Friday, January 15, 2010

บทที่ 3 ผู้นำกับการรู้จักตนเอง

บทที่ 3 ผู้นำกับการรู้จักตนเอง

ประกอบ คุปรัตน์ และ
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ณัฐนิภา คุปรัตน์
Nattanipha Cooparat

มูลนิธิก้าวไกลในเอเชีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)

Updated: วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553
Keywords: cw059, ความเป็นผู้นำ, การจัดการ

บทนำ

ในการศึกษาของโลกตะวันตกและตะวันออกนั้นมีจุดเริ่มแตกต่างกัน ตะวันออกจะเริ่มจากการทำความ เข้าใจจากภายในตนเองไปสู่ภายนอก เริ่มจากการทำความเข้าใจและฝึกควบคุมตนเอง แล้วไปสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น จาก ครอบครัว ชุมชน ประเทศ และโลก แต่สำหรับในตะวันตกนั้น เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจโลกภายนอก แล้วจึงหันเข้ามาสู่ความเป็นตัวตน ในทัศนะของตะวันตกนั้น การเข้าใจตนเองเป็นสิ่งสัมพันธ์กับโลกภายนอก ในอดีตสังคมตะวันตกเน้นการเรียนรู้และใช้ความเข้าใจในวิทยาการต่าง แล้วนำมาประยุกต์เพื่อทำให้โลกได้เป็นไปอย่างที่มีนุษย์ต้องการ โดยมนุษย์จะมีจุดมุ่งหมายที่การหาทางควบคุมธรรมชาติ และพยายามอยู่เหนือธรรมชาติ เช่นถ้าขาดน้ำก็ต้องหาทางเก็บกักน้ำไว้ใช้ให้ได้มากๆ อาจมีการสร้างเขื่อน หรือการขุดเจาะเอาน้ำที่มีอยู่นำมาใช้ ยิ่งมากเท่าไรยิ่งดี ยิ่งมนุษย์เรียนรู้วิทยาการมากเท่าไร ความต้องการทางวัตถุก็มากเข้า และท้ายสุดความ ต้องการของมนุษย์นั้นก็กลายเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ไปในที่สุด

ในปัจจุบัน ขณะที่สังคมตะวันออกเริ่มให้ความสนใจต่อวิทยาการและการเรียนรู้สมัยใหม่ เพื่อหาทางใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและประเทศในทางวัตถุ สังคมตะวันตกกลับให้ความสนใจในสิ่งที่เป็นภายในตัวของมนุษย์เองมากขึ้น และในการศึกษาของทางตะวันตกนั้นก็ไม่ได้จำกัดเพียงในรูปแบบวิทยาการยุคใหม่ในรูปการศึกษาวิชาจิตวิทยาหรือมานุษยวิทยา แต่รวมไปถึงการทำความเข้าใจในเชิงจิตวิญญาณ ศาสนาความเชื่อ และรวมไปถึงการต้องลงมือปฏิบัติให้รู้ด้วยตนเองด้วย

ในความเป็นผู้นำนั้น สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งคือการต้องรู้จักตนเอง รู้จุดเด่นจุดอ่อน ทั้งในส่วนที่ปรากฏให้เห็น และในส่วนที่อยู่ลึกและไม่ปรากฏให้เห็นแก่คนทั่วไป การทำความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองนั้นเป็น เรื่องยาก คนบางคนอาจจะรู้สรรพสิ่งในโลก แต่เขาอาจไม่รู้จักตนเอง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และในท้ายสุด บุคลิกภาพและพฤติกรรมของเขาเองจะเป็นตัวปัญหาที่สร้างความยุ่งยากนานาประการแก่เขาเองในที่สุด แต่ในทางตรงกันข้าม คนที่อาจไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด ไม่ได้มีความรู้ในทุกเรื่องในโลก แต่เขารู้จักตนเอง ได้รู้ในจุดเด่นจุดอ่อน และได้ใช้ประสบการณ์ในชีวิตเป็นหนทางในการฝึกการควบคุมตนเอง และใช้ประโยชน์จากลักษณะเฉพาะตนให้ได้มากที่สุด เขาก็สามารถประสบความสำเร็จได้มากมายในชีวิต และสามารถใช้ชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มากมาย

ในบทนี้ผู้เขียนใคร่เสนอแนวทางการศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพของคน แนวทางในการวิเคราะห์บุคลิกภาพต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะพัฒนาความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง และในอีกแง่มุมหนึ่งก็คือสามารถใช้แนววิเคราะห์นี้เพื่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้อื่น การได้มีส่วนในการพัฒนาผู้อื่น อันอาจได้แก่บุคคลในครอบครัว ผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้ที่เราจะสามารถมีส่วนสร้างความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้นแก่เขาทั้งหลาย

ความหมายของบุคลิกภาพ

บุคลิกภาพ หรือในภาษอังกฤษเรียกว่า personality นั้นในทางวิชาการมีความหมายมากกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจ เพราะมันมิได้หมายเพียงสิ่งที่ปรากฏเห็นภายนอก ไม่ใช่เพียงการแต่งตัว การพูดจา หรือท่วงทีต่างๆที่ปรากฏให้เห็น แต่ "บุคลิกภาพ" หมายถึงหลายสิ่งต่างๆที่ประกอบเป็นตัวบุคคลคนนั้นรวมกัน ซึ่งรวมถึงแรงจูงใจ อารมย์ ค่านิยม ความสนใจ ทัศนคติ และความรู้ความสามารถของคนๆหนึ่ง ลักษณะเหล่านี้เป็นส่วนประกอบที่รวมกัน อันเป็นผลจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม และครอบครัว (Judith R. Gordon & others, 1990, หน้า 469)

พัฒนาการของบุคคล

บุคลิกภาพนั้นคือความเป็นตัวของตัวเองที่โดยทั่วไปเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว มักจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก ไม่เหมือนเมื่อยังเยาว์วัย ที่ทุกอย่างยังพอเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสภาพแวดล้อม และด้วยเหตุนี้เองที่ผู้ศึกษาทางด้านความเป็นผู้นำควรต้องทำความเข้าใจในพัฒนาการของแต่ละคน และต้องเข้าใจในพื้นภูมิหลัง เพราะเมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนบุคลิกภาพของคนได้เหมือนนักแสดงเปลี่ยนบทบาทตามบทละคอนที่เขาเข้าไปรวม ซึ่งเขาทำได้เพราะเขาเข้าไปรวมบทบาทในระยะสั้น เพียงต่อหน้าคนดู หรือเฉพาะหน้ากล้อง และภายใต้การฝึกซ้อมและการกำกับการแสดง แต่ในชีวิตจริงที่ทุกคนต่างเป็นเจ้าของตัวเองและต้องประพฤติตน และใช้ชีวิตในความเป็นตัวตนนั้นไปตลอด การพัฒนาบุคลิกภาพนั้นกระทำได้เพียงในบางส่วนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงควรใช้เวลาในการศึกษาให้เข้าใจเป็นเบื้องต้นไว้ก่อน

การศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์นั้นมีหลายแง่มุมที่จะศึกษา และใช้ประโยชน์แตกต่างกัน ซึ่งผู้ที่ศึกษาทางด้านความเป็นผู้นำควรทำความเข้าใจ (Judith R. Gordon & others, 1990, pp.469-485)

1. พัฒนาการทางด้านชีวะและสังคม (Biosocial Development)

2. พัฒนาการทางด้านครอบครัว (Family Development) ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นในสองส่วนคือ

พัฒนาการระยะเพียงเรียนรู้ความเป็นครอบครัว (Family Stages) เฉพาะ และ

พัฒนาการในระยะการอาชีพควบคู่กับการทำงาน (Dual-Career Family)

3. พัฒนาการทางด้านการอาชีพ (Career Development) ซึ่งจะมีการศึกษาเป็นส่วนๆ อย่างน้อยใน 3 เรื่อง คือ

(1) การศึกษาขั้นตอนของการอาชีพ (Career Stages)

(2) การศึกษาขั้นตอนของวิชาชีพขั้นสูง (Professional Careers) ซึ่งจะแตกต่างจากการอาชีพ ของคนทั่วไป และ

(3) สังคมประกิตสู่องค์การ (Organizational Socialization) หรือการที่มนุษย์สามารถเข้าสู่องค์การ และดำรงอยู่ได้อย่างราบรื่น หรือมีประสิทธิภาพ

ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของบุคคลนั้นได้มีนักศึกษาที่อาศัยพื้นฐานทางด้านจิตวิทยาได้ศึกษาเอาไว้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะได้มีการนำเสนอบางส่วนพร้อมข้อคิดเห็นบางประการ เพื่อการนำมาประยุกต์ใช้ในส่วนของการศึกษาความเป็นผู้นำ และการใช้ประโยชน์ในการจัดการ

พัฒนาการชีวิตการทำงานตามแนวคิดของเอดการ์ ชีน

Edgar Schein ได้ศึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งยามชราและเสียชีวิต ซึ่งมีลำดับดังต่อไปนี้ (Edgar Schein, Career Dynamics. 1978.)

วัย

พัฒนาการ

0-5

เป็นวัยกำลังเติบโต เป็นช่วงที่มีการคิดคำนึงที่บางครั้งแยกความเพ้อฝันออกจาก ความเป็นจริงได้ยาก (Growth,fantasy)

10-11

เริ่มตั้งแต่วัย 10 ปีเป็นต้นไป จัดเป็นวัยแห่งการแสวงหา (Exploration) เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ พยายามพึ่งตนเอง ถ้าเด็กซุกซนลองจับโน่นทำนี่ นั่นถือว่าเป็นเรื่องปกติ

15-19

เป็นวัยที่เข้าสู่การทำงานอย่างแท้จริง (Entry into work) ความจริงในประเทศตะวันตกนั้น เด็กได้ทดลองทำงานตั้งแต่ก่อนหน้านี้ แต่จะยังไม่ใช่ระยะการทำงานที่เขาจะต้องยืนอยู่บนขาของตัวเอง

20-24

วัยแห่งการเผชิญโลก และฝึกฝนในการทำงาน (world/training)

25-29

วัยเป็นสมาชิกของสังคมแบบเต็มขั้น (Full membership/early career) เป็นการเริ่มจับอาชีพการงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

30-35

วัยเป็นสมาชิกของสังคมเต็มขั้น (Full membership/mid-career) แต่อยู่ในช่วงกลางของการอาชีพ ถ้าจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในวัยนี้ก็สามารถทำได้อย่างเต็มที่ มีประสบการณ์พร้อม

40-45

วัยที่อาจประสบวิกฤติทางการอาชีพ (Mid-career crisis) ในที่นี้มิได้หมายความถึงทุกคน บางคนมาถึงในวัยนี้แล้ว ถ้าไม่ชอบอาชีพที่ทำอยู่จริง ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่พอใจในสภาพที่เป็นอยู่ อยากปรับเปลี่ยน

50-55

เป็นวัยขั้นปลายของการอาชีพ (Late career/leadership or not) เป็นวัยที่ถ้าจะได้เป็นผู้นำก็เป็นไปแล้ว ถ้าเป็นนักวิชาชีพวิชาการ ก็หมายถึงการต้องเข้าจับงานทางการบริหาร การเปิดทางช่วยคนรุ่นใหม่ให้ได้พัฒนาเข้าทดแทน

60-65

เป็นวัยแห่งความเริมเสื่อมถอย (decline and) เป็นวัยที่ไม่ควรหวังใช้พลังงานแบบคนหนุ่มสาว แต่จะเป็นวัยที่ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในชีวิตที่ได้สั่งสมมามากมาย มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล

70-

เป็นวัยถอยห่าง เริ่มปล่อยวาง (disengagement) สำหรับคนในระดับทำงานทั่วไป การทำงานในระยะต่อไปนี้จัดว่าต้องเป็นงานจัดให้เหมาะกับสภาพร่างกาย

วัยการละวางจากทุกสิ่ง (Retirement) น้อยคนนักที่เลยวัยนี้ไปแล้วจะทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ แม้ในยุคปัจจุบัน คนจะมีสุขภาพดีมากขึ้น อายุยืนขึ้น

8 ขั้นตอนพัฒนาการในชีวิตของอีริคสัน

ขั้นตอนในชีวิต 8 ระดับตามแนวความคิดของอีริคสัน ซึ่งมองเห็นพัฒนาการของชีวิตมนุษย์นั้นมีอยู่สองส่วนทั้งในส่วนที่เป็นบวก และในส่วนที่เป็นลบ คือ

1. วัยทารก (INFANCY) เป็นช่วงของการเรียนรู้ที่จะวางใจ หรือไม่วางใจอะไร (Basic Trust vs. Basic Mistrust)

2. ระยะปฐมวัย (EARLY CHILDHOOD) เป็นการขั้นการเรียนรู้ที่จะเป็นอิสระ การพึ่งตนเอง หรือในอีกส่วนคือ การเรียนรู้ที่จะมีความอับอาย ความสงสัย (Autonomy vs. Shame, Doubt)

3. ระยะของการเล่น (PLAY AGE) ระยะนี้ก็ยังเป็นระยะที่ไม่ได้เข้าสู่การศึกษาอย่างเป็นระบบ เป็นวัยที่จะมีการริเริ่มสร้างสรรค์ หรือในอีกด้านหนึ่ง จะเป็นในส่วนที่มีการเรียนรู้ในความผิดความถูก ความดีไม่ดี ความรู้สึกผิด (Initiative vs. Guilt)

4. ระยะเข้าเรียนในระบบโรงเรียน (SCHOOL AGE) การเรียนรู้ความขยันขันแข็ง และการเรียนรู้ความเป็นปมด้อย หรือจุดอ่อนของตนเอง (Industry vs. Inferiority)

5. ระยะวัยรุ่น (ADOLESCENCE) เมื่อเข้าสู่ความวัยรุ่นแล้วก็จะมีการเรียนรู้ความเป็นตัวตน และในอีกด้านหนึ่ง ก็จะเรียนรู้ความสับสนในความเป็นตัวตน ในภาพลักษณ์ที่ไม่ชัดเจน (Identity vs. Identity Confusion)

6. ระยะผู้ใหญ่เริ่มต้น (YOUNG ADULTHOOD) เป็นระยะที่ต้องการความใกล้ชิด ทั้งกับเพื่อนต่างเพศ และกับเพื่อนสนิทในเพศเดียวกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการพัฒนาไปสู่ความโดดเดี่ยว และความสันโดด การอยู่คนเดียว (Intimacy vs. Isolation)

7. ระยะความเป็นผู้ใหญ่ (ADULTHOOD) เป็นระยะที่สร้างความเป็นปึกแผ่นในชีวิต สร้างความมั่นคงให้ครอบครัว แต่ในอีกด้านหนึ่งคือระยะของการถดถอย การเรียนรู้ความผิดพลาด ความผิดหวัง และความล้มเหลว (Generativity vs. Stagnation)

8. ระยะชราภาพ (OLD AGE) เป็นวัยที่มนุษย์ต้องการศักดิ์ศรี ต้องการสิ่งที่มากกว่าเงินทอง หรือความมั่นคงในชีวิต และในอีกด้านหนึ่ง คือการต้องผจญกับปัญหา หากเคยผิดหวัง ความถดถอยก็จะกลายเป็นความสิ้นหวัง (Integrity vs. Despair)

ในทัศนะของผู้เขียนนั้นมนุษย์จะได้ประสบการณ์จากทั้งสองด้าน พัฒนาการมนุษย์มีทั้งในส่วนที่เป็นบวก และในส่วนที่เป็นลบ และไม่มีใครจะคงการพัฒนาแต่ในส่วนที่บวก โดยที่ไม่มีในส่วนที่เป็นลบบ้างเลย และในอีกทางหนึ่ง มนุษย์น้อยคนนักที่จะประสบแต่สิ่งที่เลวร้าย ความผิด ความอาย ความล้มเหลวและผิดหวัง หรือสิ้นหวังไปตลอดชีวิตแล้วยังคงมีชีวิตอยู่ได้ ชีวิตมนุษย์นั้นทั้งที่สมหวังและไม่สมหวัง ได้เรียนทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี แต่อะไรที่ทำให้เราพัฒนาไปสู่ความเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ (จาก Warren Bennis, 1989, pp.64-65.)

ความแตกต่างในบุคลิกภาพ

คนแต่ละคนมีความแตกต่างกันในด้านบุคลิกภาพ แม้พี่น้องฝาแฝดเกิดในเวลาใกล้กัน แต่ก็มีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน และด้วยเหตุที่บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏให้เห็น เช่นเรื่องของค่านิยม ทัศนคติ และความรู้สึกนึกคิด จึงเป็นเรื่องที่ยากจะหยั่งถึง แต่กระนั้นในการที่คนๆหนึ่งจะเป็นผู้นำได้นั้น บุคลิกภาพของเขาเองนั้นก็เป็นสิ่งที่เขาต้องทำความเข้าใจ นอกจากนี้การทำความเข้าใจเกี่ยวกับบุคลิกภาพนั้นจะทำให้บุคคลนั้นใช้เป็นประโยชน์ในการศึกษามนุษย์อื่นๆที่เขาจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือคนที่เขาต้องเข้าไปอยู่ในฐานะนำ

การศึกษาบุคลิกภาพซึ่งมีความแตกต่างกันหลายรูปแบบนั้น (Personality types) มีแนวทางวิเคราะห์ที่จะทำให้เข้าใจมนุษย์เพิ่มขึ้นได้หลายวิธีการ และแล้วแต่แนวทางการศึกษา ซึ่งจะได้นำเสนอเฉพาะในบางส่วน ต่อไปนี้

องค์ประกอบ 16 ประการของ Cattell

ในการวิเคราะห์บุคลิกภาพนั้นสามารถใช้แนวทางต่อไปนี้ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ซึ่งมิได้หมายความว่าในซีกซ้าย หรือว่าซีกขวาเป็นคุณสมบัติที่ดี ลองวิเคราะห์ตนเอง

1.

เย็นชา


อบอุ่น

2.

คิดอย่างเป็นรูปธรรม


คิดเป็นนามธรรม

3.

อารมณ์อ่อนไหว


อารมย์มั่นคง

4.

ยอมตาม


ต้องเด่น

5.

เงียบขรึม


กระฉับกระเฉง

6.

ตื้นเขินทางความคิด


มีจิตสำนึก

7.

ขี้อาย


กร้าว

8.

ใจแข็ง


ใจอ่อนโยน

9.

ไว้วางใจคน


ขี้ระแวง

10.

เน้นการปฏิบัติได้


ความคิดสร้างสรรค์

11.

ตรงไปตรงมา


อ้อมค้อม

12.

มั่นใจตนเอง


ไม่มั่นใจหวาดกลัว

13.

อนุรักษ์นิยม


ชอบทดลอง ชอบเปลี่ยนแปลง

14.

ถนัดเข้ากลุ่ม


ชอบอยู่คนเดียวตามลำพัง

15.

ไม่มีวินัยในตนเองขัดแย้ง


ควบคุมตนเอง

16.

ผ่อนคลาย สบายๆ


เกร็ง

(Copyright 1956, 1973, 1982 by the Institute for Personality and Ability Testing, Inc., Champaign, Il 61820. Reproduced by permission.)

ตามบุคลิกภาพที่แตกต่างกันเป็นสองขั้ว ตามที่ได้นำเสนอนั้น มิได้หมายความว่าด้านหนึ่งเป็นด้านดี และอีกด้านหนึ่งเป็นด้านเสียเสมอไป เช่นมิได้หมายความว่าคนที่ถนัดเข้ากลุ่มเป็นคนดี แล้วคนที่ชอบอยู่คนเดียวตามลำพังเป็นส่วนที่มีปัญหา นอกจากนี้ก็คือคนแต่ละคนนั้นจะมีลักษณะบุคลิกภาพที่ประกอบด้วยลักษณะที่ปรากกฏอยู่หลายประการร่วมกัน

ควบคุมจากภายใน หรือภายนอก

Rotter ได้ศึกษาทัศนคติและความเชื่อของคน โดยวิเคราะห์ถึงความเชื่อในสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของการควบคุมชีวิตของเขา (locus of control) ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากภายใน คือตัวของเขาเอง หรือเชื่อว่าเป็นส่วนที่มาจากภายนอก

บุคลิกภาพที่เชื่อมั่นว่าสิ่งที่เป็นภายในตัวของเขาเองนั้นเป็นตัวกำหนดความสำเร็จในชีวิต ซึ่งเรียกว่าพวก internalizers คนในลักษณะนี้จะมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ไม่รอชะตาฟ้าดิน หรือการรอให้โชคมาถึง แต่จะเป็นฝ่ายมุ่งไปสู่การทำให้เกิดขึ้น เขาจะเชื่อว่ามนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวเขาเองนั้นมีความสามารถที่จะทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้

ส่วนพวกที่เชื่อว่าสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นตัวกำหนดสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น ตัวมนุษย์หรือตัวเขาเองนั้นกลายเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมเหล่านั้น พวกนี้เรียกว่า Externalizers จะเป็นพวกที่แม้จะเห็นว่ามนุษย์นั้นมีสติปัญญาและความสามารถ แต่เห็นว่าการจะทำให้เกิดอะไรขึ้นนั้นเป็นผลมาจากตัวแปรภายนอกมากมาย และคนแต่ละคนนั้นมีบทบาทในการทำให้เกิดน้อยมาก ในส่วนนี้ บางคนเชื่อในโชคชะตาฟ้าดิน เชื่อในโชคลาง

ในวัฒนธรรมธุรกิจการค้านั้น เขาเรียกการวิเคราะห์แบบนี้ว่า พวกเก่งกับพวกเฮง ซึ่งก็เป็นไปตามสภาพที่ว่าบางคนนั้นเขาเก่งด้วยความสามารถของเขา แต่บางคนนั้นความสามารถไม่ค่อยจะมีเท่าไร แต่อาศัยโชคช่วย และในทางธุรกิจซึ่งต้องอาศัยทั้งความสามารถส่วนตัว และจังหวะทางธุรกิจที่เหมาะสมนั้นเขาจึงเรียกว่า ต้องทั้งเก่งและเฮง

ส่วนในทางการจัดการทั่วไปนั้นได้มีการวิจัยในต่างประเทศพบว่า นักบริหารที่ประสบความสำเร็จนั้นส่วนใหญ่จะเป็นพวกเชื่อมั่นในตัวเอง คือเป็นพวก internalizers มากกว่าพวก externalizers

(. B. Rotter, "Generalized Expectancies for Internal versus External Control of Reinforcement," Psychological Monographs 1, no. 609(1966): 80.)

บุคลิกภาพแบบเอ หรือ แบบบี

บุคลิกภาพสองแบบของบุคคลในแนวทางการศึกษาเช่นนี้ บุคลิกภาพแบบ เอ (Type A Individuals) เป็นพวกที่มีลักษณะแข่งขันสูง ทำอะไรต้องตรงต่อเวลา ทำอะไรก็ต้องทำอย่างรวดเร็ว และมักจะมีอาการเร่งร้อนอยู่เสมอ คนประเภทนี้จะเป็นพวกที่บ้างาน และดูเหมือนเขาจะไม่มีเวลาพอให้กับงานนั้น

บุคลิกภาพแบบ บี (Type B Individuals) จะเป็นพวกที่ยืดหยุ่น ทำอะไรอย่างใช้เวลา ทำอะไรอย่างลึกซึ้ง ไม่เครียด ไม่รู้สึกอึดอัดที่ยอมรับในความผิดพลาด

ในขณะที่งานวิจัยจะพบลักษณะผู้ทำงานในระดับหัวหน้างานระดับรอง หรือหัวหน้าคนงานจะเป็นคนในแบบเอ แต่สำหรับนักบริหารยิ่งขึ้นระดับสูงจะเป็นคนใน แบบบี

เรื่องนี้นับว่าเป็นสิ่งที่น่าคิดเพราะหลายคนเข้าใจว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคือคนที่ขยันขันแข็ง ทำงานอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างบ้าคลั่ง แต่กลับเป็นลักษณะตรงกันข้าม บุคลิกภาพแบบเอ กลับเป็นเหมือนมดงาน หรือนกที่บินสู่ที่สูงไม่ได้ ในขณะที่บุคลิกภาพแบบบี นั้น คนภายนอกมองดูเหมือนคนขี้เกียจ หรือเหมือนไม่เอาใจใส่งาน ซึ่งในรายละเอียดในเรื่องนี้จะได้มีการนำเสนอในรายละเอียดอีกครั้ง

(M. Friedman and Roseman, Type A Behavior and Your Heart (new York: Alfred A. Knopf, 1974)

Friedman and Roseman, Type A Behavior; M. T. Matteson and C. Preston, "Occupational Stress, Type A Behavior and Physical Well-being," Academy of Management Journal 25(1982):373-391.)

บุคลิกภาพแบบมาเคียเวลลี

บุคลิกภาพแบบมาเคียเวลลี (Machiavellianism) นั้นแนวคิดของ มาเคียเวลลี อันเป็นบุคคลแรกๆที่ได้มีการศึกษาถึงวิถีทางการเมือง และได้เขียนหนังสือของเขาชื่อ The Prince อันจัดว่าเป็นหนังสือหลักการเกี่ยวกับรัฐศาสตร์เล่มแรกๆ ซึ่งได้เสนอว่าในทางการเมืองนั้น ความสำคัญอยู่ที่การทำให้บรรลุเป้าหมาย (goals) โดยทุกวิถีทาง ไม่ว่าทางเหล่านั้นจะขัดกับหลักศีลธรรมอันดีงามของยุคสมัยหรือไม่อย่างไร (means) เป็นต้น อิทธิพลตามแนวหนังสือของเขานั้นได้แพร่ขยายอย่างกว้างขวาง นักการเมืองที่เชื่อในแนวทางของเขาก็จะคิดว่าจุดมุ่งหมายทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องยิ่งใหญ่เหนืออื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการรวมชาติ การสร้างอาณาจักรที่มีความมั่นคง และการจะให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้จำเป็นต้องใช้วิธีการที่ต้องไม่ปิดกั้น ตามแนวของเขานั้น การใช้วิธีการทำลายศัตรูให้อ่อนแอลงนั้นกระทำได้ในหลายวิธีการ ทั้งโดยการสู้รบกันซึ่งหน้า การบ่อนทำลาย การสร้างความแตกแยก หรือในบางกรณีรวมถึงการลอบสังหาร และอื่นๆที่มีอยู่มากมาย

ผู้นำโดยทั่วไปนั้นก็จะมีสองลักษณะ พวกที่เห็นด้วยกับมาเคียเวลลี จะไม่จำกัดวิธีการ (means) ในอันที่จะบรรลุเป้าหมาย แต่พวกที่ไม่เห็นด้วย หรือเห็นตรงกันข้ามก็คือ พวกที่เชื่อว่าการจะบรรลุจุดมุ่งหมายที่ดีนั้น ก็จะต้องด้วยวิธีการที่ชอบธรรมด้วย ซึ่งจะต้องมีจริยธรรมทางการเมือง หรือการจัดการเป็นตัวกำหนด

ในการศึกษาค่านิยมของผู้นำในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยาก เพราะเกี่ยวกับจริยธรรมทางการบริหาร คนที่เขาทำอะไรนอกลู่นอกรอยของสังคมนั้นเขาก็จะไม่บอก แต่เท่าที่ปรากฏ คงเป็นที่ทราบว่านักการเมืองนั้นกว่าเขาจะได้ก้าวสู่ความเป็นผู้บริหารระดับสูงได้นั้น บางครั้งในชีวิตการต่อสู้ทางการเมืองของเขาต้องใช้วิธีการต่างๆมากมาย บางอย่างผู้คนทั่วไปได้รับรู้ บางอย่างไม่เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป แต่ในทางตรงกันข้ามมองอีกแง่หนึ่ง จุดหมายปลายทางทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ง่ายกว่า ชาวบ้านก็ไม่สนใจว่านักการเมืองนั้นเขาได้ผ่านวิถีทางอย่างไรมา ขอให้ได้คนที่ทำประโยชน์ให้เขาได้มากที่สุดเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในโลกของข้อมูลข่าวสารทำให้คนได้มีโอกาสเข้าไปรับรู้ในวิธีการของนักการเมืองได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน และก็มีแนวโน้มว่าเมื่อประชาชนในโลกที่มีการรับรู้มากขึ้น ก็ต้องการมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองที่สูงขึ้น

(R. Christie and F. L. Geis, eds., Studies in Machiavellianism New York: Academic Press, 1970).

บุคลิกภาพ 9 แบบของ Riso

จากการศึกษาของ Don Richard Riso (1988) ในศาสตร์เพื่อการค้นพบตนเอง โดยอาศัย Enneagram มีวิธีการอธิบายที่น่าสนใจ ซึ่งนำเสนอได้ดังต่อไปนี้

Ennea เป็นภาษากรีก แปลว่าเก้า Enneagram แปลรวมๆว่า บุคลิกภาพเก้าประการแสดงด้วย

แผนภูมิ หรือ diagram

Enneagram เป็นการคิดค้นโดยพื้นฐานทางคณิตศาสตร์โบราณของชาวกรีก แล้วก็ส่งต่อมาทั้งในส่วนของชาวอาหรับ และชาวอิสลาม พวกซูฟิส (Sufis) ในช่วงแห่งการพัฒนานี้ได้ใช้ในการอธิบาย และศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพของมนุษย์ และเป็นการสร้างความราบรื่นในการอยู่ร่วมกัน

องค์สาม (The Triads)

Three Triads of Enneagram

The Feeling Triad

The Two is caring, generous, possessive, and manipulative.

The Three is self-assured, competitive, narcissistic, and hostile.

The Four is creative, intuitive, introverted, and depressive.

The doing Triad

The Five is perceptive, analytic, eccentric, and paranoid.

The Six is likable, dutiful, dependent, and masochistic.

The Seven is accomplished, impulsive, excessive, and manic.

The Relating Triad

The Eight is self-confident, forceful, combative, and destructive.

The Nine is peaceful, reassuring, passive, and neglecful.

The One is principled, orderly, perfectionistic, and punitive.

บุคลิกภาพของมนุษย์ที่แบ่งออกได้เป็น 3 องค์ประกอบ หรือจะเรียกได้ว่าเป็นองค์สาม (Triads) และแต่ละองค์นั้นก็จะมี 3 บุคลิกภาพในหนึ่ง triad ส่วนแรกเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการทำ (The Doing Triad) ส่วนที่สองเป็นส่วนที่เกี่ยวกับสัมพันธภาพ (The Relating Triad) และส่วนที่สาม เป็นส่วนที่เกี่ยวกับความรู้สึก (The Feeling Triad) สำหรับในบทความนี้จะเรียกอย่างง่ายๆว่าส่วน (ดูได้จากภาพ)

องค์สามของความรู้สึก (The Feeling Triads)

ส่วนที่เป็นความรู้สึกนั้นมีสามกลุ่ม คือ

กลุ่มสอง การให้ความอาทร ความอารี ความเป็นเจ้าของ และการเข้าจัดการ

กลุ่มสาม การมีความมั่นใจ การแข่งขัน การหลงตนเอง และความโหด

กลุ่มสี่ การมีความคิดสร้างสรรค์ การมีญาณ การเก็บงำภายใน และความเก็บกด

องค์สามของการกระทำ (The Doing Triad)

ส่วนที่เป็นการกระทำ มีสามกลุ่ม คือ

กลุ่มห้า การรับฟัง การวิเคราะห์ การเห็นตนเองเป็นหลัก ความหวาดผวา

กลุ่มหก ความน่าคบค้า การทำตามหน้าที่ การพึ่งพา ความยึดมั่นในความกล้าแกร่ง

กลุ่มเจ็ด การทำให้สำเร็จ ความมุ่งมั่น การมีมากจนล้น และการบ้าคลั่ง

องค์สามของสัมพันธภาพ (The Relating Triad)

ส่วนที่เป็นสัมพันธภาพ มีสามกลุ่ม คือ

กลุ่มแปด การมีความเชื่อมั่นในตนเอง การทำอย่างมีพลัง การสู้ และการทำลายล้าง

กลุ่มเก้า ความมีสันติ ความเป็นระเบียบ การคลั่งความสมบูรณ์แบบ และการลงโทษ

ในบุคลิกภาพ 9 แบบอันเกิดจากมิติ 3 มิติ นั้นมีระดับ ทั้งในส่วนที่ดี (healthy) ปานกลาง (average) และพวกที่มีปัญหา (unhealthy) โดยแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ในแรงจูงใจของเขาเหล่านี้ พร้อมทั้ง ตัวอย่าง ดังต่อไปนี้

นักช่วยเหลือ (Type Two: The Helper)

บุคลิกภาพนักช่วยเหลือนั้นถ้าเป็นอย่างดี (healthy) ก็จะมีลักษณะไม่เห็นแก่ตัว ทำอะไรอย่างไม่หวังประโยชน์เพื่อตนเอง มุ่งให้คนอื่นได้ประโยชน์ การให้ความรักความปรารถนาดีแก่คนอื่น มีความรัก ความจริงใจ ความอบอุ่น และห่วงใย คอยให้กำลังใจแก่คนอื่นๆ มีแต่ให้และคอยช่วยเหลือ

ถ้าเป็นในระดับทั่วไป (average) จะมีลักษณะทำอะไรก็ต้องแสดงออกให้รู้ว่าได้ทำดี เมื่อจะแสดงความรักความสนิทสนมก็แสดงออกอย่างเกินเลย แสดงความเป็นเจ้าของ ผูกพันเป็นของตน ทำตัวเหมือนเป็นพ่อหรือแม่ แต่ให้ความสำคัญต่อตนเองเหมือนสิ่งนั้นหรือคนๆนั้นขาดตนไม่ได้ ให้ความสำคัญของตนเองเหนือคนอื่น แสดงความเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้ปกป้องอย่างมาก

ลักษณะแรงจูงใจของคนประเภทนี้ก็คือ การต้องการความรักตอบ การแสดงความรัก หรือความรู้สึก ต่อคนอื่นๆ ต้องการรู้สึกเป็นคนที่มีผู้อื่นต้องการและชื่นชม การบังคับให้คนอื่นต้องแสดงตอบต่อตน และการกล่าวอ้างบุญคุณ

ตัวอย่างที่ดีของคนประเภทนี้ที่เราพอรู้จักที่ดีๆ ก็มี เช่น Mother Teresa, Mahatma Gandhi, Eleanor Roosevelf, Leo Buscablia เหล่านี้เป็นต้น

ผู้ใฝ่หาสถานภาพ (Type Three: The Status Seeker)

คนประเภทนี้ส่วนที่มีคุณภาพ (healthy) จะมีลักษณะทำออกมาอย่างใจจริง ทำด้วยจิตใจของเขา จะทำอะไรก็เต็มไปด้วยความมั่นใจ มีพลัง สามารถปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้ มีบุคลิกที่สง่างาม เป็นที่ชื่นชอบ หรือจะเรียกว่าโหงวเฮ้งดีก็ได้ เป็นคนใฝ่ที่ปรับปรุงตนเอง ทำตัวให้ดีเด่น โดยไม่เอาเกณฑ์คนทั่วไปเป็นมาตรฐาน มีคุณสมบัติเป็นที่ชื่นชมของคน และจะมีลักษณะจูงใจให้คนอื่นอยากเป็นหรือทำเหมือนในสิ่งดีๆที่เขาทำ หรือเป็นอยู่

ถ้าเป็นระดับคนทั่วไป (average) จะมีลักษณะแข่งขันกันเพื่อสร้างสถานภาพและศักดิ์ศรี เรื่องของหน้าที่และตำแหน่งหน้าที่การทำงานจะเป็นเรื่องที่สำคัญ จะสนใจในแง่ภาพพจน์ที่ปรากฏ จะกังวลมากต่อภาพลักษณ์ที่ปรากฏต่อคนทั่วไป จะพยายามเสนอตนเอง ทำอะไรจะเน้นผลในเชิงปฏิบัติ ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ และมีประสิทธิภาพ แต่จะมีลักษณะทำอะไรอย่างคิดบวกลบคูณหาร เหมือนการต้องลงทุนก็ต้องได้ผลตอบแทน จะนำเสนอตนเองอยู่ตลอด ทำให้ตนเองดูดีกว่าที่เป็นจริง เป็นลักษณะหลงตน ชอบโอ่อ่า ชอบแสดงออก และไม่จริงใจ บางทีจะมีอาการโหดร้ายต่อคนอื่นได้ ถ้าไม่ได้ความรักหรือการตอบสนองอย่างที่ต้องการ

ถ้าเป็นพวกมีปัญหา (unhealthy) อาจเป็นพวกฉวยโอกาสเพียงเพื่อประโยชน์ของตนเอง เป็นคนชอบโกหก สามารถทรยศหักหลังต่อคนอื่น อาจเป็นพวกถ้าไม่ได้ก็ต้องทำลาย เป็นซาดิสต์ อาจเป็นพวกชอบก่อการร้าย ฆาตกรรม ลอบสังหาร

แรงจูงใจของคนในบุคลิกภาพเช่นนี้ คือการได้รับการยอมรับ การได้อยู่ในสถานะที่เหนือกว่าคนอื่น การได้รับความสนใจ มีคนชื่นชม และเป็นที่ประทับใจแก่คนอื่น

ตัวอย่างของคนในกลุ่มนี้ ได้แก่ คนอย่างประธานาธิบดี Jimmy Carter ที่มีพื้นฐานมาจากชาวบ้านนอก, นักแสดงอย่าง Brooke Shields, Sylvester Stallone, หรือนักกีฬาอย่าง Bruce Jenner, นักทศกรีฑาเหรียญทองโอลิมปิค ในสังคมไทยนั้น เราจะพบบุคคลที่มีบุคลิกภาพเช่นนี้ใน นักการเมือง นักกีฬา นักธุรกิจ เพราะสถานภาพในสังคมของไทยนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ

ศิลปิน (Type Four: The Artist)

พวกศิลปินมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นศิลปินจริงๆโดยอาชีพเสมอไป แต่เป็นพวกมีบุคลิกภาพ แบบ ศิลปิน ถ้าเป็นอย่างมีคุณภาพ (healthy) จะเป็นพวกที่ถูกจูงใจด้วยความอยากสร้างสรรค์ แสวงหาสิ่งที่ดีสำหรับมนุษย์ เป็นคนมีญาณหยั่งรู้ ช่างคิด และตรวจสอบตนเอง ไม่หลงตนหรือหลุดลอย เป็นคนแสดงออกเปิดเผย เป็นกันเอง ซื่อสัตย์ในอารมณ์ ตรงไปตรงมา เป็นคนจริงจังแต่ก็มีอารมย์ขัน อ่อนโยนในความรู้สึก แต่ก็มั่นคงในอารมย์

ถ้าเป็นระดับธรรมดา (average) จะเป็นพวกที่มีอารมย์ศิลปินและโรแมนติค คิดและทำอย่างศิลปิน แสดงความรู้สึกส่วนตัวออกมาในลักษณะของความสวยงาม อาจเป็นคนประเภทจมกับตนเอง เก็บกดภายใน เจ้าอารมย์ หรือโมโหร้าย รู้สึกตนเองไม่เหมือนคนอื่น และแยกวิธีการใช้ชีวิตของตนแตกต่างจากคนอื่น อาจเกิดความรู้สึกสมเพชตนเอง เกิดความรู้สึกภาพหลอน หรือบางทีก็สร้างจินตนาการขึ้นมา กลายเป็นพวกเพ้อฝัน ไม่สามารถทำในสิ่งที่ปฏิบัติได้ ไม่ค่อยมีผลงาน เปลี้ยล้า หรืออาจมีคุณค่าอย่างยิ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับจังหวะ และไม่แน่นอน

ถ้าเป็นพวกมีปัญหา (unhealthy) จะเป็นพวกที่แปลกแยกทั้งจากตนเองและผู้อื่น มีอาการเก็บกด เหมือนอารมณ์ถูกปิดกั้น หรือเป็นอัมพาต รังเกียจตนเอง ทารุณ และมีความคิดประหลาดผิดปกติ มีความรู้สึกหมดหวัง สิ้นหวัง บางทีใช้วิธีการหนีไปจากโลกด้วยเหล้าและยาเสพติด ในกรณีที่ร้ายที่สุด คือการมีอาการประสาทเสีย หรือฆ่าตัวตาย

แรงจูงใจของคนในกลุ่มนี้ คือการต้องการเข้าใจตนเอง การทำให้ตัวเองได้พบเห็นในสิ่งที่สวยงาม การได้ถอนความรู้สึกหรือปกป้องความรู้สึกของตน การได้สนองความต้องการทางอารมย์มากกว่าสิ่งใดอื่น

ตัวอย่างของคนในกลุ่มนี้ ได้แก่ นักประพันธ์ชื่อดังอย่าง Tennessee Williams, นักบัลเลท์ระดับโลก อย่าง Rudolf Nureyev, หรือผู้สร้างภาพยนต์อย่าง Ingmar Bergman ดังได้กล่าวแล้ว คนประเภทนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงพวกศิลปิน และศิลปินบางคนก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นเช่นนี้

นักคิด (Type Five: The Thinker)

บุคลิกภาพนักคิด ถ้าเป็นพวกที่สมบูรณ์ (healthy) จะเป็นพวกมีสายตากว้างไกล มีความเข้าใจโลก อย่างกว้างขวาง ค้นพบสิ่งใหม่ เป็นพวกอัจฉริยะ สังเกตทุกอย่างรอบตัวด้วยวิธีการคิดและการมองที่ไม่เหมือนคนทั่วไป สามารถรวบรวมสมาธิได้ดี เป็นพวกมีความรู้กว้างขวางและเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความคิดริเริ่ม แปลกใหม่ สามารถสร้างผลงานที่มีคุณค่า ชนิดที่ไม่มีใครทำมาก่อน

ถ้าเป็นระดับธรรมดา (average) จะเป็นพวกนักวิเคราะห์ ทำอะไรเฉพาะทาง คิดอะไรอย่างวิทยาศาสตร์ จะทำงานประเภทวิจัยและวิชาการ แต่อาจเป็นพวกแปลกแยก ชอบคาดการณ์ในความคิดที่เป็นนามธรรม และแปลความสิ่งซับซ้อนจากความเป็นจริงทั้งหลาย อาจเป็นพวกแปลความตามทฤษฎีอย่างที่อาจไม่เกิดประโยชน์ เป็นพวกศึกษาแยกย่อยเข้าไปทุกที เป็นเรื่องไกลตัวยังหาความหมายไม่ได้ ศึกษาอย่างลอยไปเรื่อยๆ นำเอาความคิดมาอยู่เหนือข้อเท็จจริง หรือเป็นพวกทำลายความเชื่อของคน คือเพียงพิสูจน์ว่าไม่จริงไม่เชื่อ หรือไม่ก็เป็นพวกหลงอะไรอย่างง่ายๆ และสุดๆ และเป็นพวกตีความอย่างให้เป็นไปตามความเชื่อของตนมากกว่าจะใช้หลักการพิสูจน์ข้อเท็จจริง

ในกรณีที่เลวร้าย เป็นพวกมีปัญหา (unhealthy) จะมีลักษณะแปลกแยก และหลุดลอยจากความเป็นจริง มองแง่ร้าย และต่อต้าน ทำให้คนอื่นรังเกียจ เต็มไปด้วยความประหลาด มีความคิดที่เป็นอันตราย หวาดกลัวสิ่งแวดล้อม เป็นเหยื่อของข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือน อาจเป็นพวกจิตประสาท โรคจิตเสื่อม มีอาการเก็บตัว

แรงจูงใจของพวกนี้โดยรวมคือ ความต้องการเข้าใจธรรมชาติ การได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น สามารถอธิบาย ปรากฏการณ์ และสามารถปกป้องตนเองจากอันตรายจากสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างของคนประเภทนี้ คือ นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์อย่าง Albert Einstein, นักจิตวิทยาอย่าง Sigmund Freud, เป็นต้น ความจริงอาจารย์มหาวิทยาลัยควรจะได้คนประเภทนี้

ผู้สวามิภักดิ์ (Type Six: The Loyalist)

บุคลิกผู้สวามิภักดิ์ ถ้าเป็นพวกสมบูรณ์ (healthy) นั้น จะมีลักษณะเชื่อใจในตนเองและผู้อื่น เป็นคนมีความเป็นอิสระ แต่ขณะเดียวกันก็ผูกพันหรือร่วมมือกับคนอื่นในสถานะที่เท่าเทียมกัน เป็นคนที่สามารถจูงใจ ทำให้คนรักหรือชอบได้ สามารถใช้การสื่อสารและสื่อให้คนเกิดอารมย์ร่วม เป็นพวกที่มีความสวามิภักดิ์หรือผูกพันด้วย ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ครอบครัว เพื่อน เป็นคนที่มีความสำคัญ เชื่อถือได้ และมีค่าควรแก่การไว้วางใจ

แต่สำหรับระดับคนทั่วไป (average) จะพบมากในลักษณะผูกพันกับศูนย์อำนาจ เชื่อฟัง ยึดมั่นในขนบธรรมเนียม และเป็นคนประเภทอุทิศให้องค์การ อาจต่อต้านอำนาจ อาจมีลักษณะกึ่งยอมตามและกึ่งกร้าวร้าว เป็นพวกไม่ค่อยตัดสินใจ หรือไม่กล้ารับผิดชอบคนเดียว ไม่กล้าออกจากกรอบผูกพันขององค์การ และต้องการปกป้องจุดอ่อนของตน จึงต้องแสดงความเป็นคนเข้มแข็ง แสดงอำนาจ เป็นพวกไปไหนไปด้วยร่วมกับเขา แต่ถ้าเกิดอะไรผิดพลาดก็ต้องหาแพะรับผิด เป็นหัวหน้าก็ไม่สามารถยืนหยัดปกป้องให้ใครได้ ไม่ว่าเขาจะถูกหรือผิด

ถ้าเป็นบุคลิกภาพในระดับเป็นปัญหา จะเป็นพวกไม่มีความมั่นใจในตนเอง ต้องพึ่งพา และรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าเขาอื่น เป็นพวกกระวนกระวายอย่างเห็นได้ชัด โรคกลัวง่าย อาจแสดงออกอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล มักจะแสดงความกลัวในบางสิ่งบางอย่างที่ฝังใจ เป็นพวกชอบแพ้ กลัวการทำให้อับอาย หรือกลัวตัวเองต้องเข้าไปอยู่ในสถานะที่ต้องอับอายหรือเครียด อาจมีลักษณะแสดงอำนาจ ซึ่งก็เป็นลักษณะปกปิด หรือทดแทนบุคลิค แท้จริงของตนเองที่เป็นคนไม่มีความมั่นใจในตนเอง

คนกลุ่มนี้มีแรงจูงใจที่การได้รับความยอมรับจากคนอื่น การได้ทดสอบทัศนคติของคนอื่นที่มีต่อเขา และ การได้ต่อสู้และหลีกหนีความกระวนกระวาย และความไม่มั่นใจ

ตัวอย่างคนในประเภทนี้ทีมีชื่อเสียง ได้แก่ รองประธานาธิบดี Robert F. Kennedy ที่ให้ความจงรักภักดีต่อ John F. Kennedy ซึ่งเป็นพี่ชาย หรือ, Walter Mondel อดีตประธานาธิบดีที่ต้องสวามิภักดิ์ต่อประธานาธิบดี Jimmy Carter หรือคนที่ต้องยอมทำผิดกฏหมายในกรณี watergate อันอื้อฉาวในยุคประธานาธิบดี Richard M. Nixon อย่าง G. Gordon Liddy, หรือตัวตลกในละคอนล้อชีวิต Archie Bunker. ถ้าเป็นคนในสังคมไทย ผู้เขียนเปรียบเทียบเหมือนพวกข้าราชการทั้งหลาย มีทั้งที่มีคุณภาพ ทำอะไรเพื่อประโยชน์ของหมู่คณะ ต้องการพวก ต้องการเพื่อน และผูกพันกับสถาบันที่ตนเองเกี่ยวข้อง

รู้กว้างทำกว้าง (Type Seven: The Generalist)

พวกรู้กว้างทำกว้างนี้ถ้าเป็นประเภทที่สมบูรณ์ จะเป็นพวกที่ชื่นชมกับชีวิต เห็นอะไรเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้ มีความสนุกสนานร่าเริ่ง มีชีวิตชีวา ทำอะไรเน้นเรื่องทำได้ ปฏิบัติการทำอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ชื่อว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จ คนประเภทนี้ทำอะไรก็ทำได้ดี และทำอะไรหลายๆอย่างได้พร้อมๆกัน บางทีจะพบว่าเป็นพวกที่มีความสามารถหลากหลาย

ถ้าพวกรู้กว้างทำกว้างประเภทธรรมดา จะเป็นพวกที่ทันสมัย สนุกกับตนเอง หรือการได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นพวกชอบแสดงออก เป็นพวกอยู่ไม่สุข ต้องทำโน่นทำนี่ แต่อาจทำอย่างผิวเผิน เล่นอะไรก็ไม่รู้จริง สนใจวัตถุนิยม เป็นนักบริโภค อาจเป็นคนอยากมีอยากได้ ไม่รู้สึกว่าตนเองมีความเพียงพอ เป็นพวกเรียกร้อง เน้นตนเองเป็นที่ตั้ง และในบางทีเหมือนม้าตีนต้นที่ในระยะยาวทำอะไรไม่เสร็จ เพราะไม่สามารถพุ่งความสนใจในกิจกรรม ทำอะไรแบบสะเปะสะปะ ไม่ทำให้สำเร็จอย่างจริงจัง

ถ้าเป็นพวกที่มีปัญหาชัดแจ้งจะมีลักษณะชอบรุกเข้าไปอย่างหยาบๆ ไม่เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ในขณะที่ตนเองก็มุ่งแต่สนองความต้องการของตนเอง เป็นพวกที่เหมือนมีแรงผลักเร้าอยู่ เหมือนเป็นทารก ไม่รู้จะหยุดความต้องการของตนเองได้อย่างไร เหมือนเสพสุรา มึนเมา ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ มักแสดงความตื่นตระหนกออกมา ฃมากกว่าจะสามารถจัดการกับความเครียดได้ เป็นพวกติดยา เป็นจิตประสาท เพราะความล้นและไม่รู้จักพอ และหยุดยั้งอารมย์เมื่อต้องปกป้องความล้มเหลวของตนเอง

แรงจูงใจของคนกลุ่มนี้คือการต้องการความสุข สนุกสนาน อยากทำ อยากมีไปในทุกสิ่ง อยากหนี ความกระวนกระวาย

ตัวอย่างของคนประเภทนี้ คือ Arthur Rubinstein, Barbra Streisand, Peter Ustinov คนประเภทนี้ ส่วนหนึ่งก็เหมาะที่จะเป็นผู้บริหารองค์การขนาดใหญ่ หรือเป็นผู้บริหารประเทศ เพราะแม้ไม่เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง แต่ถ้ารู้จักใช้คนให้เหมาะสม ก็สามารถทำหน้าที่ด้านการจัดการได้ดี

ผู้นำ (Type Eight: The Leader)

บุคลิกภาพผู้นำ ในส่วนที่มีความสมบูรณ์ มักจะเป็นพวกสามารถจัดการ ควบคุมตนเองได้ดี มีความกล้าหาญ อาจมีลักษณะเป็นวีรบุรุษ และเป็นคนที่มีความยิ่งใหญ่ที่สามารถบันทึกไว้ได้ในประวัติศาสตร์ เป็นคนที่รุกเข้าแก้ปัญหา มีความเชื่อมั่นในตนเอง และมีความเข้มแข็งในจิตใจ เป็นลักษณะผู้นำตามธรรมชาติ มีความสามารถในการสร้างพลังใจให้กับคนอื่น กล้าตัดสินใจ กล้าใช้อำนาจ และออกคำสั่งได้ เป็นคนที่สามารถต่อสู้ให้กับประชาชน หรือคนส่วนใหญ่ สามารถปกป้องคน และรักษาเกียรติยศทั้งของตนเอง และหมู่คณะ

ถ้าเป็นในระดับปกติ อาจเป็นคนที่มีความเป็นผู้ประกอบการ สามารถซื้อขายถ่ายเท มีพลัง กล้าเข้ากระทำ เป็นคนที่แสวงหาอำนาจ และสร้างอาณาจักร เป็นพวกที่จะเข้าไปจัดการกับธรรมชาติมากกว่าการเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ มีความมุ่งมั่น ชอบสู้ พร้อมที่จะเยาะหยันคู่ต่อสู้ที่เข้ามาขวางทาง พร้อมเผชิญหน้า และอาจก่อให้เกิดความบาดหมางแก่กัน

แต่ถ้าเป็นระดัยที่มีปัญหา จะเป็นคนกร้าวร้าวและหยาบคาย เป็นเผด็จการ ทรราช และเป็นนักเลงหัวไม้ สร้างภาพหลอนให้กับตัวเองว่ายิ่งใหญ่ สร้างวิมานในอากาศ อาจเป็นคนเหี้ยมโหด สามารถทำลายทุกสิ่ง ที่ไม่ยอมตามในสิ่งที่เขาต้องการ อาฆาตแค้นรุนแรง ป่าเถื่อน และชอบสังหาร หรืออย่างที่เรียกว่ามี Machiavillianism นั้นเอง

สำหรับแรงจูงใจของคนประเภทนี้จะต้องการพึ่งตนเอง การทำอะไรตามความต้องการหรือสนใจของตนเอง สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อม และการมีอำนาจเหนือคนอื่น

ตัวอย่างของคนประเภทนี้ได้แก่ Martin Luther King นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิคนผิวดำ, Franklin D. Rossevelt อดีตประธานาธิบดีในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองของสหรัฐ , Mikhail Gorbachev ประธานาธิบดี ที่ปฏิรูปเปิดทางสังคมโซเวียตสู่สภาพสังคมทุนนิยมเสรี, Lee Iacoocca ผู้กอบกู้บริษัทไครสเลอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ ใหญ่อันดับสามของสหรัฐ หรือ Golda Meir อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศอิสราเอล

นักสันติภาพ (Type Nine: The Peacemaker)

ถ้าคนที่มีบุคลิกเป็นนักไฝ่สันติอย่างสมบูรณ์ จะมีลักษณะความเป็นเจ้าของตัวเอง เป็นอิสระ และได้บรรลุอย่างเพียงพอแล้ว มีอุเบกขา มีความสงบในใจ พร้อมที่จะเปิดรับความคิด และรับฟัง เป็นคนตรวจสอบตนเองอยู่ตลอดเวลา มีความมั่นคงในอารมย์ สงบสันติ มีความมองโลกในแง่ดี สำหรับสัมพันธภาพต่อคนนั้น จะเป็นคนคอยให้กำลังใจและให้ความสนับสนุนผู้อื่น มีความอดทน มีบุคลิกภาพที่ดี ไม่เสแสร้ง เป็นคนที่น่าคบและจริงใจ

ถ้าเป็นในระดับธรรมดา จะเป็นพวกผูกพันกับตนเอง ยังยอมรับในค่านิยมและบทบาทในสังคมโดยทั่วไป ไม่มีลักษณะที่คอยตรวจสอบ หรือสะท้อนย้อนดูตน เป็นคนง่ายๆเกินไป และอาจไม่ตอบสนองหรือรับฟังอาจเฉื่อยชา และถือว่าดีพอแล้ว ชะล่าใจ มองปัญหาเป็นเรื่องเล็กเพื่อให้คนอื่นเชื่อใจ อาจเป็นคนที่มีมรณานุสติเตือนเกินเหตุ หรืออาจเป็นพวกที่คิดว่าไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มองเห็นหรือ ปล่อยทุกอย่างไปตามยถากรรม

ถ้าเป็นพวกที่เป็นปัญหา อาจเป็นพวกถดถอย ไม่พัฒนา และเย็นชาไม่รับรู้ความรักความรู้สึก ปล่อยวาง ไม่อยากเห็นปัญหา ปล่อยให้ชีวิตแปลกแยก แยกตัวเองจากความขัดแย้งใดๆ ซึ่งก็ทำให้ดำรงชีวิตอยูในโลกไม่ได้ กลายเป็นพวกเหมือนไม่มีบุคลิกภาพ และอาจนำไปสู่ความหายนะ เป็นไปได้ที่เป็นพวกที่มีหลายบุคลิกภาพซ้อนอยู่

แรงจูงใจของคนประเภทนี้ คือการสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ สามารถรักษาสิ่งที่เป็นอยู่ให้คงต่อไป เช่นเดิม การหลีกหนีความขัดแย้งและความตึงเครียด การปล่อยวางสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง หรือการที่จะรักษาสันติไว้ให้ได้ไม่ว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพียงใด

ตัวอย่างของคนประเภทนี้ที่เราจะรู้จัก เช่น ประธานาธิบดี Corazon Aquino, Walter Cronkite นักอ่านข่าวที่เป็นที่ยอมรับของอเมริกา , Rosalynn Carter ภรรยาประธานาธิบดี Jimmy Carter , นักสร้างการ์ตูน Walt Disney หรือ ดาไล ลามะ ผู้นำทางศาสนาที่ลี้ภัยในต่างประเทศ

นักปฏิรูป (Type One: The Reformer)

นักปฏิรูปที่มีบุคลิกที่สมบูรณ์นั้นจะมีลักษณะ ฉลาด มองเห็นการณ์ไกล อดทน มีลักษณะมองอะไร อย่างเป็นจริง มีความสมดุลย์ในการตัดสินใจ รู้จักใช้เหตุผล มีจิตสำนึก และจะเลือกเดินสายกลาง ไม่ใช่อนุรักษ์ และไม่ใช่นักปฏิวัติโค่นล้ม เป็นคนยึดหลักการ มีความยุติธรรม และตรงไปตรงมา มีจริยธรรม รักความสัตย์มีศักดิ์ศรีในตนเอง และเป็นคนที่สอนจริยธรรมแก่คนอื่น

ถ้าเป็นในลักษณะทั่วไป มักจะพบในพวกที่ไฝ่อุดมคติ พยายามทำอะไรที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศในทุกเรื่อง เป็นพวกที่พูดและรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นคนยึดระเบียบ เน้นประสิทธิภาพ แต่ไม่เป็นกันเอง มีการพยายามควบคุมอารมย์ของตนเองมากเกินไป หรือในอีกลักษณะ คือเป็นพวกชอบวิจารณ์ คอยเอาค่านิยมของตนเองไปตัดสินคนอื่นๆ คอยให้ความคิดเห็นตลอดเวลา เป็นพวกคลั่งความสมบูรณ์แบบ บ้างาน เคร่งในจริยธรรม โกรธง่าย และระคายเคืองแก่คนอื่น

ถ้าเป็นกลุ่มที่เป็นปัญหา จะมีลักษณะยึดมั่นเชื่อว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก ยึดถืออะไรเหมือนกับเป็นคัมภีร์ ไม่ยืดหยุ่น มีจุดอ่อนในการตัดสินใจ และไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดของตนเองได้ บางที่ครั้งการพูดกับการกระทำขัดแย้งกัน หรือบางทีมีพฤติกรรมแปลกและไม่สามารถอธิบายได้ เป็นแบบมือถือสาก ปากถือศีล หรืออาจเป็นพวกโหด ชอบสาปแช่ง ลงโทษคนอื่น มีอาการประสาท มีอาการเก็บกด

แรงจูงใจของพวกนี้คือ ความต้องการที่จะประพฤติปฏิบัติชอบ ต้องการยกระดับพฤติกรรมในคนอื่นต้องการแสดงจุดยืนของตนเอง และไม่ต้องการให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะจะยึดแนวทางปฏิบัตที่ตนเองเห็นว่าชอบแล้ว

ตัวอย่างของคนประเภทนี้ ได้แก่ ประมุขของคริสตศาสนา Pope John Paul II, นายกรัฐมนตรี ของอังกฤษที่ได้ฉายาว่าสตรีเหล็ก Margaret Thatcher, และนักรณรงค์เพื่อผู้บริโภคอย่าง Ralph Nader,

ความจริงคนที่จะเป็นผู้นำนั้นเป็นได้จากบุคลิกภาพทั้ง 9 แบบ แต่ที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จ นั้นเขาจะต้องเป็นคนที่มีความสมบูรณ์ หรือค่อนข้างสมบูรณ์ คนที่จะเป็นผู้นำในหมู่ศิลปิน เขาก็ต้องมีค่านิยม และความเข้าใจในศิลปิน อย่างเช่นผู้อำนวยการสร้างภาพยนต์ นักบริหารบริษัทผลิตเทปเพลง หรือ computer software แต่สำหรับคนที่จะเป็นผู้นำในหมู่สงฆ์ เขาอาจเป็นพวก reformist หรือนักปฏิรูป หรือคนที่สามารถทำตนเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้อื่นๆได้

บุคลกภาพแบบแข็งหรืออ่อน-นอกหรือใน

บุคลิกภาพของคนหากเป็นการวิเคราะห์แบบรวมๆในพฤติกรรมที่แสดงออกในฐานะผู้บริหารนั้น เราจะพบว่า มีตัวแปรประการหนึ่งคือ ในด้านการเป็นคนแข็ง หรือแกร่งอย่างไร และความแข็งหรือแกร่งนั้น จำแนกได้ด้วยสภาพที่เป็นไปตามพฤติกรรมที่ปรากฏอย่างภายนอก หรือว่าเป็นไปอย่างที่อยู่ในส่วนลึกๆของบุคลิกภาพ ซึ่งคนไทยแต่โบราณจะสอนให้ดูคนที่ความเป็น "เปลือก" หรือ กระพี้ อันเป็นส่วนที่ปรากฏภายนอก คนทั่วไปได้พบเห็น และในส่วนที่เป็น "ภายใน" ซึ่งจะไม่ปรากฏให้เห็น นอกจากจะอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ความแข็งแกร่งนั้นๆ จึงจะได้มีโอกาสแสดงออกมา ซึ่งผู้ใหญ่แต่เก่าก่อนสอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนของ "แก่น" หรือแกนกลางของต้นไม้ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ เพราะเวลาเขาใช้ประโยชน์จากไม้นั้นเขาใช้กันที่ความเป็นแก่น หรือเนื้อไม้ แต่ส่วนที่เป็นเปลือกนั้นเขาจะลอกทิ้ง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะจำแนกตามสภาพความแข็งและความอ่อน จะแบ่งคนออกได้เป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้คือ

1. แข็งทั้งนอก-แข็งทั้งใน (rigid)

เป็นคนยึดมั่น คิดอะไรเชื่ออะไรก็จะทำอย่างนั้น และก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เหมือนขุนทหารที่ปรากฏให้เห็นความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวไม่กลัวภัย ทั้งต่อภายนอก และในวิธีการคิด คนประเภทนี้ถ้าเข้าใจก็คบง่าย จะใช้งานก็เชื่อได้ เพราะเป็นคนแบบตรงไปตรงมา แต่ก็จะทำงานใหญ่ให้สำเร็จได้ยาก เพราะจะขาดความยืดหยุ่นในวิธีการ และในบางครั้งคนประเภทนี้จะมีจุดอ่อนที่คิดซับซ้อนไม่เป็น สำหรับภายในครอบครัวนั้นอาจมีปัญหาในการอบรมดูแลลูกหลาน เพราะความเป็นคนที่ยึดมั่นถือมั่น และจะมีปัญหาในการทำความเข้าใจคน เหมือนเผด็จการ หรือคนใจหิน

ในพงศาวดารจีน ในเรื่องสามก๊กนั้น กวนอูและเตียวหุย ก็เป็นนักรบที่มีบุคลิกภาพเช่นนี้ ต้องเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวทั้งภายนอกและภายใน มองอะไรไม่ซับซ้อนนัก แต่อาจมีพลังที่ความแข็งแกร่งที่ทุ่มเทกับการกระทำทุกอย่าง

2. แข็งนอก-อ่อนใน

เป็นคนที่ท่าทีภายนอกดูเข้มแข็ง พูดจาโผงผาง แต่แท้ที่จริงลึกๆกลับเป็นคนใจอ่อน หรือไม่กล้าตัดสินใจ เปรียบก็เหมือน "ไข่กับเปลือก" ส่วนนอกเป็นความแข็งแกร่ง หรือแข็งกระด้าง ทำอะไรจะแข็งขืนไว้ก่อน ทำอะไรจะต้องเอะอะโวยวาย เหมือนเปลือกไข่ที่แข็งทำหน้าที่ปกป้องเนื้อไข่ทั้งแดงและขาวซึ่งมีความอ่อนและเป็นของเหลวเอาไว้ คนประเภทนี้จะแสดงออกให้เห็นมาก พูดมาก เพื่อเป็นกลไกปกป้องตนเอง หรือปิดบังเอาไว้ไม่ให้คนเห็น เช่นในส่วนลึกๆ เป็นคนใจดี แต่ต้องปากร้ายไว้ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นก็จะต้องยอมเขาไปหมด เพราะแท้จริงเป็นคนใจดีใจอ่อน ใครจะขออะไร ถ้ากล้ามาเอ่ยปากก็จะให้หมด บางคนลึกๆเป็นคนขี้กลัว เลยต้องหาสิ่งที่เป็นความกล้าหาญมาเคลือบปิด เช่นต้องเป็นทหาร ต้องเรียนวิทยายุทธป้องกันตนเอง การใช้อาวุธ จะไปไหนต้องมีลูกน้องคอยห้อมล้อม แต่ใจลึกๆเป็นคนหวาดกลัว คนบางคนแกร่งในบางด้าน แต่ไม่แกร่งในทุกด้าน เช่นนักมวย ถูกเตะต่อยหรือกระทำโดยคู่ชกจะไม่รู้สึก เป็นนักมวยประเภทเดินบุกชกบุกชน แต่เมื่ออยู่นอกเวที เขาเป็นคนที่พึ่งตนเองไม่ได้ อ่อนแอในทางอารมย์และสังคม อ่อนแอในทางธุรกิจ ไม่รู้เรื่องในทางโลก ไม่ประสาในทางครอบครัว และไม่มีความมั่นใจในชีวิตครอบครัว เป็นต้น

3. อ่อนนอก-แข็งใน

เป็นคนมีท่าทีอ่อนโยน หรือใจดีต่อคนที่ได้พบเห็น ยอมประนีประนอม เป็นคนที่ไม่ถือยศถือศักดิ์แต่ลึกๆ หรือเมื่อสถานการณ์จำเป็น ก็จะมีความแข็งแกร่ง ยืนหยัด และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงในหลักการใหญ่ การยอมนั้นเป็นการยอมในประเด็นเล็กๆน้อยๆ เพื่อแลกกับเรื่องใหญ่ๆที่ตนมุ่งมั่นไว้ เหมือนการ "เอกลูกกุ้งไปล่อปลากระพง" บางครั้งในสังคมไทยมองคนแบบนี้ว่าเป็นคนประเภท "หน้าเนื้อใจเสือ" หรือบางที่ก็ว่าเป็นพวก "ปากปราศรัย แต่น้ำใจเชือดคอ" คือสามารถพูดดี หรือทำให้คนภายนอกมองเห็นแบบหนึ่ง แต่ในใจนั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้ามองในแง่เป็นกลางอาจเรียกบุคลิกแบบนี้ว่า "เหล็กหุ้มด้วยกำมะหยี่" ในทางการจัดการ หรือในความเป็นผู้นำนั้นจะดูว่าเขาเป็นผู้นำที่ดีได้หรือไม่ก็ต้องดูที่จุดมุ่งหมาย หรือผลการจัดการหรือการตัดสินใจเท่านั้น

เจ้าพ่อหลายคนที่ได้เคยสังหารคนมาแล้วมากมายก็เป็นประเภทอ่อนนอกแข็งใน เขาไม่เสียเวลาเดินกร่างตามตลาด หรือหาเรื่องทะเลาะกับคนไปเรื่อย แต่ถ้าใครขวางทางผลประโยชน์จนพูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว ที่สุดเขาก็สามารถบงการสังหารได้อย่างเลือดเย็น

หากมองในทางที่ดี พลเอกเปรม ตินสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษนั้นก็จัดเป็นคนประเภทอ่อนนอก แต่แข็งใน ดูเหมือนไม่ค่อยชอบตัดสินใจ ไม่ค่อยพูดจาแสดงออก และทำตัวลอยอยู่เหนือความขัดแย้ง แต่ในยามวิกฤติและต้องตัดสินใจแล้วก็สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเฉียบขาด เช่นในการต้านรัฐประหารโดยกลุ่มยังเตอร์ก การลดค่าเงินบาท การจัดการกับปัญหาการคอรัปชั่น และในท้ายสุดการตัดสินใจสละอำนาจทางการเมืองไม่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

3. อ่อนทั้งนอก-อ่อนทั้งใน (fluid)

เป็นคนที่ไม่มีอะไรยึดมั่นถือมั่น ไม่มีพฤติกรรมกร้าวร้าวปรากฏภายนอก และในส่วนลึกก็ไม่มีอะไรที่จะยึดมั่น โดยพื้นฐานอาจเป็นคนที่มีพื้นฐานในการเลี้ยงดูที่ทำให้เป็นเช่นนี้ เช่น การถูกเลี้ยงโดยพ่อแม่ที่แข็งกระด้างหรือเป็นเผด็จการมากๆ จนลูกๆไม่กล้าแสดงออก ต้องคอยทำตามจนเป็นนิสัย และซึมลึกในจิตใจ ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เพราะบางทีพ่อแม่ หรือครอบครัวอบรมดูแลแบบไข่ในหิน คอยปกป้องและให้การดูแลมากจนเกินไป ไม่มีโอกาสคิด และตัดสินใจด้วยตนเอง

บางคนเป็นคนที่มีสภาพขาดรัก ขาดความเอาใจใส่ โตขึ้นจึงเป็นคนแสวงหารัก และความชื่นชมในสิ่งที่ได้ขาดหายไป อยากให้มีคนรัก คนชอบหรือชื่นชมมากจนกระทั่งต้องกลายเป็นคนยอมหมด เหมือนน้ำที่ปรับให้สอดคล้องไปกับภาชนะที่กักเก็บ คนประเภทนี้ถ้าเป็นศิลปินและมีแรงผลักดันให้อยากเป็นคนที่ประชาชนชื่นชอบ เขาจะเข้าไปสวมบทบาทเกือบทุกอย่างที่จะทำให้คนดูพอใจ และเขาสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างดี

คนที่เป็นนักบริหารถ้ามีพฤติกรรมเช่นนี้จะมีข้อจำกัดเมื่อต้องอยู่ในฐานะผู้นำ เพราะไม่กล้าขัดใจผู้สนับสนุนของตน ความกลัวหรือเสียดายฐานคะแนนนิยม จะทำให้ไม่กล้าตัดสินใจในสิ่งที่คนไม่เห็นด้วย หรือเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน นักการเมืองในส่วนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ จะไม่มีโอกาสขึ้นสู่ที่สูงมากนัก แม้เขาจะมีจิตวิญญาณของ การเป็น "นักหาเสียง" ที่ดี สามารถทำตัวเป็นพ่อยกแม่ยก คอยสร้างและสะสมคะแนนนิยม แต่จะแสดงความบกพร่องให้เห็นเมื่อต้องอยู่ในฐานะที่ต้องตัดสินใจ

การค้นหาปัญหาของตนเอง

สำหรับคนที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และมีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำนั้น เขาจะผ่านประสบประการทั้งในส่วนที่เป็นทั้งบวก และลบ การเป็นผู้นำนั้นไม่ใช่การสร้างบรรยากาศจำลองให้คนเติบโตในบรรยากาศที่ไม่เป็นจริง ลองนึกดูเด็กที่ขาดภูมิต้านทานโรคมาแต่กำเนิด และต้องเลี้ยงดูในห้องปลอดเชื้อโรค เขาจะมีสภาพเป็นเช่นไร ประการแรกคือเขาจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในบรรยากาศของโลกที่เป็นจริงที่มีเชื้อโรคอยู่ สิ่งแวดล้อมจะทำลายเขาลงอย่างรวดเร็ว ในเชิงเปรียบเทียบ เราจะพบว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงดูในสภาพที่ถูกประคบประหงมอย่างมากในชีวิตนั้น ท้ายสุดเขาจะถูกสิ่งแวดล้อมทำร้ายเอาอย่างง่ายๆ โลกที่เป็นอยู่ตามธรรมชาตินั้น ก็จะยังคงมีสิ่งที่ดี และไม่ดี และไม่มีอะไรเพรียบพร้อมสำหรับมนุษย์ไปทุกด้าน

ปัญหา 2 ประการ

มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับสภาพแวดล้อมให้ได้ และจุดสำคัญที่สุด เขาจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเข้าใจตนเองให้ได้ ปัญหาของมนุษย์เป็นอันมากเริ่มจากตนเอง เพราะแท้จริงเรายังไม่รู้จักตนเอง และเราทำผิดพลาดจากความไม่รู้จักตนเองนี้ ซึ่งปัญหา 2 ประการนี้ คือ

ประการแรก เรามักไม่รู้ว่าเราเป็นอย่างไร (We don't have a clear knowledge of who we are.) และ

ประการที่สอง เราไม่เห็นภาพชัดว่าเรากำลังไปทางไหน (We don't have a clear picture of where we want to go.)

มนุษย์เราได้รู้ว่าตนเองเป็นเช่นไร มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ปัญหาหลายอย่างก็จะยังแก้ไขได้ ก็จะได้รู้ว่าจะต้องพัฒนาในส่วนที่เป็นจุดอ่อน ถ้ารู้ว่าจุดอ่อนนั้นแก้ไขไม่ได้ ก็หลีกเลี่ยงที่จะต้องทำงานใช้ชีวิตที่ทำให้จุดอ่อนนั้นกลายเป็นปัญหา และในอีกด้านหนึ่งถ้ารู้ว่าตนเองมีศักยภาพเช่นไร ก็จะได้พัฒนาส่วนนั้นให้เป็นประโยชน์ แต่อีกประการหนึ่งนั้น เรามักไม่รู้ว่าเราต้องการไปที่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องรู้ในสรรพสิ่งแวดล้อม ต้องรู้จักโลก ซึ่งจะได้มีการนำเสนอต่อไป

คำตอบแบบครอบจักรวาล

คำตอบแบบครอบจักรวาล (Universal Resolutions) บางทีความผิดพลาดในชีวิตของเราเกิดจากการ ที่ไม่รู้ว่าอะไรคือความแตกต่างในสองสิ่ง แต่สำหรับเราแล้วเหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน ยิ่งในภาษาไทยด้วยแล้ว ไม่ได้ให้ ความแตกต่างทางความหมายของคำบางคำที่มีความหมายในเชิงปรัชญาอย่างลึกซึ้งเอาไว้ด้วย

ในชีวิตเรามักจะมีอุปสรรคอันเป็นพลังที่จะหยุดยั้งเราที่จะคิดริเริ่มหรือหาทางออกได้ บางทีมันเป็นเพราะเราจำแนกไม่ออกระหว่างของสองสิ่งที่คล้ายกัน ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ได้แก่

1. ความอยาก และความเอื้ออาทร (appetites and passions) ความอยาก หรือ appetites เหมือนกับความหิว ที่เริ่มจากตัวเองเป็นที่ตั้ง มนุษย์โดยทั่วไป จะคิดอะไร อยากอะไรจากที่ตัวเองต้องการเป็นที่ตั้ง แต่ในอีกส่วนหนึ่งเป็นความรู้สึกในส่วนที่อยากให้เกิด หรืออยากให้เป็นในคนอื่น ด้วยเห็นว่าเขาขาด เขายากจน เขาเสียเปรียบ เขายังไม่ได้รับในสิ่งที่เขาควรจะได้รับ นับเป็นความอยาก เกิดความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ไม่ได้มองตนเองเป็นตัวตั้ง แต่เกิดจาการเอาความรู้สึก ค่านิยมไปสอดใส่ในปรากฏการณ์ที่กระทบต่อผู้อื่น

2. ความภาคภูมิ ศักดิ์ศรี หรือว่าการเสแสร้ง (pride and pretension) ผลออกมาอาจจะดูเหมือนกัน คือดูเขาสง่างาม เขามั่นใจในตนเอง แต่คำว่า pride เป็นความภาคภูมิใจที่เกิดแต่ในส่วนลึกของเขาเอง เกิดจากความเชื่อมั่นในตนเอง เคารพและพึงพอใจในการกระทำของตนเอง แต่ในอีกด้านหนึ่ง มนุษย์อาจได้กระทำในสิ่งที่เป็นความอัปยศ เขาเองก็รู้ตัวเอง แต่เขาต้องเสแสร้ง กลบเกลื่อนความรู้สึกไม่ให้คนภายนอกได้เห็น ทั้งนี้ด้วยเหตุผลบางประการ

3. ความไฝ่ฝัน หรือความมักใหญ่ไฝ่สูง (aspiration and ambition) ความแตกต่างในทัศนะของผู้เขียนนั้น ความไฝ่ฝันของคนบางคน เขาอาจต้องการเข้าไปมีอำนาจหน้าที่ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ถามว่าเพื่ออะไร คนบางคนอยากได้เป็นหัวหน้า หรือเป็นคนนำเขา แต่ถามว่าเพื่ออะไร บางคนต้องการให้มนุษย์ หรือคนในสังคมนั้นอยู่ดีมีสุข พ้นทุกข์โรคภัย ได้บรรลุสันติภาพ ได้ก้าวไปสู่ความเป็นสังคมก้าวหน้าทันสมัย ได้สร้างโลกที่เขียวสดงดงามด้วยสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดี แต่บางคนเป็นเพียงความมักใหญ่ไฝ่สูงของตัวเขาเอง เพื่อความร่ำรวยของตนและครอบครัว เพื่ออำนาจ เพื่อชื่อเสียง เพื่อให้เป็นประวัติศาสตร์ที่มีตนเป็นผู้สร้าง

(Stephen R. Covey, Principle-Centered Leadership. New York: Simon & Schuster, 1992. pp. )

ทางแก้ปัญหาสามประการ

เมื่อปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนที่เกิดจากตัวเราเอง การแก้ก็เริ่มที่จากตัวเราเอง

ประการแรก การที่รู้จักควบคุมความอยาก หรือความรู้สึกเอื้ออาทร เราสามารถฝึกการมีวินัยในตนเอง และการที่จะต้องใจแข็งปฏิเสธ ลองมองตัวอย่างที่ค่อนข้างง่ายและเป็นรูปธรรม โรคอ้วนนั้นเป็นปัญหาอันเกิด จากการขาดวินัยในการกินและการออกกำลังกาย อาจจะกินเท่าเดิม แต่ออกกำลังกายน้อยกว่าเดิม หรืออาจจะกินมากขึ้นในขณะที่ออกกำลังกายน้อยลง ผลจะเหมือนกันคือทำให้มีพลังงานเหลือสะสม ที่ร่างกายแปลงสภาพและเก็บเอาไว้ในรูปไขมัน การแก้ไม่มีอื่นใดจะดีไปกว่าการแก้ที่นิสัย การที่จะต้องหันไปลดการบริโภค และเริ่มออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป การที่จะใช้ยาไปบังคับให้ไม่รู้สึกหิว จะได้บริโภคน้อยลงนั้นจะไม่ได้ผล ในระยะยาว เมื่อฤทธิ์ยาหมด แต่นิสัยเดิมยังอยู่ ความจริงการแก้ปัญหาความอยากของมนุษย์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นก็ใช้หลักการเดียวกัน คือต้องเริ่มจากการมีวินัยในตนเอง

ประการที่สอง การที่จะสามารถควบคุมความผูกพันกับศักดิ์ศรี หรือในอีกรูปแบบหนึ่งคือการไม่เสแสร้งนั้น คือการต้องฝึกทำให้จนเป็นบุคลิกภาพ และทำจนเป็นความสามารถในตนเองไป ยกตัวอย่างการเป็นคนเสแสร้งนั้นมักจะเริ่มจากการไม่จริงใจกับทั้งตนเองและผู้อื่น และบางครั้งถ้าเราหลีกหนีความจริง ไม่ยอมรับความจริงทำจนเป็นนิสัย เหมือนคนเล่นละคอน บางครั้งก็จะยิ่งหนัก ทำให้กลายเป็นคนสองบุคลิก ต่อหน้าคนอื่นเป็นอย่างหนึ่ง แต่ในส่วนลึกๆแล้วมีอีกส่วนแอบแฝง การทำตนให้เป็นคนมีศักดิ์ศรี มีความภูมิใจในตนเองได้นั้นคือคนที่ต้องไม่หลอกตนเอง ต้องคอยตรวจสอบตนเองอยู่เป็นระยะ และในการแสดงออกนั้นไม่ว่าจะเป็นด้วยการพูด การคิด การทำ หรือแสดงออกอื่นใดนั้นก็ให้เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา อย่างที่เขาเรียกว่า Do what you preach. จงทำอย่างที่ท่านเที่ยวไปสั่งสอนคนอื่น

ประการที่สาม การที่จะควบคุมสภาวะของความมุ่งมั่น การให้มีความไฝ่ฝัน และไม่ให้กลายเป็นความทะเยอทะยานนั้น ทางออกที่ดีคือการต้องใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อทำงานไปสู่เป้าหมายที่สร้างคุณงามความดี โดยให้บริการแก่คนอื่น ซึ่งเป็นความสำคัญในความแตกต่างระหว่างความฝันไฝ่ที่จะทำดี กับความทะเยอทะยาน และการฝึกทำดี โดยทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก และทำจนได้รับรางวัลแห่งความดีนั้นโดยเป็นความรู้สึกพอใจจากภายใน สุขใจที่ได้เห็นสิ่งที่ดีขึ้นของคนอื่น มีความรักและปรารถนาดีแต่คน สิ่งเหล่านี้ก็จะมาเสริมเป็นแรงจูงใจให้อยากทำจนเป็นนิสัย

(Stephen R. Covey, Principle-Centered Leadership. New York: Simon & Schuster, 1992. pp.48-54.)

การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง

Bennis (1989) ได้ให้หลักในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองเอาไว้ เป็นบทเรียน 4 แบบของการเรียนรู้เอาไว้ดังนี้

ประการแรก

ตนคือครูที่ดีที่สุดของตนเอง ( You are your own best teacher.)

ประการที่สอง

เราจะเรียนรู้ได้มากขึ้นด้วยการไม่ไปโทษคนอื่นเมื่อเกิดความผิดพลาด จงรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนั้น และแสวงหาบทเรียนจากมัน (Accept responsibility. Blame no one.)

ประการที่สาม

เราเรียนรู้อะไรก็ได้ ถ้าเราอยากจะเรียน (You can learn anything you want to learn.)

ประการที่สี่

ความเข้าใจที่แท้จริงนั้นเกิดจากการได้มีโอกาสหวนรำลึกถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา (True understanding comes from reflecting on your experience.)

(Warren Bennis, 1989, p.56.)

การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และสร้างให้กลายเป็นบุคลิกภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ในพุทธประวัติ แม้โจรที่ปล้นฆ่าดุดดังคนมีจิตวิปริตเช่น องคุลีมาร ก็ยังสามารถกลับใจ หันกลับมาประพฤติชอบได้

ตนเองเป็นครูที่ดีที่สุดของตนเอง

ผู้เขียนอยู่ในแวดวงการศึกษา มีนิสิตนักศึกษาบางพวกที่อาจจะต้องเรียกว่าพวกล่าปริญญา เขาจะเข้าเรียนในสถานศึกษาต่างๆมากมาย บางพวกนิยมเข้าศึกษาเพราะก็ต้องการเรียนรู้จริงๆ และก็ได้ปริญญาแถมพกไปด้วย แต่จะมีบางพวกที่เข้ามาเรียนแล้ว แต่แท้ที่จริงแล้วกลับยิ่งไม่ได้เรียนอะไร เพราะในใจเขายังเหมือนคนที่ต้องการมารับสถานภาพความเป็นคนมีวิชาจากมหาวิทยาลัย แต่กลับยังคงไม่ชอบอ่าน ไม่สนใจ หรือเปิดใจที่จะรับฟัง ไม่แสวงโอกาสที่จะสำรวจตรวจสอบตนเองว่ามีความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าเป็นเช่นนี้เขาก็ไม่ได้เรียนรู้อะไร หรือเข้ามหาวิทยาลัย แต่ก็ได้แต่เพียงเปลือก คือใบปริญญาบัตร หรือเสื้อครุยกลับไป

แต่การเรียนรู้ที่สำคัญอันจะทำให้เราเข้าใจตนเองได้มากขึ้นนั้นเกิดจากตนเอง ถ้าเราเป็นคนสนใจ ที่จะแสวงหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง เพราะมนุษย์โดยทั่วไปแล้ว แม้เราจะเป็นคนเปิดเผยที่สุด แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว เราก็ยังมีส่วนที่มืดสำหรับคนอื่น มีแต่เราเท่านั้นที่รู้ เพราะบางทีเราจะบอกใครก็ยังไม่กล้า เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเป็นเรื่องที่ทำให้เราต้องอับอาย ในทางการรักษาพยาบาลนั้นเป็นตัวอย่างรูปธรรมอย่างมากสำหรับ คนที่จะเป็นหมอให้กับตนเองได้ดีที่สุดคือตนเอง อย่างเช่นคนเป็นโรคหัวใจนั้น ยามเมื่อเจ็บป่วยเกิดอาการช็อคนั้นคนป่วยเองจะรู้ได้ก่อนใครอื่น และถ้าเป็นคนที่ได้เรียนรู้เข้าใจธรรมชาติ และปัญหาของตนเองด้วยแล้วก็จะสามารถแก้ปัญหานั้นได้ง่าย ถ้าจะรอว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วไปหาแพทย์ โดยไม่เรียนรู้ที่จะดูแลตนเองนั้น มักจะไม่ทันการณ์

เรียนรู้ได้มากขึ้นด้วยการไม่ไปโทษคนอื่น

ท่านคงเคยเห็นเด็กๆที่มีความหวาดกลัวเมื่อกระทำความผิด หรือบกพร่องก็กลัวผู้ใหญ่ทำโทษหรือว่ากล่าว บางที่ก็ปิดบัง หรือซัดทอดคนอื่น และบางทีทำผิดแล้วโทษคนอื่นได้ ก็เลยทำผิดอย่างซ้ำซาก ทำจนเป็นนิสัย ถ้าเป็นเด็กๆ ก็ยังไม่มีโอกาสทำผิดพลาดในชีวิตที่มีผลรุนแรงมาก แต่ถ้าเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ความรับผิดชอบตามหน้าที่ก็มากขึ้น การทำผิดพลาดในระดับนี้ก็ยิ่งมีโอกาสก่อความเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้มาก วิธีการที่ถูกก็คือ เมื่อมีอะไรบกพร่องผิดพลาดนั้น ต้องอย่าไปโทษคนอื่น หรือโทษฟ้าดิน ลองหันมาตรวจสอบตนเองว่าได้มีอะไรที่ทำผิดพลาดไปบ้าง แล้วถ้าได้รู้ปัญหาและติดตามสิ่งที่ผ่านมานั้น เราจะยังทำเหมือนเดิมหรือไม่ การย้อนไปตรวจสอบตนเองนั้นจะต้องไม่ใช่ในพฤติกรรมแบบพวกโรคจิตชอบความสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่ง แต่เป็นการตรวจสอบอย่างทำใจเป็นกลางและต้องยอมรับในขั้นพื้นฐานว่ามนุษย์นั้นไม่ใช่เครื่องจักร หรือคอมพิวเตอร์ ที่มีความแม่นยำ และเป็นเหตุเป็นผลไม่ผิดพลาด

เราเรียนรู้อะไรก็ได้ ถ้าเราอยากจะเรียน

มนุษย์นั้นไม่มีใครแก่เกินเรียน ไม่มีอะไรที่สายเกินเรียน ความสำคัญอยู่ที่ใจของเราเอง ซึ่งในเรื่องนี้จะได้มีการนำเสนอในรายละเอียดในบทต่อๆไป

แบบในการเรียนรู้ของอาคิน

แบบการเรียนรู้ของอาคิน (Akin's Roster of Modes of Learning) นั้น ได้เสนอเอาไว้ เช่น

การเรียนรู้ด้วยการแข่งดี (Emulation) การมองเห็นบุคลิกภาพและพฤติกรรมที่ดีของคนอื่นเพื่อจะได้เรียนรู้

การเรียนรู้และพัฒนาตนเองด้วยการทำตามแบบฉบับ (Role taking) ทั้งนี้โดยประพฤติปฏิบัติตามเป็นเยี่ยงอย่าง

การเข้าไปเรียนรู้ ได้เห็นปัญหา และแสวงโอกาส ( Practical accomplishment) แล้วพยายามทำให้ประสบความสำเร็จ

การเรียนรู้ด้วยการทดลองทำตามแนวคิด แล้วเรียนจากผล แล้วสรุปบทเรียน (Validation)

การเรียนด้วยการคาดการณ์ไปข้างหน้า ลองพัฒนาแนวคิด เรียนก่อนที่จะได้กระทำลงไป (Anticipation)

การเรียนรู้โดยเน้นไปที่การพัฒนาตนเอง (Personal growth)ไม่ได้เน้นไปที่การพัฒนาทักษะอะไรเป็นการเฉพาะ เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาค่านิยมและทัศนคติเป็นหลัก และ

การเรียนรู้โดยหลักวิทยาศาสตร์ (Scientific learning) โดยการสังเกต การสรุปเป็นความคิดรวบยอด อาจจะเป็นด้วยการสังเกตแล้วลองทดลองรวบรวมข้อมูล โดยมีจุดประสงค์มุ่งแสวงหาความจริง

หากจะสรุปในส่วนนี้ การเรียนรู้ในที่นี้หมายถึงการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอาศัยการศึกษาอย่างเป็นระบบเสมอไป การเรียนรู้บางอย่างไม่ได้เกิดขึ้นอย่างมีการเตรียมการณ์ การเรียนรู้ที่สำคัญคือการเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจตนเอง รู้ว่าเราต้องการอะไร มีสิ่งใดที่เป็นความหมายความสำคัญในชีวิต มีสิ่งใดที่เป็นจุดอ่อนที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข มีสิ่งใดที่เป็นธรรมชาติ ได้กลายเป็นบุคลิกซึ่งมีทั้งส่วนที่ดี และส่วนที่เป็นจุดอ่อน และเราต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตไปกับมัน และทำให้บุคลิกและความเป็นตัวตนของเราเองนั้นสามารถควบคุมตนเองได้

การเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ หากเราจะรู้สรรพสิ่งในโลกมากมาย อุตสาหะข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนรู้แต่ท้ายสุดจนตลอดชีวิตก็ไม่รู้จักตนเอง กลายเป็นเหยื่อของปัญหาที่ตนเองได้ไปก่อเอาไว้อย่างไม่สามารถแก้ไขได้ อย่างนี้อย่าว่าจะไปเป็นผู้นำในสังคมเลย แม้แต่ชีวิตตัวเองก็อาจจะไม่สามารถหาความสุขหรือความพอใจได้

บทสรุป

จากข้อเขียนของ ตาร์ถัง ทุลกู ในเรื่องดุลยภาพแห่งชีวิต ซึ่งแปลเป็นไทย โดย วัชรา ทรัพย์สุวรรณ ได้เสนอความตอนหนึ่งว่า

ชีวิตดูจะว่างเปล่าเมื่อหัวใจของเราปิด เราอาจจะอ่านหนังสือ หรืออาจขอคำแนะนำจากเพื่อนฝูงหรือคนรัก หรือหาที่พึ่งพิงจากวัตถุ แต่เราก็ยังรู้สึกพร่องและวิตกกังวล ความรื่นรมย์ต่างๆไม่อาจให้ความ พอใจแก่เราได้ เราไม่อาจพบสิ่งสวยงามต่างๆที่จะไม่ทำให้เราผิดหวัง ความรักก็หลอกลวง ไม่มีสิ่งใดเลยที่มีคุณค่าและความหมายจริงๆ เราต้องดิ้นรนอยู่ในปัญหาของตัวเอง มองหาวิธีหรือเทคนิคที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดและความกดดันจากความรู้สึกไร้สวัสดิภาพและความกลัว สุดท้ายเราอาจจะต้องแอบร้องไห้คนเดียว

(จาก ตาร์ถัง ทุลกู (ูเขียน) วัชรา ทรัพย์สุวรรณ (แปล) ดุลยภาพแห่งชีวิต กทม: สำนักพิมพ์โกมลคีมทอง 2527 หน้า 45)

ก้อนหินในมหาสมุทรถูกแช่อยู่ในน้ำนับพันปี แต่ภายในก้อนหินนั้นก็ยังแห้งอยู่ ทำนองเดียวกัน เราอาจ พยายามเข้าใจตัวเองด้วยการจุ่มตัวเองลงในระบบความคิดและปรัชญาหลากหลาย แต่ถ้าหัวใจของเรา ปิดและเย็นชาเสียแล้ว เราก็จะไม่ได้สัมผัสความหมายที่แท้จริง ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรหรือทำอะไร หากเราไม่เปิดหัวใจออก ก็ไม่มีใครแม้แต่บรมครู ที่อาจเข้าถึงเราได้

สุดท้ายในบทนี้ หากเราจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองแล้ว สำคัญที่สุดก็คือการต้อง กล้าเปิดใจ กล้าเรียนรู้และยอมรับความเป็นจริงบางประการ แม้ความเป็นจริงเหล่านั้นจะทำให้เราต้องเจ็บปวด หรือต้องทนทุกข์

************************

No comments:

Post a Comment