Friday, January 15, 2010

บทที่ 2 ความเข้าใจและแนวคิดเกี่ยวกับ การจัดการและความเป็นผู้นำ

บทที่ 2 ความเข้าใจและแนวคิดเกี่ยวกับ
การจัดการและความเป็นผู้นำ

ประกอบ คุปรัตน์ และ
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ณัฐนิภา คุปรัตน์
Nattanipha Cooparat


มูลนิธิก้าวไกลในเอเชีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)

Updated: วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553
Keywords: cw059, ความเป็นผู้นำ, การจัดการ

บทนำ

ในบทที่ผ่านมาได้พูดถึงความสำคัญของการมีความเป็นผู้นำในสังคมแล้ว และได้ให้ข้อเตือนสติถึงความแตกต่างระหว่างความเป็นผู้นำกับการเป็นผู้จัดการ ในบทนี้จะได้นำเสนอการศึกษาเกี่ยวกับผู้นำอย่างเป็นระบบยิ่งขึ้นโดยจะนำเสนอในประเด็น ความหมายและขอบข่ายของการจัดการและความเป็นผู้นำ และสิ่งที่ได้มีการศึกษากันอย่างเป็นระบบเพื่อเป็นการปูความเข้าใจสำหรับการอภิปรายในส่วนต่อๆไป

ในบทนี้จะได้นำเสนอเกี่ยวกับความหมาย หน้าที่ของการจัดการ และบทบาทการจัดการ โดยจะได้มีการกล่าวถึงประวัติการพัฒนาการของแนวคิดการจัดการและความเป็นผู้นำ เริ่มตั้งแต่การเสนอในความคิดด้านการศึกษาภาพลักษณ์ (Traits) ของการเป็นผู้นำยุคแรก และตามด้วยการนำเสนอแนวคิดการบริหารองค์การขนาดใหญ่ โดย อังรี ฟาโยล การทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบองค์การแบบ Bureaucracy ของแมกซ์ วีเบอร์ และ การพัฒนาอุตสาหกรรมในสหรัฐ ตามแนวคิดการบริหารแบบวิทยาศาสตร์ ของเฟรดเดอริค เทย์เลอร์ ซึ่งทั้งสามท่านนี้ จัดเป็นความคิดในเชิงต้นตำหรับหรือคลาสสิคที่ควรแก่การศึกษา

ในส่วนต่อไปจะนำเสนอแนวทางการศึกษาในยุคต่อมา คือ การศึกษาความเป็นผู้นำและการจัดการในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science Approach) ทั้งในส่วนเริ่มแรกที่เขาเรียกว่า แนวคิดมนุษยสัมพันธ์ (human relations) และแนวคิด การบริหารงานคำนึงถึงคนในฐานะที่เป็นทรัพยากร-มนุษย์ที่สำคัญ (human resources) ติดตามด้วย การเสนอแนวคิดในระยะต่อมา คือในราวๆต้นปี 1975 เป็นต้นมา คือเรื่องความเป็นผู้นำและการจัดการแบบตามสถานการณ์ หรือที่เรียกว่า Situational Management ซึ่งเราก็จะพบว่าแนวคิดการบริหารแบบนี้มีอิทธิพลอยู่มากในปัจจุบัน

สำหรับแนวคิดใหม่ๆในช่วง ปี 1985 อันจัดเป็นการศึกษาวรรณกรรมทางด้านการบริหารยุคใหม่เป็นต้นมานั้น จะได้มีการนำเสนอแนวคิดผู้นำทรงบารมี (Transformational Leadership) ตามด้วยแนวคิด ความเป็นผู้นำแบบเน้นหลักการณ์ (Principle-Centered Leadership) และในท้ายสุดจะเสนอแนวคิด การสร้างผู้นำ ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งมีที่มีมาแต่เกิดได้ แต่จัดเป็นการเกิดใหม่ของคนจะเป็นผู้นำ (Once Born Twice Born leaders)

ความหมายของการจัดการและความเป็นผู้นำ

ความหมายของการจัดการ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า management หมายถึงกระบวนการจัดดำเนินการให้เสร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องอาศัยคนอื่นๆเข้าร่วม ซึ่งบงชัดว่าการจัดการในที่นี้มิได้หมายถึงการต้องเข้าไปดำเนินการเอง ด้วยตนเองเพียงคนเดียว

ในกิจกรรมที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเหล่านี้โดยทั่วไปจะประกอบด้วย การวางแผน การจัดองค์การและกิจกรรม การนำและการควบคุมในกิจกรรมเหล่านี้ ถ้าปราาศจากการนำ (leading) การจัดการก็จะไม่เป็นไปได้อย่างได้ผลหรือสมบูรณ์

ในการจัดการนั้น "ประสิทธิภาพ" (efficiency) จะเป็นส่วนสำคัญ มันหมายถึงสัมพันธภาพระหว่างปัจจัยที่ต้องการ (Inputs) และผลิตผลที่เกิดขึ้น (outputs) ถ้าเราได้ผลิตผลมากขึ้นจากการที่เราลงทุนใส่"ปัจจัย"เข้าไปเท่าเดิม ก็แสดงว่าเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เนื่องจากผู้ที่ต้องทำหน้าที่ด้านการจัดการจะต้องประสบกับความจำกัดทางด้านการจัดหาทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น เงิน คน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ การจัดการจึงต้องเน้นไปที่การต้องใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

การจัดการนั้นจะต้องคำนึงถึงอีกสิ่งหนึ่งนั่นคือการทำงานอย่างมี "ประสิทธิผล" (effectiveness) หรือการทำงานนั้นให้เสร็จ และบรรลุผลงานอันเป็นผลิตภัณฑ์ หรือบริการตามที่ต้องการ

ในความหมายนี้ การจัดการจะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลควบคู่ไป บางคนจะกล่าวถึงประสิทธิภาพนั้นคือดูที่วิธีการ (means) และประสิทธิผลนั้นคือการดูที่การต้องบรรลุผล (ends) และในความหมายนี้ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลจะไปควบคู่กัน เพราะมิฉะนั้นคนบางคนทำงานแบบคำนึงถึงแต่ผลของงานโดยไม่คำนึงถึงว่า แท้จริงแล้วการทำงานนั้นให้ได้ผลเป็นสิ่งของหรือบริการอย่างที่ต้องการนั้น ต้องเสีย "ต้นทุน" ไปมากมาย บางทีทำสำเร็จจริงแต่ก่อให้เกิดความไม่พอใจ เกิดศัตรูในการทำงานในระยะต่อไป ซึ่งทำให้การทำงานนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ความหมายของการเป็นผู้นำ

ในอีกความหมายหนึ่งของการเป็นผู้นำนั้น คือคุณสมบัติสำคัญของผู้รับผิดชอบด้านการจัดการ เป็นส่วนหนึ่งของคนที่ทำหน้าที่การจัดการต้องมี และจำเป็นต้องใช้เพื่อจะทำงานด้าน การวางแผน การจัดโครงสร้างองค์การ การจัดการด้านกำลังคน การบริหารงานบุคคล การเงิน และอื่นๆเป็นต้น

หน้าที่การจัดการ

ในช่วงต้นของศตวรรษ นักอุตสาหกรรมชาวฝรั่งเศสชื่อ Henri Favol ได้เขียนว่างานการจัดการนั้นเกี่ยวข้องกับกิจกรรม 5 ประการดังนี้คือ วางแผน(plan) จัดระบบ (organize)สั่งการ (command) ประสานงาน (coordinate) และควบคุม (control)

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 50 ศาสตราจารย์สองท่านจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียที่เมืองลอสแอง เจลลิส (UCLA) ได้ให้ความเห็นว่างานการจัดการนั้นจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมสำคัญ 4 ประการคือ การวางแผน (planning) การจัดระบบ (organizing) การนำ (leading) และการควบคุมงาน (controlling)

1. การวางแผน (planning) ซึ่งกิจกรรมการวางแผนนั้นจะรวม การกำหนดจุดมุ่งหมายหรือเป้าประสงค์ การหากุศโลบายในการดำเนินการ และการพัฒนาแผนงานเพื่อการประสานกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นทั้งหลาย

2. การจัดระบบ (organizing) หมายถึงการต้องรู้ว่างานอะไรบ้างที่จะต้องทำ ใครเป็นคนทำ จะจัดแบ่งกลุ่มงานอย่างไร ใครจะรายงานอะไรต่อใคร และควรจะตัดสินใจกันได้ในจุดไหน

3. การนำ (leading) จะมองไปที่การสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา การสั่งการแก่คนอื่น การเลือกวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิผลที่สุด และการแก้ไขความขัดแย้งต่างๆที่เกิดขึ้น

4. การควบคุมงาน (controlling) หมายถึงกิจกรรมที่จะทำให้มั่นใจได้ว่างานจะเสร็จไปตามแผน และสามารถแก้ไขสิ่งที่มีโอกาสเบี่ยงเบน และไม่เป็นไปตามที่วางแผนได้ กิจกรรมนี้จึงมักเกี่ยวกับระบบการเฝ้าดู ติดตาม ศึกษาเปรียบเทียบ และการปรับปรุงแก้ไขเป็นต้น

เมื่อมองในลักษณะเช่นนี้ ความเป็นผู้นำนั้นเป็นภาระอันหนึ่งของการจัดการ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยรวมของคนที่ต้องทำหน้าที่ด้านการจัดการ หรือการบริหารทั้งหลาย ตั้งแต่ระดับหัวหน้างาน ผู้จัดการ ไปจนถึงในระดับผู้บริหารระดับสูงขององค์การขนาดใหญ่ ซึ่งเรียกตำแหน่งนี้ว่า Corporate Executive Officers (CEO) ความเป็นผู้นำเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากงานทางด้านการจัดการ

บทบาทการจัดการ

ในตอนปลายทศวรรษที่ 1960 Henry Mintzberg ได้อาศัยผลจากการศึกษา การทำงานของนักบริหารระดับสูง 5 คน และได้พบบทบาทการจัดการ (Management Roles) ที่แตกต่างกันและน่าสนใจ และหลังจากการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ เขาได้ประมวลบทบาทของผู้จัดการ(managers) ว่าเกี่ยวข้องกับงาน 3 ประเภทใหญ่ คือ (1) การมีปฏิสัมพันธ์กับคนและกลุ่มคนต่างๆ (2) การสื่อสารและให้ข้อมูล และ (3) การตัดสินใจ และจากการเกี่ยวข้องกับงาน 3 ลักษณะนี้ เขาได้ประมวลบทบาทของผู้ต้องทำหน้าที่การจัดการเอาไว้เป็น 10 บทบาทด้วยกัน คือ

การมีปฏิสัมพันธ์กับคนและกลุ่มคนต่างๆ (Interpersonal roles) ประกอบด้วย 3 บทบาท คือ

1. หัวหน้าเชิงสัญญลักษณ์ (Figurehead)

2. ผู้นำ (Leader)

3. ผู้ประสานงาน (Liaison)

การสื่อสารและให้ข้อมูล (Informational roles) ประกอบด้วย 3 บทบาท คือ

4. ผู้ติดตามเฝ้าสังเกตุ (Monitor)

5. ผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร (Disseminator)

6. นักประชาสัมพันธ์ (Spokesperson)

การตัดสินใจ (Decisional roles) ประกอบด้วย 4 บทบาท คือ

7. นักลงทุน (Entrepreneur)

8. ผู้ปัดเป่า และแก้ไขความขัดแย้ง (Disturbance handler)

9. คนจัดสรรทรัพยากร (Resource allocator)

10. ผู้เจรจาต่อรอง (Negotiator)

(Henry Mintzberg, The Nature of Managerial Work: New York: Harper & Row, 1973, pp.93-94.)

ผู้นำแต่ละคนในแต่ละองค์การจะทำหน้าที่และมีบทบาทที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพ ประสบการณ์ และความรู้ความสามารถของผู้นำแต่ละคน ประกอบกับความคาดหวังของระบบองค์การและสภาพแวดล้อมในกิจการขณะนั้น เช่น ในประเทศอังกฤษคนเป็น Chancellor ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในมหาวิทยาลัยนั้น แท้จริงจะเป็นผู้นำในเชิงสัญญลักษณ์ แต่อำนาจแท้จริงในการจัดการจะอยู่ที่ vice chancellor ซึ่งจะใกล้เคียงกับอธิการบดีของประเทศไทย การเป็นประธานกรรมการในบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีบริษัทในเครือมากมาย แท้จริงจะมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำที่ต้องกล้าลงทุน รู้จักใช้คนดีมีความสามารถ แต่ในระดับการจัดการกับปัญหาระดับความขัดแย้งภายในหน่วยงานของบุคคลนั้นจะส่งต่อมายังคนในระดับผู้จัดการ (managers) ของแต่ละบริษัทที่ได้มีการมอบหมายความรับผิดชอบลงไป

การศึกษาประวัติและแนวคิดการจัดการ

การจัดการและความเป็นผู้นำนั้นเป็นผลมาจากแนวคิดและพัฒนาการทางด้านการจัดการมาตั้งแต่สมัย หลายพันปีมาแล้ว ซึ่งควรได้มีการทำความเข้าใจเอาไว้เป็นพื้นฐาน การศึกษาและพัฒนาศาสตร์การจัดการยุคใหม่นั้นได้เริ่มจากในสังคมตะวันตก เป็นผลมาจากความจำเป็นเมื่อมีการต้องพัฒนาระบบอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินการด้านการผลิต ตลอดจนการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวคิดภาพลักษณ์ผู้นำ

ในระยะเริ่มแรกของการศึกษาลักษณะความเป็นผู้นำนั้น ได้มีการศึกษากันว่าผู้นำนั้นจะมีลักษณะที่ปรากฏออกมาอย่างไร การศึกษาคุณลักษณะ (trait) ที่ได้เริ่มขึ้นนั้นด้วยความเข้าใจที่ว่า ถ้าสามารถหาความสัมพันธ์ของลักษณะผู้นำที่ปรากฏให้เห็นได้ชัด เราก็สามารถสรรหาคนมาเป็นผู้นำได้ง่ายขึ้น ในการพัฒนาความเป็นผู้นำนั้น ก็จะได้พัฒนาคนให้มีความสอดคล้องกับลักษณะความเป็นผู้นำนั้น

ความเชื่อในลักษณะของผู้นำนี้ ในบางสังคมจึงได้ใช้วิธีการสรรหาผู้นำที่มีความสอดคล้องกับสิ่งที่เชื่อดังเช่น วิธีการสรรหาผู้นำทางศาสนาของชาวธิเบต หรือการสืบสันตติวงษ์ของระบบจักรพรรดิ์ในจีน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะความเชื่อในระยะเริ่มแรกของมนุษย์ คือความเป็นผู้นำนั้นติดตัวมาแต่เกิด เป็นผลมาจากบุญญาธิการ อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันก็ยังมีโหราศาสตร์บางสายที่อาศัยการดูภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำ หรือผู้มีบุญบารมีจากภายนอก เช่นการดูโหงวเฮ้ง เป็นต้น จึงไม่แปลกใจว่า การเลือกผู้บริหารขององค์การในประเทศไทยเรานั้น ท้ายสุดมาลงด้วยการขอให้ซินแสช่วยดูดวง และบุคลิกให้

ในการศึกษาภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำนั้น ได้มีการศึกษากันอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นการดูใน 2 ทาง กล่าวคือ (1) ทางด้านร่างกาย และ (2) บุคลิกภาพ

การศึกษาคุณลักษณะผู้นำแบบแบ่งแยก โดยพยายามจะศึกษาในเชิงภาพลักษณ์โดยแบ่งแยกนั้นไม่ประสบผล เพราะความเป็นผู้นำนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะแยกศึกษาได้จากสภาพแวดล้อม แม้ลักษณะความเป็นผู้นำบางอย่างนั้นมี definitive predictors ซึ่งจะพบในลักษณะผู้นำโดยทั่วไป ไม่ว่าเขาจะบริหารองค์การหรือระบบสังคมแบบใด หรือในช่วงใดของประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่บ่งชี้อีกประการหนึ่งซึ่งจะขาดหายไปไม่ได้ก็คือ ความเป็นผู้นำนั้นจะปรากฏ ให้เห็นก็ต่อเมื่อเขาได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น และได้ผ่านประสบการณ์มาหลายๆอย่างในชีวิตที่ได้สร้างสมขึ้นมาด้วย

ถ้ามหาตมะ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) ไม่มีโอกาสที่จะไปรับการศึกษาในประเทศอังกฤษ ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอังกฤษนานพอที่จะเข้าใจวิธีการคิดของคนตะวันตกในยุคสมัยนั้น ไม่ได้ผ่านประสบการณ์การต่อสู้ต่อต้านลัทธิแบ่งแยกผิวในอาฟริกาใต้ และไม่ได้มีโอกาสทำความเข้าใจในสังคมอินเดียในยุคสมัย และอีกเช่นกันคือถ้าไม่ได้มีโอกาสได้รับความเชื่อถือ จากบรรดาสานุศิษย์และผู้แวดล้อม ท่านก็คงไม่สามารถอยู่ในสถานะเป็นผู้นำของสังคมอินเดียในสมัยนั้นได้ วิธีการอหิสาเช่นที่ใช้กับประเทศอังกฤษนั้น คงไม่สามารถนำมาใช้ในสภาวะสงคราม หรือต่อปรปักษ์ เช่น ญี่ปุ่น หรือเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ในสังคมยุคใหม่ก็ยังมีการศึกษาลักษณะความเป็นผู้นำที่เป็นคุณลักษณะบางประการ อยู่ เพราะก็จะมีลักษณะบางประการที่พบในผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นในสังคมใด ในองค์การแบบใด และในสถานการณ์ใด

แนวคิดการบริหารอย่างเป็นระบบ

การคิดค้นในทฤษฎีการจัดการนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะเมื่อต้องการผลิตสินค้าที่ต้องการผลิตเป็นจำนวนมากๆ และก็ต้องทำให้มีคุณภาพมาตรฐานที่สูงขึ้นและเชื่อถือได้ ในยุคเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้วนั้น จึงคิดถึงการต้องนำคนจำนวนมากๆมาร่วมกันทำงานเป็นรูปองค์การ เริ่มมีองค์การทั้งภาคเอกชน และภาครัฐขนาดใหญ่ที่ต้องการการจัดการอย่างเป็นระบบ สามารถทำให้คนจำนวนมากมาทำงานร่วมก้นได้อย่างเป็นระบบ และเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้น ในยุคสมัยนั้นก็มีนักคิดและนักปฏิบัติที่ได้เสนอแนวทางเอาไว้ในต่างที่ แต่ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ในระยะแรกนั้นได้มีพัฒนาการด้านแนวคิดการจัดการแบ่งออกเป็นจาก 3 แหล่งสำคัญด้วยกัน กล่าวคือ ในฝรั่งเศส เยอรมันนี และสหรัฐอเมริกา

ในประเทศฝรั่งเศส มีผลงานของอังริ ฟาโยล (Henri Fayol) นักอุตสาหกรรม ที่มีประสบการณ์ด้านการ บริหารองค์การของรัฐขนาดใหญ่ได้นำเสนอหลักการทีเขาเรียกว่า หลักการจัดการ 14 ประการ

ส่วนในประเทศเยอรมัน มีนักสังคมวิทยาท่านหนึ่ง ชื่อ แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ซึ่งได้นำเสนอแนวคิด "บิวรอคเครซี" (Bureaucracy)

ส่วนความเคลื่อนไหวในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เฟรดเดอริค เทย์เลอร์ (Frederick Taylor) ซึ่งมีพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมได้ทำการศึกษาและนำเสนอแนวคิดการจัดการแบบวิทยา-ศาสตร์ขึ้น (Scientific Management)

หลักการจัดการ 14 ประการของฟาโยล

Henri Fayol นับเป็นนักคิดในเรื่องการจัดการในระยะแรกๆที่มีการนำเสนอหลักการในการจัดการเอาไว้ให้นักบริหารในยุคสมัยนั้นได้ใช้เป็นแนวทางในการเรียนรู้ศาสตร์การจัดการ และเป็นแนวทางให้นักศึกษาและทฤษฎีทาง การบริหารรุ่นต่อมาได้มีการพัฒนาแนวคิดสืบต่อ หลัก 14 ประการของเขา (Fayol's Fourteen Principles of Management) ซึ่งมีดังต่อไปนี้ คือ

1. การจัดแบ่งงาน (division of work) หลักการก็คือการทำให้คนจำนวนมากที่ต้องมาทำงานร่วมกัน ได้มีการจัดแบ่งหน้าที่ตามความสามารถ หรือความเชี่ยวชาญพิเศษของแต่ละคน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. การมีอำนาจหน้าที่ (authority) ผู้จัดการต้องสามารถออกคำสั่งได้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทำให้คำสั่งที่ออกไปนั้นมีความถูกต้องและเกิดความรับผิดชอบควบคู่กันไป เมื่อใดที่มีการใช้อำนาจหน้าที่ เมื่อนั้นความรับผิดชอบก็จะต้องติดตามไปด้วย

3. ความมีวินัย (discipline) ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือพนักงานต้องเชื่อฟัง และเคารพกฏเกณฑ์ขององค์การ การที่คนจะมีวินัยที่ดีนั้นเกิดจากความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ มีความเข้าใจที่ชัดเจนระหว่างฝ่ายจัดการและคนทำงาน ทั้งนี้ เมื่อมีการทำผิดกฏระเบียบขององค์การ ก็จะมีผลทำให้ได้รับโทษ

4. เอกภาพของสายบังคับบัญชา (unity of command) พนักงานหรือลูกจ้างทุกคนจะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเพียงคนเดียว สายบังคับบัญชาจะมีลักษณะเป็นทอดๆไป แต่ละคนจะรู้ว่าใครคือเจ้านายของตน

5. เอกภาพในทิศทาง (unity of direction) แต่ละคนในกลุ่มกิจกรรมขององค์การจะมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน รับแผนเดียว และจากหัวหน้าเดียว

6. ผลประโยชน์ของหมู่คณะจะต้องเหนือผลประโยชน์ส่วนตน (Subordination of Individual Interests to the General Interests) คนที่เข้ามาทำงานในองค์การนั้นจะต้องยอมรับว่าผลประโยชน์ขององค์การจะต้องมาเหนือผลประโยชน์ส่วนตน

7. มีระบบค่าตอบแทนที่ยุติธรรม (remuneration) คนทำงานแม้จะต้องเห็นผลประโยชน์ขององค์การเหนือผลประโยชน์ส่วนตน แต่องค์การก็จะต้องทำหน้าที่จัดระบบค่าตอบแทนให้เหมาะสมแก่ความสามารถและเป็นไปอย่างยุติธรรม

8. ระบบการรวมศูนย์ (centralization) การรวมศูนย์ในที่นี้หมายถึงระดับของการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีส่วนในการตัดสินใจอย่างไร การจะกระจายอำนาจ หรือรวมอำนาจเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ประเด็นจะอยู่ที่ ว่าทำอย่างไรจึงจะรวมศูนย์ได้ในแต่ละกรณี แนวคิดนี้มองเห็นความจำเป็นขององค์การที่ต้องมีศูนย์รวมอำนาจ

9. สายบังคับบัญชา (scalar chain) หมายถึงสายบังคับบัญชาจากระดับสูงลงมาสู่ระดับต่ำสุด สายการสื่อสารติดต่อก็จะเป็นไปตามนี้ คือจะเป็นไปตามระดับขั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าสายการบังคับบัญชาก่อให้เกิดการเสียเวลาล่าช้า ก็ให้มีการข้ามขั้นตอนได้ และทั้งนี้ต้องเป็นข้อตกลงระหว่างส่วนงานที่เกี่ยวข้อง

10. ความเป็นระบบระเบียบ (order) หมายความถึง คนก็ดี หรือวัสุดอุปกรณ์ทั้งหลายก็ดี จะอยู่ในที่อันเหมาะสมในเวลาอันเหมาะสม ความเป็นระบบระเบียบนี้ในส่วนหนึ่งหมายความว่าถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่นคนป่วยงาน ลางาน ก็สามารถมีคนทดแทนได้ เพราะมีความเป็นระบบทำให้รู้งานกัน

11. ความเท่าเทียมกัน (equity) ในที่นี้ ผู้เป็นหัวหน้าจะต้องมีการตอบสนองต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างมีเมตตา และยุติธรรม การใช้อำนาจของผู้บริหารจะเป็นไปด้วยหลักการ มิใช่จะทำอะไรได้ตามใจ

12. ความมั่นคง และสามัญฐานะของบุคลากร (stability of tenure of personnel) ทั้งนี้โดยมองว่า การที่มีคนเปลี่ยนงานบ่อยๆนั้นจะทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพ ฝ่ายบริหารควรวางแผนงานให้สามารถมีการทดแทนกำลังคนกันได้ เมื่อมีตำแหน่งว่างลง

13. การริเริ่มสร้างสรรค์ (initiative) ผู้ใต้บังคับบัญชาจะสามารถมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ที่จะทำงานออกมาได้ในระดับที่สูง

14. วิญญาณแห่งหมู่คณะ (esprit de corps) การสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน มีความราบรื่น และความเป็นปึกแผ่นในองค์การ

(Adapted and excerpted from H. Fayol, General and Industrial Management. Trans.[1].Storrs, London: Pitman, 1949.)

แนวคิดของแมกซ์ เวเบอร์

แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ได้เสนอแนวคิดการจัดองค์การ ซึ่งในที่นี้เขาเรียกว่า bureaucracy (Max Weber, The Theory of Social and Economic Organisation, Free Press, 1947 translated and edited by A. M. Henderson and T. Parsons, pp. 328-40.) ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นลักษณะองค์การที่เป็นอุดมคติที่องค์การทั้งหลายควรจะเป็น หากได้รับการพัฒนาในระดับที่เหมาะสม โดยสรุปแล้วลักษณะ 6 ประการของ "บิวรอคเครซี" มีดังนี้ คือ

1. องค์การต้องมีการจัดแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้แต่ละส่วนงานได้มีโอกาสทำงานในส่วนที่ง่ายพอ และมีการกำหนดงานนั้นๆให้ชัดเจนและไม่สับสน (Division of labor)

2. องค์การนั้นต้องมีสายบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ( Authority Hierarchy) โดยสำนักงานหรือตำแหน่งต่างๆถูกจัดให้เป็นลำดับชั้น โดยสำนักงานและตำแหน่งงานที่อยู่ใต้หน่วยงาน หรือตำแหน่งงานนั้นจะอยู่ภายใต้การดูแลในระดับสูงขึ้นไป

3. ระบบการคัดเลือกคนนั้นต้องกระทำอย่างเป็นทางการ ( Formal Selection) ทุกคนที่เข้าร่วมในหน่วยงานนั้นจะถูกคัดเลือกมาตามความสามารถและคุณสมบัติซึ่งแสดงให้เห็นได้ด้วยการฝึกอบรม การศึกษาที่ได้รับ และการจัดให้มีระบบการคัดเลือกหรือสอบคัดเลือกอย่างเป็นทางการ

4. องค์การต้องมีระเบียบ และกฎเกณฑ์ (Formal Rules and Regulations) ทั้งนี้เพื่อให้สามารถประกันความเป็นเอกภาพในการดำเนินการ และการกำกับการทำงานของพนักงาน ผู้ทำหน้าที่ด้านการจัดการจึงต้องมีกฏเกณฑ์เอาไว้เพื่อเป็นการกำกับพฤติกรรมของทั้งสองฝ่าย

5. ความไม่เลือกที่รักมักที่ชัง (Impersonality) ความจริงคำว่า impersonality หมายถึงการไม่มีอะไรเป็นพิเศษเป็นการส่วนตัว ไม่มีการถือเอาสายสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นใหญ่ ไม่มีการให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถ้าจะทำอะไรก็ต้องให้เป็นไปตามกฏเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดเอาไว้

6. การแยกระบบการทำงานออกเป็นสายอาชีพ (Career Orientation) โดยฝ่ายบริหารเองก็ไม่ใช่เจ้าขององค์การ แต่เป็นนักบริหารหรือนักจัดการที่เข้าสู่ตำแหน่งตามความสามารถของตน โดยแยกความผูกพันและความเป็นเจ้าของออกจากกัน คนทำงานแต่ละระดับก็ได้รับอัตราค่าตอบแทนอย่างเป็นระบบ มีเลื่อนขั้น และการเติบโตภายในหน่วยงานได้ตามลำดับ

ข้อสังเกตขององค์การแบบบิวรอคเครซีของ แมกซ์ เวเบอร์นั้นได้เป็นต้นแบบในระบบราชการเป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงเรียกรูปแบบองค์การแบบนี้ว่า "ระบบราชการ" ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดได้ เพราะความเป็นจริงแล้ว องค์การธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ในสมัยก่อนและเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนั้นก็ใช้รูปแบบการบริหารแบบนี้ เช่นธนาคาร หรือองค์การอุตสาหกรรมที่ต้องมีการว่าจ้างคนเป็นจำนวนมาก มีงานเป็นกิจวัตรชัดๆทั้งหลาย

การบริหารงานแบบวิทยาศาสตร์

หลัก 4 ประการอันเป็นหัวใจของการบริหารงานแบบวิทยาศาสตร์ของเฟรดเดอริค เทเลอร์ (Taylor's Four Principles of Management) มีดังต่อไปนี้

1. การพัฒนาหลักการทำงานของแต่ละคน ซึ่งเป็นการทดแทนแนวคิดเดิมที่ไม่ได้มีการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ หรือมีหลักการ

2. การคัดเลือกคนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ นำมาฝึก และพัฒนาให้เป็นคนงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในสมัยก่อนนั้น มักเป็นการที่คนงานเลือกงานโดยมาสมัครเข้าทำงาน แล้วฝึกตนเองไป

3. การร่วมมือกับคนทำงานเพื่อเป็นการให้ความมั่นใจได้ว่า งานทุกงานทำไปตามหลักการที่ได้ศึกษาและ วางเอาไว้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

4. การแบ่งความรับผิดชอบอย่างเท่าๆกัน ระหว่างฝ่ายจัดการ และผู้ปฏิบัติงาน ฝ่ายจัดการจัดทำงานทางด้านการเตรียมงานวางแผนงานให้เหมาะแก่คนงาน ซึ่งในรูปแบบก่อนหน้านั้นมักจะเป็นการให้คนงานมีความรับผิดชอบในการเตรียมงานกันไปตามธรรมชาติ ไม่ได้มีการให้ความสำคัญในการวางแผนงานอย่างจริงจัง

เทเลอร์ได้สาธิตความสำเร็จของแนวคิดการบริหารของเขา โดยครั้งหนึ่งเขาได้ทดลองหาคนงานที่เหมาะกับแนวคิดของเขามากที่สุด โดยการเลือกคนงานในอุดมคติได้ ผู้อพยพชาวดัทช์ ชื่อ ชมิดท์ (Schmidt) ซึ่งเป็นคนเงียบขรึม และไม่แสดงอารมย์ อดทน ไม่มีเพื่อนฝูง และทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ซึ่งชมิดท์ ซึ่งก็มิได้มีร่างกายแข็งแรงใหญ่โตอะไร

การสาธิตระดับประสิทธผลจากขนเหล็กถลุงขนาดหน่วยละ 92 ปอนด์ขึ้นรถไฟ โดยขนได้ 12.5 ตันต่อคน เทย์เลอร์เชื่อว่าควรจะขนได้ถึงวันละ 47-48 ตันต่อคน/วัน

ในขณะนั้นคนงานจะได้ค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อคนเท่ากับ 1.15 เหรียญต่อวัน เทย์เลอร์หวังใช้รางวัลคือเงิน โดยจะทำให้เพิ่มผลผลิต และค่าจ้างจะเป็น 1.85 เหรียญต่อวัน แต่คนงานจะต้องทำตามขั้นตอนทุกอย่างที่เขากำหนด

ด้วยการทดลองปรับเปลี่ยน ท่าทางการทำงาน จังหวะการพัก ท่าขนของ การปรับเทคนิค วิธีการ และเครื่องไม้เครื่องมือ และการให้รางวัลจูงใจด้วยเงิน และการหาคนที่เหมาะกับงาน ในกรณีนี้คือคนที่ทำตามคำสั่ง ตามการ ออกแบบงาน ท่าทาง และอื่นๆอย่างเคร่งครัด ในที่สุดเขาสามารถทำได้อย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้ คือขนเหล็กถลุงได้ 48 ตัน ต่อคน/วัน

แนวคิดของเทเลอร์นั้นจัดได้ว่าเป็นการให้ความสำคัญอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และการจัดเตรียมงานอย่าง เป็นระบบ แต่ในยุคต่อมาก็ได้รับการโจมตีอย่างมากในแง่ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ อีกทั้งไม่ได้ตระหนักถึงสภาพกลุ่ม หรือการไม่คำนึงถึงสัมพันธภาพในเพื่อนร่วมงาน ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ยากในโลกปัจจุบันที่กำลังงานของมนุษย์ และการทำงานประเภทซ้ำซากอย่างการขนถ่านหินนั้นทำไมจะต้องใช้คน ขน ในเมื่อมีระบบเครื่องช่วยมากมายที่จะทำให้งานยกที่ต้องใช้หลังขดและก้มเงยอย่างมาก และบั่นทอนร่างกายนั้น เป็น เรื่องที่ไม่จำเป็นและต้องหลีกเลี่ยง เพราะในโลกยุคปัจจุบันนี้สามารถทำให้เครื่องจักรเข้าทำงานแทนคนได้มาก กว่าในยุค 100 ปีที่แล้วอย่างมาก (Stephen P. Robbins , 1991, pp.)

แนวคิดเชิงพฤติกรรมศาสตร์

ในสามแนวทางของต้นความคิดการบริหารงานในยุคแรกนั้น แนวคิดทางการบริหารในแบบของ Taylor ซึ่งพยายามมองการจัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดนั้น ได้ถูกวิพากษ์ว่าเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ เป็นการเอาเปรียบแรงงานของมนุษย์มากที่สุด ในยุคต้นศตวรรษนี้เป็นต้นมา จึงได้มีการให้ความสนใจในพฤติกรรม การให้ความสนใจในความรู้สึกนึกคิดของคน เรื่องของขวัญกำลังใจ (Human Relations Concepts) และ การใช้ศักยภาพของมนุษย์อย่างแท้จริงมากขึ้น (Human Resources Concepts)

แนวคิดมนุษยสัมพันธ์

เมื่อความเป็นผู้นำและการจัดการนั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นลักษณะปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมที่จะเกิดขึ้น จึงได้มีนักศึกษาทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral theories) ได้หันมาให้ความสนใจ ในการศึกษาความเป็นผู้นำกันมากขึ้น ดังเช่นในการศึกษาของนักวิชาการในกลุ่มที่มาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ (The Ohio State Studies) ซึ่งได้มีการศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ ผู้นำนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะแกนใหญ่ ลักษณะแรกคือการที่ผู้นำเน้นการทำงานเพื่อให้ได้งาน ซึ่งเรียกว่า Initiating structure หรือลักษณะเน้นงาน แต่ในอีกด้านหนึ่งของการจัดการและความเป็นผู้นำนั้น คือการเน้นสัมพันธภาพของมนุษย์ ซึ่งเรียกว่า Consideration หรือลักษณะเน้นคน ในช่วงแรกๆมีความเชื่อกันว่า ลักษณะผู้นำที่ดีที่สุดคือการทำงานที่ต้องสามารถให้ได้ทั้งการเน้นผลงาน และการเน้นสัมพันธภาพของคน

แนวทางการศึกษาเชิงพฤติกรรมศาสตร์ที่เป็นการปูทางความเข้าใจในศาสตร์การจัดการในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ได้มีปรากฏในเอกสารและตำราทางการจัดการมากแล้ว ผู้เขียนจึงเพียงสรุปว่า

1. ความเป็นผู้นำและการจัดการนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะแยกออกจากสภาพแวดล้อมได้ ไม่สามารถศึกษาลักษณะของผู้นำอย่างแยกออกจากสภาพองค์การ สภาพเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมอื่นๆในขณะนั้นได้ และ

2. ความเป็นผู้นำและการบริหารระบบสังคมใดๆก็ตาม เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจองค์ประกอบทางด้านความรู้สึกนึกคิดของคนที่เกี่ยวข้องด้วย และความเป็นผู้นำนั้นจะเป็นได้จริงมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับผู้คนว่าเขาจะยอมรับ ความเป็นผู้ตามในสถานการณ์นั้นเพียงใด อีกทั้งผู้ตามเหล่านนั้นมีขวัญและกำลังใจในการทำงานอย่างไร

ในระยะต่อมากลุ่มผู้ศึกษาความเป็นผู้นำ ได้มีแนวคิดทางการจัดการซึ่งให้ความสำคัญต่อมนุษย์มากยิ่งขึ้น เพราะแม้ผู้ทำงานด้านการจัดการจะตระหนักในความสำคัญของขวัญและกำลังใจในการทำงาน แต่การประยุกต์ใช้ ก็ยังเป็นแบบผิวเผิน เช่น การฝึกท่าทางพฤติกรรมที่จะแสดงตอบต่อผู้ใต้บังคับบัญชา การเน้นความสุภาพ อาการที่เป็นมิตร การแสดงความเป็นกันเอง หรือการจัดกิจกรรมบำรุงขวัญ ซึ่งถ้าเป็นในสังคมไทยก็เช่นการจัดการแข่งขัน กีฬาภายในหน่วยงาน การติดตั้งตู้รับความคิดเห็น การจัดทัศนะศึกษา เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากสติปัญญาของผู้ปฏิบัติงานให้เต็มที่

แนวคิดทรัพยากรมนุษย์

ในยุคต่อมาจึงได้มีนักคิดอย่างเช่น Douglas McGregor, Rensis Likert และอื่นๆได้เสนอรูปแบบการจัดการที่ต้องใช้ประโยชน์จากสติปัญญาของมนุษย์ ต้องมีรูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น (Participative Management) และมีความเป็นประชาธิปไตยในองค์การมากขึ้น อย่างไรก็ตามแนวคิดเช่นนี้ก็ได้รับการวิพากษ์จากคนที่ต้องทำงานด้านการจัดการว่า นั่นเป็นเพียงปรัชญาทางการจัดการ แต่ไม่ใช่แนวคิดที่จะช่วยให้การจัดการในสภาพข้อเท็จจริงได้เป็นไปได้อย่างจริงจัง ความคิดทางการจัดการเช่นนี้จะใช้ได้ก็ในบางองค์การที่ลักษณะของผู้ทำงานสอดคล้องกับแนวคิด เช่นในมหาวิทยาลัย ในชุมชนทางการวิจัย ทางวิชาการ หรือทางศาสนาเป็นต้น

ในยุคต่อมาจึงได้มีการเข้าใจกันว่าการบริหารงานนั้นเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจะทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับสถานการณ์อย่างมาก จึงได้เกิดแนวคิดการจัดการแบบตามสถานการณ์ขึ้น

แนวคิดผู้นำตามสถานการณ์

การศึกษาความเป็นผู้นำในยุคต่อมาจึงได้มีความพยายามศึกษาในลักษณะที่ต้องศึกษาความสอดคล้อง ของสไตล์การบริหารที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมด้วย (Contingency Theories) โดยพยายามศึกษาว่าผู้นำแบบไหน เหมาะสมกับสถานการณ์แบบใด เช่นถ้าจะต้องมีการบริหารงานในองค์การลักษณะหนึ่งนั้นควรจะได้ผู้นำแบบใดจึงจะสอดคล้องและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังเช่นการศึกษารูปแบบบริหารตามสถานการณ์ของฟีดเลอร์ (The Fiedler's Model) ซึ่งเขาเชื่อว่าตัวประกอบสำคัญประการหนึ่ง ที่ผู้นำประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น คือสไตล์ในการนำ (leadership style) ผู้นำที่เน้นสัมพันธภาพกับคนเป็นหลัก (relationship oriented) ก็จะเหมาะกับการจัดการแบบหนึ่งในสถานการณ์แบบหนึ่ง แต่ผู้นำ ที่บริหารงานโดยเน้นงานเป็นที่ตั้ง (task oriented) ก็มีความเหมาะสมไปอีกแบบหนึ่ง

จากการศึกษา Fiedler ได้บ่งตัวแปรสำคัญที่บ่งถึงประสิทธิผลในการนำ คือ

1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและสมาชิกภายในองค์การนั้น (leader-member relations)

2. ลักษณะงานภายในองค์การนั้นๆ (task structure) และ

3. สถานะที่จะใช้อำนาจนั้นๆได้มากน้อยอย่างไร (position power)

การศึกษาความเป็นผู้นำในแนวทางการบริหารตามสถานการณ์นั้นยังคงมีการพัฒนามากขึ้น บางส่วนมีความพยายามศึกษาโดยการสร้างรูปแบบที่เป็นระบบที่จะสามารถอธิบายได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีการพยายามใช้สถิติเข้ามามีส่วนในการศึกษา บางส่วนใช้วิธีการศึกษาอย่างเจาะลึกเป็นกรณีไป โดยพยายามศึกษาทั้งจากกรณีที่ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ และผู้นำที่อยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ทำให้เขาต้องประสบความล้มเหลว แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาในแนวทางนี้ก็ได้รับการวิพากษ์ว่า มันไม่ได้ช่วยอะไรได้มากนัก เพราะเมื่อต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ก็เป็นการยากที่จะอาศัยหลักการอะไรที่จะอธิบาย และไม่มีสูตรสำเร็จในการทำงาน ซึ่งทำให้เหมือนกับท้ายสุดก็เลยไม่ได้เรียนรู้อะไร

แนวคิดผู้นำทรงบารมีในยุคใหม่

การศึกษาคุณลักษณะผู้นำในยุคใหม่ก็กลับมาเยือนอีก ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากความซับซ้อนในการศึกษาสูตรการหาผู้นำตามสถานการณ์ และมีหลายสถานการณ์ที่ไม่สามารถสรรหาคำอธิบายรูปแบบผู้นำที่ เหมาะสม ได้ในราวปี ค.. 1985 Bernard M. Bass (1985) ได้นำเสนอรูปแบบความเป็นผู้นำเอาไว้ว่ามีสองแบบด้วยกัน กล่าวคือ

ประเภทแรก เป็นผู้นำที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ (transactional leaders) และ ประเภทที่สอง คือ ผู้นำที่ทรงบารมี (transformational or charismatic leaders) หรือผู้นำที่สามารถบันดาลให้คนสามารถรวมพลังในการทำ การใหญ่ได้อย่างไม่คาดถึง ลักษณะผู้นำที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์นั้น เขาเชื่อว่ามีอยู่โดยทั่วไป เป็นผู้นำที่ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ผู้นำที่หายากคือผู้นำประเภทที่สามารถปรับเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้นเป็นเรื่องที่ควรต้องให้ความสนใจ เพราะเขาเป็นผู้นำที่เปลี่ยนสังคม ไม่ใช่ประเภทที่เพียงปรับเปลี่ยนแม้แต่สไตล์การจัดการหรือการนำไปตามสภาพแวดล้อม

(Bernard M. Bass, 1985)

การนำด้วยการสร้างพลังใจ

ผู้นำที่สามารถปรับเปลี่ยนระบบได้นั้น เขาจะมีพลังอยู่ในตัวเอง สามารถสร้างพลังใจ (Inspirational Leadership) ซึ่งเป็นผลให้ผู้ตามสามารถกระทำการที่มีพลังอย่างไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะทำได้

Yukl และ Van Fleet (1982) ได้ให้คำจำกัดความ inspirational ว่า หมายถึงลักษณะผู้นำที่กระตุ้นให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตื่นตัวงานของกลุ่ม และสามารถกล่าวนำสร้างความมั่นใจในความสามารถที่จะทำงานให้บรรลุผลได้ดังที่กลุ่มประสงค์

จากการศึกษาผู้นำในกิจกรรมทหารกำลังสำรอง หรือ The Reserve Officer Training Corps (ROTC) และการ ศึกษา 129 กรณีของพฤติกรรมผู้นำในกองทัพอากาศในสงครามเกาหลี ซึ่งทั้งสองรายการเป็นในกลุ่มที่ต้องทำหน้าที่ ในการป้องกันประเทศ

ลักษณะพฤติกรรมผู้นำแบบสร้างพลังจูงใจที่พบในสถานการณ์ของกลุ่มกองกำลังทหารสำรองจะมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

1. การสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดในแต่ละคน

2. การพูดปลุกใจเพื่อสร้างขวัญ

3. การสร้างตัวอย่างให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้เห็น เพื่อเป็นการคาดหวังในพฤติกรรมอย่างเดียวกัน

4. การให้กำลังใจเป็นการส่วนตัวแกผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อสร้างความมั่นใจ

5. การทำให้ลูกน้องได้รู้สึกภาคภูมิใจในหน่วยงาน โดยการชมผลงานที่ได้กระทำไปแล้ว

การสร้างตัวอย่างความเป็นผู้นำในกิจการของกองทัพอากาศมีดังต่อไปนี้

1. สร้างความฮึกเหิมและความเชื่อมั่นในตนเองเช่น ด้วยการแสดงให้เห็นว่าเขาได้กระทำในกิจกรรมทีมีความยากลำบากมาแล้ว การพูดให้เห็นว่าได้รับมอบหมายให้ทำงานที่มีความสำคัญ พูดให้กำลังใจ ในขณะที่คนมีความผิดหวัง

2. การสร้างตัวอย่างของความกล้าหาญและการอุทิศตนให้ปรากฏ ดังเช่นในกรณี การช่วยชีวิตผู้ใต้บังคับบัญชาในสถานการณ์ที่ยากลำบาก นำกำลังออรบในแนวหน้า การร่วมในงานที่ได้รับมอบหมายที่มีความยากลำบาก

ลักษณะผู้นำที่สร้างพลังใจนั้นมีที่สรุปได้ดังนี้ คือ

1. การเน้นการจี้ตามเรื่อง (Action Orientation) ผู้นำแบบนี้จะแตกต่างจากลักษณะข้าราชการตามปกติที่จะถูกติดยึดด้วยเงื่อนไข การมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และการมีพิธีการ Theordore Roosevelt นับเป็นผู้นำประเภทนี้คนหนึ่ง เขาเป็นคนประเภทไม่รอช้าและไม่ยอมปล่อยให้เสียโอกาส ครั้งหนึ่งเขาต้องรักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการทัพเรือในวันที่ 25 กุมภาพันธุ์ 1898 ซึ่งท่านรัฐมนตรีต้องการขอเวลาพักสักครึ่งวัน Roosevelt ได้อาศัยจังหวะนั้นโทรเลขสั่งการไปยัง ผู้บัญชาการทัพเรือภาคเอเซียและแปซิฟิค ให้เตรียมจัดหาถ่านหินที่ใช้เป็นพลังงานของเรือรบ และให้พร้อมที่จะ เข้าสู่สงคราม ซึ่งการสั่งการเตรียมพร้อมครั้งนั้นเป็นผลให้สหรัฐมีความพร้อม และทำให้รบชนะสเปญในที่สุด

2. การสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น (Confidence-Building) ในการฝึกรบนั้นจะพบว่า มักจะเป็นการฝึกหัดที่แสนจะทารุณและยากลำบาก แต่เมื่อทหารผ่านการฝึกนั้นๆไปได้แล้ว ต่างก็จะเชื่อว่าได้ผ่านการฝึกขนาดหนักเช่นนี้ไป แล้ว อะไรก็จะเป็นเรื่องง่ายหมด ในการฝึกกีฬาก็เช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นการสร้างสมรรถภาพให้อยู่ในสถานะที่พร้อม แต่อีกประการหนึ่งคือเป็นการสร้างความเชื่อว่า นักกีฬานั้นอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าคู่แข่งขันและมีความมั่นใจว่าจะต้องชนะได้ ในกลุ่มนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เช่นกันจะได้รับการปลุกใจว่าเขาได้เข้าเรียนในสถาบันที่เขายากมาก มีไม่กี่คนที่สามารถเข้าเรียนได้ ดังนั้นถ้าจบไปแล้วต้องทำตัวให้ประสบความสำเร็จสมกับที่ผ่านสิ่งที่ยากลำบากนี้ไปได้ ผู้นำที่มีคุณสมบัติสร้างพลังใจได้นั้นก็คือสามารถสร้างคนให้มีความเชื่อมั่นในพลังของตน

3. การสร้างพลังใจให้เชื่อในสิ่งที่ทำ (Inspiring Belief in the "Cause") ในการจะทำอะไรก็ตาม ถ้าผู้ปฏิบัติงานเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่มีความหมาย มีคุณค่าที่ควรภาคภูมิใจ มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะสามารถทำได้ ดังนั้นเมื่อเขาได้รับการเลือกแล้วก็ต้องรับภาระที่จะทำงานนั้นๆให้ลุล่วง คนเป็นอันมากจะได้ประโยชน์ หรืออนาคตของสังคมนั้นๆขึ้นอยู่กับเขามาก คนเป็นอันมากไม่มีพลังใจในสิ่งที่ทำ เพราะเขาไม่มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เขาทำ ความเชื่อมั่นในสิ่งที่จะทำว่าเป็นสิ่งมีคุณค่านั้น ทำให้คนยอมไปสู้รบ ยอมตายอย่างคนไร้นาม ยอมเสียสละมากมาย เพราะเขาเชื่อในสิ่งที่เขาทำ

4. การใช้ประโยชน์จากความคลั่งรักในสิ่งที่ทำ (Pygmalion Effect) Pygmalion เป็นช่างแกะสลักที่หลงรักในงานที่เขาแกะสลักขึ้น ซึ่งคือ Aphrodite ซึ่งเขาได้สร้างให้สิ่งนั้นเป็นสาวที่สุดสวย จากการศึกษาของ Rosenthal & Jacobson, 1968) โดยการปลุกใจให้ครูมีความเชื่อว่าได้รับนักเรียนที่มีความเก่งและฉลาดกว่าเด็กในห้องเรียนอื่น เขาจะต้องสอนให้เด็กนั้นประสบความสำเร็จให้ได้ การสร้างให้ครูรักในเด็กนักเรียนนี้ เอาใจใส่ในการเรียนการสอนมากขึ้น ปรากฏว่าทำให้ท้ายสุดนักเรียนในชั้นก็ประสบผลสำเร็จในการเรียนดีขึ้นกว่าในระดับเดียวกันอย่างมีนัย สำคัญ

ในการควบคุมวิทยานิพนธ์ของนิสิตนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษานั้น จะพบปัญหาประการหนึ่งคือ การที่ผู้สอนไม่ให้ความสำคัญของการให้ผู้เรียนได้ทุ่มเทกับการทำการศึกษาตามหัวข้อที่เขาจะศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ได้กระตุ้นเร้าให้เกิดความรักในสิ่งที่จะศึกษา หรือตื่นเต้นกับสิ่งที่ค้นพบ แต่ในทางตรงกันข้าม อาจารย์ผู้สอนที่ประสบความสำเร็จนั้นจะทุ่มเทให้กับการทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่า สิ่งที่เขาได้เลือกเพื่อการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความสำคัญและเชื่อมโยงต่อโลกและสังคมอย่างไร

แต่อย่างไรก็ตาม Bass ได้ประมวลข้อเสนอแนะในเชิงปฏิบัติว่า ผู้นำในลักษณะเช่นนี้ จะมีวิธีการบางอย่างที่ทำให้การนำของเขาประสบความสำเร็จ เช่น

1. การให้ความสำคัญต่อการนำเสนอโครงการใหม่ๆ (new projects) คือการทำให้คนได้มีเรื่องสนุกที่จะทำ ไม่ใช่ปล่อยให้ทำงานเดิมที่มีความซ้ำซาก

2. การกระตุ้นเร้าให้คนมาร่วมเป็นอาสาสมัครได้มากๆ (volunteerism) ผู้เขียนได้ลองสังเกตองค์กรพัฒนาเอกชนที่ประสบความสำเร็จนั้น มักจะมีวิธีการสรรหาคนมาเป็นอาสาสมัครได้มาก เขาจะไม่อาศัยการได้คนมาทำงาน แบบเป็นลูกจ้าง

3. การได้มีโอกาสทดลอง ได้ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ (experimentation and incrementa-lism) ผู้นำประเภทนี้จะไม่ยึดติดกับการทำงานอย่างคงที่ไปทั้งระบบ มีการจัดกิจการที่ทำให้เกิดการแตกต่างกันไป และเรียนรู้จากความแตกต่างเหล่านั้น

4. การสร้างบรรยากาศในองค์การและการมีการสื่อสารที่ดี (organizational climate and communications) การทำให้คนมีความสุขในการทำงาน เมื่อมีปัญหาก็สามารถสื่อสารไปยังเบื้องบนได้ ไม่รู้สึกถึงสภาวะการปิดกั้น หรือ ไม่ยอมรับความคิดเห็น

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารในลักษณะนี้ก็อาจเป็นปัญหาได้ ลองสังเกตผู้นำทางศาสนาบางคน ที่ท้ายสุดสามารถจูงใจคนได้มากมาย สร้างความคลั่งไคล้ให้ปรากฏ แต่เบื้องหลังของเขาแล้วกลับเป็นคนละเรื่อง เต็มไป ด้วยเล่ห์กล บางทีในการสร้างความคลั่งไคล้อย่างมากๆ บางทีก็มีอาการติดยึดกับผู้นำ ทำอะไรเพื่อสนองตอบต่อผู้นำ เกิดการแข่งขันแย่งชิงความรักความพอใจจากผู้นำก็มีให้เห็น และในบางทีก็มีอาการที่สร้างแรงบังคับให้คนต้องทำใน สิ่งที่เป็นไปในทางอันไม่ควร โดยขาดสติและขาดเหตุผล ดังเช่นกรณีของนักบวช Jim Jones ซึ่งได้ชักชวนให้สานุศิษย์หลายร้อยคนร่วมกันดื่มยาพิษตายพร้อมกันทั้งหมด เป็นต้น

การจะได้ผู้นำในลักษณะนี้จึงต้องคำนึงถึงสองสิ่ง กล่าวคือ (1) การทำอย่างไรจึงจะได้รับความยอมรับของคน (receptivity) ไม่ใช่ไปบังคับให้เขาต้องกระทำ และ (2) การทำในสิ่งที่มีความสอดคล้องเหมาะสม (relevance) กับสภาพความเป็นจริง ไม่ใช่การไปชักจูงคนในสภาพที่เขาไม่มีสติและการใช้เหตุผลอย่างปกติ เป็นการมอมเมา ซึ่งก็ยิ่งจะเป็น ผลร้ายต่อระบบสังคมนั้น

ผู้นำเน้นหลักการ

การปฏิเสธแนวทางการบริหารแบบตามสถานการณ์ เหมือนไม่มีความคิดและปรัชญา เหมือนจิ้งจกที่ต้องเปลี่ยนสืบไปตามห้องหรือสภาพแวดล้อม ซึ่งได้มีนักคิดในกลุ่มทรัพยากรมนุษย์ได้ให้คำวิพากษ์สำหรับการบริหารที่ไม่เน้นในปรัชญานี้ ในระยะหลังนี้ ได้มีนักเขียนทางการบริหารท่านหนึ่งได้เสนอแนวคิดการบริหารทึ่ไม่ใช่เป็นรูปแบบตามสถานการณ์เอาไว้

Stephen R. Covey กล้าเขียน ผู้นำเน้นหลักการแต่ไม่ใช่การเขียนแบบโบราณ เป็นลักษณะผู้นำยุคใหม่ ไม่ใช่เขียนเป็นแบบตำรากับข้าว หรือ cook-book โดยหลักๆแล้ว เขาต้องการเสนอแนวการบริหารที่เน้นการใช้ปัญญา และการต้องพัฒนาปัญญาให้เกิด การตระหนักในความจำเป็นของการนำในสังคมยุคใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องของการเอาแพ้เอาชนะ เขาเน้นให้คนไม่ต้องหลงทาง ด้วยการมีหลักในการยึดถือ แม้ได้มีการหลงทาง แต่อย่างน้อยก็มีเข็มทิศทางปัญญา หนังสือของเขามีพื้นฐานมาจากการได้จัดฝึกอบรมบ่อยๆครั้ง จนสามารถได้ข้อสรุปที่มีหลักการที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย จำได้ง่ายๆ นอกจากนี้เขายังเน้นการพัฒนาตนเองให้มีความเป็นผู้นำ โดยเน้น "การสร้างตั้งแต่ลักษณะนิสัย การเตรียมตั้งแต่สภาพครอบครัว เตรียมตั้งแต่การเลี้ยงดูคนตั้งแต่เมื่อเยาว์วัย ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจในศาสตร์ความเป็นผู้นำ และการจัดการทั้งหลายอย่างมาก

ลักษณะผู้นำด้วยปัญญา

ในขณะที่วงการศึกษาทางด้านพฤติกรรมผู้นำให้ความสนใจไปที่การสร้างผู้นำที่สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ก็มีนักคิดอีกส่วนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับหลักการ (Principles) ในการเป็นผู้นำ และในสังคมยุคใหม่นั้น ผู้นำจำเป็นต้องนำคนไม่ใช่ด้วยกำลังหรือไม่ใช่เพียงด้วยอำนาจ แต่เป็นการใช้สติปัญญา และความสามารถในการใช้ความคิด ซึ่ง ตามแนวความคิดของ Covey ลักษณะ"นักคิดอย่างสมบูรณ์" (abundance thinkers) หรือคนคิดที่ไม่อับจน นั้นมีอยู่ 7 คุณสมบัติ ที่จะแตกต่างจาก"นักคิดแบบขาดหกตกหล่น" (scarcity thinkers) หรือคนประเภทอับจนทางความคิดกล่าว คือ

1. เขาจะสามารถแสวงหาแหล่งที่ถูกต้องได้ (They return often to the right sources)

สามารถไปสู่แหล่งความรู้ได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าแหล่งความรู้นั้นจะเป็นคน เอกสาร สภาพความเป็นจริง ซึ่งต้องใช้วิธีการศึกษาหลากหลายรูปแบบ นักคิดมิได้หมายความว่าจะต้องฝันขึ้นมาเองทั้งหมด แต่เขาต้องมีความสามารถที่จะแสวงหาความรู้เหล่านั้นได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

2. เขาแสวงความสันโดษและชื่นชมธรรมชาติ (They seek solitude and enjoy nature)

คนที่จะเป็นนักคิดที่ดีได้นั้นไม่ใช่คนที่ถูกความวุ่นวายในชีวิตประจำวันเข้าครอบครองจนไม่มีเวลาคิด คนที่ได้เข้าถึงธรรมชาติจะทำให้เกิดความสงบ เกิด reflection หรือการใช้การสังเกตและเรียนรู้ปรากฏการณ์หลายอย่างจากธรรมชาติรอบๆตัว การที่พระพุทธเจ้าสามารถตรัสรู้ได้นั้นก็เพราะทรงมีโอกาสใช้เวลาว่างที่เป็นตัวของตัวเองในสภาพแวดล้อมของธรรมชาตินั้นเพื่อการได้คิด

3. เขาเป็นคนหมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ (They sharpen the saw regularly)

คนที่จะเป็นนักคิดจะไม่ใช่ลักษณะเก็บตัว แล้ววันดีคืนดีก็บรรลุซึ่งองค์ความรู้อันยิ่งใหญ่ การค้นคิดอันยิ่งใหญ่นั้นเกิดจากการฝึกฝน การเรียนรู้ การตรวจสอบองค์ความรู้เหล่านั้นอยู่เป็นระยะๆ เกิดการพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง คนที่เป็นนักคิดที่ยิ่งใหญ่นั้นมักจะไม่หยุดคิดแล้วสำคัญตนเองว่าได้เรียนรู้หมดแล้ว เพราะองค์ความรู้ในโลกนั้นมี อยู่มากมาย และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คนที่จะประสบความสำเร็จนั้น จึงมีลักษณะดังต่อไปนี้

- การฝึกการอ่านทั้งอย่างกว้างขวาง และอ่านอย่างลึกซึ้ง

- เตรียมพร้อมที่จะผจญกับสถานการณ์และความท้าทายใหม่ๆอยู่เสมอ

- การฝึกเตรียมความพร้อมนั้นสามารถกระทำได้หลายอย่าง เช่น การต้องทำหน้าที่พูดอยู่เสมอ ก็ต้องหยุดพูดเพื่อให้ได้มีโอกาสเขียน

- ถ้าเขียนมากๆแล้วหาความคิดมาเขียนไม่ได้ก็ต้องไปอ่านมากๆ ไปใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่ซ้ำซาก ได้มีโอกาสมองโลกในแง่มุมอื่นๆ

คนที่มีกิน และกินอย่างเป็นสุขก็ต้องลองฝึกอดอาหาร ถ้าไม่เคยได้ออกกำลังกายเป็นเวลานาน ก็ต้องฝืนใจ กลับไปฟิตร่างกาย ลองออกแรงให้มากขึ้น

4. เขาเป็นคนช่วยคนอื่นโดยไม่แสวงนามหรือชื่อเสียง (They serve others anony-mously)

การที่คนมีความสุขกับการเป็น "ผู้ให้" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้โดยไม่ได้มุ่งหวังชื่อเสียง หน้าตา ลาภ ยศ หรือสรรเสริญนั้น จะทำให้เกิดความปิติในใจ เป็นคนที่สามารถให้รางวัลกับตนเองได้ เพราะเป็นรากฐานอันสำคัญในการทำงานหลายอย่างที่มีคุณค่า แต่จะไม่ได้รับรางวัลด้วยคำชมในทันทีทันใด หรือสามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ในช่วงเวลาอันสั้น แม้สิ่งนั้นในเวลาต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่ามีคุณูปการแก่สังคมและโลก การฝึกการให้ เช่นนี้จะเป็นการสร้างความมั่นคงในใจของเราเองในอันที่จะคิดทำงานใหญ่ต่อไป

5. เขารักษาสัมพันธภาพกับคน มีความจริงใจใกล้ชิด (They maintain a long-term intimate relationship with another person)

การมีสัมพันธภาพกับคนนั้น อาจจะเป็นคนๆเดียวหรือหลายคน อาจจะเป็นคู่ครอง กลุ่มกัลยาณมิตร คนที่เข้าใจเขา รักเขา แม้ในบางครั้งเขาอาจไม่มั่นใจหรือเชื่อมั่นในตนเอง คนเหล่านี้ไม่ใช่คนที่จะตามใจเขา หรือคอยประจบประแจง แต่เป็นคนที่สามารถให้ความคิดเห็นแก่เขาอย่างตรงไปตรงมา และด้วยความปรารถนาดี และในขณะเดียวกัน เขาก็ได้ประพฤติปฏิบัติเยี่ยงเดียวกันต่อกัลยาณมิตรเหล่านั้นด้วยความปรารถนาดี และจริงใจ ไม่มีใครจะประสบความสำเร็จได้ ถ้าเขาขาดเพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจ และในการมองอีกด้าน คนที่ไม่มีใครเลยที่จะไว้ใจ เขาได้นั้น แม้แต่คนใกล้ตัว แล้วจะทำให้คนอื่นเชื่อมั่นได้อย่างไร

6. เขาไม่ผูกใจกับความผิดพลาดทั้งของตนเองและคนอื่น (They forgive themselves and others)

ไม่เป็นคนอาฆาตคน ไม่ผูกใจเจ็บ หรือจดจำกับความผิดพลาดของคนโดยไม่รู้จักให้อภัย เป็นคนที่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ผิดก็ยอมรับว่าผิด มีอารมย์ขัน สามารถรวบรวมพลังแม้เมื่อผิดพลาดแล้วมุ่งไปสู่อนาคตใหม่ข้างหน้าได้เสมอ แต่ถ้าเป็นในทางตรงกันข้าม เมื่อใดที่เราผูกใจเจ็บเมื่อคนอื่นทำผิดพลาด คนก็ไม่กล้าริเริ่มอะไรที่แปลกใหม่ และสำหรับตัวเอง ใครที่เศร้าหมองกับสิ่งที่ผ่านมา หรือคอยปกป้องแก้ตัวในความผิดพลาดที่ผ่านมา เขาก็อดได้โอกาสในการเรียนรู้ แต่ถ้าเขาเป็นคนไม่ให้อภัยกับตนเอง คอยแต่จะตีอกชกหัว เขาก็จะขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าทำการใหญ่ในอนาคต

7. เขาเป็นคนเผชิญปัญหา และแก้ปัญหา (They are problem-solvers)

สามารถจำแนกระหว่างคนกับปัญหา ไม่ถือความขัดแย้งทางความคิดมาเป็นปัญหาส่วนตัว ไม่ผูกใจเจ็บ และมีอคติต่อคน เขาจะตระหนักในความต้องการของแต่ละคนที่แตกต่างกัน และพยายามแก้ปัญหาเหล่านั้นมากกว่า ที่จะเอาแพ้เอาชนะกัน สามารถรวบรวมพลังของกลุ่มคนในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยไม่จำกัดอยู่เพียงการประนีประนอมในการแก้ปัญหานั้น แต่สามารถมุ่งไปที่การแก้ปัญหาที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ที่ดีที่สุดเป็นหลัก

(Stephen R. Covey, Principle-Centered Leadership. New York: Simon & Schuster, 1992, pp. 159-161.)

คนที่มีคุณสมบัติทั้ง 7 ประการนี้น่าจะไม่เป็นคนอับจนทางความคิด เขาอาจเป็นคนที่ไม่สามารถวัดได้ด้วยข้อสอบ IQ หรือการวัดคลื่นสมอง แต่ในทางปฏิบัติ เขาจะเป็นคนที่สามารถใช้ความฉลาดและสติปัญญาของมนุษย์ ทั้งหลายให้เป็นประโยชน์ได้ เพราะความฉลาดในที่นี้ไม่ใช่ความฉลาดในลักษณะที่ต้องคิดและทำเองในทุกเรื่อง

ลักษณะนิสัยผู้นำ

คนที่จะทำงานอันนำไปสู่ความสำเร็จ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และต่อผู้อื่นนั้น Covey ได้เสนอว่าน่าจะสังเกตได้ว่าเขามีลักษณะสำคัญ 7 ประการของมนุษย์ (Seven Unique Human Endowments)[1]ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนที่ เป็นพื้นฐาน และส่วนและส่วนที่เป็นมัธยฐานอันเป็นระดับสูงขึ้นไป

ลักษณะสำคัญขั้นพื้นฐาน (Primary human endowments) สำหรับคนด้วยทั่วไปที่จะมีลักษณะนิสัยทำอะไรได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มักจะมีพฤติกรรมในชีวิตที่สังเกตได้ในขั้นพื้นฐานอันประกอบด้วย 3 ข้อสำคัญ คือ

1. เตรียมการล่วงหน้า (Be proactive)

ในภาษาอังกฤษมีคำที่มีความหมายต่างกันอย่างชัดเจน 3 คำ คือ active, reactive และ proactive คำว่า active นั้นมีความหมายว่าเป็นคนตื่นตัวกระฉับกระเฉงไม่อยู่นิ่ง ซึ่งก็นับว่าดีในแง่ที่คนเป็นอันมากจมอยู่กับนิสัย passive หรืออยู่นิ่งเฉย ซึมเซื่อง แต่คนฉลาดมักไม่หยุดนิ่ง เด็กฉลาดมักเป็นเด็กที่ซุกซนไม่อยู่เฉย มักจะคอยจับโน่นเล่นนี่อยู่เสมอ แต่ความตื่นตัวในแบบนี้ยังไม่พอ เพราะบางครั้งเป็นพฤติกรรมที่ทำไปตามสัญชาติญาณ ยังไม่ได้สอดใส่การใช้ความคิด หรือมีการเตรียมการ ในอีกระดับหนึ่งคือคำว่า reactive หรือปฏิกิริยาตอบโต้ คือโดยปกติก็ยังไม่คิดทำอะไร ต่อเมื่อมีคนอื่นเขาคิดแล้วจึงแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบ เหมือนกำแพงทีไม่เคลื่อนไหว เมื่อมีการการขว้างลูกบอล ใส่ฝาผนัง ขว้างแรง ลูกบอลก็จะสะท้อนออกมาแรง แต่ถ้าไม่ขว้างก็ไม่มีแรงสะท้อนออกมา คนเป็นอันมากมีวิธีการคิดและการทำงานเช่นนี้ พฤติกรรมเช่นนี้จึงเป็นเพียงกิริยาตอบโต้ แต่มีอีก คำหนึ่ง คือ proactive หรือการคิดอย่างมีการเตรียมการล่วงหน้า กล่าวคือไม่ปล่อยให้เกิดวิกฤติแล้วค่อยคิด แต่ต้องเตรียมคิดไว้ล่วงหน้า แม้ยามที่สุขสบายก็ไม่นิ่งเฉย ได้มองไปในอนาคต และมีการเตรียมการบางอย่างเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะบางครั้งปล่อยให้ปัญหามาจนใกล้ตัวแล้ว เราก็ไม่อยู่ในฐานะจะแก้ได้เสียแล้ว

2. จะทำอะไรก็ตามจะมองไปที่จุดหมายปลายทาง (Begin with the end in mind)

การจะทำอะไรก็ตามต้องคิดถึงจุดหมายปลายทางว่าเราต้องการอะไร มีเป็นอันมากที่ในแต่ละวัน แต่ละเดือน หรือแม้แต่เป็นปี เรามักจะมาบ่นว่าเหนื่อย แต่หวนกลับไปดูแล้วเหมือนเรายังไม่ได้บรรลุอะไร การทำอะไรต้องให้รู้ว่าต้องการจะบรรลุผลอะไร และอย่างไร ซึ่งถ้าได้คิดอย่างมีจุดหมายปลายทางจะทำให้เราได้มีจุดเน้น จะได้รู้ว่าอะไรที่ควรจะทำ และที่สำคัญเป็นอย่างมากนั้นก็คือจะได้รู้ว่าอะไรที่ไม่ควรเสียเวลาไปทำ ผู้เขียนลองสังเกตข้าราช-การและพนักงานบางคนที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าคนอื่นๆนั้น มีส่วนหนึ่งที่เป็นคนที่ต้องการรู้ว่าจะทำสิ่งเหล่านั้นไปเพื่ออะไร และถ้าเขารู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร ทำเสร็จแล้วต้องการได้อะไรเป็นผลออกมา เขาจะสามารถให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้มีอำนาจที่ต้องการใช้ตัดสินใจได้อย่างดี คนมีคุณภาพประเภทนี้ ไม่จำเป็นต้องให้คนมาบอกในทุกขั้นตอนว่าจะต้องทำอะไร เหมือนการเรียกใช้บริการแทกซี่ก็เป็นตัวอย่างง่ายๆ ถ้าผู้ใช้บริการเพียงบอกจุดหมายปลายทางให้ชัดเจน แล้วแทกซี่ที่มีประสบการณ์จะเป็นคนขับไปจนถึงจุดหมายปลายทางได้โดยไม่ยาก แต่ไม่มีแทกซี่ที่มีประสบการณ์จะชอบให้ผู้โดยสารบอกเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปเรื่อยๆตลอดทาง โดยไม่บอกว่าจะไปไหน

3. เมื่อจะทำอะไรจะรู้ว่าอะไรมาก่อนอะไรมาหลัง (Put first things first)

การจะทำอะไรโดยต้องรู้ว่าอะไรมาก่อนและอะไรมาหลังนั้น แท้ที่จริงเกือบจะเหมือนกับเป็นศาสตร์ทีเดียว เช่นในปัจจุบันวิศวกรคุมงานก่อสร้าง หรือผู้บริหารโครงการต้องรู้จักการใช้วิธีการวางแผนแบบ PERT หรือ CPM เพื่อใช้ในการควบคุมงาน ซึ่งจะต้องรู้ว่าในแต่ละช่วงงานนั้นควรจะต้องทำอะไร การจะสร้างอาคารสักหลังหนึ่งนั้นต้องมีขั้นตอนต่างๆมากมาย คนที่ทำงานจนสำเร็จได้นั้นจะต้องรู้ว่างานจะต้องผ่านขั้นตอนมาเป็นลำดับ เช่น งานก่อสร้างจะเริ่มจากการวางแผนออกแบบอาคาร โดยต้องมีสถาปนิกร่วมคิดรับรู้แนวคิด และให้คำชี้แนะตั้งแต่แรก การขออนุญาตแบบการก่อสร้าง การได้ผู้รับเหมาที่เหมาะสม การลงมือก่อสร้าง และในขณะเดียวกันถ้าเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ก็จะต้องคิดถึงการระดมทุนเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอและเป็นขั้นตอนไป ในส่วนของการก่อสร้างนั้นก็จะต้องเริ่มจากการมีวิศวกรคุมงาน การเริ่มการตอกเสาเข็ม การทำฐานราก และการก่อสร้างอาคาร ไปทีละชั้นๆ และระหว่างนั้นก็จะต้องมีวัสดุอุปกรแต่ละประเภทที่จะต้องมีการจัดหามาอย่างสอดคล้องกับงาน ไม่ใช่ก่อสร้างไปแล้วต้องมาหยุดงานรอปูนหรือทราย เป็นการชะงักงันไปโดยเปล่าประโยชน์

การบริหารงานการสร้างมหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกัน ไม่สามารถสร้างให้เสร็จได้ในเวลาอันสั้น การต้องรู้ว่า แต่ละขั้นตอนนั้นเป็นอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยจะต้องรู้ว่าทำไมจะต้องสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนั้นขึ้นมา มันมีความจำเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยนั้นควรแตกต่างจากที่อื่นๆอย่างไร และเมื่อจะสร้างนั้นจะมีใครมาร่วมด้วย ใครจะให้การสนับสนุนทางด้านทรัพยากร ซึ่งจะเป็นจากรัฐบาลดี หรือว่าควรเป็นการลงทุนโดยเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ขั้นต่อๆไปก็คือ ถ้ามีความคิดแล้ว มีเงินหรือทรัพยากรพื้นฐานแล้ว จะหาใครมาเป็นครูอาจารย์ นักวิจัย และที่สำคัญจะได้ใครมาเป็นผู้ร่วมงาน เหล่านี้เป็นต้น

ลักษณะสำคัญในระดับมัธยฐาน (Secondary endowments) ประกอบด้วยหลักสำคัญ 4 ประการ คือ

4. คิดการแบบชนะต้องชนะด้วยกัน (Think Win/Win)

คิดการใดก็จะไม่มองเพียงผลประโยชน์เฉพาะตน แต่จะมองไปถึงผลประโยชน์ของคนที่เกี่ยวข้องด้วย หมายความว่าคิดอย่างทุกฝ่ายได้ประโยชน์ นักบริหารบางคนทำอะไรแล้วไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่ได้ คิดถึงส่วนนี้ บางคนคิดแต่ในส่วนขององค์การ โดยลืมนึกถึงส่วนที่เป็นบุคลากร ความต้องการของคน บางคนทำอะไรอยากเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ปัญหาที่พบเห็นในปัจจุบันนี้ในแวดวงธุรกิจ การสร้างศูนย์การค้านั้นนับเป็นการแข่งขันกันสร้างชนิดใครดีใครอยู่ แข่งกันสร้างโดยไม่ยอมประสานประโยชน์แก่กัน ธุรกิจขนาดเล็กขาดเงินทุนและการจัดการที่ดีก็อยู่ไม่ได้ แต่ความเห็นแก่ตัวที่ต้องแข่งขันกันนั้น ท้ายสุดทุกฝ่ายก็ขาดทุนกันหมด ในการคิดแบบต้องชนะร่วมกัน ต้องได้ประโยชน์ด้วยกันในหลายๆฝ่ายนั้น จะทำได้ด้วยการที่ผู้นำ หรือผู้รับผิดชอบในระดับสูงจะต้องมีใจกว้าง และเปิดโอกาสในการเจรจากันอยู่ตลอดเวลา

5. พยายามทำความเข้าใจในคนอื่นก่อนแล้วจึงทำให้คนอื่นเข้าใจในตน (Seek first to understand, then to be understood)

การทำงานใดๆนั้นต้องเกี่ยวข้องกับคน แต่การใช้คนแต่ละคนนั้น เขามีบุคลิกภาพ และความเป็นตัวของตัวเอง มีความต้องการ ค่านิยม ทัศนคติ ความถนัด แรงจูงใจ และเป้าหมายในชีวิตของเขา ถ้าเราไม่รู้จักเขาดีพอ ก็ยากที่จะเริ่มต้นสัมพันธภาพที่ราบรื่น แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นคนที่เขาทำงานร่วมกับเราก็จำเป็นต้องให้รู้จักส่วนที่เป็นตัวของเรา และควรเรียนรู้ได้ในลักษณะที่ตรงไปตรงมา แต่นั่นจะเป็นสิ่งที่รองลงมา เพราะถ้ามองจากตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วพยายามไปปรับเปลี่ยนคนอื่นนั้นเป็นเรื่องยาก และในหลายโอกาสจะไม่อยู่ในสถานะที่เราจะควบคุมได้ แต่ในทางกลับกันการปรับเปลี่ยนในส่วนที่เป็นตัวเรานั้นจะง่ายกว่าการที่จะไปปรับเปลี่ยนผู้อื่น

6. สามารถรวมพลังให้เกิดการสร้างสรรค์ได้ (Synergize is the endowment of creativity)

คำในภาษอังกฤษว่า syneergy มาจากคำว่า syn ซึ่งแปลว่า รวม หรือร่วม เมื่อรวมกับคำว่า energy ซึ่งแปลว่า พลัง ก็หมายความถึงการร่วมกันทำงานจากหลายฝ่ายที่สามารถก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ได้ ลองยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ในธรรมชาตินั้นมีธาตุบางอย่างไม่ออกฤทธิ์ด้วยตัวของมันเอง แต่ถ้าเอามาประสมกับอีกธาตุหนึ่งแล้วก็จะเกิดปฏิกริยาเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เชื้อเพลิง แรงระเบิด หรือพลังงานเป็นอันมากเกิดจากการรวมตัวอันเหมาะสมของธาตุเหล่านี้ ในการทำงานร่วมกันของมนุษย์ก็เช่นกัน คนบางคนมีคุณสมบัติที่ดี แต่เมื่อเอามารวมเป็นกลุ่มแล้วกลับไม่มีผลในทางที่ดี กลายเป็นความขัดแย้งไม่เกิดประโยชน์ แต่คนบางคนอาจดูไม่มีคุณค่า แต่ถ้าเอามาทำงานร่วมกันกับคนอื่นๆที่มีลักษณะเสริมและช่วยในการทำงานแก่กัน มีวิธีการทำงาน ขวัญและกำลังใจที่ดี ก็จะทำประโยชน์ได้อย่างมากมาย จัดเป็นการได้พลังแบบทวีคูณ ผู้เขียนลองสังเกตอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอันมาก ถ้าอยู่ในภาคเดียวกัน เก่งก็เก่งอย่างเดียวกัน แต่อยู่ด้วยกันกลับขัดแย้ง สร้างความโกรธเกลียดแก่กันแต่พอแยกกันไปทำงานนอกมหาวิทยาลัย ไปเป็นที่ปรึกษาบ้าง เป็นนักคิดนักวิชาการให้กับที่อื่นๆกลับให้คุณเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมากมาย ประเด็นของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้นจึงขึ้นอยู่กับการได้คนที่มีลักษณะแตกต่างกัน แต่มีคุณประโยชน์ในการทำงานช่วยเสริมแก่กันสามารถทำงานเป็นทีมได้ และทำไปสู่จุดหมายปลายทางที่เห็นร่วมกัน มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานนั้นๆไปสู่ความสำเร็จ

คนเป็นผู้นำจะต้องเข้าใจสภาพการสร้างพลังสร้างสรรค์เช่นนี้

7. การหมั่นฝึกฝนไม่หยุดนิ่ง (Sharpen the Saw is the unique endowment of continuous improvment or self-renewal)

มีสุภาษิตไทยที่ว่า "ปลาเป็นย่อมว่ายทวนน้ำ มีแต่ปลาตายเท่านั้นที่จะหลุดไหลไปตามน้ำ" ในการทำงานก็ เช่นกัน ใครที่พึงพอใจต่อสภาพที่เป็นอยู่ แล้วก็หวังจะใช้ชีวิตเป็นเช่นนั้นไปเรื่อยๆโดยไม่ขวนขวาย เขาก็จะตกอยู่ในสถานะลำบากในเวลาอันไม่นานนัก เพราะความเปลี่ยนแปลงในโลกนั้นจะทำให้เขากลายเป็นคนล้าสมัยอยู่ตลอดเวลา หากลองย้อนอดีตดูถึงอาชีพต่อไปนี้ว่าปัจจุบันนี้ แม้ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในกรอบเดิมของตนจะเป็นเช่นไร เช่น ช่างเรียงพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ตะกั่ว พนักงานพิมพ์ดีดที่ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ช่างปะหม้อ ชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์ ชาวสวนส้มบางมด เกษตรกรนาปลาสลิดบางบ่อ สมุทรปราการ เกษตรกรดำข้าวด้วยหัวแม่มือ เกี่ยวข้าวด้วยมือและการขดหลัง กรรมกรแบกกระสอบข้าว 100 .. อาชีพเหล่านี้ปัจจุบันแทบไม่เหลืออนาคต ไม่ว่าจะพยายามทำดีเพียงใดก็ตาม ดังนั้น คนที่จะก้าวหน้า และยิ่งต้องรับบทบาทเป็นผู้นำเขาอื่นนั้นจะต้องเป็นคนตื่นตัวเสมอ และไม่หยุดนิ่ง ปล่อยให้ความสำเร็จในอดีตเป็นตัวกำหนดอนาคตเสมอไป ต้องเข้าใจว่าโลกนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีใครจะประกันโลกไม่ให้เปลี่ยนแปลงได้

(Stephen R. Covy, Principle-Centered Leadership. New York: Simon & Schuster, 1992, pp.40-47.)

ลักษณะของผู้นำแบบเน้นหลักการ

การเป็นผู้นำที่เน้นหลักการตามแนวของ Covey (1992) นั้นนอกจากจะต้องมีนิสัยอันควร 7 ประการแล้ว เขาเสนอว่า ผู้นำที่ดีนั้นมักจะมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

1. เขาเป็นคนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง (They are continually learning)

2. เขาเป็นคนเน้นการให้บริการแก่คนอื่น (They are service-oriented)

3. คนมองอะไรในแง่บวก หวังและเชื่อในสิ่งที่จะดีขึ้นหรือทำให้ดีขึ้นได้ (They radiate positive energy)

3. เขาเชื่อและศรัทธาในคนอื่น (They believe in other people)

4. เขาใช้ชีวิตได้อย่างมีดุลยภาพ ไม่ฟุ้งเฟ้อ (They lead balanced lives)

5. เขามองเห็ความสนุกของชีวิตคือการผจญภัย (They see life as an adventure)

6. เขาเป็นคนที่สามารถรวมพลังของคนอันก่อให้เกิดพลังแบบทวีคูณ (They are synergistic)

7. เขาฝึกฝนและทำให้ตนเองพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ[1] [1] (They exercise for self-renewal)[1]

(Stephen R. Covy, Principle-Centered Leadership. New York: Simon & Schuster, 1992, pp.33-39.)

ซึ่งจะได้อภิปรายในรายละเอียดดังต่อไปนี้ คือ

1. เขาเป็นคนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง

การเรียนรู้ที่ไม่วัดกันด้วยปริญญา ไม่ใช่นักล่าปริญญาหรือวุฒิบัตร แต่เป็นการเรียนรู้ที่ได้เพาะนิสัยการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง

การได้อ่าน ได้แสวงหาการเข้าเรียนเป็นครั้งคราว การได้ฟังคนอื่น การได้เรียนรู้ด้วยตา และหูที่เปิดรับฟัง

การได้ฝึกพัฒนาเพิ่มความสามารถอยู่ตลอดเวลา การสนใจซักถาม การคอยถามคำถาม การพัฒนาทักษะ และความสนใจใหม่ๆอยู่เสมอ

เป็นคนประเภทที่ตระหนักว่ายิ่งเรียนรู้มาก ก็ทำให้รู้ว่าแท้จริงแล้ว เรายังไม่รู้อะไร

2. เขาเป็นคนเน้นการให้บริการแก่คนอื่น

คนที่จะเป็นผู้นำคนนั้นเห็นชีวิตของตนเองนั้นคือการต้องทำภาระกิจบางอย่างให้ลุล่วง ไม่ใช่มองงานเป็นเพียงการอาชีพ เพียงเพื่อการยังชีพ ผู้นำนั้นคือคนที่ต้องคิดถึงคนอื่นเป็นที่ตั้ง เพราะหน้าที่ของผู้นำแท้จริงแล้วคือการต้องทำหน้าที่รับใช้ให้บริการแก่คนอื่น การให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์ที่เขาหวังเราเป็นที่พึ่งเมื่อเขาไม่สามารถหันหน้าไปพึ่งใครได้อีกแล้ว

3. เขาเป็นนคนมองอะไรในแง่บวก หวังและเชื่อในสิ่งที่จะดีขึ้น หรือทำให้ดีขึ้นได้

คนจะเป็นผู้นำไม่ใช่คนที่สงสารตนเอง ไม่ใช่คนที่มองอะไรในแง่ลบ มองอย่างสิ้นหวัง เขาอาจฟังคนที่เป็นนักวิพากษ์สังคม หรือการฟังคนที่คอยเตือนสติสังคม แต่ไม่ใช่หมกมุ่นในลักษณะที่ท้ายสุดตนเองก็พลอยหมดความหวังในการทำงาน หรือการทำภารกิจไปด้วย เขาเป็นคนที่ต้องระวังในพลังของตนเองและรู้ว่าควรจะใช้มันได้มากแค่ไหน กว้างแค่ไหน เพราะถ้าสนใจไปหมด ในท้ายที่สุดก็ไม่มีพลังเหลือจะทำอะไร ดังนั้น เขาต้องเป็นคนที่ มองโลกในแง่ดี ในแง่ที่มีความเชื่อมั่นว่า แม้เขาจะทำอะไรได้ในทุกอย่างที่คนคาดหวัง แต่เขารู้ว่าเขาสามารถกระทำการบ่างอย่างที่เป็นประโยชน์ เขามีความเชื่อมั่นในตนเองว่าทำได้

4. เขาเชื่อและศรัทธาในคนอื่น

เคยมีลูกศิษย์อันเป็นที่รักยิ่งของดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้วิจารณ์ อย่างให้ความเคารพว่า ท่านอาจารย์ป๋วยเองมีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่ง คือเป็นคนที่วางใจคนง่าย โดยไม่คิดว่าคนอื่นนั้นเขามีอะไรลึกๆซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือมาแสวงประโยชน์จากอาจารย์ คำวิจารณ์นี้อาจถูกที่อาจารย์ป๋วยเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในคน เป็นคนที่มีความปรารถนาดีในเพื่อนมนุษย์ อยากให้คนได้ดีมีความสุข เมื่อมีอำนาจก็แสวงหาทุนให้กับลูกศิษย์ลูกหา ไม่หยุดนิ่ง เมื่อมีบารมีก็ส่งเสริมคนมีความรู้ความสามารถสู่หน้าที่การงานที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ความจริงการมีความหวังดีต่อคนอื่นไม่ใช่จุดอ่อนของท่าน แท้จริงเป็นจุดแข็งของท่าน ที่ท่านไม่คิดระแวงในคนอื่นและได้แผ่เมตตามาตลอดชีวิตของท่านนั้นคือบารมีที่ไม่มีใครมาลบล้างได้ และเพราะท่านเป็นอย่างที่เป็นนี้เองที่ทำให้แม้ท่านไม่มีอำนาจหน้าที่ แต่คุณความดีที่ท่านได้ทำไว้ก็ทำให้คนเป็นอันมากสำนึกในความดีของท่านไม่เสื่อมคลาย อีกแง่คิดหนึ่งลองนึกดูก็คือ การเป็นผู้นำนั้นทำอะไรคนเดียวไม่ได้ งานยิ่งใหญ่ก็จะยิ่งต้องอาศัยคนมาก แต่ถ้าใครมัวแต่เกาะกุมอำนาจ หรือไม่ไว้วางใจคนอื่น ก็ไม่สามารถขยายขอบข่ายของงาน ไม่สามารถทำงานให้บรรลุจุดมุ่งหมายได้ ในองค์การโดยทั่วไป ถ้ายังเป็นระบบเครือญาติ ทำอะไรกันก็เพียงแต่เน้นความมั่งคั่งแก่คนภายในครอบครัว ไม่พยายามเปิดใจกว้างเลือกสรรคนดีมาช่วยงาน และไม่ไว้ใจ ไม่เห็นศักยภาพในคนอื่นๆแล้ว ในที่สุดก็ทำงานใหญ่ไม่ได้ องค์การแบบครอบครัวของตนก็ต้องเสื่อมถอยไปอย่างหลีกหนีไม่ได้

5. เขาใช้ชีวิตได้อย่างมีดุลยภาพ ไม่ฟุ้งเฟ้อ

รองประธานาธิบดี Rockefeller (ในสมัยประธานาธิบดี เจอรัลด์ ฟอร์ด ของสหรัฐอเมริกา) อันเป็นบุคคลจากตระกูลมหาเศรษฐีของสหรัฐอเมริกา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จถึงระดับประธานาธิบดีสักครั้ง มีนักวิจารณ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เขามีจุดอ่อนอยู่ประการหนึ่งคือเขาและตระกูล Rockefeller นั้นรวยเกินไป นายกอานันท์ ปันยารชุน เมื่อได้ รับการมอบหมายให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีข่าวประกาศไปทั่วโลกว่า นายกคนใหม่ของไทยเป็น "นักธุรกิจที่มีอิทธิพลคนหนึ่งของไทย" ได้มีคณบดีคณะบริหารธุรกิจท่านหนึ่งแสดงปฏิกิริยาอย่างขำขันว่า "แหม หมดท่าเลย" แล้วท่าน คณบดีนั้นก็อธิบายว่าในแวดวงการเมืองในต่างประเทศนั้น เขาไม่ได้มองพื้นฐานความร่ำรวยทางธุรกิจเป็นข้อดีสำหรับการเล่นการเมือง ในสังคมอเมริกันนั้นเขามองความร่ำรวยว่าเป็นจุดอ่อนของการเป็นนักการเมืองที่ดี แต่ในทางตรงกันข้าม คนอย่างประธานาธิบดีบิล คลินตันนั้นพื้นฐานทางครอบครัวก็ไม่ดี มีมารดาที่ผ่านการหย่าร้างมาหลายครั้ง แม้ในปัจจุบันคลินตันก็ไม่มีฐานะร่ำรวยอะไร แต่นั่นกลับเป็นเครดิตสำหรับการทำงานและการก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดของเขา

ในการฝึกลูกหลานของตระกูลนักการธนาคารหลายคนในประเทศไทย จะพบว่าเขากลับเลี้ยงลูกให้ต้องรู้จักประหยัด ให้มีวินัยทางการใช้เงิน ไม่ใช่อยู่ใกล้เงินแล้วอยากใช้อะไรก็ได้ การที่คนจะรับหน้าที่ผู้นำของประเทศนั้นไม่ใช่เป็นคนที่หลงไหลอะไรง่ายๆ ไม่ว่าเงินทอง ความสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ หรือสรรเสริญ

ผู้นำเป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างสมดุลย์สนใจอ่านอย่างรอบด้าน เข้าสังคม ไม่เก็บตัว มีเพื่อน และมีคนสนิท เขาเป็นปัญญาชนที่สนใจสรรพสิ่งอย่างกว้างขวาง เป็นคนประเภทชอบอ่าน ชอบดู สังเกต และเรียนรู้ เป็นคนที่สนใจในสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นคนมีอารมณ์ขัน มองตนเองได้อย่างขำขัน และอย่างตรงไปตรงมา เขาเป็นคนที่รู้ค่าของตนเอง มีความกล้า มีศักดิ์ศรี แต่ก็เป็นคนที่สามารถหยิบยืมความคิดคนอื่นมาใช้ได้อย่างให้เกียรติ และโดยไม่รู้สึกเสียศักดิ์ศรี แม้ความคิดนั้นจะมาจากนักคิดชั้นเลิศ หรือมาจากเพียงเด็กเล็กๆ

ในความสมดุลย์ทางด้านอารมย์และสังคมนั้น เขาไม่ใช่คนประเภทบ้างาน ไม่ใช่พวกคลั่งศาสนา ไม่ใช่การเมืองขึ้นสมอง หรือเหมือนเสพติดอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นคนที่มองแต่อดีต หรือฝันแต่อนาคตเพียงอย่างใดอย่างเดียว โดยรวมเขาไม่เป็นคนที่หนักไปทางด้านใดด้านหนึ่ง เหมือนนักทศกรีฑา คือเก่ง และสนใจในหลายๆอย่าง แต่ก็ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเลิศเพียงด้านใดด้านเดียว เขาเหมือนคนบริโภคอาหารที่ต้องมีความสมดุลย์ ไม่ใช่จะบริโภคอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ประเภทกินแต่เนื้อนมไข่ หรือหนักไปทางอาหารโปรตีนอย่างเดียว ไม่ใช่เป็นพวกกินแต่พืชผักอย่างเดียว หรือคลั่งไคล้จะบริโภคแต่ขนมหรือของหวานอย่างเดียว ความสมดุลย์ในการบริโภคนั้นหมายถึง การเป็นผู้บริโภคที่สมดุลย์ อีกทั้งต้องมีความไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป

6. มองเห็นความสนุกของชีวิตคือการผจญภัย

แม้เขาเป็นคนที่จะเน้นความมั่นคง แต่จะชอบผจญภัย และสนุกที่จะแสวงหาสิ่งใหม่ๆที่ไม่คาดคิดทำเสมอ แต่ก็ด้วยความเชื่อมั่นว่า เมื่อทำแล้วมีปัญหาเกิดขึ้นก็พร้อมที่จะผจญกับปัญหานั้นๆ และแสวงหาทางแก้ไขได้ เขาจึงเหมือนกับกัปตันเรือที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้พาเรือออกทะเล มากกว่าที่จะจับเจ่าอยู่แต่ชายฝั่ง เมื่อเขาต้องทำงานบริหาร เขาไม่ได้หวังว่าจะทำงานอย่างง่ายๆ ทุกอย่างราบเรียบหมดแล้ว แต่ตรงกันข้ามเขาชอบที่จะต้องมีอะไรใหม่ๆท้าทายความสามารถอยู่เสมอ และลักษณะเช่นนี้นี่เองที่ทำให้เขาเป็นคนไม่รู้สึกหนักใจ หรือทุกข์ร้อนที่จะต้องตัดสินใจในสิ่งที่มีความยากลำบาก

7. เป็นคนที่สามารถรวมพลังของคนอันก่อให้เกิดพลังแบบทวีคูณ

ผู้เขียนใคร่อธิบายความหมายของ Synergy หรือการสร้างพลังร่วมในการทำงานเพิ่มเติม ในสังคมไทยทั่วไปเรามักชอบที่จะใช้ชีวิตกับกลุ่มคนที่เราคุ้นเคย มีเพื่อนก็ชอบคบเพื่อนที่มีความคิด ค่านิยมที่คล้ายกัน จะแต่งงานก็ชอบที่จะแต่งงานกับคนที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่คล้ายกัน สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่สะดวกใจที่จะอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เราคุ้นเคย แต่ลองดูสภาพงานเหล่านี้ว่า ถ้าเราเลือกคบคนที่มีแต่ค่านิยม ความรู้ทักษะ และความสามารถคล้ายๆกับเรา เราจะทำงานในหน้าที่ดังนี้ได้หรือไม่ เช่น

การเป็นผู้บริหารโครงการก่อสร้างคอนโดมีเนียม หรืองานอสังหาริมทรัพย์

การเป็นหัวหน้างานผลิตโปรแกรมสื่อการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์

การเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งมีอาจารย์หลากหลายสาขาวิชา พร้อมที่จะขัดแย้งกัน

การเป็นผู้บริหารโครงการขนส่งมวลชน รับผิดชอบสร้างและดำเนินการระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า

การเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องอยู่ในฐานะผู้นำในคณะรัฐมนตรี

งานเหล่านี้ต้องการคนที่มีความหลากหลายทางความคิด ได้คนที่มีความรู้ความสามารถในหลากหลาย สาขาวิชาการและการอาชีพ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือทำอย่างไรจึงจะทำให้คนที่มีความแตกต่างกันทั้งค่านิยมและความสามารถมาทำงานร่วมกันได้อย่างเกิดผลงาน งานเหล่านี้ต้องการผู้นำที่เป็นคนรับผิดชอบ ที่ต้องมีความอดทนทางปัญญา มีสายตาในการมองคนที่จะนำมาทำงานร่วมกัน เหมือนกับเป็นพ่อครัวชั้นเยี่ยมที่จะรู้ว่าอะไรคือส่วนผสมของอาหารที่มีคุณค่าและมีรสอร่อยกลมกล่อม อะไรที่พอจะนำมารวมกันได้แล้วเกิดสิ่งที่ดีงาม และอะไรที่นำมารวมกัน แล้วนอกจากจะไม่ได้สิ่งที่ดีแล้ว ยังกลายเป็นความเสียหายทั้งต่อบุคคลนั้นๆ และทั้งต่อสังคม

8. เขาฝึกฝนและทำให้ตนเองพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

การฝึกฝนตนเองอยู่เสมอทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ ทางอารมณ์ และจิตวิญญาณ

การฝึกฝนทางร่างกายนั้น ผู้นำมักจะเป็นคนที่หาทางออกกำลังในลักษณะที่สอดคล้องดังสุภาษิตกรีกโบราณที่ว่า "จิตใจที่เข้มแข็ง จะอยู่ได้ในร่างกายที่แข็งแรง" การเป็นคนมีสุขภาพที่ดีทำให้มีความอดทนในการทำงาน มีความตื่นตัวอยู่ได้เมื่อต้องเขาไปอยู่ในสภาวะที่ต้องใช้ความอดทนแบบอดหลับอดนอนเป็นครั้งคราว

การฝึกฝนทางด้านสติปัญญาด้วยการอ่านแสวงหาความรู้ การเข้าไปร่วมในกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา ในทางอารมณ์ เขาฝึกหรือตรวจสอบตนเองถึงในระดับความอดทนในจิตใจ บางคนนิยมฝึกสมาธิ หรือการเข้าวัด แต่ถ้าจะสังเกต แม้บางคนเข้าวัดบ่อยๆ ฝึกสมาธิได้ดี แต่พอในสถานการณ์จริงก็เผลอระเบิดอารมย์ออกมาบ่อยๆ จึงคิดว่า การต้องฝึกความอดทนทางจิตใจนั้นบางครั้งอาจต้องสอดคล้องกับสถานการณ์จริงด้วย บางคนเป็นนักบริหารที่มีแต่คนรอบข้างประเภท "ครับกระผม" จนคุ้นเคยกับการไม่มีคนเถียงก็ต้องลองเข้าร่วมสมาคมกับนักวิชาการ ได้ฟังเขาวิพากษ์เป็นครั้งคราว ก็นับเป็นการฝึกฝนทางอารมณ์ให้มีความอดทนที่ดี

ในการฝึกทางจิตใจนั้นมีได้หลายประการ คือ การสวดมนต์ การศึกษาทางศาสนา การฝึกสมาธิ และการอดอาหาร การกินอาหารเจเป็นครั้งคราว บางคนฝึกการทนอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก เช่นการไปนอนตามเขียงนาในท้องทุ่งแล้วก็นอนให้หลับ การอยู่ค่ายพักแรมที่ไม่มีห้องปรับอากาศ ไม่มีห้องน้ำห้องส้วมตามปกติ การต้องนอนกลางดินกินกลางทราย ในประเทศญี่ปุ่นมีกิจกรรมให้คนได้ไปอาบน้ำแข็งในช่วงเวลายาวนานแล้ต้องทนให้ได้

ผู้นำแบบเกิดครั้งที่สอง

ผู้นำตามความคิดของ Abraham Zaleznik ศาสตราจารย์ผู้ศึกษาด้านความเป็นผู้นำจากมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด ได้ให้ข้อสังเกตลักษณะผู้นำสองแบบเอาไว้ว่า ผู้นำที่เราเห็นด้วยทั่วไป เรียกว่า ผู้นำที่เกิดครั้งเดียว และประเภทที่สองคือผู้นำที่เกิดครั้งที่สอง (Once born, Twice born)

คนที่เป็นผู้นำแบบเกิดครั้งเดียว (Once born) หมายถึงผู้นำที่ได้ประสบการณ์ชีวิตของเขาจากการอบรมบ่ม นิสัยจากครอบครัว และสภาพแวดล้อมจากชีวิตของเขา และหล่อหลอมสิ่งเหล่านั้นจนเป็นบุคลิกภาพ เป็นลักษณะบุคลิกภาพที่ผ่านการหล่อหลอมอย่างราบเรียบและเป็นระบบ บางครั้งก็เป็นเหมือนสูตรสำเร็จที่พ่อแม่ได้เตรียมปูทางเอาไว้ให้ ซึ่งถ้าเขาเดินตามอย่างเชื่อฟังก็อาจประสบความสำเร็จในชีวิต แต่มีเป็นอันมากที่เขาอาจไม่ประสบความสำเร็จในขั้นสูง เมื่อมีปัญหาที่แตกต่างออกไป เขาก็ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยข้อแนะนำจากอดีตนั้น

แต่มีคนส่วนหนึ่งที่เป็นผู้นำแบบเกิดครั้งที่สอง (Twice born) เขาอาจไม่ได้ผ่านชีวิตที่ดีและสุขสมบูรณ์มาตั้งแต่เยาว์วัย เขาอาจไม่ประสบความสุขสำเร็จในเบื้องต้น เขาอาจต้องต่อสู้ดิ้นรน ไม่ได้เดินตามเส้นทางที่ถูกต้องมาตลอด ประสบการณ์ที่ได้รับก็ไม่ใช่จะดีไปเสียหมด แต่เขาได้ใช้ความพยายามด้วยตัวของเขาเองที่จะสรุปบทเรียนชีวิต และสร้างชีวิตให้เกิดขึ้นใหม่ด้วยตัวของเขาเอง คนที่ได้เกิดใหม่เป็นครั้งที่สองนี้จะเป็นคนที่มีแรงจูงใจในการทำงานที่มาจากภายใน จะมีความอดทน มีความมุ่งมั่น และได้เห็นสัจจธรรมของชีวิตมามากกว่า ซึ่งจะเป็นผลทำให้เขาเป็นผู้นำที่มีบารมี (charismatic) อย่างแท้จริง

การที่คนจะเกิดการเรียนรู้ใหม่ และถือได้ว่าเป็นการเกิดครั้งที่สองนั้น บทเรียนอาจมาจากช่วงที่เขาได้จากสภาพความวิกฤติ ความเป็นความตาย ความล้มเหลวทางการทำงาน การเจ็บป่วย การได้สรุปบทเรียนใหม่ของเขาขึ้นมาเองนี้จะทำให้เขาเป็นอิสระทางความคิด ไม่ติดยึดในรูปแบบดั้งเดิม หรือที่ได้รับประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาลองดูตัวอย่างคนต่อไปนี้

ตัวอย่างของ จิ๋นซี ฮ่องเต้ จักรพรรดิผู้หาญรวมชนชาติจีนให้กลายเป็นหนึ่ง สร้างกำแพงเมืองจีน เพื่อป้องกันชนชาตินักรบจากทางเหนือ คือพวกมองโกลรุกราน การเริ่มต้นชีวิตที่เป็นเพียงรัชทายาทหนุ่มที่ดูเกเร ไม่มีความรับผิดชอบ ได้ผ่านชีวิตมาอย่างมาก หลบหลีกหนีจากพระราชวังไปท่องเที่ยวมามาก จนเกือบจะทำให้บรรดาผู้พร่ำสอนหมดความหวัง แต่ท้ายสุดเมื่อถึงเวลาครองราชย์ ก็หันมาสนใจๆไฝ่ดีมาเรียนรู้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งลองเปรียบเทียบกับจักรพรรดิ ปู้ยี่ ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายในประเทศจีน ซึ่งเกือบตลอดชีวิตเยาว์วัยถูกกักเก็บเอาไว้ในราชวัง ไม่ได้เห็นแสงเดือนแสงตะวัน ไม่ได้รับรู้ความเป็นไปในสังคมจีน ไม่ได้สัมผัสกับประชาชนและเข้าใจในปัญหาของประเทศชาติ ถูกเลี้ยงมาเพื่อเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งแผ่นดินจีนอย่างแท้จริง

ลองพิจารณาการเกิดใหม่ของ มหาตะมะ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi)ท่านได้เกิดในแผ่นดินอินเดียก็จริง แต่การเกิดครั้งที่สองนั้นมาจากการได้ประสบการณ์เรียนรู้ที่ต้องพเนจรไปประเทศอื่นๆ ได้เรียนรู้วิธีการคิดอย่างคนอังกฤษที่คิดว่าตนเองเป็นคนมีอารยธรรม เรียนรู้การเหยียดผิวและความอยุติธรรมจากประเทศอัฟริกาใต้ การกลับมาเป็นผู้นำกู้ชาติกู้เอกราชให้ประเทศอินเดีย ได้กลับมาสัญจรรอบประเทศอินเดียอีกครั้งเพื่อให้รู้จักกับความเป็นประเทศอินเดียบ้านเกิดในอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งก็จะไม่เป็นการมองเหมือนคนอินเดียทั่วๆไป จึงเป็นการมาพร้อมกับการเกิดใหม่ มองโลกในอีกแง่มุมหนึ่ง

วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองของอังกฤษ เริ่มต้นชีวิตอย่างที่ไม่สบอารมณ์บิดาซึ่งเป็นนักการเมืองที่ปราชญ์เปรื่องในรัฐสภาของอังกฤษนัก เพราะเชอร์ชิลน้อยนั้นไม่มีแววของการเป็นเด็กเรียนเก่ง ไม่ใช่เป็นเด็กประเภทได้เข้าเรียนแล้วฉายแววมีปัญญาจากรั้วมหาวิทยาลัย แต่ท่านผู้นี้อาศัยการเรียนรู้และการเกิดใหม่ด้วยการสู้ชีวิต การไปอาสาไปรบและการเขียนข่าวสงครามในอาฟริกา การได้เรียนรู้ความจริงจัง การใช้ชีวิตที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไม่เปราะบางอย่างชนชั้นสูง ที่ดีแต่เก่งพูดและวางตนเป็นผู้มีภูมิปัญญาโดยทั่วไป แต่เป็นคนที่สัมผัสปัญหา และแก้ปัญหาในชีวิตการผจญภัยจริงมาด้วยตนเอง

ประธานาธิบดี แฟลงคลิน ดีลาโน รูสเวลท์ (Franklin D Roosevelt) ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาของตนเอง แม้ป่วยเป็นโรคโปลิโอ จนทำให้ไม่สามารถเดินได้แล้ว แต่ก็มุ่งมั่นที่จะกลับมาทำงานทางการเมือง จึงกลายเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่

ประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton) ที่ประสบการณ์ชีวิตครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ มารดาหย่าร้างหลายหนในชีวิต มีชีวิตที่ยากจนเยี่ยงชนชั้นล่างของสังคม ถ้าจะหวังบิดามารดาอบรมเพียงอย่างเดียว ก็คงจะไม่ได้แบบอย่างที่ดีอะไร แต่เพราะความที่เป็นคนไฝ่ดี การพยายามแสวงหาประสบการณ์ในชีวิต การเลือกเข้าศึกษาทางการเมือง การไปศึกษาต่อในสังคมยุโรป

เหล่านี้คือตัวอย่างของรัฐบุรุษที่มาจากการเกิดครั้งที่สอง

ลองดูแม้แต่ระดับประเทศ อย่างประเทศญี่ปุ่นและเยอรมันทั้งประเทศที่ได้ตายไปแล้วเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เคยล่มสลายมาแล้วทั้งสังคม ไม่มีอะไรเหลือนอกจากซากปรักหักพังของบ้านเมือง การกลายเป็นผู้แพ้สงคราม ถูกกำกับดูแลอย่างรอบด้าน บ้านเมืองแบ่งออกเป็นเสี่ยงๆ แต่เขาก็กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง กลายเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในยุคใหม่ที่สุด

ตัวอย่างชีวิตสามัญ

อย่างไรก็ตามที่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าคนบางคนในชีวิตนั้นได้เกิดมาแล้ว ไม่ได้เป็นคนป่วยคนพิการทางร่างกาย แต่ประสบการณ์ชีวิตของเขาอาจได้ทำให้เขาได้ตายไปแล้ว เช่นตัวอย่างต่อไปนี้

Hilly Bosscher เป็นสตรีชาวดัชท์ ผู้มีอาชีพเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากสามีติดเหล้าแล้วมาอารวาดทุบตีเธอเป็นเวลากว่า 25 ปี ก่อนที่ท้ายสุดจะหย่าร้างกัน เธอมีบุตรสองคน คนหนึ่งได้ฆ่าตัวตายเมื่ออายุได้ 20 ปี และอีกคนหนึ่งถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งในปอดในอายุไล่เลี่ยกัน

เธอได้ไปหาจิตแพทย์ในเมือง Ruinen ชื่อ Boudewijn Chabot ซึ่งได้มีการให้คำปรึกษาและการรักษาพยาบาลกว่า 4 เดือน แต่อาการเก็บกดและโรคประสาทของเธอก็ไม่ดีขึ้น ความทุกข์ยากในอดีตของเธอยังตามมาหลอนเธอ ในระยะหลังเธอได้ปฏิเสธการกินยารักษาโรคตามที่แพทย์สั่ง ระหว่างนั้นเธอได้คิดฆ่าตัวตายหลายครั้ง ได้เคยปรึกษาเพื่อนถึงวิธีการฆ่าตัวตายที่ไม่ทรมาน ถึง 7 คน เธอได้หันไปขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ เพื่อขอหยุดการมีชีวิตต่อไป และท้ายสุดแม้แต่แพทย์เองก็เห็นว่าทางออกของเธอมีอยู่เพียงทางเดียวก็คือการช่วยให้เธอได้จากโลกไปสมตามความต้องการ

อะไรที่ทำให้คนที่สุขภาพทางกายสมบูรณ์แข็งแรงเป็นปกติ แต่ต้องเจ็บป่วยทางจิต จนท้ายสุดได้มีอาการรุนแรงจนเกินจะรักษาพยาบาล จนกระทั่งแม้จิตแพทย์ผู้ดูแลรักษาพยาบาลเองก็ต้องยอมช่วยเธอให้ฆ่าตัวตายอย่างไม่ทรมาน ซึ่งสามารถให้แพทย์ช่วยคนป่วยทางจิตที่เกินกว่าจะเยียวยาได้ ให้ได้ตายสมประสงค์

ลองดูอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งจะพบคล้ายๆกันสำหรับเด็กต่างจังหวัดที่ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ ไปศึกษาเล่าเรียนในที่อื่นๆ

อนันต์ เป็นเด็กหนุ่มที่มีแววความฉลาด มีความมุ่งมั่น เขาเป็นนักศึกษาในโครงการพิเศษของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่รับผู้เรียนดีแต่ยากจนจากชนบทเข้าศึกษา อนันต์ เล่าให้ฟังถึงชีวิตที่เขาได้เก็บกดมาตลอดเอาไว้ว่า

เมื่อเล็กๆ เขาจำได้ว่าอยู่กับแม่ ชื่อ ทอง ซึ่งเป็นหม้ายที่ยากจน เขามีพื่ชายอีกสองคน แม้เขาอยู่อย่าง อดอยากแต่ก็มีความสุขกันตามประสา 4 คนแม่ลูก แต่อยู่มาวันหนึ่ง คุณอุสา ญาติผู้น้องของมารดาซึ่งแต่งงานกับข้าราชการชั้นสัญญาบัตรที่มีฐานะแล้ว แต่ยังไม่มีบุตรของตนเอง จึงได้มาขอตนจากมารดาไปรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม จากความที่เขาเป็นเด็กไม่เข้าใจว่าจะถูกพรากไปจากอกแม่ พอรู้ว่าจะต้องถูกพรากไป เขาจำได้ว่าพยายามวิ่งหนีการมาพรากตนไปจากแม่อย่างสุดชีวิต จนเตลิดไปหลบในพงหญ้าในสวนหลังบ้าน แต่กระนั้นแม่ก็ให้พี่ชายทั้งสองวิ่งไล่หาและช่วยกันจับตัวไปส่งให้กับคุณอุสาและสามี เขาจำได้ว่าได้ร้องไห้หาแม่อย่างมาก พยายามดิ้นหนีจนหลับไป

เริ่มต้นชีวิตกับแม่ใหม่นั้นดูว่าเป็นไปอย่างอุดมสมบูรณ์ ความเป็นอยู่ทุกด้านไม่ว่าจะอาหารการกิน ที่พักอาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การให้โอกาสการศึกษาตลอดจนความรักความเอาใจใส่ก็ดี และอนันต์ก็ได้ให้ความรักตอบแทนกับคุณอุสาและพ่อบุญธรรมอย่างมาก จนทำให้เขาเกือบลืมไปว่ายังมีแม่จริงที่อยู่ในหมู่บ้านไกลออกไป จนกระทั่งหลายปีต่อมา ในระยะที่เขาได้เรียนหนังสือจนถึงชั้นประถมตอนปลายนั้น คุณอุสาก็มีบุตรของตนเองตามมาอีกสองคน ซึ่งเขาเริ่มรู้สึกว่าความรักและการเอาใจใส่ที่พ่อแม่บุญธรรมเคยมีต่อเขาเริ่มลดลงเป็นลำดับ เขาเริ่มรู้สึกถึงการดูแลที่แตกต่างกันระหว่างน้องที่เป็นลูกแท้ๆของคุณอุสา และตัวเขาเองที่เป็นเด็กที่ถูกรับมาเลี้ยง เขาเริ่มรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นของเล่นที่ถูกละทิ้ง และเริ่มมีความรู้สึกปฏิเสธทุกอย่างที่มีรอบตัวเอง เมื่อขอกลับไปอยู่กับแม่ทอง แม่ทองก็ไม่สามารถจะให้การเลี้ยงดูได้ เพราะแม้แต่ลูกชายอีกสองคนที่มีอยู่นั้นก็ทำให้ต้องอยู่แบบหามื้อกินมื้อแล้ว ดังนั้นทุกครั้งที่กลับมาเยี่ยมบ้านแม่ทอง และได้พักพูดคุยกับพื่ๆได้ไม่กี่วัน แม่ทองก็ไล่ให้กลับไปอยู่กับคุณอุสาอีก ชีวิตของอนันต์ตั้งแต่วัย 11 ขวบเป็นต้นมานั้นเป็นช่วงที่เขารู้สึกทนทุกข์ที่สุด รู้สึกขาดความรักความเอาใจใส่ อนันต์เริ่มมีลักษณะก้าวร้าว ชอบมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับเด็กในวัยเดียวกัน กลายเป็นคนไม่กลัวคน ไม่เกรงใจคน

แต่ไม่ว่าเขาจะประสบปัญหาชีวิตอย่างไร อนันต์ก็ยังจัดเป็นเด็กรักดี เขาตั้งใจเรียน และเรียนหนังสือดี และไม่เคยละทิ้งการเรียนไม่ว่าเขาจะประสบความยุ่งยากทางจิตใจอย่างไร ด้วยเห็นว่าการเรียนนั้นเป็นทางรอดสู่อนาคตทางเดียวที่เขามีอยู่ ผลการเรียนของอนันต์นั้นเขาจะเป็นที่ลำดับที่หนึ่งของชั้นเรียนอยู่เสมอ แต่กระนั้นเขาก็เป็นคนอมทุกข์ มีความคับข้องใจอยู่ตลอดเวลา ยิ่งโตก็ยิ่งก้าวร้าว กลายเป็นเด็กที่ไม่น่ารักของผู้ใหญ่ เกิดความหมางเมินกับคุณอุสาและสามีมากขึ้นเรื่อยๆ และความคับข้องใจในการรู้สึกถูกละทิ้ง ทำให้อนันต์หนีออกจากบ้านคุณอุสาแม่บุญธรรมเป็นประจำ ซึ่งสร้างความกังวลและอับอายต่อครอบครัวเธอ จนท้ายสุดคุณอุสาก็ปฏิเสธที่จะเลี้ยงดูอนันต์และส่งคืนให้กับแม่ทอง แต่ก็นั่นแหละ เพราะความยากจนที่ไม่มีกำลังจะเลี้ยงลูกที่ แม้เรียนดีและอยากเรียน จึงทำให้แม่ทองต้องหาทางส่งอนันต์ให้ไปเล่าเรียนแบบไปตายเอาดาบหน้า บางครั้งก็นำไปฝากกับพระที่วัดบ้าง ฝากครูใจดีที่โรงเรียนบ้าง ฝากในสถานที่ทำงานอื่นๆ อยู่ช่วยงานเล็กๆน้อยๆ ที่พอจะเป็นที่พึ่งได้เป็นครั้งคราวเพียงเพื่อให้ได้มีที่พักในเมือง และได้อาศัยศึกษาเล่าเรียน รวมระยะเวลาการเล่าเรียน 12 ปี แต่เปลี่ยนที่พักกว่าสิบแห่ง

การต้องอยู่อย่างอดๆอยากๆ อยู่อย่างว้าเหว่ และเมื่อบวกกับความฉลาดมีไหวพริบ อนันต์จึงกลายเป็นเด็กฉลาดแกมโกง หาทางเอาชีวิตรอดไปวันๆ ดูเหมือนเด็กเสียคน ชอบเล่นการพนัน ริมีแฟนเป็นเพื่อนต่างเพศตั้งแต่ยังเด็ก ชอบเที่ยวเตร่ใช้เงินเปลืองเกินสถานะ เมื่อขาดเงินก็หาวิธีการหาเงินด้วยการเล่นการพนัน ซึ่งก็มักจะได้มากกว่าเสีย บางครั้งก็อาศัยหยิบยืมเพื่อนๆ ทั้งผู้ชายและหญิงแต่เพราะความที่เป็นเด็กกร้าวแกร่ง มีลักษณะไม่ค่อยยอมคน อยู่ที่ไหนก็จะมีปัญหากับคนข้างเคียง อนันต์จึงกลายเป็นเด็กที่มีปัญหา ไม่สามารถอยู่กับใครได้นาน ความที่ยิ่งถูกปฏิเสธมากๆเข้า เขาก็ยิ่งมีความทุกข์ใจมีความกดดัน ไม่เข้าใจทั้งโลก ไม่เข้าใจคนรอบข้าง และไม่เข้าใจทั้งตนเอง เมื่อเขากลุ้มขึ้นมาก็พยายามทำความเข้าใจในชีวิตทั้งของตนเองและสิ่งแวดล้อมด้วยการอ่านหนังสือธรรมะ แต่ด้วยความที่ยังเยาว์วัย จึงทำให้เขาไม่เขาใจในหลักธรรมะซึ่งมีความเป็นนามธรรมมากๆได้อย่างลึกซึ้ง แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม เขาไม่เคยลืมตัวไม่เรียนหนังสือ ไม่ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร เขาก็ยังคงเป็นคนรักการเรียน มีวินัยที่จะต้องศึกษาเล่าเรียน ทำการบ้าน และทบทวนตำรับตำราอยู่เสมอ และเมื่อถึงเวลาสอบเขาก็กลับมีสมาธิในการดูหนังสือได้อย่างดี

แม้ช่วง 6 ปีในการเรียนมัธยมศึกษาของเขานั้นจะเต็มไปด้วยปัญหาชีวิตนานาประการ แต่ด้วยสติปัญญาและความมุ่งมั่นในการเรียนนี้เอง เขาจึงสามารถสอบชิงทุนเข้ารับการศึกษาต่อทางด้านทันตแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งได้ ในโครงการนี้เขาจะได้รับการสนับสนุนทางทุนค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายต่างๆอย่างพอเพียง แน่นอนว่าเขาจะมุ่งมั่นที่จะศึกษาเล่าเรียนจนจบการศึกษา

บัดนี้ อนันต์ นักศึกษาปีหนึ่งซึ่งวาดหวังว่าจะจบไปเป็นทันตแพทย์ เขาจัดเป็นคนโชคดีที่ได้มีโอกาสได้เล่าเรียน กลายเป็นคนมีอนาคตในสายตาของคนทั่วไป แต่กระนั้นเขาก็ยังเป็นคนที่อมทุกข์ เขากำลังนั่งอยู่ตรงหน้าท่านซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิชาการของเขา เขาได้เล่าชีวิตที่ผ่านมาให้ฟังเพราะเขารู้สึกว่าต้องการความช่วยเหลือ เขารู้สึกว่าได้ผ่านชีวิตที่ไม่มีความสุข มีความเก็บกด ต้องเดือดร้อน ต้องคอยดิ้นรนต่อสู้ชีวิตไปวันๆ เขาผ่านชีวิตมามาก แต่เขาก็ไม่มั่นใจว่าได้รู้จักตนเองเพียงพอหรือไม่ เขายังไม่เข้าใจว่าทำไมคนจึงไม่ค่อยชอบเขา ทำไมเขาจึงถูกละทิ้ง เขาเริ่มมีคำถามใหม่ๆว่า ที่เขาพยายามเรียนและก็เรียนได้อย่างดีเยี่ยมนั้น ท้ายสุดเพื่ออะไร

ชีวิตสตรีชาวดัชท์ เช่น Hilly Bosscher ที่ประสบปัญหาชีวิตและมีอาการเจ็บป่วยทางจิตจนไม่อยากจะต่อสู้อะไรในชีวิตต่อไปแล้วนั้น พอทำความเข้าใจได้ว่าบางครั้งแม้แต่จิตแพทย์ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ และก็ได้มีการปล่อยให้เธอได้จากโลกไปตามต้องการ แต่สำหรับ อนันต์ ซึ่งเพิ่งเกิดมาได้เพียงไม่ถึง 20 ปี มีสติปัญญา ยังรักชีวิตรักอนาคต แต่ก็ไม่รู้ว่าจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรนั้น น่าจะได้มีใครสักคนช่วยให้เขาได้เกิดเป็นครั้งที่สอง เพราะยังเป็นสิ่งที่กระทำได้ และน่ากระทำ ความจริงคนอย่างอนันต์นั้นยังมีอีกมากในสังคมไทย เพราะจากหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิตของเขาเช่นนี้ เขาอาจกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ สร้างความร่ำรวยให้กับตนเอง เมื่อไม่มีใครรักตน ก็จะใช้ชีวิตอย่างรักตนเอง เห็นแก่ตนให้มากที่สุดให้สมกับที่ได้ขาดแคลนมาในชีวิต หรือเขาอาจกลายเป็นคนที่ทดแทนการขาดความรักด้วยการให้ความรักแก่คนอื่นให้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นต่อครอบครัวของเขาในอนาคตและต่อคนรอบข้าง หรือเขาอาจกลายเป็นเพียงคนที่หาอนาคตของตนเองไม่พบ ไม่มีความพึงพอใจอะไรในชีวิต และไม่มีความสุขไปตลอดชีวิตก็ได้

สำหรับท่านผู้อ่าน ณ จุดนี้ ผู้เขียนเจตนาจะนำเสนอว่า ชีวิตคนนั้นเลือกที่เกิดไม่ได้ และผู้นำที่มีบุญบารมีมีความพร้อมมาแต่เกิดนั้น แท้จริงอาจไม่ใช่จะเป็นข้อดีข้อได้เปรียบก็เป็นได้ เพราะชีวิตของคนเรานั้นไม่มีอะไรที่แน่นอน คนทุกคนล้วนมีโอกาสที่จะเกิดเป็นครั้งที่สอง ถ้าคนๆนั้นมีความมุ่งมั่น และไม่ยอมแพ้ต่อชีวิต คนที่เคยทำผิดพลาด มาแล้วในชีวิตก็ไม่ใช่จะเป็นเรื่องปรับเปลี่ยนไม่ได้ คนที่เคยติดคุกติดตะรางมาแล้วก็ไม่ใช่จะต้องเป็นคนเลวตลอดไปหรือ คนที่ได้เคยเจ็บป่วยก็มิใช่จะไม่รู้จักหาย ถ้าเขาเป็นคนที่กล้าหันกลับมาสู้ มาเรียนรู้บทเรียนใหม่ๆในชีวิต คนที่เคยล้มละลาย หรือยากจนไม่มีอะไรเหลือก็กลับมายืนอย่างอาจหาญได้ใหม่ ถ้าเขาจะใช้อดีตเป็นเครื่องสอนตน สร้างความแข็งแกร่งกับตนเพื่อที่จะเผชิญกับปัญหาต่อไปใหม่อย่างมีความมั่นคงและเข้าใจสัจจธรรมแห่งชีวิต

บทสรุป

การเป็นผู้นำไม่มีภาพลักษณ์ที่ตายตัว ไม่มีผู้นำที่สามารถมีบุญพร้อมมาแต่กำเนิด เมื่อเรารู้ลักษณะของคนที่จะเป็นผู้นำแล้ว เราสามารถสร้างได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นผู้นำที่ดีได้ในทุกสถานการณ์ และในทุกเรื่อง บางคนไม่เหมาะสำหรับการเป็นผู้นำ แต่ต้องมาอยู่ในฐานะนั้นก็จัดว่าเป็นกรรม สร้างความหายนะให้กับองค์การ หรือสร้างความทุกข์ให้คนอื่น

การสร้างผู้นำนั้นไม่ใช่อาศัยกระบวนการฝึกอบรมอย่างพื้นๆที่มีอยู่ได้เสมอไป การสร้างผู้นำต้องผ่านกระบวนการศึกษาทั้งที่เป็นทางการและไม่ทางการ ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่จะทำให้เขามีความพร้อม ประสบการณ์ บางอย่างไม่สามารถจำลองขึ้นมาได้ บางทีมันเป็นวิถีชีวิตที่ทำให้เขาได้รับประสบการณ์นั้นๆ ซึ่งเหมือนกับการได้เกิดใหม่

******************************

No comments:

Post a Comment