Friday, June 28, 2013

พระราชินีอังกฤษได้รับรายได้เพิ่มร้อยละ 5 อันเป็นผลจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์


พระราชินีอังกฤษได้รับรายได้เพิ่มร้อยละ 5 อันเป็นผลจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, government, good governance, สถาบันกษัตริย์, monarchy, สหราชอาณาจักร, United Kingdom, UK, พระราชินีอลิซาเบธที่สอง (Queen Elizabeth II), สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate)

ศึกษาและเรียบเรียงจากข่าว “Britain's queen set for 5% raise on back of bumper real estate profits.” โดย Laura Smith-Spark, CNN, June 27, 2013 -- Updated 1822 GMT (0222 HKT)


ภาพ ผู้เสียภาษีอังกฤษมอบรายได้เพิ่มแก่พระราชินี

ในปีที่ผ่านมา สำนักงานทรัพย์สินฯได้ใช้เงินรวมถึงการซ่อมอพาร์ทเมน 1 แห่งเป็นเงินประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อปรับปรุงที่พักของเจ้าชายวิลเลียมและแคเธอรีน (William and Catherine)
ลอนดอน (CNN) – พระราชินีอลิซาเบธที่สอง (Queen Elizabeth II) แห่งสหราชอาณาจักรได้รับรายได้เพิ่มร้อยละ 5 อันเป็นผลจากรายได้ที่ได้เพิ่มเป็นประวัติการของการจัดการอสังหาริมทรัพย์ในที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) เป็นหน่วยงานราชการ ทำหน้าที่จัดการทรัพย์สินของราชวงศ์ในนามสถาบัน ซึ่งมีรายได้ในปีที่ผ่านมาสูงเป็นประวัติการถึง 252.6 ล้านปอนด์อังกฤษ หรือ 11,940 ล้านบาทไทย (1 ปอนด์ = 47.27 บาท) เพิ่มจากปีก่อนหน้านี้ร้อยละ 5.2

นับเป็นข่าวดีของประเทศที่เงินทั้งหมดจากอสังหาริมทรัพย์นี้จะกลับคืนสู่คลัง (Public coffers) และในแต่ละปี พระราชินีจะได้รับเงินงบประมาณร้อยละ 15 จากผลประโยชน์เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้

ซึ่งหมายความว่าพระราชินีผู้ฉลองการครองราชย์ครบรอบ 60 ปี ในปีที่ผ่านมา จะได้รับเงินเดือน 38 ล้านปอนด์/ปี หรือคิดเป็นเงินไทย 1,796 ล้านบาท ทั้งนี้ตามรายงานประจำปีจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเปิดเผยในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ใช่เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระราชินี แต่เป็นทรัพย์สินในนามสถาบันกษัตริย์ พระราชินีไม่มีอำนาจที่จะควบคุมทรัพย์สินเหล่านี้โดยตรง ปัจจุบันสำนักงานมีทรัพย์สินมูลค่า 8,100 ล้านปอนด์ หรือ 382,887 ล้านบาทไทย

รายได้สู่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาจากแทบจะทุกอย่าง เช่นร้านขายสินค้าแฟชั่นในลอนดอน ไปถึงการให้เช่าพื้นที่ตั้งฟาร์มกังหันลมชายฝั่งทะเล (Offshore wind farms) และการพัฒนาบ้านพักในชนบท

แม้แต่บริษัทของสหรัฐ อย่าง J. Crew ก็ยังเป็นผู้ใช้บริการจัดการอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ ซึ่งรวมถึงผู้เช่าห้างสรรพสินค้าแบรนด์ดังของโลกที่เปิดขึ้นในถนนรรีเจนท์ (Regent Street) กลางกรุงลอนดอน ดังเช่น แบรนด์ Apple, Banana Republic และ Anthropologie ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกันที่มีชื่อเสียง ที่เช่าใช้ที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ในด้านพลังงาน กังหันลมขนาดใหญ่ 300 ตัวติดตั้งนอกชายฝั่งในช่วงปีที่ผ่านมา ก็อยู่บนที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพราะสำนักงานจัดการที่ดินชายฝั่งเกือบทั้งหมดของอังกฤษ และบางที่เป็นที่วนอุทยานที่สวยงามที่สุด รวมทั้ง Windsor Great Park ที่อยู่ใกล้กับพระราชวัง Windsor Castle

ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดินในชนบทรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศ เป็นเจ้าของที่ดินกว่า 356,000 เอเคอร์ 900,425 ไร่ อันเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรและป่า รวมทั้งบางที่เป็นแหล่งแร่ ที่ก่อสร้างบ้าน และอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เพื่อการพาณิชย์

รายได้ที่ใช้เป็นการส่วนพระองค์แล้ว บางส่วนก็ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ ดังเช่นในปีที่ผ่านมา ได้ใช้เงิน 250,000 ปอนด์เพื่อสร้างทางจักรยานในสวนสาธารณะที่ Glenlivet Estate ในสกอตแลนด์ และใช้เงิน 1 ล้านปอนด์สนับสนุนชุมชนชายฝั่งและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางน้ำ

ตามการประชาสัมพันธ์ของเว็บไซต์สำนักงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อ “เป็นการจัดการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พึงได้รับความเคารพที่สุดในสหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นการจัดการอสังหาริมทรัพย์ในนามของประเทศชาติ”

ในปีงบประมาณ 2012-2013 พระราชินีได้รับงบประมาณที่เพิ่มจาก 31 ล้านปอนด์ เป็น 36 ล้านปอนด์ พระองค์ใช้จ่ายเกินกว่างบประมาณ 2.3 ล้านปอนด์จากที่ได้รับในปีงบประมาณ เนื่องจากมีพระราชกรณียกิจที่มากเป็นพิเศษในปีแห่งการเฉลิมฉลอง 60 ปีของการครองราชย์ (Diamond jubilee) ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ จะอยู่ในส่วนของเงินสำรอง (Reserve fund)

ในปีกิจกรรม พระราชินีมีพระราชกรณียกิจที่ต้องกระทำ 288 ครั้ง/ปี และเจ้าชายฟิลิป (Prince Philip)พระสวามีมี 275 ภารกิจ พระราชินีไม่ได้เสด็จต่างประเทศในปีที่ผ่านมา แต่ได้มอบให้พระราชวงศ์ ซึ่งรวมถึงเจ้าชายวิลเลียมและแฮรี (William and Harry) ได้ไปแทนพระองค์ในต่างประเทศ 30 ครั้ง 

No comments:

Post a Comment