Friday, January 15, 2010

บทที่ 4 ผู้นำกับการเรียนรู้โลก

บทที่ 4 ผู้นำกับการเรียนรู้โลก

ประกอบ คุปรัตน์ และ
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ณัฐนิภา คุปรัตน์
Nattanipha Cooparat

มูลนิธิก้าวไกลในเอเชีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)

Updated: วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553
Keywords: cw059, ความเป็นผู้นำ, การจัดการ

บทนำ

การ เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นจริงที่เป็นไปบนพื้นพิภพนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะเรียนตามห้องสมุด เรียนเป็นไปตามหลักสูตรที่มีการมอบปริญญาบัตรให้ หรือได้มาจากการจัดฝึกอบรมตามสถานศึกษาทั้งหลายเท่านั้น แต่หมายถึง การ เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นไปในโลกในที่นี้ อันรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งมนุษย์ต้องแสวงหาประสบการณ์ด้วยวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย และจากแหล่งความรู้อันไม่ว่าจะเป็นจากคน หรือวัสดุอุปกรณ์ หรือสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากการเรียนทั่ว ๆ ไปเพียงการที่คนๆนั้นมีปัญญา มีความสามารถที่จะรับการถ่ายทอด และการอบรมสั่งสอนจากครอบครัว โรงเรียน สถานศึกษาหรือระบบแบบดั้งเดิมที่มีอยู่ ซึ่งไม่เพียงพอ ดังจะดูได้จากตัวอย่าง เช่น

นักเรียนเรียนดี แต่เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ต้องเรียนไกลพ่อแม่และบ้าน กลับหลงไหลกับการเที่ยวเตร่อย่างไร้สาระ ยามเมื่อคบเพื่อนต่างเพศ ที่เขาปฏิเสธเสน่หา ก็อกหักจนไม่เป็นอันเรียน

เณรที่บวชมาตั้งแต่ยังเด็ก ยังอ่อนเยาว์ต่อโลก เรียนหนังสือทางปริยัติธรรม ถูกให้การศึกษาแบบตัดขาดจากโลกแห่งความเป็นจริง โลกที่ยังเต็มไปด้วยคนที่มีกิเลศ ตัณหา และราคะ โดยหวังการฝึกอบรมให้เป็นคนที่บริสุทธิ์ ซึ่งก็ทำให้ไม่มีความเข้าใจทางโลก แม้ได้เปรียญสูง แต่ในที่สุดก็ครองผ้าเหลืองไม่ได้นาน

ตัวอย่างความอ่อนเยาว์ต่อโลกนั้นไม่ได้จำกัดด้วยวัยเสมอไป เช่น

- นัก วิชาการที่ไม่มีประสบการณ์ในทางการเมือง แม้ได้ปริญญาทางรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ แต่พอลงไปสมัครรับเลือกตั้ง ก็ไม่ทันนักการเมืองอาชีพที่เขามีประสบการณ์ในการหาเสียง สามารถพูดชักจูงโน้มน้าวจิตใจชาวบ้านได้ดีกว่า หลายคนจึงไม่ประสบความสำเร็จในโลกของการเป็นนักการเมือง

ข้าราชการที่แม้จะลาออกมาทำธุรกิจเอาเมื่ออายุมากแล้ว เคยเป็นใหญ่เป็นโตในระบบราชการมาก่อน แต่เมื่อต้องมาทำธุรกิจเองนั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีวิญญาณของธุรกิจอยู่ในใจ ทำอะไรก็ยังเต็มไปด้วยขั้นตอน ไม่เข้าใจในระบบธุรกิจที่ต้องถือว่าลูกค้าเป็นใหญ่

เราจะเรียนรู้และเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับโลกในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร คำถามเหล่านี้ต้องการคำตอบ คนเราต้องการเรียนรู้ ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเรียนรู้ทางโลกที่ทำให้เราได้เข้าใจปัญหาที่เป็นไปอย่างแท้จริง โดยทั่วไป คนไม่กล้าเดินในที่มืดเพราะไม่เห็นทาง ฉันใดผู้นำหรือผู้ที่ต้องรับผิดชอบที่มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่รอบๆตนเองก็ฉันนั้น เขาจะไม่กล้าขยับ ไม่กล้าตัดสินใจ หรือไม่ก็ตัดสินใจไปอย่างไม่ได้คิดไกล หรือตัดสินใจแบบสุ่มเสี่ยงโดยหวังเพียงโชคช่วย

I took a good deal o'pains with his education, sir; let him run the street when he was very young, and shift for his-self. It's the only way to make a boy sharp, sir."

Charles Dickens

Pickwick Papers

ใน บทความนี้ ได้กล่าวถึงการเรียนในส่วนหนึ่ง คือการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจในตนเอง แต่มีการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง คือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลก หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งในส่วนที่เป็นคน กลุ่มคน สังคม ทั้งในส่วนที่เป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา เทคโนโลยี และอื่นๆ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกนั้นในส่วนหนึ่งได้จากการเรียนรู้ตามระบบ แต่ในบทนี้จะได้นำเสนอวิธีการที่คนที่จะเป็นผู้นำได้มีการเรียนรู้กัน โดยทั้งนี้จะนำเสนอทั้งในส่วนที่เป็นการเรียนรู้ในแบบดั้งเดิม หรือสิ่งที่เป็นการเรียนรู้โดยทั่วไป และในอีกด้านหนึ่ง ที่เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ และเป็นการเสนอให้มองในอีกมุมหนึ่งอันที่จะให้เกิดประสบการณ์อันจำเป็น สำหรับคนที่จะทำหน้าที่บริหาร

การเรียนตามแบบแผน

การเรียนรู้ที่จะดำรงอยู่ในโลก และพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นผู้นำมีได้หลายทาง ( Warren G. Bennis, 1989 หน้า 75) แต่สองทางที่เป็นแบบที่ทุกคนคุ้นเคยก็คือ (1) การเรียนรู้แบบเก็บรักษา และ (2) การเรียนรู้อันเกิดจากอาการช้อค หรือพบสิ่งไม่คาดคิด

การเรียนรู้ในแบบดั้งเดิม

หรือ การเรียนรู้แบบเก็บรักษา กล่าวคือเคยได้เรียนรู้กันมาอย่างไร ก็มีระบบที่จะถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อไปได้รับรู้อย่างนั้น ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้ได้แก่

การเรียนรู้โดยมีแบบแผนรองรับ เช่นการเรียนสูตรตำรากับข้าว

การเรียนแบบตามผู้ใหญ่ ซึ่งคนส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่า เมื่อผู้ใหญ่สอนอะไรแล้วเราต้องเชื่อต้องฟัง จึงจะเป็นเด็กดี

การเรียนตามประเพณี เขาเคยทำกันมาอย่างไร ก็ทำกันไปอย่างนั้น

การเรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติ ทำกันจนเป็นระบบอัตโนมัติ ทำกันจนเป็นนิสัย แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเรียนไปเพื่ออะไร ทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น

การเรียนในสิ่งที่สังคมคิดว่าถูกต้อง เป็นการเรียนตามสังคม ปฏิบัติไปตามกฏเกณฑ์ของสังคม มีคุณประโยชน์ในการอยู่ร่วมกัน เช่น การขับรถด้านซ้ายของถนนในประเทศไทย รถช้าให้ชิดซ้าย รถเร็วให้ไปทางขวา

ระบบ การศึกษาส่วนหนึ่งก็ทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งเรียกว่ากระบวนการสังคมประกิต (Socialization Process) ตัวอย่างของการเรียนเช่นนี้ ซึ่งก็มีประโยชน์ในระดับหนึ่ง เช่น

การใช้ห้องน้ำทั้งส่วนตัว และสาธารณะ ทุกคนต้องรู้จักทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังการใช้

แต่ข้อจำกัดของการเรียนรู้เช่นนี้ คือจะทำให้ไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลง ประเทศ จีนในอดีตเคยยิ่งใหญ่มานาน แต่เนื่องจากระบบการศึกษาของจีนในยุคเดิมนั้น เป็นการเรียนแบบดั้งเดิม และไม่ได้สอนให้คนได้คิดเปลี่ยนแปลง เป็นการสอนคนให้เชื่อฟัง และให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมใหญ่อย่างสันติสุขเป็นหลัก จึงทำให้ทั้งสังคมยุคนี้ และในบางครั้งกลับทำให้ย้อนไปสู่ยุคมืดอันเสื่อมโทรม และในที่สุด เมื่ออารยธรรมตะวันตกได้ก้าวหน้า ขยายกลายไปสู่การล่าเมืองขึ้นเมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้ว ได้ขยายอืทธิพลเข้าไปในเอเซีย เมื่อนั้นสังคมจีนทั้งมวลได้อ่อนแอและไม่สามารถปรับตัวตั้งรับได้ทัน และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตกได้โดยง่าย ความ จริงปัญหาเช่นนี้มีในประเทศทางเอเซียอีกหลายประเทศ รวมทั้งแถบอารยธรรมเก่าอินเดีย และประเทศรอบๆซึ่งในที่สุดก็ตกเป็นประเทศเมืองขึ้นไปเช่นกัน เมื่อสภาพการเรียนรู้เป็นเช่นนี้ สังคมจึงไม่สามารถพัฒนาไปได้ไกล ถ้าระบบการเรียนรู้นั้นเป็นเพียงการเรียนในสิ่งที่ได้มีการสั่งสมกันมาแต่ เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการให้คิดริเริ่มสิ่งใหม่ได้

การเรียนรู้จากความตระหนก

การ เรียนรู้บางอย่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน และบางครั้งมันได้สร้างความเสียหาย เกิดความตระหนก จนต้องตระหนักในปัญหา แล้วจึงได้เกิดการเรียนรู้ตามมา เช่น

- เด็กเมื่อไปเล่นไม้ขีดไฟ แล้วถูกไฟลวกมือ ก็เกิดการเรียนรู้ว่าไฟนั้นมีอันตราย ก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้

- เมื่อ สหรัฐอเมริกา ในยุคเริ่ม ปี ค.ศ. 1960 ได้หันมาให้ความสำคัญต่อการศึกษาทางด้านอวกาศก็ต่อเมื่อรัสเซียได้ส่งดาว เทียมไปโคจรรอบโลก สามารถเอาสัตว์ ซึ่งในขณะนั้นคือสุนัข ชื่อ Laika ขึ้นไปพร้อมกับดาวเทียม ใช้ชีวิตโคจรรอบโลกอยู่หลายวัน

สังคมไทยได้คิดเรื่องการพัฒนาประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกลัวภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ กลัวจะเสียทรัพย์สินต่างๆของตน จึงเกิดการพัฒนาชนบท มีการสร้างทาง และการปรับปรุงคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานบางอย่าง

แต่ข้อจำกัดของการเรียนในแบบนี้ก็มี เช่น

- การ เรียนรู้ที่เรายังต้องแปรเปลี่ยน จะได้เรียนไปตามสภาพแวดล้อมที่เข้ามากระทบนั้นก็มีอยู่ แต่มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมไม่สามารถให้ข้อเตือนได้ ก่อน และกว่าที่มนุษย์ในระบบสังคมนั้น จะรู้ตัวว่าเป็นปัญหา ทุกอย่างก็สายเสียเสียแล้ว หรือแม้แต่จะแก้ไขได้ ก็ต้องสูญเสียทรัพยากร หรือแม้แต่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมาย

- การ ที่ต้องเรียน เพราะไม่เรียนไม่ได้ ด้วยเหตุที่สถานการณ์บังคับนั้น ทำให้การเรียนรู้นั้นไม่สามารถฝังลึกในบุคลิกภาพของคนได้ หรือเมื่อทำไปก็ทำอย่างไม่มีความสุข เช่น สตรีต้อง หันไปเข้าศูนย์สุขภาพ เพราะสามีขู่ว่าถ้าไม่ฟิตรูปร่างให้ดีกว่านี้ ก็จะไปหาแฟนใหม่ สตรีนั้นอาจไปลดน้ำหนักตัวได้จริง แต่ก็ไม่ได้มีความสมัครใจและเกิดเป็นนิสัยที่ถาวร เมื่อไม่ตระหนัก แม้จะลดน้ำหนักได้ในระยะแรก แต่ในช่วงเวลาอันยาวนาน นิสัยการไม่รู้จักควบคุมตนเองทั้งในด้านการกิน การออกกำลังกาย ก็จะกลับคืนมาได้อีกโดยง่าย การเรียนรู้และปรับเปลี่ยนเช่นนี้ เป็นการเรียนรู้แบบปรับตาม และตั้งรับ ไม่ได้เกิดจากความต้องการ แท้จริงของตน อาจเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีความสุข ต้องทำในสิ่งที่เป็นไปเพื่อความอยู่รอด

เรียนคอมพิวเตอร์และภาษาอังกฤษ เพราะไม่เรียนไม่ได้ ตลาดแรงงานทำให้เป็นเช่นนั้น เดี๋ยวไม่มีงานทำ กลายเป็นการเรียนเพื่อปรับตนเองให้อยู่รอดได้ในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนั้น แต่ไม่ใช่การเรียนในเชิงรุก หรือการเรียน อย่างรู้ว่า เราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ดีที่มีอยู่ในตัวเราได้อย่างไร

การ เรียนรู้ที่ดีนั้นคือการที่มนุษย์เกิดความต้องการจากส่วนลึกด้วยตนเอง เป็นความต้องการที่จะแสดงออกด้วยตนเองมากกว่าจะเป็นฝ่ายถูกกระทำ ถูกคนหรือสถานการณ์บังคับให้ต้องเรียนเพียงอย่างเดียว และเรียนอย่างมีความสุขและความพอใจต้องการเรียนเองมากกว่าเรียนแบบอมทุกข์

การเรียนในแนวใหม่

การ เรียนรู้ในแนวใหม่นี้ไม่ใช่การเรียนอย่างทั่วไป แม้จะเป็นการเรียนจากครอบครัว จากสถาบันการศึกษา จากเพื่อน หรือจากการได้ทำงานในหน่วยงานที่ดีนั้น แม้จะเป็นการเรียนรู้ที่มีมานานแล้ว แต่ก็มีเป็นอันมากที่เป็นการเรียนรู้แบบดั้งเดิม ส่วนการเรียนรู้ในลักษณะที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นการเรียนเพื่อก่อให้เกิดคุณสมบัติใหม่ เป็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น เป็นการเรียนที่ไม่จำกัดรูปแบบ วิธีการ เงื่อนไขในด้านเวลา สถานที่ บุคคล หรืออื่นใด

การเรียนรู้จากในครอบครัว

ครอบครัวแบบไหนคือความล้มเหลว แบบไหนคือเป็นไปแบบทั่วไป และอย่างไรเป็นแบบนำไปสู่ความสำเร็จ

การเรียนรู้จากในครอบครัวไม่ใช่เรื่องใหม่ แท้จริงนับเป็นการศึกษาที่ได้มีมานานแสนนานแล้ว คงนับได้ว่าก่อนประวัติศาสตร์ หลายอย่างเป็นการสอนตามสัญชาตญาณ แต่ที่จะนำเสนอต่อไปนี้นั้น เป็นการเรียนรู้ที่บางครอบครัวได้ใช้มาอย่างได้ผล

ครอบครัวที่จะมีปัญหาในการเลี้ยงดูนั้น ไม่จำกัดว่าจะเป็นครอบครัวที่มั่งมีหรือว่ายากจน ซึ่งปัญหาในการเลี้ยงดูนั้นได้แก่

- การเลี้ยงดูอย่างประคบประหงม ด้วย เกรงว่าบุตรหลานจะลำบาก เกรงว่าจะประสบปัญหา และความทุกข์ยากในชีวิต เลยทำให้ขาดภูมิต้านทานทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เด็กถูกเลี้ยงดูอุ้มชูจนขาดความสามารถในการพึ่งตนเอง ไม่จริงจังกับชีวิต และไม่แกร่งที่จะผจญปัญหา

- ครอบครัวคนร่ำรวยที่กลัวภัยนานาประการ อยาก ให้ลูกได้อยู่ดีกันดี มีสุขไปตลอดกาล จะปล่อยให้ลูกไปไหน ไปทำอะไรก็กลัวจะถูกหลอก กลัวจะประสบภัย เลยไม่กล้าให้ลูกออกไปผจญโลกภายนอก เลี้ยงเหมือนไข่ในหิน จะขยับหินก็กลัวไข่จะแตก ก็เลยต้องปล่อยให้อยู่เฉยๆ

การ เลี้ยงดูอย่างปล่อยประละเลยจนทำให้ขาดความอบอุ่น จนเด็กไม่ได้เรียนรู้และเข้าใจความหมายของความรัก เลี้ยงแบบไม่สั่งสอน เมื่อเป็นครอบครัวมีเงิน ก็ใช้เงินทดแทนความรักและเวลาที่ไม่มีให้ เมื่อเด็กทำผิดก็ไม่เวลาสั่งสอน เมื่อทำของเสียของหายก็ซื้อให้ใหม่ เงินค่าขนมหมดเพราะใช้เกินตัวก็มีเงินพิเศษให้ ไม่มีคนคอยชี้แนะ หรือเตือนสติ

- การ ให้เด็กได้รับความรักเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ฝึกเขาให้รู้จักให้ความรักตอบ กลายเป็นเด็กประเภทตามใจตนเอง เมื่อต้องการอะไรก็เรียกร้องด้วยการชักดิ้นชักงอ จนกระทั่งเมื่อโตก็กลายเป็นนิสัย

- การ ให้เด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ปิดกั้น เช่น คนจนที่ไม่มีโอกาสให้ลูกได้ไปเห็นแสงเดือนแสงตะวัน ทั้งชีวิตไม่มีโอกาสออกไปจากหมู่บ้าน ทำแต่งานซ้ำซาก

การเลี้ยงดูแบบอำนาจนิยม ใช้อำนาจกับลูก ไม่ยอมให้ลูกได้ออกไปเป็นตัวของตัวเองนอกกรอบ เด็กเต็มไปด้วยความหวาดกลัว กลัวอำนาจ กลัวถูกทำโทษ กลัวจะไม่ได้รับความรัก หรือกลัวถูกทอดทิ้ง ปัญหาเช่นนี้เกิดได้ทั้งกับครอบครัวที่มีฐานะ และครอบครัวคนยากจนหรือไร้การศึกษา เมื่อโตขึ้นก็กลายเป็นคนที่ไม่มีความคิดอิสระ คอยแต่จะพึ่งพา ไม่มีความมั่นใจในตนเอง

โดยทั่วไปแล้ว ครอบครัวเป็นสถานที่เรียนแห่งแรกของเด็กและเป็นที่เรียนที่ดีที่สุด การสอนเด็กกลุ่มที่มีปัญญาเลิศที่ดีที่สุด ก็มักจะพบว่าเริ่มที่ครอบครัว และจะสมบูรณ์ได้ที่ครอบครัว ครอบครัวของชนชั้นกลางที่มีความพร้อมในสภาพแวดล้อมมาก โดยทั่วๆไปแล้วเด็กๆจะมีโอกาสเติบโตและประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานมากกว่าในครอบครัวที่มีปัญหา หรือครอบครัวที่มีฐานะยากจน

ประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้ติดตามเข้าไปสังเกตชีวิตของเยาวชนในหมู่บ้านชนบทที่ยากจน ที่ประสงค์จะศึกษาต่อในระดับปริญญา จะพบว่าทั้งหมู่บ้านนั้น จะมีคนได้มีโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงนั้นน้อยมาก และเมื่อตามไปสังเกตดูลึกๆแล้ว จะพบว่าแม้แต่ในครอบครัวที่หวังอย่างที่สุดที่จะให้บุตรธิดาได้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอันมีชื่อเสียงนั้น หลายครอบครัวมีวิธีการสอนที่ก็ยังไม่พัฒนา เช่น การสอนลูกให้เชื่อฟังโดยไม่ได้ปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสผจญโลกด้วยตนเอง คือเป็นการสอนลูกโดยมุ่งเน้นให้ลูกได้มีโอกาสใช้เวลาเป็นอันมากไปกับการดูหนังสือ โดยไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับสภาพชีวิตในท้องไร่ท้องนา บางคนไม่เคยช่วยพ่อทำไร่ไถนามาเป็นเวลานานแล้ว เมื่อถูกถามว่าปีนี้พ่อทำนาได้เท่าไร เด็กจะตอบไม่ได้ ทั้งๆที่ยุ้งข้าวก็อยู่ห่างจากบ้านไปเพียง 10-20 เมตร เมื่อเยาวชนเหล่านั้นต้องเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ปัญหาที่ตามมาคือความไม่สามารถเผชิญกับปัญหาที่แตกต่างออกไปจากการอยู่อาศัยในครอบครัวที่มีพ่อแม่ได้ บางคนปรับตัวไม่ได้ เมื่อได้ใช้ชีวิตในเมืองอย่างอิสระ ก็ไปหลงแสงสี กินเหล้าเมายา ติดการพนันได้ง่าย บางคนต้องมาเรียนแข่งขันกับกลุ่มที่เขามีพื้นฐานการเรียนที่ดีกว่า ก็มาสูญเสียความมั่นใจในการเรียนหนังสือ ทำให้ได้คะแนนตกต่ำและบางคนประสบปัญหาการเรียนเสียจนกระทั่งไม่สามารถศึกษาต่อได้

ครอบครัวที่ทำให้ลูกประสบความสำเร็จนั้น มิได้หมายความว่าเป็นครอบครัวที่รวยที่สุด หรือมีทุกอย่างพร้อม แต่เป็นครอบครัวที่เป็นพฤติกรรมในการอบรมบ่มนิสัยแก่กุลบุตรกุลธิดาที่ดีบางประการ ซึ่ง Covey ได้ให้แนวทางเอาไว้ดังนี้

- การทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีแห่งตน

- การกระตุ้นให้เด็กได้แสดงในสิ่งที่เขามีความเป็นเลิศอยู่แล้วออกมา

- การส่งเสริมให้เขาได้พัฒนาความสนใจไปตามทางของเขา

- การสร้างบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความรื่นรมย์

1. เป็นครอบครัวที่มีการวางแผนล่วงหน้า คิดอะไรล่วงหน้า

2. การที่พ่อแม่ได้ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก

3. การสอนลูกๆให้ได้มีโอกาสมองเห็นศักยภาพที่มีอยู่ในตัว

4. การยอมรับในการมีเพื่อนๆของลูกๆ ส่งเสริมและร่วมพัฒนา มิใช่ปล่อยไปตามยถากรรม หรือห้ามไม่ให้เขามีเพื่อน

5. การสอนให้เขามีความเชื่อ มีศรัทธาและความเชื่อมั่นในคนอื่น และสร้างเขาให้เป็นคนมีจิตบริการแก่คนอื่น และ

6. การให้ความสนับสนุน และติดตามผลในกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ลูกๆได้รู้ว่า ที่ผ่านมานั้นเขาได้ทำอะไรถูกและผิดอย่างไร

(Covey, 1992,pp.144-150)

โดยรวมแล้ว จะเห็นว่าครอบครัวที่ดีนั้นเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ ครอบครัวที่ดีนั้น.......

- ไม่ใช่ครอบครัวที่ร่ำรวย แต่สามารถหาประสบการณ์ให้ลูกๆได้เรียนรู้อย่างกว้างขวาง ซึ่งบางอย่างไม่ใช่ซื้อได้ด้วยเงิน

- ไม่ ใช่ครอบครัวที่ไม่มีปัญหา หรือไม่ใช่พ่อแม่ไม่เคยทะเลาะเบาะแวงกันให้ลูกเห็นเลย แต่เป็นครอบครัวที่เมื่อมีปัญหาแล้ว เรียนรู้ที่จะยอมรับในปัญหานั้นๆ และหาทางแก้ไขปัญหานั้นๆ ซึ่งทำให้ลูกๆได้เรียนรู้ในการแก้ปัญหาชีวิตไปด้วย

- อาจ ไม่ใช่ครอบครัวที่มีเวลาให้กับลูกๆมากที่สุด แต่เมื่อลูกมีปัญหา และต้องการเวลาในยามวิกฤติ เช่นต้องการคำปรึกษานั้น ก็สามารถให้เวลาแก่ลูก เพื่อช่วยเขาให้เขาแก้ปัญหาด้วยตนเองได้

- ไม่ ใช่ครอบครัวที่มีความรักให้ลูกอย่างเหลือเฟือ แต่ทำให้ลูกเข้าใจความหมายของความรัก และสามารถทำให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะให้ความรักแก่ผู้อื่นได้

- ไม่ ใช่ครอบครัวที่พ่อแม่มีความรู้เพียบพร้อมไปทั้งหมด แต่เป็นครอบครัวที่เห็นประโยชน์ของการศึกษาทั้งในและนอกระบบ และสามารถหาประสบการณ์ชีวิตที่มีค่าให้แก่ลูกๆได้อย่างเพียงพอ แม้จะไม่มีความรู้ความสามารถที่จะสอนเขาเองโดยตรง

สถาบันการศึกษา

ความแตกต่างระหว่างโรงเรียนทั่วไป กับ โรงเรียนที่ดี อันเป็นแหล่งบ่มเพาะเยาวชนให้มีคุณสมบัติความเป็นผู้นำ

ปัญหาของโรงเรียนทั่วไป นั้นมักจะมีปัญหาทางด้านการเรียนการสอนดังต่อไปนี้

การสอนโดยอาศัยประทัสถาน (norms) เป็นหลัก สอนเด็กนักเรียนให้เป็นกลางๆ คนเก่งก็ไม่ได้รับ ประโยชน์ เด็กมีปัญหาก็เรียนตามไม่ทัน เป็นแบบครึ่งๆกลางๆ และเป็นแบบปานกลาง กล่าวคือไม่สามารถบรรลุความเป็นเลิศได้

การสอนโดยเอาหลักสูตรที่กำหนดตายตัวเป็นตัวตั้ง แทนที่จะเอาเด็กเป็นตัวตั้ง และการสอนที่ทำให้เด็ก ไม่ได้พัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และความเป็นจริง

ระบบ การศึกษาและการเรียนการสอนที่ทำให้โรงเรียนนั้นยิ่งใหญ่ ผู้เรียนนั้นจะเหลือเพียงความเป็นคนตัวเล็กๆ เป็นคนที่อยู่ในสภาวะความไร้อำนาจ (powerlessness) ในสภาพของโรงเรียนที่มีความเป็นองค์การที่ใหญ่โตเท่าใด เด็กนักเรียนก็จะกลายเป็นเพียงส่วนเล็กๆที่ องค์การจำได้เพียงระหัสประจำตัว คนที่มีปัญหาต้องการความช่วยเหลือก็จะถูกละทิ้งได้โดยง่าย

ระบบการเรียนการสอนที่แยกครูออกจากชุมชน ครูคือผู้รับผิดชอบรายวิชา ไม่ได้มีส่วนสร้างความเป็นตัวตน หรือตัวคนทั้งสิ้นทั้งมวล หรือที่เรียกว่า Total Personality Development อันเป็นข้อจำกัดที่เรามักจะพบว่าเด็กๆได้เติบโตขึ้นมาอย่างขาดดุลยภาพ ทำให้ได้เรียนรู้อย่างขาดๆเกินๆ บางคนมีความถนัดบางอย่างมากๆ แต่ก็ไปมีจุดอ่อนในบางอย่างที่เป็นผลเสียแก่ชีวิตของเขาในระยะต่อมา

คราวนี้มาลองดูโรงเรียนที่ดี ซึ่งแม้จะไม่สมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมด แต่สถาบันเหล่านี้มีลักษณะพิเศษบางประการที่น่าศึกษา เช่น

โรงเรียนกินนอนของอังกฤษ ที่เรียกว่า public school

โรงเรียน กินนอนที่เรียกว่า public school อันเป็นโรงเรียนที่มีเอาไว้สำหรับเตรียมลูกหลาน คนมีฐานะและวงตระกูล เพื่อการพัฒนาบุคลิกภาพ และให้เข้าสู่มหาวิทยาลัย โรงเรียน เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Eton, Rugby นั้นมีศิษย์เก่าที่ได้ผ่านการศึกษามาแล้ว และได้ประสบความสำเร็จนั้นมีมากมาย จนเกือบจะทำให้คนเชื่อว่าในอดีตนั้น โรงเรียนเหล่านี้คือเส้นทางผ่านที่สำคัญของคนจะเป็นผู้นำ นักบริหาร นักการเมืองที่สำคัญของประเทศ ทั้งในระดับนายกรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ซึ่งมีคนให้ข้อสังเกตว่า การเรียนของโรงเรียนเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่เพียงในชั้นเรียน และเป็นสิ่งที่สังเกตได้ตามหลักสูตร หัวใจของความสำเร็จของนักเรียนจากโรงเรียนเหล่านี้นั้น มันเริ่มจากกิจกรรมและสภาพแวดล้อมนานาประการ เช่น ในสนามกีฬา โรงอาหาร และโรงนอน กิจกรรมก็มิได้มีอยู่เพียงเท่าที่จะเรียนจากตามตำรา มันปะปนไปกับการเรียน การกีฬา กิจกรรมนอกหลักสูตร นานาประการ มันปนไปกับสิ่งที่โรงเรียนกำหนดให้ทำ และมีทั้งในสิ่งที่ผู้เรียนต้องยืนหยัดกล้าทำ และกล้าเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องเสี่ยงและโทษทัณฑ์อันอาจจะได้รับ

การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยแบบ Ivy League

มีคนจัดให้เป็นระบบการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ดีที่สุดในโลกนั้น ได้แก่การได้ศึกษาเล่าเรียนในระบบมหาวิทยาลัยเก่าแก่เหล่านั้น เช่น ออกซ์ฟอร์ด และเคมบริดจ์ ซึ่งมีประวัติเก่าแก่มากกว่า 800 ปี ในสหรัฐอเมริกาก็มีสถานศึกษาเก่าแก่ที่ได้จำลองแนวทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ซึ่งเขาเรียกสถาบันเหล่านี้ว่า พวก Ivy League ซึ่งหมายถึงสถาบัน ที่มีผนังอาคาร ที่ทำด้วยหินอ่อนหรือแกรไนท์ และเก่าแก่เสียจนมีไม้เถาเลื้อยเกาะเต็มตัวอาคารไปหมด สถาบันเหล่านี้ได้แก่ Harvard, Yale, Columbia, หรือ Princeton, เป็นต้น สถาบันเหล่านี้มีการจัดการเรียนการสอนสำหรับคนหมู่น้อย ที่มักมาจากครอบครัวที่มีฐานะดี มีบิดามารดา หรือผู้ปกครองมีสามารถในการส่งเสียให้ได้เล่าเรียน และสำหรับเยาวชนที่จะมีโอกาสได้เข้าศึกษานั้นก็ต้องมีความสามารถทางวิชาการด้วย ไม่ใช่ว่าจะมีฐานะดีแล้วจะได้เข้าเรียนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะมีบรรยากาศแข่งขันทางด้านการเรียนสูง ซึ่งจะแตกต่างจาก สถาบันที่เขา เรียกว่า พวก Red Brick Universities หรือมหาวิทยาลัย ของรัฐในรุ่นที่ใหม่กว่า ก่อสร้างอาคารส่วนใหญ่ด้วยอิฐเผาสีแดง หรือเซรามิก ( ซึ่งสถาบันเหล่านี้มีเจตนาจะให้เป็นการจัดการศึกษา เพื่อคนหมู่มาก และเน้นการพัฒนานักเทคนิควิทยาเป็นหลัก )

ระบบการศึกษาเช่น Ivy League นี้ที่สร้างความสำเร็จในการปกครองของประเทศอังกฤษและอเมริกา ดังจะเห็นได้จากประวัติผู้นำของประเทศดังกล่าวนั้น มีเป็นอันมากจะจบการศึกษาจากสถาบันประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี หรือสมาชิกวุฒิสภาคนสำคัญหลายคนได้จบจากมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้

คุณสมบัติของสถาบัน แบบ Ivy League เหล่านี้คือ

1. การได้เรียนรู้ในแบบแสวงหา (enquiry method) ซึ่งในสถาบันประเภทนี้ไม่ได้สอนเพี่ยงการให้ความรู้ แต่สอนวิธีการเรียนรู้ และสอนให้กระหายที่จะเรียนรู้ ไม่ได้ให้ความรู้ที่ป้อนยัดเยียดให้กับผู้เรียน แต่สร้างความมั่นใจแก่ผู้เรียนได้ว่า แม้เขาไม่สามารถจะรู้ไปได้ในทุกเรื่อง แต่ถ้าเขาต้องการเรียนรู้อะไรแล้ว เขาสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง ด้วยระบบการเรียนแบบต้องแสวงหาด้วยตนเองเช่นนี้ จึงทำให้หอสมุดของสถาบันที่แม้จะมีผู้เรียนไม่มากนี้ แต่ก็มีการสะสมหนังสือ และเอกสารต่างๆเอาไว้มากมาย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ในการค้นคว้าได้ด้วยตนเอง การเรียนการสอนนั้นเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้มีไฟในการศึกษาหาข้อเท็จจริง มีวิธีการที่จะเรียนรู้และตรวจสอบข้อเท็จจริงเหล่านั้นอย่างเป็นเหตุเป็นผล ที่สำคัญ สถาบันเหล่านี้ต้องการให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์มาก นอกจากจะมีการบรรยายใน กลุ่มใหญ่แล้ว เขาจะมีระบบ tutorial จะมีอาจารย์ที่จะร่วมอภิปรายกับนักศึกษา กระตุ้นเร้า ให้นักศึกษาต้องตั้ง คำถาม และต้องแสวงหาคำตอบเองให้ได้มาก

2. การอบรมบ่มนิสัย การสร้างบุคลิกภาพ การให้ความเอาใจใส่ในรายบุคคล มหาวิทยาลัยแบบนี้ จัดเป็นสถาบันการศึกษาที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก และมีระบบหอพัก ในสมัยเดิมเป็นสถานศึกษาที่ตั้งห่างไกลจากตัวเมืองออกไป ด้วยเจตนาที่จะให้ผู้เรียนได้อยู่ในสภาแวดล้อมที่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวคนมีเงิน หรือจากคนที่ยากจนกว่า ทุกคนก็ต้องมาเรียนรู้การใช้ชีวิตที่ต้องมีวินัย อาจารย์ช่วยสอน หรือที่เรียกกันว่า tutor นั้น นอกจากจะทำหน้าที่กระตุ้นเร้าความอยากในการเรียนรู้ ชี้แนะวิธีการเรียนรู้ แนวทางการคิดและความเชื่อแล้ว เขาจะเน้นการได้มาใช้ชีวิตคลุกคลีกับนักศึกษาให้มาก อัตราส่วนผู้เรียนต่ออาจารย์หนึ่งคนนั้นจะอยู่ที่ต่อผู้เรียน 4-8 คน จึงทำให้มี ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูง แต่ก็ทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสรับการดูแลอย่างทั่วถึง สามารถเป็นต้นแบบทางบุคลิกภาพให้กับนักศึกษาได้เป็นอย่างดี

3. การมีกลุ่มเพื่อนร่วมห้องร่วมรุ่น และสถาบัน ซึ่งทำให้เพื่อนได้ช่วยเพื่อนในระยะเวลาต่อมา ซึ่งเรียกว่าได้ association ที่กล่าวมาแล้ว เคล็ดลับความสำเร็จอีกประการหนึ่งคือ รูปแบบที่คนต้องกินอยู่ หลับนอนและใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลาหลายปีนั้น จะทำให้ผู้เรียนได้สนิทสนมกัน ได้ใช้เวลาทำความเข้าใจคน ซึ่งก็เป็นคนในระดับมีคุณภาพด้วยกันในหลายแง่มุม ซึ่งไม่สามารถดูได้จากในใบแจ้งผลการเรียนเพียงอย่างเดียว หรือแม้แต่การได้รับใบแนะนำตัวของอาจารย์ผู้สอน ก็ไม่ดีเท่ากับการที่เพื่อนได้รู้จักเพื่อนในทุกแง่มุมในระยะที่ได้เรียนร่วมกันมา เพื่อนเหล่านี้จึงมีผลในการเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานในระยะต่อมา

4. การตั้งเป้าหมายการเรียนในระดับมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (excellence) สถาบัน ประเภทนี้จะไม่ยอมรับในการเป็นความสำเร็จในระดับปานกลาง (mediocre) เขาจะมองว่าอะไรก็ตามที่เป็นอย่างปานกลางนั้นคือล้มเหลว สถาบันจะมีส่วนกระตุ้นให้คนต้องพยายามแสวงหาศักยภาพของตนเอง มีทางเลือกในการฝึกฝนในทางที่ตนชอบ ไม่ว่าจะมีวิชาเลือกให้มากมาย มีห้องทดลอง ห้องสมุดที่จะได้ค้นคว้าตามความสนใจด้วยตนเอง และมีกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือคลับต่างๆ ที่นักศึกษาจะได้เลือกเข้าร่วม ที่สำคัญที่สุด คือการมีบรรยากาศการแข่งขันและการตั้งความหวังไว้สูง อย่างที่เขาเรียกว่า "ท่านจะเป็นอะไรก็ได้ แต่อย่าเป็นสองรองใคร" การสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในสถานศึกษา และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เรียน ว่าได้ผ่าน การศึกษามาอย่างดีแล้วนั้น ทำให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าเขาจะทำอะไรก็ตาม เขาจะต้องทำมันอย่างดีที่สุด
การเรียนในโรงเรียนนายทหารของไทย

การเรียนในโรงเรียนนายทหารของไทยนั้น นักรณรงค์กลุ่มก้าวหน้า และนักต่อต้านเผด็จการหลายคนแทบมองไม่เห็นความดีของสถาบันประเภทนี้ ด้วยเหมารวมว่าเป็นตัวแทนของเผด็จการทั้งมวล แต่ถ้ามองอย่างเป็นธรรม และมองในแง่ที่ดีของเขา จะพบว่าสถาบันเหล่านี้ในอดีตมีระบบการฝึกฝนคนให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความเข้มแข็ง ทำอะไรทำจริง มีความกล้าหาญ กล้าได้กล้าเสียกล้าตัดสินใจ สามารถตัดสินใจในกิจการที่ข้าราชการสายพลเรือน ทั่วไปนั้นไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งทำให้บัณฑิตจากสถาบันประเภทนี้ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำของประเทศในอดีตมาตลอด แม้จะเป็นช่วงที่การเข้าสู่อำนาจนั้นมีลักษณะของการเป็นเผด็จการทหาร ลักษณะการเรียนการสอนของสถาบันเหล่านี้ มีจุดเด่นอยู่ที่ (1) การได้คนเข้ามารียนที่มีคุณภาพ มีความสามารถและ เป็นความสามารถที่ต้องมีอย่างรอบด้าน ทั้งทางด้านวิชาการ ร่างกาย และทางด้านบุคลิกภาพ และสังคม (2) มีการเรียนการสอนที่ต้องฝึกฝน และลงมือปฏิบัติจริง มีความเสี่ยงจริง มีโอกาสพลาดจนอาจทำให้บาดเจ็บ หรือตายได้จริง ซึ่งทำให้ผู้เรียนต้องฝึกรับผิดชอบ คุ้นเคยกับสถานการณ์เสี่ยงที่ไม่มีความแน่นอน (3) มีการสอนให้มีทักษะมนุษย์ คนเรียนโรงเรียนนายทหารไม่สามารถเรียนอย่างแยกตัวเองได้ ต้องมีสัมพันธภาพกับทั้งรุ่นพี่ เพื่อนรุ่นน้อง และเพื่อนร่วมรุ่น และ (4) มีการสอนที่ให้ประสบการณ์ทั้ง 24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน คือต้องมีการเรียนรู้และฝึกฝนกันทั้ง 24 ชั่วโมง ตื่นนอน จนกระทั่งเข้านอน และถึงในเวลานอนก็ได้รับการฝึกฝน และเกือบทั้งปีนั้นก็มีกิจกรรมการเรียน และกิจกรรมทั้งในและนอกหลักสูตรที่ทำให้ผู้เรียนต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

ในปัจจุบันในสหรัฐและยุโรปนั้น เขาเล็งเห็นคนที่มีประสบการณ์จากโรงเรียนนายทหารนั้นมีคุณค่าในการเข้าไปทำงานในภาคธุรกิจ เขา เห็นโรงเรียนประเภทนี้มีคุณภาพในฐานะเป็นแหล่งเตรียมนักบริหารยุคใหม่ที่ สำคัญอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สถาบันประเภทนี้จะมีข้อจำกัดอยู่ตรงที่มีการสอนให้คนต้องปฏิบัติตามคำสั่ง และการต้องให้คนอยู่ในวินัยและกรอบทางราชการทหารเป็นหลัก ซึ่งทำให้บัณฑิตที่จบมาอาจมีปัญหาในด้านความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานที่สามารถริเริ่มงานใหม่

การเรียนรู้จากเพื่อน

ในสุภาษิตไทยมักจะมีคำกล่าวอยู่เสมอว่า "คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล" การมีเพื่อนและรุ่นพี่ที่ดีนั้น (Friends and Mentors) เป็นหนทางสู่ความสำเร็จที่สำคัญของชีวิต

เพื่อนในที่นี้หมายถึงเพื่อนทั้งในและนอกสถานศึกษา ทั้งเพื่อนในวัยเดียวกัน และเพื่อนรุ่นพื่ ซึ่งเพื่อนที่ดีในที่นี้หมายถึงการได้มีเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตร การจะเรียนรู้จากเพื่อนนั้นควรได้จากการคบเพื่อนที่หลากหลาย

กล่าวคือให้หลากหลายในวิชาชีพและวิชาการ เมื่ออยู่ในมหาวิทยาลัยก็คบเพื่อนต่างคณะ ต่างความชำนาญ และต่างความคิดเห็น เพื่อให้เกิดวิธีการคิดการมองจากหลายแง่มุม

เพื่อนที่หลากหลายในวัย เมื่อเป็นเด็ก ก็ได้เรียนรู้จากเพื่อนรุ่นอาวุโส ที่เขาได้มีประสบการณ์มาก่อน ได้เห็นอะไรมาก่อน เมื่อเป็นผู้อาวุโสเองแล้วก็ให้ได้มีเพื่อนผู้เยาว์ หรือมิตรที่เป็นคนในวัยหนุ่มวัยสาว คนที่อายุมากขึ้นนั้น มักจะมีความเฉื่อยชาและการหมดไฟเข้าเกาะกุม เมื่อมีเพื่อนในวัยหนุ่มสาวนั้น จะทำให้ได้เห็นวิธีการคิด วิธีการทำงานที่ฉับไว เต็มไปด้วยพลัง กล้าได้กล้าเสีย

เมื่อเป็นนักธุรกิจ ก็ต้องรู้จักคบเพื่อนต่างอาชีพทั้งคนเป็นข้าราชการ นักวิชาการปัญญาชน พ่อค้านักธุรกิจต่างสาขาอาชีพ คนทำงานภาคองค์กรพัฒนาเอกชน คบทั้งคนมีฐานะ คนยากจน หรือผู้ดิบผู้ดีทั้งหลาย

ไม่ว่าจะเป็นหญิง หรือเป็นชาย ก็ให้รู้จักการคบเพื่อนต่างเพศ ซึ่ง ในที่นี้ การคบเพื่อนต่างเพศนั้นไม่ใช่หมายความว่าจะต้องเกี่ยวข้องหรือมีความ สัมพันธ์ฉันชู้สาวเสมอไป การที่เป็นชาย ได้มีเพื่อนสตรีนั้น ก็ทำให้ได้รู้จักความละเอียดอ่อนแบบผู้หญิง สำหรับหญิงเมื่อมีเพื่อนเป็นชาย ก็ได้เรียนรู้โลกในหลายแง่มุมที่สังคมไทยไม่เปิดโอกาสให้สตรีได้มีโอกาสไป เรียนรู้หรือทำความเข้าใจ

การคบเพื่อนต่างโลก การพบปะพูดคุยกับนักบวชทั้งในศาสนาตน และอื่นๆ การได้เรียนรู้ทัศนะทางด้านศาสนาในโลกที่มีความแตกต่างกัน มิได้หมายความว่าจะต้องไปเชื่อในทุกเรื่อง แต่การได้เรียนรู้นี้จะทำให้ได้เข้าใจวิธีการคิดของคนที่ต่างวัฒนธรรม เข้าใจความคิด และเกิดความเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้

การได้คบและรู้จักทั้งคนดี และคนไม่ดี อัน ที่จริงคนเราเมื่อได้เติบโตมาจนถึงวัยหนึ่งแล้ว การได้คบกับคนดีก็ช่วยเกื้อหนุนกันไป เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน แต่บางครั้ง การได้รู้จักกับคนที่ไม่ดีนั้น ก็มีประโยชน์ในอีกแง่มุมหนึ่ง คือการได้มีโอกาสทำความเข้าใจคนที่มีปัญหา หรือคนที่สังคมไม่ยอมรับ อันว่าคนไม่ดีนั้น ไม่ใช่เขาจะไม่ดีไปเสียทั้งหมด คนที่ถูกสังคมประนามว่าเป็นคนไม่ดี เช่น คนคุกคนตะราง หญิงโสเภณี คนขี้เหล้าเมายา เหล่านี้ เขามีโอกาสเป็นครูสอนชีวิตให้ได้ ถ้าเรารู้จักแยกแยะและมีภูมิต้านทานที่ดี และยิ่งไปกว่านั้น ได้มีโอกาสช่วยเหลือเขาให้บรรเทาทุกข์ไปด้วย เป็นกุศลในชีวิตไปอีกแบบหนึ่ง

การเรียนรู้จากผู้ใหญ่

ผู้เขียนอยากจะเน้นการเรียนรู้ในอีกแบบหนึ่งที่ในปัจจุบันมักไม่ได้ให้ความสำคัญกันมากเหมือนในสมัยก่อน ซึ่งด้วยความเป็นจริงก็ยอมรับว่าในโลกสมัยใหม่นั้น เด็กรุ่นใหม่ๆสามารถเรียนรู้วิทยาการก้าวหน้าต่างๆได้อย่างรวดเร็วกว่าในสมัยเดิมมาก คนที่ประสบความสำเร็จเป็นนักบริหารในบริษัททางด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ยิ่งใหญ่นั้น อายุไม่มากนัก เขาสามารถก้าวหน้าได้ด้วยความคิดที่เฉียบคมล้ำหน้าคนในรุ่นก่อนๆ แต่จะไม่เป็นการแปลกใจนักที่ผู้ประสบความสำเร็จทางการบริหารเหล่านั้น กลับต้องจ้างผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์ด้านองค์การมาเป็นผู้ช่วย เพราะเมื่อใดที่ต้องมีการทำงานในรูปองค์การขนาดใหญ่ขึ้นมานั้น ประสบการณ์ของคนในรุ่นเก่าๆบางส่วนก็มีความจำเป็น

ในทางศาสนานั้น การเป็นพระได้บวชเรียนนั้น ถ้าได้อยู่ภายใต้การแนะนำของพระผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญา มีความคิดความอ่านที่พระบวชใหม่จะได้มีโอกาสเรียนรู้นั้นก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง มิฉะนั้นก็อาจได้บวช ได้ห่มผ้าเหลือง ได้อดข้าวเย็น ได้อยู่อย่างสำรวม แต่ถ้าไม่มีพระอาวุโสคอยชี้แนะแล้ว ประสบการณ์นั้นอาจไม่มีความหมายอะไรมากนัก

การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในต่างประเทศนั้น เขาต้องอาศัยการได้เรียนรู้จากอาจารย์รุ่นพี่ หรืออาจารย์ที่ปรึกษา ในการเรียนต่อระดับปริญญาขั้นสูงนั้น นักศึกษาที่ต้องการเรียนรู้จะยอมอาสาตนเองเ ป็นผู้ช่วยในการค้นคว้าวิจัยให้กับนักวิชาการที่มีซื่อเสียงและได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว เพื่อให้ได้เรียนรู้อุปนิสัยในการทำงาน เข้าใจวิธีการคิด การทำงาน ไม่ใช่เพียงได้เรียนรู้เนื้อหาสาระเพียงอย่างเดียว

ในประวัติของวงการคิดค้น และงานประดิษฐ์เมื่อต้นศตวรรษนี้นั้น มีนักศึกษาหนุ่มผู้ใฝ่ความก้าวหน้ามากมายจากทั่วโลกอยากได้ร่วมทำงานกับ Alexander Greham Bell นักประดิษฐ์ผู้คิดค้นระบบโทรศัพท์และอื่นๆอีกมากมาย ที่สำคัญที่บรรดาคนหนุ่มไฟแรงที่อยากเป็นนักคิดนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้นจะได้มากที่สุดคือ ได้เรียนรู้วิธีการคิดและการทำงานจากนักประดิษฐ์อัจฉริยะอย่าง Bell ซึ่งในยุคก่อนนั้นมีคุณค่ามากว่าการได้เรียนในมหาวิทยาลัยแล้วได้รับปริญญาขั้นสูงเสียอีก

ในประเทศไทยปัจจุบัน การได้ทำงานใกล้กับผู้ใหญ่อย่างคุณหมอประเวศ วะสี อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อาจารย์เสน่ห์ จามริก หรืออาจารย์ระพี สาคริก นั้น ส่วนหนึ่งเป็นการทำความเข้าใจในสิ่งที่ท่านคิด แต่อีกส่วนหนึ่งคือการได้ศึกษาอุปนิสัยใจคอ ได้ดูแบบอย่างความเป็นครู ในบางครั้งได้มีบรรทัดฐานในการตรวจสอบตนเองในหลายเรื่องและทีสำคัญได้เห็นแบบอย่างและเข้าใจในวิธีการครองตนอย่างมีศักดิ์ศรี แม้กำลังอยู่ท่ามกลางกระแสวัตถุนิยมที่คนทั่วไปมักจะอ่อนล้า และปล่อยลอยไปตามกระแสมากกว่าจะยืนหยัดเพื่อให้ได้มีโอกาสทำหน้าที่เตือนสติสังคมอย่างท่านเหล่านี้

อย่าง ไรก็ตาม การได้ทำงานร่วมกัน หรือได้คอยรับใช้ผู้ใหญ่นั้น ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เข้าไปเลียนแบบ หรือไปเข้าเบ้าหลอม บางอย่างเป็นการไปเลือกรับบางอย่างที่ดี มีบางอย่างที่ต้องประยุกต์ใช้ และมีบางอย่างที่ต้องเข้าใจในความเป็นตัวตนของแต่ละคน และเราจะต้องเลือกพัฒนาตนไปตามฐานที่มา และตามศักยภาพและความสนใจที่แตกต่างกันออกไป

การทำงานในองค์การที่ดี

คนสมัยใหม่บางคนจะตัดสินใจเลือกงานกันโดยดูว่าจะได้เงินค่าตอบแทนเท่าไร ทำอย่างไรจึงจะได้ค่าตอบแทนสูงที่สุด บางคนต้องการทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งมีระบบสวัสดิการ มีความมั่นคง โดยไม่ได้นึกถึงความก้าวหน้าในนำแหน่งหน้าที่การงาน และบางคนเลือกเข้าไปทำงานเพราะตามเพื่อนเข้าไป โดยไม่ได้มีความคิดเป็นของตนเองก็มี

การเลือกองค์การในการทำงานนั้นควรมองการได้โอกาสที่จะเรียนรู้ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ และได้มีโอกาสที่จะทำงานพิศูจน์ความสามารถ คนที่ได้ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นเรื่องที่สำคัญด้วย การที่ผู้นำที่ได้รับการยกย่องนั้น เมื่อเขาเริ่มต้นชีวิตการทำงาน เขาอาจไม่ได้เลือกทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ เพราะบริษัทที่ยิ่งใหญ่ บางทีก็มีโอกาสให้คนเล็กๆไม่มากนัก คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่เข้าทำงานใหม่ๆไม่มีโอกาสมากนักที่จะพิศูจน์ฝีมือ บางคนจึงเลือกที่จะทำงานในที่เล็กๆ ที่เขามีโอกาสแสดงความสามารถ และมีกรณีปัญหาที่ทำให้ได้เรียนรู้มากกว่า ตัวอย่างแพทย์ฝึกหัดในต่างประเทศหลายคนอยากไปฝึกงานในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่ยังไม่พัฒนา อย่างเช่นใน เอเซีย อาฟริกา หรือในอเมริกาใต้ ทั้งๆที่ประเทศเหล่านี้ขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ แต่สิ่งที่เขาต้องการมากกว่านั้น คือโอกาสที่จะได้ฝึกกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ที่จะมีคนไข้มาให้ครวจรักษาวันละนับเป็นร้อยๆคน ในขณะที่ถ้าเขาอยู่ในประเทศของเขาเอง เขาจะไม่มีโอกาสได้รักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยมากนัก ไม่ได้โอกาสได้ทำงานอย่างอิสระ ต้องอยู่ภายใต้กฏระเบียบ ต้องทำอะไรอย่างถูกต้อง หรือการต้องระวังที่จะถูกฟ้องร้องกลับ เพราะรักษาผิดจากมาตรฐานทางวิชาชีพ

คนบางคนเลือกที่จะตั้งบริษัทหรือองค์การเล็กๆของตนเองขึ้นมา บางคนเป็นนักศึกษาที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพในระหว่างศึกษาเล่าเรียน ก็ไปเช่าร้านเล็กๆในตลาดเปิด เพื่อฝึกประกอบอาชีพเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยตนเอง ได้สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง ซึ่งก็นับเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี

อย่าง ไรก็ตาม องค์การขนาดใหญ่หลายแห่งในปัจจุบันได้ตระหนักถึงปัญหาความไม่ท้าทายคนรุ่น ใหม่นี้ จึงต้องหาทางสร้างระบบพัฒนาคน มีการฝึกอบรมในหลากหลายรูปแบบ และใช้เวลาเหล่านั้นในการศึกษาศักยภาพของแต่ละคน เพื่อให้สามารถใช้ศักยภาพของคนได้อย่างเต็มที่ ส่วนการจัดประสบการณ์การฝึกอบรมนั้น ก็มีการมุ่งเน้นโอกาสการเติบโตของคนทำงานในระยะยาวควบคู่ไปกับการฝึกงานที่ ทำให้เขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงสั้นนั้นๆ

การสร้างเสริมในส่วนที่ขาดตก

ปัญหา ของมนุษย์ประการหนึ่งคือการไม่เป็นคนที่สมบูรณ์ และเพราะความที่เป็นคนที่ไม่สมบูรณ์เอาอย่างมากๆนั้น บางครั้งทำให้เขาสูญเสียโอกาสในการทำงาน และการปิดกั้นความสำเร็จในชีวิตอย่างน่าเสียดาย ความไม่สมบูรณ์ของชีวิตที่เรามักจะพบเห็น อาจมีลักษณะดังต่อไปนี้

- ความลึกซึ้งที่ตามมาด้วยความคับแคบ เช่น ความมีสุนทรียภาพ แต่ก็ตามมาด้วยความเป็นคนเจ้าอารมย์ ความคับแคบในความคิดเพราะการพัฒนาเพียงบางด้าน แต่ปล่อยประในด้านอื่นๆ

- ความ สนใจกว้างขวาง แต่ก็มักตามมาด้วยลักษณะที่สะเปะสะปะ ขาดการมุ่งมั่นที่จะทำอะไรให้สำเร็จในท้ายสุด เหมือนสนใจที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่สนใจที่จะทำงานอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน

- การ เรียนรู้อย่างไม่เชื่อมโยง เหมือนการศึกษานั้นคิดว่าต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง และความไม่เชื่อมโยงนี้ ทำให้ไม่มีโอกาสใช้ความรู้นั้นได้อย่างเต็มที่ วิชาความรู้นั้นก็ไม่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และต่อส่วนรวม

ข้อพึงคิด

อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้นั้นไม่มีใครสามารถเรียนรู้สรรพสิ่งได้ทั้งหมด การเรียนรู้ที่จะต้องรู้ว่าจะต้องเรียนอะไร อะไรคือสิ่งที่สำคัญมาก สำคัญด่วน และอะไรคือเรื่องที่ค่อยศึกษาเมื่อระยะต่อไปในชีวิตได้ การเรียนรู้ไม่ใช่ “การสะสมองค์ความรู้” มีความรู้บางอย่างที่จำเป็นและต้องเรียนตั้งแต่เริ่มแรกของชีวิต เช่น การเรียนรู้ให้เกิดทักษะทางด้าน การอ่าน การเขียน การพูด การคิดอย่างวิเคราะห์ การเรียนคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกว่า เรียนบวก ลบ คูณ หาร ส่วนการเรียนเพื่อให้เข้าใจโลก และสังคมรอบด้านนั้นอาจไม่สำคัญที่ต้องจำเนื้อหาทั้งหมด แต่ทำอย่างไรจึงจะเรียนรู้แนวคิด หรือข้อคำถามที่สำคัญ และความที่ตระหนักที่จะไม่หยุดศึกษาหาเรียนรู้ในระยะต่อไปในชีวิต ในทางศึกษาศาสตร์จึงต้องมีวิธีการวางหลักสูตร ซึ่งไม่ใช่เพียงนำเอาสรรพวิทยาการทั้งหลายมาถ่ายทอด แต่จะต้องมีการเลือกสรรว่า ในความรู้ที่มีอยู่มากมายนั้น มีอะไรบ้างที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องให้กับผู้เรียนอย่างสอดคล้องกับวัย และที่สำคัญที่สุดคือคนแต่ละคนนั้นมีความจำเป็นในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน บางคนต้องรีบเรียนหนังสือแล้วรีบออกไปประกอบอาชีพ แล้วค่อยหาทางพัฒนาตนเองตามโอกาสต่อไป แต่บางคนไม่จำเป็นต้องรีบเร่งทางด้านการอาชีพ มีเวลาที่จะศึกษาสิ่งรอบๆตัว และทั่วไปได้มากกว่า นับเป็นการเตรียมตัวระยะยาว หลักสูตรชีวิตของแต่ละคนนั้น ท้ายที่สุดมนุษย์แต่ละชีวิตจะต้องเรียนรู้ที่จะสร้างมันขึ้นมาเอง และปรับเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ ตามความจำเป็นและข้อเท็จจริงในชีวิต

มีคำถามที่มักจะถูกถามเสมอ ก็คือ การเรียนรู้เพื่อพัฒนาส่วนที่บกพร่อง หรือว่าการเรียนเพื่อพัฒนาจุดที่เด่นแล้วให้เด่นยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งจะเป็นการตอบว่าจะเน้น "การถมบ่อ หรือว่าพูนเนิน"

บางครั้งคนเราพยายามสร้างเสริมในส่วนที่เป็นจุดอ่อน โดยไม่เน้นพัฒนาในจุดเด่น เราก็อาจได้คนที่มีลักษณะเป็นคนที่สมบูรณ์ แต่เป็นคนธรรมดา ไม่มีจุดเด่นอะไร แต่บางครั้ง เราพยายามพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้แก่คนนั้นๆให้มากเข้าไว้ เหมือนจะพูนเนินจนกระทั่งเนินนั้นขาดฐานรองรับ ท้ายสุดก็ต้องถล่มลงมา เพราะบริเวณรอบๆนั้นเป็นบ่อมากมาย ที่พร้อมจะทำให้เนินนั้นถล่มอยู่แล้ว เปรียบเหมือนการเรียนรู้นั้น เราคงอยากจะถมเนินขึ้นไป เพื่อให้แต่ละคนนั้นมีจุดเด่น สามารถบรรลุความสำเร็จสูงสุดในชีวิตได้ แต่ก็นั่นแหละ ความสำเร็จนั้นอาจได้มาด้วยการมีฐานที่แน่นเพียงพอ แต่หากยิ่งสูงขึ้นไปๆ เปรียบเหมือนความรู้เฉพาะด้านนั้นก็กลายเป็นเนินที่ไร้ฐาน พร้อมที่จะถล่มลงทุกเมื่อ ดังนั้น ความเป็นเนินและความเป็นฐาน จึงต้องสัมพันธ์ต่อกัน

ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่า สิ่งใดเป็นความจำเป็น และสิ่งใดเป็นสิ่งทียังไม่จำเป็นสำหรับระยะนั้นๆ

การใช้เวลาในการเก็บสะสมในส่วนที่เกินความจำเป็น ใช้เวลาในห้องสมุด แสวงหาในสิ่งที่ท้ายสุดก็ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในทันที เวลาเราเข้าไปในห้องสมุด หรือการได้นั่งหน้าเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ ได้ใช้ Internet หรือเครือข่ายฐานข้อมูลที่เชื่อมกันได้ทั่วโลกนั้น เหมือนกับการตกลงไปในบ่อน้ำ แม้จะรู้สึกกระหาย จะดื่มจะกินเท่าไรก็มีไม่หมด ท้ายสุดเราต้องมาทำความเข้าใจว่า ความสำคัญของการศึกษานั้นไม่ใช่ความพยายามจะเรียนรู้ไปในทุกเรื่อง หรืออยากเรียนอะไรก็เรียนไป แต่การเรียนรู้นั้นหมายถึงจะต้องรู้ว่าจะเลือกเรียนในสิ่งที่เหมาะสมได้อย่างไร

โดยพยายามเรียนรู้สะสมองค์ความรู้ เพื่อที่จะได้เป็นการเตรียมตัวเอาไว้สำหรับในอนาคต แต่มีเป็นอันมากในการเตรียมตัวนั้น เป็นการเตรียมตัวโดยต้องไปเรียนในสิ่งที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในขณะนั้น หรือในบางทีไม่มีความสัมพันธ์กับสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ ยังไม่สัมพันธ์กับชีวิต ดังในอดีตการศึกษาในมหาวิทยาลัยก็เป็นหลักสูตรบังคับเรียน โดยทางมหาวิทยาลัยคิดว่าอะไรเป็นประโยชน์ก็บรรจุใส่เข้ามาในหลักสูตร เช่นต้องเรียนศาสตร์ทั้ง 7 ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นการเรียนเพื่อรู้ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว อย่างภาษาเก่า คือกรีก หรือลาติน เป็นการเรียนตามที่คนในอดีตเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น

การ บังคับเรียนจึงไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ดี ซึ่งในต่างประเทศได้มีการต่อสู้เพื่อให้การเรียนในมหาวิทยาลัยได้ปรับ เปลี่ยนไปสู่ระบบการเลือกเรียนเสรี (Elective System) มาเกือบศตวรรษแล้ว

Charles Eliot อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ได้เสนอแนวคิด การให้เลือกเรียนได้แบบเสรี (Elective System) ซึ่งให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกเรียนอย่างที่ต้องการมากขึ้น วิชาใหนไม่มีความจำเป็นคนก็ไม่เรียน และในที่สุด ก็กลายเป็นการปฏิรูปหลักสูตรไปทั้งทวีปอเมริกาเหนือ

อย่างไรก็ตาม การเลือกเรียนแบบเสรีนั้น มีส่วนดีที่ได้กำจัดเนื้อหาในหลักสูตรที่อัดแน่น แต่ไร้ประโยชน์ออกไป แต่ก็มีส่วนที่ทำให้คนไม่ได้เรียนในสิ่งที่จำเป็นในชีวิต ดังนั้นจึงได้มีคนเสนอแนวคิดการจัดการศึกษาทั่วไป (General Education) ยุคใหม่ขึ้นมาในมหาวิทยาลัยเป็นระยะๆ เพราะเมื่อคนจะสนใจเรียนอะไรตามความต้องการเฉพาะของแต่ละคนนั้น เขาก็จะสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง เหมือนเป็นการขาดฐานสำคัญของชีวิต ยิ่งเติบโตต่อไปประสบปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ยากลำบากในการทำงาน และทำให้ไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงที่ซับซ้อน และอาจตัดสินใจอย่างผิดพลาดได้ ดัง นั้นแม้ในมหาวิทยาลัยที่สอนทางด้านเทคโนโลยีเขาก็จะต้องกำหนดให้ผู้เรียน ต้องเรียนวิชาทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหลักสูตร และในทางกลับกัน ผู้ที่เรียนทางด้านมนุษยศาสตร์หรือคนที่เรียนทางด้านสังคมศาสตร์ ก็จะต้องได้เรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไป ธรรมชาติวิทยา หรือสิ่งแวดล้อมไว้เป็นพื้นฐานทั่วไปเช่นกัน

ในด้านการแก้ปัญหาการเรียนรู้แบบสะเปะสะปะ หรือเรียนไปอย่างไร้จุดหมายนั้น สังคมตะวันตกยุคใหม่จึงเน้นระบบการเรียนไปที่กระบวนการแก้ปัญหา (Problem-Based Learning) มากขึ้น ซึ่งการจัดหลักสูตรวิธีการเรียนแบบนี้ที่น่าสนใจ คือ ต้องมาตรวจสอบดูว่าอะไรในชีวิตคนเราที่ต้องประสบปัญหามากที่สุด แล้วมาจำลองเป็นกรณีศึกษา หรือสถานการณ์จำลองขึ้น ให้คนได้ฝึกแก้ปัญหาเหล่านั้นให้ได้ด้วยตนเองให้มากที่สุด ได้มีประสบการณ์ตรง ได้ลงมือทำ ได้คิดเอง ทำเอง และให้ได้แก้ปัญหาเองเป็น ซึ่งการเรียนแบบนี้ไม่เน้นการต้องให้เนื้อหาสาระให้มากเข้าไว้เป็นที่ตั้ง แต่จะเน้นไปที่การสร้างความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง การมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ การได้ส่งเสริมให้สามารถคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้สามารถตอบปัญหาหลายๆ อย่าง ซึ่งคนในยุคสมัยนั้นๆ อาจไม่สามารถคิดตอบได้

การเรียนรู้จากความทุกข์ยาก

คนทั่วไปต้องการที่จะลืมความทุกข์ยากและประสบการณ์เลวร้ายที่ผ่านมา ดังที่จะมีการปลอบกันหลังประสบปัญหาวิกฤติว่า "ขอให้ลืมเสียเถิด นึกเสียว่าเป็นฝันร้าย" ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเจตนาที่จะให้ลืมกันจริงๆ สำหรับประเพณีการให้อภัยของไทยนั้นก็มักมีคนเอาไปตีความกันอย่างผิดๆ เช่น คนไทยมักจะใช้คำว่า "ไม่เป็นไร ลืมเสียเถิด" ซึ่งเป็นเจตนาว่า สิ่งที่ได้กระทำผิดมาแล้วนั้น ได้รับการอภัย คนบางคนก็เลยเข้าใจกันว่าให้ลืมประสบการณ์เหล่านั้นจริงๆ เหมือนให้ลบไปจากความทรงจำ สำหรับคนกระทำสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้วนั้น ถ้าเห็นว่าอะไรที่ทำผิดพลาดแล้ว ก็ให้ลืมเสีย อย่างนี้จะเป็นอันตราย เพราะความผิดนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นมาได้อีกด้วยความลืมตัว ความเคยชิน และความไม่ใส่ใจเรียนรู้ในสิ่งที่ที่ผ่านมา ยกตัวอย่างคนไทยไม่มีโอกาสได้พัฒนาประชาธิปไตยกันอย่างเต็มที่ เพราะประสบการณ์การต่อสู้ที่ผ่านมานั้น เมื่อเหตุการณ์ความทุกข์ยาก การเลือดตกยางออกที่ผ่านไป ก็มักจะถูกลืมทิ้งไปอย่างรวดเร็ว และแล้ววงจรแห่งความชั่วร้าย เช่นการปฏิวัติรัฐประหารก็กลับคืนมาอีก เป็นต้น

ความจริงบทเรียนจากอดีตนั้น แม้จะขมขื่น แต่ถ้าเราได้จดจำไว้ และนำมาเป็นบทเรียนสอนกัน ก็จะเป็นคุณประโยชน์

คนญี่ปุ่นหลังสงครามโลกได้เรียนรู้บทเรียนจากความหายนะของสงคราม ความทุกข์ยากจากสงครามนิวเคลียร์ที่ชาวเมืองฮิโรชิมา และนางาซากิได้รับ เขาน่าจะเป็นครูที่ดีในการสอนสันติภาพแก่ชาวโลก

ชาวยิวได้รับบทเรียนจากสงครามล้างเผ่าพันธุ์ การถูกสังหารหมู่ด้วยวิธีการที่โหดร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองหลายล้านคน ถ้าได้ใช้ประสบการณ์นั้นตอบต่อผู้ที่ด้อยกว่า ได้ใช้ประสบการณ์นั้นเป็นเครื่องเตือนใจ สร้างสันติภาพ การล้างลัทธิเผ่านิยม การคลั่งชาติมิให้เกิดขี้นได้ สันติสุขก็จะบังเกิดแก่โลก

ชาวเยอรมันได้ใช้บทเรียนจากสงครามโลกทั้งสองครั้ง ได้เห็นปัญหาของลัทธิถือเผ่าพันธุ์ และชาตินิยมอย่างสุดขั้ว ก็จะไม่เกิดปัญหา ลัทธินาซีใหม่ จะก่อตัวขึ้นมาได้อีก

คนที่เคยยากจนและถูกเอาเปรียบมาแล้ว เมื่อมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้น ก็ให้เห็นใจต่อคนยากจน คนไม่มีโอกาสที่จะไต่เต้า ปัญหาการเอาเปรียบกันในสังคมก็จะลดน้อยลง

อดีตไม่ว่าจะดีหรือเลว ล้วนเป็นบทเรียนเตือนสติเราได้ทั้งสิ้น

การเดินทางและท่องเที่ยว

การได้มีโอกาสเดินทางไปในที่ต่างๆนับเป็นการศึกษาที่ดีวิเศษ ถ้าเราจะใช้ให้เป็นประโยชน์จากการเดินทางนั้น ๆ

คนเราเป็นอันมากที่เมื่อมีโอกาสท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ แต่กลับจะคิดสนุกสนานกับการร้องรำทำเพลงไปในรถโดยสาร ไม่ได้มีโอกาสเห็นสองฝั่งทาง บางครั้งเรามองเห็นทิวทัศน์ แต่ก็มองเพียงเพื่อความสบายตา แต่บางคนนั้นเขามองลึกไปในสิ่งเหล่านั้นด้วยความสังเกต ถ้าได้ท่องเที่ยวขึ้นเหนือ หรืออีสาน และมองอย่างสังเกต เราจะเห็นไม้ใหญ่ที่สูญหายไป เห็นไม้เล็กและต้นหญ้ามาทดแทน ถ้าผ่านเขตป่าจะมองเห็นบ้านที่เป็นไม้แปรรูปที่มาจากการตัดไม้ในป่าแล้วมาเลื่อยแปรรูปด้วยมือ เพื่อรอการขายเป็นไม้เก่า เหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่มองเห็นสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป บางคนเห็นสิ่งเหล่านี้มาตลอดชีวิตแต่ไม่มีคำถาม แต่บางคนยิ่งเห็นมากก็ยิ่งมีคำถาม และบางคนมองเห็นเป็นปัญหาและเป็นแรงจูงใจที่ต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหา

โบราณท่านว่า "สิบปากว่า ยังไม่เท่าตาเห็น" คนที่จะเรียนรู้โดยหวังอ่านสิ่งที่ได้มีคนเขียนสรุปเอาไว้นั้น ทำให้บางครั้งถูกหลอก หรือถูกบิดเบือนข้อเท็จจริงได้โดยง่าย

Henry Thoreau นักเขียนและนักคิดคนสำคัญของอเมริกันที่มีส่วนกระตุ้นเร้าให้คนเห็นปัญหาทางจริยธรรมของการมีทาสในสังคมอเมริกันในศตวรรษที่ 18 ได้ให้ทัศนะว่า "การท่องเที่ยวนั้นทำให้คนได้เห็นโลกชัดเจนขึ้นในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป" มันอาจจะแตกต่างออกไปจากที่เขาเคยได้รับคำบอกเล่ามา

Alfred Gottschalk ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้อพยพมาสู่สังคมอเมริกัน ได้ให้ภาพสะท้อนความสำเร็จของเขาว่า

ผมมาอเมริกาอย่างคนอพยพ ไม่มีหัวนอนปลายเท้า หรือมีก็มีอย่างเป็นลบ ผมเป็นยิว จากเยอรมัน และก็แต่งตัวตลก พูดภาษาของคนที่นี่ (คือภาษาอังกฤษ) ก็ไม่ได้ และผมก็ไม่มีเงิน แต่ในที่สุดผมก็สามารถจบจากโรงเรียนมัยมของที่อเมริกาได้ด้วยคะแนนสูงเฉลี่ย 92 และเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน ผมสามารถเติบโตเป็นอิสระได้ก่อนใครอื่น

Gottschalk นั้นเขาได้ประโยชน์ทั้งจากการเป็นคนอพยพ ซึ่งก็มักจะมีความตื่นตัวต่อสถานที่ใหม่ การต้องมีความพยายามปรับปรุงตัวเองให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในที่ใหม่นั้น การที่ได้เคยอยู่ทั้งในวัฒนธรรมแบบยิว เยอรมัน และเมื่อมาอยู่ในโลกใหม่ คือสหรัฐอเมริกานั้น จึงทำให้เขาได้เห็นอะไรมากมายกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน มีฐานการรับรู้ที่กว้างกว่า และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า หรือจะขึ้นสู่ที่สูงได้มากกว่าคนที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมา ด้วยเหตุนี้ เขาจึงสามารถเรียนจนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ Uiniversity of Southern California และผ่านการศึกษาทางศาสนาจาก Hebrew Union เป็นผู้สอนศาสนาที่เรียกว่า Rabbi และได้เป็นอธิการบดีของที่นั้น เป็นคนที่เขียนหนังสือและบทความ ได้รับรางวัลในชีวิตมากมาย และรวมถึงได้รับความไว้วางใจจากประธานาธิดีของสหรัฐในการเป็นกรรมการด้านสิทธิเสมอภาคในช่วงปีค.ศ. 1960

ชาวยิวที่มีอัตราส่วนการเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะส่วนหนึ่งชนชาติยิวนั้นเป็นผู้อพยพมาก และการที่ได้เปลี่ยนสถานที่ ย้ายข้ามประเทศมากๆนั้น ทำให้ได้เห็นโลกมามาก ได้เรียนรู้มาก

อดีตนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุนหวัณ ที่หลายคนมองเห็นว่าเป็นเพลบอย ไม่ใช่เป็นคนเรียนเก่งที่อาจารย์ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าสามารถชื่นชมได้ แต่การที่ต้องถูกขจัดให้พ้นเส้นทางๆการเมือง จนต้องไปเป็นฑูตในต่างประเทศอยู่นานหลายปีนั้น เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ท่านได้รู้ได้เห็นอะไรมากมาย ในประเทศเหล่านั้น ซึ่งมีส่วนที่ทำให้เป็นนายกรัฐมนตรีชาติชายกล้าตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆได้ ทั้งๆที่หลายคนมองเห็นท่านเหมือนเป็นคนไม่จริงจังอะไร

มหาตมะ คานธี ได้ประสบการณ์ชีวิตที่นำไปสูความยิ่งใหญ่ในยุคของท่านเอง ส่วนหนึ่งก็เพราะการได้ผ่านชีวิตทั้งจากเมืองเกิดในอินเดียที่ท่านให้ข้อ สังเกตว่า เป็นเมืองที่มีคนมากหน้าหลายตา มีการประสมกันในระหว่างชนชาติ และจากการไปเรียนต่อในประเทศอังกฤษ การไปทำงานและต่อสู้เพื่อสิทธิ

มนุษยชนในอัฟริกาใต้ และเมื่อกลับมาประเทศอินเดียอีกครั้ง ก็ได้เรียนรู้จากการท่องเที่ยว ไปพบปะผู้คน ได้ฟังสารทุกข์จากคนทั่วไป โลกทัศน์ของท่านจึงมากมายกว่าคนอินเดียในยุคสมัยนั้น

ผู้เขียนเองเคยลองสังเกตเพื่อนร่วมรุ่นที่ได้ประสบความสำเร็จในชีวิต ส่วนหนึ่งเป็นพวกที่ชอบหนีเรียน และออกไปเห็นโลกในอีกแง่มุมหนึ่งที่เด็กนักเรียนรุ่นเดียวกันไม่มีโอกาสได้สัมผัส เด็กที่ครูอาจารย์เห็นว่าเป็นเด็กดีนั้น มักจะเป็นเด็กที่เรียนเฉพาะตามที่ครูบอก อ่านเฉพาะตามที่ครูสั่งงาน แต่เด็กมีเด็กพวกหนึ่งนั้น เขาจะรู้สึกเบื่อกับประสบการณ์ที่จำเจในชั้นเรียน ในส่วนลึกของใจเขานั้นเราไม่อาจเข้าใจได้ว่ามันเป็นส่วนไฝ่ต่ำ อยากทำตัวเลว หรือเป็นเพราะความอยากสนใจไฝ่รู้ แต่มันอาจเป็นส่วนที่เขาอยากเห็นในสิ่งที่เพื่อนรุ่นเดียวกันไม่ได้เห็น ไม่ได้มีโอกาสรับประสบการณ์ ดังนั้น เด็กส่วนหนี่งที่ดูเหมือนเด็กเกเร ชอบทำตัวไม่อยู่กับร่องกับรอย สร้างความลำบากใจให้กับครูและผู้ปกครองนั้น ท้ายที่สุดเขาอาจประสบความสำเร็จในชีวิต ได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย ได้เข้าใจทั้งความต้องการของตนเอง และได้เห็นโลกในหลายแง่มุมที่คนอื่นๆไม่ได้มีโอกาสรับ

ที่เขียนมานี้มิได้เจตนาให้คุณครูทั้งหลายยุให้เด็กได้หนี่เที่ยว แต่ตรงกันข้าม น่าจะได้จัดประสบ-การณ์การศึกษาที่ทำให้เด็กได้ออกมารับประสบการณ์จากภายนอก ให้เขาได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้น แล้วนำกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนๆ

สำหรับ ผู้ที่พ้นวัยเรียนแล้ว อยากสรุปว่า การท่องเที่ยวไม่ได้หมายถึงการไปหาความสำราญเสมอไป สำหรับคนที่ต้องทำงานอะไรอย่างซ้ำซากจำเจ ถ้าได้มีโอกาสพักผ่อน ก็ขอให้ได้พัก แต่ถ้ามีโอกาส ก็ให้ได้สังเกตเห็นโลกในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งอาจไม่เห็นได้จากที่ทำงานของตนเอง ให้ได้คิดและบางครั้งมันอาจสะท้อนภาพและแนวคิดใหม่ มาสู่สิ่งที่เราทำงานกันทุกวันอย่างเหน็ดเหนื่อย แล้วก็ยังไม่มีคำตอบได้

น้ำมันหยอดกงล้อแห่งการเรียนรู้

คนเป็นอันมากที่มีศักยภาพ มีความสามารถ มีสติปัญญาที่จะเรียนรู้ แต่ก็ไม่ได้มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง แต่มีคนบางคน ซึ่งเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมอันเหมาะสมก็นำไปสู่การเรียนรู้ได้อย่างดี

อะไรที่ทำให้คนมุ่งมั่น และพยายามที่จะเรียนรู้ (Chareles Handy The Age of Unreason. London: Arrow Books, 1990) อะไรที่ทำให้คนต้องเหนื่อยยากทำในสิ่งที่คนอื่นไม่อยากทำ Charles Handy ได้เสนอทัศนะของเขาเอาไว้ดังนี้

ความเห็นแก่ตัวอย่างเหมาะสม

การเสนอให้คนมีความเห็นแก่ตัวนั้นเป็นเรื่องแปลกสำหรับสังคมไทย และดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่จะรับไม่ได้ แต่ความเห็นแก่ตัวอย่างเหมาะสม (A proper selfishness) นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนมาฉุกคิดถึงคำพูดของ ศ. ระพี สาคริก ที่ท่านได้ให้ไว้ว่า

"คนนั้นต้องมีความเห็นแก่ตัว คนมักจะเริ่มจากการรักตนเองก่อน เพราะถ้าไม่รู้จักจะรักแม้กระทั่งตนเองแล้ว จะไปรู้จักการให้ความรักต่อคนอื่นอย่างไร"

คำพูดนั้นเป็นการเตือนสติบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ในยุคสมัยการใช้ชีวิตเพื่อสังคมหลังปีพ.ศ. 2516 นั้น ค่านิยมของคนหนุ่มสาวทั้งหลายคือการต้องอุทิศตนเพื่อสังคม การทำอะไรโดยไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย และการต้องลดละความต้องการส่วนตนจนแทบไม่เหลืออะไร สังคมยุคนั้นชื่นชมกับการที่นักศึกษาและปัญญาชนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน ที่ต้องถูกให้ออกไปทำไร่ไถนาร่วมกับชาวนาก่อนที่จะได้มีโอกาสกลับมาเล่าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งค่านิยมเหล่านี้ปัจจุบันได้สูญหายไปเกือบหมดแล้ว

ในสังคมไทยและพื้นเดิมแบบเอเซียนั้นฝึกให้คิดแบบไม่เห็นแก่ตน ให้ทำตนให้เล็กที่สุด อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ไม่เป็นภาระแก่สังคมแวดล้อม ให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ในสภาพสังคมตะวันตก และในอนาคตนั้น Handy เสนอว่าเราอาจจะต้องยอมรับความเห็นแก่ตัวหรือความรักตนเองมากขึ้น แต่ในสภาพและเงื่อนไขที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ ทั้งในส่วนที่เป็นตัวเรา และขณะเดียวกันก็ทำความเข้าใจในความเห็นตนเองเป็นที่ตั้งของคนอื่นๆ อย่างเข้าใจเขา ทั้งนี้เพราะเขาเชื่อว่า..........

- การ รักตน เคารพตนเองจะนำมาซึ่งการรับหน้าที่และความรับผิดชอบสำหรับตนเอง และอนาคตของเขา มีภาพที่ชัดเจนว่าเขาต้องการอะไร และในอนาคตเขาจะเป็นอะไร ต้องการเขาจะทำมัน และ เชื่อมั่นว่า เขาทำได้

- เครื่องบินไอพ่นเพื่อการโดยสาร "โคเมท" ออกแบบและสร้างโดยประเทศอังกฤษ เกิดปรากฏการณ์ระเบิดกลางอากาศและตกซ้ำๆกันหลายลำเพราะอะไร

ในยุคสมัยหนึ่ง แนวทางของสังคมหนุ่มสาวที่ปฏิเสธสังคมที่เกาะกุมแบบไม่ยอมเปลี่ยนของยุคสมัยคือการสร้างโลกหรือสังคมใหม่ของตนขึ้นมา แล้วใช้ชีวิตตามความปรารถนาที่ตนไฝ่ฝัน แต่สำหรับสังคมอุดมคติเหล่านั้นก็อยู่ไม่ได้นาน สำหรับคนหนุ่มสาวที่ไฝ่หาอุดมคติเหล่านั้น มีเป็นอันมากที่หันกลับเข้าสู่กระแสหลักของสังคมแบบยอมจำนน หยุดความฝันเกือบจะโดยสิ้นเชิง ทำไม่จึงเป็นเช่นนั้น

คำตอบเกี่ยวกับปัญหาเครื่องบินตก ก็คือ ในสมัยนั้นวิศวกรยังไม่ได้เรียนรู้กันมากนักเกี่ยวกับอาการล้าของวัสดุ การ ที่เครื่องบินโดยสารที่ต้องการให้ผู้โดยสารสะดวกสบายนั้นจึงใช้วิธีการเก็บ แรงกดดันของอากาศภายในห้องผู้โดยสารอย่างมากเทียบเท่ากับระดับพื้นผิวดิน ในขณะที่เมื่อต้องบินที่ระดับหลายหมื่นฟุตเหนือน้ำทะเลนั้น แรงกดอากาศได้ลดลงมาก วัสดุคือตัวถังเครื่องบินจึงต้องแบกรับแรงอัดจากภายในมากๆและเป็นเวลานาน ดังนั้น แม้จะเป็นวัสุดโลหะที่มีความคงทน แต่ในที่สุดวัสดุนั้นก็จะล้า และสักวันหนึ่งก็จะถึงขีดของการแตกสลาย เหมือนลูกโป่งที่ทนความร้อนไม่ได้แล้วระเบิด

ชีวิตมนุษย์ตลอดจนชีวิตนิสิตนักศึกษาที่ต้องอยู่อย่างมีอุดมคติก็เช่นกัน ถ้าเราต้องทำตัวอยู่ในฐานะกินอุดมคตินานๆนั้น มันจะมีความล้าเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคนในระดับทั่วไป ที่ยังมีความโลภ โกรธ และหลงอยู่ ทำอย่างไรจึงจะเดินสายกลาง คือไม่ต้องประพฤติปฏิบัติกันอย่างสุดขั้ว วางแนวทางของชีวิตเอาไว้ในระดับที่พอจะปฏิบัติได้ ไม่ผิดวิถีจากความเป็นธรรมชาติมากนัก และก็ทำให้ได้ตามที่คาดหวัง และก็สามารถใช้ชีวิตอย่างที่เราภาคภูมิใจได้ตลอดชีวิต อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เสแสร้ง ไม่ปิดบัง และอย่างเป็นตัวของตัวเอง ที่สำคัญทำในสิ่งที่เราทำได้อย่างที่เรารัก และมีความสุข เริ่มจากความสุขในใจเราก่อน ทำงานอย่างสุขใจพอใจเป็นที่ตั้งนั้นมิได้หมายความว่าจะต้องให้ได้รับผลตอบแทนทางด้านการเงินเป็นที่ตั้ง เพราะบางทีถ้าคำนึงถึงเงินหรือวัตถุนิยมมากไปแล้ว ก็จะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความต้องการทางด้านอื่นๆได้อย่างถี่ถ้วน

คน ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้และได้เลือกหนทางที่ตนไฝ่หานั้น เขาวางแนวทางชีวิตตามเงื่อนไขความเป็นจริงตามธรรมชาติบางประการ และในส่วนของธรรมชาตินั้นประการหนึ่งคือความเห็นแก่ตน ความรักตนที่มีอยู่ แต่เป็นความรักตน หรือเห็นแก่ตนอย่างพอเหมาะพอสมและดำรงตนอยู่ได้ มากกว่าการที่จะตั้งเป้าหมายที่เป็นอุดมคติ แต่ว่าไม่มีโอกาสเป็นไปได้ หรือยิ่งกว่านั้นไปคาดหวังกับคนอื่นมากๆ และก็หาคนร่วมอุดมการณ์ด้วยยาก

การได้เปลี่ยนแง่มุมมองเสียใหม่

มนุษย์เรานั้นมีการทำผิดซ้ำซากเพราะเดินซ้ำรอยเดิม ไม่ยอมเปลี่ยนวิธีการคิดและแง่มุมการมองเสียใหม่ ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้

- การ ขับรถติดหล่ม เพราะเพราะปล่อยให้ล้อรถตกลงไปในรอยเดิมลึกลงไปมากแล้ว ยิ่งผ่านไปมากๆ ร่องหลุมก็ยิ่งลึก เมื่อฝนตก น้ำก็ยิ่งขัง ดินก็กลายเป็นโคลน และกลายเป็นหล่ม

- การ แก้โจทย์คณิตศาสตร์ ทำผิดและหาที่ผิดไม่ได้ เพราะใช้วิธีการคิดแบบเดิม ด้วยเครื่องคิดเลข หรือคอมพิวเตอร์เดิม ด้วยคนเดิม โจทย์คณิตศาสตร์ที่ทำผิดนั้น ถ้าไม่มีการเปลี่ยนวิธีการคิด วิธีการทำ ยังคงใช้วิธีการเดิมไป ก็จะได้คำตอบที่ผิดๆเหมือนเดิม

- บ่อน การพนันที่จะเสียเงินมาก เพราะเมื่อเสียแล้ว ปล่อยให้พนักงานคนเดิมเป็นเจ้ามือต่อ ใช้ไพ่หรืออุปกรณ์ชุดเดิมต่อ ไม่สามารถหยุดยั้งการเสียลงได้ (นำเสนอไว้เป็นตัวอย่าง ไม่ใช่เขียนเพื่อให้คนไปเล่นการพนัน)

- นักกีฬาที่เล่นแล้วแพ้ซ้ำซาก เพราะใช้สไตล์การเล่นแบบเดิม ไม่มีการปรับเปลี่ยน ก็จะมีจุดอ่อนเหมือนเดิม ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าเล่นแล้วประสบความสำเร็จ แล้วใช้วิธีการเดิมแบบซ้ำซาก มีจุดแข็ง หรือลูกเล่น ถ้าเล่นซ้ำเดิมมากๆ คนเขาก็จับได้ และเตรียมรับได้ล่วงหน้า

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เมื่อมนุษย์ประสบปัญหาแล้วจะต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ ด้วยการเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ (A way of re-framing) นั้นหมายถึง ความสามารถในการมองเห็นสิ่งต่างๆ ปัญหา และสถานการณ์ จากด้านอื่นๆ มองจากด้านข้าง มองแบบกลับหัวกลับหาง ถ้าคนอื่นมองอย่างหนึ่ง เรามองอีกอย่างหนึ่ง มองโดยเปลี่ยนมิติการมองใหม่ เปลี่ยนสมมุติเงื่อนไขใหม่ มองอย่างชนิดเห็นโอกาส ไม่ใช่ไปเกรงปัญหา มองเห็นอาการสะดุดหรือสะอึก มากกว่าหวาดกลัววิบัติภัย และเต็มไปด้วยความตื่นตระหนก

ศิลปินปฏิมากรรม รูปปั้น รูปแกะสลักนั้น ไม่ใช่จะมองจากเพียงด้านหน้าอย่างเดียว แต่ต้องเป็นความงามทั้งจากด้านข้าง ด้านบน ด้านล่าง หรือด้านหลังด้วย จึงจะทำให้งานศิลปะนั้นมีความสมบูรณ์

การมองอย่างเปลี่ยนแง่มุมมองนี้ ได้แก่

- จากคิดอย่างตามใจตนเองเป็นหลัก คิดจากตนเองเป็นที่ตั้ง ไปสู่การคิดอย่างเข้าใจคนอื่นเป็นหลักบ้าง

- จากการมองแบบนักบริหาร อาจหันไปมองแบบนักการเมืองร่วมด้วย

- จากการเน้นผลประโยชน์ทางวัตถุเป็นที่ตั้ง ลองหันไปทำความเข้าใจทางด้านจิตใจคนร่วมด้วย

- จากการคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ คิดอะไรอย่างเป็นเหตุเป็นผล ลองคิดอย่างใช้ญาณ (intuition) เพื่อการหยั่งรู้บางอย่างที่ยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้ หรือสร้างสูตรคำนวนได้

- จากการมองจากที่สูงเป็นหลัก อาจกลายเป็นไม่แตะดินนั้น ก็หันมาลงสัมผัสกับข้อเท็จจริงมากขึ้น

- จากการที่ทำงานแบบติดดินตลอด ไม่ได้มีโอกาสไปสัมผัสประสบการณ์ในเชิง "ที่สูง" หรือในเรื่องของความคิดและปัญญามากนัก ก็ต้องหันไปหาการใช้ปัญญาบ้าง ปล่อยให้หลุดพ้นจากงานประจำแล้วไปเรียนรู้แสวงหาสิ่งใหม่บ้าง

ศักยภาพที่จะทนต่อความผิดพลาดล้มเหลว

Keats ได้ให้ความหมายของ "ศักยภาพที่จะทนต่อความผิดพลาดล้มเหลว" หรือ negative capability เอาไว้เมื่อปีค.ศ. 1817 ว่า มันคือ......

ความ สามารถของคนที่จะต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอน มีสิ่งที่ยังเป็นความลึกลับ และยังเต็มไปด้วยความสงสัย ทั้งนี้รวมถึงความสามารถที่จะดำรงอยู่ได้ในสถานะของการทำผิดพลาด ความล้มเหลว และทนอยู่ได้ในสภาพที่ทำให้หัวใจหดหู่ที่สุด.......

การกลัวการทำผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์

- ศิลปิน ระดับดาวจรัสแสงที่กำลังจะออกแสดงในครั้งสำคัญก็ยังเต็มไปด้วยความประหม่า หวาดหวั่น เกรงว่าจะแสดงไม่ได้ดี ไม่ต่างอะไรกับนักแสดงหน้าใหม่

- ครูอาจารย์ที่จะออกไปบรรยายหน้าชั้น โดยเฉพาะในครั้งแรกๆนั้นก็อดที่จะประหวั่นไม่ได้ ทั้งๆที่ผู้ฟังก็เป็นผู้ที่เยาว์วัย มีประสบการณ์มาน้อยกว่าตน

ปัญหา ที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ เมื่อทำอะไรแล้วคิดจะทำอย่างให้สมบูรณ์ที่สุด ทำอะไรอย่างไม่ให้มีอะไรผิดพลาดนั้น ท้ายสุด ก็จะเกิดอาการคาดหวังมากเกินไป เกิดการเกร็ง อยากทำอะไรแล้วทำให้ได้ดีที่สุด ทำได้อย่างไม่มีข้อผิดพลาด ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้

- การ จะทำอะไรใหม่ ไม่ใช่ว่าทำครั้งแรกแล้วจะประสบความสำเร็จเลย ในสถาบันวิจัยที่ประสบความสำเร็จที่สุด แต่กว่าจะได้ชิ้นงานที่เป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ได้นั้นก็ต้องผ่านการทดลองที่ ไม่เป็นไปดังคาดหลายครั้ง แต่เพราะความผิดพลาดเหล่านี้แหละที่เขาได้มีโอกาสเรียนรู้ และเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จต่อไป

การถูกฝึกให้กลายเป็นคนแพ้ไม่เป็น แพ้แล้วเลิกจนเคยตัว ไม่พยายามฝึกการแก้ไขสถานการณ์นั้นๆ เหมือนการเล่นหมากรุกแล้ว ถ้าแพ้ก็ล้มกระดาน ไม่พยายามสู้ไปตามเกมและจังหวะ ซึ่งอาจเป็นจังหวะที่อาจได้กู้สถานการณ์ได้ หรือจากที่จะแพ้ก็กลายเป็นเสมอได้บ้าง

การ เปลี่ยนแปลงหลายอย่างนั้นต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำให้บรรลุได้ในระยะเวลาอันสั้น และมนุษย์นั้นต้องพร้อมที่จะเผชิญกับความล้มเหลว แต่ทำอย่างไรจึงจะใช้ประโยชน์จากข้อผิดพลาดนั้นๆให้เกิดประโยชน์

ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะในการเรียนรู้ที่จะล้มเหลวดังต่อไปนี้

1. การต้องทำใจ การสร้างความเชื่อมั่น การเปลี่ยนวิธีคิดอย่าคิดอย่างพวก perfectionist ซึ่งเป็นโรคจิตอ่อนๆที่คิดกังวลกับการทำอะไรอย่างสมบูรณ์แบบไม่ให้ผิดพลาด

2. การคิดว่าจะต้องทำอะไรโดยมีวัตถุประสงค์เป็นตัวตั้ง เพื่อว่าเมื่อประสบปัญหา ก็จะได้แก้ปัญหาเพื่อให้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่สะเปะสะปะ

3. การเน้นนับที่ความสำเร็จ มากกว่าไปกังวลที่ความล้มเหลว เพราะถ้าคิดว่าจะแต่สิ่งที่ล้มเหลวแล้วก็จะเต็มไปด้วยความกังวล และท้อแท้

4. การให้ได้ประสบความล้มเหลวในสิ่งเล็กที่ไม่เจ็บตัว หรือเจ็บและเสียหายแต่น้อย ไปสู่การรับผิดชอบในงานใหญ่ๆต่อไป ซึ่งก็ต้องเป็นเรื่องต้องกล้าเข้าไปประสบความล้มเหลวและความผิดพลาดนั้นเอง

5. การได้ทดลองทำอยู่เสมอ เช่นการได้ฝึกปฏิบัติ การฝึกซ้อมจนเกิดความเชื่อมั่น ได้ลองผิดลองถูก

"การฝึกการเล่นหมากรุกจนครบกระดาน" การเล่นกีฬาที่ต้องมีน้ำใจเป็นนักกีฬา เห็นการแพ้ชนะเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของเกม

การเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องลองผิดลองถูก

John Cleese ได้กล่าวไว้ว่า ถ้ามนุษย์ไม่กล้าที่จะทำอะไรที่เสี่ยง หรือการที่อาจจะผิดพลาดได้บ้าง ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆก็จะโบยบินออกนอกหน้าต่างไปหมด หัวใจของความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่ได้หมายถึงการที่มนุษย์มีความรู้หรือพรสวรรค์อะไรพิเศษ แต่ว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นเกิดจากความสามารถได้ลองได้เล่น (Handy 1991, หน้า 95)

การเรียนคอมพิวเตอร์นั้น ส่วนหนึ่งก็คือต้องไปลองใช้เครื่องเอง ทำผิดทำถูกแล้วลองหาเหตุผล ลองดูแล้วก็เรียนรู้เอาเอง แต่เมื่อผิดแล้วไม่ลองเปลี่ยนแนวทางใหม่ ลองไปหาตำราหรือคู่มือมาดูใหม่ ถามหาคนที่เขาเคยทำมา และพยายามหาเหตุผลแห่งควาผิดพลาดนั้น แล้วก็ลองมาทำดูใหม่ แต่ถ้าไม่มีการได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองบ้างแล้ว ผู้เรียนก็ไม่สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้

การออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ยุคใหม่นั้น เขาจะใช้หลักการได้ลองผิดลองถูกนี้ เมื่อเกิดการใส่ข้อมูล หรือการใช้โปรแกรมที่ผิดพลาดนั้น จะมีคำแนะนำ หรือการชี้ให้ตรวจสอบในประเด็นนั้นประเด็นนี้ เพื่อทำให้ผู้เรียนได้ลองกลับไปย้อนกลับดูอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกัน โปรแกรมส่วนใหญ่ก็จะชาญฉลาดตรงเขาออกแบบมาเพื่อเตือนในกรณีที่อาจจะทำในสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมากๆได้ เช่น โอกาสที่จะลบข้อมูลบางอย่างออกโดยไม่ได้ตั้งใจนั้น เครื่องจะถามซ้ำว่าต้องการเช่นนั้นจริงหรือไม่ คนเรียนคอมพิวเตอร์ทุกคนจึงได้ผ่านประสบการณ์ของการลองผิดลองถูกทุกคน

การสำรวจขุดเจาะน้ำมันนั้น ท้ายที่สุดนั้นนักสำรวจและผู้ลงทุนก็ได้หลักอยู่ประการหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีในการแสวงหาแหล่งน้ำมันอย่างไร แต่ท้ายที่สุดก็คือ บ่อที่สำรวจขุดเจาะนั้นเป็นอันมากไม่พบน้ำมันในระดับที่จะใช้ประโยชน์ได้ หรือดำเนินการทางพาณิชย์ได้ แต่การที่ขุดมากเท่าไร บริษัทนั้นก็จะเรียนรู้มากขึ้นถึงวิธีการคาดเดาแหล่งทรัพยากรมากขึ้น ความผิดพลาด หรือการลงทุนที่สูญเปล่าก็จะเริ่มลดลง แต่หลักของมันก็คือยิ่งขุดมาก ได้พบบ่อที่ไม่มีน้ำมันเพียงพอก็ยิ่งมาก แต่บ่อที่พบน้ำมันนั้นก็จะมากตามไปด้วย และรวมแล้วเขาก็ได้มากกว่าเสีย

การเป็นผู้เสนอขายนั้น ไม่มีประเภทที่เสนอแล้วได้ลูกค้าทันที ขายสินค้าได้ทุกครั้งทุกคนที่เขาไปเสนอขาย การลงประกาศโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์นั้น จะมีคนเพียงไม่ถึงร้อยละ 5-10 ที่จะอ่านในทุกเรื่องในหนังสือพิมพ์เหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อความโฆษณาเหล่านั้น การเสนอขายบางอย่างนั้น มีได้ผลและนำไปสู่การเจรจาทางการค้า หรือตกลงซื้อขายกันเพียงร้อยละ 10 แต่ความสำเร็จในทางธุรกิจเขานับกันที่จำนวนกรณีที่สำเร็จ ส่วนการที่ไม่ได้ผล 90 รายนั้น เขาถือเป็นบทเรียน

ความ สำคัญจึงอยู่ที่ว่า การทำอย่างไรจึงจะยอมรับว่าการเรียนรู้นั้นจะต้องมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรความผิดพลาดนั้นจะไม่รุนแรง ไม่เป็นค่าใช้จ่ายแก่ชีวิต หรือความเสียหายทางธุรกิจ หรือสังคม นั่นคือ การให้ได้เริ่มทำในกิจการขนาดเล็กแล้วได้เรียนรู้ไปกับกิจการนั้นๆ ถ้าสำเร็จก็ขยายต่อได้ ถ้าไม่สำเร็จก็ถือเป็นบทเรียนให้กับตนเอง และส่วนงานอื่นๆ

(Charles Handy The Age of Unreason. London: Arrow Books, 1990)

บทสรุป

การ เป็นผู้นำนั้นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโลก ซึ่งในที่นี้หมายถึงสรรพสิ่งรอบตัวมนุษย์เรา แต่การเรียนรู้ทำความเข้าใจโลกนั้นไม่สามารถจำกัดอยู่เพียงประสบการณ์จากการ ศึกษาเล่าเรียนตามหลักสูตรปกติ การเรียนรู้เกี่ยวกับโลกนั้น สามารถเริ่มได้จากครอบครัว จากโรงเรียน หรือสถานศึกษา จากเพื่อน ผู้ใหญ่ จากครูอาจารย์ จากองค์การ แต่ที่สำคัญที่สุดไม่มีใครสามารถวางหลักสูตรการเรียนรู้ให้กับตนเองได้ดีที่ สุดเท่ากับตนเอง และการเรียนรู้นั้น ต้องมีความอยากจากภายในตนเอง เห็นแก่ตน รักตนเอง ทำอย่างที่ใจปรารถนา การเรียนรู้นั้นต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับความล้มเหลว และความผิดหวังที่จะตามมา ต้องกล้าลองกล้าทำ และเรียนรู้กับมันไป

********************************

No comments:

Post a Comment