญญาณของผู้ประกอบการ คือการต้องได้ลงมือทำงานอย่างนั้นและรับผิดชอบทั้งระบบ ไม่ใช่เข้าไปเป็นกลไกเพียงส่วนใดของระบบนั้นๆแบบผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ใครต้องอยู่ในองค์การราชการที่เป็นแบบแผนมากๆก็จะขาดแคลน ทำให้เกิดการติดยึดในวิธีการคิดและการทำงาน
เพื่อนนักวิชาการท่านหนึ่งทีเข้าไปทำงานเป็นที่ปรึกษา (think tank )ให้กับองค์การขนาดใหญ่แห่งหนึ่งได้กล่าวว่า "สิ่งที่ท่านประธานบริษัทมีและสิ่งทีผมมีนั้นต่างกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ท่านไม่มีความรู้ลึกในทางวิชาการด้านใดด้านหนึ่ง ไม่มีความเข้าใจในรายละเอียดของวิทยาการนั้นๆ" ซึงสิ่งเหล่านี้ขาดหายไป ท่านประธานบริษัทจึงต้องจ้างนักเทคนิควิทยามาช่วย นักวิชาการท่านนั้นได้เสริมว่า “แต่สิ่งที่ท่านประธานมีแต่พวกผมขาดแคลน นอกเหนือจากความร่ำรวยในทรัพย์สินแล้ว คือการมี guts อันเป็นความกล้าได้กล้าเสีย กล้าตัดสินใจ” สิ่งเหล่านี้เป็นความจริง เพราะนักวิชาการทั้งหลายนั้นมักไม่คุ้นกับการทำงานอย่างต้องรับผิดชอบ และต้องตัดสินใจเอง
การคิดในเชิงกุศโลบาย
การสามารถคิดในเชิงกุศโลบาย (Strategic thinking) ได้นั้น จัดเป็นความสามารถที่ต้องแสดงออกอีก อย่างหนึ่งของผู้นำ การเป็นผู้นำนั้นจะต่างจากนักเทคนิควิทยาเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตรงที่ นอกจากจะทำอะไรทำอย่างรู้จริงแล้ว ผู้นำต้องรับผิดชอบต่อคนจำนวนมากๆที่ต้องอยู่ในสถานะผู้ตามนั้น เขารู้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ รู้เฉพาะอดีต หรือปัจจุบัน โดยไม่เข้าใจอนาคตไม่ได้ ผู้นำจึงต้องเป็นคนที่สามารถนำเอาคุณสมบัติที่ผ่านมาทั้ง 7 ประการนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อระบบสังคมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน องค์การ ชุมชน หรือประเทศ ทั้งนี้ โดยสามารถนำเสนอทางเลือกทางออกที่เป็นการคิด และคิดแบบรวบยอด อันสามารถกลายเป็นทางเดินอันถูกต้องให้แก่คนหมู่มาก ซึ่งต้องไม่ใช่การคิดฝันที่ไร้ฐาน แต่เป็นสิ่งที่มีการพัฒนามาอย่างเป็นลำดับ
การคิดในเชิงกุศโลบายเช่นนี้เป็นความแตกต่างจากการคิดแบบนักวิชาการ หรือนักคิดเฉพาะด้าน เพราะนักวิชาการเฉพาะด้านนั้นจะอาศัยหลักการเฉพาะด้านของตนเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ แต่ถ้าคิดอย่าง มีกุศโลบายนั้นต้องสามารถมองหลายๆด้าน คิดถึงหลายๆอย่างรวมกัน
เพื่อนสตรีท่านหนึ่ง ได้เลือกสามีที่เป็นผู้ใหญ่กว่ามาก ถ้ามองจากทัศนะคนวัยเดียวกัน จะเป็นการเข้าใจมากกว่าคนที่มีลักษณะสาวเปรี้ยว มีการศึกษาสูง ฉลาดทันคนอย่างนั้น ทำไมเลือกสามีที่อายุมากกว่ากันเกือบสองทศวรรษเช่นนั้น แต่ท่านได้ให้เหตุผลในการแต่งงานกับชายที่มีอายุสูงกว่านั้นว่า เพราะท่านได้ผ่านประสบการณ์การมีแฟนในวัยเดียวกัน เป็นเพื่อนร่วมเรียนกันมาแล้ว แต่ท่านรู้สึกว่า จะอยู่ด้วยกันไปไม่ได้ยืด เพราะต่างก็มีการเอาแต่ใจตนเอง ยึดมั่นถือดีในตนเอง ซึ่งก็จะเป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกัน แต่สำหรับการมีสามีที่แม้อายุมากกว่า แต่ก็ได้พิศูจน์ในความรักจริง ความใจเย็นและรู้จักให้อภัยแล้ว ท่านคิดว่าชายสูงอายุที่รักท่านจริงน่า จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับชีวิตของท่าน
การสังเคราะห์รวม
การสังเคราะห์รวมทั้งหมดในการแสดงความเป็นตัวตน (The synthesis of full self-expression) และทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยการสังเคราะห์ในทุกด้านรวมกัน โดยกลายเป็นการแสดงออกที่เป็นตัวเป็นตนของเรา การเป็นผู้นำนั้นแน่นอนว่า ถ้าเขามีคุณสมบัติในสิ่งที่กล่าวมาทั้ง 7 ประการอย่างครบถ้วน และเมื่อใช้สิ่งเหล่านี้ร่วมกันแล้ว นั่นแหละเรียกว่าความเป็นผู้นำ แต่มนุษย์ที่เราพบเห็นที่ได้เป็นผู้นำนั้นมักจะไม่สมบูรณ์ไปหมดเสียทุกอย่าง แต่เมื่อรวมแล้ว เขาจะเป็นคนที่มีสิ่งเหล่านี้รวมกันได้มากที่สุด เหมือนกับนักทศกรีฑา มีเก่งบางอย่างเป็นพิเศษ มีบางอย่างที่ไม่เก่งเท่าใดนัก แต่ไม่ถึงกับไม่มี บางคนเป็นนักทศกรีฑาที่มีลักษณะพลังสูง เล่นในพวกกิจกรรมลาน เช่นทุ่มน้ำหนัก หรือขว้างจักรได้ดี บางคนมีความเร็วสูง ก็จะทำคะแนนทางด้านลู่ เช่นการวิ่งระยะ 100 เมตร, 400 เมตร ได้ดี แต่ผู้นำไม่สามารถมีจุดบอดได้มากนัก เช่นเขาอาจไม่มี vision หรือมองการณ์ไกลที่สุด แต่มีสติปัญญาพอที่จะใช้นักคิดนักวิชาการมาทดแทนในส่วนนี้ แต่เขาเป็นคนกล้าพอที่จะตัดสินใจได้อย่างไม่มีความหวาดหวั่น เป็นต้น (Bennis, 1989 p. 141)
บทสรุป
ชีวิตคือการแสวงหา แม้ชีวิตจะไม่ยาวนานนัก แต่ถ้าการต้องเริ่มต้นชีวิตอย่างรวดเร็วเกินไปอาจเป็นการตัดโอกาสการได้แสวงสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองในระยะยาวได้ เหมือนการเด็ดดอกไม้ดอกแรกที่ได้พบในสวน ทั้งๆที่สวนนั้นยังมีดอกไม้ที่สวยงามให้ชื่นชมอีกมาก เหมือนการรีบแต่งงานกับคนรักที่ได้แรกพบ โดยไม่มีโอกาสได้เข้าใจในความเป็นเขาเป็นเรา การรีบรับงานแรกในชีวิตและก็จมอยู่กับงานนั้นตลอดไป เหล่านี้นำมาซึ่งการเสียโอกาสสำคัญที่จะได้รู้ตนเอง ได้เข้าใจความรักความชอบ ได้เข้าใจความถนัด ความเป็นจุดอ่อนจุดแข็ง และสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ด้วยการกำกับจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์ เจ้านาย ผู้มีพระคุณ หรือแรงกดดันจากสามี ภรรยา หรือบุคคลอันเป็นที่รักใดๆ คนเหล่านี้อาจช่วยเป็นผู้ให้ข้อมูลสะท้อนกลับ เป็นเหมือน กระจกที่สะท้อนได้ตรงบ้างไม่ตรงบ้าง แต่ท้ายสุดแล้ว ตนเองย่อมต้องเป็นผู้ต้องคิดรวบยอดอีกครั้งหนึ่ง และตัดสินใจชีวิตด้วยตัวของตัวเอง
ชะตาชีวิตนั้นเราจะเชื่อว่าฟ้ากำหนดก็ได้ แต่ถ้าเราเชื่อเช่นนั้นเราก็จะไม่มีการขวนขวายในการทำงาน ไม่มีการกำหนดอนาคตของตนเอง ปล่อยให้ล่องลอยไปตามโอกาส
การได้โชคที่ลอยมา ไม่ว่าจะเป็นทางการอาชีพ การได้เล่าเรียน หรืออื่นใดก็ตามที แต่ถ้าท้ายสุดแล้วมันไม่ได้เป็นความต้องการของเรา เราไม่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้นอย่างแท้จริง ท้ายสุดนั้นสิ่งทีคิดว่าเป็นรางวัลนั้นก็อาจกลายเป็นโซ่ตรวนที่ต้องพันกายเราไปตลอดชีวิต ดังเช่น
แต่การได้มีโอกาสสำรวจตนเองนั้น บางทีไม่สามารถทำความเข้าใจได้จนกว่ามนุษย์จะได้มีโอกาสในงานนั้นๆจริงๆ หากจะมองอีกแง่หนึ่งก็คือ การได้สำรวจตนเอง ได้มีการพัฒนาสิ่งที่เป็นตัวตนอย่างเป็นระบบจากสิ่งที่เป็นส่วนเล็กๆ ไปสู่ส่วนที่เป็นองค์รวมใหญ่ๆ
จากค่านิยม | นำไปสู่การมีทัศนคติ |
จากทัศนคติ | นำไปสู่การมีบุคลิกภาพ |
จากการมีบุคลิกภาพ | นำไปสู่การตัดสินใจต้นชีวิต และการดำเนินชีวิตที่มีทิศทาง |
ทิศทางนำไปสู่ | นำไปสู่การต้องดำรงอยู่ในสภาวะที่ยุ่งยากสับสน |
แต่ถ้าเมื่อใดที่ได้เลือกทางการทำงานแล้ว ก็จะต้องมีการขวนขวายเรียนรู้ที่จะทำงานนั้นๆให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต้องนำคนนั้น ไม่มีทางที่จะมีโรงเรียนใดสามารถมีหลักสูตรที่ประกันความสำเร็จของการเป็นผู้นำได้ และขณะเดียวกันก็ยังไม่มีตำราใดที่จะเป็นคัมภีร์ทางการบริหารได้ตลาดไป การปฏิบัติทางการจัดการนั้นเป็นผลมาจากความเชื่อของผู้รับผิดชอบงานจัดการที่ต่างกัน และแนวคิดทางการจัดการก็ยังไม่มีอะไรตายตัวในปัจจุบัน ยังคงมีข้ค้นพบใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นการได้เข้าไปลองทำงานจริงๆ แม้ในความรับผิดชอบที่เล็กลงมา เป็นหน่วยงานในระดับไม่ใหญ่โตนัก แต่ทำให้เราได้สามารถรับผิดชอบได้อย่างทั้งระบบ ได้ทดลองความคิด ความอยาก หรือความปรารถนาอย่างแท้จริง ผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่ทั้งหมดก็เป็นโอกาสในการเรียนรุ้และการได้พัฒนาตนเอง
"ความเป็นผู้นำ" ในส่วนของบทนี้ยังเป็นเพียงสิ่งที่มีเท่านั้น ยังไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็น ถ้าเป็นรถยนต์ ณจุดนี้ยังเหมือน รถที่ได้ออกแบบมาอย่างดี แต่ยังไม่มีการทดสอบในสภาพสนามจริง ยังไม่ได้มีการใช้โดยคนหมู่มากจริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่ มนุษย์จะถูกตรวจสอบโดยสถานการณ์จริง ซึ่งจะได้นำเสนอในบทต่อไป
******************************
No comments:
Post a Comment