Saturday, January 30, 2010

อาการหอยแมลงภู่ (Mussel Syndrome)

อาการหอยแมลงภู่ (Mussel Syndrome)

ประกอบ คุปรัตน์
ศึกษาและเรียบเรียง

Updated: Saturday, January 30, 2010
Keywords: cw059, ความเป็นผู้นำ, ความเปลี่ยนแปลง

จากแนวคิดในหนังสือชื่อ The Leadership Mystique: Leading behavior in the human enterprise, 2nd Edition เขียนโดย Manfred Kets De Vries, ในปี ค.ศ. 2006 (Jul 2006, Paperback, 304 หน้า)

ภาพ Mussel เกาะหลัก ยามน้ำลด

Mussel คือหอยประเภท หอยกาบ, หอยแมลงภู่ ซึ่งมีธรรมชาติของการดำรงชีวิตด้วยการเกาะติดหลัก อาจเป็นโขดหิน หรือในกรณีหอยเลี้ยง คือเกาะติดกับหลักที่ชาวประมงติดตรึงกับท้องทะเลตื้น โดยมักจะเลือกบริเวณที่มีน้ำขึ้นลง หรือทางน้ำผ่าน และน้ำนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก หอยก็จะเติบโตเร็วไว

ภาพ หอยแมลงภู่ ที่เรานิยมบริโภคกัน

อาการหอยแมงภู่ของมนุษย์ (Mussel Syndrome) คืออาการของคนที่ดำรงชีวิต หรือทำงานในแบบที่ต้องมีหลักยึดเกาะ และจะดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติ หรือเป็นสุข ก็คือต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านสถานที่และสภาวะแวดล้อม

หลักหรือโขดหินที่เกาะ ทำให้ต้องติดยึดกับสถานที่ ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกจะเป็นเช่นไร แต่ก็จะมีสภาพที่นำพาอาหาร น้ำ ความอุดมสมบูรณ์มาให้

หากจะลองสังเกตุให้ดี คนเรามักจะมีลักษณะเป็นดังหอยแมลงภู่ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง มากหรือน้อย

บางคนติดยึดกับห้องนอนที่บ้าน (Place to sleep) หากต้องย้ายไปที่อื่นๆ ดูจะหลับไม่สนิท กระวลกระวาย ผู้เขียนเคยลองสังเกตเพื่อนนักวิชาการบางคน เมื่อต้องเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ หรือไกลบ้าน แล้วนอนหลับพักผ่อนไม่ได้เต็มที่ เพราะแปลกสถานที่ และเมื่อต้องไปตรากตรำ เคร่งเครียดกับการทำงานในต้อนกลางวัน ก็ทำให้ไม่สบายขึ้นได้ บางคนต้องมีวิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้นอนหลับได้เป็นปกติที่แตกต่างกันไป เช่น ต้องหาทางออกกำลังกายในตอนเย็นไม่มากพอ ดื่มนมก่อนนอน หรือบางคนต้องกินยานอนหลับ แล้วให้เจ้าหน้าที่โรงแรมปลุก คือทำให้หลับและตื่นได้ตามเวลาอย่างไม่ต้องกังวล

บางคนติดยึดสถานที่ใช้ชีวิต (Places to live) เช่นเมื่อเริ่มทำงานก็ไม่เท่าใด พอจะยอมรับการเปลี่ยนแปลง โยกย้ายไปไหนๆ ได้ แต่พอมีครอบครัว ภรรยาหรือสามีที่ทำงานที่เหมาะสมแล้ว ไม่อยากย้าย ลูกๆติดกับโรงเรียนแล้ว การย้ายของบุคคลใดบุคคลหนึ่งในครอบครัว ก็กลายเป็นการพลัดพรากกัน จึงไม่อยากโยกย้าย ซึ่งบางครั้งทำให้เสียโอกาสด้านการงานที่ดีไป คนที่ทำงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร หรือถ้าเป็นเอกชน ที่ติดยึดกับสถานที่ ทำงานธนาคารสาขาใดในจังหวัดใด ก็ติดยึดกับที่นั้นๆ และไม่อยากย้ายไปทำงานที่อื่นๆ

บางคนติดยึดกับหน่วยงาน (Organizations) ผูกพันกับสถาบันที่ตนได้เริ่มทำงาน มีความผูกพันสวามิภักดิ์ ไม่อยาก หรือไม่ยอมย้ายไปหน่วยงานอื่นๆ แต่บางครั้งการติดยึดกับหน่วยงานในบางอาชีพ ก็กลายเป็นการตัดอนาคตของตนเองไป เช่นพวกนักคิดสร้างสรรค์ นักโฆษณาประชาสัมพันธ์ การติดอยู่กับหน่วยงานหนึ่งๆนั้นทำให้ไม่ได้มีประสบการณ์ความคิดสร้างสรรค์ หน่วยงานเอง พอใช้คนทำงานที่มีความสามารถ และเขาก็พอใจในที่ทำงาน ก็ไม่ได้คิดหาประสบการณ์การทำงานใหม่ๆให้กับคนเหล่านั้น ทำให้คนที่มีความสามารถนั้นๆ กลายเป็นคนทำงานที่ซ้ำซาก ไม่ได้คิดก้าวหน้า หรือกล้าเปลี่ยนวิธีการคิดและการทำงาน ผลงานจึงขาดความแปลกใหม่ ไม่มีความเปลี่ยนแปลง

บางคนติดยึดกับวิชาชีพ วิชาการ (Professions, academics) เรียนมาอย่างไร ก็ติดรูปแบบของานที่จะทำ เช่น เรียนภาษาฝรั่งเศสมา ก็จะต้องทำงานในสายที่ต้องใช้ภาษาฝรั่งเศสไปอย่างเดียว แต่ในบางสถานะ โอกาสในการทำงานของบางสังคม ภาษาหรือความเชี่ยวชาญที่ได้ศึกษามา อาจไม่ใช่เป็นทางเลือกที่จะเป็นไปได้ดังหวัง เช่นโอกาสการสอนภาษาฝรั่งเศสไม่มี แต่มีเป็นภาษาอังกฤษ ความจริง การปรับเปลี่ยนความรู้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษนั้นพอทำได้ เพราะมีรากศัพท์หลายๆอย่างคล้ายกัน ในโลกยุคใหม่มีระบบเครื่องมือช่วยเปลภาษา และคนที่รู้ภาษาฝรั่งเศส ก็จะทำให้รู้รากของศัพท์ภาษาอังกฤษที่จะสามารถอธิบายความหมายได้อย่างลึกซึ้ง คนที่ยอมปรับตัว และสร้างความสามารถเสริมใหม่ๆ ก็จะทำให้มีโอกาสในการทำงานได้มากขึ้น หรือไม่หากจะยึดความถนัดด้านภาษาฝรั่งเศส ก็ต้องยอมโยกย้ายไปสู่สถานที่ๆเขาได้ใช้ความสามารถนั้นๆ แม่จะต้องยากลำบากในการปรับเปลี่ยนสถานที่ ก็ต้องยอม

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่ใช่หอยแมลงภู่ การที่เราติดกับหลักเหมือนหอยแมลงภู่นั้น เป็นเพียงด้วยวิธีการคิดและความเคยชิน แต่มนุษ์ทุกคนมีวิสัยทัศน์ มีสมองที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สามารถคิดและกรองสิ่งที่เป็นความซับซ้อนในโลกได้ เมื่อเราเห็นปัญหาและโอกาส เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของสถานที่หรือสถานะที่เราดำรงอยู่ เราก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยเลือกไปอยู่ในสถานที่ ในงาน และในบทบาทที่ดีกว่า แม้จะต้องมีการปรับตัว และสร้างขีดความสามารถใหม่ๆ ขึ้นมา

No comments:

Post a Comment